ปัญหาว่าด้วยจักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจในจีน[1]
ในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ ช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๒ - ๑๙๔๙ เป็นศตวรรษแห่งการถูกข่มเหงรังแกของจีน (A Century of Humiliation) สนธิสัญญานานกิง (The Treaty of Nanjing) และสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม (Unequal Treaties) ฉบับต่างๆนำมาซึ่งการเปิดเมืองท่าของจีนเพื่อค้าขายกับโลกภายนอก เปิดโอกาสให้มหาอำนาจต่างๆพากันเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในจีนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อจีนถูกญี่ปุ่นบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ (The Treaty of Shimonoseki) ใน ค.ศ. ๑๘๙๕ ซึ่งอนุญาตให้ญี่ปุ่นและมหาอำนาจอื่นๆตามหลักการว่าด้วยชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favoured Nation - MFN) สามารถเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้าบนแผ่นดินจีนได้ นักลงทุนต่างชาติเหล่านี้ต่างมีวิทยาการและเทคนิคการผลิตที่ทันสมัยกว่าชาวจีน กิจการของชาวจีนจึงมิอาจสู้ได้และต้องปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากในทศวรรษที่ ๑๙๐๐ ร้อยละ ๘๔ ของกิจการเดินเรือกลไฟ ร้อยละ ๑๐๐ ของการผลิตเหล็ก และร้อยละ ๙๓ ของกิจการรถไฟตกอยู่ในการควบคุมของต่างชาติ ขณะที่การลงทุนของต่างชาติในจีนได้เพิ่มขึ้นจาก ๗๘๘ ล้านเหรียญสหรัฐใน ค.ศ. ๑๙๐๒ เป็น ๑,๖๑๐ ล้านเหรียญสหรัฐใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ด้วยเหตุนี้นักประวัติศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์แนวชาตินิยม รวมทั้งนักวิชาการสาย มาร์กซิสต์ได้เห็นพ้องต้องกันว่า จีนตกเป็นเหยื่อของมหาอำนาจทุนนิยมและจักรวรรดินิยม ประเทศจีนที่เคยยิ่งใหญ่ถูกลดสถานะลงเป็นประเทศ “กึ่งอาณานิคม” (semi-colonial) ดังที่เหมาเจ๋อตง (Mao Zedong) อดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เขียนไว้ในบทความเรื่อง On New Democracy ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ ว่า “ประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของจีนเป็นประวัติศาสตร์แห่งการคุกคามของจักรวรรดินิยมที่ต่อต้านการเป็นเอกราชและการพัฒนาทุนนิยมของจีน”
ในทางการเมืองและการทหาร เป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่าจีนในช่วงกลางศตวรรษที่ ๑๙ จนถึงกลางศตวรรษที่ ๒๐ ได้ตกเป็นเหยื่อของการรุกรานจากบรรดามหาอำนาจทั้งหลาย และร่องรอยของการรุกรานนั้นยังคงปรากฏอยู่ในลักษณะที่เป็นรูปธรรมจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือซากพระราชวังหยวนหมิงหยวน (The Palace of Yuanmingyuan) ชานกรุงปักกิ่งซึ่งถูกกองทัพพันธมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศสเผาทำลายใน ค.ศ. ๑๘๖๐ แต่ถ้าหากพิจารณาในทางเศรษฐกิจแล้วกลับมีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ได้ศึกษาอิทธิพลทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจในจีนอย่างละเอียดและมองว่าการกล่าวรวมว่าจีนถูกครอบงำทางเศรษฐกิจโดยมหาอำนาจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว ตัวอย่างของงานวิชาการเหล่านี้ได้แก่ หนังสือ Family, Fields, and Ancestors: Constancy and Change in China’s Social and Economic History, 1550 - 1949 ของศาสตราจารย์ Lloyd E. Eastman แห่ง University of Illinois ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. ๑๙๘๘ หรือแม้กระทั่งหนังสือ The Rise of Modern China ของศาสตราจารย์ Immanuel C.Y. Hsu นักประวัติศาสตร์ชาตินิยมเชื้อสายจีนแห่ง University of California, Santa Barbara ก็ยังกล่าวในตอนท้ายของบทที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางปัญญาชน เศรษฐกิจ และสังคมของจีนช่วง ค.ศ. ๑๘๙๕ – ๑๙๑๒ ว่าอิทธิพลทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจในจีนนั้นมีลักษณะเหมือนสองด้านของเหรียญกษาปณ์ ในที่นี้เราจะพิจารณาถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจในจีนด้วยการแยกออกเป็นสองประเด็นคือ การค้า และการลงทุน
ในด้านการค้า ถ้าเราพิจารณาปริมาณการนำเข้าและส่งออกของจีนแล้วจะดูเหมือนว่าสินค้าจากต่างประเทศไหลทะลักเข้ามายังตลาดจีน การเปิดเมืองท่าหลังสนธิสัญญานานกิงเป็นต้นมาทำให้จีนขาดดุลการค้ากับต่างชาติอยู่เสมอ ดูได้จากมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของจีนเพิ่มสูงขึ้นจาก ๖๓,๒๘๒ เหรียญศุลกากรจีน (customs taels) ใน ค.ศ. ๑๘๖๘ เป็น ๒๑๑,๐๗๐ เหรียญศุลกากรจีนใน ค.ศ. ๑๙๐๐ และเพิ่มเป็น ๑,๔๓๓,๔๘๙ เหรียญศุลกากรจีนใน ค.ศ. ๑๙๓๑ ขณะที่มูลค่าการส่งออกของจีนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าคือ ๖๑,๘๒๖ เหรียญศุลกากรจีนใน ค.ศ. ๑๘๖๘ เป็น ๑๕๘,๙๙๗ เหรียญศุลกากรจีนใน ค.ศ. ๑๙๐๐ และเพิ่มเป็น ๙๐๙,๔๗๖ เหรียญศุลกากรจีนใน ค.ศ. ๑๙๓๑ อย่างไรก็ตามเมื่อเราพิจารณาถึงการกระจายสินค้าในตลาดจีนแล้วจะพบว่า ระบบการกระจายสินค้าตกอยู่ในมือของผู้ประกอบการชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากชาวจีนได้เปรียบในแง่ที่รู้จักสภาพการณ์ อุปนิสัย รสนิยม ภาษา และวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆดีกว่าชาวต่างชาติ งานศึกษาของ Eastman ได้ชี้ให้เห็นว่าใน ค.ศ. ๑๙๐๕ มีเพียงร้อยละ ๑๑ ของสินค้านำเข้าเท่านั้นที่ต่างชาติขายตรงให้กับพ่อค้าปลีกชาวจีน ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๘๙ นั้นพ่อค้าต่างชาติได้ขายให้กับผู้ค้าส่งชาวจีนซึ่งจะนำสินค้าเหล่านี้ไปกระจายอีกต่อหนึ่ง และสินค้านำเข้าส่วนใหญ่จะขายอยู่ในเขตเมืองท่าเปิดตามสนธิสัญญา (treaty port) ส่วนที่เข้าไปถึงตลาดมณฑลตอนในของจีนมีน้อยเนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ในแถบนั้นมีรายได้ต่ำ สินค้าต่างประเทศจึงมิได้ครอบงำไปทั่วตลาดจีนอย่างที่เข้าใจ
ในด้านการลงทุน ชาวต่างชาติลงทุนกระจุกตัวอยู่ในเมืองท่าเปิดตามสนธิสัญญา โดยที่เขตอื่นๆมีการลงทุนจากต่างประเทศน้อยมาก และทุนต่างชาติก็มิได้ทำลายกิจการดั้งเดิมของชาวจีนลงเสียทั้งหมด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือกิจการเดินเรือ โดยหลัง ค.ศ. ๑๘๕๘ ต่างชาติได้รับสิทธิในการเดินเรือบนแม่น้ำฉางเจียง (Yangtze) บริษัทของชาติต่างๆโดยเฉพาะอังกฤษจึงเข้ามาเดินเรือกลไฟเพื่อขนส่งสินค้าและรับส่งผู้โดยสาร อย่างไรก็ตามสิ่งนี้มิได้ทำให้กิจการเดินเรือของคนจีนต้องปิดตัวลง หากแต่ขยายตัวขึ้นอย่างมากด้วยเหตุผลที่ว่าเรือเล็กของชาวจีนสามารถขนส่งสินค้าเข้าไปถึงแม่น้ำลำคลองสายเล็กๆที่เรือกลไฟไม่อาจแล่นเข้าไปได้ พ่อค้าต่างชาติจึงต้องพึ่งเรือเล็กของชาวจีนเพื่อกระจายสินค้าเข้าไปในเขตที่อยู่นอกเมืองท่าเปิดตามสนธิสัญญา Eastman ได้ชี้ให้เห็นว่าในทศวรรษ ๑๙๓๐ ร้อยละ ๘๐ ของการเดินเรือในจีนเป็นการเดินเรือเล็กโดยชาวจีน นอกจากนี้การจ้างคนจีนมาทำงานในบริษัทต่างชาติเปิดโอกาสให้คนจีนได้เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตและวิธีการบริหารธุรกิจแบบตะวันตก ทำให้เมื่อพลังทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจเริ่มลดลงไปหลังการเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชาวจีนจำนวนหนึ่งจึงใช้โอกาสนี้สร้างกิจการของตนเองขึ้นมาแข่งขันกับต่างชาติและนำไปสู่ยุคทองของอุตสาหกรรมที่มีคนจีนเป็นเจ้าของช่วง ค.ศ. ๑๙๑๔ – ๑๙๒๒
บทความเรื่อง Imperialism: Reality or Myth? ของศาสตราจารย์ Paul C. Cohen แห่ง Wellesley College ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือของเขาชื่อ Discovering History of China: American Historical Writing on the Chinese Recent Past เมื่อ ค.ศ. ๑๙๘๔ ได้เตือนให้ผู้ศึกษาประวัติสาสตร์จีนตระหนักถึงความกว้างใหญ่ทางภูมิศาสตร์ของจีนและหลีกเลี่ยงการเหมารวมว่าประเทศจีนในกลางศตวรรษที่ ๑๙ ถึงกลางศตวรรษที่ ๒๐ ถูกครอบงำทางเศรษฐกิจโดยมหาอำนาจ Cohen ได้อ้างงานของนักวิชาการจีนชื่อ Chi-ming Hou ว่าแท้จริงแล้วปริมาณการลงทุนของต่างชาติต่อหัวคนจีน (foreign investment per capita) ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ คิดเป็นมูลค่าเพียง ๘ เหรียญสหรัฐเท่านั้น และการลงทุนของต่างชาติก็แทบจะมิได้เข้าไปถึงภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจีนเลย
จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นนี้ทำให้เราเห็นว่า การที่จีนเป็นประเทศที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ทำให้ระดับของผลกระทบจากอิทธิพลทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจที่มีต่อส่วนต่างๆของจีนนั้นแตกต่างกันไป เมืองท่าเปิดตามสนธิสัญญาซึ่งตั้งอยู่แถบมณฑลชายฝั่งตะวันออกและแถบลุ่มแม่น้ำฉางเจียงจะได้รับผลกระทบสูง หากแต่ดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งอยู่ไกลออกไปจากเมืองเหล่านี้กลับได้รับผลกระทบน้อยมาก ดังนั้นการศึกษาเรื่องอิทธิพลทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจที่มีต่อจีนในช่วงนี้จึงมีข้อควรระวัง และควรหลีกเลี่ยงการกล่าวโดยเหมารวมว่าจีนช่วง ค.ศ. ๑๘๔๒ – ๑๙๔๙ ถูกครอบงำทางเศรษฐกิจโดยจักรวรรดินิยม
[1]บทความนี้ตีพิมพ์ใน จดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา ฉบับที่ 39 (ตุลาคม 2548), หน้า 1-2.
ในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ ช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๒ - ๑๙๔๙ เป็นศตวรรษแห่งการถูกข่มเหงรังแกของจีน (A Century of Humiliation) สนธิสัญญานานกิง (The Treaty of Nanjing) และสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม (Unequal Treaties) ฉบับต่างๆนำมาซึ่งการเปิดเมืองท่าของจีนเพื่อค้าขายกับโลกภายนอก เปิดโอกาสให้มหาอำนาจต่างๆพากันเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในจีนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อจีนถูกญี่ปุ่นบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ (The Treaty of Shimonoseki) ใน ค.ศ. ๑๘๙๕ ซึ่งอนุญาตให้ญี่ปุ่นและมหาอำนาจอื่นๆตามหลักการว่าด้วยชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favoured Nation - MFN) สามารถเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้าบนแผ่นดินจีนได้ นักลงทุนต่างชาติเหล่านี้ต่างมีวิทยาการและเทคนิคการผลิตที่ทันสมัยกว่าชาวจีน กิจการของชาวจีนจึงมิอาจสู้ได้และต้องปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากในทศวรรษที่ ๑๙๐๐ ร้อยละ ๘๔ ของกิจการเดินเรือกลไฟ ร้อยละ ๑๐๐ ของการผลิตเหล็ก และร้อยละ ๙๓ ของกิจการรถไฟตกอยู่ในการควบคุมของต่างชาติ ขณะที่การลงทุนของต่างชาติในจีนได้เพิ่มขึ้นจาก ๗๘๘ ล้านเหรียญสหรัฐใน ค.ศ. ๑๙๐๒ เป็น ๑,๖๑๐ ล้านเหรียญสหรัฐใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ด้วยเหตุนี้นักประวัติศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์แนวชาตินิยม รวมทั้งนักวิชาการสาย มาร์กซิสต์ได้เห็นพ้องต้องกันว่า จีนตกเป็นเหยื่อของมหาอำนาจทุนนิยมและจักรวรรดินิยม ประเทศจีนที่เคยยิ่งใหญ่ถูกลดสถานะลงเป็นประเทศ “กึ่งอาณานิคม” (semi-colonial) ดังที่เหมาเจ๋อตง (Mao Zedong) อดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เขียนไว้ในบทความเรื่อง On New Democracy ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ ว่า “ประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของจีนเป็นประวัติศาสตร์แห่งการคุกคามของจักรวรรดินิยมที่ต่อต้านการเป็นเอกราชและการพัฒนาทุนนิยมของจีน”
ในทางการเมืองและการทหาร เป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่าจีนในช่วงกลางศตวรรษที่ ๑๙ จนถึงกลางศตวรรษที่ ๒๐ ได้ตกเป็นเหยื่อของการรุกรานจากบรรดามหาอำนาจทั้งหลาย และร่องรอยของการรุกรานนั้นยังคงปรากฏอยู่ในลักษณะที่เป็นรูปธรรมจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือซากพระราชวังหยวนหมิงหยวน (The Palace of Yuanmingyuan) ชานกรุงปักกิ่งซึ่งถูกกองทัพพันธมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศสเผาทำลายใน ค.ศ. ๑๘๖๐ แต่ถ้าหากพิจารณาในทางเศรษฐกิจแล้วกลับมีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ได้ศึกษาอิทธิพลทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจในจีนอย่างละเอียดและมองว่าการกล่าวรวมว่าจีนถูกครอบงำทางเศรษฐกิจโดยมหาอำนาจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว ตัวอย่างของงานวิชาการเหล่านี้ได้แก่ หนังสือ Family, Fields, and Ancestors: Constancy and Change in China’s Social and Economic History, 1550 - 1949 ของศาสตราจารย์ Lloyd E. Eastman แห่ง University of Illinois ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. ๑๙๘๘ หรือแม้กระทั่งหนังสือ The Rise of Modern China ของศาสตราจารย์ Immanuel C.Y. Hsu นักประวัติศาสตร์ชาตินิยมเชื้อสายจีนแห่ง University of California, Santa Barbara ก็ยังกล่าวในตอนท้ายของบทที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางปัญญาชน เศรษฐกิจ และสังคมของจีนช่วง ค.ศ. ๑๘๙๕ – ๑๙๑๒ ว่าอิทธิพลทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจในจีนนั้นมีลักษณะเหมือนสองด้านของเหรียญกษาปณ์ ในที่นี้เราจะพิจารณาถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจในจีนด้วยการแยกออกเป็นสองประเด็นคือ การค้า และการลงทุน
ในด้านการค้า ถ้าเราพิจารณาปริมาณการนำเข้าและส่งออกของจีนแล้วจะดูเหมือนว่าสินค้าจากต่างประเทศไหลทะลักเข้ามายังตลาดจีน การเปิดเมืองท่าหลังสนธิสัญญานานกิงเป็นต้นมาทำให้จีนขาดดุลการค้ากับต่างชาติอยู่เสมอ ดูได้จากมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของจีนเพิ่มสูงขึ้นจาก ๖๓,๒๘๒ เหรียญศุลกากรจีน (customs taels) ใน ค.ศ. ๑๘๖๘ เป็น ๒๑๑,๐๗๐ เหรียญศุลกากรจีนใน ค.ศ. ๑๙๐๐ และเพิ่มเป็น ๑,๔๓๓,๔๘๙ เหรียญศุลกากรจีนใน ค.ศ. ๑๙๓๑ ขณะที่มูลค่าการส่งออกของจีนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าคือ ๖๑,๘๒๖ เหรียญศุลกากรจีนใน ค.ศ. ๑๘๖๘ เป็น ๑๕๘,๙๙๗ เหรียญศุลกากรจีนใน ค.ศ. ๑๙๐๐ และเพิ่มเป็น ๙๐๙,๔๗๖ เหรียญศุลกากรจีนใน ค.ศ. ๑๙๓๑ อย่างไรก็ตามเมื่อเราพิจารณาถึงการกระจายสินค้าในตลาดจีนแล้วจะพบว่า ระบบการกระจายสินค้าตกอยู่ในมือของผู้ประกอบการชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากชาวจีนได้เปรียบในแง่ที่รู้จักสภาพการณ์ อุปนิสัย รสนิยม ภาษา และวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆดีกว่าชาวต่างชาติ งานศึกษาของ Eastman ได้ชี้ให้เห็นว่าใน ค.ศ. ๑๙๐๕ มีเพียงร้อยละ ๑๑ ของสินค้านำเข้าเท่านั้นที่ต่างชาติขายตรงให้กับพ่อค้าปลีกชาวจีน ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๘๙ นั้นพ่อค้าต่างชาติได้ขายให้กับผู้ค้าส่งชาวจีนซึ่งจะนำสินค้าเหล่านี้ไปกระจายอีกต่อหนึ่ง และสินค้านำเข้าส่วนใหญ่จะขายอยู่ในเขตเมืองท่าเปิดตามสนธิสัญญา (treaty port) ส่วนที่เข้าไปถึงตลาดมณฑลตอนในของจีนมีน้อยเนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ในแถบนั้นมีรายได้ต่ำ สินค้าต่างประเทศจึงมิได้ครอบงำไปทั่วตลาดจีนอย่างที่เข้าใจ
ในด้านการลงทุน ชาวต่างชาติลงทุนกระจุกตัวอยู่ในเมืองท่าเปิดตามสนธิสัญญา โดยที่เขตอื่นๆมีการลงทุนจากต่างประเทศน้อยมาก และทุนต่างชาติก็มิได้ทำลายกิจการดั้งเดิมของชาวจีนลงเสียทั้งหมด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือกิจการเดินเรือ โดยหลัง ค.ศ. ๑๘๕๘ ต่างชาติได้รับสิทธิในการเดินเรือบนแม่น้ำฉางเจียง (Yangtze) บริษัทของชาติต่างๆโดยเฉพาะอังกฤษจึงเข้ามาเดินเรือกลไฟเพื่อขนส่งสินค้าและรับส่งผู้โดยสาร อย่างไรก็ตามสิ่งนี้มิได้ทำให้กิจการเดินเรือของคนจีนต้องปิดตัวลง หากแต่ขยายตัวขึ้นอย่างมากด้วยเหตุผลที่ว่าเรือเล็กของชาวจีนสามารถขนส่งสินค้าเข้าไปถึงแม่น้ำลำคลองสายเล็กๆที่เรือกลไฟไม่อาจแล่นเข้าไปได้ พ่อค้าต่างชาติจึงต้องพึ่งเรือเล็กของชาวจีนเพื่อกระจายสินค้าเข้าไปในเขตที่อยู่นอกเมืองท่าเปิดตามสนธิสัญญา Eastman ได้ชี้ให้เห็นว่าในทศวรรษ ๑๙๓๐ ร้อยละ ๘๐ ของการเดินเรือในจีนเป็นการเดินเรือเล็กโดยชาวจีน นอกจากนี้การจ้างคนจีนมาทำงานในบริษัทต่างชาติเปิดโอกาสให้คนจีนได้เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตและวิธีการบริหารธุรกิจแบบตะวันตก ทำให้เมื่อพลังทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจเริ่มลดลงไปหลังการเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชาวจีนจำนวนหนึ่งจึงใช้โอกาสนี้สร้างกิจการของตนเองขึ้นมาแข่งขันกับต่างชาติและนำไปสู่ยุคทองของอุตสาหกรรมที่มีคนจีนเป็นเจ้าของช่วง ค.ศ. ๑๙๑๔ – ๑๙๒๒
บทความเรื่อง Imperialism: Reality or Myth? ของศาสตราจารย์ Paul C. Cohen แห่ง Wellesley College ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือของเขาชื่อ Discovering History of China: American Historical Writing on the Chinese Recent Past เมื่อ ค.ศ. ๑๙๘๔ ได้เตือนให้ผู้ศึกษาประวัติสาสตร์จีนตระหนักถึงความกว้างใหญ่ทางภูมิศาสตร์ของจีนและหลีกเลี่ยงการเหมารวมว่าประเทศจีนในกลางศตวรรษที่ ๑๙ ถึงกลางศตวรรษที่ ๒๐ ถูกครอบงำทางเศรษฐกิจโดยมหาอำนาจ Cohen ได้อ้างงานของนักวิชาการจีนชื่อ Chi-ming Hou ว่าแท้จริงแล้วปริมาณการลงทุนของต่างชาติต่อหัวคนจีน (foreign investment per capita) ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ คิดเป็นมูลค่าเพียง ๘ เหรียญสหรัฐเท่านั้น และการลงทุนของต่างชาติก็แทบจะมิได้เข้าไปถึงภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจีนเลย
จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นนี้ทำให้เราเห็นว่า การที่จีนเป็นประเทศที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ทำให้ระดับของผลกระทบจากอิทธิพลทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจที่มีต่อส่วนต่างๆของจีนนั้นแตกต่างกันไป เมืองท่าเปิดตามสนธิสัญญาซึ่งตั้งอยู่แถบมณฑลชายฝั่งตะวันออกและแถบลุ่มแม่น้ำฉางเจียงจะได้รับผลกระทบสูง หากแต่ดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งอยู่ไกลออกไปจากเมืองเหล่านี้กลับได้รับผลกระทบน้อยมาก ดังนั้นการศึกษาเรื่องอิทธิพลทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจที่มีต่อจีนในช่วงนี้จึงมีข้อควรระวัง และควรหลีกเลี่ยงการกล่าวโดยเหมารวมว่าจีนช่วง ค.ศ. ๑๘๔๒ – ๑๙๔๙ ถูกครอบงำทางเศรษฐกิจโดยจักรวรรดินิยม
[1]บทความนี้ตีพิมพ์ใน จดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา ฉบับที่ 39 (ตุลาคม 2548), หน้า 1-2.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น