วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

นโยบายต่างประเทศของพม่าหลังสิ้นสุดยุคสังคมนิยม



นโยบายต่างประเทศของพม่าหลังสิ้นสุดยุคสังคมนิยม

อัจฉรา เลาหสุขไพศาล[1] ได้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในนโยบายต่างประเทศของพม่าภายใต้การปกครองของ SLORC/SPDC รวม 3 ด้าน ได้แก่ (1) นโยบายเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ (Open Door Policy) ซึ่งแสดงออกมาเป็นรูปธรรมด้วยการที่รัฐบาลทหารพม่าออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Law) เมื่อ ค.ศ. 1988 นอกจากนี้ยังมีการยกเลิกระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมและส่งเสริมให้มีการค้ากับต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งต่อมาใน ค.ศ. 1990 ก็ยังได้ออกกฎหมายสถาบันการเงิน (The Financial Institution of Myanmar Law) เพื่ออนุญาตให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาดำเนินงานในพม่าได้ (2) นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดเงินตราต่างประเทศ และ (3) นโยบายเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศและการเข้าร่วมในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับจีนและประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งยังได้ขอภาคยานุวัติ (Accession) เข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญามิตรไมตรีและความร่วมมือแห่งอาเซียน (Treaty of Amity and Cooperation) เมื่อ ค.ศ. 1995 และพม่าก็ได้เข้าเป็นสมาชิกของอาเซียนอย่างสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1997

สำหรับสาเหตุที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในนโยบายต่างประเทศของพม่าหลัง ค.ศ. 1988 นั้น อัจฉรา เลาหสุขไพศาล[2] มองว่าสามารถพิจารณาได้จากปัจจัย 3 ประการคือ (1) ความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมพึ่งตนเองสมัยรัฐบาลนายพลเนวิน ระหว่าง ค.ศ. 1962 ถึง ค.ศ. 1988 (2) การที่รัฐบาลทหารพม่าขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยเมื่อ ค.ศ. 1990 และใช้ความรุนแรงต่อประชาชนและชนกลุ่มน้อย ทำให้รัฐบาลพม่าต้องแสวงหาความชอบธรรมทางการเมืองด้วยการดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความพึงพอใจจากประชาชนกลุ่มต่างๆให้มากที่สุด และ (3) การที่หลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาได้กดดันพม่าในเรื่องประชาธิปไตย ทำให้พม่าต้องดำเนินนโยบายเปิดรับการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อสร้างแรงจูงใจให้รัฐบาลของประเทศต่างๆหันมามีปฏิสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกับรัฐบาลทหารพม่า หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการใช้นโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อเป้าหมายทางการเมืองนั่นเอง

อุดม เกิดพิบูลย์[3] ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจของพม่าว่าประกอบไปด้วย (1) ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ หมายถึงการที่พม่ามีที่ตั้งติดกับทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียซึ่งเป็นบริเวณที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ ทำให้พม่าสามารถนำความได้เปรียบดังกล่าวมาใช้ในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆได้ (2) ปัจจัยทางเศรษฐกิจ หมายถึงการที่พม่ามีทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แร่ธาตุ เชื้อเพลิงและพลังงาน ฯลฯ รวมทั้งมีค่าแรงงานต่ำ ซึ่งช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และ (3) ปัจจัยทางการเมือง หมายถึงการมีระบบการเมืองภายในที่เข้มแข็งและมีการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะกับจีนและอินเดีย ทำให้พม่าสามารถรับมือกับแรงกดดันที่มาจากภายในและภายนอกประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้ระบอบเผด็จการทหารสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม นโยบายเปิดประเทศของพม่าก็ประสบปัญหาในทางปฏิบัติอยู่ไม่น้อย Stephen McCarthy[4] ได้ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้าไปดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพม่าหลัง ค.ศ. 1988 ต้องพบกับอุปสรรคและปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นระบบการเงินการธนาคารของพม่าที่ยังล้าหลังและไม่มีเสถียรภาพ และสาธารณูปโภคพื้นฐาน (infrastructure) ที่ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการค้าและการลงทุน นอกจากนี้นโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศของพม่ายังขาดการวางแผนในระยะยาว รัฐบาลพม่าเน้นการขายทรัพยากรธรรมชาติและละเลยการพัฒนาในภาคเกษตรกรรม การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน (competitive advantage) กับนานาชาติในอนาคต รวมทั้งยังขาดมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

Jurgen Haacke[5] มองว่าเป้าหมายพื้นฐานที่แท้จริงของนโยบายต่างประเทศของพม่าก็คือ การธำรงไว้ซึ่งเอกภาพแห่งชาติ (national unity) และอธิปไตยของชาติ (sovereignty) โดยที่การเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือหลายๆชนิดที่จะช่วยให้รัฐบาลทหารพม่าสามารถบรรลุเป้าหมายพื้นฐานดังกล่าวได้ และหากเกิดสถานการณ์ที่จะต้องเลือกระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการรักษาไว้ซึ่งเอกราชและความมั่นคงของชาติแล้ว รัฐบาลทหารพม่าก็ไม่ลังเลที่จะเลือกเอกราชและความมั่นคงของชาติเอาไว้เป็นอันดับหนึ่ง แม้ว่าการเลือกดังกล่าวจะส่งผลทางลบต่อพม่าในด้านอื่นๆก็ตาม สอดคล้องกับที่วิรัช นิยมธรรม[6] ได้ตั้งข้อสังเกตผ่านแบบเรียนชั้นประถมศึกษาของพม่าในปัจจุบันว่า แบบเรียนดังกล่าวปลูกฝังความรักชาติ มีการเชิดชูวีรกรรมของพระมหากษัตริย์และวีรชนในอดีต ต่อต้านภัยคุกคามจากต่างชาติ รวมทั้งยังคงเชิดชูคุณค่าของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมและเน้นย้ำด้านลบของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม อันแสดงให้เห็นว่าในส่วนลึกแล้วรัฐบาลทหารพม่ายังไม่ปรารถนาที่จะก้าวเข้าสู่โลกทุนนิยมเสรีอย่างเต็มตัว

[1] อัจฉรา เลาหสุขไพศาล, การปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของพม่าในช่วงปี ค.ศ. 1988 –1997 (สารนิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541).
[2] อัจฉรา เลาหสุขไพศาล, เพิ่งอ้าง.
[3] อุดม เกิดพิบูลย์, พม่าในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ (เชียงใหม่: โชตนา พริ้นท์, 2549).
[4] Stephen McCarthy, “Ten Years of Chaos in Burma: Foreign Investment and economic liberalization under the SLORC/SPDC, 1988 to 1998,” Pacific Affairs 73:2 (Summer 2000): 233-262.
[5] Jurgen Haacke, Myanmar’s Foreign Policy: Domestic influences and international implications (London: The International Institute for Strategic Studies, 2006).
[6]วิรัช นิยมธรรม, คิดแบบพม่า: ว่าด้วยชาติและวีรบุรุษในตำราเรียน (มหาสารคาม: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2551).

ไม่มีความคิดเห็น: