วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

พระนางซูสีไทเฮาในวัฒนธรรมทางการเมืองของราชวงศ์ชิง





พระนางซูสีไทเฮาในวัฒนธรรมทางการเมืองของราชวงศ์ชิง

พระนางซูสีไทเฮา (慈禧太后 ค.ศ. 1835 – ค.ศ. 1908) เป็นสตรีที่มีบทบาททางการเมืองอย่างมากในช่วงทศวรรษท้ายๆของราชวงศ์ชิง (清朝) พระนางคือผู้ปกครองจีนหลังม่าน (垂帘听政) ตลอดรัชสมัยจักรพรรดิถงจื้อ (同治ค.ศ. 1861 – ค.ศ. 1875) ผู้เป็นพระราชโอรส และต่อเนื่องมาจนสิ้นรัชสมัยจักรพรรดิกวางสู (光绪ค.ศ. 1875 – ค.ศ. 1908) ผู้เป็นพระราชโอรสบุญธรรม และก่อนที่พระนางจะสิ้นพระชนม์ก็ได้แต่งตั้งให้เจ้าชายผู่อี๋ (溥仪) ขึ้นครองราชสมบัติเป็นจักรพรรดิซวนถ่ง (宣统ค.ศ. 1908 – ค.ศ. 1912) อันเป็นรัชกาลสุดท้ายของระบอบจักรพรรดิจีนที่ยาวนานมาหลายพันปี บทบาททางการเมืองที่ยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษของพระนางมักได้รับการเปรียบเทียบกับบทบาทของพระนางอู่เจ๋อเทียน (武则天ค.ศ. 627 – ค.ศ. 705) พระมเหสีของจักรพรรดิเกาจง (高宗) แห่งราชวงศ์ถัง (唐朝) ต่างกันแต่เพียงว่าพระนางซูสีไทเฮานั้นแสดงบทบาทเป็น “อำนาจหลังราชบัลลังก์” หากแต่พระนางอู่เจ๋อเทียนนั้นสามารถก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิหญิงพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนได้สำเร็จใน ค.ศ. 690

ช่วงเวลาที่พระนางซูสีไทเฮามีบทบาททางการเมืองอยู่นั้นตรงกับยุคหลังสงครามฝิ่นและสนธิสัญญานานกิง อันเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งความอัปยศอดสูของจีน จีนต้องเผชิญทั้งความวุ่นวายภายในและการรุกรานจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1856 – ค.ศ. 1860)กบฏไท่ผิง (ค.ศ. 1851 – ค.ศ. 1864) สงครามจีน-ฝรั่งเศส (ค.ศ. 1884) สงครามจีน-ญี่ปุ่น (ค.ศ. 1894 – ค.ศ. 1895) กรณีนักมวยและการที่แปดชาติมหาอำนาจบุกยึดกรุงปักกิ่ง (ค.ศ. 1900) โดยมองกันว่าพระนางซูสีไทเฮาเป็นตัวการสำคัญที่นำความหายนะมาสู่แผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นการที่พระนางเจียดเอางบประมาณกองทัพเรือไปใช้ในการบูรณะพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน (颐和园) เพื่อให้ตนเองได้ใช้พักผ่อนหย่อนใจ จนทำให้กองทัพเรือจีนต้องพ่ายแพ้แก่ญี่ปุ่น หรือการที่พระนางขัดขวางการปฏิรูปประเทศของจักรพรรดิกวางสูและนำจีนไปสู่ความหายนะด้วยการสนับสนุนพวกนักมวยเพื่อต่อต้านอิทธิพลต่างชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ถ้าเราพิจารณาถึงบทบาททางการเมืองของพระนางในฐานะพระราชวงศ์ฝ่ายใน โดยตัดประเด็นเรื่องความวุ่นวายจากภายในและภายนอกประเทศออกไปแล้วจะพบว่า บทบาทของพระนางนั้นมิได้เป็นสิ่งที่ผิดปกติแต่อย่างใดสำหรับพระราชวงศ์ฝ่ายในชาวแมนจู

ข้อควรสังเกตประการหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์จีนก็คือ สถานภาพที่แตกต่างกันระหว่างสตรีชาวฮั่นกับสตรีชาว “อนารยชน” อย่างมองโกลและแมนจู ส่งผลให้บทบาททางการเมืองของสตรีเหล่านั้นพลอยแตกต่างกันไปด้วย ชาวจีนฮั่นอาศัยอยู่ในเขตที่สามารถทำการเกษตรและยังชีพได้ตลอดปีโดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐานบ่อยๆ (ยกเว้นเกิดภัยธรรมชาติอย่างรุนแรง) การเป็นสังคมที่ไม่ต้องอพยพบ่อยได้ทำให้ในที่สุดแล้วสตรีชาวฮั่นถูกจำกัดบทบาทแต่เฉพาะภายในเขตที่พักอาศัยของตนเองโดยรับผิดชอบงานบ้านเป็นหลัก และเพื่อป้องกันไม่ให้สตรีกระทำการใดๆนอกขอบเขตที่พักอาศัยของตน ประเพณีการมัดเท้าของสตรีชาวฮั่นจึงได้เริ่มขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 10 และปฏิบัติสืบต่อกันมานานกว่า 1,000 ปี พระราชวงศ์ฝ่ายในสมัยราชวงศ์ซ่ง (宋朝ค.ศ. 960 – ค.ศ. 1279) และราชวงศ์หมิง (明朝ค.ศ. 1368 – ค.ศ. 1644) มีบทบาทส่วนใหญ่จำกัดอยู่เฉพาะในเขตพระราชฐานชั้นในเท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม สังคมของ “อนารยชน” อย่างชาวมองโกลและแมนจูนั้นเป็นสังคมทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่มีการอพยพไปตามฤดูกาล สตรีในสังคมดังกล่าวจึงมิอาจอยู่กับที่ได้ ดังนั้นพวกเธอจึงไม่ถูกจำกัดบทบาทเฉกเช่นสตรีชาวฮั่น และยิ่งถ้าเป็นพระราชวงศ์ฝ่ายในก็มักจะได้เข้ามาแสดงบทบาททางการเมืองอีกด้วย ถ้าเราพิจารณาประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์หยวน (元朝ค.ศ. 1206 – ค.ศ. 1368) ที่สถาปนาโดยชาวมองโกลแล้วจะพบว่า ได้มีจักรพรรดินีขึ้นปกครองประเทศในช่วงที่เกิดสุญญากาศทางการเมืองหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจักรพรรดินีไหน่หม่าเจิน (乃马真后ค.ศ. 1241 – ค.ศ. 1245) และจักรพรรดินีไห่หมี่ซื่อ (海迷失后ค.ศ. 1248 – ค.ศ. 1250) ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644 – ค.ศ. 1912) สตรีชาวแมนจูก็มีอิสระมากกว่าสตรีชาวฮั่น พวกเธอไม่ต้องมัดเท้า พระราชวงศ์ฝ่ายในสมัยราชวงศ์ชิงมีอิสระในการออกสู่สาธารณชนมากกว่าสมัยราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หมิง และมิต้องจำกัดตนเองอยู่แต่ในพระราชฐานชั้นใน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเจ้าหญิงเหอเสี้ยว (和孝) พระราชธิดาองค์ที่ 10 ในจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆ค.ศ. 1735 – ค.ศ. 1795) เจ้าหญิงองค์ดังกล่าวนิยมการขี่ม้า และได้ตามเสด็จพระราชบิดาไปล่าสัตว์เป็นประจำ นอกจากเสรีภาพนอกเขตพระราชฐานชั้นในแล้ว วัฒนธรรมทางการเมืองของชาวแมนจูยังได้อนุญาตให้พระราชวงศ์ฝ่ายในเข้ามามีบทบาทในยามที่เกิดวิกฤตหรือสุญญากาศทางการเมืองอีกด้วย ตัวอย่างที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้รวมสองกรณีจะช่วยให้เราเข้าใจประเด็นดังกล่าวชัดเจนยิ่งขึ้น

กรณีแรกเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1626 เมื่อจักรพรรดิเทียนมิ่ง (天命) หรือนูร์ฮาชือ (努尔哈赤) สิ้นพระชนม์ลงโดยมิได้ทรงตั้งรัชทายาท หากแต่ในที่สุดแล้วพระราชโอรสองค์ที่ 8 นามว่าหวงไท่จี๋ (皇太极) ได้ยึดอำนาจด้วยการบังคับให้พระราชชายา (大福晋) ของพระราชบิดา นามว่า อาปาไห้ (阿巴亥) ฆ่าตัวตาย จากนั้นพระองค์จึงขึ้นครองราชสมบัติเป็นจักรพรรดิเทียนชง (天聪) งานศึกษาของ Evelyn S. Rawski (1998) เรื่อง The Last Emperor: A Social History of Qing Imperial Institutions ได้ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุที่หวงไท่จี๋ต้องบังคับให้อาปาไห้ทำเช่นนี้เพราะว่า หากพระนางยังมีพระชนม์ชีพอยู่ต่อไป พระนางอาจจะใช้สิทธิธรรมทางการเมืองตามประเพณีแมนจูกำหนดให้พระโอรสของพระนางนามว่า ตัวเอ่อร์คุน (多尔衮) เป็นผู้สืบราชสมบัติ

กรณีที่สองเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1820 และเกี่ยวข้องกับการสืบราชสมบัติเช่นเดียวกับกรณีแรก กล่าวคือ จักรพรรดิเจียชิ่ง (嘉庆) ได้สิ้นพระชนม์ลงอย่างกะทันหันที่พระราชวังหลบร้อนเมืองเฉิงเต๋อ (承德避暑山庄) ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่จักรพรรดิยงเจิ้ง (雍正) ได้กำหนดไว้เมื่อ ค.ศ. 1723 นั้น จักรพรรดิจะทรงเขียนชื่อผู้สืบราชสมบัติใส่ไว้ในกล่องแล้วนำกล่องนั้นไปซ่อนไว้หลังป้ายเจิ้งต้ากวางหมิง (正大光明) ในท้องพระโรงพระตำหนักเฉียนชิง (乾清宫) ในพระราชวังต้องห้าม เมื่อจักรพรรดิสิ้นพระชนม์ลงแล้วเจ้าพนักงานจะขึ้นไปหยิบกล่องดังกล่าวมาเปิดดูชื่อผู้สืบราชสมบัติ หากแต่เมื่อจักรพรรดิเจียชิ่งสิ้นพระชนม์ลง เจ้าพนักงานกลับไม่พบกล่องดังกล่าว ทั้งๆที่จักรพรรดิเจียชิ่งเคยทรงประกาศว่าพระองค์ได้กำหนดชื่อรัชทายาทใส่ไว้ในกล่องและซ่อนไว้หลังป้ายแล้ว หนังสือชื่อ ความจริงเกี่ยวกับสิบสองจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ชิง (正说清朝十二帝) โดย เหยียนฉงเหนียน (阎崇年) นักวิจัยด้านแมนจูศึกษาแห่งสถาบันสังคมศาสตร์กรุงปักกิ่ง (北京社会科学院满学研究所) ได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวของพระนางเสี้ยวเหอ (孝和皇后) จักรพรรดินีในจักรพรรดิเจียชิ่ง กล่าวคือ เมื่อเจ้าพนักงานไม่พบกล่องดังกล่าวจนทำให้ไม่อาจกำหนดผู้สืบราชสมบัติได้ พระนางเสี้ยวเหอจึงได้ให้เจ้าพนักงานขี่ม้าด่วนเชิญพระราชเสาวนีย์ของพระนางไปประกาศยังพระราชวังหลบร้อนเมืองเฉิงเต๋อ ใจความว่าพระนางมีพระราชประสงค์ให้เจ้าชายหมินหนิง (旻宁) พระราชโอรสของจักรพรรดิเจียชิ่งที่ประสูติจากพระนางเสี้ยวซู (孝淑皇后) จักรพรรดินีผู้ล่วงลับไปก่อนหน้านี้แล้ว ให้ขึ้นสืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา แม้ว่าต่อมาเจ้าพนักงานจะค้นพบกล่องใส่ชื่อผู้สืบราชสมบัติของจักรพรรดิเจียชิ่ง และเจ้าชายหมินหนิงก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิเต้า กวง (道光) ตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดา หากแต่การกระทำของพระนางเสี้ยวเหอในครั้งนั้นสะท้อนว่าธรรมเนียมปฏิบัติของราชวงศ์ชิงได้เปิดโอกาสให้พระราชวงศ์ฝ่ายในเข้ามามีบทบาททางการเมืองในยามวิกฤตได้

งานศึกษาของ Evelyn S. Rawski (1998) ยังชี้ให้เห็นประเด็นเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากความชอบธรรมของพระราชวงศ์ฝ่ายในในการเข้ามามีบทบาททางการเมืองแล้ว พระราชวงศ์ฝ่ายในสมัยราชวงศ์ชิงยังมีวิธีการสร้างฐานอำนาจที่แตกต่างไปจากพระราชวงศ์ฝ่ายในในราชวงศ์ของชาวฮั่นอีกด้วย กล่าวคือ ขณะที่พระราชวงศ์ฝ่ายในชาวฮั่นสร้างฐานอำนาจด้วยการดึงคนในตระกูลของตนเองเข้ามารับราชการในตำแหน่งสำคัญ ตัวอย่างเช่นในราชวงศ์ถังที่พระนางอู่เจ๋อเทียนสนับสนุนคนแซ่อู๋ (武) ให้เข้ารับราชการในตำแหน่งสำคัญ หากแต่พระราชวงศ์ฝ่ายในชาวแมนจูกลับสร้างฐานอำนาจด้วยการแสวงหาความร่วมมือกับเหล่าเชื้อพระวงศ์ด้วยกันเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ในช่วงต้นรัชสมัยซุ่นจื้อ (顺治ค.ศ. 1644 – ค.ศ. 1661) พระนางเสี้ยวจวง (孝庄太后) พระราชชนนีของจักรพรรดิผู้เยาว์วัยได้สร้างความมั่นคงทางอำนาจด้วยการร่วมมือกับตัวเอ่อร์คุน ผู้นำกองทัพธงขาวและเป็นพระปิตุลาของจักรพรรดิ ดังนั้นคำว่า “พระญาติฝ่ายมเหสี” จึงแทบจะมิได้ปรากฏออกมาในสมัยราชวงศ์ชิง หรือแม้จะปรากฏออกมาบ้างเล็กน้อยแต่ก็มิได้ช่วยเพิ่มพูนอำนาจให้กับพระราชวงศ์ฝ่ายในองค์ดังกล่าว ตัวอย่างของพระญาติฝ่ายมเหสีสมัยราชวงศ์ชิงก็คือ ถงกั๋วกัง (同国纲) และ ถงกั๋วเหวย (同国维) สองพี่น้องที่เป็นพระอนุชาของพระนางเสี้ยวคัง (孝康太后) พระราชชนนีของจักรพรรดิคังซี (康熙ค.ศ. 1661 – ค.ศ. 1722) ทั้งสองเป็นขุนนางผู้ใหญ่ในช่วงกลางรัชสมัยคังซี บุตรชายของถงกั๋วเหวยนามว่า หลงเคอตัว (隆科多) นั้นต่อมาได้มีบทบาทสนับสนุนให้พระราชโอรสองค์ที่ 4 ของจักรพรรดิคังซีได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิยงเจิ้งใน ค.ศ. 1722 อย่างไรก็ตามบทบาทและอำนาจของพวกเขาเหล่านี้มิได้เอื้อประโยชน์ต่อพระนางเสี้ยวคังแต่อย่างใด เนื่องจากพระนางได้สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ปีแรกๆของรัชสมัยคังซีแล้ว

การพิจารณาประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นจะช่วยให้เราเข้าใจบทบาทของพระนางซูสีไทเฮาได้ดียิ่งขึ้น พระนางขึ้นมามีอำนาจโดยอาศัยความร่วมมือกับเชื้อพระวงศ์ฝ่ายชายอย่างเจ้าชายกง (恭亲王) ในช่วงต้นรัชสมัยถงจื้อ และเจ้าชายฉุน (醇亲王) ในต้นรัชสมัยกวางสู ซึ่งแนวทางดังกล่าวนั้นเป็นไปในทำนองเดียวกับการที่พระนางเสี้ยวจวงร่วมมือกับพระปิตุลาตัวเอ่อร์คุนเมื่อสองศตวรรษก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตอีกว่าตลอดเวลาที่พระนางซูสีไทเฮามีบทบาททางการเมือง คนในตระกูลเย่เห่อน่าลา (叶赫那拉氏) ของพระนางกลับมิได้เข้ามารับราชการในตำแหน่งสำคัญเลย แม้กระทั่งสตรีฝ่ายในที่ห้อมล้อมพระนางอยู่ในพระราชฐานชั้นในส่วนใหญ่ก็มิใช่คนในตระกูลของพระนาง จะมีก็แต่พระนางหลงยู่ (隆裕皇后) จักรพรรดินีในจักรพรรดิกวางสูเท่านั้นที่มาจากตระกูลเย่เห่อน่าลา นอกนั้นต่างเป็นพระธิดาของพระราชวงศ์แมนจูทั้งสิ้น เช่น เจ้าหญิงกู้หลุน (固伦公主) พระธิดาในเจ้าชายกง เจ้าหญิงเต๋อหลิง (德龄公主) พระธิดาในเจ้าชายชิ่ง (庆亲王) เป็นต้น ดังนั้นเราจึงไม่อาจเทียบเคียงพระนางซูสีไทเฮากับพระนางอู่เจ๋อเทียนในแง่ของการสร้างฐานอำนาจได้ เนื่องจากพระนางอู่เจ๋อเทียนได้สร้างฐานอำนาจใหม่ที่เป็นอิสระจากเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์ถัง หากแต่พระนางซูสีไทเฮากลับใช้เชื้อพระวงศ์ที่มีอยู่ของราชวงศ์ชิงให้เป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างอำนาจ และการกระทำของพระนางในเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับแนวทางที่พระราชวงศ์ฝ่ายในชาวแมนจูปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่ครั้งต้นราชวงศ์

ปัญหาการแต่งตั้งรัชทายาทระหว่าง ค.ศ. 1899 – ค.ศ. 1900 เป็นกรณีหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์มักลงความเห็นกันว่าพระนางซูสีไทเฮาเป็นบุคคลเลวร้าย กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่พระนางได้ขัดขวางการปฏิรูปประเทศของจักรพรรดิกวางสูใน ค.ศ. 1898 ได้สำเร็จ จักรพรรดิถูกพระนางสั่งกักบริเวณเอาไว้ในพระที่นั่งกลางทะเลสาบทางตะวันตกของพระราชวังต้องห้าม หลังจากนั้นไม่นานพระนางมีดำริจะแต่งตั้งผู่จุ้น (溥俊) โอรสของเจ้าชายตวน (端王) ขึ้นเป็นรัชทายาท หากแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ พระนางจึงต้องเลี่ยงกระแสคัดค้านด้วยการแต่งตั้งให้ผู่จุ้นเป็นต้าอาเกอ (大阿哥) อันเป็นคำที่ใช้เรียกพระราชโอรสองค์ใหญ่ของจักรพรรดิ การแต่งตั้งรัชทายาทในครั้งนี้มีการมองกันว่าพระนางมีแผนการจะปลงพระชนม์จักรพรรดิกวางสูโดยอ้างว่าทรงพระประชวรจนสิ้นพระชนม์ จากนั้นรัชทายาทผู่จุ้นที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพระนางจะได้ขึ้นสืบราชสมบัติ อัตชีวประวัติของจักรพรรดิองค์สุดท้าย เรื่อง จากจักรพรรดิสู่สามัญชน ก็ได้ยืนยันข้อมูลทำนองนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การค้นคว้าของนักวิชาการที่เข้าถึงเอกสารชั้นต้นกลับให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าพระนางมีเหตุผลไม่น้อยในการแต่งตั้งรัชทายาทในช่วงดังกล่าว หนังสือเรื่อง ไขปริศนาจากจดหมายเหตุราชวงศ์ชิง (清宫档案揭秘) ที่มี หลี่กั๋วหรง (李国荣) และคณะเป็นบรรณาธิการได้ให้ข้อมูลจากบันทึกของแพทย์หลวงว่า จักรพรรดิกวางสูมีพระพลานามัยที่ไม่สมบูรณ์มาแต่ยังทรงพระเยาว์ และเมื่อถึง ค.ศ. 1899 พระอาการของพระองค์ได้ทรุดหนักลงมากจนเกรงกันว่าจะสิ้นพระชนม์ในไม่ช้า การที่จักรพรรดิกวางสูไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดาได้ทำให้พระนางซูสีไทเฮาเกรงว่าถ้าจักรพรรดิสิ้นพระชนม์ลงจริงจะเกิดปัญหาการสืบราชสมบัติตามมา ดังนั้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว พระนางจึงเห็นความจำเป็นในการแต่งตั้งรัชทายาทไว้ล่วงหน้า และการกระทำดังกล่าวของพระนางก็ถือว่าชอบธรรมเนื่องจากวัฒนธรรมทางการเมืองของราชวงศ์ชิงเปิดโอกาสให้พระราชวงศ์ฝ่ายในเข้าแทรกแซงในยามวิกฤตได้ งานวิจัยของ Sue Fawn Chung (1979) เรื่อง The Much-Maligned Empress Dowager: A Revisionist Study of the Empress Dowager Tz’u – Hsi (1835-1908) ได้ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายปฏิรูปที่นำโดยคังโหย่วเหวย (康有为) และเหลียงฉี่เชา (梁启超) ซึ่งเพิ่งจะปราชัยต่อพระนางในการปฏิรูปการปกครอง ค.ศ. 1898 ได้มีส่วนสำคัญในการใช้สื่อสารมวลชนสมัยใหม่คือหนังสือพิมพ์ในการสร้างภาพลักษณ์ทางลบให้แก่พระนางและบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับการแต่งตั้งรัชทายาทในครั้งนี้

ข้อมูลทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า ในการศึกษาบทบาททางการเมืองของพระนางซูสีไทเฮานั้น เราจำเป็นจะต้องนำเอาวัฒนธรรมทางการเมืองของราชวงศ์ชิงมาประกอบการพิจารณาด้วย กล่าวคือ วัฒนธรรมทางการเมืองของราชวงศ์ชิงได้อนุญาตให้พระราชวงศ์ฝ่ายใน “ถือวิสาสะ” เข้ามาแทรกแซงการเมืองในยามวิกฤตได้ ดังนั้นบทบาทของพระนางซูสีไทเฮาจึงเป็นไปตามแนวทางที่พระราชวงศ์ฝ่ายในชาวแมนจูเคยปฏิบัติกันมา อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ผู้เขียนเน้นถึงความชอบธรรมของพระนางซูสีไทเฮาในการเข้ามาแสดงบทบาททางการเมืองเท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่าพระนางมีส่วนต้องรับผิดชอบมากน้อยเพียงใดในเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสิ้นพระชนม์ก่อนวัยอันควรของจักรพรรดิถงจื้อและกวางสู การสิ้นพระชนม์อย่างมีเงื่อนงำของพระนางฉืออัน (慈安太后) ความพ่ายแพ้ของจีนในสงครามกับฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ความล้มเหลวในการปฏิรูปการปกครองของจักรพรรดิกวางสู รวมทั้งกรณีนักมวย ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นปริศนาที่ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: