วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

สงครามฝิ่นและสนธิสัญญาหนานจิงในทัศนะใหม่



สงครามฝิ่นและสนธิสัญญาหนานจิงในทัศนะใหม่[1]

ในประวัติศาสตร์จีน สงครามฝิ่นและสนธิสัญญาหนานจิง (The Opium War and the Treaty of Nanjing ค.ศ. ๑๘๔๐-๑๘๔๒) ที่จีนทำกับอังกฤษถือเป็นจุดเริ่มต้นของความตกต่ำของจีนสมัยราชวงศ์ชิง (The Qing Dynasty ค.ศ. ๑๖๔๔-๑๙๑๑) หลังจากที่เคยขึ้นสู่จุดสูงสุดในรัชสมัยจักรพรรดิคังซี หย่งเจิ้ง และเฉียนหลงในศตวรรษที่ ๑๘ ข้อตกลงในสนธิสัญญาฉบับนี้นำมาซึ่งความอัปยศอดสูแก่ประเทศจีนเป็นอย่างยิ่ง จีนต้องเปิดเมืองท่าค้าขาย ยกเกาะฮ่องกงให้อังกฤษ เสียค่าปฏิกรรมสงคราม กำหนดอัตราภาษีได้เพียงร้อยละ ๕ รวมทั้งต้องให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่อังกฤษอีกด้วย และหลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้แล้วจีนยังต้องเผชิญการคุกคามจากชาติตะวันตกและญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเหมาเจ๋อตงประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๙ จีนจึงได้ลุกขึ้นยืนอย่างสง่าในเวทีระหว่างประเทศ แนวคิดทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ครอบงำการศึกษาประวัติศาสตร์ของจีนทั้งในประเทศจีนและประเทศต่างๆทั่วโลก ดูได้จากหนังสือของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ที่นิยมใช้กันในสถาบันการศึกษาในโลกตะวันตก เช่น The Rise of Modern China ของ Immanuel C.Y. Hsu หรือในประเทศไทย เช่น ประวัติศาสตร์จีน ของ ทวีป วรดิลก ต่างอยู่ในกรอบความคิดนี้ด้วยกันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามหากเราย้อนดูประวัติศาสตร์การทูตของจีนนับแต่โบราณแล้วจะพบว่าจีนมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวทางการทูตตามสถานการณ์ต่างๆเป็นอย่างดีโดยที่มิได้ถือตัวอยู่ตลอดเวลาว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของโลกและผู้อื่นจะต้องนอบน้อมต่อตนเสมอไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ สมัยราชวงศ์ซ่ง (The Song Dynasty ค.ศ. ๙๗๕- ๑๒๗๙) ซึ่งเป็นยุคที่จีนอ่อนแอด้านกำลังทหารอย่างยิ่ง จักรพรรดิราชวงศ์ซ่งถึงกับยอมส่งบรรณาการและเงินทองไปให้ชนเผ่าชี่ตันและชนเผ่าซีเซี่ยเพื่อแลกกับสันติภาพที่จะมีขึ้นในราชอาณาจักร ด้วยเหตุนี้จึงมีนักวิชาการที่ศึกษาแบบแผนการทูตของจีน เช่น ศาสตราจารย์ Michael H. Hunt แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลน่า สหรัฐอเมริกา จึงให้ความเห็นไว้ในหนังสือของเขาชื่อ The Genesis of Chinese Communist Foreign Policy ว่าสนธิสัญญาหนานจิงไม่ได้นำมาซึ่งการเสียเกียรติภูมิของจีน หากแต่เป็นเพียงการสะท้อนแบบแผนทางการทูตที่จีนเคยปฏิบัติมาแต่โบราณเท่านั้น

การพิจารณาเปรียบเทียบสนธิสัญญาหนานจิงกับข้อตกลงที่ราชวงศ์ชิงทำกับรัฐอื่นในเวลาใกล้เคียงกันจะทำให้เข้าใจประเด็นที่กล่าวมาชัดเจนขึ้น ในหนังสือ The Search for Modern China ของศาสตราจารย์ Jonathan D. Spence แห่งมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ได้ชี้ให้เห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างสนธิสัญญาหนานจิงกับข้อตกลงที่ราชวงศ์ชิงทำกับรัฐสุลต่านโคคานด์ (The Sultanate of Kokand) ที่ตั้งอยู่ในเอเชียกลางใน ค.ศ. ๑๘๓๕ หรือ ๗ ปีก่อนหน้าสนธิสัญญาหนานจิง ตามข้อตกลงฉบับนี้ ราชวงศ์ชิงได้ให้สิทธิพิเศษแก่โคคานด์ด้วยการอนุญาตให้โคคานด์ส่งผู้แทนมาประจำอยู่ในหลายเมืองในซินเจียงของจีน โดยผู้แทนเหล่านี้มีอำนาจทางกงสุลและทางศาลเหนือชาวต่างชาติทั้งมวลในเขตอัลติชาร์ (Altishahr) ของซินเจียง โคคานด์ยังได้รับอนุญาตให้เก็บภาษีสินค้าที่ชาวต่างชาตินำมาขายในบริเวณนี้อีกด้วย นอกจากนี้ชาวโคคานด์ในเขตอัลติชาร์ของซินเจียงยังได้รับการลดหย่อนภาษีโดยจ่ายเพียงครึ่งเดียวของอัตราเต็ม รวมทั้งสินค้าที่ส่งออกจากเขตอัลติชาร์ไปยังโคคานด์ยังได้รับการยกเว้นภาษีขาออก จะเห็นได้ว่าราชวงศ์ชิงมอบสิทธิพิเศษต่างๆมากมายแก่รัฐสุลต่านโคคานด์เพื่อแลกกับความมั่นคงของพรมแดนจีนด้านตะวันตก Spence ยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่าขุนนางผู้ใหญ่หลายคนที่มีส่วนร่วมในการทำข้อตกลงฉบับนี้นั้นต่อมาก็ได้มามีส่วนร่วมในการเจรจาทำสนธิสัญญาหนานจิงกับอังกฤษใน ค.ศ. ๑๘๔๒ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าในทัศนะของราชวงศ์ชิง สนธิสัญญาหนานจิงมีหลักการและเหตุผลเดียวกับข้อตกลงกับรัฐสุลต่านโคคานด์และจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง นั่นคือ การให้สิทธิพิเศษแก่ “คนเถื่อน” เพื่อสันติภาพและความมั่นคงของประเทศนั่นเอง

หนังสือ Rebellions and Revolutions: China from the 1800s to the 1980s ของ Jack Gray นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์ สหราชอาณาจักรฯ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมที่น่าสนใจว่า ในความเป็นจริงแล้วสนธิสัญญาหนานจิงมิได้ลงโทษหรือข่มเหงจีนอย่างรุนแรงแต่ประการใด สนธิสัญญาฉบับนี้เป็นเพียงการวางกฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างจีนกับอังกฤษให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น การยึดเกาะฮ่องกงเป็นเพียงการที่อังกฤษต้องการหาสถานที่สำหรับเป็นสำนักงานของผู้แทนการค้าอังกฤษในจีน และแม้จีนจะต้องเปิดเมืองท่าค้าขายเพิ่มรวม ๕ เมืองก็เป็นเพียงการขยายโอกาสทางการค้าโดยที่อังกฤษมิได้คิดยึดครองดินแดนใดๆในแผ่นดินใหญ่ของจีนเลยจนกระทั่งหลังจากการทำสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ (The Treaty of Shimonoseki) ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นใน ค.ศ. ๑๘๙๕ มหาอำนาจต่างๆรวมทั้งอังกฤษจึงพากันแข่งขันแสวงหาเขตอิทธิพลในจีนจนนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า การรุมผ่าแตงโมจีน (The Partition of China) ในปลายทศวรรษ ๑๘๙๐

จากมุมมองที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นทำให้เราเห็นว่าการมองสงครามฝิ่นและสนธิสัญญาหนานจิงในเชิงการถูกลบหลู่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีนั้นเป็นการมองที่ไม่รอบด้าน เพราะในความเป็นจริงแล้วเหตุการณ์นี้กระทบต่อความรู้สึกของราชวงศ์ชิงน้อยมากและมันมิได้ต่างอะไรจากข้อตกลงที่ทำกับรัฐสุลต่านโคคานด์เมื่อ ๗ ปีก่อนหน้านั้น การสรุปเช่นนี้นำมาซึ่งอีกคำถามหนึ่งว่า ถ้าสงครามฝิ่นและสนธิสัญญาหนานจิงมิใช่จุดเริ่มต้นของความอัปยศอดสูในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ แล้วเหตุการณ์ใดจะถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นเล่า คำตอบก็คือ สงครามระหว่างจีนกับกองทัพพันธมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศส ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๕๖-๑๘๖๐ นั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกเสียเกียรติภูมิของจีน เนื่องจากในครั้งนี้กองทัพอังกฤษ-ฝรั่งเศสที่จีนมองว่าเป็น “คนเถื่อน” ได้เข้าไปถึงศูนย์กลางอำนาจของจักรวรรดิจีน ณ กรุงปักกิ่ง เผาพระราชวังหยวนหมิงหยวน และตามข้อตกลงสันติภาพในครั้งนี้จีนยอมให้ต่างชาติมาตั้งสถานทูตในกรุงปักกิ่งได้ และจีนเองต้องส่งทูตไปประจำยังดินแดนของ “คนเถื่อน” อีกด้วย ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการยอมรับเอาหลักการของตะวันตกว่าด้วยความเท่าเทียมกันทางอธิปไตยของรัฐ (The Sovereign Equality of States) มาใช้ในจีน อันขัดแย้งกับระเบียบโลกเดิมของจีนที่ถือว่าตนมีสถานะสูงที่สุดอย่างสิ้นเชิง ดังที่ปรากฏในบทความของศาสตราจารย์หวางเสี่ยวชิวแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เรื่อง เปรียบเทียบการปฏิรูปประเทศระหว่างจีน-ไทย-ญี่ปุ่นในครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ (แปลโดย รองศาสตราจารย์อาทร ฟุ้งธรรมสาร) ว่าชนชั้นนำของจีนมองการบุกปักกิ่งของอังกฤษและฝรั่งเศสว่าเป็น “เหตุร้ายที่ไม่เคยปรากฏในรอบหลายพันปี” และทำให้กลุ่มผู้นำจีนหลัง ค.ศ. ๑๘๖๑ เช่น พระองค์เจ้าชายกง (Prince Gong ค.ศ. ๑๘๓๓-๑๘๙๘) เจิงกั๋วฟาน (Zeng Guofan ค.ศ. ๑๘๑๑-๑๘๗๒) จั่วจงถัง (Zuo Zongtang ค.ศ. ๑๘๑๒-๑๘๘๕) หลี่หงจาง (Li Hongzhang ค.ศ. ๑๘๒๓-๑๙๐๑) ตระหนักในสถานะอันอ่อนแอของจีนและนำไปสู่การดำเนินนโยบายที่เรียกว่า การสร้างตนเองให้เข้มแข็ง (Self-Strengthening Movement) และการฟื้นฟูรัชสมัยถงจื้อและกวางสู (The Tongzhi and Guangxu Restoration) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๙๔ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากชาติตะวันตกนั่นเอง
[1] บทความนี้ตีพิมพ์ใน จดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา ฉบับที่ 36 (สิงหาคม 2548), หน้า 1-2.

ไม่มีความคิดเห็น: