วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

วรรณกรรมเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ในบริบททางการเมืองไทย



วรรณกรรมเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ในบริบททางการเมืองไทย[1]

“สี่แผ่นดิน” เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเรื่องราวของ “พลอย” สตรีคนหนึ่งที่เกิดในตระกูลขุนนาง และมีชีวิตอยู่ตั้งแต่กลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนกระทั่งสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (พ.ศ. 2425 – 2489) อันเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายประการในสังคมไทย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้เขียนเรื่องดังกล่าวและทยอยลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ สยามรัฐรายวัน เมื่อ พ.ศ. 2494 และในปีถัดมาก็ได้ตีพิมพ์รวมเป็นเล่ม โดยที่ผู้แต่งได้กล่าวไว้ในคำนำว่าต้องการให้ “สี่แผ่นดิน” เป็นเสมือน “ภาพรายละเอียดเบื้องหลังประวัติศาสตร์” เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีตได้อย่างแจ่มแจ้ง (คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534)

การผลิตวรรณกรรม “สี่แผ่นดิน” ออกมาในกลางทศวรรษ 2490 นั้นดูจะมีความสัมพันธ์ไม่น้อยกับสภาพการณ์ทางการเมืองในยุคนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม รายงานฉบับนี้ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า “สี่แผ่นดิน” เป็นวรรณกรรมที่แต่งขึ้นด้วยจุดประสงค์ทางการเมืองที่ต้องการจะเชิดชูอุดมการณ์กษัตริยนิยม และต่อสู้กับแนวทางของรัฐบาลในทศวรรษ 2490 ที่ต้องการจะลดทอนบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ “สี่แผ่นดิน” บรรยายภาพความรุ่งเรืองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และพยายามชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้นำมาซึ่งความตกต่ำทางสังคมและการเมืองเป็นอย่างมาก และเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนจะขอแบ่งการนำเสนอรายงานออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกว่าด้วยสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์หลัง พ.ศ. 2475 จนถึงกลางทศวรรษ 2490 อันเป็นช่วงที่ “สี่แผ่นดิน” ปรากฏตัวขึ้น ส่วนที่สองจะว่าด้วยบทบาทของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะนักการเมืองและปัญญาชนผู้หันมาเชิดชูอุดมการณ์กษัตริยนิยมในกลางทศวรรษ 2490 และส่วนที่สามจะว่าด้วยภาพลักษณ์ของสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 8 ตามที่ปรากฏในวรรณกรรม “สี่แผ่นดิน”

สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์หลัง พ.ศ. 2475
การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นำมาซึ่งการล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สถาปนาขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยินยอมดำรงสถานะเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญด้วยการลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและฉบับถาวรเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ตามลำดับ เจ้านายหลายพระองค์ที่มีอำนาจและอิทธิพลอย่างมากในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่างพากันเสด็จออกไปประทับ ณ ต่างประเทศ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปประทับที่เมืองปีนัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯกรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จไปประทับที่เกาะชวา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสด็จไปประทับที่สิงคโปร์ เป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลในระบอบใหม่เป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนัก งานวิจัยของอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ (2541, 308-309) ได้ชี้ให้เห็นว่า แม้รัชกาลที่ 7 จะทรงยินยอมเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม หากแต่พระองค์ก็ยังทรงยึดมั่นในโลกทัศน์ที่ว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนด “วิถีแห่งประวัติศาสตร์” ที่จะนำความเจริญมาสู่ประเทศชาติ โลกทัศน์ดังกล่าวนำมาซึ่งความขัดแย้งกับรัฐบาลอย่างเลี่ยงไม่ได้ การเกิดกบฏบวรเดชใน พ.ศ. 2476 ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อต้องการฟื้นฟูพระราชอำนาจก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับรัฐบาลร้าวฉานมากขึ้นไปอีก และเมื่อรัฐบาลไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องของพระองค์ที่จะทรงมีพระราชอำนาจในการเลือกสมาชิกสภาประเภทที่สองด้วยพระองค์เอง และให้พระองค์มีพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมายต่างๆมากขึ้น พระองค์จึงได้สละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 และประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษจนเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2484

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (พ.ศ. 2477 – 2489) พระมหากษัตริย์แทบจะมิได้มีบทบาททางการเมืองและสังคมใดๆเลย เนื่องด้วยยังทรงพระเยาว์และทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ก็ทรงเป็นผู้ที่ประนีประนอมและเข้ากันได้กับรัฐบาลในยุคนั้น สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งตกต่ำลงไปอีกเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2487 จอมพล ป. เน้นการเสริมสร้างอำนาจด้วย “ลัทธิผู้นำ” และมองว่าพระมหากษัตริย์นั้น “ยังเป็นเด็กเห็นแต่รูป” ที่ไม่อาจยึดเป็นที่พึงได้ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 2544, 187) มีการตัดเพลงสรรเสริญพระบารมีให้สั้นลง รวมทั้งมีการฟ้องร้องรัชกาลที่ 7 เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่พระองค์โอนย้ายไปไว้ในต่างประเทศอีกด้วย

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กลุ่มการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ ได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลแทนที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะประนีประนอมกับพระมหากษัตริย์บ้างบางส่วน เช่น การให้พระมหากษัตริย์สามารถออกกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินได้โดยไม่ต้องรอความเห็นชอบจากรัฐสภา (จนสภาพการณ์เข้าสู่ปกติแล้วจึงนำกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภาในภายหลัง) หรือการยอมให้เจ้านายตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปสามารถเล่นการเมืองได้ เป็นต้น (Kobkua 2004, 45) หากแต่กลุ่มของปรีดีก็ยังสามารถกุมอำนาจในสภาผู้แทนราษฎรและพฤฒิสภา (วุฒิสภาในปัจจุบัน) เอาไว้ได้ ฝ่าย กษัตริยนิยมจึงมิได้รับประโยชน์เต็มที่จากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ฝ่ายกษัตริยนิยมจึงได้ให้การสนับสนุนต่อจอมพลผิน ชุนหะวัณ หัวหน้า “คณะรัฐประหาร” ในการยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2490 หรือที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” ที่ประกาศใช้โดยคณะรัฐประหารดูจะเอื้อประโยชน์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิม อาทิ พระมหากษัตริย์สามารถแต่งตั้งบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น “อภิรัฐมนตรี” เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแด่พระองค์ได้ พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี โดยมีประธานคณะอภิรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ (แทนที่จะเป็นประธานรัฐสภา) รวมทั้งทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาอีกด้วย (Kobkua 2004, 49) และถึงแม้ว่าต่อมารัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ. 2492 จะลดทอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไปบางส่วน เช่น การยกเลิกอภิรัฐมนตรีและเปลี่ยนมาเป็นองคมนตรีซึ่งมีหน้าที่เฉพาะการให้คำปรึกษาแด่พระมหากษัตริย์เท่านั้น โดยไม่มีอำนาจลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีอย่างเช่นที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 ให้อำนาจไว้ เป็นต้น หากแต่พระองค์ก็ยังทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา และมีการขยายเวลาที่พระองค์จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในร่างกฎหมายต่างๆจากเดิม 30 วัน เป็น 120 วัน นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชอำนาจในการควบคุมสำนักพระราชวังและทรัพย์สินส่วนพระองค์มากขึ้นอีกด้วย (Kobkua 2004, 52)

จะเห็นได้ว่าในต้นทศวรรษ 2490 คณะรัฐประหารและจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งใน พ.ศ. 2491 มีท่าทีประนีประนอมกับสถาบันพระมหากษัตริย์พอสมควร สาเหตุประการหนึ่งมาจากการที่คณะรัฐประหารยังมีอำนาจที่ไม่มั่นคงสมบูรณ์ เห็นได้จากการเกิดความเคลื่อนไหวต่อต้านคณะรัฐประหารอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกบฏเสนาธิการในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2491 กบฏวังหลวงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 และกบฏแมนฮัตตันในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2494 ด้วยเหตุนี้คณะรัฐประหารจึงจำเป็นจะต้องรักษาความสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ก่อน การประนีประนอมอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การที่รัฐบาลใน พ.ศ. 2493 ยินยอมให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับมายังประเทศไทย รวมทั้งพระศพของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯกรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระบรมวงศ์ผู้ทรงอำนาจในช่วงปลายยุคสมบูณาญาสิทธิราชย์ก็ได้รับการเชิญให้นำกลับมาถวายพระเพลิงด้วย

อย่างไรก็ตามในปลาย พ.ศ. 2494 หลังจากปราบกบฏแมนฮัตตันได้สำเร็จ คณะรัฐประหารดูจะมีความมั่นใจในอำนาจของตนมากขึ้น ขณะที่ฝ่ายกษัตริยนิยมก็กำลังรอคอยการกลับมาประทับ ณ ประเทศไทยอย่างถาวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีในปลายปีเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ฝ่ายกษัตริยนิยมสามารถรวมตัวกันได้เข้มแข็งมากขึ้น จอมพล ป. พิบูลสงครามจึงชิงลงมือทำรัฐประหารในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 และหันกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495) รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยกเลิกพรรคการเมือง และให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสมัครโดยอิสระ สมาชิกสภามาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร แทนที่จะเป็นการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ดังเช่นที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ระบุไว้ เท่ากับว่าพระมากษัตริย์ไม่อาจจะทรงใช้อำนาจทางการเมืองผ่านสภาได้อีกต่อไป ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับสถาบันพระมหากษัตริย์หลัง พ.ศ. 2494 จึงเริ่มตึงเครียดอีกครั้งหนึ่ง และวรรณกรรมเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ก็ปรากฏตัวขึ้นมาภายใต้บริบททางการเมืองดังกล่าว

บทบาทของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะนักการเมืองและปัญญาชน
อันโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci อ้างใน ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ 2550, 14-21) นักปรัชญาชาวอิตาเลียนได้เสนอแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่อง “อำนาจนำ” (hegemony) ว่า การที่คนบางกลุ่มหรือชนชั้นบางชนชั้นสามารถสร้างและรักษาสถานภาพการครอบงำเหนือกลุ่มอื่นๆได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากปัญญาชน (Intellectuals) เพื่อให้ปัญญาชนเป็นตัวกลางที่นำเอามุมมองและสำนึกของชนชั้นปกครองไปถ่ายทอดให้กับสามัญชนจนเกิดเป็นสามัญสำนึก (common sense) ของสังคม ในกรณีของไทยก็เช่นกัน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในปัญญาชนที่นำเอาอุดมการณ์กษัตริยนิยมมาเผยแพร่ผ่านวรรณกรรมเรื่อง “สี่แผ่นดิน”

โดยทั่วไปเราอาจจะมองว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นบุคคลที่มีความเป็นกษัตริยนิยมมาแต่เดิมแล้ว ทั้งนี้ด้วยชาติกำเนิดในฐานะพระราชปนัดดา (เหลน) ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และด้วยการพิจารณาจากงานที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เขียนขึ้น อย่างไรก็ตามการศึกษาล่าสุดของสายชล สัตยานุรักษ์ (2550) ได้ให้มุมมองที่ต่างออกไปว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ มิได้มีอุดมการณ์กษัตริยนิยมมาแต่เดิม แท้จริงแล้วเขาเป็นผู้ที่มีความใฝ่ฝันสูงสุดที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยมานานแล้ว และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เขาจึงต้องมีความยืดหยุ่นทางการเมืองเป็นอย่างสูง โดยในต้นทศวรรษ 2490 เขาได้ร่วมงานกับจอมพล ป.พิบูลสงครามโดยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้เขายังได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์เพื่อสนับสนุนจอมพล ป. และโจมตีนักการเมืองฝ่ายกษัตริยนิยมอย่างนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อยู่เสมอ (สายชล สัตยานุรักษ์ 2550, 63-65) และในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 เขาถึงกับเปรียบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าเป็น “สังกะโลกร้าวชำรุด” อีกด้วย (สายชล สัตยานุรักษ์ 2550, 107)

การเกิดกบฏแมนฮัตตันในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2494 ทำให้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางการเมืองของตนเองเสียใหม่ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ มีอำนาจมากขึ้น และสะท้อนความเปราะบางในอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงครามด้วยว่ามีมากเพียงใด ดังนั้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ จึงไม่อาจจะพึ่งพาจอมพล ป. ได้ถาวรตลอดไป ขณะเดียวกันการเสด็จกลับมาประทับ ณ ประเทศไทยเป็นการถาวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปลาย พ.ศ. 2494 ก็ทำให้ฝ่ายกษัตริยนิยมดูจะมีพลังในการต่อสู้ทางการเมืองมากขึ้น ในปีนั้นเอง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์จึงได้ปรับตัวเองเข้ามาสวมบทบาทการเป็นนักกษัตริยนิยมเพื่อสร้างฐานอำนาจให้กับตนเอง รวมทั้งยังช่วยรองรับปฏิบัติการทางวาทกรรม (discursive practice) ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย (สายชล สัตยานุรักษ์ 2550, 146) และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการทางวาทกรรมที่ชื่อว่า “สี่แผ่นดิน”

แผ่นดินที่หนึ่ง : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2435 – 2453)[2]
รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นยุคที่สยามมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากรัฐจารีตแบบอยุธยา (Ayudhyan State) มาเป็นรัฐสมัยใหม่ (modern state) ที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างแท้จริง งานวิจัยของผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเคอร์ (2542) และของกุลลดา เกษบุญชู-มี้ด (Kullada 2004) ได้เห็นพ้องกันว่า ชนชั้นนำของสยามในเวลานั้นได้นำเอาส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นหลังจากทำสนธิสัญญาบาวริ่งใน พ.ศ. 2398 มาเป็นฐานในการสร้างกลไกของรัฐสมัยใหม่ นั่นคือ ระบบราชการสมัยใหม่ และกองทัพสมัยใหม่ ผู้มีอำนาจดั้งเดิมในหัวเมืองต่างๆถูกทำลายและแทนที่ด้วยข้าราชการที่เป็นคนของรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ศูนย์กลางอำนาจสามารถจะควบคุมพื้นที่ต่างๆในพระราชอาณาเขตได้อย่างมีประสิทธิภาพแท้จริง

นอกจากจะสลายอำนาจในท้องถิ่นแล้ว รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามยังได้ดำเนินการสลายความผูกพันที่ผู้คนมีต่อท้องถิ่นของตน และชักจูงให้ทุกคนหันมาผูกพันกับแกนกลางที่เรียกว่า “ชาติ” (nation) อันมีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง กลไกสำคัญประการหนึ่งในการสร้างความเป็นชาติก็คือ การปลูกฝังความรู้เรื่องชาติผ่านระบบการศึกษาและแบบเรียนมาตรฐานที่ทางกรุงเทพฯเป็นผู้กำหนดขึ้น โดยใน พ.ศ. 2441 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา วชิรญาณวโรรส จัดตั้งแผนปรับปรุงการศึกษาในเขตหัวเมืองเพื่อขยายระบบการศึกษาแบบมาตรฐานออกไปทั่วประเทศ (ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเคอร์ 2542, 392) ส่วนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงมีบทบาทในการนิพนธ์เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์มีบทบาทสำคัญในสังคมไทยตลอดมาตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัย สถานะอันสูงส่งของพระมหากษัตริย์ปรากฏชัดในแบบเรียนวิชา “ธรรมจริยา” เมื่อ พ.ศ. 2445 อันมีใจความตอนหนึ่งว่า

ถามว่า, คนเราได้อาศรัยอยู่เย็นเป็นสุข, ตั้งหน้าทำมาหากินต่างคนต่างกลัวไม่อาจข่มเหงกันได้; ด้วยเหตุอันใด?
ตอบว่า, ชาวเมืองได้อาศัยพระเดชพระคุณฯ พระมหากษัตริย์แผ่คุ้มครองอยู่จึงได้มีความสุข ประกอบการงาน แลตั้งบ้านเรือนเป็นถิ่นสถานอยู่ได้
ถามว่า, พระมหากษัตริย์องค์เดียว ทำไมจึ่งมีพระบรมเดชานุภาพปราบร้าย ครองความสุขของคนได้ตลอดพระราชอาณาเขตร์?
ตอบว่า, ข้อนี้พึงแลดูดวงอาทิตย์ในฟ้านั้นเถิด, ดวงเดียวเท่านั้นเวลากลางวันทำไมจึงมีรัศมีส่องแสงสว่างทั่วไปได้ตลอดโลก; ถ้าหากเป็นคราวเกิดโลกมืดเราจะจุดโคมขึ้นมาสัก 100 ดวง, ก็คงไม่สว่างเท่าดวงอาทิตย์; พระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ก็พระเดชานุภาพปกครองแผ่ไปได้ทั่วพระราชอาณาเขตร์, เหมือนดวงอาทิตย์ดวงเดียว ส่องสว่างไปได้ทั่วโลก... (เน้นโดยผู้เขียนรายงาน)
(อ้างใน อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ 2541, 185)

ใน “สี่แผ่นดิน” ก็เช่นเดียวกัน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์พยายามชี้ให้เห็นความสำคัญของพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของประเทศ ดังความรู้สึกของพลอยที่ได้มีโอกาสตามเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังบางปะอินโดยทางรถไฟ ความว่า

"พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯเข้าสู่ชานชลาสถานี มีเจ้านายลูกเธอเล็กๆตามเสด็จหลายองค์ ระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินผ่านคนที่มาส่งเสด็จ ก็มีพระราชดำรัสปฏิสันถารกับคนที่มาเฝ้าฯเกือบจะทุกคน พลอยนั่งก้มหน้านิ่ง มิกล้าชำเลืองมอง แต่ยังได้ยินพระสุรเสียงซึ่งก้องกังวานกว่าเสียงอื่นๆในที่นั้น ทรงทักทายปราศัยกับข้าราชการที่มาส่งเสด็จฯด้วยข้อราชการบ้าง ด้วยเรื่องส่วนตัวบ้าง พลอยได้ยินพระราชดำรัสแว่วๆถึงเรื่องถนนหนทางบ้าง เรื่องการปกครองหัวเมืองบ้าง ตลอดจนเรื่องลูกใครเรียนหนังสือ เมียใครเจ็บไข้ไม่สบายก็ทรงไต่ถาม ตั้งแต่เรื่องใหญ่จนเรื่องเล็ก ดูเหมือนจะทรงทราบโดยละเอียดไปสิ้น ไม่มีเรื่องใดที่จะใหญ่ไปหรือเล็กไปสำหรับพระองค์ ทุกคนในที่นั้นรู้สึกว่าชีวิตทุกทางทุกด้าน ทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องการงาน กำลังถูกนำออกพิจารณา โดยผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ทราบเรื่องราวทั้งปวงดีกว่าคนอื่น และการซักถามหรือแนะนำนั้นก็กระทำโดยเจตนาดียิ่งกว่าที่จะหาได้ในที่ใด เพราะผู้ใหญ่คนนั้นเป็นเจ้าชีวิต เป็นทั้งผู้ดำรงรักษาและเป็นทั้งผู้ที่อาจทำลายชีวิตทั้งปวงที่รวมกันอยู่ในเมืองไทย"
(คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 305-306)

นอกจากนี้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ยังได้ชี้ให้เห็นความจงรักภักดีที่ราษฎรมีต่อพระองค์ในฐานที่ทรงเป็นศูนย์กลางของสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่เรียกว่า “ชาติ” ดังความรู้สึกของพลอยขณะที่นั่งอยู่บนรถไฟหลวงว่า

"ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่พลอยได้โดยเสด็จในกระบวนหลวง เพิ่งเคยเห็นว่าอาณาประชาราษฎรแสดงกิริยาความรู้สึกอย่างใดเมื่อได้ชมพระบารมีขณะเสด็จพระราชดำเนินผ่าน รัศมีแห่งความจงรักภักดีจากคนนับพันนับหมื่นเรียงรายตามบ้านช่องและไร่นาพุ่งเข้ามาจับหัวใจ เวลาไปไหนมาไหนตามลำพังพลอยไม่เคยรู้สึกว่าชาวบ้านร้านตลาด และบ้านช่องเรือกสวนที่ได้เห็นตามทางนั้นมีความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่คราวนี้พลอยแลเห็นความสัมพันธ์นั้นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นบ้านไหนช่องไหน ไม่ว่าจะเป็นคนหมู่ใดกลุ่มใด ล้วนแต่เป็นบ้านหรือคนในครอบครัวเดียวกันทั้งสิ้น"
(คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 306-307)

นอกจากการเป็นศูนย์กลางของชาติแล้ว “สี่แผ่นดิน” ยังชี้ให้เห็นความเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงใกล้ชิดกับประชาชนอีกด้วย หมายความว่า ทรงเป็นบุคคลที่ราษฎรทั่วไปสามารถ “เข้าถึง” ได้ ดังที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้บรรยายเกี่ยวกับการเสด็จประพาสต้นและ “เพื่อนต้น” ของรัชกาลที่ 5 ความว่า

"พระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นหลายครั้งหลายครา เสด็จไปตามจังหวัดต่างๆปะปนไปกับหมู่ราษฎร และเสด็จเยี่ยมเยือนราษฎรถึงบ้านช่องโดยที่ราษฎรมิได้รู้ว่าพระองค์เป็นผู้ใด ในการเสด็จประพาสแบบนี้ ได้ทรงรู้จักคุ้นเคยกับราษฎรในชนบทหลายคน โปรดให้เรียกว่า เพื่อนต้น (เน้นโดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์) และโปรดเกล้าฯให้เพื่อนต้นนี้เข้าเฝ้าแหนได้ทุกโอกาส เกือบทุกครั้งที่เพื่อนต้นมาเฝ้าฯที่พระราชวังดุสิต ก็เสด็จออกรับที่เรือนต้นอย่างกันเอง ... ชาวบ้านเหล่านั้นสามารถพูดคุยกับพระเจ้าอยู่หัวได้อย่างระหว่างคนต่อคน มิใช่อย่างระหว่างเจ้าชีวิตและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ... และในบรรยากาศที่คุ้นเคยนั้น ทุกคนก็สามารถแสดงตัวให้ปรากฏ เป็นตัวของตัวเอง เต็มไปด้วยเกียรติอันภาคภูมิ ที่ได้เป็นเพื่อนต้นของพระเจ้าแผ่นดินไทย"
(คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 357-358)

“สี่แผ่นดิน” ยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่าสายสัมพันธ์ทางจิตใจระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรนั้นมีความลึกซึ้งมากเพียงใด โดยในเรื่องได้กล่าวถึงงานออกพระเมรุพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ณ พระราชวังบางปะอินเมื่อ พ.ศ. 2448 เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า ความทุกข์โศกของพระมหากษัตริย์นั้นก็เป็นความทุกข์โศกของราษฎรอย่าง “พลอย” ไปด้วย ดังความว่า

"พระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาจากที่ประทับด้วยพระพักตร์อันเศร้าโศก อาลัยถึงพระราชธิดาที่อยู่ในพระโกศ และพอทอดพระเนตรเห็นเสด็จพระองค์กลางผู้เป็นพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดากับกรมขุนสุพรรณฯ ก็เสด็จพระราชดำเนินเข้ามาสวมกอดเสด็จพระองค์นั้น และต่างองค์ต่างทรงพระกันแสง พลอยใจหายด้วยความเศร้าสลด รีบหมอบก้มหน้าลงทันที มิกล้าจะมองภาพนั้น ในคอนั้นแห้งและตีบตัน น้ำตาอุ่นๆออกมาอยู่เต็มสองเบ้าตา พลอยเพิ่งได้เห็นครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่พระเจ้าอยู่หัวของตนทรงพระกันแสง ความทุกข์ความระทมใจที่ตนเคยได้รับมาแล้ว และแน่ใจว่าจะต้องรับต่อไปนั้น ดูหมดความสำคัญลงไปในทันทีทันใด"
(คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 479-480)

ชีวิตในแผ่นดินที่หนึ่งของพลอยปิดฉากลงพร้อมกับการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 วันดังกล่าวกลายเป็นวันที่มืดมนในชีวิตของทุกๆคนในเรื่อง บรรยากาศทั่วกรุงเทพฯดูจะแสดง “ความโศกสลดในความวิปโยคอันยิ่งใหญ่” (คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 539) ตัวของพลอยเองก็แทบจะไม่เชื่อข่าวการสวรรคตในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า

"พลอยเกิดมาในแผ่นดินของท่านที่รู้สึกว่าเป็นสุขแต่น้อยคุ้มใหญ่ มีชีวิตอยู่ได้ด้วยความแน่นอน เหมือนกับว่ามีต้นโพธิ์อันใหญ่คุ้มกันอยู่ให้ได้รับความร่มเย็นเพราะพระบารมี ตระกูลของพลอยทั้งตระกูลตลอดลงมาจนเจ้าคุณพ่อ ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับราชการ ตั้งเนื้อตั้งตัวปกครองกันมาได้เป็นสุขจนถึงชั้นบุตรหลาน เพราะมหากรุณาธิคุณ ... พลอยเองนั้น ตั้งแต่เด็กมาก็อยู่ในวัง ชีวิตทุกด้านในวังก็แวดล้อมพระองค์อยู่ และดำรงอยู่ได้ด้วยพระเจ้าอยู่หัว เหมือนกับพระอาทิตย์อันเป็นศูนย์ที่ตั้งของดาวต่างๆในจักรวาล"
(คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 538)


แผ่นดินที่สอง : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453 – 2468)
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มปรากฏชัดเจนว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นมีปัญหาที่ซ่อนอยู่ภายใน กล่าวคือ แม้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามจะประกาศอย่างชัดเจนว่า ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานของข้าราชการนั้นขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถ หรือที่เรียกกันว่าระบบคุณธรรม (merit system) เป็นหลัก หากแต่ในทางปฏิบัติแล้วพระมหากษัตริย์ยังคงเอาเรื่องของ “ชาติกำเนิด” มาเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบการเลื่อนยศตำแหน่งของข้าราชการอยู่ ดังนั้นผู้ที่ก้าวหน้าในราชการจึงมักจะเป็นผู้ที่มีชาติกำเนิดสูง หรือไม่ก็เป็นผู้ที่สามารถสร้างความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ (patronage system) กับเจ้านาย หรือเรียกอีกอย่างได้ว่าการ “ประจบ” นั่นเอง (Kullada 2004, 120-121) พระราชจริยาวัตรส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 6 ก็ยิ่งตอกย้ำว่าความเจริญในหน้าที่ราชการนั้นขึ้นอยู่กับการประจบเจ้านายเป็นสำคัญ ดังที่นายทหารยศร้อยตรีคนหนึ่งได้กล่าวถึงการได้ดิบได้ดีของมหาดเล็กในรัชกาลที่ 6 ว่า “พวกเราทำการเหนื่อยแทบตายไม่เห็นได้อะไร อ้ายมันเต้นๆรำๆเท่านั้น ได้ตั้งร้อยชั่งพันชั่ง” (อ้างใน อัจฉราพร กมุทพิสมัย 2542, 125-126) ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเกิดกบฏ ร.ศ. 130 ใน พ.ศ. 2454

รัชกาลที่ 6 เองก็ทรงตระหนักถึงความไม่มั่นคงในพระราชอำนาจอยู่บ้างเช่นกัน ดังที่ได้มีรับสั่งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2453 ห้ามมิให้บริษัทภาพยนตร์พัฒนาการทำการฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับการกบฏในโปรตุเกส ด้วยทรงเกรงว่า “จะทำให้ใจคนฟุ้งสร้านและคิดการไม่ดีต่างๆได้” (ราม วชิราวุธ 2546, 165) และหลังจากเกิดกบฏ ร.ศ. 130 แล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จกลับมาประทับที่พระบรมมหาราชวังอยู่พักใหญ่เพื่อความปลอดภัย การปฏิวัติใหญ่ในรัสเซียเมื่อ พ.ศ. 2460 ทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงตระหนักในความไม่มั่นคงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากขึ้น ดังที่ได้ทรงขอความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟจากสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯกรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ซึ่งเคยเสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศรัสเซียมาก่อน (ส. ศิวรักษ์ 2539, 21) อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ใน พ.ศ. 2468 ก็ยังมิได้มีความพยายามใดๆในการปรับปรุงระบอบการปกครองอย่างจริงจัง

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งในปีท้ายๆของรัชกาลที่ 6 คือปัญหาการเงินและการคลัง โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2465 เป็นต้นมา งบประมาณแผ่นดินขาดดุลอย่างรุนแรง โดยขาดดุลเพิ่มจาก 2.3 ล้านบาทใน พ.ศ. 2465 เป็น 2.6 ล้านบาท และ 4.5 ล้านบาทใน พ.ศ. 2466 และ พ.ศ. 2467 ตามลำดับ (Greene 1999, 159-160) เซอร์เอ็ดเวิร์ด คุก (Sir Edward Cook) ที่ปรึกษาการเงินของรัฐบาลสยามในยุคนั้นได้ให้ความเห็นว่า สาเหตุของปัญหามาจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในราชสำนักซึ่งสูงกว่างบประมาณด้านการศึกษาถึง 4 เท่า และมากกว่างบประมาณการสร้างถนนหนทางถึง 5 เท่า (บัทสัน 2543, 23-24) รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2468 โดยทิ้งปัญหาต่างๆเอาไว้

แม้ว่าสมัยของรัชกาลที่ 6 จะเต็มไปด้วยปัญหานานาประการตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น หากแต่สำหรับ “สี่แผ่นดิน” แล้ว รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ปรีชาสามารถมากพระองค์หนึ่ง แม้ว่าจะทรงมีพระราชจริยวัตรบางประการที่ทำให้ “พลอย” ต้องตะขิดตะขวงใจไปบ้าง เช่น การที่ทรงนิยมเล่นละคร เป็นต้น หากแต่พระองค์ก็ “ช่างสง่างามอะไรอย่างนี้ แลดูสว่างไปทั้งองค์ เหมือนกับมีไฟอะไรฉายออกมาจากข้างใน ผิดกับมนุษย์ธรรมดาสามัญอื่นๆ” (คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 653) ส่วน “คุณเปรม” สามีของพลอยซึ่งได้ดิบได้ดีในหน้าที่ราชการจนได้เป็นพระยาบทมาลย์บำรุงในปลายรัชกาลก็ได้กล่าวว่า รัชกาลที่ 6 นั้นทรงเป็น “คนดี คนฉลาด มีความรู้กว้างขวางมากกว่าใครทั้งหมดที่ฉันได้เคยเห็นมา” (คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 713) นอกจากนี้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ยังได้บรรยายสภาพของเมืองไทยในต้นรัชกาลที่ 6 ไว้อย่างน่าสนใจว่า

"ในระยะเวลาต้นรัชกาลที่ 6 นั้น เมืองไทยกำลังอยู่ในสมัยที่สมบูรณ์พูนสุขอย่างยอดเยี่ยมสมัยหนึ่ง หลังจากการทำงาน การก่อร่างสร้างตัวมาแต่แผ่นดินก่อนๆ ผลดีต่างๆที่พึงจะเกิดขึ้นจากความอุตสาหะพากเพียรของคนแต่ก่อน ก็มาตกแก่คนในยุคนั้น ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทรัพย์สมบัติของบ้านเมือง และของเอกชน ที่ได้สะสมเอาไว้ ต่างมาร่วมกันก่อให้เกิดความสุขกายสบายใจ และชีวิตที่ไม่มีกังวลแก่คนเป็นจำนวนมาก"
(คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 612)

ในส่วนของความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ดูจะแบ่งรับแบ่งสู้ว่า จริงอยู่ที่การ “ประจบเจ้านาย” อาจเป็นหนทางก้าวหน้าในชีวิตราชการ หากแต่นั่นก็มิได้เป็นการปิดโอกาสของคนอื่นๆเสียเลยทีเดียว ดังที่ได้บรรยายไว้ว่า

"ราชสำนักในสมัยนั้นเป็นราชสำนักเปิด และเปิดด้วยความกว้างขวาง ไม่จำกัดชั้นวรรณะ หรือชาติตระกูลของผู้ที่จะเข้าไปอยู่ในนั้นได้ คนใดก็ตาม ที่ปฏิบัติตนต้องพระราชอัธยาศัย หรือมีผู้ใหญ่ถวายตัวหรือฝากฝังกับคนที่ใกล้ชิด ก็มีโอกาสที่จะได้เข้าพระราชสำนัก และมีโอกาสที่จะบำเพ็ญตนให้รุ่งเรืองต่อไป โอกาสนั้นมีเท่ากันสำหรับคนทุกคน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเกิดมาเป็นเจ้านายในราชสำนักหรือเป็นยาจกเข็ญใจ"
(คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 711)

เมื่อ “อั้น” บุตรชายของพลอยซึ่งเดินทางไปศึกษา ณ ประเทศฝรั่งเศส ได้เขียนจดหมายกลับมาหาพลอย โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเสนอให้สยามมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สามีของพลอยอย่าง “คุณเปรม” ในฐานะข้าราชการที่รับใช้ใกล้ชิดรัชกาลที่ 6 ก็ได้พูดกับพลอยเป็นทำนองตอบโต้จดหมายของบุตรชายว่า

" เรื่องการปกครองเมืองนอกน่ะหรือ ก็ไม่เห็นเสียหายอะไรนี่ กลับจะดีเสียอีก ฉันได้ยินในหลวงรับสั่งเรื่องเหล่านี้ในโต๊ะเสวยอยู่เสมอ เหมือนกับท่านมีพระประสงค์จะสอนให้คนรู้ไว้ แต่ท่านรับสั่งว่า เรื่องนี้ต้องสอนกันไปนาน ทำหุนหันพลันแล่นไปไม่ดี อาจถึงเสียหายแก่บ้านเมืองได้ (เน้นโดยผู้เขียนรายงาน) อย่างเรื่องเมืองดุสิตธานีที่วังพญาไทนั้น คนที่ไม่รู้ก็พูดกันเองง่ายๆว่า ในหลวงท่านเล่นบ้านตุ๊กตาเหมือนเด็กๆ แต่พวกเราที่อยู่ใกล้ชิดรู้ดี ว่าท่านมีพระประสงค์จะสอนให้คนรู้ถึงเรื่องการปกครองที่เขาทำกันที่เมืองนอก"
(คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 695)

จะเห็นได้ว่า “คุณเปรม” ได้ทำหน้าที่เสมือน “ร่างทรง” ของวาทกรรมกษัตริยนิยม ที่มักจะเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” อีกทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ได้ทรงวางแผนการนำประเทศไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยมานานแล้ว และหนึ่งในการเตรียมการดังกล่าวก็คือ “เมืองจำลองดุสิตธานี” นั่นเอง

นอกจากนี้ “สี่แผ่นดิน” มิได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการเงินและการคลังในปลายรัชกาลที่ 6 เลย สำหรับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์แล้ว ความฟุ่มเฟือยของราชสำนักในปลายรัชกาลที่ 6 เป็น “สัญลักษณ์ของยุคที่บริบูรณ์” (คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 710) และ “มิได้มีใครเห็นเป็นของเสียหาย และมิได้มีใครมองดูด้วยสายตาที่มีความอิจฉาริษยา ตรงกันข้าม คนส่วนมากกลับมองดูความเป็นอยู่อย่างนั้นแล้ว เห็นเป็นมาตรฐานที่จะต้องดำเนินตาม” (คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 710-711) ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ยังเล่าต่อไปอีกว่า รายจ่ายส่วนพระองค์ที่มากขึ้นของรัชกาลที่ 6 สะท้อน “พระราชหฤทัยอันเต็มไปด้วยพระเมตตาเผื่อแผ่แก่คนทั้งปวง” (คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 711) และเมื่อพลอยปรารภกับคุณเปรมว่ารัชกาลที่ 6 เปรียบได้กับพระเวสสันดร คุณเปรมก็ตอบว่า

"ยิ่งกว่าพระเวสสันดรเสียอีก แม่พลอย พระเวสสันดรท่านให้เฉพาะแต่ของที่ท่านมี แต่เจ้านายของฉัน บางทีท่านก็พระราชทานทั้งๆที่ท่านยังไม่มีด้วยซ้ำไป ฉันเห็นคนเขาขอพระราชทานเงิน แต่เงินที่เขาขอนั้นมากไป เงินที่มีอยู่ไม่พอ เลยต้องพระราชทานเป็นงวดๆเหมือนกับใช้หนี้ จนครบตามที่เขาขอ"
(คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 711-712)

กลายเป็นว่า ปัญหาการเงินและการคลังในปลายรัชกาลที่ 6 มิได้สะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากแต่สะท้อน “พระมหากรุณาธิคุณ” ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีแก่ผู้คนทั้งหลาย และแล้ว “พลอย” ก็ต้อง “รู้สึกเหมือนบ้านแตกสาแหรกขาดอีกครั้งหนึ่ง” (คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 765) เมื่อรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 และ “คุณเปรม” สามีของพลอยผู้เป็นร่างทรงของอุดมการณ์ “กษัตริยนิยม” ก็ถึงกับเศร้าโศกจนเป็นลมหมดสติไปต่อหน้าพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ในวันเดียวกันนั้นเอง

แผ่นดินที่สาม : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2468 – 2477)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยุ่หัวทรงตระหนักดีถึงปัญหาที่มีอยู่ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังที่ได้ทรงบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2469 ว่า “วันเวลาของการปกครองแบบผู้นำถืออำนาจสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียวใกล้จะหมดลงทุกที” (บัทสัน 2548, 148) ด้วยเหตุนี้จึงทรงแต่งตั้งพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ขึ้นมากลุ่มหนึ่งเพื่อทำหน้าที่เป็น “อภิรัฐมนตรีสภา” เพื่อช่วยถ่วงดุลการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตามสมาชิกส่วนใหญ่ของสภาดังกล่าวกลับกลายเป็นพลังอนุรักษนิยมที่พยายามจะต่ออายุให้กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไป เมื่อเค้าโครงร่างรัฐธรรมนูญที่พระองค์โปรดเกล้าฯให้พระยาศรีวิศาลวาจาจัดทำขึ้นถูกส่งไปยังคณะอภิรัฐมนตรีพิจารณาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2475 เค้าโครงดังกล่าวก็ได้รับการคัดค้านจากอภิรัฐมนตรีหลายพระองค์จนไม่อาจประกาศใช้รัฐธรรมนูญได้

ปัญหาเศรษฐกิจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตกต่ำลงไปอีก ในช่วงปีแรกๆของรัชสมัย รัชกาลที่ 7 ได้ทรงพยายามแก้ไขปัญหาการเงินและการคลังที่คั่งค้างมาแต่ปลายรัชกาลที่ 6 จนสำเร็จ โดยเมื่อสิ้น พ.ศ. 2472 รัฐบาลสยามสามารถแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณได้ รวมทั้งหนี้สินที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ก็ได้ใช้ไปจนหมดสิ้น (บัทสัน 2543, 270-271) แต่แล้วภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (The Great Depression) ใน พ.ศ. 2473 ก็ทำให้สยามต้องเผชิญกับปัญหาอีกครั้ง การส่งออกข้าวและดีบุกลดลง รายได้ของชาวนาลดลงมากถึง 2 ใน 3 และราคาที่ดินก็ตกลง 1 ใน 6 ชาวนาเป็นหนี้จำนวนมาก (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 2544, 98-99) รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการลดเงินเดือนข้าราชการและลดจำนวนข้าราชการลง (ที่เรียกกันสมัยนั้นว่า “ถูกดุลย์”) รวมทั้งยังได้พยายามหารายได้เพิ่มด้วยการกำหนดภาษีขึ้นใหม่คือ ภาษีรายได้ รวมทั้งเก็บภาษีจากบ้านเรือนและที่ดินในเขตเมือง สร้างความไม่พอใจให้กับชนชั้นกลางที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างสูง (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 2544, 109) ในที่สุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ถึงกาลอวสานเมื่อคณะราษฎรประกาศยึดอำนาจการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

สมัยรัชกาลที่ 7 จึงเป็นยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลวงในชีวิตของ “พลอย” ในทางส่วนตัว “คุณเปรม” สามีของพลอยซึ่งหมดอาลัยตายอยากหลังจากที่รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตก็ถูก “ดุลย์” ออกจากราชการหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ. 2473 และไม่นานหลังจากนั้นก็เสียชีวิต แต่นั่นก็ไม่ทำให้พลอยต้องทุกข์ใจเท่ากับการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวนอกจากจะกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพบูชาของพลอยแล้ว ยังมีผลให้ครอบครัวของพลอยต้องแตกแยกกันอีกด้วย “อ้น” บุตรชายของคุณเปรมกับภรรยาบ่าวซึ่งพลอยนำมาเลี้ยงเหมือนลูกนั้นยังคงจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่ “อั้น” บุตรชายคนโตของพลอยกลับเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พี่น้องทั้งสองคนจึงทะเลาะกันอย่างรุนแรงและทำให้พลอยเสียใจมาก พลอยได้ถาม “อ๊อด” บุตรชายคนเล็กถึงสาเหตุที่พี่น้องที่เคยรักกันต้องมาผิดใจกัน ซึ่งอ๊อดก็ได้ให้คำตอบว่าสาเหตุทั้งหมดมาจาก “การเมือง” ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยอ๊อดได้กล่าวอย่างละเอียดว่า

"แต่ก่อนนี้ เมืองไทยเราไม่มีการเมือง ทุกคนก็ได้แต่ตั้งหน้าทำงานโดยเฉพาะของตน ใครมีหน้าที่อะไรใครก็ทำไป ความคิดความเห็นที่จะมี ก็มีเพียงแต่ในกรอบของการงาน อย่างพี่อ้นนั้น แต่ก่อนถ้าจะนึกอะไรก็นึกถึงเรื่องทหาร พี่อั้นก็นึกถึงเรื่องกฎหมาย ทั้งสองคนไม่มีวันที่จะขัดกันได้ เพราะทางที่จะใช้ความคิดเห็นนั้นไปคนละแนวกัน แต่เดี๋ยวนี้ ทั้งพี่อ้นและพี่อั้น มีทางที่จะใช้ความคิดเห็นกว้างขวางอย่างแต่ก่อนมาก คือใช้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองได้ เมื่อทั้งสองคนใช้ความคิดเห็นในเรื่องเดียวกัน มิใช่คนละแนวอย่างแต่ก่อน ถ้าความคิดนั้นตรงกันก็ดีไป ถ้าไม่ตรงกันก็เกิดเรื่อง อย่างที่แม่ได้เห็นแล้ว"
(คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 873)

ดูเหมือน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ จะชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่เรียกว่า “การเมือง” ซึ่งทำให้ผู้คนในสังคมต้องแตกแยกกัน และรวมถึงสมาชิกในครอบครัวของพลอยเองด้วย ต่างจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ปราศจากการเมืองและครอบครัวของพลอยก็อยู่กันอย่างเป็นสุข

ถึงแม้ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะล่มสลายไปแล้ว หากแต่สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงเป็นที่พึ่งสำหรับ “พลอย” อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ “อ้น” บุตรชายต้องโทษจนอาจถึงขั้นประหารชีวิตในกรณีกบฏบวรเดชเมื่อ พ.ศ. 2476 “พลอย” ก็หวังว่ารัชกาลที่ 7 จะทรงใช้พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ เช่นเดียวกับที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานอภัยโทษให้ในกรณีกบฏ ร.ศ. 130 ดังความที่ว่า

"พลอยจำได้ว่าความรู้สึกของคนทั่วไปในขณะนั้น ตรงกันในข้อที่ว่า บุคคลที่ถูกจับในคราวนั้น (หมายถึงกบฏ ร.ศ. 130 – ผู้เขียนรายงาน) คงจะไม่มีใครรอดอาญาแผ่นดิน เสียงที่พูดกันนั้นก็ว่า จะต้องหัวขาดทุกคนไป แต่...ในตอนสุดท้าย ได้ทรงพระมหากรุณายกโทษประหารเสีย คงเหลือแต่โทษจำ และในที่สุด เมื่อล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 ได้เสวยราชย์มาครบ 15 ปีบริบูรณ์ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ก็ทรงพระมหากรุณาให้ปลดปล่อยตัวนักโทษเหล่านี้ ... พลอยนึกด้วยใจของแม่ที่รักลูก ว่าตาอ้นมิได้ทำผิดมากมายเหมือนคราวนั้น และก็ดูเหมือนจะรู้กันอยู่ทั่วไป ว่าตาอ้นและคนอื่นอีกเป็นอันมากในคดีนั้น ต้องประสบเคราะห์กรรมเพราะความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ซึ่งถึงแม้ว่าจะผิดกาลผิดสมัย ก็ยังเป็นความจงรักภักดีอยู่นั่นเอง ก็เมื่ออย่างนี้แล้ว เคราะห์กรรมของตาอ้น จะร้ายแรงถึงกับชาตาขาดลงทีเดียวหรือ?"
(คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 913)

จากข้อความข้างต้น นอกจาก ม.ร.ว. คึกฤทธิ์จะทำให้ผู้อ่านเห็นว่า การเกิดกบฏบวรเดชเป็นไปด้วยความ “จงรักภักดี” แล้ว เขายังได้กล่าวย้อนกลับไปถึงเรื่องที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ก่อการ ร.ศ. 130 อีกด้วย เหมือนกับต้องการจะสื่อความว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมีพระเมตตาและเป็นที่พึ่งของราษฎรได้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือในยุคหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็ตาม

ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้นของรายงานว่า หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน รัชกาลที่ 7 กับคณะราษฎรก็มีความขัดแย้งกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่รัชกาลที่ 7 ยังทรงต้องการเป็นผู้กำหนด “วิถีแห่งประวัติศาสตร์” ต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงทรงเรียกร้องพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภทที่สอง รวมทั้งพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลในยุคนั้นไม่เห็นด้วย สุดท้ายพระองค์จึงประกาศสละราชสมบัติ ในเรื่อง “สี่แผ่นดิน” นั้น “พ่อเพิ่ม” พี่ชายของพลอยได้อธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า

"คนสองคนที่ทำอะไรด้วยกัน และตั้งใจทำของอย่างเดียวกัน บางทีก็ขัดกันได้มากๆ อย่างเวลานี้ ทางฝ่ายรัฐบาลเขาก็ว่าเขาเป็นประชาธิปไตย ในหลวงท่านก็ทรงเป็นประชาธิปไตย และใจฉัน ฉันก็เห็นว่าท่านทรงเป็นประชาธิปไตยมากกว่าใครๆทั้งหมดในเมืองไทยเราเวลานี้ (เน้นโดยผู้เขียนรายงาน) ตรงนี้แหละที่ฉันกลัวนัก ถ้าในหลวงท่านไม่ทรงเป็นประชาธิปไตย ปล่อยให้รัฐบาลเป็นไปแต่ข้างเดียว ก็ไม่สู้กระไร แต่นี่ท่านทรงเป็นประชาธิปไตยและเป็นเอามากกว่าใครๆ"
(คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 904)

จากข้อความข้างต้นดูเหมือน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ต้องการจะสื่อความว่า ข้อเรียกร้องของรัชกาลที่ 7 ที่ทรงต้องการพระราชอำนาจเพิ่มเติมนั้นเป็นข้อเรียกร้องที่เป็น “ประชาธิปไตย” อย่างยิ่ง และประเทศไทยไม่อาจจะเป็น “ประชาธิปไตย” ได้อย่างสมบูรณ์ถ้าหากอำนาจยังตกอยู่แต่เฉพาะที่รัฐบาลอันมาจากการเลือกตั้งของสภาผู้แทนราษฎร “ประชาธิปไตย” จะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขันแล้วเท่านั้น
แผ่นดินที่สามในชีวิตของพลอยจบลงด้วยการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ซึ่ง “อ๊อด” บุตรชายคนเล็กของพลอยให้ความเห็นอันสะท้อนอุดมการณ์กษัตริยนิยมไว้ว่า “เมืองไทยเรา เพิ่งเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยยังไม่ทันไร เราก็ยังต้องมาเสียคนที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดไปอีกคนหนึ่ง” (คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 933-934)

แผ่นดินที่สี่ : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (พ.ศ. 2477 – 2489)
ผู้เขียนรายงานได้กล่าวถึงสภาพการณ์ของบ้านเมืองในยุครัชกาลที่ 8 ไว้แล้วในตอนต้นที่ว่าด้วยสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์หลัง พ.ศ. 2475 ในที่นี้จึงขอข้ามมาที่ชีวิตของ “พลอย” ในแผ่นดินที่สี่ ความรู้สึกที่ “พลอย” มีต่อรัชกาลที่ 8 นั้นแตกต่างไปจากความรู้สึกที่มีต่อรัชกาลก่อนๆ โดยรู้สึก “รักอันเป็นส่วนตัว หวงแหน เหมือนกับว่าในหลวงรัชกาลที่ 8 เป็นบุคคลที่เป็นของพลอยแท้ๆ” (คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 936) นอกจากนี้ยังรู้สึกด้วยว่าในอนาคตยุวกษัตริย์พระองค์นี้คงจะต้องทรงเผชิญกับมรสุมทางการเมืองอยู่ไม่น้อย ดังที่ “พลอย” ได้พูดกับ “อ๊อด” บุตรชายคนเล็กว่า

"เจ้าประคุณเอ๋ย ยังเล็กนัก ทูลกระหม่อมแก้วยังเล็กเหลือเกิน ใครจะไปรู้ ว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร ... สงสารในหลวง ในหลวงเล็กแผ่นดินนี้ ... พอเห็นพระบรมรูปก็ใจคอหาย ... แล้วก็สงสาร ... สงสารจับจิตจับใจ ... รู้สึกเหมือนกับว่าใครเขามาจับเอาลูกหลานที่ตัวเล็กๆ เอาไปกดขี่ ไปเล่นรังแก"
(คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 937)

ในแผ่นดินที่สี่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้พยายามฉายภาพให้เห็นความเสื่อมถอยของผู้คนในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภาพดังกล่าวสะท้อนออกมาในชีวิตของ “อ๊อด” ที่เข้าไปทำงานในกระทรวงธรรมการช่วงต้นทศวรรษ 2480 อ๊อดบ่นกับพลอยผู้เป็นมารดาว่า

"ความจริงจะว่าลูกขี้เกียจก็ได้ ขี้เกียจประจบประแจงเจ้าขุนมูลนาย ขี้เกียจทำงานเล็กๆน้อยๆที่ไร้สาระประโยชน์ ขี้เกียจนั่งคิดนอนคิดว่าจะทำอย่างไรให้งานดีขึ้น แต่แล้วก็ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครสนับสนุน เพราะเขาไม่อยากเห็นเราข้ามหน้าข้ามตาเกินเขาไป สมัยคุณพ่อนั้น เขาถือเอาการงานเป็นใหญ่ แต่สมัยนี้เขาถือเอาตัวบุคคลกันเป็นใหญ่ ใครที่มีพวกพ้อง มีอำนาจวาสนา จะพูดอะไรออกไป ถึงจะผิดหรือถูก ก็มีคนฟัง ส่วนคนแต่ก่อนนั้น ดูเหมือนเขาจะชอบช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้ดี แต่คนเดี๋ยวนี้ เขาชอบปัดแข้งปัดขากันให้ล้มคะมำหัวปักไปตามๆกัน"
(คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 1039-1040)

อีกตัวอย่างหนึ่งใน “สี่แผ่นดิน” ที่เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “ผู้ดีเก่า” กับพวกที่ได้ดิบได้ดีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็คือ กรณีของ “ท่านชายน้อย” และ “คุณเสวี” ทั้งสองคนต่างเข้ามาคบหากับ “ประไพ” บุตรสาวคนเดียวของพลอย โดยท่านชายน้อยเป็นผู้ดีเก่าที่ “กระต้วมกระเตี้ยมเสียผู้ใหญ่รักทุกคน” (คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 954) ขณะที่คุณเสวีนั้นมีลักษณะบางอย่างที่ทำให้พลอยไม่สบายใจ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะ “ตาคุณเสวีนั้นไม่จับคนประการหนึ่ง และประการที่สอง เวลาคุณเสวีเข้ามาในบ้านและขึ้นมาบนตึก คุณเสวีก็ใช้สายตากวาดไปทั่วๆเหมือนกับตั้งใจจะประเมินมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดในบ้านนั้น ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด” (คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 959) และหลังจากที่คุณเสวีได้แต่งงานเข้ามาเป็นบุตรเขยของพลอยแล้ว เขาก็ได้แสดงนิสัยที่ไม่จริงใจ รวมทั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็ยังได้กักตุนน้ำตาลและยารักษาโรคเพื่อเก็งกำไรอีกด้วย

ในแผ่นดินรัชกาลที่ 8 นี้ ตัวละครที่อยู่รอบข้างกายของ “พลอย” ก็ล้มหายตายจากไปหลายคน ไม่ว่าจะเป็น “คุณอุ่น” พี่สาวคนโตของพลอย “ยายพิศ” บ่าวที่เลี้ยงพลอยมาแต่เด็ก และเป็นสะพานเชื่อมความทรงจำระหว่างพลอยกับแม่ และ “อ๊อด” บุตรชายคนเล็กของพลอยที่เสียชีวิตด้วยโรคไข้มาลาเรียหลังจากลงไปทำธุรกิจแถวปักษ์ใต้ได้ไม่นาน อีกทั้งบ้านของพลอยก็ถูกระเบิดพังยับเยินในสงครามโลกครั้งที่สอง เหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านี้ทำให้พลอยเข้าสู่วัยชราด้วยความอ่อนล้าทั้งร่างกายและจิตใจ สิ่งเดียวที่ทำให้พลอยมีชีวิตต่อไปได้ก็คือ การได้เห็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระเยาว์นั้นเติบใหญ่ ดังจะเห็นได้จากความรู้สึกของพลอยที่ได้รับเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อคราวเสด็จฯนิวัติประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2481 ความว่า

"พลอยกลับมาบ้านในวันนั้น ด้วยความรู้สึกที่ปลอดโปร่งอย่างที่ไม่ค่อยได้รู้สึกมานาน ความจงรักภักดีที่ประชาชนได้แสดงต่อในหลวงอย่างเห็นได้ชัดแจ้งในวันนี้ ทำให้พลอยรู้สึกว่าโลกมนุษย์นี้มีแก่นสาร มีหลักมีฐาน ยังไม่หมดสิ้นศรัทธาไปเสียทีเดียว (เน้นโดยผู้เขียนรายงาน) ... พลอยยิ่งได้เห็นลูกๆและพี่น้องต่างคนต่างไปรับเสด็จฯในหลวง แล้วกลับมาพูดจากันที่บ้านอย่างสนิทสนมในลักษณะที่รื่นเริง หลังจากที่ได้เฉยชากันมานานแล้วนับเป็นจำนวนปี พลอยก็ยิ่งเห็นความมหัศจรรย์ของจุดที่ก่อให้เกิดความรู้สึกอันดี จุดนั้นอยู่ที่ในหลวง"
(คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 1006)

เมื่อรัชกาลที่ 8 เสด็จฯนิวัติประเทศไทยอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ใน พ.ศ. 2488 “พลอย” ซึ่งขณะนั้นป่วยด้วยโรคหัวใจอย่างหนักก็ “ดูเหมือนจะหายวันหายคืน จนลุกนั่งและเดินเหินได้คล่องแคล่วเหมือนคนปกติ” (คึกฤทธิ์ ปราโมช 2534, 1250)

แต่แล้วพระมหากษัตริย์ผู้เปรียบเสมือน “ยารักษาโรค” ให้กับพลอยก็เสด็จสวรรคตลงในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และ “พลอย” ผู้ซึ่งผูกพันและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ตลอดมาก็เสียชีวิตลงในเย็นวันนั้นเอง การสิ้นสุดของแผ่นดินที่สี่จึงเป็นการสิ้นสุดชีวิตของพลอยไปด้วย

บทสรุป
วรรณกรรมเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช แสดงออกอย่างชัดเจนถึงอุดมการณ์กษัตริยนิยมที่ต้องการชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมีคุณค่าและคุณูปการต่อสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือแม้กระทั่งหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้วก็ตาม “สี่แผ่นดิน” ดูจะช่วย “เสริมแรง” ให้กับฝ่ายกษัตริยนิยมที่พยายามช่วงชิงอำนาจกับรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามในกลางทศวรรษ 2490 และยังมีส่วนในการปูพื้นฐานทางวาทกรรมให้กับผู้มีอำนาจในยุคต่อมา คือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามได้สำเร็จใน พ.ศ. 2500 และเป็นผู้ฟื้นฟูบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมาใหม่จนกลายเป็นสถาบันที่ทรงอิทธิพลต่อการเมืองและสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2550)


เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย

คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. 2534. สี่แผ่นดิน. กรุงเทพฯ: ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด.

ชนิดา ชิตบัณฑิตย์. 2550. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. 2544. ประวัติการเมืองไทย 2475-2500. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

บัทสัน, เบนจามิน เอ. 2543. อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม. บรรณาธิการแปลโดย กาญจนี ละอองศรี และยุพา ชุมจันทร์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์. 2542. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: ซิลค์เวอร์มบุคส์.

ราม วชิราวุธ (นามแฝง). 2546. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.

ส. ศิวรักษ์. 2539. สถาบันพระมหากษัตริย์กับอนาคตของประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันสันติประชาธรรม และมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป.

สายชล สัตยานุรักษ์. 2550. คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม “ความเป็นไทย” เล่ม 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.

อัจฉราพร กมุทพิสมัย. 2542. กบฏ ร.ศ. 130 กบฏเพื่อประชาธิปไตย: แนวคิดทหารใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์วิชาการ.

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. 2541. การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึงพุทธศักราช 2475. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ภาษาอังกฤษ
Greene, Stephen L.W. 1999. Absolute Dreams: Thai Government Under Rama VI, 1910-1925. Bangkok: White Lotus Press.

Kobkua Suwannathat-Pian. 2004. Kings, Country and Constitutions: Thailand’s Political Development 1932-2000. London: RoutledgeCurzon.

Kullada Kesboonchoo Mead. 2004. The Rise and Decline of Thai Absolutism. Oxfordshire: RoutledgeCurzon.



[1] รายงานเสนอต่อรองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ในวิชา สห. 810 ปรัชญามนุษยศาสตร์ ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2550 โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[2] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2411 ถึง พ.ศ. 2453 หากแต่ในเรื่องสี่แผ่นดินจะกล่าวถึงเฉพาะช่วงครึ่งหลังของรัชกาล คือตั้งแต่ พ.ศ. 2435 อันเป็นปีที่ “พลอย” ตัวเอกของเรื่องมีอายุได้ 10 ปี รายงานฉบับนี้จึงขอใช้ปีดังกล่าวเป็นปีเริ่มต้นแผ่นดินที่หนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: