วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ปักกิ่งปะทะฮาวานา: ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาช่วง ค.ศ. 1964 – 1995 (ตอนที่ 5 จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างจีนกับคิวบาใน ค.ศ. 1964)


          แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาจะเป็นไปด้วยดีในต้นทศวรรษ 1960 แต่มิตรภาพระหว่างสองประเทศก็ดำเนินควบคู่ไปกับปัจจัยอีกสองประการ ได้แก่ (1) การเมืองภายในของจีนที่กำลังเข้าสู่สมัยซ้ายจัด อันเกิดจากความพยายามของเหมาเจ๋อตงที่จะขับเคลื่อนการต่อสู้ทางชนชั้นภายในประเทศให้ดำเนินต่อไป หลังจากเกิดความล้มเหลวของนโยบายเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดที่เน้นการปลุกระดมมวลชนเมื่อสิ้นทศวรรษ 1950 จนทำให้เขาสูญเสียการควบคุมกิจการรายวันไปให้แก่กลุ่มผู้นำที่เป็นนักปฏิบัติอย่างหลิวเส้าฉี โจวเอินไหล และเติ้งเสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) และ (2) ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 โดยเหมาเจ๋อตงได้ประณามนโยบายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับสหรัฐอเมริกาของนิกิตา ครุสชอฟว่าเป็น “ลัทธิแก้” ซึ่งถือเป็นการทรยศต่อลัทธิสังคมนิยม ทั้งนี้งานศึกษาของเฉินเจียน (Chen Jian) ชี้ให้เห็นว่า การขับเคลื่อนการต่อสู้ทางชนชั้นภายในประเทศของเหมาเจ๋อตงนั้นจำเป็นต้องอาศัยนโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าวมาช่วยเสริมแรง[1] สอดคล้องกับงานศึกษาของหลี่หมิงเจียง (Li Mingjiang) ที่ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการรณรงค์มวลชนภายในประเทศจีนที่เรียกว่า “ขบวนการศึกษาลัทธิสังคมนิยม (The Socialist Education Movement)” ที่เริ่มต้นในปลาย ค.ศ. 1962 กับการที่จีนเริ่มใช้โวหารโจมตีสหภาพโซเวียตอย่างรุนแรงอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ ค.ศ. 1963 หลังจากที่หยุดพักไปตั้งแต่ปลาย ค.ศ. 1960 หรือที่เขาสรุปไว้ว่า

 

ความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับมอสโกที่ตกต่ำลงนั้นดูจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อันเป็นผลมาจากสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในเชิงอุดมการณ์ เพราะทันทีที่ภารกิจเร่งด่วนภายในประเทศคือการต่อสู้ทางชนชั้นและการป้องกันไม่ให้เกิดลัทธิแก้ จีนก็ไม่อาจเห็นด้วยกับกรอบอุดมการณ์ของโซเวียตที่เน้นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับบรรดาประเทศทุนนิยมตะวันตกและการลดความเข้มงวดทางการเมืองภายในประเทศได้ สำหรับเหมา มันเป็นไปไม่ได้ที่จะหาคำอธิบายเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับความแตกต่างดังกล่าว[2]

 

ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตทำให้คิวบากลายเป็นหนึ่งในสนามของความขัดแย้งระหว่างสองประเทศไปด้วย ทั้งนี้จีนได้โอกาสที่จะพยายามดึงคิวบาให้ออกห่างจากสหภาพโซเวียตและมาใกล้ชิดกับตนมากยิ่งขึ้นเมื่อนิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำของสหภาพโซเวียตยอมอ่อนข้อให้กับสหรัฐอเมริกาโดยถอนขีปนาวุธออกจากคิวบาในปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 1962 จนสร้างความผิดหวังให้กับฟิเดล คาสโตร ทำให้ในวันที่ 31 ตุลาคมของปีนั้น หนังสือพิมพ์ เหรินหมินรื่อเป้า (ประชาชนรายวัน) ของทางการจีนได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการที่ชื่อว่า “ปกป้องการปฏิวัติคิวบา” ซึ่งแม้จะไม่ได้วิจารณ์ครุสชอฟโดยตรง แต่ก็ระบุว่าคำสัญญาของสหรัฐฯ ที่บอกว่าจะยุติการคุกคามคิวบาโดยแลกกับการที่ครุสชอฟยอมถอนขีปนาวุธนั้นเชื่อถือไม่ได้[3] นอกจากนี้จีนยังหันมายอมรับด้วยว่าคิวบากำลังเดินบนเส้นทางของลัทธิสังคมนิยม โดยบทบรรณาธิการเดียวกันได้ระบุว่าประชาชนชาวคิวบาได้พยายามปกป้อง “มาตุภูมิสังคมนิยม” และถือเป็น “สหายร่วมอุดมการณ์” ของประชาชนจีน[4] ความพยายามของจีนที่จะช่วงชิงความได้เปรียบเหนือสหภาพโซเวียตในความสัมพันธ์กับคิวบานั้นดูได้จากเมื่อหวังโย่วผิงจะเดินทางไปรับตำแหน่งเอกอัครรัฐทูตจีนประจำกรุงฮาวานาในต้น ค.ศ. 1964 เฉินอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้เน้นย้ำกับเขาถึงประเด็นสำคัญที่ต้องสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งประเด็นที่เป็นอันดับสองรองจากความสัมพันธ์ระหว่างคิวบากับจีนก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคิวบากับสหภาพโซเวียต[5]

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของฟิเดล คาสโตรนั้นก็มิได้เข้าข้างจีนอย่างที่จีนปรารถนา แม้ว่าในส่วนลึกเขาจะมีความคิดเหมือนกันเหมาเจ๋อตงในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่ว่าจิตสำนึกและการอุทิศตัวของประชาชนจะทำให้การปฏิวัติสำเร็จได้โดยไม่ต้องอาศัยขึ้นกับสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ หรือการมองว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมผ่านการระดมมวลชนนั่นได้ผลดีกว่าการสั่งการตามระบบรัฐการโดยอาศัยความเชี่ยวชาญของเทคโนแครต[6]  แต่เขาตระหนักดีว่าจีนสามารถให้ความช่วยเหลือแก่คิวบาในด้านต่างๆ ได้น้อยกว่าสหภาพโซเวียต ดังเช่นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1963 ทั้งจีนและสหภาพโซเวียตต่างเสนอให้เงินกู้ก้อนใหม่แก่คิวบา โดยจำนวนเงินของฝ่ายจีนนั้นไม่เป็นที่เปิดเผยแน่ชัด ขณะที่สหภาพโซเวียตเสนอให้เงินกู้มากถึง 403 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังตกลงซื้อน้ำตาลจากคิวบาเพิ่มในราคาที่สูงกว่าตลาดโลกอีกด้วย[7] ทำให้ในปลายเดือนเมษายนของปีนั้น ฟิเดล คาสโตรเดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตเป็นเวลาเกือบ 6 สัปดาห์ ทั้งๆ ที่เขาเคยบอกกับเจิงเทาเมื่อ ค.ศ. 1961 ว่าจะเยือนจีนเป็นลำดับแรก[8] หรือที่มีนักวิชาการเปรียบเปรยไว้ว่า ฟิเดล คาสโตร “ฝากหัวใจไว้กับปักกิ่ง แต่ฝากท้องไว้กับมอสโก”[9]

นอกจากจะไม่เข้าข้างจีนในการโจมตีสหภาพโซเวียตแล้ว ฟิเดล คาสโตรพยายามเรียกร้องให้จีนและสหภาพโซเวียตกลับมาคืนดีกันเพื่อผนึกกำลังต่อต้านสหรัฐอเมริกา ดังสุนทรพจน์ของเขาในโอกาสครบ 4 ปีของการปฏิวัติคิวบาเมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1963 ที่ว่า

 

อะไรคือความเห็นต่างกันในครอบครัวสังคมนิยม ความเห็นต่างกันอย่างเปิดเผยระหว่างสองพลังใหญ่ในค่ายสังคมนิยม? เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเราทุกคน เพราะจักรวรรดิแยงกี้ (สหรัฐอเมริกา ผู้วิจัย) อยู่ห่างไปแค่ 90 ไมล์ เราทุกคนกังวลใจเกี่ยวกับความเห็นที่ต่างกันนี้มาก ค่ายสังคมนิยมทั้งหมดต้องการเอกภาพและความแข็งแกร่งมากแค่ไหนในการเผชิญหน้ากับเหล่าศัตรู[10]

 

ต่อมาเมื่อนิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตถูกปลดจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ในวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1964 โดยมีเลโอนิด เบรชเนฟ (Leonid Brezhnev) สืบทอดตำแหน่งดังกล่าว ฟิเดล คาสโตรก็ยิ่งมีความหวังว่าการเปลี่ยนผู้นำ ณ กรุงมอสโกจะทำให้จีนกับสหภาพโซเวียตสามารถคืนดีกันได้ ทำให้ในเย็นวันที่ 18 ตุลาคมของปีนั้น เขาเดินทางไปยังพบหวังโย่วผิงที่สถานทูตจีนในกรุงฮาวานาโดยไม่แจ้งล่วงหน้าและแสดงความยินดีที่จีนประสบความสำเร็จในการทดลองระเบิดนิวเคลียร์เมื่อสองวันก่อน จากนั้นก็กล่าวว่า “บัดนี้มีการเปลี่ยนผู้นำสูงสุดของสหภาพโซเวียตแล้ว จีนและสหภาพโซเวียตต่างเป็นประเทศสังคมนิยม สมควรจะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตร”[11]

โจวเอินไหลจับมือกับเช เกวารา ณ กรุงปักกิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1965



ถึงแม้ผลการเยือนกรุงมอสโกของโจวเอินไหลเพื่อหยั่งดูท่าทีของผู้นำคนใหม่ของสหภาพโซเวียตเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1964 จะไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตดีขึ้น เพราะเบรชเนฟยังคงยืนยันจะดำเนินนโยบายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับสหรัฐอเมริกาต่อไป และบทความในนิตยสาร ปักกิ่งรีวิว ในปลายเดือนเดียวกันได้เตือนให้ระวังการคงอยู่ของ “ลัทธิครุสชอฟที่ปราศจากครุสชอฟ (Khrushchevism without Khrushchev)[12] แต่ฟิเดล คาสโตรก็ยังไม่ลดละความพยายาม โดยในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1964 เขาส่งคาร์ลอส ราฟาเอล โรดริเกซ (Carlos Rafael Rodriquez) ประธานสถาบันปฏิรูปการเกษตรของคิวบาเดินทางไปยังสหภาพโซเวียตและจีนพร้อมกับผู้แทนของพรรคคอมมิวนิสต์ในลาตินอเมริการวม 9 ประเทศ เพื่อขอให้ทั้งสองฝ่ายยุติการกล่าวโจมตีซึ่งกันและกัน ผลปรากฏว่าเหมาเจ๋อตงยืนยันกับโรดริเกซว่า การต่อสู้กับลัทธิแก้ของสหภาพโซเวียตนั้นจะต้องทำต่อเนื่องไปเป็นหมื่นปี[13] ความพยายามครั้งสุดท้ายของฟิเดล คาสโตร เกิดขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 1965 เมื่อเขาส่งเช เกวารามาเยือนจีน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นเคย หวังโย่วผิงระบุว่าหลังการเยือนของเช เกวาราในครั้งนั้น ผู้นำคิวบาก็มีท่าทีต่อจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง [14] หรือกล่าวได้ว่าเมื่อสิ้น ค.ศ. 1964 ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาได้เริ่มขึ้นแล้ว



-----------------------------------------------------------

[1] Chen Jian, Mao’s China and the Cold War (Chapel Hill, NC: The University of North Carolina Press, 2001), 11-12.
[2] Li Mingjiang, Mao’s China and the Sino-Soviet Split: Ideological dilemma (London: Routledge, 2012), 117.
[3] มีการแปลบทบรรณาธิการดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษและตีพิมพ์ใน Peking Review, 2 November 1962, 7-9.
[4] Ibid., 7.
[5] หยุนสุ่ย, เรื่องเดียวกัน, 83.
[6] Cheng, ibid., 100.
[7] John Franklin Copper, China’s Foreign Aid: An Instrument of Peking’s Foreign Policy (Lexington, MA: Lexington Books, 1976), 34.
[8] เจิงเทา, เรื่องเดียวกัน, 46.
[9] K. S. Karol, Guerrilla in Power: The Course of the Cuban Revolution (New York: Hill & Wang, 1969), 304, cited in Cheng, ibid., 100.
[10] “4th Anniversary of the Cuban Revolution, January 2, 1963,” in Castro Speech Database http://lanic.utexas.edu/project/castro/db/1963/19630102.html; accessed 20 February 2017.
[11] หยุนสุ่ย, เรื่องเดียวกัน, 87.
[12] Peking Review, 27 November, 1964, 9.  
[13] สวีซื่อเฉิง, เรื่องเดียวกัน, 296.  
               [14] หยุนสุ่ย, เรื่องเดียวกัน, 88-89.

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ปักกิ่งปะทะฮาวานา: ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาช่วง ค.ศ. 1964 – 1995 (ตอนที่ 4 ความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างจีนกับคิวบาในต้นทศวรรษ 1960)


           ต้นทศวรรษ 1960 ถือได้ว่าเป็นช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาอย่างแท้จริง โดยในทางการเมือง จีนแสดงออกชัดเจนว่าสนับสนุนจุดยืนของคิวบาในการต่อต้านสหรัฐอเมริกา โดยเมื่อสหรัฐฯ พยายามบุกอ่าวหมูเพื่อล้มรัฐบาลของฟิเดล คาสโตรในกลางเดือนเมษายน ค.ศ. 1961 เอกอัครรัฐทูตจีนประจำกรุงฮาวานาได้เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ในสถานทูตให้ร่วมเป็นร่วมตายกับคิวบา[1] ขณะที่ทางการจีนได้ออกแถลงการณ์ประณามสหรัฐฯ ในวันที่ 20 เมษายน[2] และในวันถัดมาที่กรุงปักกิ่งก็มีการการระดมมวลชนกว่า 100,000 คนเพื่อแสดงพลังสนับสนุนคิวบา[3] จีนจัดการระดมมวลชนลักษณะดังกล่าวอีกครั้งเพื่อตอบโต้การที่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี (John F. Kennedy) แห่งสหรัฐฯ สั่งปิดล้อมคิวบาในวิกฤตการณ์ขีปนาวุธช่วงปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 1962 (ดูภาพประกอบ) โดยเผิงเจิน (Peng Zhen) เลขาธิการพรรคประจำกรุงปักกิ่งได้กล่าวสุนทรพจน์ ณ มหาศาลาประชาชนซึ่งระบุว่า การคุกคามของลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกันต่อคิวบานั้นถือเป็นการคุกคามประชาชนจีนไปด้วย[4] 






ทหารบ้าน (militia) ในกรุงปักกิ่งเดินมุ่งหน้าไปยังสถานทูตคิวบา
เพื่อแสดงพลังสนับสนุนในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1962

                          ที่มาของภาพ: Peking Review, 9 November 1962, 10.







            ในทางเศรษฐกิจ จีนส่งออกสินค้าจำพวกข้าว ถั่วเหลือง น้ำมัน เนื้อสัตว์กระป๋อง เคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์เครื่องกลไปยังคิวบา ขณะที่คิวบาส่งออกน้ำตาล แร่นิเกิล และแร่ทองแดงไปยังจีน ปริมาณการค้าระหว่างสองฝ่ายใน ค.ศ. 1965 คิดเป็นมูลค่า 224 ล้านเปโซ (ดูตารางที่ 1) หรือเท่ากับร้อยละ 14 ของปริมาณการนำเข้าและส่งออกของคิวบาทั้งหมด และทำให้จีนกลายเป็นคู่ค้าอันดับสองของคิวบารองจากสหภาพโซเวียต[5] นอกจากนี้ จีนยังให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่คิวบาอีกด้วย โดยในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1960 จีนทำข้อตกลงให้เงินกู้แบบไม่คิดดอกเบี้ยแก่คิวบาตั้งแต่ ค.ศ. 1961 ถึง ค.ศ. 1965 เป็นมูลค่า 240 ล้านรูเบิล[6] และใน ค.ศ. 1965 จีนยังตกลงให้เงินกู้แก่คิวบาอีกก้อนหนึ่งคิดเป็นมูลค่า 22.8 ล้านเปโซเพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าที่คิวบามีต่อจีน[7] สำหรับความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมนั้น เมื่อคิวบาประสบพายุเฮอร์ริเคนในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1963 จนเกิดความเสียหายกว่าครึ่งประเทศ จีนก็ได้ส่งของไปช่วยเหลือคิดเป็นมูลค่า 70 ล้านหยวน โดยเป็นน้ำตาล 5,000 ตัน เนื้อหมู 3,000 ตัน และเวชภัณฑ์อื่นๆ[8] ข้อที่น่าสังเกตก็คือ การค้าและความช่วยเหลือเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่ในต้นทศวรรษ 1960 จีนเองก็ประสบกับปัญหาขาดแคลนอาหารอันเป็นผลมาจากความล้มเหลวของนโยบายก้าวกระโดด (The Great Leap Forward) จนมีผู้คนอดอยากจนล้มตายไปกว่า 20 ล้านคน



ตารางที่ 1
ปริมาณการค้าระหว่างจีนกับคิวบาช่วง ค.ศ. 1961 – 1965
(หน่วย: ล้านเปโซ)
 

ค.ศ.

จีนส่งออกไปคิวบา

คิวบาส่งออกไปจีน

รวมมูลค่า

1961

108.00

98.00

206.00

1962

62.00

80.00

142.00

1963

77.61

70.77

148.38

1964

95.11

81.11

176.22

1965

127.00

97.00

224.00
ที่มาของตาราง: Peking Review, 4 February 1966, 15.






ขณะเดียวกัน คิวบาก็ได้ตอบแทนมิตรภาพและความช่วยเหลือจากจีน โดยในต้นทศวรรษ 1960 มีการรับนักศึกษาจีน 100 กว่าคนไปศึกษาภาษาสเปนในคิวบา และมียังการส่งครูสอนภาษาสเปนมาทำงานในจีนอีกด้วย[9] และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ คิวบาแสดงออกชัดเจนว่าสนับสนุนให้จีนเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติแทนที่ไต้หวัน โดยตั้งแต่ ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา คิวบาได้ลงมติสนับสนุนเมื่อมีการนำร่างมติเกี่ยวกับเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การดังกล่าว และได้อธิบายเหตุผลอย่างชัดเจนในสุนทรพจน์ของฟิเดล คาสโตร ณ ที่นั้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1960 ความตอนหนึ่งว่า

 

จีนคิดเป็นหนึ่งในสี่ของประชากรโลก รัฐบาลใดเป็นผู้แทนที่แท้จริงของประชากรที่มากที่สุดในโลก? ไม่มีรัฐบาลใดอื่นอีกแล้วนอกจากรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทว่า ยังคงมีการรักษาที่นั่งของอีกกลุ่มหนึ่งเอาไว้ในสงครามกลางเมืองที่สะดุดลงเพราะมีกองเรือที่เจ็ดของสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกแซง เราขอถามหน่อยเถิดว่ากองเรือของประเทศหนึ่ง แถมเป็นประเทศที่อยู่ต่างทวีป มีสิทธิ์อะไรมาแทรกแซงเรื่องที่เป็นกิจการภายในล้วนๆ ของจีน เราอยากฟังคำอธิบายเรื่องนี้อย่างมาก การทำเช่นนี้มีจุดประสงค์เพื่อรักษาอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ฝั่งตัวเองเอาไว้และขัดขวางการปลดแอกประเทศจีนทั้งหมด นี่คือจุดยืนที่งี่เง่าและผิดกฎหมาย และเป็นเหตุผลว่าทำไมสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการให้นำเรื่องผู้แทนของสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาอภิปรายกันที่นี่ เราขอแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน ณ ที่นี้ว่า เราสนับสนุนการอภิปรายเรื่องดังกล่าวและสนับสนุนการให้ที่นั่งแก่ผู้แทนที่แท้จริงของประชาชนจีนในองค์การสหประชาชาติ[10]

           

            ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาในระดับผู้นำช่วงต้นทศวรรษ 1960 ก็ดำเนินไปด้วยดีเช่นกัน ดูได้จากการเดินทางเยือนกันและกันหลายครั้ง โดยฝ่ายคิวบานั้น เช เกวาราในฐานะประธานธนาคารแห่งชาติเดินทางเยือนจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1960 โดยได้พบปะกับเหมาเจ๋อตงและกล่าวว่าประสบการณ์การปฏิวัติของจีนอันยาวนาน 22 ปีนั้นถือว่ามีค่ามากสำหรับประชาชนชาวคิวบา[11] และการสร้างความเป็นพันธมิตรระหว่างกรรมกรกับชาวนาของจีนนั้นก็ช่วยชี้แนะแนวทางข้างหน้าสำหรับลาตินอเมริกาได้เป็นอย่างดี[12] ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. 1961 ออสวัลโด ดอร์ติคอส ทอร์เรโด (Osvaldo Dorticos Torrado) ประธานาธิบดีของคิวบาเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการและออกแถลงการณ์ร่วมกับหลิวเส้าฉี (Liu Shaoqi) ประธานาธิบดีของจีนเพื่อต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมและผดุงสันติภาพของโลก[13] ส่วนฟิเดล คาสโตรแม้จะยังไม่ได้เดินทางเยือนจีน แต่เขาก็ไปรับประทานอาหาร ณ สถานทูตจีนในกรุงฮาวานาเป็นอยู่ประจำ[14] สำหรับฝ่ายจีน กัวม่อรั่ว (Guo Moruo) รองประธานสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติเดินทางเยือนกรุงฮาวานาในเดือนมกราคม ค.ศ. 1961 เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสครบ 2 ปีของการปฏิวัติคิวบา ส่วนโจวเอินไหลได้ยกภาษิตโบราณที่ว่า “สิ่งที่ได้มาง่ายนั้นไร้ค่า มิตรภาพต่างหากหนาที่เป็นสิ่งหายาก (อี้ฉิวอู๋เจี้ยเป่า หนานเต๋อโหย่วซินเหริน)” มาฉายภาพให้เห็นความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างจีนกับคิวบา[15] และใน ค.ศ. 1964 เขาตอบรับคำเชิญของฟิเดล คาสโตรเพื่อไปเยือนกรุงฮาวานาในเดือนธันวาคมของปีนั้น[16] แต่แล้วความตึงเครียดที่ก่อตัวขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในปลาย ค.ศ. 1964 ทำให้ต้องยกเลิกกำหนดการที่วางเอาไว้


------------------------------------------

[1] หวงจื้อเหลียง, เรื่องเดียวกัน, 88-89.
[2] Peking Review, 21 April 1961 (Supplement).
[3] จูเสียงจง, เรื่องเดียวกัน, 11-12.
[4] Peking Review, 2 November 1962, 3-4.
[5] He Li, Sino-Latin American Economic Relations (New York: Preager, 1991), 25.
[6] Home News Agency Library of the Xinhua News Agency, China’s Foreign Relations: A Chronology of Events (1949-1988) (Beijing: Foreign Languages Press, 1989), 515-516.
[7] He, ibid., 25.
[8] จูเสียงจง, เรื่องเดียวกัน, 12.
[9] สวีซื่อเฉิง, เรื่องเดียวกัน, 294.
[10] Fidel Castro, Speech at the United Nations, General Assembly session, September 26, 1960 (New York: Fair Play for Cuba Committee, 1960), 28.
[11] นับจาก ค.ศ. 1927 อันเป็นปีที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนล้มเหลวในยุทธศาสตร์การปฏิวัติในเขตเมืองจนนำไปสู่การตั้งฐานที่มั่นในชนบท ไปจนถึง ค.ศ. 1949 อันเป็นปีที่พรรคยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จ  
[12] Peking Review, 22 November 1960, 10.
[13] Peking Review, 6 October 1961, 9-11.
[14] หวงจื้อเหลียง, เรื่องเดียวกัน, 86-87.
[15] จูเสียงจง, เรื่องเดียวกัน. 13.
[16] หยุนสุ่ย, เรื่องเดียวกัน, 84.

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ปักกิ่งปะทะฮาวานา: ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาช่วง ค.ศ. 1964 – 1995 (ตอนที่ 3 การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับคิวบาเมื่อ ค.ศ. 1960)


การปฏิวัติในคิวบาเมื่อ ค.ศ. 1959 เกิดขึ้นภายใต้บริบทของสงครามเย็นที่จีนกับสหรัฐอเมริกาเป็นศัตรูกัน และข้อเท็จจริงที่ว่าจีนในทศวรรษ 1950 ไม่เคยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศในลาตินอเมริกาซึ่งเป็น “สนามหลังบ้าน” ของสหรัฐฯ เลยนั้น ทำให้จีนสนใจในรัฐบาลใหม่ของคิวบาซึ่งมีจุดยืนต่อต้านสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก เหมาเจ๋อตงบอกกับลาซาโร คาร์เดนาส (Lázaro Cárdenas) อดีตประธานาธิบดีเม็กซิโกที่เดินทางเยือนจีนเมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1959 ว่า “ข้าพเจ้าคิดว่ากรณีของคิวบาถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่ในปัจจุบัน ชาวเอเชียควรช่วยพวกเขาต่อต้านสหรัฐอเมริกา”[1] ต่อมาในวันที่ 25 ของเดือนนั้น ทางการจีนได้จัดการรณรงค์มวลชนเพื่อแสดงพลังสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชนชาวคิวบาและต่อต้านสหรัฐฯ ขึ้นที่กรุงปักกิ่ง และบรรดาองค์กรต่างๆ ที่อยู่ในการควบคุมของทางการจีน ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการประชาชนจีนเพื่อสันติภาพของโลก (The Chinese People’s Committee for World Peace) ปวงสหพันธ์แรงงานแห่งประเทศจีน (The All-China Federation of Trade Unions) ปวงสหพันธ์สตรีแห่งประเทศจีน (The All-China Women’s Federation) และปวงสหพันธ์เยาวชนจีน (The All-China Youth Federation) ต่างพากันส่งสารแสดงความยินดีไปยังรัฐบาลใหม่ของคิวบา[2]





การ์ตูนล้อเลียนสหรัฐอเมริกาที่กำลังต่อสู้กับจีนและคิวบา

ที่มาของภาพ: Peking Review, 4 October 1960, 47.




            อย่างไรก็ตาม จีนยังคงไม่แน่ใจนักว่าคิวบาภายใต้ระบอบใหม่จะเดินไปทิศทางใด เพราะแม้ว่าตั้งแต่ครึ่งหลังของทศวรรษ 1950 พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเริ่มติดต่ออย่างเป็นทางการกับพรรคคอมมิวนิสต์ในลาตินอเมริกา แต่ในกรณีของคิวบานั้น พรรคที่จีนติดต่อมาตลอดและเคยเชิญผู้แทนมาร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 8 ณ กรุงปักกิ่งเมื่อ ค.ศ. 1956 ก็คือ พรรคสังคมนิยมประชาชนคิวบา (Partido Socialista Popular – PSP) ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับขบวนการ 26 กรกฎาคม (Movimiento 26 de Julio) ของฟิเดล คาสโตรที่ก่อการปฏิวัติ และในช่วง ค.ศ. 1959 - 1960 ฟิเดล คาสโตรก็มิได้ประกาศชัดว่าตนเองจะนำคิวบาเดินไปบนเส้นทางของลัทธิสังคมนิยม จนกระทั่งหลังจากความพยายามของสหรัฐอเมริกาในการบุกอ่าวหมูเพื่อโค่นระบอบใหม่ของคิวบาในเดือนเมษายน ค.ศ. 1961 ประสบความล้มเหลว ฟิเดล คาสโตรซึ่งต้องการหลักประกันด้านความมั่นคงจากประเทศมหาอำนาจค่ายสังคมนิยมจึงประกาศว่าคิวบาเป็นรัฐสังคมนิยมอย่างชัดเจนในสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสวันแรงงานในเดือนถัดมา[3] และประกาศตนเป็นนักลัทธิมากซ์-เลนินในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน[4]

            ความไม่ชัดเจนในช่วงต้นว่ารัฐบาลคิวบาในระบอบใหม่จะเดินบนเส้นทางของลัทธิสังคมนิยมหรือไม่นั้นทำให้สิ่งพิมพ์ของทางการจีนในต้นทศวรรษ 1960 กล่าวถึงแต่การปฏิวัติคิวบาในแง่ของความรักชาติและการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมเป็นหลัก โดยไม่กล่าวถึงลัทธิสังคมนิยมเลย[5] และแม้กระทั่งเมื่อฟิเดล คาสโตรประกาศชัดเจนใน ค.ศ. 1961 แล้วว่า คิวบาจะเดินบนเส้นทางของลัทธิสังคมนิยม ทางการจีนก็ยังไม่ได้ยอมรับเรื่องดังกล่าวในทันที ดูได้จากการสนทนาระหว่างเหมาเจ๋อตงกับยาสุอิ คาโอรุ (Yusui Kaoru) ประธานสมาคมต่อต้านระเบิดนิวเคลียร์และระเบิดไฮโดรเจนของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1962 ที่เหมาได้กล่าวว่า

 

คุณถามข้าพเจ้าถึงลักษณะของการปฏิวัติในคิวบา ข้าพเจ้ามองว่าการปฏิวัติในคิวบาเป็นการปฏิวัติแบบประชาธิปไตยชาตินิยม เป็นการปฏิวัติแบบชาตินิยมที่ต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกัน และต่อสู้กับระบอบบาติสตา พวกนายทุนที่เป็นนายหน้า และพวกศักดินา นับจากนี้คิวบาจะเดินไปทางใดนั้นคงต้องเฝ้าดูต่อไป[6] 

 

            นอกจากนี้ คิวบาภายใต้ระบอบใหม่ก็ยังมิได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันในทันที และเดิมเมื่อมีการเสนอร่างมติเกี่ยวกับการให้สาธารณรัฐประชาชนจีนมีที่นั่งแทนสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ คิวบาในระบอบบาติสตาก็จะลงมติคัดค้านเป็นประจำ แต่ใน ค.ศ. 1959 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้แทนของคิวบาในระบอบใหม่เข้าประชุม คิวบาก็มิได้สนับสนุนร่างมติดังกล่าว แต่กลับงดออกเสียง[7] และด้วยปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เองที่ทำให้ทางการจีนมิได้กระตือรือร้นที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับคิวบาในทันที หากแต่จะเริ่มต้นทำความรู้จักกับคิวบาในระบอบใหม่โดยอาศัยช่องทางกึ่งทางการไปพลางก่อน สอดคล้องกับข้อสังเกตของนักวิชาการเกี่ยวกับลักษณะสำคัญของการทูตจีน นั่นคือ การใช้โวหารทางการเมืองที่โดดเด่น แต่กลับดำเนินการทูตแบบเงียบๆ ไม่ให้เป็นที่สังเกต และในกรณีของคิวบานั้น จีนเริ่มต้นด้วยท่าทีที่อดทนและระมัดระวัง[8]

            ช่องทางกึ่งทางการที่จีนใช้ในการติดต่อกับคิวบาก็คือ สำนักข่าวซินฮว๋า (The Xinhua News Agency) โดยในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1959 จีนได้ติดต่อขอตั้งสาขาของสำนักข่าวดังกล่าว ณ กรุงฮาวานา ซึ่งฝ่ายคิวบาก็ตอบตกลงอย่างรวดเร็ว นักข่าวของซินฮว๋าจึงเริ่มปฏิบัติงานที่นั่นในเดือนถัดมา[9] และในเดือนกรกฎาคมของปีนั้น ราอุล คาสโตร (Raul Castro) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของคิวบาได้เสนอให้จีนส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความสำคัญมารับตำแหน่งหัวหน้าสาขาของสำนักข่าวดังกล่าว โดยขอให้ทำหน้าที่เสมือนสถานทูต[10] ในที่สุดก็มีการตั้งสำนักงานสาขาอย่างเป็นทางการ ณ กรุงฮาวานาในเดือนธันวาคมของปีนั้น นับเป็นครั้งแรกที่สำนักข่าวซินฮว๋ามีสาขาอยู่ในซีกโลกตะวันตก (หมายถึงทวีปอเมริกาทั้งหมด) และในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1960 จีนส่งเจิงเทา รองเลขาธิการพรรคประจำนครเซี่ยงไฮ้ซึ่งมีความใกล้ชิดกับจอมพลเฉินอี้ (Chen Yi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นให้ไปรับตำแหน่งหัวหน้าสาขาของสำนักงานดังกล่าว

            แม้จะยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศก็ได้เริ่มขึ้นแล้วใน ค.ศ. 1959 การที่สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อคิวบาทำให้คิวบาขาดแคลนรายได้ที่เคยมีจากการส่งออกน้ำตาล จีนจึงได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยในเดือนธันวาคมของปีนั้น จีนตกลงซื้อน้ำตาลจากคิวบาเป็นจำนวน 50,000 ตัน[11] ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1960 หลูซวี่จาง (Lu Xuzhang) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศของจีนได้เดินทางเยือนคิวบา โดยมีลงนามในข้อตกลงการค้า 5 ปี ข้อตกลงเกี่ยวกับการชำระเงิน และข้อตกลงอื่นๆ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวม 13 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง และจีนตกลงซื้อน้ำตาลจากคิวบาอีก 500,000 ตัน แลกกับการที่คิวบาซื้อข้าวและของใช้ในชีวิตประจำวันจากจีน[12]

            ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่าจีนกับคิวบามีการเจรจาอะไรกันบ้างหรือไม่ก่อนการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ บันทึกความทรงจำของเจ้าหน้าที่จีนที่ปฏิบัติงาน ณ กรุงฮาวานาใน ค.ศ. 1960 อย่างเจิงเทาและหวงจื้อเหลียงต่างระบุตรงกันว่า การสถาปนาความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นเรื่องกะทันหันที่เกิดจากการริเริ่มของฝ่ายคิวบาโดยไม่แจ้งให้จีนทราบล่วงหน้า[13] กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ของของจีนที่ทำงานในกรุงฮาวานาได้รับคำเชิญให้ไปร่วมงานปราศรัยของฟิเดล คาสโตร ณ จัตุรัสแห่งการปฏิวัติในกรุงฮาวานาเมื่อวันที่ 2 กันยายนของปีนั้น โดยมีประชาชนมาร่วมฟังปราศรัยกว่า 1 ล้านคน และ ณ ที่แห่งนั้นเองที่ฟิเดล คาสโตรก็ประกาศว่าคิวบาจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน โดยประชาชนที่อยู่ ณ จัตุรัสต่างส่งเสียงยินดี และทางการคิวบายังได้นำเนื้อหาในคำปราศรัยดังกล่าวมาตีพิมพ์เป็นเอกสารที่ชื่อ แถลงการณ์ฮาวานา (The Declaration of Havana) ความตอนหนึ่งว่า

 

สมัชชาแห่งชาติของประชาชนคิวบาให้ความเห็นชอบกับนโยบายที่จะเป็นมิตรกับประชาชนทั่วโลก ยืนยันความประสงค์ที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศสังคมนิยมทั้งหลาย และนับจากนี้ไป โดยอาศัยอำนาจอธิปไตยอันสมบูรณ์และเจตจำนงอิสระ ขอแจ้งให้รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนทราบว่า เราตกลงจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ดังนั้น เราจึงขอตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลหุ่นเชิดในฟอร์โมซาที่มีกองเรือที่เจ็ดคุ้มครองอยู่[14]

 

แม้จีนอาจจะไม่ทราบเรื่องดังกล่าวมาก่อนล่วงหน้า แต่อย่างน้อยการที่แถลงการณ์ดังกล่าวระบุชัดเจนว่าคิวบาจะยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันก็ตรงกับเงื่อนไขเบื้องต้นที่จีนใช้ในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ มาตั้งแต่ ค.ศ. 1949 ดังนั้น ในวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1960 จีนกับคิวบาจึงได้ลงนามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ โจวเอินไหล (Zhou Enlai) นายกรัฐมนตรีของจีนส่งสารถึงฟิเดล คาสโตรแสดงความยินดีที่สองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตได้กันสำเร็จ และยังระบุด้วยว่าหากมีความจำเป็น รัฐบาลและประชาชนจีนก็ยินดีจะให้ความช่วยเหลืออย่างสุดกำลังแก่ประชาชนชาวคิวบาในการต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระเสรี[15] ขณะที่นิตยสาร ปักกิ่วรีวิว ของทางการจีนฉบับวันที่ 4 ตุลาคมของปีนั้นก็ตีพิมพ์บทความแสดงความยินดีกับเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่าแม้จะอยู่ห่างไกลกัน แต่จีนกับคิวบาก็เปรียบเสมือนเพื่อนสนิทเนื่องจากมีศัตรูเดียวกัน นั่นคือ ลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกัน[16] และนิตยสารฉบับนั้นยังตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนสหรัฐอเมริกาว่าเหมือนดอน กิโฆเต (Don Quixote) ตัวละครในวรรณกรรมของสเปน ซึ่งกำลังต่อสู้กับจีนและคิวบาที่เป็นกังหันลม โดยเข้าใจผิดว่ากังหันลมดังกล่าวเป็นยักษ์ (ดูภาพประกอบ)     



----------------------------------------------------------------

[1] สวีซื่อเฉิง, เรื่องเดียวกัน, 291.
[2] เพิ่งอ้าง, 291.
[3] Fidel Castro, “May Day Celebration (1961): Cuba is a Socialist Nation,” speech on 1 May 1961, available from Castro Internet Archive https://www.marxists.org/history/cuba/archive/castro/1961/05/01.htm, accessed 12 February 2017. 
[4] “Castro declares himself a Marxist-Leninist,” available from http://www.history.com/this-day-in-history/castro-declares-himself-a-marxist-leninist; accessed 12 February 2017.
[5] ตัวอย่างเช่น Peking Review, 21 April 1961 (Supplement).
[6] จงฮว๋าเหรินหมินก้งเหอกั๋วว่ายเจียวปู้ จงก้งจงยางเหวินเสี้ยนเหยียนจิวซื่อ บก., เหมาเจ๋อตงว่ายเจียวเหวินเสวี่ยน (สรรนิพนธ์การทูตของเหมาเจ๋อตง) (เป่ยจิง: จงก้งเหวินเสี้ยนชูป่านเส้อ ซื่อเจี้ยจือซื่อชูป่านเส้อ, 1995), 488.
[7] Yu San Wang, “The Republic of China’s Relations with Latin America,” in Foreign Policy of the Republic of China on Taiwan: An Unorthodox Approach, ed. Yu San Wang (New York: Praeger, 1990), 158.  
[8] Xiaohong Liu, Chinese Ambassadors: The Rise of Diplomatic Professionalism since 1949 (Seattle, WA: University of Washington Press, 2001), 221, footnote 12.
[9] Cheng, ibid., 81.
[10] สวีซื่อเฉิง, เรื่องเดียวกัน, 292.
[11] เพิ่งอ้าง, 292.
[12] เพิ่งอ้าง, 292.
[13] เจิงเทา, เรื่องเดียวกัน; หวงจื้อเหลียง, เรื่องเดียวกัน, 82-86.
[14] “The Havana Declaration, September 2, 1960,” in Castro Speech Database http://lanic.utexas.edu/project/castro/db/1960/19600902-2.html; accessed 16 February 2017.
[15] จูเสียงจง, เรื่องเดียวกัน, 9.
[16] Peking Review, 4 October 1960, 46-47.