วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

แนวคิดเรื่อง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ของภูฐาน กับการพัฒนาความสามารถของมนุษย์



รายงานเรื่อง
แนวคิด “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ของภูฐาน
กับการพัฒนาความสามารถของมนุษย์

โดย
นายสิทธิพล เครือรัฐติกาล
เสนอ
รองศาสตราจารย์ ดร. สมบูรณ์ ศิริประชัย
วิชา สห. 829 ปรัชญาเศรษฐศาสตร์
ภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2550
โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แนวคิดเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness – GNH) ของทางการภูฐานได้กลายเป็นหนึ่งในแนวคิดสำคัญที่ท้าทายแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจกระแสหลักที่ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แนวคิดดังกล่าวมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก (Jigme Singye Wangchuck) พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งราชอาณาจักรภูฐาน ซึ่งเน้นว่าการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยนั้น ผลที่ได้จะต้องเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ความสุขสงบ” และทรงย้ำด้วยว่าสินค้าที่เป็นวัตถุ (material goods) มิใช่สิ่งที่จะทำให้เกิดความสุขได้โดยตรง (กรรมะ อุระ 2550, 3-4)

แนวคิดเรื่อง GNH นี้ปรากฏอยู่ทั่วไปในเอกสารของทางการภูฐาน รวมทั้งยังได้มีการเผยแพร่ออกไปยังนานาประเทศอีกด้วย นำไปสู่การสัมมนาและอภิปรายในเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวางทั้งในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ นักการศาสนา นักปรัชญา และนักรัฐศาสตร์ ด้วยเห็นว่าแนวทางดังกล่าวอาจจะสามารถนำมาปรับใช้กับประเทศอื่นๆเพื่อบรรเทาผลเสียที่เกิดจากการพัฒนาตามแนวคิดกระแสหลักได้ อย่างไรก็ตามรายงานฉบับนี้จะชี้ให้เห็นว่า GNH ยังคงมีจุดอ่อนเนื่องจากพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ยังคงมีบทบาทครอบงำและชี้นำแนวทางการพัฒนาแบบดังกล่าวอยู่มากเกินไป และจุดอ่อนดังกล่าวนี้อาจเป็นปัญหาต่อการพัฒนาของภูฐานในระยะยาวได้ โดยผู้เขียนจะใช้แนวคิดเรื่องความสามารถของมนุษย์ (human capabilities) ของมาร์ธา นัสบอห์ม (Martha Nussbaum) มาเป็นแนวทางในการชี้ให้เห็นจุดอ่อนดังกล่าว

ในส่วนของการนำเสนอ รายงานฉบับนี้จะเริ่มจากการพิจารณาบริบททางการเมืองและเศรษฐกิจที่นำไปสู่การเกิดแนวคิด GNH ตามด้วยการพิจารณาถึงสาระสำคัญของแนวคิดดังกล่าว จากนั้นจะอธิบายแนวคิดเรื่องความสามารถของมนุษย์ แล้วจึงโยงมาสู่การชี้ให้เห็นว่า GNH มีจุดอ่อนอย่างไรบ้าง

บริบทที่นำไปสู่การเกิดแนวคิด GNH
เดิมตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ดินแดนที่เป็นประเทศภูฐานในปัจจุบันยังไม่ได้มีการรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หากแต่มีการปกครองแบบไร้อำนาจศูนย์กลาง กล่าวคือหัวหน้าเผ่า หรือหัวหน้าตระกูล หรือผู้นำทางพุทธศาสนาต่างมีอำนาจในท้องถิ่นของตนเอง และไม่มีผู้ใดสามารถสร้างระบบการเมืองที่รวบรวมท้องถิ่นเหล่านั้นเข้าด้วยกันได้ จนกระทั่งใน ค.ศ. 1907 อูเก็น วังชุก (Uggyen Wangchuck) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะสงฆ์และจากอังกฤษซึ่งปกครองอินเดียก็ได้สถาปนาตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 1 แห่งภูฐาน

ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีอูเก็น วังชุก (ค.ศ. 1907 – ค.ศ. 1926) และสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี วังชุก (Jigme Wangchuck ค.ศ. 1926 – ค.ศ. 1952) ภูฐานยังคงปิดตัวเองจากโลกภายนอก สนธิสัญญาที่ภูฐานทำกับอังกฤษเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1910 ระบุว่าภูฐานมีอำนาจอธิปไตยภายในอย่างเต็มที่ ยกเว้นในด้านการต่างประเทศที่ภูฐานจะต้องปรึกษากับรัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย (แมนคอล 2550, 159) อย่างไรก็ตามด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของภูฐานที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางติดต่อกับโลกภายนอก ทำให้ในทางปฏิบัติแล้วภูฐานแทบมิได้มีกิจกรรมด้านการต่างประเทศเลย การที่ภูฐานในยุคนั้นยังไม่มีเศรษฐกิจแบบเงินตราทำให้ภูฐานมิได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (The Great Depression) เมื่อ ค.ศ. 1929 นอกจากนี้การที่ภูฐานมิได้มีสถานะเป็นอาณานิคมก็ทำให้ภูฐานไม่ถูกดึงให้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองระหว่าง ค.ศ. 1939 – ค.ศ. 1945 และไม่ถูกดึงเข้าสู่ขบวนการต่อต้านเจ้าอาณานิคมในช่วงเวลาเดียวกัน จะเห็นได้ว่าการอยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดได้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ภูฐานสามารถรักษาเอกราชของตนเอาไว้ได้ (แมนคอล 2550, 160-161) ซึ่งเอกราชดังกล่าวมิได้หมายความถึงเอกราชในทางการเมืองและเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงเอกราชในทางวัฒนธรรมด้วย

ภูฐานเริ่มเข้าสู่ยุคของความเปลี่ยนแปลงในรัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ดอร์จี วังชุก (Jigme Dorji Wangchuck ค.ศ. 1952 – ค.ศ. 1972) รัชกาลที่ 3 ซึ่งได้รับการขนานพระสมัญญานามว่า “บิดาแห่งภูฐานสมัยใหม่” (The Father of Modern Bhutan) ขณะนั้นอังกฤษได้ให้เอกราชแก่อินเดียแล้ว โลกเข้าสู่สภาวะสงครามเย็นที่มีการเผชิญหน้าระหว่างประเทศค่ายโลกเสรีกับประเทศค่ายคอมมิวนิสต์ การเผชิญหน้าดังกล่าวมีผลกระทบไม่น้อยต่อประเทศเล็กๆอย่างภูฐาน การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1949 และการที่กองทัพคอมมิวนิสต์จีนบุกยึดทิเบตในปีต่อมาได้ทำให้ภูฐานตระหนักในความไม่มั่นคงของตนเองมาขึ้น และเมื่อจีนทำการปราบปรามผู้ประท้วงชาวทิเบตครั้งใหญ่ใน ค.ศ. 1959 ก็ได้มีชาวทิเบตอพยพลี้ภัยลงมายังภูฐานเป็นจำนวนหลายพันคน ขณะที่จีนเองได้ดำเนินนโยบายส่งออกการปฏิวัติด้วยการทำโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ในบริเวณเทือกเขาระหว่างสิกขิมและภูฐาน (พริสเนอร์ 2547, 37-28) ด้วยเหตุนี้ภูฐานจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องเปิดตัวเองสู่โลกภายนอกเพื่อธำรงไว้ซึ่งเอกราชและความมั่นคงของตน โดยหลังจากที่อินเดียได้เอกราชใน ค.ศ. 1947 ภูฐานก็ได้รีบสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอินเดีย และอินเดียได้เป็นประเทศหลักที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจแก่ภูฐาน โดยเฉพาะในด้านการก่อสร้างถนนหนทางและการโทรคมนาคม (แมนคอล 2550, 162) และในเดือนกันยายน ค.ศ. 1958 ภูฐานก็ได้ต้อนรับการเดินทางมาเยือนของนายกรัฐมนตรีเยาวหราล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) แห่งอินเดีย นอกจากนี้ภูฐานยังเข้าเป็นสมาชิกแผนการโคลัมโบ (The Colombo Plan)[1] และองค์การสหประชาชาติเมื่อ ค.ศ. 1962 และ ค.ศ. 1971 ตามลำดับ

นอกจากจะเปิดตัวสู่โลกภายนอกแล้ว สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 3 ยังทรงปรับปรุงการปกครองภายในประเทศอีกด้วย โดยใน ค.ศ. 1953 โปรดให้มีการตั้งสมัชชาแห่งชาติ (The National Assembly) มีการร่างกฎหมายสูงสุดที่เรียกว่า Thrimshung Chenmo และต่อมาใน ค.ศ. 1965 โปรดให้ตั้งสภาองคมนตรี (The Royal Advisory Board) เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระมหากษัตริย์ และในทางเศรษฐกิจภูฐานได้ประกาศใช้แผนพัฒนาห้าปีฉบับแรกเมื่อ ค.ศ. 1961 โดยเน้นการวางโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) เช่น ถนน ไฟฟ้า การขนส่ง โทรคมนาคม เป็นต้น และในแผนห้าปีฉบับที่สองยังได้เน้นเรื่องการศึกษาและการสาธารณสุขอีกด้วย (Mathou 1999, 614-615) และแนวทางดังกล่าวก็ได้รับการสานต่อโดยสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก (Jigme Singye Wangchuck ค.ศ. 1972 – ค.ศ. 2006) รัชกาลที่ 4

การเปิดตัวของภูฐานต่อโลกภายนอกทั้งในทางการทูตและในทางเศรษฐกิจตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมาได้นำมาซึ่งความท้าทายที่ว่า ทำอย่างไรภูฐานจะสามารถดำเนินการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย (modernization) ต่อไปได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน (แมนคอล 2550, 168-169) สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 จึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการนำเสนออุดมการณ์บางอย่างเพื่อรักษาสมดุลของทั้งสองสิ่งนี้ไว้ให้ได้ จึงนำไปสู่การเกิดแนวคิด GNH โดยพระองค์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เป็นครั้งแรกที่เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดียเมื่อ ค.ศ. 1972 และต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. 1986 พระองค์ก็ได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่นักข่าวหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) ของอังกฤษภายใต้หัวข้อที่ว่า “ความสุขมวลรวมประชาชาติสำคัญกว่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ” (กรรม อุระ 2550, 3)

สาระสำคัญของแนวคิด GNH
ในบทความเรื่อง ความสุขมวลรวมประชาชาติคืออะไร ของกรรมะ อุระ ผู้อำนวยการศูนย์ภูฐานศึกษา เมืองทิมพู ประเทศภูฐาน ได้วิพากษ์วิจารณ์การวัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) ว่ามีข้อบกพร่องดังต่อไปนี้ (กรรมะ อุระ 2550, 27-35)

ประการแรก GDP ใช้เม็ดเงินเป็นมาตรวัดความมั่งคั่งของประเทศ จึงใช้ได้ดีกับการผลิต การบริโภคและการซื้อขายซึ่งคิดเป็นตัวเงินได้ หากแต่ GDP ละเลยการให้คุณค่าแก่สิ่งที่ไม่อาจกำหนดค่าได้ เช่น GDP สามารถให้ค่าได้ว่าไม้ที่ถูกตัด เลื่อยและขายในท้องตลาดนั้นมีค่าเท่าใด แต่ GDP ไม่อาจให้ค่ากับการอนุรักษ์ต้นไม้ได้ เป็นต้น

ประการที่สอง GDP ให้ค่าเฉพาะการทำงานที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต แต่กลับไม่ให้คุณค่าต่อกิจกรรมบางอย่างที่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น เช่น GDP ให้คุณค่าแก่คนที่ทำงานและรับเงินเดือน แต่กลับไม่ให้คุณค่าแก่คนที่ทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม เพราะผลของการทำงานอาสาสมัครไม่สามารถแสดงออกเป็นตัวเงินได้ เป็นต้น

ประการที่สาม GDP เป็นการให้ค่าแก่เศรษฐกิจภาพรวม โดยมิได้สะท้อนการกระจายรายได้ในหมู่ประชาชน ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมจึงยังดำรงอยู่

กรรมะ อุระ ยังได้ชี้ต่อไปว่าการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมีค่า GDP สูง ก็มิได้หมายความว่าผู้คนในประเทศดังกล่าวมีความสุขแต่อย่างใด กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือรายได้กับสุขภาวะไม่ได้มีส่วนสัมพันธ์กัน สาเหตุมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้ (กรรมะ อุระ 2550, 19-24)
ประการที่หนึ่ง มนุษย์เรามักจะวัดความพึงพอใจของตนเองด้วยการเปรียบเทียบกับผู้อื่น ดังนั้นแม้ว่ารายได้ของคนๆหนึ่งจะสูงขึ้นมากเพียงใด คนๆนั้นก็อาจจะไม่มีความสุขเลยก็ได้ถ้าเขายังเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นที่มีรายได้มากกว่า
ประการที่สอง มาจากความเฟ้อของมูลค่า (secondary inflationary effect) กล่าวคือ คนเราต้องจ่ายเงินมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าชิ้นเดิมที่เราเคยซื้อมาก่อนหน้านี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจึงหดหายไปกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นและไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นแต่อย่างใด เช่น คุณภาพและปริมาณการศึกษาของเด็กคนหนึ่งในปัจจุบันอาจไม่ต่างกับคุณภาพและปริมาณการศึกษาที่คนรุ่นพ่อแม่ได้รับ แต่การขับรถยนต์ไปส่งเด็กที่โรงเรียน เครื่องแบบนักเรียน ค่าธรรมเนียมกีฬา รวมทั้งค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการศึกษา ทำให้การศึกษาของเด็กรุ่นลูกมีค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม ทั้งๆที่คุณภาพที่ออกมาก็ไม่ได้ต่างจากคนรุ่นพ่อแม่
ประการที่สาม แม้ว่ารายได้ที่สูงขึ้นจะทำให้คนสามารถซื้อสินค้ามาสนองความต้องการได้มากขึ้น หากแต่ความสุขที่เกิดจากการบริโภคสินค้านั้นก็เป็นเพียงแค่ชั่วคราว เพราะเมื่อคนเราใช้สินค้าดังกล่าวไประยะหนึ่งก็จะเกิดความเบื่อหน่ายและต้องการสินค้าที่ใหม่กว่ามาทดแทน เปรียบได้กับแวบแรกที่เราเห็นดอกไม้ เราจะรู้สึกตื่นเต้นอย่างเต็มที่ แต่ความรู้สึกดังกล่าวจะลดลงเมื่อได้เห็นในครั้งต่อๆไป
ประการที่สี่ เมื่อคนเรามีความมั่งคั่งในระดับหนึ่งแล้ว เป้าหมายของคนจะไม่ได้อยู่ที่สินค้าอีกต่อไป แต่จะอยู่ที่การบริการซึ่งเหนือไปกว่าสินค้า เช่น ความสุขที่ได้รับจากครอบครัว เพื่อนฝูง เป็นต้น สินค้าจึงไม่อาจเพิ่มสุขภาวะแก่ผู้คนได้ทุกกรณีเสมอไป

นอกจากนี้ กรรมะ อุระ ยังได้นำเอาสถิติของประเทศต่างๆมาแสดงเพื่อให้เห็นว่าหลายประเทศซึ่งมีระดับรายได้ที่แตกต่างกัน แต่ก็มีความพึงพอใจในชีวิตอยู่ในระดับเดียวกัน เช่น สหรัฐอเมริกามีรายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวที่ 30,000 เหรียญสหรัฐฯ แต่ประชาชนกลับมีความพึงพอใจในชีวิตในระดับเดียวกับคนนิคารากัวซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวเพียง 5,000 เหรียญสหรัฐฯ เป็นต้น กรรมะ อุระจึงเชื่อว่าจะต้องมีตัวกำหนดทางสังคมและวัฒนธรรมบางอย่างที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในชีวิตของชาวนิคารากัว (กรรมะ อุระ 2550, 24)

ในเมื่อรายได้และ GDP มิได้เป็นตัวบ่งชี้ความสุขของผู้คน กรรม อุระจึงได้เสนอว่าเราควรหันมาสนใจ GNH ซึ่งมีรากฐานมาจากพุทธศาสนา โดยพุทธศาสนาถือว่าความสุขที่แท้จริงมิได้มาจากสิ่งเร้าภายนอกอย่างการบริโภคและสะสมวัตถุ หากแต่มาจากการปิดทวารอายตนะ (หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย – ผู้เขียนรายงาน) และจิตที่คิดปรุงแต่งไปตามสิ่งเร้าจากภายนอก ถ้าเราทำจิตใจให้สงบและลดละความต้องการลง เราก็สามารถจะมีความสุขได้ ดังนั้นในการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนว GNH รัฐจึงไม่ควรยัดเยียดให้ประชาชนเกิดความต้องการทางวัตถุจนเบียดเบียนกันและกันมากเกินไป หากแต่ควรหันมาสนับสนุนให้ประชาชนตระหนักว่าทุกคนในโลกต้องพึ่งพาอาศัยกัน ถ้าทำได้เช่นนี้ก็จะบรรลุเป้าหมายของ GNH ซึ่งก็คือความสุขร่วมกัน (collective happiness) และสังคมดังกล่าวจะเรียกได้ว่าเป็นสังคมแห่งความรู้แจ้ง (enlightened society) (กรรมะ อุระ 2550, 8-14) ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ ครอบครัว และระบบนิเวศ

ปัจจุบันแนวคิด GNH ได้รับการตอบรับอย่างมากมายทั้งในและนอกประเทศภูฐาน ฐากูร เอส. พาวดเยล ผู้บริหารสถานศึกษาแห่งหนึ่งในภูฐานได้ยกย่องว่า GNH เป็น “ยักษ์ใหญ่ทางศีลธรรม” ที่มุ่งให้ทุกคนแบ่งปันกันอย่างเพียงพอ (พาวดเยล 2547, 74) ขณะที่นักคิดชาวไทยอย่างศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ก็ได้กล่าวชื่นชมที่ภูฐาน “ไม่ปล่อยให้ความโลภอันรุนแรงมาขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ” และยังเน้นด้วยว่า GNH สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ประเวศ วะสี 2547, 165-166) อย่างไรก็ตามรายงานฉบับนี้จะชี้ให้เห็นว่า GNH เป็นแนวคิดที่ยังมีปัญหาซ่อนอยู่ และอาจทำให้การพัฒนาประเทศของภูฐานประสบปัญหาในระยะยาวได้ ในส่วนถัดไปจะเป็นการพิจารณาถึงแนวคิดเรื่องความสามารถของมนุษย์ (human capabilities) ซึ่งผู้เขียนจะใช้แนวคิดดังกล่าวมาเป็นแนวทางในการพิจารณาข้อด้อยของ GNH

แนวคิดเรื่องความสามารถของมนุษย์
แนวคิดเรื่องความสามารถของมนุษย์มีสาระสำคัญประการหนึ่งที่คล้ายกับ GNH นั่นคือ ความพยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของดัชนีชี้วัดการพัฒนากระแสหลักของประเทศตะวันตก บทความของมาร์ธา นัสบอห์ม (Martha Nussbaum 2002) เรื่อง Capabilities and Social Justice ได้ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของแนวทาง (approach) และตัวชี้วัดต่างๆดังต่อไปนี้


1. แนวทางที่ใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อคนเป็นฐาน (GNP per capita approach)
นัสบอห์มมองว่าแม้แนวทางดังกล่าวจะมีข้อดีในแง่ที่พยายามสร้างตัวชี้วัดที่สามารถใช้ได้ข้ามวัฒนธรรม (cross-cultural) หากแต่จุดอ่อนสำคัญของแนวทางดังกล่าวก็คือ การละเลยในเรื่องการกระจายความมั่งคั่งและรายได้ เพราะ GNP เป็นเพียงตัวเลขมวลรวม (aggregate figures) ที่มิได้รับประกันว่าประเทศดังกล่าวจะมีการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมกันเสมอไป นอกจากนี้ GNP ยังละเลยแง่มุมอื่นๆที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอายุคาด (life expectancy) อัตราการตายของทารกแรกเกิด โอกาสทางการศึกษา การบริการสาธารณสุข โอกาสในการทำงาน สิทธิในที่ดินทำกิน รวมทั้งเสรีภาพทางการเมือง (Nussbaum 2002, 126)

2. แนวทางที่ใช้ทรัพยากรเป็นฐาน (resource-based approach)
นัสบอห์มเห็นว่าแม้แนวทางดังกล่าวจะให้ความสำคัญต่อการจัดสรรทรัพยากร หากแต่ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนจะสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติได้ สาเหตุอาจมาจากทางร่างกาย เช่น ความพิการ ซึ่งคนพิการคนหนึ่งจะต้องใช้ทรัพยากรมากกว่าคนปกติทั่วไปในการทำกิจกรรมประเภทเดียวกัน เป็นต้น นอกจากนี้ปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมก็มีอิทธิพลไม่น้อย เช่น ถ้าสังคมยังมีการแบ่งชนชั้นและมีอคติต่อสตรีอยู่มาก การให้การศึกษาแก่สตรีในประเทศดังกล่าวก็จะต้องใช้ทรัพยากรมากกว่าการให้การศึกษาแก่บุรุษ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าแนวทางที่ใช้ทรัพยากรเป็นฐานมีจุดอ่อนตรงที่ละเลยตัวแปรอื่นๆที่ไม่ใช่ทรัพยากร ทั้งๆที่ตัวแปรเหล่านั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อผลลัพธ์ที่จะออกมา (Nussbaum 2002, 127)

3. แนวทางที่ใช้ความพึงพอใจในรายการที่เลือกเป็นฐาน (preference-based approach)
นัสบอห์มมองว่าแนวทางดังกล่าวแม้จะได้เปรียบกว่า GNP ในแง่ที่หันมาสนใจความรู้สึกของคนเป็นหลัก หากแต่จุดอ่อนที่สำคัญก็คือการให้ความสำคัญต่อความพึงพอใจในรายการที่เลือกของคน ณ ขณะนั้นมากเกินไป โดยลืมไปว่าความพึงพอใจในรายการที่เลือก (preference) นั้นมิได้เป็นอิสระจากตัวมนุษย์ หากแต่การเลือกนั้นถูกกำกับโดยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมอีกเป็นจำนวนมาก เช่น สตรีบางคนนั้นยินดีที่จะทำงานนอกบ้านวันละ 8 ชั่วโมง และยังต้องทำงานบ้านและเลี้ยงลูกไปด้วยโดยที่ไม่ได้รู้สึกเลยว่าตนเองถูกเอาเปรียบจากสามี ทั้งนี้เป็นเพราะสตรีคนดังกล่าวได้รับการบ่มเพาะมาในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่และสตรีเป็นผู้ที่อยู่ต่ำกว่า ดังนั้นสิ่งที่สตรีคนดังกล่าวเลือกจึงไม่อาจจะเป็นตัวบ่งชี้ที่น่าเชื่อถือ (reliable indicator) ในการกำหนดนโยบายสาธารณะได้ (Nussbaum 2002, 127-128)


4. แนวทางสิทธิมนุษยชน (human rights approach)
แนวทางดังกล่าวตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกัน (inequality) และเรียกร้องสิทธิและความยุติธรรมให้กับคนที่ตกเป็นเบี้ยล่าง หากแต่นัสบอห์มมองว่าแนวทางดังกล่าวยังมีจุดบกพร่องอยู่หลายประการ ได้แก่ (1) ความหมายและขอบเขตของคำว่า “สิทธิ” (rights) ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เช่น สิทธิเป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนเกิดการเมือง (prepolitical) หรือเป็นสิ่งที่เกิดจากกฎหมายและสถาบัน สิทธิเป็นสิ่งที่ผูกติดกับปัจเจกบุคคล (individual) เท่านั้นใช่หรือไม่ หรือว่ากลุ่ม (group) ก็สามารถจะมีสิทธิได้ เป็นต้น การนำคำศัพท์ที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มาใช้ในคำว่า “สิทธิมนุษยชน” จึงมิได้มีประโยชน์แต่ประการใด มีแต่จะนำมาซึ่งคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้อีกเป็นจำนวนมาก (2) คำว่า “สิทธิ” มีที่มาทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับเสรีภาพทางการเมืองและพลเมือง (political and civil rights) และต่อมายังผูกโยงกับเสรีภาพทางเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย ปัญหาสำคัญก็คือ การได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวจะต้องมีเงื่อนไขเบื้องต้นในทางวัตถุ (material prerequisites) เสียก่อน เช่น สตรีไม่อาจจะมีส่วนร่วมทางการเมืองได้หากไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา เป็นต้น (3) แนวทางสิทธิมนุษยชนมักจะเน้นไปที่บทบาทของมนุษย์ในที่สาธารณะ อาทิ พื้นที่ทางการเมือง โดยที่ละเลยประเด็นภายในครอบครัว เช่น ความรุนแรงในครอบครัว การกระจายทรัพยากรและโอกาสในบรรดาสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น และ (4) แนวคิดเรื่องสิทธิมักจะเน้นแต่การป้องกันไม่ให้รัฐเข้ามาล่วงละเมิดสิทธิของปัจเจกบุคคล ดังนั้นจึงละเลยประเด็นในครอบครัว เช่น การได้รับการศึกษาของสมาชิกในครัวเรือน รูปแบบการแต่งงาน เป็นต้น (Nussbaum 2002, 128-129)

จากข้อบกพร่องของแนวทางทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้น นัสบอห์มจึงได้เสนอแนวคิดเรื่องความสามารถของมนุษย์ โดยเน้นว่าคำถามหลักของแนวคิดดังกล่าวไม่ใช่การถามว่า มนุษย์มีความรู้สึกพอใจมากเพียงใด หรือมนุษย์ถือครองทรัพยากรไว้มากเพียงใด หากแต่ต้องถามว่า จริงๆแล้วมนุษย์สามารถที่จะทำอะไรและเป็นอะไรได้บ้าง (actually able to do and to be) (Nussbaum 2002, 129) นัสบอห์มกล่าวว่าแนวคิดของเธอได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx) เรื่อง Economic and Philosophical Manuscripts ซึ่งเน้นว่าโดยแท้จริงแล้วมนุษย์มีความสามารถที่จะแสดงออกซึ่งความเป็นมนุษย์ได้อย่างเต็มที่ที่มนุษย์จะทำได้ (to perform their human functions in a fully human way) หากแต่เงื่อนไขต่างๆไม่ว่าจะเป็นความอดอยาก หรือการขาดการศึกษา ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์จำนวนมากยังคงมีชีวิตเหมือนกับสัตว์ซึ่งมากซ์ยอมรับไม่ได้และเห็นว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง นัสบอห์มได้เอาแนวความคิดนี้มาสรุปเป็นแนวคิดแกน (core idea) ของเธอว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นอิสระ มีศักดิ์ศรี และสามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ มากกว่าที่จะเหมือนฝูงสัตว์ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำอยู่ร่ำไป (Nussbaum 2002, 130)

ในบทความเรื่อง Human Capabilities, Female Human Beings นัสบอห์มได้เสนอว่ามนุษย์ควรมีความสามารถพื้นฐาน (basic human functional capabilities) รวม 10 (+1) ประการดังต่อไปนี้ (Nussbaum 1995, 83-85)
1. สามารถมีชีวิตอยู่รอดจนสิ้นอายุขัยตามปกติ ไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรือมีชีวิตอยู่อย่างไร้ค่า
2. มีสุขภาพดี ได้รับอาหารอย่างเพียงพอ มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม มีโอกาสในการหาความสุขทางเพศและการสืบทอดเผ่าพันธุ์ มีความสามารถที่จะเดินทางไปไหนมาไหนได้
3. สามารถหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดที่ไม่จำเป็นและไม่เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และมีประสบการณ์ชีวิตที่น่ารื่นรมย์
4. สามารถใช้ประสาทสัมผัส จินตนาการ ความคิด และเหตุผลได้โดยตั้งอยู่บนฐานที่ว่าจะต้องได้รับการศึกษาอย่างเพียงพอ (อย่างน้อยที่สุดคือการอ่านออกเขียนได้ และมีทักษะทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เบื้องต้น) และสามารถใช้จินตนาการและความคิดเพื่อเลือกสรรสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับตัวเองได้ (เช่น การเลือกนับถือศาสนา การเลือกฟังดนตรี) ซึ่งการที่มนุษย์จะสามารถทำสิ่งดังกล่าวได้นั้น นอกจากจะต้องได้รับการศึกษาอย่างเพียงพอแล้ว ยังต้องมีกฎหมายประกันสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทั้งในทางการเมือง ศิลปะ และศาสนารวมอยู่ด้วย
5. สามารถมีความผูกพันกับผู้คนและสิ่งของที่อยู่รอบข้าง มีความรักให้กับคนที่รักและห่วงใยเรา มีความอาลัยเมื่อพวกเขาจากไป
6. สามารถที่จะรู้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีในชีวิต และสามารถวางแผนให้กับชีวิตตนเองได้ รวมทั้งสามารถหางานทำนอกบ้าน และมีส่วนร่วมในทางการเมืองได้
7. สามารถที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น มีความเป็นห่วงเป็นใยผู้อื่น มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่หลากหลาย มีความสามารถที่จะสร้างมิตรภาพและดำรงความยุติธรรม
8. มีความรู้สึกผูกพันกับพืช สัตว์ และโลกแห่งธรรมชาติ
9. สามารถที่จะหัวเราะ เล่น และสนุกกับกิจกรรมเพื่อการพักผ่อนได้
10. มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ถูกครอบงำในการเลือกทางเดินของชีวิต เช่น การแต่งงาน การจ้างงาน การแสดงออกทางเพศ เป็นต้น และ
10a. สามารถที่จะมีสิทธิในทรัพย์สินส่วนตัว โดยที่รัฐไม่อาจเข้ามาละเมิดโดยพลการได้

นัสบอห์มย้ำว่าความสามารถพื้นฐานที่กล่าวมานี้ทุกข้อล้วนสำคัญเท่าเทียมกันหมด และในการกำหนดนโยบายนั้นรัฐไม่อาจจะเลือกดำเนินการเพื่อนำไปสู่ข้อใดข้อหนึ่งก่อนได้ หากแต่จะต้องผลักดันทุกๆข้อไปพร้อมกัน การเสริมสร้างความสามารถพื้นฐานของมนุษย์นี้ควรจะเป็นเป้าหมายของนโยบายสาธารณะ และถึงแม้ว่าข้อเสนอเรื่องความสามารถพื้นฐานของมนุษย์จะยังมีจุดอ่อนที่การวัด (measurement) เนื่องจากเราไม่อาจวัดความสามารถบางอย่างของมนุษย์ออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนได้ หากแต่นัสบอห์มเชื่อว่าจุดอ่อนดังกล่าวจะหมดไปในอนาคตเมื่อมีการปรับปรุงเครื่องมือวัดให้ดียิ่งขึ้น และอย่างน้อยเราก็มาถูกทาง (working in the right place and looking at the right thing) มากกว่าแนวทางการศึกษา (approach) อื่นๆ (Nussbaum 2002, 135) รายงานฉบับนี้จะนำเอาข้อเสนอของนัสบอห์มมาเป็นแนวทางในการพิจารณาว่า GNH จะช่วยเสริมสร้างความสามารถพื้นฐานของมนุษย์และเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศภูฐานได้มากน้อยเพียงใด

ปัญหาของแนวคิด GNH
แม้ว่าแนวคิดเรื่อง GNH จะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะกระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา หากแต่เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดแล้วจะพบว่า GNH ยังแฝงไว้ด้วยปัญหาซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างความสามารถพื้นฐานของมนุษย์ รวมทั้งต่อการพัฒนาประเทศภูฐานในระยะยาว ปัญหาของ GNH ที่จะนำเสนอประกอบไปด้วย (1) การใช้พุทธศาสนาเป็นฐานของ GNH (2) การอธิบายลักษณะของความสุขตามแบบ GNH (3) การอ้างอิงความน่าเชื่อถือของ GNH ผ่านสถาบันพระมหากษัตริย์ และ (4) ความขัดแย้งระหว่าง GNH กับเศรษฐกิจแบบตลาด

การใช้พุทธศาสนาเป็นฐานของ GNH
พุทธศาสนามีอิทธิพลต่อชีวิตของชาวภูฐานมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่พุทธศาสนาจะส่งอิทธิพลต่อการอธิบายคำว่า “ความสุข” ในแนวคิด GNH บทความเรื่อง ลักษณะและระดับของความสุขในบริบทของสังคมภูฐาน ของกรรมะ กาเลย์ (2550, 41-63) ได้ชี้ให้เห็นชัดว่าพุทธศาสนามีบทบาทอย่างสำคัญในการหล่อหลอมชีวทัศน์และการรับรู้ถึงความสุขของสังคม โดยพุทธศาสนาเน้นไปที่การปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม ให้มีเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย อย่างไรก็ตามแม้ว่าผู้เขียนรายงานจะนับถือศาสนาพุทธและเชื่อโดยส่วนตัวว่าศาสนาพุทธมีความน่าเลื่อมใสมากกว่าศาสนาอื่นๆในแง่ของความเป็นอเทวนิยม (atheism) ซึ่งยกย่องในความสามารถของมนุษย์ หากแต่การนำเอาแนวคิดทางพุทธศาสนามาใช้ในการดำเนินนโยบายสาธารณะ (public policy) จะมีข้อเสียดังต่อไปนี้

ประการแรก ศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อส่วนตัว บุคคลอาจจะเลือกนับถือศาสนาใดก็ได้ หรือไม่นับถือศาสนาใดเลยก็ได้ (ดังเช่นผู้คนจำนวนมากในประเทศสังคมนิยมในปัจจุบัน) มาตรา 7-4 ของร่างรัฐธรรมนูญภูฐาน ซึ่งกำลังจะประกาศใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “พลเมืองภูฐานมีเสรีภาพในทางความคิด ความรู้สึก และศาสนา การบังคับหรือชักนำให้ผู้คนมีความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นสิ่งที่จะกระทำไม่ได้” (Draft of Tsa Thrim Chhenmo as on 1st August 2007) ดังนั้นการนำเอาพุทธศาสนามาเป็นฐานของแนวคิด GNH จึงเท่ากับเป็นการนำเอาความเชื่อที่ควรจะเป็นส่วนบุคคลมาทำให้เป็นนโยบายสาธารณะและใช้กับทุกคนที่เป็นพลเมืองของประเทศ และทำให้เกิดคำถามว่าจริงๆแล้วชาวภูฐานมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือไม่ รัฐบาลภูฐานจะจัดการความขัดแย้งระหว่าง GNH กับรัฐธรรมนูญในอนาคตอย่างไร นัสบอห์มได้เน้นว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนามีความสำคัญอย่างมากต่อความสามารถในการใช้ความคิดและเหตุผลของมนุษย์ ดังนั้นถ้ารัฐบาลภูฐานไม่อาจจะคลายปมดังกล่าวได้ ภูฐานก็จะพบกับอุปสรรคในการพัฒนาความสามารถพื้นฐานของมนุษย์

ประการที่สอง แม้ว่าประชากรของภูฐานส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็ยังมีชาวภูฐานเชื้อสายเนปาลที่นับถือศาสนาฮินดูอยู่อีกกว่า 25% หรือ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนด้านชาติพันธุ์ ประชากรภูฐานประกอบไปด้วยชาวภูฐาน 50% ชาวเนปาล 35% และชนชาติอื่นๆ 15% (Central Intelligence Agency 2008) แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญภูฐานมาตรา 7-15 จะระบุว่า “ประชาชนทุกคนมีความเสมอภาคกันทางกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน โดยจะไม่มีการเลือกปฏิบัติโดยใช้เชื้อชาติ เพศ ศาสนา การเมือง และสถานะอื่นๆมาเป็นเกณฑ์” (Draft of Tsa Thrim Chhenmo as on 1st August 2007) แต่การที่ในทางปฏิบัติแล้วรัฐบาลภูฐานนำเอา GNH ซึ่งมีฐานมาจากพุทธศาสนาขึ้นมาเป็นอุดมการณ์ของชาติ จึงเป็นการละเลยสภาพสังคมของภูฐานที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม

นับแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา รัฐบาลภูฐานได้ดำเนินการหลายอย่างที่มุ่งจะกลืนวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยและแทนที่ด้วยวัฒนธรรมดรุกปา (Drukpa) ของภูฐาน ด้วยเหตุนี้ใน ค.ศ. 1990 จึงเกิดการลุกฮือของชนกลุ่มน้อยเพื่อต่อต้านรัฐบาล และได้มีชาวภูฐานเชื้อสายเนปาลกว่า 100,000 คนอพยพไปยังค่ายผู้ลี้ภัยจำนวน 7 แห่งขององค์การข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees - UNHCR) ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของเนปาล ซึ่งยังคงเป็นปัญหามาจนปัจจุบัน โดยใน ค.ศ. 2005 สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฐานได้มีพระราชดำรัสระหว่างเสด็จฯเยือนอินเดียว่า ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นพลเมืองภูฐานมาก่อน และรัฐบาลภูฐานก็ไม่มีพันธะ (obligation) ที่จะต้องรับตัวคนเหล่านี้กลับประเทศ พระราชดำรัสดังกล่าวขัดกับความจริงในเชิงประจักษ์ที่มีการพิสูจน์แล้วว่าผู้อพยพในค่ายผู้ลี้ภัยกว่า 75% เป็นพลเมืองภูฐาน (Hutt 2006, 123-124) ท่าทีของสมเด็จพระราชาธิบดีสะท้อนให้เห็นว่าภูฐานต้องการให้ประเทศของตนมีวัฒนธรรมที่เป็นแบบเดียวกันคือ วัฒนธรรมดรุกปาและพุทธศาสนา สอดคล้องกับที่กรรมะ อุระ อธิบายไว้ว่า GNH นั้นเป็นไปเพื่อ “สร้างเอกภาพพฤติกรรมในหมู่ชาวภูฐาน” (กรรมะ อุระ 2550, 35) จะเห็นได้ว่าการนำ GNH มาเป็นนโยบายสาธารณะจึงเป็นการครอบงำทางความคิดชนิดหนึ่งซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการเสริมสร้างความสามารถพื้นฐานของมนุษย์ อีกทั้งยังนำมาซึ่งปัญหาการบูรณาการแห่งชาติ (national integration) อีกด้วย วลาดิมีร์ สเตห์ลิก ได้เตือนว่าการที่ภูฐานแบ่งแยกทางการเมืองตามเส้นแบ่งชนเผ่าและศาสนา ถือเป็นการลดทางเลือกของผู้คนในสังคมอย่างชัดเจน และนับเป็น “อันตรายหมายเลขหนึ่งของ GNH” (สเตห์ลิก 2547, 67)

การอธิบายลักษณะของความสุขตามแบบ GNH
การที่ GNH มีรากฐานทางความคิดมาจากพุทธศาสนา ทำให้การอธิบายความหมายของคำว่า “ความสุข” เป็นไปตามแนวทางของพุทธศาสนาโดยโยงไปถึงเรื่องของ “กรรม” ดังที่กรรมะ กาเลย์ ได้เขียนไว้ว่า “ความสุขหรือความทุกข์ในชีวิตของคนเรา ไม่ว่ามากหรือน้อย หรือเกิดในลักษณะใด เป็นผลกรรมของแต่ละคน (ทั้งกรรมดีและกรรมชั่วที่ได้สั่งสม) และกรรมนี้จะส่งผลไปถึงชาติหน้า” (กรรม กาเลย์ 2550, 42) ดังนั้น “เมื่อเกิดมาในวัฏสังสารนี้แล้ว ก็ต้องทนทุกข์ ยอมรับสิ่งดีและร้ายซึ่งเป็นผลจากการกระทำในชาติก่อนๆ ชาวพุทธจึงมีแนวโน้มยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไป ไม่ตำหนิคนอื่นว่าเป็นต้นเหตุของโชคร้ายและเคราะห์กรรมของตน” (กรรมะ กาเลย์ 2550, 49) ด้วยเหตุนี้ “แม้ว่าสิ่งอำนวยความสะดวกในการพัฒนา เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ ยังมีไม่ทั่วถึงในเขตชนบทของภูฐาน แต่ประชาชนก็มีความสุข” (กรรมะ กาเลย์ 2550, 52)

แม้ว่าในทางพุทธศาสนาจะสามารถพิสูจน์ให้เห็นกฎแห่งกรรมได้ หากแต่การนำความเชื่อดังกล่าวมาอธิบายความสุขของประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่มีผลเสียไม่น้อย เพราะถ้าใช้กฎแห่งกรรมเป็นเครื่องมือในการอธิบายแล้ว รัฐบาลภูฐานก็สามารถอ้างได้ว่าปัญหาต่างๆที่ประชาชนชาวภูฐานต้องประสบนั้นล้วนแต่เกิดจาก “กรรมเก่า” ที่ประชาชนทั้งหลายได้ก่อไว้ในชาติที่แล้ว หาใช่เป็นผลมาจากความบกพร่องในการบริหารงานของรัฐบาลไม่ ดังนั้นทางเลือกที่ประชาชนมีอยู่ก็คือ การยอมรับและมีความสุขที่จะต้องรับผลกรรมเหล่านั้น แดเนียล เอ็ม. เฮาสแมน (Daniel M. Hausman) และไมเคิล เอส. แม็กเฟอร์สัน (Michael S. McPherson) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าความพอใจในรายการที่เลือก (preference satisfaction) ของบุคคลอาจถูกกำหนดโดยโครงสร้างสถาบัน (institutions) และการเลือกดังกล่าวอาจไม่ได้นำไปสู่ความกินดีอยู่ดี (well-being) ของบุคคลดังกล่าวเลยก็ได้ (Hausman and McPherson 2006, 123) ดังนั้นถ้าประชาชนชาวภูฐานถูกกำหนดโดยโครงสร้างสถาบันที่ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากพุทธศาสนา พวกเขาก็คงจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาวะที่เป็นอยู่และยอมรับว่านั่นคือความสุขในชีวิตเท่าที่ตนเองจะมีได้ การยอมรับสภาพดังกล่าวขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องความสามารถพื้นฐานของมนุษย์ โดยเฉพาะความสามารถในการใช้ความคิดและเหตุผลที่เป็นตัวของตัวเอง ขณะเดียวกันรัฐก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดใดๆ เพราะทุกอย่างสามารถอธิบายได้ว่าเป็นเรื่องของ “กรรม”

ขณะที่วลาดิมีร์ สเตห์ลิก ได้เสนอแนวคิดที่ต่างออกไปว่า สิ่งที่ควรจะเป็นเงื่อนไขแรกสำหรับความสุขของสังคมภูฐานก็คือ การกระจายโอกาส (opportunity) อย่างเท่าเทียม โดยต้องลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างชนชั้นปกครองกับประชาชนทั่วไป ดังที่เขาได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า

“หากสังคมกระจายโอกาสไปยังประชากรกลุ่มต่างๆที่เป็นสมาชิกของสังคมได้อย่างเหมาะสมเป็นธรรม ก็อาจช่วยสนับสนุนให้สังคมบรรลุความสุขได้ หมายถึงว่าสังคมอาจเสนอเงื่อนไขของความสุข โดยการกำหนดโครงสร้างของสังคมที่เหมาะสม แต่คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านั้น สังคมอาจจัดหาหนทางเพื่อไปถึงความสุข แต่ไม่สามารถ (และไม่ควร) กำหนดความสุขเสียเอง สังคมหรือถ้าจะพูดให้ตรงกว่านั้นคือระบบการปกครองของสังคมอาจจะรับภาระมากเกินไปที่ต้องตัดสินใจว่าความสุขคืออะไร และจะทำให้ประชากรของตนรับภาระมากเกินไปด้วยการตัดสินแทนพวกเขาว่าพวกเขามีความสุขขนาดไหน”
(สเตห์ลิก 2547, 65)

จะเห็นได้ว่าสเตห์ลิกต้องการให้รัฐทำหน้าที่วางโครงสร้างที่จะนำไปสู่ความสุขของประชาชน มากกว่าที่จะกำหนดความสุขให้กับประชาชนเสียเอง และชนชั้นปกครองก็ไม่ควรผูกขาดความได้เปรียบในเชิงโครงสร้างไว้เพียงฝ่ายเดียว อย่างไรก็ตามเขาตั้งข้อสังเกตว่าจากบทเรียนทางประวัติศาสตร์ ชนชั้นปกครองมักจะไม่ยอมสูญเสียความได้เปรียบของตนเองไปง่ายๆ ดังนั้นเส้นแบ่งระหว่างชนชั้นนำกับคนจนจึงเป็น “อันตรายหมายเลขสองของ GNH” (สเตห์ลิก 2547, 68)

การอ้างอิงความน่าเชื่อถือของ GNH ผ่านสถาบันพระมหากษัตริย์
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้นของรายงานว่า GNH เป็นแนวพระราชดำริของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ผู้เป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (Jigme Kheser Namgyal Wangchuck) รัชกาลปัจจุบัน การที่สถาบันพระมหากษัตริย์ของภูฐานมีความเชื่อมโยงกับพุทธศาสนาได้ทำให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดีมีสถานะอันสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ ดังคำบรรยายของกรรม กาเลย์ ที่ว่า

“ภูฐานยังเป็นประเทศที่ได้รับพร เป็นดินแดนแห่งความสงบสุข ...... ประชาชนเคารพยกย่องพระราชาว่าทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ผู้ทรงจุติมาคุ้มครองป้องกันประชาชน และเพื่อทำนุบำรุงและเผยแผ่พระธรรม ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธาอย่างหนักแน่นว่า พระราชา ประเทศชาติ และประชาชน มีชะตาที่สัมพันธ์กัน ......
ประชาชนศรัทธาพระปรีชาญาณและการเห็นการณ์ไกลของสมเด็จพระราชาธิบดีอย่างมากที่สุด ซึ่งเห็นได้จากภาษิตของชาวภูฐานที่ว่า “พระบรมราชโองการมีค่ากว่าทองคำ หนักกว่าภูเขา” จากประสบการณ์และการสังเกตเราพบว่า พระบรมราชโองการและพระราชบัญญัติได้รับการปฏิบัติในสังคมทุกระดับ ระหว่างงานเฉลิมฉลองวันชาติ เราจะได้ยินว่า ประชาชนจากทุกภูมิภาคของภูฐานเดินเท้าสองวันสามวัน เพื่อจะได้มาเข้าเฝ้าพระราชาธิบดี ชาวภูฐานเชื่อว่าพระราชาธิบดีซึ่งเป็นภาวะสำแดงแห่งพระโพธิสัตว์นั้นเป็นผู้ทรงความรู้อย่างไม่อาจประมาณ ทรงคุณธรรมทั้งภายนอกภายในแม้ในที่ลับ”
(กรรมะ กาเลย์ 2550, 50-51)

เมื่อตำแหน่งพระราชาธิบดีมีความศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ แนวคิด GNH ที่มาจากพระองค์จึงได้รับการยกย่องไปด้วย กรรมะ อุระ เน้นย้ำว่าต้องส่งเสริมการวิจัย วิเคราะห์ และเผยแพร่ GNH ในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังต้องบรรจุ GNH เข้าไว้ในหลักสูตรการศึกษาของภูฐานด้วย เพื่อให้พลเมืองภูฐาน “เพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติของจีเอ็นเอช” และถ้าเกิดความขัดแย้งทางแนวคิดระหว่าง GNH กับแนวคิดอื่นๆที่มาจากภายนอก แนวคิดอื่นๆเหล่านั้นจะต้องปรับตัวเข้าหา GNH ให้ได้ (กรรม อุระ 2550, 37)

การเปรียบเทียบว่าพระมหากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์ทำให้ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิด GNH ในสังคมภูฐาน เพราะในทางพุทธศาสนาถือว่าพระโพธิสัตว์คือผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า และเป็นผู้ที่นำ “ความจริงสูงสุด” มาสั่งสอนแก่มวลมนุษย์ GNH จึงเปรียบเสมือนคำสอนอันศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติตามโดยไม่ตั้งคำถาม การอ้างอิงคุณค่าของ GNH ผ่านสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของพระราชาธิบดีไม่ส่งผลดีประการใดต่อการเสริมสร้างความสามารถพื้นฐานของมนุษย์ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนา และการใช้ความคิดและเหตุผลเพื่อเลือกสรรสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับตัวเอง เพราะพระมหากษัตริย์ได้มอบ GNH เป็นคำตอบสำเร็จรูปให้กับประชาชนไปเรียบร้อยแล้ว

สถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ทำให้แม้ว่าภูฐานจะค่อยๆเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยแล้วก็ตาม แต่ประชาธิปไตยดังกล่าวก็ยังมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ชี้นำความคิดอยู่ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในประวัติศาสตร์ภูฐานเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2008 ที่ผ่านมามีพรรคการเมืองลงแข่งขันรวมสองพรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยประชาชน (People’s Democratic Party – PDP) นำโดยซันเก เงดุบ (Sangay Ngedup) ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเป็นพระมาตุลาของสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบัน และพรรคสหภูฐาน (Bhutan United Party หรือ Druk Phuensum Tshogpa – DPT) นำโดยจิกมี ธินเลย์ (Jigme Thinley) อดีตนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ การที่ผู้นำพรรคทั้งสองมีความใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทำให้ทั้งสองพรรคต่างเชิดชู GNH อย่างชัดเจน และคณะกรรมการการเลือกตั้งของภูฐานก็ได้ออกระเบียบว่าในการหาเสียงเลือกตั้ง ห้ามมิให้มีการโต้วาที (debate) ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์โดยเด็ดขาด (Bhutan goes for poll for the first time 2008, 5; Opposition threatens to quit 2008, 5) เท่ากับว่ารัฐไม่ได้ให้หลักประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเต็มที่ เมื่อไร้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้ว ชาวภูฐานก็ไม่อาจแสดงความสามารถในการใช้จินตนาการและความคิดเพื่อเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเองได้


ความขัดแย้งระหว่าง GNH กับเศรษฐกิจแบบตลาด
การที่ภูฐานเลือกที่จะมีปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจกับโลกภายนอกควบคู่ไปกับความพยายามในการธำรงรักษาวัฒนธรรมของตนผ่านแนวคิด GNH ได้นำไปสู่ความขัดแย้งทางแนวคิดหลายประการ วลาดิมีร์ สเตห์ลิก ได้อธิบายว่าในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (market economy) จะมีการแข่งขันซึ่งต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะเป็นธรรมดา ถ้าภูฐานยอมให้เศรษฐกิจแบบตลาดดำเนินควบคู่ไปกับ GNH แล้ว GNH จะให้นิยามถึง “ความสุข” ของผู้แพ้ในตลาดได้อย่างไร (สเตห์ลิก 2547, 62) ขณะที่สเตฟาน พริสเนอร์ อธิบายว่าการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของภูฐานทำให้ภาคเอกชนเติบโตขึ้น ซึ่งภาคเอกชนดังกล่าวต้องการให้รัฐปรับเปลี่ยนบทบาทใหม่จากการเป็นรัฐแบบพ่อปกครองลูก (paternalistic) มาเป็นผู้กำกับดูแลโดยมีกรอบของกฎหมายที่โปร่งใสหนุนหลัง รวมทั้งยังต้องการปรับทัศนคติของประชาชนในด้านการออม การบริโภค การทำงาน เวลา และผลกำไรจากค่านิยมแบบเดิมมายึดถือกฎเกณฑ์ของตลาด ขณะที่ภาครัฐก็ยังคงต้องการรักษาพื้นที่ของตนเองเอาไว้โดยผ่านอุดมการณ์ GNH ความขัดแย้งในเชิงค่านิยม (values) จึงปรากฎขึ้น (พริสเนอร์ 2547, 50)

การเติบโตของภาคเอกชนยังก่อให้เกิดความต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงซึ่งภูฐานไม่อาจจะผลิตได้ทันต่อความต้องการของตลาด บทความของบ๊อบ เฟรม (Bob Frame) เมื่อ ค.ศ. 2005 ให้ข้อมูลว่ามีชาวอินเดียเดินทางเข้ามาทำงานในภาคเอกชนของภูฐานกว่า 50,000 คน หรือคิดเป็น 48% ของตำแหน่งงานภาคเอกชนทั้งหมดในภูฐาน (Frame 2005, 218) การนำเข้าแรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมากย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระยะยาว คุณค่าของ GNH ซึ่งมาจากวัฒนธรรมดรุกปาของภูฐานอาจตกต่ำลงไปในสายตาของคนรุ่นต่อๆไปที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมมากขึ้น นอกจากนี้การที่บุคลากรรุ่นใหม่ของภูฐานจำนวนมากได้รับการศึกษาอบรมจากต่างประเทศก็อาจทำให้ในระยะยาวแล้ว คนรุ่นใหม่เหล่านี้อาจถูกกลืนโดยวัฒนธรรมตะวันตกและตัดขาดไปจากระบบค่านิยมและวัฒนธรรมเดิมได้ ดังที่วิทยากร เชียงกูล ได้ให้ความเห็นไว้หลังจากเดินทางไปเยือนภูฐานว่า

“นโยบายการพัฒนาประเทศที่เน้นการเพิ่มความสุขประชาชาติยังเป็นแนวคิดเชิงอุดมคติจากผู้นำชนชั้นสูงกลุ่มที่มีรากฐานทางวัฒนธรรมเดิม บวกกับแนวคิดเชิงก้าวหน้าเรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืน ...... แม้พวกเขาจะแต่งกายพื้นเมืองชุดทางการที่รัฐบาลสนับสนุน แต่พวกเขาได้รับการศึกษาแบบตะวันตก เริ่มติดวัฒนธรรมบริโภคนิยม และสนใจการพัฒนาประเทศแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ขณะที่ผู้นำระดับสูงส่วนใหญ่อาจจะพูดสนับสนุนนโยบายการพัฒนาเพื่อความสุข ซึ่งคู่ขนานไปกับเศรษฐกิจวัฒนธรรมแบบพึ่งตนเอง พออยู่พอกิน แต่ในทางปฏิบัติคือพวกเขาบินมาหาหมอ มาซื้อของ และส่งลูกหลานมาเรียนที่ไทยและประเทศอื่นๆที่พวกเขาเห็นว่าเติบโตทางวัตถุมากกว่า
เวลานี้ภูฐานกำลังเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว เปิดรับการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งขยายธุรกิจเสรีเพิ่มขึ้น ...... ทำให้ลัทธิบริโภคนิยมขยายตัวตามมา ...... แนวโน้มการพัฒนาตามกระแสทุนนิยมโลกเช่นนี้ แม้ว่าจะก้าวช้ากว่าไทยและประเทศอื่น แต่ก็ขัดแย้งกับการพัฒนาแบบเน้นความสุขประชาชาติ”
(วิทยากร เชียงกูล 2549, 72-73)

รัฐบาลภูฐานเองก็ได้แสดงออกถึงความกังวลว่าภูฐานกำลังจะสูญเสียวัฒนธรรมดั้งเดิมไปเมื่อต้องปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก การที่สมบัติที่มีค่าทางศาสนาของภูฐานถูกขโมยไปจากสถานที่สำคัญต่างๆครั้งแล้วครั้งเล่าในระยะหลังนี้ได้ทำให้ภาครัฐกันมาตระหนักในเรื่องของการธำรงรักษาวัฒนธรรมมากขึ้น โดยใน ค.ศ. 2000 สมัชชาแห่งชาติของภูฐานได้มีมติให้จัดการรณรงค์ทางวัฒนธรรมขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงจรรยามารยาท (code of etiquette) การแต่งกายในชุดประจำชาติ การใช้ภาษาประจำชาติ (Mathou 2001, 130) และในเดือนมิถุนายนของปีถัดมา ภูฐานได้เป็นเจ้าภาพการประชุมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (World Fellowship of Buddhists – WFB) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดประชุมดังกล่าวนอกประเทศไทยซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ขององค์การดังกล่าว (Mathou 2002, 195)

จะเห็นได้ว่าภูฐานมีความขัดแย้งที่รออยู่เบื้องหน้าเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างค่านิยมของ GNH กับค่านิยมของเศรษฐกิจแบบตลาด ความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเดิมที่ต้องการรักษาวัฒนธรรมของตนเอาไว้กับคนรุ่นใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ความขัดแย้งระหว่างแนวทางของภาครัฐและแนวทางของภาคเอกชน รวมทั้งความขัดแย้งระหว่าง GNH กับค่านิยมอื่นๆที่มาพร้อมกับแรงงานต่างชาติ ความขัดแย้งทั้งหมดนี้จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการทางประชาธิปไตยในการแก้ปัญหา เพราะหลักสำคัญประการหนึ่งของประชาธิปไตยก็คือ การประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งนัสบอห์มถือว่าการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวเป็นเงื่อนไขเบื้องต้น (prerequisite) ที่จะเอื้ออำนวยให้มนุษย์สามารถที่จะคิดและใช้เหตุผลอย่างปราศจากการครอบงำได้ ดังนั้นความท้าทายที่สำคัญของภูฐานก็คือ การปรับปรุงสถาบันทางการเมืองให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และถ้าภูฐานยังคงยึดมั่นใน GNH อยู่โดยไม่เปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันได้ การพัฒนาประชาธิปไตยโดยสันติคงไม่อาจเกิดขึ้นในภูฐาน

บทสรุป
แม้ว่า GNH จะได้รับการยกย่องว่าเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่ท้าทายแนวทางการพัฒนากระแสหลัก หากแต่เมื่อพิจารณาในเนื้อหาสาระแล้วจะพบว่าแนวคิดดังกล่าวยังคงมีปัญหาซ่อนอยู่หลายประการ การที่ GNH มีต้นกำเนิดมาจากความพยายามของทางการภูฐานที่จะธำรงรักษาสังคมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเอาไว้ภายใต้กระแสเศรษฐกิจโลกทุนนิยมทำให้ GNH มีแนวโน้มของความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง นอกจากนี้การที่ GNH เชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนาทำให้แนวคิดดังกล่าวมีความเป็นอุดมคติและยากที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงของสังคมภูฐาน ขณะเดียวกันโครงสร้างทางสถาบันของภูฐานก็ยังมิได้เอื้อต่อการเสริมสร้างความสามารถขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้การใช้เหตุผลอย่างเป็นอิสระเพื่อวิเคราะห์และวิจารณ์ GNH จึงไม่อาจจะทำได้ สภาพการณ์ดังกล่าวชวนให้คิดว่า GNH เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา หรือเป็นเพียงความพยายามของชนชั้นปกครองของภูฐานที่จะรักษาสถานะ อำนาจ อภิสิทธิ์ และความได้เปรียบทั้งหลายของตนเองเหนือชนชั้นใต้ปกครองเอาไว้ตลอดไป

เอกสารอ้างอิง

กรรมะ กาเลย์. 2550. ลักษณะและระดับของความสุขในบริบทของสังคมภูฐาน. ใน ภูฐาน ต้นธารความสุขมวลรวมประชาชาติ 2 คิดใหม่เกี่ยวกับการพัฒนา, แปลโดย สดใส ขันติวรพงศ์, บรรณาธิการโดย วัลลภา แวน วิลเลี่ยนส์วาร์ด และคณะ, 1-38. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา.

กรรมะ อุระ. 2550. ความสุขมวลรวมประชาชาติคืออะไร. ใน ภูฐาน ต้นธารความสุขมวลรวมประชาชาติ 2 คิดใหม่เกี่ยวกับการพัฒนา, แปลโดย สดใส ขันติวรพงศ์, บรรณาธิการโดย วัลลภา แวน วิลเลี่ยนส์วาร์ด และคณะ, 39-64. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา.

ประเวศ วะสี. 2547. กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา ชี้วัดด้วยความสุขมวลรวมประชาชาติแทนผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ. ใน ความสุขมวลรวมประชาชาติ : มุ่งสู่กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา, เรียบเรียงโดย ศูนย์ภูฐานศึกษา เมืองทิมพู ประเทศภูฐาน, แปลโดย เจษณี สุขจิรัตติกาล, บรรณาธิการโดย จินตลา วิเศษกุล, 165-174. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา.

พริสเนอร์, สเตฟาน. 2547. ความสุขมวลรวมประชาชาติ : วิสัยทัศน์ในการพัฒนาของภูฐานและปัญหาท้าทาย. ใน ความสุขมวลรวมประชาชาติ : มุ่งสู่กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา, เรียบเรียงโดย ศูนย์ภูฐานศึกษา เมืองทิมพู ประเทศภูฐาน, แปลโดย เจษณี สุขจิรัตติกาล, บรรณาธิการโดย จินตลา วิเศษกุล, 29-60. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา.

พาวดเยล, ฐากูร เอส. 2547. ความสุขมวลรวมประชาชาติ : บทสรรเสริญ. ใน ความสุขมวลรวมประชาชาติ : มุ่งสู่กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา, เรียบเรียงโดย ศูนย์ภูฐานศึกษา เมืองทิมพู ประเทศภูฐาน, แปลโดย เจษณี สุขจิรัตติกาล, บรรณาธิการโดย จินตลา วิเศษกุล, 70-75. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา.

แมนคอล, มาร์ค. 2550. ความเรียงว่าด้วยความสุขมวลรวมประชาชาติกับการพัฒนา. ใน ภูฐาน ต้นธารความสุขมวลรวมประชาชาติ 2 คิดใหม่เกี่ยวกับการพัฒนา, แปลโดย สดใส ขันติวรพงศ์, บรรณาธิการโดย วัลลภา แวน วิลเลี่ยนส์วาร์ด และคณะ, 149-237. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา.

วิทยากร เชียงกูล. 2549. แง่คิดจากภูฐาน: การพัฒนาเพื่อความสุขประชาชาติ. ปทุมธานี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิต.

สเตห์ลิก, วลาดิมีร์. 2547. ความสุขมวลรวมประชาชาติ : แหวกระบบเศรษฐกิจแบบคริสตจักร หรือการได้มาซึ่งสังคมในอุดมคติ (ยูโทเปีย). ใน ความสุขมวลรวมประชาชาติ : มุ่งสู่กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา, เรียบเรียงโดย ศูนย์ภูฐานศึกษา เมืองทิมพู ประเทศภูฐาน, แปลโดย เจษณี สุขจิรัตติกาล, บรรณาธิการโดย จินตลา วิเศษกุล, 61-69. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา.

Bhutan goes for poll for the first time. 2008. Bangkok Post, 22 March, 5.

Central Intelligence Agency. 2008. Bhutan. In The World Factbook; available from
https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/print/bt.html; Accessed 2 April 2008.

Draft of Tsa Thrim Chhenmo as on 1st August 2007. [http://www.constitution.bt/draft_constitution_3rd_en.pdf]. 2 April 2008.
Frame, Bob. 2005. Bhutan: a review of its approach to sustainable development. Development in Practice 15:2 (April): 216-221.

Hausman, Daniel M. and Michael S. McPherson. 2006. Economic Analysis, Moral Philosophy, and Public Policy. New York: Cambridge University Press.

Hutt, Michael. 2006. Nepal and Bhutan in 2005. Asian Survey 46:1 (January/February): 120-124.

Mathou, Thierry. 1999. Political Reform in Bhutan: Change in a Buddhist Monarchy. Asian Survey 39:4 (July/August): 613-632.

Mathou, Thierry. 2001. Bhutan in 2000. Asian Survey 41:1 (January/February): 131-137.

Mathou, Thierry. 2002. Bhutan in 2001. Asian Survey 42:1 (January/February): 192-197.

Nussbaum, Martha. 1995. Human Capabilities, Female Human Beings. In Women, Culture and Development, eds. Martha Nussbaum and Jonathan Glover, 61-104. New York: Oxford University Press.

Nussbaum, Martha. 2002. Capabilities and Social Justice. International Studies Review 4:2 (Summer): 123-135.

Opposition threatens to quit. 2008. Bangkok Post, 29 March, 5.


[1] แผนการโคลัมโบก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1951 ด้วยการริเริ่มของอินเดีย ปากีสถาน ซีลอน (ศรีลังกาในปัจจุบัน) ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอังกฤษ เพื่อยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์

ไม่มีความคิดเห็น: