วันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2551

การเปรียบเทียบญาณวิทยาแบบวิทยาศาสตร์กับญาณวิทยาในทางพระพุทธศาสนา


การเปรียบเทียบญาณวิทยาแบบวิทยาศาสตร์กับญาณวิทยาในทางพระพุทธศาสนา
รายงานเสนอต่อศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ ในวิชา สห. 821 ญาณวิทยา ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2550 โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สิทธิพล เครือรัฐติกาล

ญาณวิทยา (Epistemology) หรือทฤษฎีความรู้ (Theory of Knowledge) เป็นหนึ่งในสามสาขาใหญ่ของวิชาปรัชญาอันประกอบไปด้วย อภิปรัชญา (Metaphysics) ญาณวิทยา (Epistemology) และคุณวิทยา (Axiology) ญาณวิทยาศึกษาเรื่องเกี่ยวกับความรู้ ธรรมชาติของความรู้ แหล่งเกิดหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรู้ ขอบเขตของความรู้ กระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของความรู้ รวมทั้งสิ่งที่ถูกรู้ (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ 2543, 1) ญาณวิทยาจึงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นวิธีการในการแสวงหาความจริงเกี่ยวกับสรรพสิ่งต่างๆ และเป็นพื้นฐานในการเก็งถึงความจริงทางอภิปรัชญาด้วย (บุญมี แท่นแก้ว 2543, 1)

ญาณวิทยาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนานคือญาณวิทยาตามแบบพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งได้เผยแผ่เข้ามายังดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันตั้งแต่เมื่อราว 250 ปีก่อนคริสต์ศักราช และพระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่คู่กับประวัติศาสตร์ไทยตลอดมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ญาณวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ของตะวันตกได้เริ่มแพร่หลายเข้ามาในสังคมไทยและดำรงอยู่ควบคู่กันกับญาณวิทยาแบบพระพุทธศาสนาตราบจนปัจจุบัน โดยมักจะมีการอธิบายว่าพระพุทธศาสนามีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ในตัวแล้ว ด้วยเหตุนี้ญาณวิทยาทั้งสองแบบจึงมิได้ขัดแย้งกัน หากแต่ยังมีส่วนเกื้อหนุนซึ่งกันและกันอีกด้วย (ดูตัวอย่างใน พระราชวรมุนี 2540) อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดปลีกย่อยแล้วจะพบว่า พระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์มีจุดเน้นทางญาณวิทยาที่แตกต่างกันไม่น้อย รายงานชิ้นนี้จะเป็นการทบทวนและเปรียบเทียบญาณวิทยาแบบวิทยาศาสตร์กับแบบพระพุทธศาสนาเถรวาท (ในที่นี้ขอเรียกอย่างย่อว่า พระพุทธศาสนา) โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ ธรรมชาติของความรู้ แหล่งที่มาของความรู้ ขอบเขตของความรู้ แนวทางในการตรวจสอบความรู้ และบทสรุปเชิงเปรียบเทียบ


ธรรมชาติของความรู้

มุมมองทางวิทยาศาสตร์
วิทยาศาสตร์ (Science) เป็นการค้นหาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ (nature) ซึ่งหมายถึง สสาร (matter) และพลังงาน (energy) ทั้งในรูปของสิ่งมีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต (ฟิสเชอร์ 2527, 19) ความรู้ที่จะจัดเป็นวิทยาศาสตร์ได้นั้นจะต้องตั้งอยู่บนฐานแห่งเงื่อนไข 3 ประการ (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ 2543, 217) คือ

1. จะต้องเป็นความรู้ของธรรมชาติ หรือปรากฏการณ์ของธรรมชาติ
2. จะต้องได้จากการใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์ และ
3. จะต้องเป็นความรู้ที่ผ่านการทดสอบยืนยันแล้วว่าเป็นความจริง

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สามารถจำแนกได้เป็น 6 ประเภท (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ 2543, 217-218) ได้แก่

1. ข้อเท็จจริงเชิงเดี่ยว (Facts) หมายถึงข้อมูลดิบที่ยังไม่ได้จัดระเบียบ เป็นสิ่งที่ได้มาจากการสังเกตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง
2. ความคิดรวบยอดหรือมโนคติ (Concepts) หมายถึง ความคิดเข้าใจที่สรุปเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งอันเกิดจากการสังเกต หรือได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งนั้นหลายๆแบบแล้วใช้คุณลักษณะของสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้นมาประมวลเข้าด้วยกันให้เป็นข้อสรุปหรือคำจำกัดความ มโนคติเป็นความรู้ความเข้าใจของแต่ละบุคคลเกี่ยวกับวัตถุหรือปรากฏการณ์ต่างๆโดยนำความรู้มาสัมพันธ์กับประสบการณ์เดิม
3. หลักการ (Principles) หมายถึง ความจริงที่สามารถใช้เป็นหลักอ้างอิงได้ เป็นการนำมโนคติที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ซึ่งได้รับการทดสอบว่าเป็นจริงแล้วมาผสมผสานกัน แล้วนำไปใช้อ้างอิง หลักการต้องเป็นความจริงที่สามารถตรวจสอบได้ และได้ผลเหมือนกัน
4. กฎ (Laws) หมายถึง ข้อความที่ระบุความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผลโดยผ่านการทดสอบที่เชื่อถือได้มาแล้ว
5. สมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Hypotheses) หมายถึง ข้อความที่คาดคะเนคำตอบ โดยอาศัยข้อมูลและความรู้เดิมเป็นพื้นฐาน สมมติฐานจะจริงหรือเท็จต้องอาศัยการหาหลักฐานมาคัดค้านหรือสนับสนุน
6. ทฤษฎี (Theory) หมายถึง ข้อความที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในการอธิบายกฎ หลักการ หรือข้อเท็จจริง อันเป็นข้อความที่ใช้อธิบายหรือทำนายปรากฏการณ์ต่างๆนั่นเอง

สมภาร พรมทา (2534, 17) ได้สรุปเอาไว้ว่า โดยรวมแล้วความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีอยู่สองประเภทหลักๆ ได้แก่ กฎ (law) และทฤษฎี (theory) ความแตกต่างระหว่างทั้งสองก็คือ ข้อความที่เราเรียกว่ากฎจะพูดถึงสิ่งที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยประสาทสัมผัส แต่สำหรับทฤษฎีแล้วจะมีข้อความบางตอนพูดถึงของที่มนุษย์ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยประสาทสัมผัส เนื่องจากมีข้อจำกัดทางธรรมชาติอยู่ ดังนั้นมนุษย์จึงใช้ “เหตุผล” เข้ามาช่วยในการประกอบขึ้นเป็นทฤษฎี ส่วนโรเบิร์ต บี. ฟิสเชอร์ (2527, 76-77) ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า กฎทางวิทยาศาสตร์มีลักษณะเป็นคำอธิบาย (descriptive) ความเป็นไปอย่างสม่ำเสมอที่พบได้ในธรรมชาติ ขณะที่ทฤษฎีนั้นได้มาจากการการใช้เหตุผลเชิงอุปนัย (induction)

นอกจากนี้ เสมอชัย พูลสุวรรณ (2544, 4) และ โรเบิร์ต บี. ฟิสเชอร์ (2527, 79) ได้ตั้งข้อสังเกตที่ตรงกันว่า วิทยาศาสตร์ไม่ได้ใส่ใจกับการค้นหา “ความจริงแบบสัมบูรณ์” (absolute truth) โดยปล่อยให้เรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของนักปรัชญา หากแต่สิ่งที่วิทยาศาสตร์สามารถค้นหาได้คือ “ความจริงแบบสัมพัทธ์” (relative truth) ความจริงแบบนี้อิงกับหลักฐานที่เป็นรูปธรรมที่นักวิทยาศาสตร์แสวงหามาได้ โดยอาศัยการตีความด้วยตรรกะ “ความจริง” ดังกล่าวจึงไม่เป็นอิสระจากหลักฐาน และไม่เป็นอิสระจากสามัญสำนึกของมนุษย์ กล่าวได้อีกอย่างก็คือ เราไม่สามารถแยก “ข้อเท็จจริง” ตามธรรมชาติ ออกจาก “การตีความข้อเท็จจริง” ของเราได้

สรุปได้ว่าวิทยาศาสตร์เน้นการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมชาติ” อันได้แก่ สสาร และพลังงาน โดยมีการแบ่งความรู้ออกเป็นสองประเภทหลักๆ ได้แก่ ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส และความรู้ในระดับความคิดหรือโลกของทฤษฎี และความรู้ที่ได้จากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์นั้นจะเป็นความรู้แบบสัมพัทธ์ มากกว่าที่จะเป็นความรู้แบบสัมบูรณ์

มุมมองทางพระพุทธศาสนา
ในทางพระพุทธศาสนา ความจริงหรือสัจภาวะที่มนุษย์เราศึกษาและรู้กันในโลกนี้มีอยู่ 4 ประการ (บุญมี แท่นแก้ว 2543, 33-35) ได้แก่

1. สมมติสัจจะ (Conventional Truth) หมายถึงความจริงขั้นนอกแบบผิวเผินที่คนเราสมมติว่าเป็นจริงและยอมรับกันในชีวิตประจำวัน หากแต่เมื่อได้ศึกษาค้นคว้าลงให้ละเอียดแล้วจะพบว่า ความจริงขั้นนี้ไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น มนุษย์เห็นพ้องต้องกันว่าดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกลงในทางทิศตะวันตก หากแต่เมื่อศึกษาในรายละเอียดแล้วจะพบว่าดวงอาทิตย์ไม่ได้ขึ้นและตกแต่อย่างใด ปรากฏการณ์ที่เห็นนั้นเกิดจากการที่โลกหมุนรอบตัวเองต่างหาก
2. สภาวสัจจะ (Empirical Truth) หมายถึงความจริงที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า วินิจฉัย วิเคราะห์ วิจารณ์ให้ลึกซึ้งจนสามารถรู้ความจริงระดับลึกลงไปอีก เช่น การรู้ว่าปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นและลงนั้นเกิดจากการหมุนของโลก เป็นต้น
3. ปรมัตถสัจจะ (Metaphysical Truth) หมายถึงความจริงที่อยู่เหนือวิสัยของประสาทสัมผัสของมนุษย์ เช่น ความจริงเกี่ยวกับจิตวิญญาณ นรก สวรรค์ นิพพาน เป็นต้น ซึ่งก็คือความจริงทางอภิปรัชญานั่นเอง
4. อริยสัจจ์ (The Four Noble Truth) หมายถึงความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย (เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์) นิโรธ (ความดับทุกข์) และมรรค (ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์) พระพุทธเจ้าถือว่าทรงสรรเสริญความจริงข้อนี้ว่าสูงส่งกว่าความจริงข้อ 1-3 เนื่องจากเป็นความจริงที่ช่วยให้มนุษย์ไปสุ่การพ้นทุกข์ได้

พระพุทธศาสนายังจำแนกความรู้ของมนุษย์ออกเป็น 6 ระดับ จากต่ำไปสูง (บุญมี แท่นแก้ว 2543, 42-44) ได้แก่

1. วิญญาณ (Consciousness) หมายถึง ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในของมนุษย์อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบกับอารมณ์หรือสิ่งเร้าจากภายนอก ความรู้ในระดับนี้มีลักษณะง่ายๆ เช่น เมื่อตาเห็นรูป ก็รู้แต่เพียงว่าเป็นรูป แต่ไม่รู้รายละเอียดว่าเป็นรูปอะไร เป็นต้น ความรู้ระดับวิญญาณนี้เกิดขึ้นเองทุกครั้งที่อายตนะใดอายตนะหนึ่งของเรากระทบกับสิ่งเร้าจากภายนอก
2. สัญญา (Perception) หมายถึง การรู้คุณลักษณะต่างๆของอารมณ์หรือสิ่งเร้านั้นๆ โดยมีความรู้ระดับวิญญาณเป็นรากฐาน เช่น เมื่อตาเห็นรูปแล้วก็รู้ว่านั่นเป็นรูปอะไร หรือรูปใคร เป็นต้น หรือที่เรียกกันว่า “จำได้หมายรู้” นั่นเอง
3. ทิฏฐิ (Conception) หมายถึง ความรู้ที่เกิดจากการพิจารณาเปรียบเทียบแล้วสรุปเป็นความเห็นอีกทีหนึ่ง เช่น พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย จึงทรงพิจารณาและสรุปเป็นความคิดรวบยอดที่เรียกว่า “ความทุกข์”
4. อภิญญา (Extra-Sensory Perception) หมายถึง ความรู้ที่เกิดจากความสามารถพิเศษทางจิต กล่าวคือจิตสามารถรับรู้อารมณ์หรือสิ่งเร้าต่างๆได้โดยตรง โดยไม่ต้องอาศัยประสาทสัมผัสใดๆ เช่น สามารถเห็นเหตุการณ์ที่อยู่ในสถานที่ที่ห่างไกลได้ หรือเห็นเหตุการณ์ในอนาคต เป็นต้น
5. ญาณ (Intuitive Insight) หมายถึง ความรู้ที่สมบูรณ์ รู้ทุกส่วน มิได้จำกัดเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง เป็นการเรียนรู้โลกของตนโดยอาศัยประสบการณ์ทางจิตโดยตรง
6. สัมมาสัมโพธิญาณ (Enlightenment) เป็นความรู้ขั้นสูงสุดในพุทธปรัชญา เป็นความรู้ของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งปวง

สรุปได้ว่า พระพุทธศาสนาเน้นการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับ “ชีวิตมนุษย์” โดยอาศัยประสาทสัมผัส เหตุผล และการฝึกจิต เพื่อให้มนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงของชีวิตได้ และพระพุทธศาสนาเชื่อในการมีอยู่ของความจริงสูงสุด

แหล่งที่มาของความรู้

มุมมองทางวิทยาศาสตร์
โรเบิร์ต บี. ฟิสเชอร์ (2527, 20) ได้ให้นิยามของวิทยาศาสตร์ว่าเป็น “องค์ความรู้ที่เราได้รับโดยวิธีการต่างๆโดยอาศัยการสังเกตการณ์” ซึ่งหมายความว่า แหล่งที่มาของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็คือการสังเกตการณ์ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย นั่นเอง สิ่งใดก็ตามที่อยู่นอกขอบเขตหรือพ้นไปจากความรู้สึกที่คนเราสามารถสังเกตได้แล้ว สิ่งนั้นย่อมอยู่นอกขอบเขตหรือพ้นไปจากปริมณฑลของวิทยาศาสตร์ (ฟิสเชอร์ 2527, 22) กระบวนการทางวิทยาศาสตร์นับแต่เริ่มต้นจนถึงการได้มาซึ่งองค์ความรู้นั้นประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน (พิสิฎฐ์ โคตรสุโพธิ์ 2543, 214) ได้แก่

1. ขั้นตั้งคำถามเชิงวิทยาศาสตร์ ว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง (what) เกิดขึ้นมาอย่างไร (how) และเพราะเหตุใดจึงเกิดขึ้น (why)
2. การใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ค้นหาคำตอบ ไม่ว่าจะเป็นการสังเกต การวัด การหาความสัมพันธ์ การจัดประเภท การคำนวณ การพยากรณ์ การควบคุมตัวแปร การแปลผลข้อมูล การตั้งสมมติฐาน การทดลอง การตีความหมาย ฯลฯ
3. การสรุปเป็นองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์

มุมมองทางพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนามองว่าการแสวงหาความรู้จะต้องอาศัยอายตนะหรือประตูเชื่อม 6 ประการ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อประตูใดประตูหนึ่ง เช่น ตา เป็นต้น ไปกระทบกับอารมณ์คือรูปจึงเกิดผัสสะ ผัสสะนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการรับรู้ว่าสิ่งที่ไปสัมผัสนั้นคืออะไร (บุญมี แท่นแก้ว 2545, 15) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความรู้อันทำให้เกิดความคิดนั้นย่อมมีรากฐานมาจากข้อเท็จจริงทางประสาทสัมผัส (สมัคร บุราวาศ 2542, 108)
ในคัมภีร์สคารวสูตร พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าความรู้เกิดจากแหล่ง 3 ประการ (บุญมี แท่นแก้ว 2543, 48-49) ได้แก่

1. ความรู้ที่ได้จากการฟังตามกันมา เช่น ผู้ศึกษาคัมภีร์พระเวทโดยตรง เป็นต้น เรียกอีกอย่างว่า “สุตมยปัญญา”
2. ความรู้ที่ได้จากการใช้เหตุผลคาดคะเน เก็งความจริงตามหลักเหตุผล เรียกอีกอย่างว่า “จินตามยปัญญา”
3. ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ตรงของผู้แสวงหาความรู้นั้น เรียกอีกอย่างว่า “ภาวนามยปัญญา”
ในความรู้ทั้ง 3 แหล่งนี้ พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญสูงสุดกับภาวนามยปัญญา ถ้าความรู้จาก 3 แหล่งนี้เกิดขัดแย้งกัน ไม่เห็นสอดคล้องกัน ภาวนามยปัญญาจะเป็นเกณฑ์ตัดสินชี้ขาดความรู้ที่ถูกต้องและมีน้ำหนักมากที่สุด กล่าวได้ว่าการแสวงหาความรู้ตามแนวทางของพระพุทธศาสนานั้นมีลักษณะของแนวคิดประจักษนิยม (Empirical Knowledge) (บุญมี แท่นแก้ว 2545, 18)

ในส่วนของกระบวนการได้มาซึ่งความรู้นั้น พระพุทธเจ้าทรงเน้นหลักอริยสัจ 4 อันมีองค์ประกอบดังนี้ (พระราชวรมุนี 2540, 43-46)

1. ขั้นกำหนดทุกข์ ได้แก่ การกำหนดว่าปัญหาคืออะไร มีขอบเขตแค่ไหน
2. ขั้นสืบสาวสมุทัย ได้แก่ การค้นหาสาเหตุของปัญหา
3. ขั้นเก็งนิโรธ ได้แก่ สภาพที่ไร้ปัญหา โดยต้องตั้งสมมติฐานว่าสภาพไร้ปัญหานั้นคืออะไร เข้าถึงได้หรือไม่ โดยวิธีใด
4. ขั้นเจริญมรรค ได้แก่ วิธีปฏิบัติและลงมือทำเพื่อแก้ปัญหา

ขอบเขตแห่งความรู้

มุมมองทางวิทยาศาสตร์
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันมีรากฐานมาจากความพยายามดิ้นรนให้พ้นจากการครอบงำของศาสนาจักรซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในยุโรปช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 หรือที่เรียกกันว่ายุคกลาง (The Middle Ages) เมื่อศาสนจักรเสื่อมอำนาจลงหลังคริสต์ศตววรษที่ 16 ยุโรปก็เข้าสู่ยุคแห่งเหตุผล (The Age of Reasons) ชาวยุโรปมีอิสระทางความคิดมากขึ้นโดยไม่ต้องอยู่ในกรอบของความเชื่อทางศาสนาอย่างแต่ก่อน การแสวงหาความจริงทางธรรมชาติก็เน้นวิธีการแห่งวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) มากขึ้น ลักษณะสำคัญของนักคิดในยุคนี้มี 4 ประการ (ทวีศักดิ์ ล้อมลิ้ม 2542, 240) ได้แก่

1. สนใจศึกษามนุษย์ในฐานะเป็นสัตว์โลก (Secularization of Learning) เลิกศึกษาในแนวศาสนา ด้วยเห็นว่าความเชื่อในทางศาสนาเป็นสิ่งกีดขวางความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และกีดขวางความเป็นอิสระเสรีในทางความคิด
2. มีความเชื่อในเหตุผล (Faith in Reason) เชื่อว่าเหตุผลมีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกปรากฏการณ์ ผลต่างๆที่เกิดขึ้นย่อมมาจากเหตุ ปัญหาต่างๆย่อมแก้ได้ด้วยวิธีการแห่งเหตุและผล
3. เชื่อในความมีประโยชน์ของสิ่งต่างๆ (Utilitarianism) เช่น ทรัพย์สิน ถ้ารู้จักใช้อย่างฉลาดก็สามารถก่อประโยชน์ให้เกิดแก่ชีวิตได้ สิทธิเสรีภาพต่างๆก็เช่นกัน ถ้ารู้จักใช้ก็จะเป็นทางนำไปสู่ความก้าวหน้าแห่งชีวิตได้
4. มองโลกในแง่ดีและความเชื่อมั่นในตนเอง (Optimism and Self-confidence) เห็นว่าโลกนี้เป็นที่น่าอาศัยอยู่ ปัญหาต่างๆในโลกเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ เพราะไม่ได้เกิดจากอำนาจลึกลับ หากแต่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ มีความเชื่อมั่นและภูมิใจในความเป็นมนุษย์ เชื่อในความสามารถของมนุษย์ มนุษย์สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้เองโดยไม่ต้องพึ่งอำนาจจากภายนอก

แนวคิดที่ยกมาข้างต้นได้ทำให้ยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 17 กลายเป็นสมัยแห่งการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (The Scientific Revolution) และผลของการปฏิวัติดังกล่าวก็มีผลต่อพัฒนาการด้านต่างๆของมนุษย์ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ทำให้ “ศรัทธา” ซึ่งมนุษย์สมัยก่อนเชื่อว่าเป็นเครื่องชี้ทางดำเนินชีวิตที่ดีที่สุด ค่อยๆถูก “เหตุผล” เข้าแทนที่ จนมนุษย์เกิดความมั่นใจว่าเหตุผลจะตอบปัญหาต่างๆทั้งมวลของตนได้ การปฏิวัติวิทยาศาสตร์นอกจากจะเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าทางปัญญาแล้ว ยังสร้างสรรค์ความเจริญทางวัตถุอีกด้วย นับแต่นั้นมามนุษย์จึงได้อาศัยวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความก้าวหน้าทางวัตถุอย่างไม่หยุดยั้ง (สุวิมล รุ่งเจริญ 2540, 3) ขอบเขตการศึกษาของวิทยาศาสตร์จึงครอบคลุมโลกฝ่ายวัตถุทั้งหมดเท่าที่ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกายจะสามารถเข้าถึงได้

อย่างไรก็ตาม การอาศัยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการแสวงหาความรู้ของวิทยาศาสตร์นั้นมิได้หมายความว่าวิทยาศาสตร์ปฏิเสธการมีอยู่ของสิ่งที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ของประสาทสัมผัสทั้ง 5 ดังที่ โรเบิร์ต บี. ฟิสเชอร์ (2527, 110-111) ได้เน้นย้ำว่า เราไม่ควรนำคำว่า “วิทยาศาสตร์” (Science) ไปปะปนกับคำว่า “ลัทธิวิทยาศาสตร์” (Scientism) เพราะคำว่า “ลัทธิวิทยาศาสตร์” นั้นเป็นแนวคิดที่เชื่อว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติควรจะนำไปปรับใช้ในการศึกษาค้นคว้าของศาสตร์ทั้งปวง รวมทั้งปรัชญา มนุษยศาสตร์ และสังคม เป็นความเชื่อที่ถือว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่เป็นประโยชน์ต่อการแสวงหาความรู้ ลัทธิวิทยาศาสตร์จึงเปรียบเสมือนอำนาจและอุดมการณ์อย่างหนึ่งที่พยายามกำหนดและอธิบายความเป็นไปของทุกสิ่งทุกอย่าง และปฏิเสธความรู้ที่ไม่อาจเข้าถึงได้โดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเพียงเรื่องที่ไร้สาระ

มุมมองทางพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาแบ่งความรู้ในโลกนี้ออกเป็น 5 หมวดใหญ่ (พระราชวรมุนี 2540, 27-28) ได้แก่

1. อุตุนิยาม (Physical Laws) ได้แก่ กฎธรรมชาติที่ครอบคลุมความเป็นไปของปรากฏการณ์ในธรรมชาติฝ่ายวัตถุที่ไร้ชีวิตทุกชนิด เช่น ปรากฏการณ์ฝนตก ฟ้าร้อง เป็นต้น
2. พีชนิยาม (Biological Laws) ได้แก่ กฎธรรมชาติที่ครอบคลุมความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์
3. จิตตนิยาม (Psychic Laws) ได้แก่ กฎธรรมชาติที่ครอบคลุมความเป็นไปของจิต ช่วยอธิบายว่าการรับรู้แต่ละครั้งของจิตมีกระบวนการทำงานอย่างไร
4. กรรมนิยาม (Karmic Laws) ได้แก่ กฎธรรมชาติที่ครอบคลุมความเป็นไปของชีวิตมนุษย์โดยรวม หรือที่เรารู้จักกันว่า “กฎแห่งกรรม”
5. ธรรมนิยาม (General Law) ได้แก่ กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งทั้งหลาย เป็นกฎสากลที่ครอบคลุมความเป็นไปทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายวัตถุ

จุดมุ่งหมายที่สำคัญของพระพุทธศาสนาคือ วิมุตติ หรือความหลุดพ้น นั่นคือการให้มนุษย์ไปสู่อิสรภาพ หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ (พระเทพเวที 2535, 113) ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงเน้นเรื่องจิตตนิยามและกรรมนิยามเป็นหลัก เพราะเป็นความรู้ที่จะช่วยในการพ้นทุกข์ได้ เนื้อหาตอนหนึ่งในพระไตรปิฎกก็ได้เน้นย้ำว่าพระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญเฉพาะความรู้ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการดับทุกข์เท่านั้น เรื่องดังกล่าวมีใจความว่า ครั้งหนึ่ง ณ ป่าไม้ประดู่ลายแห่งเมืองโกสัมพี พระพุทธเจ้าทรงหยิบใบไม้ประดู่ลาย 2-3 ใบมาไว้ในกำมือและตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจะพึงคิดอย่างไร ใบไม้ในกำมือของเรานี้กับใบไม้ในป่าทั้งหมดอย่างไหนจะมากกว่ากัน” ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใบไม้ในกำมือของพระองค์เล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใบไม้ในป่าที่เหลือมากมายเหลือเกินพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้าจึงตรัสต่อไปว่า

“แม้เรื่องนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน ภิกษุทั้งหลายที่มีสิ่งอื่นอีกมากมายที่เราได้รู้แล้วแต่มิได้นำมาสั่งสอนเธอ สิ่งที่เราได้สั่งสอนเธอนั้นมีเพียงจำนวนน้อยนิด เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย การคลายกำหนัด เพื่อความสิ้นทุกข์ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม หรือเพื่อพระนิพพาน เพราะเหตุนั้นเราจึงมิได้นำมาสอนพวกเธอ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเล่าที่เรานำมาสั่งสอนพวกเธอ สิ่งนั้นคือความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ เหตุของความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ ความดับทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ นี่แหละคือสิ่งที่เรานำมาสอนเธอ” (อ้างใน เบินส์ 2513, 38-39)

นอกจากจะเน้นการแสวงหาความรู้เฉพาะในส่วนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพ้นทุกข์แล้ว พระพุทธเจ้ายังได้ทรงเน้นอีกว่า การศึกษาธรรมเพื่อประดับสติปัญญาแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ลงมือปฏิบัติเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความรู้ (ปริยัติ) จะต้องนำไปสู่การลงมือทำ (ปฏิบัติ) เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งและหลุดพ้นจากกิเลส (ปฏิเวธ) นั่นเอง (พระราชวรมุนี 2540, 36)

แนวทางในการตรวจสอบความถูกต้องของความรู้

มุมมองทางวิทยาศาสตร์
วิทยาศาสตร์ถือว่าการแสวงหาความรู้และการตรวจสอบความถูกต้องของความรู้ต่างต้องอาศัยแนวทางเดียวกัน กล่าวคือ วิทยาศาสตร์อาศัยการแสวงหาความรู้โดยอาศัยการสังเกตการณ์ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย เมื่อสังเกตแล้วก็ตั้งสมมติฐานเพื่ออธิบายปรากฏการณ์เหล่านั้น จากนั้นก็สังเกตปรากฏการณ์เดียวกันต่อไปอีกเพื่อทดสอบสมมติฐาน และเมื่อได้รับการยืนยันก็ตั้งเป็นกฎ ทั้งหมดนี้มีประสบการณ์เป็นหัวใจ กฎทางวิทยาศาสตร์ได้จากข้อมูลที่มาทางประสบการณ์ การทดสอบความจริงของกฎก็ต้องทดสอบด้วยประสบการณ์เช่นกัน (สุวิมล รุ่งเจริญ 2540, 67)

โรเบิร์ต บี. ฟิสเชอร์ (2527, 62) เสนอว่า วิทยาศาสตร์คือกระบวนการสังเกตแบบทดลอง (experimental observation) ที่ไม่เคยสิ้นสุดอย่างแท้จริง โดยจะมีการสังเกตต่อไปเรื่อยๆอย่างไม่ขาดสายเพื่อทดสอบว่าความรู้ที่เราค้นพบมาก่อนหน้านี้มีความถูกต้องเพียงใด ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่ากระบวนการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของความรู้ (เดิม) ทางวิทยาศาสตร์ไปในตัวด้วย

เสมอชัย พูลสุวรรณ (2544, 5) ก็ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า นอกจากวิทยาศาสตร์จะสอนให้มนุษย์ยอมรับ “ความจริง” ที่อิงกับหลักฐานที่เป็นรูปธรรม และวิธีตีความที่เที่ยงตรงสมเหตุผลแล้ว ขณะเดียวกันก็กระตุ้นเตือนให้มนุษย์พยายามแสวงหา “ข้อเสนอ” แบบอื่นๆที่แตกต่างออกไปโดยใช้วิธีการค้นหาความจริงแบบเดียวกัน วิทยาศาสตร์ในอุดมคติจะต้องเป็นกระบวนการหาความรู้ซึ่งไม่มีขอบเขตที่สิ้นสุด

มุมมองทางพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแบบอเทวนิยม (Atheism) กล่าวคือ ไม่เชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้า และเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ที่จะบรรลุธรรมได้ด้วยการฝึกฝนตนเอง ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงเน้นการตรวจสอบสิ่งต่างๆโดยไม่อาศัยความเชื่อ ดังที่ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า “การที่จะเปลี่ยนความเชื่อซึ่งฝังอยู่ในจิตใจเสียแล้วนั้น เป็นการยากมาก แต่บุคคลควรจะทดสอบลัทธิความเชื่อทั้งปวงโดยเสรีด้วยตนเอง สิ่งใดชอบก็พึงรับไว้ ที่ไม่ชอบก็พึงปัดไปเสีย” (อ้างใน เบินส์ 2513, 51) พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มนุษย์ใช้กาลามสูตร 10 ประการ เป็นเกณฑ์ในการตรวจสอบความรู้ดังนี้

1. มา อนุสฺสเวน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
2. มา ปรมฺปราย – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆกันมา
3. มา อิติกิราย – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
4. มา ปิฏกสมฺปทาเนน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
5. มา ตกฺกเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ
6. มา นยเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
7. มา อาการปริวิตกฺเกน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
8. มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺยิตา – อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจแล้ว
9. มา ภพฺพรูปตาย – อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะว่าน่าเป็นไปได้
10. มา สมโณ โน ครูติ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา

จากข้อความ 10 ประการในกาลามสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงแนะว่าก่อนจะเชื่อสิ่งใดนั้นจะต้องมีการตรวจสอบให้รอบคอบเสียก่อน เมื่อประจักษ์ด้วยตนเองและเกิดผลเป็นกุศลเมื่อนำไปปฏิบัติแล้ว จึงค่อยเชื่อและถือว่าความรู้นั้นใช้ได้ (บุญมี แท่นแก้ว 2545, 17)

บทสรุปเชิงเปรียบเทียบ

ในส่วนนี้จะเป็นการสรุปและเปรียบเทียบญาณวิทยาแบบวิทยาศาสตร์และญาณวิทยาแบบพระพุทธศาสนา โดยจะแบ่ง 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ญาณวิทยาทั้งสองแบบสอดคล้องกัน ส่วนที่ญาณวิทยาทั้งสองแบบเห็นต่างกัน และส่วนที่ญาณวิทยาทั้งสองแบบเห็นสอดคล้องกันในหลักการแต่แตกต่างกันในรายละเอียด และในตอนท้ายผู้เขียนจะเสนอข้อคิดเห็นบางประการที่ได้จากการศึกษาญาณวิทยาทั้งสองแบบนี้

ญาณวิทยาที่สอดคล้องกันระหว่างวิทยาศาสตร์กับพระพุทธศาสนา
วิทยาศาสตร์และพระพุทธศาสนาต่างเน้นการอาศัยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสเป็นแกนหลักในการแสวงหาความรู้และตรวจสอบความถูกต้องของความรู้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ตรง (ภาวนามยปัญญา) มากกว่าความรู้ที่ได้จากการฟัง(สุตมยปัญญา) และความรู้ที่ได้จากการคิด (จินตามยปัญญา) แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับกระบวนการสังเกตและทดลอง (experimental observation) ตามหลักวิทยาศาสตร์

เมื่อลองเปรียบเทียบกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์กับหลักอริยสัจ 4 ในทางพระพุทธศาสนาแล้วจะพบว่ามีความสอดคล้องกันดังนี้

1. การกำหนดปัญหาในทางวิทยาศาสตร์ เทียบได้กับการกำหนดทุกข์ในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นขั้นตอนของการชี้ให้เห็นตัวปัญหาและที่มาของปัญหา
2. การตั้งสมมติฐานในทางวิทยาศาสตร์ เทียบได้กับการสืบสาวสมุทัยและการเก็งนิโรธในทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นขั้นตอนในการหาสาเหตุของปัญหาและวิธีการในการขจัดปัญหา
3. การสังเกต การทดลอง การวิเคราะห์ข้อมูล และการสรุปผลในทางวิทยาศาสตร์ เทียบได้กับการเจริญมรรคในทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นการลงมือปฏิบัติเพื่อคลี่คลายประเด็นปัญหานั้นๆ


ญาณวิทยาที่แตกต่างกันระหว่างวิทยาศาสตร์กับพระพุทธศาสนา
วิทยาศาสตร์เน้นการแสวงหาความรู้ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมชาติ” อันได้แก่ สสาร (matter) และพลังงาน (energy) อันมีขอบเขตกว้างขวาง ตรงกับหมวดความรู้ที่เรียกว่าอุตุนิยาม (Physical Laws) และพีชนิยาม (Biological Laws) ตามเกณฑ์ของพระพุทธศาสนา ขณะที่ตัวพระพุทธศาสนาเองจะเน้นเฉพาะการแสวงหาความรู้ที่จะเอื้ออำนวยให้มนุษย์เดินไปสู่การดับทุกข์ได้เท่านั้น ซึ่งหมายถึงความรู้ในส่วนของจิตตนิยาม (Psychic Laws) และกรรมนิยาม (Karmic Laws) ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเน้นหลักปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ กล่าวคือ ความรู้จะต้องนำไปสู่การลงมือทำเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งและหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง นั่นเอง

ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งก็คือ ในทางวิทยาศาสตร์ถือว่า ความจริงที่มนุษย์ค้นหามาได้ตามกระบวนการค้นคว้าแบบวิทยาศาสตร์นั้นมีข้อจำกัดหลายประการจนทำให้ความจริงดังกล่าวเป็นเพียงความจริงสัมพัทธ์ (Relative Truth) เท่านั้น หากแต่พระพุทธศาสนาเชื่อว่าการบำเพ็ญเพียรทางจิตจะทำให้มนุษย์สามารถเข้าถึงปรมัตถสัจจะ (Metaphysical Truth) และอริยสัจจ์ (The Four Noble Truth) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พระพุทธศาสนามองว่ามนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงสัมบูรณ์ (Absolute Truth) ได้

ญาณวิทยาที่สอดคล้องกันในหลักการแต่แตกต่างกันในรายละเอียดระหว่างวิทยาศาสตร์กับพระพุทธศาสนา
แม้ว่าวิทยาศาสตร์และพระพุทธศาสนาจะเน้นการแสวงหาความรู้ด้วยการสังเกตผ่านประสาทสัมผัส หากแต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะพบว่ามีความแตกต่างกันอยู่ในประเด็นเรื่องของจิต (หรือใจ) กล่าวคือ วิทยาศาสตร์เน้นการแสวงหาความรู้โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย สิ่งใดก็ตามที่อยู่เหนือความสามารถในการรับรู้ของประสาทสัมผัสทั้ง 5 ก็ถือว่าอยู่นอกเขตการศึกษาของวิทยาศาสตร์ ขณะที่พระพุทธศาสนาเน้นการใช้อายตนะ 6 อันประกอบไปด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในทางวิทยาศาสตร์ และเพิ่มเรื่องของจิตเข้ามาอีกประเด็นหนึ่ง พระพุทธศาสนาถือว่าการบำเพ็ญเพียรทางจิตมีความสำคัญต่อการแสวงหาความรู้เพื่อการพ้นทุกข์ เนื่องด้วยจิตนั้นจะเป็นสะพานไปสู่อาสวักขยญาณ อันหมายถึงความสามารถในการทำลายกิเลสได้อย่างสิ้นเชิงนั่นเอง

ข้อสังเกตบางประการของผู้เขียน
แม้ว่าในทางพระพุทธศาสนาจะมีหลักกาลามสูตร 10 ประการที่เปิดทางให้มีการตรวจสอบความถูกต้องของความรู้เช่นเดียวกับกระบวนการตรวจสอบความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หากแต่ในทางปฏิบัติแล้วพุทธบริษัท 4 (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ในประเทศไทยส่วนใหญ่กลับมีการยึดมั่นคำสอนในพระไตรปิฏกอย่างเคร่งครัด โดยมักจะมีการกล่าวกันว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเป็น “อกาลิโก” คือไม่เนื่องด้วยเวลา เป็นความจริงตลอดกาล ผู้ที่ตั้งข้อสงสัยในความถูกต้องของพระไตรปิฎกหรือมีแนวทางการปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนไปจากแนวทางที่บัญญัติไว้ในพระไตรปิฎกจะถูกโจมตีอย่างรุนแรง ดังเช่นกรณีของพระเมตตานันโท และกรณีของวัดพระธรรมกาย เป็นต้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าขบคิดว่า พระพุทธศาสนากระแสหลักในประเทศไทยนั้นอาจมีลักษณะเป็นประกาศิตนิยม (Authoritarianism) ที่เชื่อในหลักฐานสำเร็จรูปที่สามารถนำมาอ้างอิงเป็นความรู้ได้เลยโดยไม่ต้องใช้วีธีการตรวจสอบอื่นๆอีกแล้วก็เป็นได้ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง การยึดมั่นพระไตรปิฎกประดุจคัมภีร์จะขัดแย้งกับหลักกาลามสูตร 10 ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้หรือไม่ โดยเฉพาะข้อที่ว่า

มา ปิฏกสมฺปทาเนน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์

เอกสารอ้างอิง

ทวีศักดิ์ ล้อมลิ้ม. 2542. ประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1453 – 1804. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

บุญมี แท่นแก้ว. 2543. ญาณวิทยา (ทฤษฎีความรู้). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

บุญมี แท่นแก้ว. 2545. พุทธปรัชญาเถรวาท. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

เบินส์, ดักลาส เอ็ม. 2513. ความเกี่ยวข้องระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์และอเทวนิยม. ไม่ปรากฏผู้แปล. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายซิว กาญจนจารี ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2513. พระนคร: บริษัทชุมนุมช่าง จำกัด.

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). 2535. พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพุทธธรรม. ฯร. พเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโตลิาวllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllll

พระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). 2540. วิทยาศาสตร์ในทัศนะของพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพุทธธรรม.

พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์. 2543. ทฤษฎีความรู้. เชียงใหม่: โครงการสนับสนุนงานวิจัย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ฟิสเชอร์, โรเบิร์ต บี. 2527. ปรัชญาวิทยาศาสตร์: ความหมายแห่งยุคสมัย. แปลโดย ศรีภราดร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ต้นหมาก.

สมภาร พรมทา. 2534. พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

สมัคร บุราวาศ. 2542. พุทธปรัชญา: มองพุทธศาสนาด้วยทรรศนะทางวิทยาศาสตร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม.

สุวิมล รุ่งเจริญ และคณะ (บรรณาธิการ). 2540. อารยธรรมสมัยใหม่-ปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เสมอชัย พูลสุวรรณ. 2544. วิทยาศาสตร์กับความจริงในวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

ไม่มีความคิดเห็น: