วันเสาร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2560

ปักกิ่งปะทะฮาวานา: ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาช่วง ค.ศ. 1964 – 1995 (ตอนที่ 15 สรุปและอภิปรายผล)


“ผู้นำของจีนตัดสินผู้อื่นในเชิงศีลธรรมบนฐานความเข้าใจที่พวกเขามีต่อลัทธิมากซ์ ลัทธิเลนิน และลัทธิเหมา

ความหมายของลัทธิสังคมนิยมได้เปลี่ยนแปลงไปและถูกขยายตามกาลเวลา

เนื่องจากประเทศสังคมนิยมจำนวนมากไม่ได้แสดงบทบาทในแบบที่จีนคาดหวัง

และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โลกทัศน์แบบสังคมนิยมของจีนนั้นเต็มไปด้วยความเป็นปฏิปักษ์อย่างแรงกล้า”

สือจืออี๋ว์ ค.ศ. 1993[1]

 

            ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1960 ไปจนถึงต้นทศวรรษ 1980 นั้นเต็มไปด้วยความตึงเครียดอันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต โดยคิวบาได้แสดงจุดยืนเข้าข้างสหภาพโซเวียตอย่างชัดเจนจนทำให้จีนยุติความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคเมื่อ ค.ศ. 1966 และถึงแม้ว่าจะมีการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างกันเมื่อสิ้นทศวรรษ 1960 แต่ความสัมพันธ์ก็กลับเลวร้ายลงอีกหลัง ค.ศ. 1972 เมื่อจีนหันไปสมานไมตรีกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของคิวบาเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียต ทำให้ต้องรอจนกระทั่งถึง ค.ศ. 1982 เมื่อจีนในยุคปฏิรูปและเปิดประเทศได้ปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศและเริ่มปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต การผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างจีนกับคิวบาจึงเกิดขึ้นได้อีกครั้งจนนำไปสู่การการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคใน ค.ศ. 1988 และตามด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในโลกสังคมนิยมช่วง ค.ศ. 1989 – 1991 ที่ยิ่งทำให้ทั้งสองประเทศหันมากระชับความสัมพันธ์เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบการปกครองของตน 

            เส้นทางของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาสะท้อนให้เห็นบทบาทของสิ่งที่เรียกว่า “อุดมการณ์ (ideology)” ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนได้เป็นอย่างดี โดย Levine แบ่งอุดมการณ์ในแง่นี้ออกเป็น 2 แบบ คือ อุดมการณ์แบบเป็นทางการ (formal ideology) และอุดมการณ์แบบไม่เป็นทางการ (informal ideology) โดยอุดมการณ์แบบแรกนั้นหมายถึงลัทธิมากซ์-เลนิน และความคิดเหมาเจ๋อตง ซึ่งมิได้เป็นเพียงกรอบที่ผู้นำของจีนใช้ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือของผู้นำในการสร้างความชอบธรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศเมื่อถึงเวลาที่จำเป็น ส่วนอุดมการณ์แบบหลังนั้นหมายถึงมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นค่านิยม ความชอบ อคติ การมีใจโน้มเอียงล่วงหน้า ความเคยชิน และประพจน์ (proposition) เกี่ยวกับความเป็นจริง ซึ่งทั้งหมดนี้กลายเป็นความเชื่อและความคาดหวังของผู้นำจีนที่แฝงอยู่ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อที่ว่าจีนเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่และเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมมาแต่โบราณ แต่ต่อมากลับถูกกระทำย่ำยีจากบรรดาประเทศมหาอำนาจ ทำให้ผู้นำของจีนคาดหวังให้ประเทศต่างๆ จะปฏิบัติต่อจีนให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่และยอมรับว่าจีนเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่มีสถานะเป็นศูนย์กลาง (central position) ในกิจการโลก รวมทั้งความเชื่อที่ว่าตนเองมีพันธกิจในการเป็นผู้นำเชิงศีลธรรม (moral leadership) ต่อบรรดาประเทศโลกที่สามที่เคยถูกกดขี่จากเจ้าอาณานิคม[2]

อุดมการณ์แบบเป็นทางการอย่างลัทธิมากซ์-เลนิน และความคิดเหมาเจ๋อตงนั้นมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายวิเทศสัมพันธ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาตั้งแต่ก่อนการยึดอำนาจรัฐได้ใน ค.ศ. 1949 แล้ว และยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปอีกเมื่อจีนเริ่มขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตในปลายทศวรรษ 1950 ทั้งนี้ Levine ได้เตือนไม่ให้เรามองความขัดแย้งดังกล่าวว่าเป็นเรื่องของดินแดน อำนาจอธิปไตย และความมั่นคงเท่านั้น เพราะแท้จริงแล้วความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก การที่เหมาเจ๋อตงประณามครุสชอฟว่าเป็น “ลัทธิแก้” นั้นแสดงให้เห็นว่า จีนกำลังประกาศจุดยืนว่าตนเป็นผู้พิทักษ์ความถูกต้องของลัทธิมากซ์-เลนิน และเป็นผู้สืบทอดมรดกของการปฏิวัติต่อจากเลนินและสตาลินที่แท้จริง ซึ่งการประกาศจุดยืนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทั้งการเมืองภายในประเทศของจีนและการดำเนินความสัมพันธ์กับขบวนการสังคมนิยมทั่วโลก Levine ยังตั้งข้อสังเกตต่อไปด้วยว่า การทำเช่นนี้ของเหมาเจ๋อตงเหมือนกับในยุคราชวงศ์ที่จักรพรรดิจีนต้องแสดงบทบาทเป็นผู้ให้นิยามและปกป้องหลักปฏิบัติอันถูกต้องทางการเมืองที่เป็นสากล (universalist political orthodoxy)[3][4] ซึ่งเท่ากับเป็นอุดมการณ์แบบไม่เป็นทางการที่แฝงอยู่ในความคิดของผู้นำจีนนั่นเอง

อุดมการณ์ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาในแง่ที่ว่า หลังวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาใน ค.ศ. 1962 จีนพยายามใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อจูงใจให้คิวบาเห็นด้วยกับตนและประณามสหภาพโซเวียต แต่คิวบากลับเรียกร้องให้จีนปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตและยุติการแจกจ่ายสิ่งพิมพ์โฆษณาชวนเชื่อที่โจมตีสหภาพโซเวียตในคิวบา จีนจึงมองว่าคิวบาไม่ได้แสดงจุดยืนที่ “ถูกต้อง” ในการปกป้องลัทธิมากซ์-เลนินในฐานะหลักปฏิบัติอันถูกต้องทางการเมืองที่เป็นสากล และเมื่อถึงทศวรรษ 1970 ที่คิวบาประณามการสมานไมตรีระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา รวมทั้งแสดงจุดยืนเป็นฝ่ายเดียวกับสหภาพโซเวียตทั้งในกรณีของแองโกลาและกัมพูชา จีนก็ได้ให้คำอธิบายใหม่ผ่านทฤษฎีสามโลกว่าภารกิจเร่งด่วนเพื่อปกป้องลัทธิมากซ์-เลนินก็คือ การสร้างแนวร่วมอย่างกว้างขวางที่สุดเพื่อต่อต้าน “ลัทธิสังคมจักรวรรดินิยม” ของสหภาพโซเวียต รวมทั้งสรุปด้วยว่าคิวบาคือหุ่นเชิดของลัทธิดังกล่าว ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นได้ว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตเกี่ยวกับแนวทางที่ถูกต้องของลัทธิมากซ์-เลนินเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบา เพราะแม้คิวบาจะมิได้เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของจีนในเชิงกายภาพ แต่การแสดงจุดยืนที่ “ไม่ถูกต้อง” ทางอุดมการณ์ของคิวบาก็ถือว่าเพียงพอแล้วที่จะทำให้จีนยุติความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคลงไป


                            หลี่เค่อเฉียงพบฟิเดล คาสโตรใน ค.ศ. 2016

แม้ว่าเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1980 จีนภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิงจะยุติการผูกขาดการตีความอุดมการณ์มากซ์-เลนิน ปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต และฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคกับคิวบา แต่อุดมการณ์ก็ยังคงมีบทบาทในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาอยู่ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการล่มสลายของระบอบสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียต เพราะจีนและคิวบาเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังคงมีพรรคคอมมิวนิสต์ผูกขาดอำนาจและยังคงยืนยันความเชื่อเกี่ยวกับชัยชนะของลัทธิสังคมนิยมที่รออยู่เบื้องหน้า ดังนั้น แม้ว่าตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ความสำคัญทางเศรษฐกิจของคิวบาที่มีต่อจีนจะลดลงไปมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกา แต่จีนก็ยังคงเน้นย้ำความสำคัญของคิวบาในฐานะสหายร่วมอุดมการณ์สังคมนิยม ดังที่หลี่เค่อเฉียง (Li Keqiang) นายกรัฐมนตรีของจีนกล่าวระหว่างเดินทางเยือนคิวบาในเดือนกันยายน ค.ศ. 2016 ว่า ไม่ว่าสถานการณ์โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ความสัมพันธ์แบบสหายร่วมอุดมการณ์และภราดาระหว่างจีนกับคิวบาก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง[5] และเมื่อฟิเดล คาสโตรถึงแก่อสัญกรรมในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน สีจิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็แสดงความอาลัยโดยระบุว่า ประชาชนจีนได้สูญเสียสหายร่วมอุดมการณ์ที่ใกล้ชิดและมิตรที่จริงใจ[6]

-------------------------------------------

[1] Chih-yu Shih, ibid., 37.
[2] Steven I. Levine, “Perception and Ideology in Chinese Foreign Policy,” in Chinese Foreign Policy: Theory and Practice, eds. Thomas W. Robinson and David Shambaugh (Oxford: Clarendon Press, 1994), 30-46.  
[3] Ibid., 40.
[4]
[5] “Chinese Premier Li Keqiang visits Cuban revolutionary leader Fidel Castro (2016/09/27),” available from http://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/t1402102.shtml; accessed 8 April 2017. 
[6] “History, people to remember Castro: Chinese president (2016/11/26),” available from http://news.xinhuanet.com/english/2016-11/26/c_135860659.htm; accessed 8 April 2017.

วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2560

ปักกิ่งปะทะฮาวานา: ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาช่วง ค.ศ. 1964 – 1995 (ตอนที่ 14 ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับคิวบาเมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น)


            แม้ว่าการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตในทศวรรษ 1980 และการล่มสลายของระบอบสังคมนิยมยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียตช่วง ค.ศ. 1989 – 1991 จะทำให้จีนกับคิวบาสามารถรื้อฟื้นความสัมพันธ์ในระดับพรรคและกลายเป็นผู้ให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันในการรักษาไว้ซึ่งระบอบสังคมนิยม แต่ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของคิวบาซึ่งพึ่งพาสหภาพโซเวียตและประเทศในกลุ่มโคเมคอน โดยตั้งแต่การขึ้นสู่อำนาจของกอร์บาชอฟเมื่อ ค.ศ. 1985 จนกระทั่งการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปลาย ค.ศ. 1991 สหภาพโซเวียตได้เปลี่ยนแปลงนโยบายด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับคิวบาจากเดิมที่เป็นฝ่ายค้ำจุนเศรษฐกิจของคิวบาเอาไว้โดยอ้างอุดมการณ์สังคมนิยม มาเป็นความสัมพันธ์ที่ได้ประโยชน์ซึ่งกันและกันบนพื้นฐานของกลไกตลาด การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่ายจึงต้องอ้างอิงราคาในตลาดโลกและใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ในกลาง ค.ศ. 1991 ฟิเดล คาสโตรต้องประกาศว่าคิวบาได้เข้าสู่ “ช่วงเวลาพิเศษ (The Special Period)” เพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่ปกติ ทั้งนี้โฮเซ เฟอร์นันเดส (José Fernández) รองประธานาธิบดีคิวบาได้อธิบายถึงความยากลำบากทางเศรษฐกิจของคิวบาเอาไว้ในการให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวจากจีนเมื่อเดือนพฤษภาคมของปีนั้น ความตอนหนึ่งว่า

           

ครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจคิวบานั้นอาศัยการค้ากับต่างประเทศ โดยเป็นการค้ากับประเทศสังคมนิยมถึงร้อยละ 85 และในบรรดาประเทศเหล่านั้นก็คือสหภาพโซเวียตซึ่งคิดเป็นร้อยละ 75 แต่แล้วความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันออกและความยุ่งยากในสหภาพโซเวียตได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการค้ากับต่างประเทศและเศรษฐกิจของคิวบา ข้อเท็จจริงก็คือ ในปีนี้การค้าระหว่างคิวบากับโปแลนด์ ฮังการี บัลแกเรีย และเชโกสโลวะเกียได้ขาดสะบั้นลงแล้ว ส่วนการค้ากับสหภาพโซเวียตนั้น แม้ผู้นำโซเวียตบอกว่าจะพยายามอย่างดีที่สุด แต่ความจริงจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้ทำตามสัญญา อย่างเช่นใน ค.ศ. 1990 เรานำเข้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากสหภาพโซเวียตรวม 10 ล้านตัน ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้านั้นถึงร้อยละ 30 ส่วนปีนี้สหภาพโซเวียตจะส่งน้ำมันมาให้เราเท่าไหร่ก็ยังไม่แน่ สภาพเช่นนี้ไม่เพียงแต่กระทบต่อการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อการผลิตน้ำตาลอย่างร้ายแรงอีกด้วย[1]




  ฟิเดล คาสโตรในการรณรงค์ส่งเสริมการขี่จักรยานเมื่อ ค.ศ. 1991

 

            วิธีการหนึ่งที่คิวบาใช้แก้ปัญหาในยามขาดแคลนน้ำมันก็คือ การหันมาใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางในเขตเมืองแทนรถโดยสารประจำทาง ทำให้จักรยานกลายเป็นสินค้าสำคัญที่จีนส่งออกไปยังคิวบาควบคู่ไปกับสินค้าส่งออกเดิมอย่างข้าว โดยมูลค่าการนำเข้าจักรยานจากจีนนั้นเพิ่มขึ้นจาก 7.40 ล้านเหรียญสหรัฐใน ค.ศ. 1990 เป็น 30.24 ล้านเหรียญสหรัฐในปีถัดมา (ดูตารางที่ 3) แม้จะมีรายงานว่าจักรยานจากจีนมีปัญหาเรื่องการประกอบที่ไม่ได้คุณภาพ ระบบเบรกที่เสียง่าย และอะไหล่ที่หายาก อีกทั้งยังมีราคาที่สูงราว 130 เปโซ หรือราวร้อยละ 68 ของเงินเดือนเฉลี่ยของประชาชนคิวบา[2] แต่คิวบาก็ดูจะไม่มีทางเลือกอื่นในสภาวะขาดแคลนน้ำมัน  ทำให้ในต้นทศวรรษดังกล่าวมีจักรยานจากจีนนับล้านคันวิ่งไปมาในกรุงฮาวานา จนมีคำกล่าวว่าจากทั้งนักการทูตจีนที่ประจำอยู่ที่กรุงฮาวานาและจากผู้นำระดับสูงของคิวบาว่า กรุงฮาวานากลายสภาพไปเป็นกรุงปักกิ่ง[3] นอกจากนี้ จีนยังให้เงินกู้แก่คิวบาเพื่อสร้างโรงงานผลิตจักรยานอีกด้วย โดยใช้เครื่องจักร อุปกรณ์ และเทคโนโลยีจากจีน ส่วนคิวบานั้นรับผิดชอบเรื่องการหาสถานที่ ไฟฟ้า และโรงเรือน การก่อสร้างเริ่มใน ค.ศ. 1994 และแล้วเสร็จในอีกสองปีถัดมา โดยสามารถผลิตจักรยานได้ปีละ 150,000 คัน[4]

แม้คิวบาในต้นทศวรรษ 1990 จะเป็นตลาดส่งออกข้าวและจักรยานอันดับที่ 1 และ 3 ของจีนตามลำดับ และยังเป็นแหล่งนำเข้าน้ำตาลอันดับที่ 1 ของจีนอีกด้วย (ดูตารางที่ 3, 4 และ 5) ทว่ามูลค่าการค้าโดยรวมระหว่างจีนกับคิวบากลับลดลงหลังจากขึ้นสู่จุดสูงสุดที่ 578.15 ล้านเหรียญสหรัฐใน ค.ศ. 1990 ตรงข้ามกับมูลค่าการค้าโดยรวมระหว่างจีนกับลาตินอเมริกาในช่วงเวลาเดียวกันที่เพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าใน ค.ศ. 1990 มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับคิวบาคิดเป็นร้อยละ 25.26 ของมูลค่าการค้าที่จีนทำกับลาตินอเมริกาทั้งหมด แต่พอถึง ค.ศ. 1995 กลับคิดเป็นเพียงร้อยละ 5.89 เท่านั้น (ดูตารางที่ 6) หรือกล่าวได้ว่าในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่ายนั้น คิวบาต้องพึ่งพาจีนมากกว่าที่จีนพึ่งพาคิวบา 

นอกจากจะพึ่งพาจีนในทางเศรษฐกิจแล้ว คิวบายังต้องการที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิรูปเศรษฐกิจจากประสบการณ์ของจีนอีกด้วย โดยแสดงความสนใจในเรื่องนี้มาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 เมื่อมีการปรับเปลี่ยนนโยบายของสหภาพโซเวียตในยุคกอร์บาชอฟ ดังที่ใน ค.ศ. 1986 ที่เปเลกริน ทอร์ราสได้ถามเจ้าหน้าที่ของสำนักข่าวซินหัวที่มาเยือนคิวบาถึงวิธีการที่จีนใช้ในการควบคุมทุนต่างชาติและป้องกันไม่ให้เกิดชนชั้นกระฏุมพีในภาคเกษตรกรรม[5] และใน ค.ศ. 1989 ฟิเดล คาสโตรก็ถามเฉียนฉีเชินถึงการพัฒนาด้านต่างๆ ของจีนอย่างละเอียดและกินเวลาตั้งแต่งานเลี้ยงอาหารค่ำไปถึงเที่ยงคืน จนล่ามภาษาสเปนของจีนกล่าวอย่างขบขันว่าในภายหลังว่า เฉียนฉีเชินต้องตอบคำถามนับแสนเลยทีเดียว[6] ต่อมาในการเยือนคิวบาของอู๋ปังกั๋ว (Wu Bangguo) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมหานครเซี่ยงไฮ้เมื่อ ค.ศ. 1994 ฟิเดล คาสโตรแสดงความสนใจต่อการพัฒนาของเซี่ยงไฮ้เป็นอย่างมาก โดยถามอู๋ปังกั๋วทั้งเรื่องเขตใหม่ผู่ตง การดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ การดึงดูดและจัดการทุนต่างชาติ เงินเดือนและที่อยู่อาศัยของคนงาน ความสัมพันธ์ระหว่างเซี่ยงไฮ้กับมณฑลอื่นๆ สภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ การรับมือกับปัญหาคนตกงาน การแบ่งอำนาจระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น และการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ[7] และเมื่อฟิเดล คาสโตรเดินทางเยือนจีนใน ค.ศ. 1995 เขาได้ไปดูงานด้านการพัฒนาในหลายเมืองของจีนซึ่งรวมถึงเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น โดยเจียงเจ๋อหมินได้พาเขาดูงานด้านการพัฒนาที่เซินเจิ้นด้วยตนเอง

 

-----------------------------------------------

[1] ผังปิ่งอัน, เรื่องเดียวกัน, 78.
[2] Carmelo Mesa-Lago, “Cuba’s Economic Policies and Strategies for Confronting the Crisis,” in Cuba After the Cold War, 199.
[3] เฉินจิ่วฉาง, เรื่องเดียวกัน, 305; Choy et al., ibid., 127.
[4] เฉินจิ่วฉาง, เรื่องเดียวกัน, 307-308.
[5] ผังปิ่งอัน, เรื่องเดียวกัน, 56.
[6] เฉียนฉีเชิน, เรื่องเดียวกัน, 170.
[7] หลี่เป๋ยไห่, เรื่องเดียวกัน.




ตารางที่ 3
มูลค่าการส่งออกจักรยานจากจีนไปยังคิวบาช่วง ค.ศ. 1990 – 1993
 
 
ค.ศ.
(1)
มูลค่าที่ส่งออกไปยังคิวบา (ล้านเหรียญสหรัฐ)
(2)
มูลค่าที่ส่งออกไปทั่วโลก (ล้านเหรียญสหรัฐ)
 
ร้อยละของ
(1) ต่อ (2)
อันดับของคิวบา
ในการเป็นตลาดส่งออกจักรยานจากจีน
1990
7.40
144.92
5.12
3*
1991
30.24
358.38
8.44
3*
1992
21.58
433.32
4.98
3*
1993
15.92
420.65
3.78
6**
ที่มาของตาราง: กั๋วเจียถ่งจี้จวี๋เม่าอี้ว่ายจิงถ่งจี้ซือ (บก.), จงกั๋วตุ้ยว่ายจิงจี้ถ่งจี้เหนียนเจี้ยน อีจิ่วจิ่วซื่อ (สถิติด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีน 1994) (เป่ยจิง: จงกั๋วถ่งจี้ชูป่านเส้อ, 1995), 204-208.

 
ตารางที่ 4
ปริมาณการส่งออกข้าวจากจีนไปยังคิวบาช่วง ค.ศ. 1989 – 1993
 
 
ค.ศ.
(1)
ปริมาณที่ส่งออกไปยังคิวบา (ตัน)
(2)
ปริมาณที่ส่งออกไปทั่วโลก (ตัน)
 
ร้อยละของ
(1) ต่อ (2)
อันดับของคิวบา
ในการเป็นตลาดส่งออกข้าวจากจีน
1989
9,999
339,209
2.95
6*
1990
27,750
302,806
9.16
5**
1991
101,780
691,627
14.72
2***
1992
196,123
1,204,439
16.26
1
1993
278,509
1,708,590
16.30
1
ที่มาของตาราง: Editorial Board of the Almanac of China’s Foreign Economic Relations and Trade (ed.), Almanac of China’s Foreign Economic Relations and Trade 1991 (Hong Kong: China Resources Advertising Co., 1991), 509; Editorial Board of the Almanac of China’s Foreign Economic Relations and Trade (ed.), Almanac of China’s Foreign Economic Relations and Trade 1993 (Hong Kong: China Resources Advertising Co., 1993), 597-598; Editorial Board of the Almanac of China’s Foreign Economic Relations and Trade (ed.), Almanac of China’s Foreign Economic Relations and Trade 1994 (Hong Kong: China Resources Advertising Co., 1994), 614-615.
 
 
 
 
 

 
ตารางที่ 5
มูลค่าการนำเข้าน้ำตาลจากคิวบาของจีนช่วง ค.ศ. 1990 – 1995
 
 
ค.ศ.
(1)
มูลค่าการนำเข้าจากคิวบา (ล้านเหรียญสหรัฐ)
(2)
มูลค่าการนำเข้าจากทั่วโลก (ล้านเหรียญสหรัฐ)
 
ร้อยละของ
(1) ต่อ (2)
อันดับของคิวบา
ในการเป็นแหล่งนำเข้าน้ำตาล
มายังจีน
1990
245.70
316.33
77.67
1
1991
178.14
241.34
73.81
1
1992
181.44
249.29
72.77
1
1993
64.56
136.09
47.44
1
1994
113.56
385.21
29.48
1
1995
212.86
777.95
27.36
2
ที่มาของตาราง: กั๋วเจียถ่งจี้จวี๋เม่าอี้ว่ายจิงถ่งจี้ซือ (บก.), จงกั๋วตุ้ยว่ายจิงจี้ถ่งจี้เหนียนเจี้ยน อีจิ่วจิ่วซื่อ (สถิติด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีน 1994) (เป่ยจิง: จงกั๋วถ่งจี้ชูป่านเส้อ, 1995), 213; กั๋วเจียถ่งจี้จวี๋เม่าอี้ว่ายจิงถ่งจี้ซือ (บก.), จงกั๋วตุ้ยว่ายจิงจี้ถ่งจี้เหนียนเจี้ยน อีจิ่วจิ่วปา (สถิติด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีน 1998) (เป่ยจิง: จงกั๋วถ่งจี้ชูป่านเส้อ, 1999), 232-233.  
 
 

 
ตารางที่ 6
มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับคิวบาช่วง ค.ศ. 1989 – 1995
 
 
ค.ศ.
(1)
มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับคิวบา
(ล้านเหรียญสหรัฐ)
(2)
มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับลาตินอเมริกาทั้งหมด
(ล้านเหรียญสหรัฐ)
 
ร้อยละของ (1) ต่อ (2)
1989
441.29
2,968.78
14.86
1990
578.81
2,291.05
25.26
1991
426.05
2,357.79
18.07
1992
383.07
2,975.73
12.87
1993
250.68
3,706.87
6.76
1994
267.82
4,702.13
5.70
1995
359.89
6,114.16
5.89
ที่มาของตาราง: กั๋วเจียถ่งจี้จวี๋ (บก.), จงกั๋วถ่งจี้เหนียนเจี้ยน อีจิ่วจิ่วอี (สถิติรายปีของจีน 1991) (เป่ยจิง: จงกั๋วถ่งจี้ชูป่านเส้อ, 1991), 622; กั๋วเจียถ่งจี้จวี๋ (บก.), จงกั๋วถ่งจี้เหนียนเจี้ยน อีจิ่วจิ่วซาน (สถิติรายปีของจีน 1993) (เป่ยจิง: จงกั๋วถ่งจี้ชูป่านเส้อ, 1993), 640; กั๋วเจียถ่งจี้จวี๋ (บก.), จงกั๋วถ่งจี้เหนียนเจี้ยน อีจิ่วจิ๋วอู่ (สถิติรายปีของจีน 1995) (เป่ยจิง: จงกั๋วถ่งจี้ชูป่านเส้อ, 1995), 545; กั๋วเจียถ่งจี้จวี๋ (บก.), จงกั๋วถ่งจี้เหนียนเจี้ยน อีจิ่วจิ่วลิ่ว (สถิติรายปีของจีน 1996) (เป่ยจิง: จงกั๋วถ่งจี้ชูป่านเส้อ, 1996), 588.