วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ความเป็น “สมัยใหม่” ของจีน



ความเป็น “สมัยใหม่” ของจีน[1]


ในวงวิชาการจีนศึกษาทั่วไป เมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ (Modern China) เรามักจะถือเอาการเกิดสงครามฝิ่นและการทำสนธิสัญญานานกิงระหว่างจีนกับอังกฤษใน ค.ศ. ๑๘๓๙ - ๑๘๔๒ เป็นจุดเริ่มต้น เนื่องด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวแสดงถึงอิทธิพลของมหาอำนาจตะวันตกที่เข้ามากระทบจีนอย่างรุนแรงจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในจีนอย่างต่อเนื่องมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ขณะที่นักวิชาการบางส่วนกลับให้ความเห็นว่า จีนสมัยใหม่มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ หรือตรงกับปลายราชวงศ์หมิง (ค.ศ. ๑๓๖๘ – ๑๖๔๔) ซึ่งเป็นช่วงที่บาทหลวงเจซูอิทได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในประเทศจีนและนำวิทยาการสมัยใหม่จากโลกตะวันตกเข้ามาด้วย เช่น ดาราศาสตร์ การคำนวณปฏิทิน การทำปืนใหญ่ เป็นต้น แม้ว่าแนวคิดของทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของจีนสมัยใหม่จะแตกต่างกัน แต่จุดที่ทั้งสองเหมือนกันคือการมองความเป็นสมัยใหม่ของจีนจากการเข้ามาของอิทธิพลจากโลกตะวันตกและผลกระทบที่มีต่อจีน อย่างไรก็ตาม ถ้าเราพิจารณาความเป็น “สมัยใหม่” ของจีนโดยเปลี่ยนมุมมองจากการเข้ามาของอิทธิพลตะวันตกเป็นมุมมองว่าด้วยกระบวนการสร้างรัฐ (state-making process) เราจะพบคำตอบที่น่าสนใจว่าจีนได้เข้าสู่ความเป็น “รัฐสมัยใหม่” มาเป็นเวลาราว ๑,๐๐๐ ปีแล้ว

รัฐสมัยใหม่ (Modern State) หมายถึงรัฐที่มีการรวมศูนย์อำนาจการปกครองไว้ที่ส่วนกลาง และมีกลไกให้ส่วนกลางควบคุมบริหารส่วนภูมิภาคได้อย่างมั่นคง กลไกเหล่านี้ได้แก่ ระบบราชการที่รับเงินเดือนจากส่วนกลาง กองทัพประจำการที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของส่วนกลาง และที่สำคัญคือ ระบบการจัดเก็บภาษีอากรที่ดึงรายได้เข้าสู่ส่วนกลาง เพราะถ้าส่วนกลางปราศจากรายได้จากภาษีแล้วจะไม่สามารถสร้างระบบราชการและกองทัพที่มีประสิทธิภาพได้ ในกรณีของจีนแม้ว่าจักรพรรดิฉิน (Qin Shihuang) จะรวบรวมเจ็ดรัฐเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสถาปนาการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจได้เมื่อ ๒๒๑ ปีก่อนคริสต์ศักราช แต่ก็เป็นเอกภาพระยะสั้นเพียง ๑๒ ปี ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฮั่น (๒๐๖ ปีก่อน ค.ศ. – ค.ศ. ๒๒๐) และราชวงศ์ถัง (ค.ศ. ๖๑๘ – ๙๐๗) แม้จะเป็นยุคที่มีเอกภาพยาวนาน แต่ในทางการบริหารอำนาจส่วนกลางกลับไม่อาจควบคุมส่วนภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากราชวงศ์ฮั่นและราชวงศ์ถังต่างประสบกับปัญหาในการจัดเก็บภาษีที่ดินอยู่เสมอ ทำให้รัฐบาลไม่มีรายได้เพียงพอที่จะสร้างระบบราชการและกองทัพประจำการที่อยู่ภายใต้อำนาจของส่วนกลาง ดังจะเห็นได้ว่าในยุคนี้ยังมีการกบฏโดยเหล่าขุนศึก (warlord) ตามภูมิภาคต่างๆอยู่เป็นระยะ และเมื่อราชวงศ์ฮั่นและราชวงศ์ถังเสื่อมอำนาจและล่มสลายลง สิ่งที่ตามมาก็คือสงครามกลางเมืองระหว่างเหล่าขุนศึกนั่นเอง อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญจนทำให้ราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. ๙๖๐ – ๑๒๗๙) ซึ่งสถาปนาโดยจ้าวควงอิ้น (Zhao Kuangyin) สามารถสร้างกลไกอำนาจรัฐส่วนกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพและกลายเป็นรัฐสมัยใหม่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน

หนังสือเรื่อง A History of China ของ J.A.G. Roberts ได้นำเสนอผลการศึกษาของ Mark Elvin ที่น่าสนใจว่าช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๘ – ๑๒ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในจีน ๕ ประการ ประการแรก เกิดการพัฒนาเทคนิคการปลูกข้าวทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและจำนวนประชากรก็เพิ่มตามไปด้วย ประการที่สอง มีการพัฒนาการคมนาคมตามแม่น้ำลำคลอง รวมทั้งเทคนิคการต่อเรือและเดินเรือซึ่งอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายกันอย่างมากจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประการที่สามคือ การขยายตัวของการค้าและการเกิดเมืองอันเป็นศูนย์กลางทางการค้า โดยร้อยละ ๑๐ ของประชากรในยุคนี้อาศัยอยู่ในเขตเมือง ประการที่สี่ มีการใช้ระบบสินเชื่อและการพิมพ์ธนบัตรซึ่งสะดวกในการพกพามากกว่าการใช้โลหะเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และประการสุดท้าย เกิดการคิดค้นวิทยาการใหม่ๆและการปรากฏขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น โรงงานผลิตเหล็ก เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ John King Fairbank ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จีนชื่อดังจึงได้เรียกสมัยราชวงศ์ซ่งว่าเป็นสมัยแห่ง “การปฏิวัติทางพาณิชยกรรม” นครไคเฟิง (Kaifeng) เมืองหลวงของราชวงศ์ซ่งจึงกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในโลกยุคนั้นด้วย ต่อมาเมื่อมีการย้ายเมืองหลวงลงใต้ไปยังนครหางโจว (Hangzhou) ใน ค.ศ. ๑๑๒๖ ราชวงศ์ซ่งก็ได้ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น เศรษฐกิจของราชวงศ์ซ่งจึงเติบโตเป็นอย่างมากและเปิดโอกาสให้รัฐบาลกลางสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นโดยเฉพาะภาษีสินค้าและศุลกากร

ในขณะที่เศรษฐกิจของราชวงศ์ซ่งกำลังเติบโตอยู่นั้น จักรพรรดิราชวงศ์ซ่งก็ได้พยายามใช้ประโยชน์จากเงินภาษีมาสร้างระบบราชการและกองทัพประจำการ หนังสือเรื่อง วิวัฒนาการการปกครองของจีน โดยศาสตราจารย์ ดร. เขียน ธีระวิทย์ ได้ให้ข้อมูลว่า ปฐมจักรพรรดิซ่งไท่จู่ (Song Taizu) ผู้รวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นหลังการล่มสลายของราชวงศ์ถังได้พยายามลดอำนาจของส่วนภูมิภาคลงโดยถ้าผู้ครองตำแหน่งในส่วนภูมิภาคเสียชีวิต ลาออก หรือขาดราชการ พระองค์จะแต่งตั้งข้าราชการจากส่วนกลางไปปฏิบัติหน้าที่แทน แต่งตั้งข้าหลวงภาคให้มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับการเงิน ให้ส่งรายได้ทั้งหมดแก่ส่วนกลางเพื่อรวมอำนาจทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็พัฒนาระบบการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการให้เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้นเพื่อเตรียมบุคลากรมารองรับระบบราชการที่ขยายตัวออกไป และทำให้เกิดการตระหนักว่าการได้มาซึ่งอำนาจและความมั่งคั่งในตำแหน่งราชการนั้นผูกติดอยู่กับรัฐบาลกลางของจักรพรรดิ ส่วนด้านการทหารนั้นรัฐบาลกลางได้ลดการเกณฑ์ทหารลงและหันมาใช้วิธีจ้างทหารเข้ามาประจำการมากขึ้น จากข้อมูลในหนังสือประวัติศาสตร์จีน ของทวีป วรดิลก ระบุว่าจำนวนทหารประจำการเพิ่มขึ้นจาก ๓๗๘,๙๐๐ คนใน ค.ศ. ๙๗๕ เป็น ๙๑๒,๐๐๐ คนใน ค.ศ. ๑๐๑๗ และเป็น ๑,๒๕๙,๐๐๐ คนเมื่อถึง ค.ศ. ๑๐๔๕

จะเห็นได้ว่าจีนภายใต้การปกครองของราชวงศ์ซ่งเริ่มมีระบบการจัดเก็บภาษีที่รวมรายได้เข้าสู่ศูนย์กลาง ระบบราชการและกองทัพประจำการที่รับเงินจากรัฐบาลกลาง ซึ่งก็คือคุณสมบัติของรัฐสมัยใหม่ (Modern State) นั่นเอง และสิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการเสื่อมสลายของราชวงศ์ต่างๆได้แก่ ราชวงศ์ซ่งใน ค.ศ. ๑๒๗๙ ราชวงศ์หยวนใน ค.ศ. ๑๓๖๗ และราชวงศ์หมิงใน ค.ศ. ๑๖๔๔ มิได้ตามมาด้วยยุคขุนศึกเหมือนเมื่อครั้งการล่มสลายของราชวงศ์ก่อนๆ อาทิ ราชวงศ์ฉิน ราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์สุย ราชวงศ์ถัง สิ่งนี้สะท้อนว่านับแต่ราชวงศ์ซ่งเป็นต้นมา จีนเป็นรัฐสมัยใหม่ที่ส่วนกลางมีกลไกควบคุมส่วนภูมิภาคได้อย่างเต็มที่ แม้กระทั่งเมื่อรัฐบาลกลางเสื่อมและสลายลงก็ไม่มีผู้ใดในส่วนภูมิภาคที่จะมีกำลังมากพอที่จะตั้งตัวเป็นขุนศึกอย่างอิสระได้ ยุคขุนศึกจึงหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์จีนจนกระทั่งถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อราชวงศ์ชิงเริ่มประสบปัญหาการจัดเก็บภาษีทำให้ขาดรายได้มาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่รัฐบาลกลาง เค้าลางของยุคขุนศึกจึงปรากฏขึ้นอีกครั้งหนึ่งจนเห็นได้ชัดเจนที่สุดในยุคต้นของสาธารณรัฐจีนช่วงระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๖ – ๑๙๒๘ และต้องรอจนกระทั่งหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยเหมาเจ๋อตง (Mao Zedong) ใน ค.ศ. ๑๙๔๙ รัฐบาลกลางจึงจะสามารถสร้างกลไกรวมศูนย์อำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และความเป็นรัฐสมัยใหม่ของจีนจึงกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

หากเราพิจารณาเปรียบเทียบกรณีของจีนกับรัฐในทวีปยุโรปแล้วจะพบว่า วิวัฒนาการรัฐของจีนเกิดขึ้นก่อนยุโรปเป็นเวลาหลายศตวรรษ งานศึกษาของ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด เรื่อง วิวัฒนาการรัฐอังกฤษ ฝรั่งเศสในกระแสเศรษฐกิจโลก จากยุคฟิวดัลถึงการปฏิวัติ ได้ชี้ให้เห็นว่า กว่ายุโรปจะก้าวพ้นระบบฟิวดัลและเริ่มกระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่ได้ก็ต้องรอถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ขณะที่กระบวนการดังกล่าวในจีนเกิดขึ้นมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ แล้ว ดังนั้นถ้าเรามองความเป็นสมัยใหม่ในแง่ของกระบวนการสร้างรัฐแล้วก็สามารถกล่าวได้ว่าจีนเข้าสู่ความเป็น “สมัยใหม่” ก่อนโลกตะวันตกเสียอีก

[1] บทความนี้ตีพิมพ์ใน จดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา ฉบับที่ 40 (พฤศจิกายน 2548), หน้า 1-2.

ไม่มีความคิดเห็น: