นโยบายต่างประเทศของจีนต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคปฏิรูปเศรษฐกิจ
Niklas Swanstrom[1] ได้ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีนต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคปฏิรูปเศรษฐกิจนั้นประกอบไปด้วย (1) การสิ้นสุดของสงครามเย็นและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1989 ถึง ค.ศ. 1991 ซึ่งทำให้สถานะของจีนในการเป็นตัวกลางระหว่างสองมหาอำนาจโลก คือสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตต้องสิ้นสุดลง จีนจึงรู้สึกว่าตนเองกำลังจะกลายเป็นศัตรูหลักรายต่อไปของสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จีนจะต้องกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อสร้างอิทธิพลไว้คานอำนาจกับสหรัฐฯ (2) การที่จีนยังคงยืนหยัดในการปฏิรูปเศรษฐกิจต่อไปหลังเกิดเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อ ค.ศ. 1989 โดยในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1993 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้มีมติเห็นชอบแนวคิดของเติ้งเสี่ยวผิงเรื่อง “เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม” (Socialist Market Economy) และใช้แนวคิดดังกล่าวเป็นหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยเหตุนี้จีนจึงเห็นว่าการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเอื้อให้จีนสามารถพัฒนาประเทศต่อไปได้ และ (3) การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชียเมื่อ ค.ศ. 1997 และการสิ้นสุดอำนาจของประธานาธิบดีซูฮาร์โต (Suharto) แห่งอินโดนีเซียในปีถัดมาทำให้จีนอาศัยโอกาสดังกล่าวในการแสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งยังพยายามเข้ามาแสดงบทบาทนำในอาเซียน (ASEAN) แทนที่อินโดนีเซียอีกด้วย
Michael A. Glosny[2] ได้จำแนกรูปแบบการดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีนต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่
(1) การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการที่จีนให้เงินกู้และเงินช่วยเหลือแก่ประเทศที่ประสบวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ ค.ศ. 1997 รวมทั้งยังยืนยันที่จะไม่ลดค่าเงินหยวนเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมต่อเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization –WTO) ของจีนจะไม่ส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อนบ้าน ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2000 นายกรัฐมนตรีจูหรงจี (Zhu Rongji) ของจีนจึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Area – ACFTA) โดยที่จีนยังได้ให้ความเอื้อเฟื้อเป็นพิเศษแก่ประเทศที่ยังคงมีศักยภาพในการแข่งขันต่ำเช่น ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม อีกด้วย
(2) การส่งเสริมความร่วมมือทางการเมือง โดยตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา จีนได้เปลี่ยนแปลงท่าทีจากเดิมที่ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมในระดับพหุภาคี (multilateral meeting) มาเป็นการแสวงหาความร่วมมือในระดับพหุภาคีอย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation – APEC) การประชุมอาเซียนว่าด้วยความมั่นคง (ASEAN Regional Forum – ARF) การประชุมอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three – APT) เป็นต้น และที่สำคัญก็คือ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2003 จีนได้ลงนามในสนธิสัญญามิตรไมตรีและความร่วมมือ (ASEAN’s Treaty of Amity and Cooperation – TAC) ซึ่งเป็นการยืนยันว่าจีนจะดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศในอาเซียนโดยวางอยู่บนหลักการของการเคารพในเอกราช อธิปไตย ความเท่าเทียม และบูรณภาพทางอาณาเขตของกันและกัน การไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน การระงับข้อพิพาทโดยสันติ และการไม่ใช้กำลังต่อกัน
(3) การแสดงจุดยืนด้านการทหารอย่างสร้างสรรค์ จีนยังคงมีข้อพิพาทเรื่องหมู่เกาะ สแปรตลีย์ (The Spratly Islands) ในทะเลจีนใต้กับอีก 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ การที่จีนใช้กำลังเข้ายึดครองแนวหินโสโครกมิสชีฟ (Mischief Reef) เมื่อ ค.ศ. 1995 ทำให้หลายประเทศต่างพากันมองดูจีนด้วยความไม่ไว้วางใจ ด้วยเหตุนี้จีนจึงพยายามปรับภาพลักษณ์ของตนเองให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์มากขึ้น โดยในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2002 จีนและประเทศคู่กรณีพิพาทได้ลงนามในแถลงการณ์ที่เรียกว่า “The Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea” ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ได้ทำให้กรณีพิพาทสิ้นสุดลง หากแต่ก็เป็นการวางแนวทางในการปฏิบัติ (code of conduct) เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างกันในอนาคต นอกจากนี้จีนยังได้แสดงความโปร่งใสด้านการทหารด้วยการจัดทำสมุดปกขาวว่าด้วยการป้องกันประเทศ (Defense White Paper) ทุกๆ 2 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา
(4) การแสวงหาอิทธิพลผ่านการใช้อำนาจอย่างอ่อน (soft power) ไม่ว่าจะเป็นการที่จีนพยายามแสดงตัวว่า รูปแบบการพัฒนาของจีนที่ทำให้เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าโดยที่ยังรักษาโครงสร้างทางการเมืองการปกครองแบบเดิมเอาไว้ได้นั้นสามารถจะเป็นแบบอย่างให้กับประเทศพม่า ลาว และเวียดนาม ที่ยังปกครองในระบอบเผด็จการได้ นอกจากนี้จีนยังได้มีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศกลุ่มอาเซียนอีกด้วย
รูปแบบการดำเนินนโยบายที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สะท้อนความต้องการของจีนที่จะทำให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นว่า จีนจะเป็นพลังที่นำไปสู่สันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน
ในส่วนของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ บทความของ Vincent Wei-cheng Wang[3] ได้ให้มุมมองผ่านการทำข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนว่า ขณะที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนทำข้อตกลงดังกล่าวโดยอาศัยเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก อันได้แก่ ความต้องการที่จะเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดอันกว้างใหญ่ไพศาลของจีน และการใช้ข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนเป็นตัวเร่ง (catalyst) ให้เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area – AFTA) เกิดผลในทางปฏิบัติเร็วขึ้น อันจะทำให้อาเซียนดึงดูดคู่ค้ารายใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปได้มากขึ้น หากแต่ในมุมมองของฝ่ายจีนแล้ว การทำข้อตกลงการค้าเสรีกับอาเซียนนั้นเป็นไปเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ของจีนที่ต้องการจะมีสถานะ ความสามารถ และศักดิ์ศรีเทียบเท่าประเทศมหาอำนาจอื่นๆโดยอาศัยแนวทางแบบสันติ หรือที่เรียกกันว่า “การทะยานขึ้นอย่างสันติของจีน” (Peaceful Ascendency หรือ Peaceful Rise)[4] และหนึ่งในเครื่องมือที่จะทำให้จีนบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวก็คือ เครื่องมือทางเศรษฐกิจ การทำข้อตกลงการค้าเสรีนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับอาเซียนแล้ว ยังจะช่วยลดอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงไปด้วย รวมทั้งยังทำให้จีนสามารถแสวงหาตลาดและแหล่งวัตถุดิบจากประเทศในอาเซียนได้สะดวกมากขึ้น ดังนั้นการทำข้อตกลงการค้าเสรีจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ (sine qua non) สำหรับจีนในการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ส่วนบทความของ John Wong[5] ก็ได้ยอมรับเช่นเดียวกันว่า แม้ข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียนจะสามารถพิจารณาและอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ หากแต่ปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังข้อตกลงดังกล่าวก็คือ ความพยายามของจีนที่จะขจัดความกลัวเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” (China Threat) ให้หมดไปจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแทนที่ด้วยแนวคิดเรื่องการทะยานขึ้นอย่างสันติ (Peaceful Ascendency) อันเป็นเป้าหมายในระยะยาวของจีน
D. S. Muni[6] ได้ศึกษาถึงนโยบายต่างประเทศของจีนต่อประเทศที่เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในภายหลัง ได้แก่ เวียดนาม (ค.ศ. 1995) พม่าและลาว (ค.ศ. 1997) และกัมพูชา (ค.ศ. 1999) โดยสรุปว่า นอกจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตแล้ว ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้จีนหันมาสนใจประเทศเหล่านี้ก็คือ เหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อ ค.ศ. 1989 เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้จีนและประเทศเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีการปกครองในระบอบเผด็จการต่างพากันกังวลถึงความมั่นคงของตนในโลกที่มีประเทศเสรีประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจเพียงขั้วเดียว (unipolarity) การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันจึงเกิดขึ้น โดยจีนได้ดำเนินนโยบายต่อประเทศเหล่านี้แยกได้เป็น 4 รูปแบบ คือ (1) การให้การสนับสนุนแก่ระบอบการเมืองแบบเผด็จการ และต่อต้านกระแสเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงที่มาจากทั้งภายในและภายนอกประเทศเหล่านั้น (2) การแสวงหาความร่วมมือด้านความมั่นคง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาพรมแดนเพื่อที่จีนจะสามารถใช้ดินแดนของประเทศเหล่านี้เป็นประตูทางเศรษฐกิจให้กับมณฑลตอนใต้ซึ่งไม่มีทางออกทะเล และยังทำให้จีนสามารถหันเหจุดเน้นด้านความมั่นคงไปยังบริเวณอื่นๆที่สำคัญมากกว่าอย่างช่องแคบไต้หวันได้ (3) การส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งในรูปของการค้า การลงทุน การให้เงินกู้และเงินให้เปล่าเพื่อการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน (infrastructure) ในประเทศเหล่านั้น อันจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวต่อจีนในการขนส่งสินค้าเข้าออกทางใต้ของประเทศ และ (4) การแลกเปลี่ยนทางการเมืองและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเยือนกันและกันของผู้นำระดับสูง ไปจนถึงการทูตระดับประชาชน
สำหรับแนวโน้มของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Martin Stuart-Fox[7] มองว่าจีนยังคงมีเป้าหมายด้านการต่างประเทศที่ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือความพยายามที่จะฟื้นฟูสถานะของตนเองให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ (to restore China to its rightful place in the world) เพื่อลบล้างประวัติศาสตร์ในช่วง “ศตวรรษแห่งความอัปยศ” (The Century of Humiliation) ออกไปให้ได้[8] จีนต้องการจะได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นประเทศมหาอำนาจที่มีสถานะทัดเทียมกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ และมีส่วนร่วมในการจัดระเบียบโลก (world order) และหนึ่งในภูมิภาคที่จีนเคยแสดงความเป็นมหาอำนาจมาแล้วในอดีตและสามารถจะแสดงต่อไปในอนาคตได้ก็คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปัจจุบันจีนยังคงเน้นการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลดการเผชิญหน้าและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเพื่อที่ตนเองจะได้สามารถพัฒนาประเทศไปได้อย่างไม่มีอุปสรรค หากแต่ปัญหาสำคัญก็คือ ในอนาคตเมื่อจีนบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศแล้ว ท่าทีของจีนต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ Stuart-Fox เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาดังกล่าวจีนจะกลายเป็นประเทศที่เรียกร้องและยืนยันอย่างแข็งขัน (assertive) ในจุดยืนและผลประโยชน์ของตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกรณีพิพาทหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ จนอาจนำมาซึ่งความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะที่ธีระ นุชเปี่ยม[9] ได้ให้มุมมองในอีกด้านหนึ่งว่า ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคตอาจจะมิได้มาจากการที่จีนบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศเรียบร้อยแล้ว หากแต่อาจจะมาจากปัญหาต่างๆที่สะสมขึ้นในช่วงแห่งการปฏิรูปเศรษฐกิจก็เป็นได้ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างภูมิภาคต่างๆภายในจีน การที่ระบบการเมืองจีนยังล้าหลังและก้าวตามไม่ทันความเจริญของระบบเศรษฐกิจ เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวอาจทำให้จีนเลือกที่จะปลุกกระแสชาตินิยม (nationalism) ขึ้นเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในประเทศ และทำให้จีนมีท่าทีที่ก้าวร้าวมากขึ้นในการดำเนินความสัมพันธ์กับโลกภายนอก รวมทั้งกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
[1] Niklas Swanstrom, Foreign Devils, Dictatorship, or Institutional Control: China’s Foreign Policy towards Southeast Asia (Uppsala: Department of Peace and Conflict Research, Uppsala University, 2001), 105-151.
[2] Michael A. Glosny, “Stabilizing the Backyard: Recent Developments in China’s Policy toward Southeast Asia,” in China and the Developing World: Beijing’s Strategy for the Twenty-First Century, eds. Joshua Eisenman et al. (Armonk, NY: M.E. Sharp, Inc., 2007), 150-188.
[3] Vincent Wei-cheng Wang, “The Logic of China-ASEAN FTA: Economic Statecraft of Peaceful Ascendency,” in China and Southeast Asia: Global Changes and Regional Challenges, eds. Ho Khai Leong and Samuel C.Y. Ku (Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 2005), 17-41.
[4] คำว่า Peaceful Rise หรือ เหอผิงเจวี๋ยฉี่ (heping jueqi) ในภาษาจีน เป็นแนวคิดที่ริเริ่มโดยเจิ้งปี้เจี้ยน (Zheng Bijian) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยวิจัยแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเขาได้นำเสนอแนวคิดดังกล่าวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในการประชุมป๋ออ่าว (Boao Forum) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2003 โดยเน้นว่าการพัฒนาประเทศของจีนจะเป็นไปอย่างสันติ และจีนจะไม่แสวงหาความเป็นเจ้า (hegemony) แนวคิดดังกล่าวได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน ดูได้จากการที่ผู้นำระดับสูงของจีนได้กล่าวคำว่า เหอผิงเจวี๋ยฉี่ ในเวทีระหว่างประเทศอยู่หลายครั้งในช่วงปลาย ค.ศ. 2003 จนถึงกลาง ค.ศ. 2004 อย่างไรก็ตามเมื่อถึง ค.ศ. 2005 ทางการจีนได้หันไปใช้คำว่า Peaceful Development หรือ เหอผิงฟาจ่าน (heping fazhan) แทนเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดบางประการ โดยที่ทางการจีนยังคงแนวคิดเดิมของเจิ้งปี้เจี้ยนเอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ดูรายละเอียดของเรื่องดังกล่าวได้ใน Bonnie S. Glaser and Evan S. Medeiros, “The Changing Ecology of Foreign Policy-Making in China: The Ascension and Demise of the Theory of Peaceful Rise,” The China Quarterly 190 (June 2007): 291-310.
[5] John Wong, “China-ASEAN Relations: An Economic Perspective,” in China-ASEAN Relations: Ecomonic and Legal Dimensions, eds. John Wong et al. (Singapore: World Scientific Publishing Co. Pte. Ltd., 2006), 17-32.
[6] D. S. Muni, China’s Strategic Engagement with the New ASEAN (Singapore: Institute of Defence and Strategic Studies, Nanyang Technological University, 2002).
[7] Martin Stuart-Fox, A Short History of China and Southeast Asia: Tribute, Trade and Influence (Crows Nest, NSW: Allen & Unwin, 2003), 224-245.
[8] หมายถึงช่วงเวลา 104 ปี ตั้งแต่การเกิดสงครามฝิ่น (The Opium War) เมื่อ ค.ศ. 1840 ไปจนถึงการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อ ค.ศ. 1949
[9]ธีระ นุชเปี่ยม, “จีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้,” ใน จีนในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง, บรรณาธิการโดย ประทุมพร วัชรเสถียร และไชยวัฒน์ ค้ำชู (กรุงเทพฯ: ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542), 274-308.
Niklas Swanstrom[1] ได้ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีนต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคปฏิรูปเศรษฐกิจนั้นประกอบไปด้วย (1) การสิ้นสุดของสงครามเย็นและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1989 ถึง ค.ศ. 1991 ซึ่งทำให้สถานะของจีนในการเป็นตัวกลางระหว่างสองมหาอำนาจโลก คือสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตต้องสิ้นสุดลง จีนจึงรู้สึกว่าตนเองกำลังจะกลายเป็นศัตรูหลักรายต่อไปของสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จีนจะต้องกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อสร้างอิทธิพลไว้คานอำนาจกับสหรัฐฯ (2) การที่จีนยังคงยืนหยัดในการปฏิรูปเศรษฐกิจต่อไปหลังเกิดเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อ ค.ศ. 1989 โดยในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1993 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้มีมติเห็นชอบแนวคิดของเติ้งเสี่ยวผิงเรื่อง “เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม” (Socialist Market Economy) และใช้แนวคิดดังกล่าวเป็นหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยเหตุนี้จีนจึงเห็นว่าการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเอื้อให้จีนสามารถพัฒนาประเทศต่อไปได้ และ (3) การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชียเมื่อ ค.ศ. 1997 และการสิ้นสุดอำนาจของประธานาธิบดีซูฮาร์โต (Suharto) แห่งอินโดนีเซียในปีถัดมาทำให้จีนอาศัยโอกาสดังกล่าวในการแสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งยังพยายามเข้ามาแสดงบทบาทนำในอาเซียน (ASEAN) แทนที่อินโดนีเซียอีกด้วย
Michael A. Glosny[2] ได้จำแนกรูปแบบการดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีนต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่
(1) การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการที่จีนให้เงินกู้และเงินช่วยเหลือแก่ประเทศที่ประสบวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ ค.ศ. 1997 รวมทั้งยังยืนยันที่จะไม่ลดค่าเงินหยวนเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมต่อเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization –WTO) ของจีนจะไม่ส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อนบ้าน ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2000 นายกรัฐมนตรีจูหรงจี (Zhu Rongji) ของจีนจึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Area – ACFTA) โดยที่จีนยังได้ให้ความเอื้อเฟื้อเป็นพิเศษแก่ประเทศที่ยังคงมีศักยภาพในการแข่งขันต่ำเช่น ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม อีกด้วย
(2) การส่งเสริมความร่วมมือทางการเมือง โดยตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา จีนได้เปลี่ยนแปลงท่าทีจากเดิมที่ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมในระดับพหุภาคี (multilateral meeting) มาเป็นการแสวงหาความร่วมมือในระดับพหุภาคีอย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation – APEC) การประชุมอาเซียนว่าด้วยความมั่นคง (ASEAN Regional Forum – ARF) การประชุมอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three – APT) เป็นต้น และที่สำคัญก็คือ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2003 จีนได้ลงนามในสนธิสัญญามิตรไมตรีและความร่วมมือ (ASEAN’s Treaty of Amity and Cooperation – TAC) ซึ่งเป็นการยืนยันว่าจีนจะดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศในอาเซียนโดยวางอยู่บนหลักการของการเคารพในเอกราช อธิปไตย ความเท่าเทียม และบูรณภาพทางอาณาเขตของกันและกัน การไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน การระงับข้อพิพาทโดยสันติ และการไม่ใช้กำลังต่อกัน
(3) การแสดงจุดยืนด้านการทหารอย่างสร้างสรรค์ จีนยังคงมีข้อพิพาทเรื่องหมู่เกาะ สแปรตลีย์ (The Spratly Islands) ในทะเลจีนใต้กับอีก 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ การที่จีนใช้กำลังเข้ายึดครองแนวหินโสโครกมิสชีฟ (Mischief Reef) เมื่อ ค.ศ. 1995 ทำให้หลายประเทศต่างพากันมองดูจีนด้วยความไม่ไว้วางใจ ด้วยเหตุนี้จีนจึงพยายามปรับภาพลักษณ์ของตนเองให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์มากขึ้น โดยในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2002 จีนและประเทศคู่กรณีพิพาทได้ลงนามในแถลงการณ์ที่เรียกว่า “The Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea” ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ได้ทำให้กรณีพิพาทสิ้นสุดลง หากแต่ก็เป็นการวางแนวทางในการปฏิบัติ (code of conduct) เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างกันในอนาคต นอกจากนี้จีนยังได้แสดงความโปร่งใสด้านการทหารด้วยการจัดทำสมุดปกขาวว่าด้วยการป้องกันประเทศ (Defense White Paper) ทุกๆ 2 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา
(4) การแสวงหาอิทธิพลผ่านการใช้อำนาจอย่างอ่อน (soft power) ไม่ว่าจะเป็นการที่จีนพยายามแสดงตัวว่า รูปแบบการพัฒนาของจีนที่ทำให้เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าโดยที่ยังรักษาโครงสร้างทางการเมืองการปกครองแบบเดิมเอาไว้ได้นั้นสามารถจะเป็นแบบอย่างให้กับประเทศพม่า ลาว และเวียดนาม ที่ยังปกครองในระบอบเผด็จการได้ นอกจากนี้จีนยังได้มีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศกลุ่มอาเซียนอีกด้วย
รูปแบบการดำเนินนโยบายที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สะท้อนความต้องการของจีนที่จะทำให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นว่า จีนจะเป็นพลังที่นำไปสู่สันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน
ในส่วนของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ บทความของ Vincent Wei-cheng Wang[3] ได้ให้มุมมองผ่านการทำข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนว่า ขณะที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนทำข้อตกลงดังกล่าวโดยอาศัยเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก อันได้แก่ ความต้องการที่จะเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดอันกว้างใหญ่ไพศาลของจีน และการใช้ข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนเป็นตัวเร่ง (catalyst) ให้เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area – AFTA) เกิดผลในทางปฏิบัติเร็วขึ้น อันจะทำให้อาเซียนดึงดูดคู่ค้ารายใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปได้มากขึ้น หากแต่ในมุมมองของฝ่ายจีนแล้ว การทำข้อตกลงการค้าเสรีกับอาเซียนนั้นเป็นไปเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ของจีนที่ต้องการจะมีสถานะ ความสามารถ และศักดิ์ศรีเทียบเท่าประเทศมหาอำนาจอื่นๆโดยอาศัยแนวทางแบบสันติ หรือที่เรียกกันว่า “การทะยานขึ้นอย่างสันติของจีน” (Peaceful Ascendency หรือ Peaceful Rise)[4] และหนึ่งในเครื่องมือที่จะทำให้จีนบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวก็คือ เครื่องมือทางเศรษฐกิจ การทำข้อตกลงการค้าเสรีนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับอาเซียนแล้ว ยังจะช่วยลดอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงไปด้วย รวมทั้งยังทำให้จีนสามารถแสวงหาตลาดและแหล่งวัตถุดิบจากประเทศในอาเซียนได้สะดวกมากขึ้น ดังนั้นการทำข้อตกลงการค้าเสรีจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ (sine qua non) สำหรับจีนในการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ส่วนบทความของ John Wong[5] ก็ได้ยอมรับเช่นเดียวกันว่า แม้ข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียนจะสามารถพิจารณาและอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ หากแต่ปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังข้อตกลงดังกล่าวก็คือ ความพยายามของจีนที่จะขจัดความกลัวเรื่อง “ภัยคุกคามจากจีน” (China Threat) ให้หมดไปจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแทนที่ด้วยแนวคิดเรื่องการทะยานขึ้นอย่างสันติ (Peaceful Ascendency) อันเป็นเป้าหมายในระยะยาวของจีน
D. S. Muni[6] ได้ศึกษาถึงนโยบายต่างประเทศของจีนต่อประเทศที่เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในภายหลัง ได้แก่ เวียดนาม (ค.ศ. 1995) พม่าและลาว (ค.ศ. 1997) และกัมพูชา (ค.ศ. 1999) โดยสรุปว่า นอกจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตแล้ว ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้จีนหันมาสนใจประเทศเหล่านี้ก็คือ เหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อ ค.ศ. 1989 เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้จีนและประเทศเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีการปกครองในระบอบเผด็จการต่างพากันกังวลถึงความมั่นคงของตนในโลกที่มีประเทศเสรีประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจเพียงขั้วเดียว (unipolarity) การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันจึงเกิดขึ้น โดยจีนได้ดำเนินนโยบายต่อประเทศเหล่านี้แยกได้เป็น 4 รูปแบบ คือ (1) การให้การสนับสนุนแก่ระบอบการเมืองแบบเผด็จการ และต่อต้านกระแสเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงที่มาจากทั้งภายในและภายนอกประเทศเหล่านั้น (2) การแสวงหาความร่วมมือด้านความมั่นคง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาพรมแดนเพื่อที่จีนจะสามารถใช้ดินแดนของประเทศเหล่านี้เป็นประตูทางเศรษฐกิจให้กับมณฑลตอนใต้ซึ่งไม่มีทางออกทะเล และยังทำให้จีนสามารถหันเหจุดเน้นด้านความมั่นคงไปยังบริเวณอื่นๆที่สำคัญมากกว่าอย่างช่องแคบไต้หวันได้ (3) การส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งในรูปของการค้า การลงทุน การให้เงินกู้และเงินให้เปล่าเพื่อการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน (infrastructure) ในประเทศเหล่านั้น อันจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวต่อจีนในการขนส่งสินค้าเข้าออกทางใต้ของประเทศ และ (4) การแลกเปลี่ยนทางการเมืองและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเยือนกันและกันของผู้นำระดับสูง ไปจนถึงการทูตระดับประชาชน
สำหรับแนวโน้มของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Martin Stuart-Fox[7] มองว่าจีนยังคงมีเป้าหมายด้านการต่างประเทศที่ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือความพยายามที่จะฟื้นฟูสถานะของตนเองให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ (to restore China to its rightful place in the world) เพื่อลบล้างประวัติศาสตร์ในช่วง “ศตวรรษแห่งความอัปยศ” (The Century of Humiliation) ออกไปให้ได้[8] จีนต้องการจะได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นประเทศมหาอำนาจที่มีสถานะทัดเทียมกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ และมีส่วนร่วมในการจัดระเบียบโลก (world order) และหนึ่งในภูมิภาคที่จีนเคยแสดงความเป็นมหาอำนาจมาแล้วในอดีตและสามารถจะแสดงต่อไปในอนาคตได้ก็คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปัจจุบันจีนยังคงเน้นการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลดการเผชิญหน้าและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเพื่อที่ตนเองจะได้สามารถพัฒนาประเทศไปได้อย่างไม่มีอุปสรรค หากแต่ปัญหาสำคัญก็คือ ในอนาคตเมื่อจีนบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศแล้ว ท่าทีของจีนต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ Stuart-Fox เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาดังกล่าวจีนจะกลายเป็นประเทศที่เรียกร้องและยืนยันอย่างแข็งขัน (assertive) ในจุดยืนและผลประโยชน์ของตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกรณีพิพาทหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ จนอาจนำมาซึ่งความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะที่ธีระ นุชเปี่ยม[9] ได้ให้มุมมองในอีกด้านหนึ่งว่า ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคตอาจจะมิได้มาจากการที่จีนบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศเรียบร้อยแล้ว หากแต่อาจจะมาจากปัญหาต่างๆที่สะสมขึ้นในช่วงแห่งการปฏิรูปเศรษฐกิจก็เป็นได้ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างภูมิภาคต่างๆภายในจีน การที่ระบบการเมืองจีนยังล้าหลังและก้าวตามไม่ทันความเจริญของระบบเศรษฐกิจ เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวอาจทำให้จีนเลือกที่จะปลุกกระแสชาตินิยม (nationalism) ขึ้นเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในประเทศ และทำให้จีนมีท่าทีที่ก้าวร้าวมากขึ้นในการดำเนินความสัมพันธ์กับโลกภายนอก รวมทั้งกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
[1] Niklas Swanstrom, Foreign Devils, Dictatorship, or Institutional Control: China’s Foreign Policy towards Southeast Asia (Uppsala: Department of Peace and Conflict Research, Uppsala University, 2001), 105-151.
[2] Michael A. Glosny, “Stabilizing the Backyard: Recent Developments in China’s Policy toward Southeast Asia,” in China and the Developing World: Beijing’s Strategy for the Twenty-First Century, eds. Joshua Eisenman et al. (Armonk, NY: M.E. Sharp, Inc., 2007), 150-188.
[3] Vincent Wei-cheng Wang, “The Logic of China-ASEAN FTA: Economic Statecraft of Peaceful Ascendency,” in China and Southeast Asia: Global Changes and Regional Challenges, eds. Ho Khai Leong and Samuel C.Y. Ku (Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 2005), 17-41.
[4] คำว่า Peaceful Rise หรือ เหอผิงเจวี๋ยฉี่ (heping jueqi) ในภาษาจีน เป็นแนวคิดที่ริเริ่มโดยเจิ้งปี้เจี้ยน (Zheng Bijian) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยวิจัยแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเขาได้นำเสนอแนวคิดดังกล่าวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในการประชุมป๋ออ่าว (Boao Forum) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2003 โดยเน้นว่าการพัฒนาประเทศของจีนจะเป็นไปอย่างสันติ และจีนจะไม่แสวงหาความเป็นเจ้า (hegemony) แนวคิดดังกล่าวได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน ดูได้จากการที่ผู้นำระดับสูงของจีนได้กล่าวคำว่า เหอผิงเจวี๋ยฉี่ ในเวทีระหว่างประเทศอยู่หลายครั้งในช่วงปลาย ค.ศ. 2003 จนถึงกลาง ค.ศ. 2004 อย่างไรก็ตามเมื่อถึง ค.ศ. 2005 ทางการจีนได้หันไปใช้คำว่า Peaceful Development หรือ เหอผิงฟาจ่าน (heping fazhan) แทนเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดบางประการ โดยที่ทางการจีนยังคงแนวคิดเดิมของเจิ้งปี้เจี้ยนเอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ดูรายละเอียดของเรื่องดังกล่าวได้ใน Bonnie S. Glaser and Evan S. Medeiros, “The Changing Ecology of Foreign Policy-Making in China: The Ascension and Demise of the Theory of Peaceful Rise,” The China Quarterly 190 (June 2007): 291-310.
[5] John Wong, “China-ASEAN Relations: An Economic Perspective,” in China-ASEAN Relations: Ecomonic and Legal Dimensions, eds. John Wong et al. (Singapore: World Scientific Publishing Co. Pte. Ltd., 2006), 17-32.
[6] D. S. Muni, China’s Strategic Engagement with the New ASEAN (Singapore: Institute of Defence and Strategic Studies, Nanyang Technological University, 2002).
[7] Martin Stuart-Fox, A Short History of China and Southeast Asia: Tribute, Trade and Influence (Crows Nest, NSW: Allen & Unwin, 2003), 224-245.
[8] หมายถึงช่วงเวลา 104 ปี ตั้งแต่การเกิดสงครามฝิ่น (The Opium War) เมื่อ ค.ศ. 1840 ไปจนถึงการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อ ค.ศ. 1949
[9]ธีระ นุชเปี่ยม, “จีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้,” ใน จีนในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง, บรรณาธิการโดย ประทุมพร วัชรเสถียร และไชยวัฒน์ ค้ำชู (กรุงเทพฯ: ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542), 274-308.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น