วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2552

Soft Power และการทูตสาธารณะ (public diplomacy) ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีน



Soft Power และการทูตสาธารณะ (public diplomacy) ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีน

แม้ว่าแนวคิดเรื่อง soft power ของ Joseph Nye เพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1990 หากแต่จีนนั้นรู้จักใช้การทูตสาธารณะให้เกิดประโยชน์มาเป็นเวลานานแล้ว ดังที่ d’Hooghe (2005) ได้ชี้ให้เห็นว่า ในกลางทศวรรษ 1930 ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังทำสงครามต่อสู้กับพรรคกั๋วหมินตั่ง (Guomindang) อยู่นั้น ผู้นำของพรรคได้เชิญนักหนังสือพิมพ์อเมริกันอย่างเอ็ดการ์ สโนว์ (Edgar Snow) ให้เดินทางเข้ามาทำรายงานข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมของพรรค จนออกมาในรูปของหนังสือที่ชื่อ The Red Star Over China[1] ซึ่งฉายภาพลักษณ์ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนเปรียบเสมือนวีรชนผู้กล้าหาญ และเมื่อมีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1949 แล้ว จีนได้ใช้สื่อสิ่งพิมพ์อย่าง Beijing Review, China Reconstructs และ China Pictorial เพื่อฉายภาพให้เห็นว่าจีนเป็นประเทศที่รักสันติภาพและต่อต้านลัทธิครองความเป็นเจ้า นอกจากนี้ยังมีการใช้การทูตปิงปอง (ping-pong diplomacy) ในการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศนอกค่ายสังคมนิยมอีกด้วย

ขณะเดียวกัน งานศึกษาของ Passin (1962) เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนระหว่างจีนกับประเทศนอกค่ายสังคมนิยมได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในทศวรรษ 1950 จีนมักจะเชิญชาวต่างชาติให้เดินทางมาเยือนจีนในช่วงงานฉลองสำคัญคือ งานฉลองวันแรงงานในเดือนพฤษภาคม และงานฉลองวันชาติในเดือนตุลาคม เนื่องจากงานฉลองดังกล่าวเป็นโอกาสอันดีที่จีนจะแสดงภาพลักษณ์ของการเป็น “นครเมกกะสำหรับชาวโลกผู้ก้าวหน้าและรักสันติภาพ” (a Mecca for the progressive, peace-loving people of the world) ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวต่างประเทศ และการเดินทางมาเยือนจีนของชาวต่างชาติบางครั้งก็ส่งผลให้รัฐบาลต่างชาติต้องปรับเปลี่ยนท่าทีที่ตนมีต่อจีนไปด้วย เช่น การเดินทางมาเยือนจีนหลายครั้งของคณะนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นในทศวรรษ 1950 ได้ทำให้ในที่สุดแล้วรัฐบาลญี่ปุ่นต้องยอมผ่อนคลายความเข้มงวดในการทำการค้ากับจีน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1990 จีนได้ตระหนักว่าการทูตสาธารณะของตนนั้นไม่เหมาะสมเพียงพอสำหรับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปหลังสิ้นสุดสงครามเย็น งานศึกษาของ Li Mingjiang (2008) ได้ชี้ให้เห็นว่าในระยะสิบปีที่ผ่านมานี้ แวดวงวิชาการของจีนได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับแนวคิด soft power ของ Joseph Nye เป็นอย่างมาก พวกเขาได้เน้นย้ำว่าจีนยังมิได้ใช้ประโยชน์จาก soft power เท่าที่ควร โดยเฉพาะ soft power ที่มาจากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันยาวนานของจีน ซึ่งทำให้จีนเสียเปรียบประเทศอื่นๆโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาในการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ” (comprehensive power) ข้อเสนอจากแวดวงวิชาการของจีนปรากฏผลเป็นรูปธรรมเชิงนโยบายในการประชุมใหญ่ของสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 16 และ 17 เมื่อ ค.ศ. 2002 และ ค.ศ. 2007 ตามลำดับ ซึ่งในรายงานการประชุมดังกล่าวมีการเน้นย้ำเรื่องบทบาทของวัฒนธรรมและ soft power ในการเสริมสร้างอำนาจของชาติ

ลักษณะของการทูตสาธารณะของจีนในยุคหลังสงครามเย็นนั้นเปลี่ยนไปจากเดิมไม่น้อย โดย d’Hooghe (2005) ได้ชี้ให้เห็นว่าการทูตสาธารณะของจีนในปัจจุบันเป็นไปเพื่อให้ชาวโลกเข้าใจจีนใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ (1) จีนเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จีนจึงจำเป็นต้องรักษาไว้ซึ่งระบบการเมืองที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้นำเพื่อเป็นหลักประกันด้านเสถียรภาพ มิฉะนั้นการปฏิรูปเศรษฐกิจก็ไม่อาจดำเนินลุล่วงไปได้ (2) จีนเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบ เชื่อใจได้ และมีเสถียรภาพ การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมิใช่สิ่งที่ประเทศอื่นๆต้องเกรงกลัว หากแต่เป็นโอกาสแห่งความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (co-prosperity) (3) จีนเป็นประเทศที่ปรารถนาจะเห็นสันติภาพของโลก และ (4) จีนเป็นประเทศที่สมควรได้รับการยอมรับว่ามีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เก่าแก่และยาวนาน ซึ่งใกล้เคียงกับ Wuthnow (2008) ที่ระบุว่าการใช้ soft power ของจีนนั้นเป็นไปเพื่อจุดประสงค์หลัก 3 ประการ คือ (1) การเผยแพร่วัฒนธรรมจีนให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก (2) การเป็นผู้นำและแบบอย่างด้านการพัฒนาให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย และ (3) การสร้างภาพลักษณ์ว่าจีนมิใช่ภัยคุกคาม หากแต่เป็นประเทศที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมโลก

d’Hooghe (2005) ได้กล่าวถึงช่องทางหรือเครื่องมือ (instruments) ที่จีนใช้ในการดำเนินการทูตสาธารณะว่าประกอบไปด้วย (1) สื่อสารมวลชนของจีนที่อยู่ในการควบคุมของรัฐ (2) สื่อมวลชนต่างชาติ เช่น การที่ผู้นำหรือนักการทูตของจีนให้สัมภาษณ์แก่สื่อต่างประเทศ หรือการจัดการแถลงข่าว (press conference) เนื่องในโอกาสสำคัญ เป็นต้น (3) อินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะการจัดทำเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้ผู้ชมทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลของทางการจีนได้ (4) การจัดพิมพ์เอกสารสำคัญที่แสดงจุดยืนของรัฐบาลจีนในประเด็นต่างๆ เช่น การจัดทำสมุดปกขาว (white papers) เป็นต้น (5) การเป็นเจ้าภาพจัดงานสำคัญ เช่น การประชุมเอเปก (APEC) เมื่อ ค.ศ. 2001 และกีฬ่าโอลิมปิกเมื่อ ค.ศ. 2008 เป็นต้น (6) การที่รัฐบาลจีนให้เงินสนับสนุนเพื่อปลูกสร้างถาวรวัตถุในต่างประเทศ ดังกรณีของ theme parks ที่จีนสร้างขึ้นในบางเมืองของสหรัฐอเมริกา โดยมีการนำเอาศิลปะแบบทิเบตและอุยกูร์ (Uyghur) เข้าไปผสมด้วย สะท้อนความพยายามของจีนที่จะแสดงตนว่าให้ความสำคัญต่อชนชาติส่วนน้อย และ (7) การแลกเปลี่ยนในระดับต่างๆ เช่น นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ หอการค้า เป็นต้น โดย d’Hooghe ได้ชี้ว่าคนกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทมากในการช่วยเหลือจีนในการทูตสาธารณะก็คือ ชุมชนคนเชื้อสายจีนในประเทศต่างๆทั่วโลก (overseas Chinese communities) ซึ่งคนเหล่านี้มีบทบาทในการเผยแพร่วัฒนธรรมจีน และยังรวมไปถึงการวิ่งเต้น (lobby) ต่อสถาบันทางการเมืองในประเทศที่ตนอาศัยอยู่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจีนด้วย

งานศึกษาของ Zhang Xiaoling (2008) ได้ศึกษาถึง soft power ของจีนผ่านสถานีโทรทัศน์กลางแห่งชาติ (中国中央电视台China Central Television – CCTV) โดยเฉพาะช่องสากล หรือ CCTV International ซึ่งออกอากาศเป็นภาษาอังกฤษตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีคำขวัญประจำช่องว่า “CCTV International, your window on China and the world” รายการโทรทัศน์ช่องดังกล่าวจะเน้นไปที่การนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจีนมากเป็นพิเศษ เช่น รายการ Around China ซึ่งเน้นวิถีชีวิตของผู้คนในภูมิภาคต่างๆของจีนและชนชาติส่วนน้อย รายการ Centre Stage ซึ่งเน้นการแสดงด้านศิลปะ รายการ Chinese Civilization ซึ่งเน้นด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และรายการ Learning Chinese ซึ่งเน้นการสอนภาษาจีน เป็นต้น โดยที่ไม่เน้นการรายงานข่าวและเหตุการณ์ปัจจุบันเหมือนกับ CCTV ช่องอื่นๆ กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า CCTV International ทำหน้าที่เป็นช่องทางสำหรับจีนในการนำเสนอ soft power ด้านวัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้คนที่เข้าใจภาษาอังกฤษทั่วโลก

ส่วนงานของ Guo Xiaolin (2008) ได้ศึกษาไปถึงการที่จีนตั้งสถาบันขงจื๊อ (孔子学院The Confucius Institute) เพื่อส่งเสริมการสอนภาษาจีนในประเทศต่างๆทั่วโลกนับแต่ ค.ศ. 2004 เป็นต้นมา โดยได้ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลจีนมีบทบาทโดยตรงในการวางยุทธศาสตร์การเปิดสถาบันขงจื๊อ โดยมีเป้าหมายว่าภายใน ค.ศ. 2010 จะต้องมีสถาบันขงจื๊อจำนวน 500 แห่งทั่วโลก และต้องมีชาวต่างชาติศึกษาภาษาจีนถึง 100 ล้านคน โดยจีนหวังว่าความนิยมในการเรียนการสอนภาษาจีนที่มากขึ้นจะช่วยสะท้อนให้เห็นความสำคัญและสถานะของจีนในเวทีโลก รวมทั้งยังหวังว่าการเรียนภาษาจีนจะเป็นประตูไปสู่การรู้จักและเข้าใจในวัฒนธรรมจีนอีกด้วย

ขณะที่ Cull (2008) ได้ศึกษาเกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกของจีนใน ค.ศ. 2008 โดยชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ทางการจีนต้องการสื่อสารไปยังโลกภายนอกผ่านการจัดงานครั้งนี้ก็คือ วัฒนธรรมที่เก่าแก่และยาวนานของจีน รวมทั้งสภาพสังคมจีนที่มีความแตกต่างกันทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม หากแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและปรองดอง หรือที่ผู้นำของจีนเรียกว่า “สังคมแห่งความกลมกลืน” (和谐社会harmonious society) และคำขวัญในการจัดงานครั้งนี้ก็คือ “One World, One Dream” (同一个世界,同一个梦想) ซึ่งสอดคล้องกับปณิธานของ Pierre de Coubertin ผู้ให้กำเนิดกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ที่ต้องการให้กีฬาเป็นเครื่องมือในการสร้างความกลมเกลียวกันของมนุษยชาติ กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าจีนและประเทศอื่นๆต่างมีความปรารถนาร่วมกัน นั่นคือ สันติภาพของโลก

ขณะเดียวกันก็มีงานศึกษาอีกส่วนหนึ่งซึ่งเน้นไปที่ soft power ของจีนในภูมิภาคต่างๆของโลก เช่นงานของ Kurlantzick (2006) ซึ่งเน้นบทบาทของจีนต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเขามองว่าในรอบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ดำเนินยุทธศาสตร์การสร้าง soft power ในภูมิภาคดังกล่าวรวม 3 ประการ ได้แก่ (1) การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและเน้นย้ำว่าความสัมพันธ์จีน-อาเซียน เป็นความสัมพันธ์ที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (win-win relations) ดังจะเห็นได้จาการที่จีนยอมลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือกับอาเซียน (ASEAN’s Treaty of Amity and Cooperation) และแนวทางในการปฏิบัติ (code of conduct) ในกรณีพิพาทหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ (2) การกระชับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างจีนกับประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกับสหรัฐอเมริกา เช่น พม่า กัมพูชา เป็นต้น และ (3) การเป็นตัวอย่างด้านการพัฒนาแบบที่รัฐเป็นผู้ควบคุมจากข้างบน โดยเครื่องมือที่จีนใช้ในการสร้าง soft power ต่ออาเซียนนั้นประกอบไปด้วย (1) การให้เงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (2) การเผยแพร่แนวคิดของจีนเรื่องการพัฒนาอย่างสันติ (和平发展peaceful development) ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การจัดงานฉลอง 600 ปี การเดินเรือของเจิ้งเหอ การตั้งสถาบันขงจื๊อ เป็นต้น (3) การสร้างความสัมพันธ์กับสมาคมคนเชื้อสายจีนในประเทศต่างๆ และ (4) การเปิดเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน และการที่จีนเข้าไปลงทุนในอาเซียน โดย Kurlantzick มองว่าทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของจีนที่จะลดอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และไต้หวันที่มีอยู่ในภูมิภาคดังกล่าว

งานศึกษาของ Sheng Ding (2008) ได้วิเคราะห์การสร้าง soft power ของจีนใน 3 ภูมิภาค คือ เอเชีย ละตินอเมริกา และแอฟริกา โดยในส่วนของเอเชียนั้น จีนได้แสดงบทบาทการเป็นประเทศที่ให้ความร่วมมือและแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ดูได้จากการเข้าร่วมประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) การประชุม ASEAN+3 และการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 6 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ขณะที่ในละตินอเมริกาเอง การที่นักการเมืองฝ่ายซ้ายในหลายประเทศ เช่น เอกวาดอร์ และเวเนซูเอลา สามารถขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองได้สำเร็จนั้นถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับจีนที่จะนำเสนอแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจทางเลือกที่ไม่จำเป็นต้องเดินตามโลกตะวันตกให้แก่ประเทศในภูมิภาคดังกล่าว หรือก็คือรูปแบบที่เรียกกันว่า “ฉันทามติปักกิ่ง” (Beijing Consensus) นั่นเอง[2] นอกจากนี้จีนยังได้แสดงตนเป็นประเทศที่มีความรับผิดชอบต่อสันติภาพของโลกด้วยการส่งทหารไปปฏิบัติการรักษาสันติภาพในนามของสหประชาชาติที่ประเทศเฮติเมื่อ ค.ศ. 2004 อีกด้วย และสำหรับทวีปแอฟริกา การประเทศในภูมิภาคนี้มีประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมเช่นเดียวกับจีนได้กลายเป็นพื้นฐานอันดีที่จีนจะเข้าไปสร้าง soft power ในภูมิภาคดังกล่าว ทั้งในรูปของความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ การให้ทุนการศึกษา และความช่วยเหลือด้านการสาธารณสุข โดยใน ค.ศ. 2006 ก็ได้มีการจัดตั้งสถานีวิทยุสากลของจีน (China Radio International) ขึ้น ณ ประเทศเคนยา และมีการกระจายเสียงเป็นภาษาสวาฮีลี (Swahili) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันแพร่หลายในแอฟริกาตะวันออก เพื่อให้ผู้คนในแถบดังกล่าวรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับจีนมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับจีน และสร้างบรรยากาศของ “โลกแห่งความกลมกลืน” (harmonious world) เพื่อเอื้ออำนวยให้จีนสามารถดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจของตนต่อไปได้อย่างไม่มีอุปสรรค[3]

อย่างไรก็ตาม soft power และการทูตสาธารณะของจีนก็มีปัญหาและข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย d’Hooghe (2005) ได้ชี้ให้เห็นว่ารากฐานของปัญหาที่สำคัญก็คือ การทูตสาธารณะของจีนยังคงผูกติดอยู่กับอำนาจรัฐที่เป็นเผด็จการรวมศูนย์ อันทำให้ภาพลักษณ์ของการทูตสาธารณะนั้นแยกไม่ออกจากการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) สอดคล้องกับ Li Mingjiang (2008) ที่มองว่า การที่ soft power ของจีนผูกติดอยู่กับอุดมการณ์ของรัฐอย่างแนบแน่นได้ทำให้ soft power บางอย่างของจีนไม่เป็นที่ดึงดูดใจของโลกภายนอกมากนัก ตัวอย่างเช่น ท่าทีของจีนที่ยืนยันมาตลอดว่าประชาธิปไตยมิใช่สิ่งสากล หากแต่ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ ท่าทีดังกล่าวของจีนมีลักษณะปกป้องตนเอง (defensive) เพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจการนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเป็นการยากที่นานาประเทศจะยอมรับจุดยืนดังกล่าวของจีนอย่างเต็มใจ ภายใต้บริบทของโลกปัจจุบันที่ประชาธิปไตยกลายเป็นค่านิยมสากล (universal values) ไปเรียบร้อยแล้ว

งานที่ศึกษาถึง soft power ของจีนในภูมิภาคต่างๆ ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงผลในทางลบเช่นกัน Kurlantzick (2006) มองว่าจีนให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศในอาเซียนโดยไม่นำเอาประเด็นเรื่องการเป็นประชาธิปไตย (democratization) และธรรมาภิบาล (good governance) เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเท่ากับเป็นการต่ออายุให้กับระบอบเผด็จการหรือระบอบประชาธิปไตยที่มีผู้นำแบบผูกขาดอำนาจ ดังเช่นกรณีของพม่าและกัมพูชา เช่นเดียวกับในทวีปแอฟริกาที่ Sheng Ding (2008) มองว่าผลประโยชน์ของจีนในทวีปดังกล่าว โดยเฉพาะในด้านการพลังงาน ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้จีนละเลยประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีแคว้นดาร์ฟัวร์ (Darfur) ในประเทศซูดาน เป็นต้น การละเลยในเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยนั้นขัดแย้งกับจุดยืนของจีนที่เน้นว่าตนเองเป็นประเทศที่แสวงหาสันติภาพและมีความรับผิดชอบต่อสังคมระหว่างประเทศ

ขณะเดียวกัน Aoyama (2004) ก็ได้ชี้ให้เห็นว่าการทูตสาธารณะของจีนที่ผูกติดกับอำนาจรัฐนั้นกำลังถูกท้าทายจากสิ่งที่เรียกว่า “การทูตของพลเมือง” (civil diplomacy) ซึ่งหมายถึง การติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนด้วยกันผ่านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างอินเตอร์เน็ต ซึ่งบางครั้งนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ชาตินิยมทางอินเตอร์เน็ต” (internet nationalism) ซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายของรัฐได้ ตัวอย่างเช่น ใน ค.ศ. 2003 มีข่าวว่าชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งได้เดินทางเข้าไปยังหมู่เกาะเซนกากุ (The Senkaku Islands) หรือหมู่เกาะเตี้ยวหยู (钓鱼岛 Diaoyudao) ซึ่งเป็นดินแดนที่จีนและญี่ปุ่นยังมีข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์กันอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงมีชาวจีนจำนวนหนึ่งต้องการตอบโต้การกระทำของญี่ปุ่นด้วยการเดินทางไปยังหมู่เกาะแห่งนั้นบ้าง พวกเขาจึงได้ออกประกาศรับอาสาสมัครชาวจีนและระดมทุนทางอินเตอร์เน็ตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังหมู่เกาะดังกล่าว โดยในเวลา 2 เดือน พวกเขาสามารถระดมทุนได้ 92,000 หยวน และมีคนเสนอตัวเป็นอาสาสมัครรวม 80 คน จนทำให้รัฐบาลจีนต้องออกมาประกาศเพื่อทำความเข้าใจกับทางญี่ปุ่นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความคิดของกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมิได้เป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนแต่ประการใด กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นอิทธิพลของการทูตของพลเมืองที่รัฐก็ไม่อาจควบคุมได้อย่างเต็มที่อีกต่อไป

[1] หนังสือเล่มดังกล่าวมีการแปลเป็นภาษาไทยโดยใช้ชื่อว่า ดาวแดงเหนือแผ่นดินจีน แปลโดย บุญศักดิ์ แสงระวี พิมพ์ครั้งแรกโดยบริษัทสี่เกลอ เมื่อ พ.ศ. 2526
[2] Beijing Consensus เป็นคำที่ Joshua Cooper Ramo อดีตนักหนังสือพิมพ์ประจำนิตยสาร Time ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2004 เพื่ออธิบายรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนที่ยังคงระมัดระวังและตั้งคำถาม (skeptical) ต่อผลดีของการค้าเสรี (free trade) และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นองค์การเอกชน (privatization) ซึ่งตรงข้ามกับ “ฉันทามติวอชิงตัน” (Washington Consensus) ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่เชื่อมั่นในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ประสิทธิภาพของกลไกตลาด และการลดกฎเกณฑ์ (deregulation)
[3] มีข้อสังเกตว่างานของ Kurlantzick (2006) และ Sheng Ding (2008) รวมทั้งงานเขียนบางชิ้นที่เกี่ยวข้องกับ soft power ของจีนนั้นได้ให้คำอธิบายเรื่อง soft power แตกต่างไปจาก Joseph Nye (2004) โดยงานเหล่านี้จะรวมเอาการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจของจีน เช่น การลงทุน การให้เงินช่วยเหลือ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งใน soft power ของจีนด้วย ซึ่งแตกต่างไปจาก Joseph Nye ที่มองว่าการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจจัดเป็น hard power แบบหนึ่ง

เอกสารอ้างอิง

Aoyama Rumi. (2004). Chinese Diplomacy in the Multimedia Age: Public Diplomacy and Civil Diplomacy. Contempory Asian Studies’ Working Paper No. 16, Waseda University.

Cull, Nicholas J. (2008). The Public Diplomacy of the Modern Olympic Games and China’s Soft Power Strategy. In Monroe E. Price and Daniel Dayan (Eds.), Owning the Olympics: Narratives of the New China (pp.117-144). Ann Arbor: University of Michigan Press.

d’Hooghe, Ingrid. (2005). Public Diplomacy in the People’s Republic of China. In Jan Melissen (Ed.), The New Public Diplomacy: Soft Power in International Relations (pp. 88-105).
Hampshire: Palgrave Macmillan.

Guo Xiaolin. (2008). Repackaging Confucius: PRC Public Diplomacy and the Rise of Soft Power. Asia Paper Series, Institute for Security and Development Policy.

Kurlantzick, Joshua. (2006). China’s Charm: Implications of Chinese Soft Power (pp. 1-7). Policy Brief No. 47, Carnegie Endowment for International Peace.

Li Mingjiang. (2008). Soft Power in Chinese Discourse: Popularity and Prospect (pp. 1-23). Working Paper No.165, S. Rajaratnam School of International Studies, Nanyang Technological University.

Passin, Herbert. (1962). China’s Cultural Diplomacy. New York: Frederick A. Praeger.

Sheng Ding. (2008). To Build A “Harmonious World”: China’s Soft Power Wielding in the Global South. Journal of Chinese Political Science 13(2), 193-213.

Wuthnow, Joel. (2008). The Concept of Soft Power in China’s Strategic Discourse. Issues & Studies 44(2), 1-28.

Zhang Xiaoling. (2008). China as an Emerging Soft Power: Winning Hearts and Minds Through Communications with Foreign Publics. Discussion Paper No. 35, China Policy Institute, the University of Nottingham.

ไม่มีความคิดเห็น: