วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ดินแดนขอบนอกของจีนกับการสร้างชาติในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ตอนที่ 2 จบ)



ทิเบต (西藏 )
ในส่วนของทิเบตนั้น ราชวงศ์ชิงให้ความสำคัญกับดินแดนดังกล่าวมาก เพราะนอกจากทิเบตจะช่วยราชวงศ์ชิงควบคุมชาวมองโกลในทางอ้อมแล้ว ราชวงศ์ชิงยังได้ผลประโยชน์จากการค้าใบชาอัดแท่งอันมีค่าระหว่างเสฉวนกับลาซาอีกด้วย เมื่ออังกฤษสามารถสถาปนาอำนาจที่มั่นคงได้ในอินเดียแล้ว ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อังกฤษก็ได้เริ่มให้ความสนใจทิเบตในฐานะที่เป็นดินแดนกันชน (buffer zone) กับรัสเซีย และเป็นแหล่งขนสัตว์ที่ใช้ในการทำผ้าคลุมไหล่แคชเมียร์ ดังนั้นใน ค.ศ. 1893 อังกฤษจึงได้ทำข้อตกลงกับราชวงศ์ชิงเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างอินเดียกับทิเบต และเมื่อเห็นว่ารัสเซียหลัง ค.ศ. 1895 เริ่มจะแผ่ขยายอำนาจในจีนมากขึ้นจนอาจกระทบต่อผลประโยชน์ของอังกฤษในทิเบตได้ อังกฤษจึงส่งกองกำลังที่นำโดยนายพันเอก ฟรานซิส ยังฮาสแบนด์ (Francis Younghusband) บุกเข้าไปถึงนครลาซาใน ค.ศ. 1904 และทำให้ราชวงศ์ชิงต้องลงนามในอนุสัญญากับอังกฤษ โดยยอมรับว่าอังกฤษมีสิทธิพิเศษทางการค้าและการทูตเหนือทิเบต ขณะเดียวกันอังกฤษก็ยอมรับว่าราชวงศ์ชิงเป็นเจ้าเหนือหัว (suzerain) ของทิเบต

การรุกรานทิเบตของอังกฤษในกลางทศวรรษ 1900 เป็นเหตุให้ราชวงศ์ชิงต้องเริ่มเสริมสร้างอำนาจของตนในทิเบตให้มั่นคงโดยลดทอนอำนาจของบรรดาลามะและให้อำนาจกับขุนนางที่ส่งไปจากปักกิ่งมากขึ้น เพื่อบูรณาการทิเบตให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโรงเรียนสอนหนังสือ ปรับปรุงวิธีการทำนา ก่อตั้งโรงเรียนทหาร ส่งเสริมกิจการเหมืองแร่ การสร้างสาธารณูปโภค เป็นต้น นโยบายดังกล่าวนำไปสู่ความตึงเครียดระหว่างราชสำนักปักกิ่งกับนครลาซา ในที่สุดราชวงศ์ชิงส่งกองทัพไปยังนครลาซาใน ค.ศ. 1910 ส่วนทะไลลามะองค์ที่ 13 เสด็จหนีไปอินเดีย หลังจากนั้นราชวงศ์ชิงก็เข้าควบคุมการบริหารทิเบตโดยตรงมากขึ้น มีการขยายระบบการไปรษณีย์ของราชวงศ์ชิงเข้าไปในทิเบต และตราไปรษณียากรดวงแรกของทิเบตนั้นพิมพ์ออกมาเป็นสองภาษาในดวงเดียวกันคือ ภาษาจีนและภาษาทิเบต อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นได้เพียงปีเศษ ราชวงศ์ชิงก็ถึงการล่มสลาย ทะไลลามะองค์ที่ 13 จึงฉวยโอกาสนี้เดินทางกลับทิเบต พร้อมกับขับไล่ข้าราชการของราชวงศ์ชิงออกไปจากนครลาซา และในเดือนมกราคม ค.ศ. 1913 พระองค์ได้ร่วมมือกับบ็อกโดข่านแห่งมองโกเลียประกาศเอกราชของทิเบตและมองโกเลียนอก โดยที่ทั้งสองต่างรับรองฐานะการประเทศเป็นเอกราชของกันและกัน อย่างไรก็ตามไม่มีประเทศใดรับรองการประกาศเอกราชดังกล่าว ในส่วนของจีนนั้น รัฐบาลของหยวนซื่อไข่ (袁世凯 ) ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1912 ว่า ทิเบต ซินเจียง และมองโกเลียต่างเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐจีน

แม้ว่าจะไม่มีประเทศใดออกมายอมรับการประกาศเอกราชของทิเบตใน ค.ศ. 1913 หากแต่ทะไลลามะองค์ที่ 13 ก็มิได้ทรงลดละความพยายามเพื่อนำทิเบตไปสู่เอกราช ดังนั้นเมื่ออังกฤษเชิญผู้แทนจากจีนและทิเบตมาประชุมว่าด้วยสถานะของทิเบตที่เมืองซิมลา (Simla) ประเทศอินเดียเมื่อ ค.ศ. 1914 ทะไลลามะก็ทรงหวังจะพึ่งพาอังกฤษในการประกาศเอกราช หากแต่อังกฤษนั้นเกรงว่าการสนับสนุนให้ทิเบตเป็นเอกราชจะทำให้จีนไม่พอใจ และอาจส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ทางการค้าที่อังกฤษมีอยู่ในเมืองท่าชายฝั่งทะเลของจีนและฮ่องกงได้ ดังนั้นอนุสัญญาซิมลา (The Simla Convention) ที่อังกฤษและทิเบตลงนามกันปีนั้นจึงระบุแต่เพียงว่าทิเบตมีการปกครองที่เป็นของตนเอง (autonomous) หากแต่ก็ยังอยู่ภายใต้ความเป็นเจ้าเหนือหัว (suzerainty) ของจีน ขณะที่จีนมิได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวเนื่องจากไม่พอใจการขีดเส้นแบ่งระหว่างทิเบตกับจีน โดยฝ่ายทิเบตถือว่าดินแดนของตนครอบคลุมชนชาติทิเบตทั้งมวล ซึ่งเท่ากับว่ากินอาณาบริเวณบางส่วนของมณฑลเสฉวน ขณะที่จีนถือว่าเส้นเขตแดนระหว่างจีนกับทิเบตอยู่ที่ 125 ไมล์ทางตะวันออกของนครลาซา หลังการประชุมดังกล่าวได้ไม่นาน จีนก็ประสบกับความวุ่นวายภายในจนไม่อาจแสดงความสามารถในการปกครองทิเบตได้ แม้ว่ารัฐบาลจีนทุกชุดจะยังยืนยันว่าทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีนก็ตาม แต่ระหว่าง ค.ศ. 1913 ถึง ค.ศ. 1933 ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ของสาธารณรัฐจีนมาประจำการอยู่ในทิเบตเลย ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่าหลัง ค.ศ. 1914 ทะไลลามะทรงปกครองทิเบตอย่างประเทศเอกราชในทางพฤตินัย (de facto independence) อย่างไรก็ตามเมื่ออังกฤษถอนตัวออกไปจากอินเดียหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ทิเบตก็ไม่มีที่พึ่งพิงที่พอจะช่วยนำตัวเองไปสู่เอกราชได้อีกต่อไป ในที่สุดเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดอำนาจรัฐสำเร็จในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1949 ก็มีการส่งทหารบุกเข้าไปถึงนครลาซาในเดือนตุลาคมของปีถัดมา ทิเบตจึงกลับเข้าอยู่ภายใต้การปกครองของจีนทั้งในทางนิตินัยและในทางพฤตินัยอีกครั้ง และตั้งแต่ ค.ศ. 1965 ทิเบตก็มีสถานะเป็นเขตปกครองตนเอง (自治区 ) ของสาธารณรัฐประชาชนจีนตราบจนปัจจุบัน

ไต้หวัน (台湾 )
ไต้หวันมีพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปจากแผ่นดินใหญ่มาก ก่อนการตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นนั้น ไต้หวันมีสถานะเป็นดินแดนชายขอบของมณฑลฝูเจี้ยน จนกระทั่ง ค.ศ. 1884 จึงได้รับการยกระดับเป็นมณฑลหนึ่งของราชวงศ์ชิง หลังสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ (马关条约 ) เมื่อ ค.ศ. 1895 การปกครองไต้หวันก็อยู่ในมือของข้าหลวงใหญ่ (Governor - General) ที่ส่งมาจากญี่ปุ่น นโยบายการปกครองไต้หวันของญี่ปุ่นนั้นสามารถแบ่งได้เป็นสองประการหลักๆ ประการแรกคือ การบูรณาการไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นทั้งในทางการเมืองและในทางวัฒนธรรม ประการที่สองคือ การมีภารกิจที่จะนำความเจริญมาสู่ไต้หวัน (civilizing mission)

การบูรณาการไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองและวัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้นเห็นได้ชัดเจนในการจัดระบบการศึกษา การที่ญี่ปุ่นมาจัดตั้งโรงเรียนระดับประถมเป็นจำนวนมากให้กับชาวไต้หวันทำให้จำนวนคนรู้หนังสือมากขึ้น หลักสูตรที่ใช้ในไต้หวันเน้นให้ผู้เรียนมีความภูมิใจในประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น พร้อมทั้งมีการกำหนดว่าทุกเช้าวันจันทร์ ครูและนักเรียนในไต้หวันทุกคนจะต้องหันหน้าไปทางกรุงโตเกียวเพื่อโค้งคำนับแด่องค์จักรพรรดิญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาราชการของไต้หวันและเป็นภาษากลางที่ใช้ในการเรียนการสอน การเรียนภาษาจีนไม่ได้รับการส่งเสริม และเมื่อถึง ค.ศ. 1937 หนังสือพิมพ์ภาษาจีนก็กลายเป็นของต้องห้าม ผลพลอยได้อย่างหนึ่งจากการจัดการศึกษาให้กับชาวไต้หวันก็คือ โรงเรียนกลายเป็นสถานที่ที่นำคนไต้หวันมาอยู่ด้วยกัน และเป็นพื้นฐานสำคัญของการรวมกลุ่มทางการเมืองและการเกิดความรู้สึกชาตินิยม (nationalism) ที่ต้องการปลดปล่อยไต้หวันออกจากญี่ปุ่น ขบวนการ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919 (五四运动) บนแผ่นดินใหญ่ของจีนมีอิทธิพลไม่น้อยในหมู่ปัญญาชนไต้หวันและปัญญาชนที่ไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น ดังนั้นเมื่อถึงทศวรรษ 1920 ได้เกิดกลุ่มการเมืองเป็นจำนวนมากที่เริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจของญี่ปุ่น และฝ่ายญี่ปุ่นก็ได้ใช้มาตรการที่รุนแรงในการปราบปรามความเคลื่อนไหวเหล่านี้ โดยตลอดทศวรรษ 1920 มีการจับกุมนักเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นได้ถึงปีละกว่า 6,500 คน

แม้ว่าจะใช้วิธีการรุนแรงในทางการเมือง หากแต่ญี่ปุ่นก็มีบทบาทในการนำความเจริญมาสู่ไต้หวันไม่น้อย ญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้คนไต้หวันเข้าไปมีบทบาทในการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างสภาจังหวัด (Provincial Assembly) ซึ่งส่งผลให้คนไต้หวันมีความตื่นตัวทางการเมืองโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับท้องถิ่น อันจะเป็นการวางรากฐานอันดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในไต้หวันในสมัยต่อมา ในทางเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นเน้นการพัฒนาให้ไต้หวันเป็นเศรษฐกิจที่เลี้ยงตนเองได้ (self-sufficiency) โดยเริ่มต้นจากการสำรวจที่ดินและสำมะโนประชากรระหว่าง ค.ศ. 1895 – ค.ศ. 1905 ซึ่งช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และนำรายได้ดังกล่าวมาพัฒนาสาธารณูปโภคให้กับชาวไต้หวัน เมื่อสิ้นทศวรรษ 1920 ไต้หวันมีทางรถไฟยาวกว่า 1,000 ไมล์ และคนไต้หวันได้บริโภคอาหารเฉลี่ยวันละ 2,208 แคลอรี่ ซึ่งใกล้เคียงกับเจ้าอาณานิคมชาวญี่ปุ่นในยุคนั้นที่ได้บริโภคอาหารเฉลี่ยวันละ 2,300 แคลอรี่ ความกินดีอยู่ดีทำให้ประชากรไต้หวันในยุคอาณานิคมเพิ่มจาก 2.5 ล้านคน เป็น 6 ล้านคน การปรับปรุงระบบชลประทานและการท่าเรือได้ทำให้ข้าวและน้ำตาลกลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆของไต้หวัน การผลิตข้าวของไต้หวันเพิ่มขึ้นจาก 570,100 ตันต่อปีในทศวรรษ 1900 เป็น 879,000 ตันต่อปีในทศวรรษ 1920 ส่วนการผลิตน้ำตาลก็เพิ่มจาก 30,000 ตันต่อปีในต้นทศวรรษ 1900 เป็น 498,000 ตันต่อปีเมื่อสิ้นทศวรรษ 1920 และผลผลิตทางการเกษตรโดยรวมของไต้หวันภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว

ในฐานะอาณานิคมของญี่ปุ่น แม้ว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะอยู่ในมือชาวญี่ปุ่นมากกว่าชาวไต้หวัน หากแต่คุณภาพชีวิตของชาวไต้หวันภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นก็สูงกว่าคุณภาพชีวิตของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ในทุกมณฑล และข้าราชการชาวญี่ปุ่นในไต้หวันก็ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีการทุจริตน้อยกว่าเจ้าหน้าที่ของแผ่นดินใหญ่มาก ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่า เมื่อไต้หวันกลับคืนสู่อำนาจการปกครองของรัฐบาลกั๋วหมินตั่งใน ค.ศ. 1945 กระแสการต่อต้านอำนาจการปกครองจากแผ่นดินใหญ่ก็เริ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การนองเลือดครั้งใหญ่ในไต้หวันเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947 ซึ่งทำให้เกิดรอยร้าวระหว่างคนที่อยู่ในไต้หวันเดิมกับคนที่เพิ่งอพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ การย้ายรัฐบาลสาธารณรัฐจีนมายังกรุงไทเปและการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วเกาะไต้หวันเมื่อ ค.ศ. 1949 ช่วยกดทับกระแสความไม่พอใจได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เห็นได้จากเมื่อรัฐบาลพรรคกั๋วหมินตั่งประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกใน ค.ศ. 1987 และอนุญาตให้พรรคการเมืองต่างๆแข่งขันกันอย่างเสรีตามระบอบประชาธิปไตยได้แล้ว พรรคการเมืองหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาจนสามารถเอาชนะพรรคกั๋วหมินตั่งและได้เป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ ค.ศ. 2000 ก็คือ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (民进党 ) ที่มีผู้นำพรรคอย่างนายเฉิน สุยเปี่ยน (陈水扁 ) ผู้ซึ่งมิได้แต่เพียงปฏิเสธการอ้างอำนาจอธิปไตยของสาธารณรัฐประชาชนจีนเหนือเกาะไต้หวันเท่านั้น หากแต่ในระยะหลังยังได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของ “สาธารณรัฐจีน” (中华民国 ) ที่มาตั้งรัฐบาลบนเกาะไต้หวันหลัง ค.ศ. 1949 อีกด้วย

ความเป็นอิสระของมองโกเลีย ซินเจียง ทิเบต และไต้หวันในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทำให้ดินแดนเหล่านี้มิได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างชาติของจีน ดังนั้นการที่ดินแดนเหล่านี้ที่เคยเป็นของจีนสมัยราชวงศ์ชิงกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของจีนอีกครั้งในครึ่งหลังของทศวรรษ 1940 (ยกเว้นมองโกเลียนอก) ก็เท่ากับเป็นการสร้างความท้าทายให้กับผู้นำทางการเมืองของจีนในการดำเนินนโยบายต่อชนชาติต่างๆเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพแห่งชาติ ภายใต้เงื่อนไขของความเป็น “จักรวรรดิหลายชาติพันธุ์” ที่สืบทอดมาจากราชวงศ์ชิง

นอกจากผลกระทบที่มีต่อการดำเนินนโยบายสร้างชาติแล้ว ความเป็นอิสระของดินแดนเหล่านี้ก่อนสิ้นทศวรรษ 1940 ยังส่งอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีนมาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย การที่ดินแดนเหล่านี้มีที่ตั้งอยู่ในขอบนอกของจีนทำให้หลีกเลี่ยงประเด็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปไม่ได้ จีนได้บทเรียนจากช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ว่าดินแดนเหล่านี้จะเป็นอิสระจากจีนได้สำเร็จหรือไม่นั้น ตัวแปรชี้ขาดมิได้อยู่ที่ทรัพยากรและกำลังความสามารถของผู้คนในดินแดนนั้นๆแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่อยู่ที่ว่าความเคลื่อนไหวในดินแดนเหล่านั้นได้รับการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจภายนอกมากน้อยเพียงใดด้วย ดังนั้นในปัจจุบันประเด็นเกี่ยวกับมองโกเลีย ซินเจียง ทิเบต และไต้หวัน ก็ยังคงปรากฏและวนเวียนอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐอเมริกา สหพันธรัฐรัสเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น และบรรดาสาธารณรัฐในเอเชียกลางที่แยกตัวออกมาจากอดีตสหภาพโซเวียต

ไม่มีความคิดเห็น: