วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2551

แนวคิดเรื่องประวัติศาสตร์ (history) และประวัติศาสตร์นิพนธ์ (historiography)



แนวคิดเรื่องประวัติศาสตร์ (history) และประวัติศาสตร์นิพนธ์ (historiography)

คำว่า “ประวัติศาสตร์” หรือ “history” ในภาษาอังกฤษ มาจากภาษากรีกที่ว่า “historia” ซึ่งหมายถึง “การเรียนรู้” โดย กอตชัลค์ (2525) ได้เสนอว่า นิยามของคำว่าประวัติศาสตร์ที่แพร่หลายที่สุดในปัจจุบันก็คือ “เรื่องอดีตของมนุษยชาติ” และถึงแม้ว่าการศึกษาเกี่ยวกับอดีตของมนุษยชาติจะเป็นภารกิจหลักของนักประวัติศาสตร์ หากแต่ในทางปฏิบัติแล้วเขามองว่านักประวัติศาสตร์ยังไม่อาจบรรลุเป้าหมายของภารกิจดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากมีอุปสรรคสำคัญสองประการ ได้แก่ (1) เรื่องราวในอดีตของมนุษยชาตินั้นมีมากมายเกินกว่าที่มนุษย์จะสามารถสังเกต จดจำ หรือหวนรำลึกได้ กิจกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์จึงเกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้ทิ้งร่องรอยหรือหลักฐานเอาไว้ หรือถ้ามีก็เป็นหลักฐานหรือร่องรอยที่ไม่อาจยืนยันข้อเท็จจริงได้อย่างสมบูรณ์ กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ความรู้ทางประวัติศาสตร์ถูกจำกัดโดยความไม่สมบูรณ์ของหลักฐานนั่นเอง และ (2) หลักฐานจำนวนน้อยที่หลงเหลืออยู่นั้น เป็นหลักฐานที่ไม่ได้สะท้อนความจริงในเชิงวัตถุวิสัย (objective reality) เพราะสิ่งที่จะเป็นวัตถุวิสัยได้ต้องปรากฏอย่างเป็นอิสระอยู่นอกเหนือความคิดของมนุษย์ หากแต่ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มักจะมีรากฐานอยู่บนความทรงจำ อันได้แก่หลักฐานที่เป็นข้อเขียนหรือคำพูด ดังนั้นจึงมีแนวโน้มของความเป็นอัตวิสัย (subjective) อยู่มาก


ความไม่สมบูรณ์และความเป็นอัตวิสัยของหลักฐานนี้เองที่ทำให้ในการศึกษาเรื่องราวในอดีตของมนุษยชาติ นักประวัติศาสตร์ต้องพยายามสร้าง “มโนภาพ” ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดของอดีต โดยอาศัยหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ รวมทั้งนำเอาปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มาช่วยในการวินิจฉัย กระบวนการรื้อฟื้นมโนภาพเกี่ยวกับอดีตดังกล่าวเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การเขียนประวัติศาสตร์” หรือ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” (historiography) กอตชัลค์ (2525) ได้ย้ำว่า แม้ว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์เชิงอุดมคติมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างมโนภาพในอดีตอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ หากแต่ในทางปฏิบัติแล้วมิได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากนักประวัติศาสตร์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเลือกสรรข้อมูล การจัดระเบียบข้อมูล การเน้นความสำคัญหรือลดความสำคัญของข้อมูล รวมทั้งการจัดลำดับความเป็นเหตุเป็นผลของข้อมูล ซึ่งทำให้ประวัติศาสตร์นิพนธ์มีความเป็นอัตวิสัยอย่างเลี่ยงไม่ได้ สอดคล้องกับที่ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และสุชาติ สวัสดิ์ศรี (2527) ได้ให้ความเห็นไว้ว่า


"เมื่อเราหยิบผลงานทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาอ่าน สิ่งแรกที่เราพบไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ประกอบกันเป็นประวัติศาสตร์ล้วนๆ หากแต่อาจเป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ได้เรียบเรียงขึ้นมามากกว่า ผลงานทางประวัติศาสตร์หรือบันทึกต่างๆที่เราอ่าน จึงอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงโดยเนื้อแท้ เพราะได้กลายรูปมาเป็นการคัดเลือก ตัดทอน หรือรวบรวมเรื่องเพื่อทำความตกลงใจก่อนที่จะเขียนขึ้นมานั่นเอง"
(ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และสุชาติ สวัสดิ์ศรี, 2527, น. 3-4)

อี. เอช. คาร์ (2525) ได้ให้ข้อเตือนใจเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ไว้สามประการ ดังนี้

ประการแรก เราไม่ควรมองข้ามบทบาทที่สำคัญของนักประวัติศาสตร์ในการ “เลือก” ข้อเท็จจริงที่เหมาะสม และ “ตัดสิน” ว่าความจริงอะไรบ้างที่ควรให้ความสำคัญ ความจริงอะไรบ้างที่สามารถตัดทิ้งไปได้ ตัวอย่างเช่น นับแต่โบราณกาลมามีผู้คนจำนวนมากเดินข้ามแม่น้ำรูบิคอน (Rubicon) หากแต่มีเพียงการข้ามแม่น้ำดังกล่าวของจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) เมื่อ 49 ปีก่อนคริสต์ศักราชเท่านั้นที่นักประวัติศาสตร์ถือว่ามีความสำคัญ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ผู้บันทึกพงศาวดารในสมัยกลางของยุโรปมักจะ “เลือก” บันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเสียเป็นส่วนใหญ่ จนทำให้คนรุ่นหลังที่มาอ่านพงศาวดารอาจเข้าใจผิดได้ว่าประวัติศาสตร์ยุคกลางมีแต่เรื่องการศาสนาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ในทัศนะของคาร์ ความเชื่อที่ว่ามีข้อมูลทางประวัติศาสตร์แท้ๆที่เป็นวัตถุวิสัยและเป็นอิสระจากการตีความของนักประวัติศาสตร์นั้นถือเป็น “ความเข้าใจผิดที่น่าหัวร่อเป็นอย่างยิ่ง” (คาร์, 2525, น. 6) เพราะในความเป็นจริงแล้วประวัติศาสตร์มิได้ตกทอดมาถึงเราอย่างบริสุทธิ์


ประการที่สอง นักประวัติศาสตร์จะต้องมีจินตนาการเพื่อที่จะเข้าใจความคิดที่อยู่เบื้องหลังผู้ที่เขาศึกษา ซึ่งการมีจินตนาการดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย คาร์ได้ชี้ให้เห็นถึงความยากลำบากของนักประวัติศาสตร์เสรีนิยมในคริสตศตวรรษที่ 19 ที่จะมีจินตนาการเพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวในยุคกลาง เนื่องจากนักประวัติศาสตร์กลุ่มดังกล่าวถูกเลี้ยงดูอบรมมาให้ผูกพันกับรัฐชาติ ทำให้พวกเขาไม่อาจทำความเข้าใจในความรู้สึกนึกคิดของคนในสมัยกลางที่มีความผูกพันรวมศูนย์อยู่กับศาสนจักรได้อย่างสมบูรณ์

ประการที่สาม แม้ว่านักประวัติศาสตร์จะพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต หากแต่พวกเขาก็ยังคงผูกพันอยู่กับกาลเวลาและสภาวะในยุคสมัยของเขา ซึ่งเขาไม่สามารถแยกตัวเองออกมาได้ ดังนั้นภาษาหรือการเลือกใช้คำของนักประวัติศาสตร์ เช่น สงคราม จักรวรรดิ ประชาธิปไตย จึงเป็นการนำเอาคำในความหมายในปัจจุบันไปใช้ในการอธิบายเรื่องราวในอดีต ซึ่งการใช้คำดังกล่าวมักมีความโน้มเอียงทางการเมืองแฝงมาด้วย นักประวัติศาสตร์จึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอดีต หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของปัจจุบัน

ขณะที่ธงชัย วินิจจะกูล (2533) ก็ได้เสนอความเห็นในทำนองที่คล้ายคลึงกันว่า ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เราเชื่อว่าเป็นการรื้อฟื้นความจริงที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นผลผลิตที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ด้วยเหตุที่นักประวัติศาสตร์นำเอาคุณค่าในยุคปัจจุบันไปประเมินพฤติกรรมของบุคคลในอดีต จึงทำให้นักประวัติศาสตร์อ่านเอกสารโดยเข้าใจจารีตทางวรรณกรรมของเอกสารนั้นผิดไป ธงชัยได้ยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์ไทยกรณีของสมเด็จพระมหาธรรมราชา ผู้ซึ่งร่วมมือกับพระเจ้าบุเรงนองของพม่าจนนำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2112 โดยเหตุที่นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่นับจากครึ่งหลังของคริสตศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาต่างมีสำนึกเรื่องชาติ (nation) พวกเขาจึงอธิบายพฤติกรรมของสมเด็จพระมหาธรรมราชาในการไปร่วมมือกับพม่าว่าเป็นลักษณะของ “ผู้ร้าย” และเมื่อถึงบั้นปลายพระชนม์ชีพที่พระองค์ทรงหันมาสนับสนุนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชผู้เป็นพระราชโอรสในการต่อสู้กับพม่า นักประวัติศาสตร์กลุ่มนี้ก็ได้อธิบายว่าพระองค์เป็น “ผู้ร้ายกลับใจ” ที่หันมาสนับสนุนพระราชโอรสในการ “กู้ชาติ”

ธงชัยมองว่าคำอธิบายดังกล่าวดูจะแตกต่างไปมากจากประวัติศาสตร์นิพนธ์ของไทยในยุคก่อนหน้านั้นอย่าง ลิลิตตะเลงพ่าย และ สังคีตยวงศ์ ซึ่งมิได้ฉายภาพความเป็นผู้ร้ายของสมเด็จพระมหาธรรมราชาออกมาเลย หากแต่กลับให้ภาพว่าพระองค์เป็น “ขุนพลแก้ว” ของพระเจ้าบุเรงนองผู้เป็น “พญาจักรพรรดิราช” ตามคติทางพุทธศาสนา ขณะที่สมเด็จพระมหินทราธิราชผู้ซึ่งพยายามปกป้องกรุงศรีอยุธยาจากการรุกรานของพม่ากลับกลายเป็นผู้ที่ขัดขวางบุญบารมีของพระเจ้าบุเรงนอง สอดคล้องกับงานของสมบัติ จันทรวงศ์ (2533) เกี่ยวกับพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าพระราชพงศาวดารฉบับดังกล่าวได้เน้นย้ำ “กษัตริยภาพ” ของสมเด็จพระมหาธรรมราชาไว้อย่างโดดเด่นเหนือพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นๆของกรุงศรีอยุธยา โดยเป็นรองเพียงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ธงชัยจึงมองว่าประวัติศาสตร์เป็นการสร้างระเบียบความสัมพันธ์ของเหตุการณ์อันไร้ระเบียบ ให้กลายเป็นความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยอาศัยภาษาและโครงเรื่องเข้ามาช่วย จนทำให้เราอาจหลงคิดไปได้ว่าเรากำลังเข้าใกล้ความจริง ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วประวัติศาสตร์อาจมิได้แตกต่างไปจากเรื่องแต่ง (fiction) เลยก็ได้

อย่างไรก็ตาม คาร์ (2525) ได้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อทฤษฎีที่มองประวัติศาสตร์อย่างสุดโต่งเกินไป ทั้งทฤษฎีที่มองว่าประวัติศาสตร์คือผลผลิตที่เป็นอัตวิสัยล้วนๆ โดยผ่านการตีความของนักประวัติศาสตร์ และอีกทฤษฎีหนึ่งที่ว่าประวัติศาสตร์คือการรวบรวมข้อเท็จจริงอย่างเป็นวัตถุวิสัยและให้ความสำคัญต่อข้อเท็จจริงเหนือการตีความ คาร์มองว่าในความเป็นจริงแล้ว “นักประวัติศาสตร์” และ “ข้อมูล” ต่างตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและพึ่งพาอาศัยกัน เพราะนักประวัติศาสตร์ไม่อาจทำงานได้หากปราศจากข้อมูล และข้อมูลก็ไม่อาจมีความหมายได้หากปราศจากนักประวัติศาสตร์ เขาจึงมองว่าโดยที่สุดแล้ว ประวัติศาสตร์ก็คือ “กระบวนการอันต่อเนื่องของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักประวัติศาสตร์กับข้อมูลของเขา ประวัติศาสตร์คือบทสนทนาอันไม่มีที่สิ้นสุดระหว่างปัจจุบันกับอดีต” (คาร์, 2525, น. 23)


เอกสารอ้างอิง


กอตชัลค์, หลุยส์. (2525). การเข้าใจประวัติศาสตร์: มูลบทว่าด้วยระเบียบวิธีวิจัยประวัติศาสตร์ (ธิติมา พิทักษ์ไพรวัน, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช.

คาร์, อี. เอช. (2525). ประวัติศาสตร์คืออะไร (ชาติชาย พณานานนท์, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และสุชาติ สวัสดิ์ศรี. (2527). บทกล่าวนำ: ประวัติศาสตร์และปรัชญาประวัติศาสตร์. ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และสุชาติ สวัสดิ์ศรี (บรรณาธิการ), ปรัชญาประวัติศาสตร์ (น. 1-8). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

ธงชัย วินิจจะกูล. (2533). ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ไทย: กรณีพระมหาธรรมราชา. ใน สุนทรี อาสะไวย์ และกาญจนี ละอองศรี (บรรณาธิการ), ไทยคดีศึกษา (น. 173-196). กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้ง.

สมบัติ จันทรวงศ์. (2533). ข้อสังเกตเบื้องต้นว่าด้วยความสำคัญของคำพูดในการเขียนประวัติศาสตร์อยุธยา: ศึกษาเฉพาะกรณีบทสนทนาในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. ใน สุนทรี อาสะไวย์ และกาญจนี ละอองศรี (บรรณาธิการ), ไทยคดีศึกษา (น. 123-171). กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้ง.

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ทำให้มองเห็นประวัติในอีกมุมมองหนึ่งซึ่งเราไม่เคยแม้แต่จะสนใจเลยค่ะ ขอบคุณนะคะ