แนวคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเล็กกับประเทศมหาอำนาจ
Charles E. Morrison and Astri Suhrke[1] ได้จัดแบ่งรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเล็กกับประเทศมหาอำนาจไว้ 3 รูปแบบ ดังนี้
(1) Intense Systemic หมายถึง รูปแบบความสัมพันธ์ที่ประเทศเล็กมีสถานะเป็นจุดศูนย์กลาง (focal point) ของความขัดแย้งในภูมิภาค ในรูปแบบนี้ประเทศเล็กจะมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายต่างประเทศและต้องพึ่งพิงประเทศมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งอยู่เสมอ เพราะการเปลี่ยนแปลงใดๆในความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับประเทศมหาอำนาจอาจจะกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และในบางครั้งอาจจะกระทบต่อการดำรงอยู่ของรัฐตนก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งประเทศเล็กก็สามารถจะใช้การแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจด้วยกันมาเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับประเทศมหาอำนาจที่ตนเองพึ่งพาอยู่ได้
(2) Moderate Systemic หมายถึง รูปแบบความสัมพันธ์ที่ความขัดแย้งในภูมิภาคนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าแบบแรก ดังนั้นผลประโยชน์ของประเทศเล็กกับผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจจึงมีความแตกต่างกันพอสมควร ประเทศเล็กจึงมักจะต้องใช้ความพยายามในการโน้มน้าวให้ประเทศมหาอำนาจเห็นความสำคัญของปัญหา ในรูปแบบนี้ประเทศเล็กจะมีขอบเขตการดำเนินนโยบายต่างประเทศได้กว้างขวางขึ้น และอาจจะแสดงท่าทีว่าจะเปลี่ยนแปลงพันธมิตรเพื่อกดดันให้ประเทศมหาอำนาจตอบสนองในสิ่งที่ตนเองต้องการ
(3) Partial Linkages หมายถึง รูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากการแข่งขันหรือความขัดแย้งในภูมิภาค หากแต่มาจากความผูกพันด้านอื่นๆ เช่น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ อุดมการณ์ เชื้อชาติ ในรูปแบบนี้ประเทศเล็กอาจอาศัยความสัมพันธ์ดังกล่าวเพื่อต่อรองขอรับความช่วยเหลือจากประเทศมหาอำนาจ หากแต่ก็ขึ้นอยู่ว่าประเทศมหาอำนาจดังกล่าวมีความเข้มแข็งและให้ความสำคัญกับความผูกพันดังกล่าวมากน้อยเพียงใด และประเทศเล็กสามารถจะเอื้อผลประโยชน์อะไรให้กับประเทศมหาอำนาจได้หรือไม่
[1] Charles E. Morrison and Astri Suhke, Strategies of Survival: The Foreign Policy Dilemmas of Smaller Asian States (St. Lucia: University of Queensland Press, 1978), 289-299.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น