วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552

หนังสือ "Prisoner of the State" หรือ "บันทึกลับจ้าวจื่อหยาง"


ชื่อหนังสือภาษาอังกฤษ : Prisoner of the State: The Secret Journal of Premier Zhao Ziyang


ชื่อหนังสือภาษาไทย : บันทึกลับจ้าวจื่อหยาง เบื้องหลังเหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมิน

บรรณาธิการภาษาไทย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล
คณะผู้แปล: สิทธิพล เครือรัฐติกาล ดวงใจ เด่นเกศินีล้ำ สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ และวิศรา ไกรวัฒนพงศ์

หาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป วันนี้ ! (พิมพ์ครั้งที่สองแล้ว)
คุณเข้าถึงเบื้องหลังของรัฐบาลที่เป็นความลับที่สุดในโลกได้บ่อยแค่ไหน? บันทึกลับจ้าวจื่อหยาง เป็นหนังสือเล่มแรกที่นำเสนอภาพที่ชัดเจนแก่ผู้อ่านเพื่อให้เห็นถึงการทำงานภายในของรัฐบาลจีนที่ยากแก่การเข้าถึง เรื่องราวของนายกรัฐมนตรีจ้าวจื่อหยาง ผู้นำความเปลี่ยนแปลงตามแนวคิดเสรีนิยมมาสู่ประเทศ และในช่วงความตึงเครียดสูงสุดของการประท้วง เขาเป็นผู้พยายามหยุดยั้งการสังหารหมู่ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินใน ค.ศ. 1989 ซึ่งความพยายามดังกล่าวนั้นเองเป็นเหตุที่ทำให้เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา

ในขณะที่กองทัพจีนเคลื่อนเข้ามาสังหารนักศึกษาและผู้เดินขบวนนับร้อยคน จ้าวถูกจับไปกักบริเวณไว้ในบ้านของเขาเอง ในซอยที่เงียบสงบแห่งหนึ่งของกรุงปักกิ่ง ผู้เป็นความหวังในการนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่จีนถูกปลดจากตำแหน่งไปพร้อมๆกับนโยบายของเขา นายกรัฐมนตรีผู้นี้ใช้เวลา 16 ปีสุดท้ายจนกระทั่งเสียชีวิตใน ค.ศ. 2005 ด้วยสภาพที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก รายละเอียดในบางช่วงของชีวิต เช่น การไปออกไปตีกอล์ฟ รูปถ่ายใบหน้าในวัยชราของเขา รวมถึงจดหมายที่เขาเขียนถึงผู้นำจีนบางคนถูกเผยแพร่ออกมาบ้าง นักวิชาการด้านจีนศึกษามักรู้สึกเสียดายที่จ้าวไม่เคยมีโอกาสได้กล่าวคำพูดสุดท้ายของเขาเลย

แต่สิ่งที่ปรากฏขึ้นในเวลาต่อมาก็คือ จ้าวได้ทำบันทึกความทรงจำอย่างลับที่สุด เขาได้บันทึกเทปอย่างเป็นระบบเพื่อรวบรวมความคิด และเรื่องราวจากความทรงจำของเขาต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหลังเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงเวลาที่สำคัญสุดในยุคสมัยใหม่ของจีน เทปที่เขาทำขึ้นถูกลักลอบนำออกนอกประเทศและได้ก่อร่างเป็นหนังสือเล่มนี้ ในบันทึกดังกล่าว จ้าวให้รายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับการปราบปรามที่เทียนอันเหมิน เขาเล่าถึงแผนการและการทรยศหักหลังที่ผู้นำระดับสูงบางคนของจีนใช้เพื่อชิงความได้เปรียบเหนือผู้อื่น และจ้าวยังกล่าวถึงความจำเป็นของจีนที่ต้องรับเอาระบอบประชาธิปไตยเข้ามาเพื่อความสำเร็จในการสร้างเสถียรภาพระยะยาว

ประเทศจีนที่จ้าวพูดถึงไม่ใช่ประเทศจีนในยุคราชวงศ์ที่ล่มสลายไปนานแล้ว แต่เป็นประเทศจีนในปัจจุบัน ที่ซึ่งผู้นำยอมรับเศรษฐกิจแบบเสรี แต่ยังคงต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

หากไม่มีเหล่าผู้นำหัวแข็งในช่วงเหตุการณ์เทียนอันเหมิน และหากจ้าวยังมีชีวิตอยู่ เขาอาจเป็นผู้ชี้นำระบบการเมืองของจีนให้ไปสู่ระบบที่เปิดกว้างและรับฟังต่อความเห็นที่แตกต่างได้มากขึ้น

จ้าวซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีอำนาจเหนือจัตุรัสเทียนอันเหมิน ได้เรียกร้องอย่างชัดเจนให้พรรคผ่อนปรนการควบคุมและให้เสรีภาพแก่ประชาชนบ้าง แม้ว่าในขณะนี้เขาไม่ได้มีชีวิตอยู่แล้ว แต่เสียงที่ผ่านบันทึกความทรงจำของเขานี้ก็ยังสามารถกระตุ้นความรู้สึกและมีความน่าสนใจ น้ำเสียงของจ้าวยังคงมีพลังทางศีลธรรมที่จะปลุกจีนให้ลุกขึ้นมารับฟัง

วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เจิ้งเหอกับ Boeing 777-200LR Worldliner


เจิ้งเหอกับ Boeing 777-200LR Worldliner

จีนเริ่มมีเครื่องบินออกให้บริการรับส่งผู้โดยสารเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1930 ในเส้นทางระหว่างเซี่ยงไฮ้กับฮั่นโข่ว และนับตั้งแต่การปฏิรูปเศรษฐกิจในทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ธุรกิจสายการบินของจีนได้เติบโตขึ้นอย่างมาก ดูจากเมื่อ ค.ศ. 1987 ที่มีผู้โดยสารเดินทางภายในประเทศจีนด้วยเครื่องบินเพียง 13 ล้านคน แต่เมื่อถึง ค.ศ. 2006 ได้เพิ่มเป็น 160 ล้านคน (Wright, 1991; ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์, 2007) ขณะเดียวกัน สายการบินของจีนก็ได้ทยอยเลิกใช้เครื่องบินแบบรัสเซีย และหันมาซื้อเครื่องบินของบริษัทโบอิ้ง (Boeing) มากขึ้น จากเดิมใน ค.ศ. 1987 ที่สายการบินของจีนมีเครื่องบินโบอิ้งอยู่เพียง 45 ลำ กลายเป็น 537 ลำใน ค.ศ. 2005 หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 2 ใน 3 ของเครื่องบินโดยสารที่ใช้อยู่ในประเทศจีน (Wright, 1991; เขียน ธีระวิทย์, 2549, น. 232) และบริษัทโบอิ้งได้คาดการณ์ว่าในอีกสองทศวรรษนับจาก ค.ศ. 2005 จีนจะต้องการเครื่องบินโดยสารเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 2,300 ลำ (Cao Desheng, 2005, July 30)

ใน ค.ศ. 2005 บริษัทโบอิ้งได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นเครื่องบินรุ่น 777-200LR Worldliner ซึ่งถือเป็นเครื่องบินพาณิชย์ที่มีพิสัยการบินไกลที่สุด โดยสามารถบินได้ไกลถึง 21,601 กิโลเมตร ในเวลา 22 ชั่วโมง 42 นาที โดยไม่ต้องหยุดพัก และในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคมของปีนั้น บริษัทโบอิ้งได้นำเครื่องบินรุ่นนี้ออกบินเพื่อให้เป็นที่รู้จักตามเมืองต่างๆทั่วโลกกว่า 20 เมือง และได้บินมายังกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2005 หรือไม่กี่วันก่อนงานฉลอง 600 ปี การเดินเรือของเจิ้งเหอ และที่สนามบินนานาชาติกรุงปักกิ่งนั่นเอง ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า เครื่องบินโบอิ้งรุ่นนี้จะใช้ชื่อว่า “เจิ้งเหอ” โดย นิโคล เพียสกี้ (Nicole Piasecki) รองประธานคณะผู้บริหารซึ่งดูแลด้านการตลาดและยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของ Boeing Commercial Airplanes ได้กล่าวว่า ชื่อของเจิ้งเหอมีความหมายสอดคล้องกับการสำรวจ การรู้จักประดิษฐ์คิดค้นของมนุษย์ รวมทั้งจิตวิญญาณแห่งมิตรภาพและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (Boeing 777-200LR Worldliner debuts in Beijing, 2005, June 29 เน้นโดยผู้วิจัย) ขณะที่หลินจู๋อี่ (林祖乙) อนุกรรมการจัดงานฉลอง 600 ปี การเดินเรือของเจิ้งเหอ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวว่า

"พวกเราเชื่อว่า ชื่อเสียงของเจิ้งเหอจะได้รับการเน้นย้ำมากขึ้นผ่านการตั้งชื่อให้กับเครื่องบินและการเดินทางไปทั่วโลกของเครื่องบิน การเดินทางของเครื่องบินดังกล่าวนี้จะนำความปรารถนาในมิตรภาพ สันติภาพ และการพัฒนาของพวกเราไปสู่โลกภายนอก ให้โลกได้รู้จักเจิ้งเหอ ประเทศจีน และโบอิ้งมากยิ่งขึ้น"
(Boeing 777-200LR Worldliner debuts in Beijing, 2005, June 29)

แม้จะไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเบื้องหลังการตัดสินใจของบริษัทโบอิ้งที่ตั้งชื่อเครื่องบินรุ่นนี้ว่า “เจิ้งเหอ” หากแต่เมื่อพิจารณาถึงสถานะของจีนที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทนี้ ก็ทำให้มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าเรื่องดังกล่าวมีลักษณะของการต่างตอบแทน นั่นคือ บริษัทโบอิ้งยอมตั้งชื่อเครื่องบินรุ่นนี้ว่า “เจิ้งเหอ” ขณะที่จีนก็ตกลงที่จะสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้งเพิ่มอีกชุดใหญ่ โดยในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005 หรือหลังจากที่งานเปิดตัวเครื่องบินโบอิ้ง 777-200LR Worldliner และงานฉลอง 600 ปี การเดินเรือของเจิ้งเหอผ่านพ้นไปได้เพียงไม่กี่เดือน จีนได้ลงนามในสัญญาซื้อเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737-700/800 จำนวน 70 ลำ รวมมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นการสั่งซื้อเครื่องบินครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การบินของจีน (China signs biggest aircraft purchase agreement with Boeing, 2005, November 20) การทำข้อตกลงทางธุรกิจจึงเป็นหนึ่งในวิธีการที่จีนใช้เพื่อให้ “ทูตสันติภาพ” อย่างเจิ้งเหอเป็นที่รู้จักแก่โลกภายนอกมากยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

เขียน ธีระวิทย์. (2549). จีนใหม่ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: มติชน.

ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์. จับตาธุรกิจสายการบินในประเทศจีน. เอกสารของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552, จาก http://www.boi.go.th/thai/ download/publication_boi_today/127/boitoday_may_7_07.pdf.

Boeing 777-200LR Worldliner debuts in Beijing. (2005, June 29). People’s Daily Online. Retrieved August 28, 2009, from http://english.peopledaily.com.cn/200506/ 29/print20050629_192972.html.

Cao Desheng. (2005, July 30). US$6b deal for 50 Boeing jets in sight. China Daily Online. Retrieved November 11, 2008, from http://www.chinadaily.com.cn/ english/doc/2005-07/30/content_464789_2.htm.

China signs biggest aircraft purchase agreement with Boeing. (2005, November 20). People’s Daily. Retrieved August 28, 2009, from http://english.peopledaily. com.cn/200511/20/eng20051120_222762.html.

Wright, Timothy. (1991). Civil aviation. In The Cambridge Encyclopedia of China (pp. 50-51). Cambridge: Cambridge University Press.

เจิ้งเหอในความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน




เจิ้งเหอในความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน

สาธารณรัฐประชาชนจีนมีจุดยืนที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และการรวมไต้หวันถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะต้องทำให้สำเร็จ ตลอดระยะเวลากว่าหกทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ที่มีต่อไต้หวันอยู่หลายครั้ง จากเดิมในทศวรรษ 1950 ถึง 1970 ที่ใช้ “ไม้แข็ง” โดยเน้นการใช้กำลังเพื่อ “ปลดปล่อย” ไต้หวันออกจากจักรวรรดินิยมอเมริกัน มาเป็นการใช้ “ไม้อ่อน” ในทศวรรษ 1980 ด้วยการยื่นข้อเสนอเรื่อง “การรวมกันอย่างสันติ” (和平统一) และ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” (一国两制) และมาถึงทศวรรษ 1990 ที่จีนหันมาใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งสลับกันไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์ (ดู Wachman, 2008, pp. 1-15)


หลังจากที่หูจิ่นเทาขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อ ค.ศ. 2002 จีนก็ได้ดำเนินยุทธศาสตร์ใหม่ต่อไต้หวัน ที่เรียกว่า “ทำสิ่งที่แข็งให้แข็งมากขึ้น ทำสิ่งที่อ่อนให้อ่อนมากขึ้น” (硬的更硬,软得更软) เห็นได้จากใน ค.ศ. 2005 จีนได้ออกกฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกดินแดน (Anti-Secession Law) เพื่อให้อำนาจแก่รัฐบาลจีนในการใช้กำลังถ้าไต้หวันประกาศเอกราช ขณะเดียวกันก็เสนอจะมอบแพนด้าสันถวไมตรีให้แก่ไต้หวัน[1] และในปีเดียวกันก็ตรงกับการจัดงานฉลองครบรอบ 600 ปี การเดินเรือของเจิ้งเหอ จีนจึงได้นำเอาเจิ้งเหอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวันด้วย ดังคำแถลงของสำนักงานสารนิเทศแห่งคณะมุขมนตรีว่า หนึ่งในวัตถุประสงค์ของการจัดงานดังกล่าวก็เพื่อ “ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางวิชาการและวัฒนธรรมข้ามช่องแคบ กระชับความสัมพันธ์ในหมู่ชนชาติจีน และส่งเสริมภารกิจในการรวมมาตุภูมิอันยิ่งใหญ่” (เจิ้งเหอเซี่ยซีหยางลิ่วไป่โจวเหนียนซี่เลี่ยจี้เนี่ยนหัวต้งฉิงคว่าง, 7 กรกฎาคม 2004)


เหตุการณ์สำคัญครั้งประวัติศาสตร์ในความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบใน ค.ศ. 2005 ก็คือ การเดินทางมาเยือนแผ่นดินใหญ่ของผู้นำพรรคฝ่ายค้านของไต้หวัน ได้แก่ เหลียนจ้าน (连战) ผู้นำพรรคกั๋วหมินตั่ง และซ่งฉู่อวี๋ (宋楚瑜) ผู้นำพรรคชินหมินตั่ง (亲民党) เมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคมตามลำดับ เนื่องจากเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี ที่ผู้นำระดับสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคกั๋วหมินตั่งซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกันได้มาพบปะกัน[2] โดยในโอกาสนี้ หูจิ่นเทาในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้มอบ “รัตนนาวาเจิ้งเหอ” (郑和七宝宝船) ซึ่งประกอบไปด้วยอัญมณี 7 ชนิด ให้เป็นของขวัญแก่ผู้นำพรรคทั้งสองของไต้หวัน เรือจำลองลำดังกล่าวออกแบบและสร้างขึ้นภายใต้การควบคุมดูแลของบุคคลระดับสูงและนักวิชาการของจีน โดยมีเฉียวสือ (乔石) อดีตกรรมการประจำของกรมการเมือง และอดีตประธานสภาผู้แทนประชาชน เป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศาสตราจารย์ฉางเหวินกวง (常文光) ซึ่งเป็นผู้วางแผนทั่วไปในการจัดสร้างเรือได้ระบุว่า การมาเยือนแผ่นดินใหญ่ของเหลียนจ้านในครั้งนี้มีเนื้อหาสาระเฉกเช่นการเดินเรือของเจิ้งเหอเมื่อ 600 ปีที่แล้ว นั่นคือ เป็นการเดินเรือเพื่อแสวงหาสันติภาพ (Hu Jintao presented Lian Zhan with Zheng He Seven-Gem Ship, 2005, April 30) สอดคล้องกับหนังสือพิมพ์ เศรษฐกิจรายวัน (经济日报) ในสังกัดคณะมุขมนตรีซึ่งรายงานว่า รัตนนาวาลำดังกล่าวไม่ใช่ของขวัญธรรมดา หากแต่ยังมีความหมายต่อการสร้างสันติภาพอีกด้วย เพราะชื่อของเจิ้งเหอนั้นพ้องเสียงกับคำว่า “เจิ้งเหอ” (正和) ซึ่งหมายถึง การแก้ไขปัญหาข้อพิพาท หรือการลดความตึงเครียด ชื่อของเจิ้งเหอจึงเป็นเสมือนสัญญาณบ่งบอกว่า ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น (Zheng He Seven-Gem Ship is not just a gift, 2005, May 30)

[1] อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยน (陈水扁) จากพรรคหมินจิ้นตั่ง (民进党) ของไต้หวัน ได้ปฏิเสธที่จะรับข้อเสนอดังกล่าว จนกระทั่งเมื่อหม่าอิงจิ่ว (马英九) จากพรรคกั๋วหมินตั่งได้เป็นประธานาธิบดีใน ค.ศ. 2008 ไต้หวันจึงยอมรับข้อเสนอจากจีน โดยจีนได้ส่งมอบแพนด้า 2 ตัว นามว่า “ถวนถวน” (团团) และ “หยวนหยวน” (圆圆) ให้แก่ไต้หวันในเดือนธันวาคมของปีนั้น
[2] การพบปะครั้งสุดท้ายระหว่างผู้นำระดับสูงสุดของทั้งสองพรรคก็คือ การประชุมร่วมกันระหว่างเหมาเจ๋อตงกับเจียงไคเช็ค (蒋介石) ณ เมืองฉงชิ่ง เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1945 เพื่อหาทางยุติสงครามกลางเมือง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ



เอกสารอ้างอิง

Hu Jintao presented Lian Zhan with Zheng He Seven-Gem Ship symbolizing a long and peaceful voyage rich in significance. (2005, April 30). Ta Kung Pao. Retrieved March 31, 2009, from http://www.qkwh.com/english/zhbc/zhbc07.htm.

Wachman, Alan M. (2008). Why Taiwan? Geostrategic Rationales for China’s Territorial Integrity. Singapore: NUS Press.

Zheng He Seven-Gem Ship is not just a gift. (2005, May 30). Economic Daily. Retrieved March 31, 2009, from http://www.qkwh.com/english/zhbc/zhbc07.htm.

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ขอเชิญฟังการสอบป้องกันเค้าโครงร่างวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก


หัวข้อวิทยานิพนธ์
"ภาพลักษณ์ของเจิ้งเหอในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีน"
โดย นายสิทธิพล เครือรัฐติกาล
วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม 2552
เวลา 13.30 น.
ณ ห้องประชุมวิทยาลัยสหวิทยาการ
ชั้น 5 อาคารเอนกประสงค์ 1 (ตรงข้ามคณะศิลปศาสตร์)
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
คณะกรรมการสอบประกอบไปด้วย
1. รองศาสตราจารย์ ดร. โคริน เฟื่องเกษม (ประธาน)
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จุฬาพร เอื้อรักสกุล (กรรมการและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก)
3. รองศาสตราจารย์ ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ (กรรมการและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม)
4. รองศาสตราจารย์ อาทร ฟุ้งธรรมสาร (กรรมการ)
5. รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย มูลศิลป์ (กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัย)
ผลการสอบ: ผ่าน (กรรมการให้ปรับแก้เค้าโครงเล็กน้อย โดยไม่ต้องสอบใหม่)

สถานะของเจิ้งเหอในประวัติศาสตร์จีน



1. เจิ้งเหอในสมัยก่อนสงครามฝิ่น

นโยบายกองเรือมหาสมบัติของจักรพรรดิหย่งเล่อและจักรพรรดิเซวียนเต๋อได้ก่อให้เกิดแรงต่อต้านจากบรรดาขุนนางและปัญญาชนซึ่งมองว่านโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยและขัดกับหน้าที่ของรัฐตามแบบขงจื๊อ จนนำไปสู่การยกเลิกนโยบายดังกล่าวหลัง ค.ศ. 1435 และต่อมาก็มีการเผาทำลายเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการเดินเรือในครั้งนั้น ด้วยเหตุนี้เรื่องราวของเจิ้งเหอจึงเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ จนกระทั่งเมื่อราชวงศ์หมิงเข้าสู่ช่วงแห่งความตกต่ำในศตวรรษถัดมา จึงได้มีความพยายามในการรื้อฟื้นเรื่องราวของเขาขึ้นมาอีกครั้ง

ราชวงศ์หมิงในคริสต์ศตวรรษที่ 16 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ประสบกับปัญหาความวุ่นวายจากทั้งภายนอกและภายใน โดยภายนอกนั้นจีนต้องเผชิญกับโจรสลัดญี่ปุ่น (倭寇) รวมทั้งข้อเรียกร้องทางการค้าของโปรตุเกส จนจีนต้องยกเอ้าเหมิน (澳门) หรือมาเก๊าให้ไปเมื่อ ค.ศ. 1557 ขณะเดียวกันก็มีการทำสงครามกับมองโกลระหว่าง ค.ศ. 1540 ถึง ค.ศ. 1573 และเหตุการณ์ที่บั่นทอนอำนาจของราชวงศ์หมิงลงเป็นอย่างมากก็คือ สงครามกับญี่ปุ่นบนคาบสมุทรเกาหลีใน ค.ศ. 1593 และ ค.ศ. 1597 ซึ่งราชสำนักต้องเสียค่าใช้จ่ายไปในสงครามครั้งละ 10,000,000 ตำลึง และทำให้ราชวงศ์หมิงอยู่ในสภาวะเกือบล้มละลาย (ไรสเชอร์ และแฟรแบงค์, 2510, น. 669-670) และเมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 17 ราชวงศ์หมิงก็ต้องเผชิญกับการรุกรานของชาวแมนจูจนนำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์ในที่สุด

ส่วนภายในราชสำนักหมิงเอง จักรพรรดิเจียจิ้ง (嘉靖 ครองราชย์ ค.ศ. 1521 – ค.ศ. 1566) ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการแสวงหายาอายุวัฒนะและมิได้ออกว่าราชการเป็นเวลาหลายปี ส่วนจักรพรรดิว่านลี่ (万历ครองราชย์ ค.ศ. 1572 – ค.ศ. 1620) ถึงแม้ว่าจะเป็นรัชสมัยที่รุ่งเรืองในทางวรรณคดี หากแต่พระองค์ก็ใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย โดยทรงใช้เงินกว่า 90,000 ตำลึงเพื่อการอภิเษกสมรสของพระองค์ และ 12,000,000 ตำลึงเพื่อจ่ายให้กับเชื้อพระวงศ์ และอีกกว่า 9,000,000 ตำลึงเพื่อสร้างพระราชวังใหม่ (ไรสเชอร์ และแฟรแบงค์, 2510, น. 685) รวมทั้งยังทรงละเลยการบริหารราชการและปล่อยให้อำนาจอยู่ในมือของขันที เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลง อำนาจทางการเมืองจึงตกอยู่กับขันทีเว่ยจงเสียน (魏忠贤) ผู้ซึ่งกุมอำนาจต่อมาจนถึง ค.ศ. 1627

ในปลายราชวงศ์หมิงนี้เองที่ได้เกิดวรรณกรรมเกี่ยวกับเจิ้งเหอขึ้นมาสองเรื่อง เรื่องแรกคือนวนิยายที่ชื่อ การเดินทางท่องทะเลตะวันตกของขันทีซานเป่า (三宝太监下西洋记通俗演义) หรือที่เรียกสั้นๆว่า บันทึกการท่องทะเลตะวันตก (ซีหยางจี้) แต่งโดย หลัวเม่าเติง (罗懋登) เมื่อ ค.ศ. 1597 โดยในเรื่องระบุว่า การเดินเรือของเจิ้งเหอมีจุดประสงค์เพื่อตามหาตราแผ่นดินที่สูญหายไป ซึ่ง Finlay (1992) ได้วิเคราะห์ว่า การตามหาตราแผ่นดินกลับคืนมาสะท้อนให้เห็นว่าผู้แต่งนั้นไม่พอใจกับสภาพที่เสื่อมโทรมของราชวงศ์หมิง และต้องการให้จีนกลับมายิ่งใหญ่และเป็น “อาณาจักรกลาง” อย่างแท้จริงอีกครั้งหนึ่ง เฉกเช่นในสมัยของเจิ้งเหอ (Finlay, 1992, pp. 235-236)

วรรณกรรมเรื่องที่สองคือบทละครเรื่อง ขันทีซานเป่ารับพระราชโองการท่องทะเลตะวันตก (奉天命三宝下西洋) แต่งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1615 โดยไม่ปรากฏนามผู้แต่ง หากแต่ก็เป็นบทละครที่ใช้เล่นกันในราชสำนักของจีน โดยตอนหนึ่งของเรื่องได้เล่าว่า กองเรือของเจิ้งเหอแล่นเข้าไปในน่านน้ำที่เป็นประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน บรรดากษัตริย์ทั้งหลายในดินแดนแถบนั้นก็พากันยกพลมาล้อมเรือของเจิ้งเหอเอาไว้ พร้อมกับเรียกร้องขอผ้าไหมและเครื่องกระเบื้องเคลือบจากจีนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่เจิ้งเหอจะสามารถเดินเรือผ่านได้อย่างปลอดภัย เจิ้งเหอจึงคิดกลอุบายด้วยการหลอกกษัตริย์เหล่านี้ว่า แท้จริงแล้วเครื่องกระเบื้องเคลือบของจีนนั้นงอกออกมาจากต้นไม้ และบนเรือของเขาก็มีต้นกระเบื้องเคลือบ (porcelain tree) ให้ชมด้วย เหล่ากษัตริย์ต่างพากันหลงเชื่อและเดินขึ้นไปบนเรือของเจิ้งเหอ ทำให้เจิ้งเหอสามารถจับกุมกษัตริย์เหล่านี้ได้โดยง่าย Levathes (1994) ได้ชี้ให้เห็นว่า ละครฉากดังกล่าวสะท้อนความเฉลียวฉลาดของเจิ้งเหอ รวมทั้งความปรารถนาของผู้แต่งที่ต้องการให้จีนกลับมามีแสนยานุภาพทางทะเลเฉกเช่นเมื่อครั้งต้นราชวงศ์หมิง (Levathes, 1994, pp. 188-189)

หลังจากที่ราชวงศ์หมิงล่มสลายลง จักรพรรดิในยุคต่อมาคือราชวงศ์ชิง (清朝ค.ศ. 1644 – ค.ศ. 1912) ยังคงแสดงจุดยืนอย่างเป็นทางการว่าไม่สนับสนุนการค้าทางทะเล โดยเมื่อ ค.ศ. 1662 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในจักรพรรดิคังซี (康熙ครองราชย์ ค.ศ. 1661 – ค.ศ. 1722) ได้มีคำสั่งห้ามมิให้เมืองท่าต่างๆของจีนค้าขายกับต่างประเทศ ยกเว้นการติดต่อตามระบบบรรณาการเท่านั้น[1] นอกจากนี้ราชวงศ์ชิงยังได้บทเรียนจากราชวงศ์หมิงว่า การปล่อยให้ขันทีเข้ามามีบทบาททางราชการนั้นส่งผลเสียหายร้ายแรงเพียงใด ตัวเอ่อร์กุน (多尔衮) เจ้าชายผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงต้นรัชสมัยซุ่นจื้อ (顺治ครองราชย์ ค.ศ. 1643 – ค.ศ. 1661) ถึงกับเคยมีความคิดว่าควรยกเลิกระบบขันที ต่อมาใน ค.ศ. 1655 จักรพรรดิซุ่นจื้อก็ได้มีรับสั่งห้ามมิให้ขันทีเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างเด็ดขาด โดยทำเป็นแผ่นป้ายจารึกตั้งไว้ที่ประตูหน้าพระตำหนักเจียวไท่ (交泰殿) ในพระราชวังต้องห้าม (หลี่กั๋วหญง, 2004, น. 185)[2] ส่วนจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆ครองราชย์ ค.ศ. 1735 - ค.ศ. 1795) ก็เคยรับสั่งว่าการรู้หนังสือทำให้ขันทีละโมบและทะเยอทะยานได้ง่ายขึ้น ขันทีจึงควรเรียนหนังสือแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น (Rawski, 1998, p. 192) หนังสือ ประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิง (明史) ที่นักประวัติศาสตร์ราชสำนักชิงเรียบเรียงเสร็จใน ค.ศ. 1739 จึงมิได้ให้ความสำคัญกับการเดินเรือของขันทีอย่างเจิ้งเหอมากนัก โดยกล่าวถึงเจิ้งเหออยู่เพียงประมาณ 700 ตัวอักษรจีน และได้อธิบายว่านโยบายกองเรือมหาสมบัติเป็นการใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย และสิ่งของมีค่าที่จีนได้รับมาก็ไม่คุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสียไป อย่างไรก็ตามหนังสือดังกล่าวยังคงยอมรับว่า ในมุมมองที่ไม่ใช่ของทางราชการแล้ว การเดินเรือของเจิ้งเหอถือเป็นความสำเร็จของจีนในต้นราชวงศ์หมิง (ดูคำแปลของหนังสือดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับเจิ้งเหอได้ในภาคผนวก 1 ของ Dreyer, 2007, pp. 187-191)

2. เจิ้งเหอหลังสงครามฝิ่นจนถึงสมัยสาธารณรัฐจีน

เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ราชวงศ์ชิงก็ประสบกับปัญหาความวุ่นวายจากทั้งภายในและภายนอก การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรได้นำไปสู่ความอดอยากและการกบฏ ขณะเดียวกันข้อพิพาททางการค้ากับอังกฤษก็ได้นำไปสู่การเกิดสงครามฝิ่น (鸦片战争) เมื่อ ค.ศ. 1840 และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของจีนและการลงนามสนธิสัญญานานกิง (南京条约) เมื่อ ค.ศ. 1842 หลังจากนั้นเป็นต้นมาจนถึงการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1949 จีนต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากมหาอำนาจจักรวรรดินิยม การกบฏ การปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิงใน ค.ศ. 1911 และสงครามกลางเมืองระหว่างขุนศึกในช่วงต้นของสาธารณรัฐจีน ในยุคที่มืดมนและตกต่ำของจีนนี้เองที่ชื่อของเจิ้งเหอได้ปรากฏขึ้นต่อสาธารณชนอีกครั้งหนึ่ง

ใน ค.ศ. 1904 เหลียงฉี่เชา (梁启超) ปัญญาชนนักปฏิรูปผู้เชื่อมั่นในระบอบรัฐธรรมนูญที่มีจักรพรรดิทรงเป็นประมุข[3] ได้เขียนบทความเรื่อง เจิ้งเหอ: นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่แห่งมาตุภูมิ (祖国大航海家郑和传) ลงในหนังสือพิมพ์ ซินหมินฉงเป้า (新民丛报) โดยเขาได้เปรียบเทียบว่าการเดินเรือของเจิ้งเหอเกิดขึ้นก่อนการเดินเรือของโคลัมบัสกว่า 60 ปี และก่อนวาสโก ดา กามาถึง 70 กว่าปี การเดินเรือของเจิ้งเหอจึงถือเป็น “เกียรติภูมิในประวัติศาสตร์ของประเทศ” (国史之光) (จิ้นไต้หมิงเหญินลุ่นเจิ้งเหอ, 1 มิถุนายน 2005) นักวิชาการจีนอย่างสือผิง (时平) ได้วิเคราะห์ว่า บทความดังกล่าวสะท้อนความคิดทางการเมืองของเหลียงฉี่เชาอยู่สามประการคือ (1) การกระตุ้นจิตสำนึกชาตินิยมเพื่อให้ประเทศจีนสามารถยืนอยู่ได้อย่างสง่างามบนเวทีโลก โดยมีเจิ้งเหอเป็นตัวแบบ (2) สถาบันจักรพรรดิยังมีคุณประโยชน์ต่อประเทศจีน ดังเช่นจักรพรรดิที่ปรีชาสามารถอย่างหย่งเล่อผู้เคยส่งกองเรือของเจิ้งเหอออกไปสร้างความยิ่งใหญ่มาแล้ว ดังนั้นแนวทางที่เหมาะสมในการฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของจีนก็คือ การมีการปกครองแบบราชาธิปไตยทรงภูมิธรรม (开明专制)[4] และ (3) สาเหตุหนึ่งที่ทำให้จีนอ่อนแอและไม่อาจต้านทานการรุกรานของจักรวรรดินิยมได้ก็คือ การขาดแสนยานุภาพทางทะเล ดังนั้นจีนจึงควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างอำนาจทางทะเลเหมือนเมื่อครั้งเจิ้งเหอในต้นราชวงศ์หมิง (สือผิง, 30 พฤษภาคม 2005) กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า เหลียงฉี่เชานำเอาเจิ้งเหอมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการฟื้นฟูเกียรติภูมิและความยิ่งใหญ่ของจีน

ต่อมาใน ค.ศ. 1919 ซึ่งเป็นปีแห่งการปฏิวัติเชิงปัญญาความคิดของจีน หรือที่รู้จักกันว่า “ความเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม” (五四运动)[5] ดร.ซุนยัดเซ็น หรือซุนจงซาน (孙中山) นักปฏิวัติและผู้นำพรรคกั๋วหมินตั่ง (国民党) ได้เขียนบทความเรื่อง แผนการสร้างประเทศ (建国方略) โดยมีความตอนหนึ่งกล่าวถึงเจิ้งเหอว่า

เจิ้งเหอใช้เวลาเพียง 14 เดือนก็สามารถสร้างเรือใหญ่ 64 ลำได้สำเร็จ บรรทุกผู้คนกว่า 28,000 คนไปท่องทะเลใต้[6] สำแดงอำนาจของจีนให้เป็นที่ประจักษ์แก่นานาประเทศ ถือได้ว่าเป็นผลงานที่หาได้ยากทั้งในอดีตและอนาคต ทุกวันนี้ผู้คนในทะเลใต้ยังคงหวนระลึกถึงความน่าเกรงขามที่ซานเป่าได้ทิ้งไว้เมื่อครั้งกระโน้น ถือได้ว่าเป็นความยิ่งใหญ่ ปัจจุบันนี้ถ้าให้คนจีนเอาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเครื่องจักรกลจากต่างประเทศมาสร้างเรือหนึ่งลำที่มีขนาด 3,000 ตัน ยังถือว่าเป็นเรื่องยากเลย ลองคิดดูสิว่าความสำเร็จของเจิ้งเหอนั้นยิ่งใหญ่เพียงใด?
(จิ้นไต้หมิงเหญินลุ่นเจิ้งเหอ, 1 มิถุนายน 2005)

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตามข้อตกลงที่ประเทศสัมพันธมิตรทำกันไว้ในการประชุมไคโร (The Cairo Conference) เมื่อ ค.ศ. 1943 และการประชุมปอตสดัม (The Potsdam Conference) เมื่อ ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นในฐานะผู้แพ้สงครามต้องส่งมอบดินแดนที่ยึดมาจากประเทศอื่นๆตั้งแต่ ค.ศ. 1895 คืนให้แก่เจ้าของเดิมทั้งหมด ซึ่งหมายรวมถึงหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ที่ญี่ปุ่นยึดไปจากจีนเมื่อทศวรรษ 1930 ดังนั้นเมื่อสาธารณรัฐจีนได้กลับมามีอำนาจเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้อีกครั้ง จึงได้นำเอาเจิ้งเหอมาเป็นสัญลักษณ์ของการได้อำนาจอธิปไตยคืนมา โดยใน ค.ศ. 1947 รัฐบาลสาธารณรัฐจีนได้ประกาศตั้งชื่อแนวปะการังแนวหนึ่งในหมู่เกาะหนานซา (南沙群岛) หรือสแปรตลีย์ (The Spratly Islands) ว่า “แนวปะการังเจิ้งเหอ” (郑和群礁) และตั้งชื่อหมู่เกาะซีกตะวันตกและตะวันออกของหมู่เกาะซีซา (西沙群岛) หรือพาราเซล (The Paracel Islands) ว่า “หมู่เกาะหย่งเล่อ” (永乐群岛) และ “หมู่เกาะเซวียนเต๋อ” (宣德群岛) ตามชื่อรัชสมัยของจักรพรรดิที่ส่งกองเรือของเจิ้งเหอออกท่องมหาสมุทร (เจิ้งเหอหางไห่จือซื่อ, 26 กรกฎาคม 2007) และต่อมาใน ค.ศ. 1955 รัฐบาลกั๋วหมินตั่งซึ่งขณะนั้นได้ย้ายไปตั้งมั่นบนเกาะไต้หวันแล้ว ก็ได้กำหนดให้วันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปีซึ่งตรงกับวันที่เจิ้งเหอออกเดินเรือครั้งแรก เป็นวันเดินเรือแห่งชาติ (航海日) ของสาธารณรัฐจีน (Yu Sen-lun, 11 January 2004)

3. เจิ้งเหอในสมัยสาธารณรัฐประชาชนจีน

หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดอำนาจการปกครองและสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1949 แนวทางการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของจีนก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดมากซ์-เลนิน (Marxist-Leninist Thought) เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม (文化大革命) ระหว่าง ค.ศ. 1966 ถึง ค.ศ. 1976 ที่มีการ “วิพากษ์สี่เก่า” (破四旧) คือ ความคิดเก่า วัฒนธรรมเก่า ประเพณีเก่า และนิสัยเก่า หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ สิ่งต่างๆที่จีนได้สั่งสมมาเป็นเวลานับพันปีล้วนแต่ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์และแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ที่เป็นตัวแทนของลัทธิสังคมนิยม (วรศักดิ์ มหัทธโนบล, 2547, น. 109-110) ด้วยเหตุนี้บุคคลในประวัติศาสตร์อย่างเจิ้งเหอจึงมิได้อยู่ในสถานะที่ทางการจีนจะนำมาใช้ในการส่งเสริมลัทธิสังคมนิยมได้

อย่างไรก็ดี Michael H. Hunt (1996) ได้เตือนไม่ให้เรามองการดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีนโดยยึดกรอบแบบมากซ์-เลนินมากจนเกินไป เขาได้ชี้ให้เห็นว่าในทางปฏิบัติแล้วผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายต่างประเทศอยู่ไม่น้อย และพวกเขายังรู้จักนำเอาประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีนมาใช้เพื่อตอบสนองความจำเป็นในปัจจุบันอีกด้วย (Hunt, 1996, pp. 3-10) และเมื่อถึงทศวรรษ 1960 ที่จีนต้องการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่เพิ่งได้เอกราชใหม่ในแอฟริกาเพื่อเป็นแนวร่วมในการต่อต้านโลกทุนนิยมและจักรวรรดินิยม จีนก็ได้นำเอาเจิ้งเหอมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง โดยในการเดินทางเยือนโซมาเลียและเคนยาของนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล (周恩来) เมื่อ ค.ศ. 1964 เขาได้กล่าวว่า “เจิ้งเหอในสมัยราชวงศ์หมิงของจีนถือเป็นนักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่ เขาเคยเดินทางเยือนโซมาเลีย เคนยา และประเทศอื่นๆในแอฟริกาตะวันออกมาแล้ว เขามีคุณูปการต่อการสร้างมิตรภาพระหว่างจีนกับแอฟริกาเป็นอันมาก” (จิ้นไต้หมิงเหญินลุ่นเจิ้งเหอ, 1 มิถุนายน 2005)

ภายหลังจากที่การปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลงพร้อมกับการอสัญกรรมของเหมาเจ๋อตง (毛泽东) ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อ ค.ศ. 1976 ผู้นำคนใหม่คือ เติ้งเสี่ยวผิง (邓小平) ได้ประกาศใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 มีการยกเลิกแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง โดยหันมายอมรับกลไกตลาด รวมทั้งยังเปิดให้จีนมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับโลกภายนอก ภายใต้สภาพการณ์ใหม่นี้เองที่จีนได้นำเจิ้งเหอมาเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดประเทศ ดังจะเห็นได้จากสุนทรพจน์ของเติ้งเสี่ยวผิงต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาส่วนกลาง (中央顾问委员会) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1984 ความตอนหนึ่งว่า

นโยบายปิดประตูทำให้ประเทศไม่อาจพัฒนาได้ พวกเราต่างก็เจ็บปวดจากการโดดเดี่ยวตนเอง บรรพชนของเราก็เช่นกัน เราเคยเปิดประตูมาแล้วในสมัยจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ มีการส่งกองเรือของเจิ้งเหอออกท่องทะเลตะวันตก แต่พอพระองค์สิ้นพระชนม์ ราชวงศ์หมิงก็ตกต่ำลง ... บทเรียนที่ผ่านมาบอกเราว่า ถ้าเราไม่เปิดประตูสู่ภายนอก เราก็ไม่อาจจะก้าวไปข้างหน้าได้
(Deng Xiaoping, 1994, pp. 96-97)

หลังจากสุนทรพจน์ครั้งดังกล่าว ชื่อของเจิ้งเหอก็ปรากฏขึ้นบ่อยครั้งกว่าเดิม โดยใน ค.ศ. 1985 ทางการจีนได้จัดงานฉลองครอบรอบ 580 ปีการเดินเรือของเจิ้งเหอ และเมื่อถึง ค.ศ. 1987 กองทัพเรือจีนได้ตั้งชื่อเรือฝึกเดินสมุทร (training ship) ลำใหม่ว่า “เรือฝึกเจิ้งเหอ” (“郑和”号训练舰) โดยเรือลำดังกล่าวได้เดินทางไปเยือนอ่าวเพิร์ล (Pearl Harbor) มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1989 และถือเป็นครั้งแรกที่เรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนแล่นเข้าไปในซีกโลกตะวันตก (หูหญงผิง, 9 พฤษภาคม 2008)

ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1991 เจียงเจ๋อหมิน (江泽民) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวสหภาพโซเวียต โดยมีความตอนหนึ่งระบุว่า เส้นทางสายไหมและการท่องทะเลตะวันตกของเจิ้งเหอนั้นเป็นประจักษ์พยานว่า จีนให้ความสำคัญกับการติดต่อและการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมกับนานาประเทศ “อย่างเป็นมิตร” (友好) มาแต่โบราณแล้ว (จิ้นไต้หมิงเหญินลุ่นเจิ้งเหอ, 1 มิถุนายน 2005) คำกล่าวของเจียงเจ๋อหมินดูเหมือนจะช่วยปูทางไปสู่การนำเสนอเรื่องราวของเจิ้งเหอในฐานะ “ทูตสันติภาพ” ที่จีนจะได้ดำเนินการอย่างจริงจังหลัง ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา

จะเห็นได้ว่า สถานะของเจิ้งเหอในประวัติศาสตร์จีนนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางการเมืองและสังคมของแต่ละยุคสมัย โดยพอจะสรุปเป็นข้อๆได้ว่า (1) ในช่วงก่อนเกิดสงครามฝิ่นซึ่งระเบียบทางการเมืองและสังคมของจีนยังอยู่ในกรอบของลัทธิขงจื๊อ การเดินเรือของเจิ้งเหอจึงเป็นเพียงกิจกรรมของขันทีที่ฟุ่มเฟือยและไร้ประโยชน์ และถึงแม้ว่าจะมีความพยายามฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของกองเรือเจิ้งเหอผ่านวรรณกรรมในปลายราชวงศ์หมิง หากแต่ก็ไม่สำเร็จ (2) เมื่อจีนเข้าสู่ช่วงแห่งความวุ่นวายนับจากสงครามฝิ่นมาจนถึงสมัยสาธารณรัฐจีน ชนชั้นนำและปัญญาชนจีนจึงได้หันมาพิจารณาเจิ้งเหอเสียใหม่ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ของจีนในอดีต และเป็นแบบอย่างในการฟื้นฟูเกียรติภูมิของจีนในเวทีโลก (3) ในช่วงต้นของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ยังคงมีการเผชิญหน้ากับโลกเสรีในสงครามเย็น จีนได้เคยใช้ชื่อของเจิ้งเหอในการกระชับความสัมพันธ์กับบางประเทศในทวีปแอฟริกาเพื่อสร้างแนวร่วมต่อต้านโลกทุนนิยมและจักรวรรดินิยม และ (4) เมื่อจีนหันมาใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจหลัง ค.ศ. 1978 เจิ้งเหอก็ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดประเทศเพื่อมิตรภาพและผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างจีนกับนานาชาติ และเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2000 จีนจะได้นำเสนอเรื่องราวของเจิ้งเหออย่างเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ผู้วิจัยจะศึกษาและวิเคราะห์อย่างละเอียดต่อไป

[1] อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้วจุดยืนดังกล่าวมีความยืดหยุ่นพอสมควร ดังเช่นเมื่อจีนประสบปัญหาขาดแคลนข้าวในทศวรรษ 1720 ราชสำนักชิงก็ได้ยอมให้มีการนำเข้าข้าวจากสยามได้ ดูรายละเอียดในงานศึกษาของ สารสิน วีระผล (2548, น. 69-120)
[2] สิ่งที่ดูเหมือนเป็น “ตลกร้าย” ก็คือ จักรพรรดิซุ่นจื้อเองเป็นผู้ที่ใช้ขันทีในการปฏิบัติราชการอย่างกว้างขวาง โดยใน ค.ศ. 1653 พระองค์ได้ตั้งหน่วยงานของขันทีรวม 13 กรม (十三衙门) ขึ้นมาทำหน้าที่แทนสำนักพระราชวัง (内务府) จนเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลงใน ค.ศ. 1661 หน่วยงานดังกล่าวจึงถูกยุบไป ดูรายละเอียดได้ใน Rawski (1998, pp. 160-194)
[3] แนวคิดของเหลียงฉี่เชานั้นตรงกันข้ามกับแนวคิดของ ดร.ซุนยัดเซ็น ที่ต้องการปฏิวัติล้มสถาบันจักรพรรดิและสถาปนาสาธารณรัฐ โดยแนวคิดของทั้งสองฝ่ายต่างขับเคี่ยวกันอยู่ในทศวรรษ 1900
[4] แนวคิดเรื่องภูมิธรรม (The Enlightenment) เกิดขึ้นในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 สถานะของราชาธิปไตยทรงภูมิธรรมก็คือ กษัตริย์จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสมัยของเหตุผล โดยไม่อ้างอำนาจแบบเทวสิทธิ์ (Divine Right) อีกต่อไป หากแต่จะต้องเป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถเป็นที่ยอมรับในสายตาของประชาชน บุคคลหนึ่งที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ทรงภูมิธรรมก็คือ พระเจ้าเฟรเดอริกมหาราช (Frederick the Great ครองราชย์ ค.ศ. 1740 – ค.ศ. 1786) ผู้ทำให้รัฐเยอรมันอย่างปรัสเซียกลายเป็นประเทศมหาอำนาจของยุโรป
[5] แม้ว่าความเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919 จะมีสาเหตุหลักมาจากข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมต่อจีนในสนธิสัญญาสันติภาพแวร์ซายส์ (The Treaty of Versailles) หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หากแต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นสัญลักษณ์ของการเบ่งบานทางความคิดในหมู่ปัญญาชนจีนรุ่นใหม่ ดูรายละเอียดใน แฟร์แบงค์ และคณะ (2550, น. 749-766)
[6] ทะเลใต้ หรือ หนานหยาง (南洋) หมายถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร

เอกสารอ้างอิง

แฟร์แบงค์, จอห์น เค., เอ็ดวิน โอ. ไรเชาเออร์ และ แอลเบิร์ต เอ็ม. เครก. (2550). เอเชียตะวันออกยุคใหม่: จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน (เพ็ชรี สุมิตร, ศรีสุข ทวิชาประสิทธิ์, กุสุมา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, ชัยโชค จุลศิริวงศ์ และ วิสาขา เลห์แมน, ผู้แปล; เพ็ชรี สุมิตร บรรณาธิการ; วรศักดิ์ มหัทธโนบล และ สมถวิล ลือชาพัฒนพร, บรรณาธิการต้นฉบับ, พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

ไรสเชอร์, เอ็ดวิน โอ. และ ยอห์น เค. แฟรแบงค์. (2510). อู่อารยธรรมตะวันออก เล่ม 3 (จำนงค์ทองประเสริฐ นิทัศน์ ชูทรัพย์ วินิตา ไกรฤกษ์ และเขียน ธีระวิทย์, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.

วรศักดิ์ มหัทธโนบล. (2547). เศรษฐกิจการเมืองจีน. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สารสิน วีระผล. (2548). จิ้มก้องและกำไร: การค้าไทย-จีน 2195-2396/1652-1853 (พรรณงาม เง่าธรรมสาร, รังษี ฮั่นโสภา และ สมาพร แลคโซ, ผู้แปล; ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ กัณฐิกา ศรีอุดม, บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

Deng Xiaoping. (1994). Selected Works of Deng Xiaoping, Volume III (1982-1992). Beijing: Foreign Languages Press.

Dreyer, Edward L. (2007). Zheng He: China and the Oceans in the Early Ming Dynasty, 1405-1433. New York: Pearson Education, Inc.

Finlay, Robert. (1992). Portuguese and Chinese Maritime Imperialism: Camoes’s Lusiads and Luo Maodeng’s Voyage of the San Bao Eunuch. Comparative Studies in Society and History, 34(2), 225-241.

Hunt, Michael H. (1996). The Genesis of Chinese Communist Foreign Policy. New York: Columbia University Press.

Levathes, Louise. (1994). When China Ruled the Seas: the Treasure Fleet of the Dragon Throne 1405-1433. New York: Simon&Schuster.

Yu Sen-lun. (11 January 2004). Following in the wake of Zheng He. Taipei Times, p. 17. Retrieved March 21, 2009, from http://www.taipeitimes.com/News/feat/ archives/2004/01/11/2003087264.

จิ้นไต้หมิงเหญินลุ่นเจิ้งเหอ (บุคคลที่มีชื่อเสียงในยุคใกล้พูดถึงเจิ้งเหอ). (1 มิถุนายน 2005). สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2009, จาก http://www.china.com.cn/chinese/ zhuanti/zhxxy/878345.htm.
近代名人论郑和。(2005/06/01)。2009 年4月18日,http://www.china.com.cn/ chinese/zhuanti/zhxxy/878345.htm。

เจิ้งเหอหางไห่จือซื่อ (ความรู้ด้านการเดินเรือของเจิ้งเหอ). (26 กรกฎาคม 2007). สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2009, จาก http://ytmsa.gov.cn/n435777/n436492/10450.html.
郑和航海知识。(2007/07/26)。2009 年4月18日,http://ytmsa.gov.cn/ n435777/n436492/10450.html。

สือผิง. (30 พฤษภาคม 2005). กวานอวี๋เหลียงฉี่เชา《จู่กั๋วต้าหางไห่เจียเจิ้งเหอจ้วน》เตอะไจ้เยิ่นซื่อ (การทำความรู้จักอีกครั้งกับหนังสือของเหลี่ยงฉี่เชาเรื่อง เจิ้งเหอ: นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่แห่งมาตุภูมิ). สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2009, จาก http://www.china.com.cn/ chinese/zhuanti/zhxxy/876109.htm.
时平。(2005/05/30)。关于梁启超《祖国大航海家郑和传》的再认识。2009年1月31日,http://www.china.com.cn/chinese/zhuanti/zhxxy/876109.htm

หูหญงผิง. (9 พฤษภาคม 2008). อีจิ่วปาจิ่วเหนียน ตี้อีโซวหย่วนหยางหางไห่ซวิ่นเลี่ยนเจี้ยน “เจิ้งเหอ” เห้าฝางเหม่ย (ค.ศ. 1989 เรือฝึกเดินสมุทรลำแรกของจีนชื่อ “เจิ้งเหอ” ไปเยือนสหรัฐอเมริกา. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2008, จาก http://news.rednet. cn/c/2008/05/09/1503185.htm.
胡蓉平。(2008/05/09)。1989年 第一艘远洋航海训练舰“郑和”号访美。2008年11月9日,http://news.rednet.cn/c/2008/05/09/1503185.htm。

วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเจิ้งเหอ



ก่อนถึงทศวรรษ 2000 วงวิชาการไทยยังมิได้มีการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของเจิ้งเหอเท่าใดนัก วิทยานิพนธ์ของสืบแสง พรหมบุญ (2525) กล่าวถึงเจิ้งเหออยู่บ้างในฐานะทูตที่เข้ามาติดต่อสัมพันธ์กับอาณาจักรอยุธยา โดยมีบทบาททั้งในการสนับสนุนราชวงศ์สุพรรณภูมิของสมเด็จพระนครินทราธิราชให้ได้ขึ้นครองอำนาจ และการกดดันไม่ให้อยุธยาแผ่อำนาจเข้ารุกรานดินแดนแถบมะละกา งานศึกษาที่เฉพาะเจาะจงลงไปที่เจิ้งเหอเท่าที่สำรวจพบก็คือบทความของวุฒิชัย มูลศิลป์ (2548, ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2535) ซึ่งฉายภาพให้เห็นสาเหตุการเดินเรือของเจิ้งเหอ จำนวนครั้งและเส้นทางการเดินเรือ สาเหตุที่การเดินเรือต้องยุติลง รวมทั้งนัยสำคัญของการเดินเรือของเจิ้งเหอต่อประวัติศาสตร์โลก จนเมื่อประเด็นเกี่ยวกับเจิ้งเหอได้รับความสนใจอีกครั้งในทศวรรษ 2000 จึงได้มีงานศึกษาของคนไทยเกี่ยวกับเจิ้งเหอมากขึ้น ผลงานที่สำคัญคือ หนังสือของปริวัฒน์ จันทร (2546) และสืบแสง พรหมบุญ (2548) ซึ่งได้ค้นคว้าและเรียบเรียงเรื่องราวของเจิ้งเหออย่างค่อนข้างละเอียด โดยนอกจากจะกล่าวถึงประวัติและผลงานของเจิ้งเหอแล้ว ยังได้กล่าวถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่เจิ้งเหอได้ทิ้งไว้ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม การศึกษาในต่างประเทศเกี่ยวกับเจิ้งเหอนั้นได้ดำเนินมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษแล้ว งานที่สำคัญก็คือหนังสือของ Needham et al. (1971) ซึ่งได้กล่าวถึงเจิ้งเหอโดยเน้นไปที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนด้านการเดินเรือ การต่อเรือ และการทำแผนที่ ผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่มีลักษณะเป็น “ชีวประวัติ” (biography) ของเจิ้งเหอก็คือ งานของ Levathes (1994) ซึ่งได้ค้นคว้าเรื่องราวของเจิ้งเหอจากเอกสารชั้นต้นของจีน โดยเริ่มศึกษาตั้งแต่ประวัติการติดต่อทางทะเลระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ มุมมองของลัทธิขงจื้อที่มีต่อการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชาติกำเนิดของเจิ้งเหอ สาเหตุและรายละเอียดของการเดินเรือในแต่ละครั้ง สาเหตุที่การเดินเรือต้องยุติลง รวมทั้งตำนานต่างๆที่เป็นมรดกจากการเดินเรือในครั้งนั้น ส่วนงานของ Dreyer (2007) แม้ว่าจะมีลักษณะเป็นชีวประวัติคล้ายกับงานของ Levathes หากแต่ก็ได้เพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนที่สำคัญก็คือ ภาพลักษณ์ของเจิ้งเหอที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคต่างๆ ก่อนที่จะกลายมาเป็นตัวแทนของ “การเดินทางเพื่อสันติภาพ” (peaceful voyages) แบบที่จีนพยายามนำเสนอในปัจจุบัน

สาเหตุการเดินเรือของเจิ้งเหอในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 นั้นเป็นประเด็นที่ยังคงมีการถกเถียงกันมากในวงวิชาการ ในด้านหนึ่ง Swanson (1982) และ Levathes (1994) เห็นตรงกันว่า การเดินเรือของเจิ้งเหอนั้นมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับเส้นทางการค้าทางทะเล และทำให้ปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับประเทศต่างๆดำเนินไปได้อย่างไม่มีอุปสรรค ซึ่งการค้าทางทะเลนั้นเอื้อประโยชน์ต่อจีนในสองทางคือ (1) การเป็นแหล่งรายได้และภาษีให้กับรัฐ นอกเหนือไปจากการเก็บภาษีในประเทศเพียงอย่างเดียว และ (2) การค้าทางทะเลเป็นช่องทางที่ราชสำนักและชนชั้นสูงสามารถเข้าถึงสินค้าหรูหราหรือของแปลกๆจากต่างประเทศได้ ส่วน Finlay (2008) ก็ได้ให้ความเห็นคล้ายกันว่า การเดินเรือของเจิ้งเหอนั้นสะท้อนความพยายามของจักรพรรดิจีนในการที่จะนำเอาการค้าทางทะเลอย่างผิดกฎหมายที่มีมานานให้เข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลโดยตรงของรัฐ อันจะช่วยลดปัญหาโจรสลัดและปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงของขุนนางที่ประจำอยู่ตามเมืองท่าชายฝั่งทะเล แต่ในอีกด้านหนึ่ง นักวิชาการอย่าง Wade (2004, หรือดูฉบับภาษาไทยใน เวด, 2548) กลับมองว่าการเดินเรือของเจิ้งเหอเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการล่าอาณานิคมของราชวงศ์หมิงในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 เห็นได้จากการที่กองเรือของเจิ้งเหอได้เข้าไปให้กำลังปราบปรามผู้ต่อต้านอำนาจของจีนในหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสุมาตรา ชวา และศรีลังกา และในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น กองทัพบกของราชวงศ์หมิงก็ได้เข้าไปรุกรานพม่าและเวียดนามอีกด้วย Wade จึงมองว่าการเดินเรือของเจิ้งเหอเป็น “ต้นแบบของการสร้างอาณานิคมภาคพื้นทะเล” (proto-maritime imperialism) ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการล่าอาณานิคมของโปรตุเกสในศตวรรษถัดมา

อย่างไรก็ตาม Dreyer (2007) ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดทั้งสองด้าน เขาเสนอว่าการเดินเรือของเจิ้งเหอเป็นเพียงความพยายามของจีนที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ภายใต้ระบบบรรณาการกับประเทศต่างๆ เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นยอมรับอำนาจและความยิ่งใหญ่ของจีน อันจะช่วยเพิ่มความชอบธรรมให้กับแนวคิดเรื่องการเป็น “โอรสแห่งสวรรค์” (天子The Son of Heaven) ของจักรพรรดิจีน โดยที่จีนมิได้หวังผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือต้องการแสวงหาอาณานิคมแต่ประการใด ขณะที่ Tan Ta Sen (2005) ก็เสนอว่า ระบบบรรณาการของจีนมีรากฐานทางความคิดที่แตกต่างไปจากระบบอาณานิคมของชาติตะวันตก จึงเป็นการไม่ถูกต้องที่จะนำเอาแนวคิดแบบตะวันตกมาอธิบายการเดินเรือของเจิ้งเหอ

การศึกษาเกี่ยวกับเจิ้งเหออีกส่วนหนึ่งจะมุ่งไปพิจารณาถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่เจิ้งเหอได้ทิ้งเอาไว้ในดินแดนต่างๆที่เขาไปเยือน โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานของ Suryadinata (2005) ได้ค้นคว้าผ่านหลักฐานท้องถิ่นอย่าง The Malay Annals of Semarang and Cerbon แล้วพบว่าเจิ้งเหอและชาวจีนมุสลิมมีบทบาทอย่างมากในการทำให้เกาะชวากลายเป็นอิสลาม (Islamization) ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 ขณะที่งานของ Widodo (2005) ก็ได้บ่งชี้ว่าเจิ้งเหอมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมเมือง (urban culture) โครงสร้างการตั้งถิ่นฐานของประชากร (settlement structures) และสถาปัตยกรรมในแถบสุมาตรา กาลิมันตัน ชวา และแหลมมลายู รวมทั้งเจิ้งเหอได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของการผสมผสานกลมกลืนระหว่างวัฒนธรรมอิสลาม พุทธ และเต๋า จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “เอกภาพในความหลากหลาย” (unity in diversity) ส่วนงานของชาญวิทย์ เกษตรศิริ (Charnvit, 2548) ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า แม้จะยังไม่มีหลักฐานที่สรุปแน่ชัดว่าเจิ้งเหอเคยเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาด้วยตนเองหรือไม่ หากแต่เรื่องราวของเจิ้งเหอก็ถูกโยงเข้ากับวัดพนัญเชิง ตำนานเรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้งและพระนางสร้อยดอกหมาก รวมทั้งพระพุทธรูปอย่าง “หลวงพ่อซำปอกง” หรือพระพุทธไตรรัตนนายก

ผลงานล่าสุดที่พยายามท้าทายองค์ความรู้เดิมเกี่ยวกับเจิ้งเหอก็คือ หนังสือของ Menzies (ดู เมนซีส์, 2550 แปลจากฉบับภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 2004) อดีตผู้บังคับการเรือดำน้ำของอังกฤษผู้นี้ได้เสนอว่า แม้ว่าใน ค.ศ. 1421 เจิ้งเหอจะเดินเรือไปถึงเพียงเมืองคาลิกัต (Calicut) ในอินเดีย หากแต่ผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาได้ออกเดินเรือต่อไปโดยอ้อมแหลมกู๊ดโฮป (Cape of Good Hope) ในแอฟริกาและไปยังทวีปอเมริกา ก่อนที่จะเดินทางกลับจีนโดยส่วนหนึ่งกลับทางมหาสมุทรแปซิฟิก และอีกส่วนหนึ่งกลับทางมหาสมุทรอาร์กติก! ซึ่งเท่ากับเป็นการล้มล้างองค์ความรู้เดิมที่ว่าบาร์โธโลมิว ไดแอช (Bartholomeu Dias) เป็นบุคคลแรกที่เดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปได้สำเร็จเมื่อ ค.ศ. 1488 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) เป็นบุคคลแรกที่พบทวีปอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1492 และเฟอร์ดินัน แมกแจลแลน (Ferdinand Magellan) เป็นบุคคลแรกที่เดินเรือรอบโลกเมื่อ ค.ศ. 1521 Menzies ยังกล่าวต่อไปด้วยว่า ในครั้งนั้นกองเรือของจีนได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องแผนที่โลกให้กับชาวยุโรป จนทำให้ชาวยุโรปสามารถเดินเรือไปถึงทวีปอเมริกาได้ในอีกเกือบหนึ่งศตวรรษต่อมา ล่าสุด Menzies (2008) ได้ออกหนังสืออีกเล่มหนึ่งเพื่อเสนอความคิดที่ว่า แม้ว่าเจิ้งเหอจะเสียชีวิตระหว่างการเดินเรือครั้งที่ 7 เมื่อ ค.ศ. 1433 หากแต่กองเรือของเขาก็ได้เดินทางต่อไปถึงคาบสมุทรอิตาลีในปีถัดมา โดยได้เข้าเฝ้าพระสันตปาปายูจีเนียสที่ 4 (Pope Eugenius IV) และได้ถ่ายทอดวิทยาการด้านต่างๆของจีนให้แก่ชาวยุโรป ไม่ว่าจะเป็นภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ การพิมพ์ การทำแผนที่ วิศวกรรมศาสตร์ การผลิตเหล็ก ฯลฯ Menzies ถึงกับบอกว่าถ้ายุโรปมิได้รับถ่ายทอดความรู้จากจีนในครั้งนั้น การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (The Renaissance) ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อบกพร่องในหนังสือของ Menzies อยู่ไม่น้อย บุคคลหนึ่งที่วิจารณ์ Menzies อย่างละเอียดคือ Finaly (2004) ผู้ซึ่งชี้ให้เห็นว่าหนังสือเล่มดังกล่าวบกพร่องในด้านระเบียบวิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์ มีการตั้งสมมติฐานและใช้สมมติฐานดังกล่าวราวกับว่าเป็น “ความจริง” ที่ไม่ต้องพิสูจน์อีกต่อไป Menzies ยัง “เลือก” ที่จะอ้างอิงหลักฐานเฉพาะในส่วนที่จะสนับสนุนความเห็นของตนเท่านั้น โดยละเลยการตรวจสอบหลักฐานจากฝ่ายจีน นอกจากนี้ Menzies ยังมิได้ตอบคำถามสำคัญที่ว่า ถ้ากองเรือของจีนเดินทางไปรอบโลกมาแล้วจริง เหตุใดหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจีนสมัยราชวงศ์หมิงที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันจึงระบุแต่เพียงว่า กองเรือดังกล่าวเดินทางไปไกลที่สุดเพียงชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาเท่านั้น หนังสือเล่มดังกล่าวจึงเป็นเพียงสมมติฐานที่ยังขาดหลักฐานสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้ยังได้รับการตอบรับอยู่พอสมควร ดังเช่นหนังสือของโยธิน เอื้อคณารักษ์ (2549) ซึ่งได้ประกาศตนเป็นสนับสนุนทฤษฎีของ Menzies อย่างชัดเจน

เอกสารอ้างอิง

ปริวัฒน์ จันทร. (2546). เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง”. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.

เมนซีส์, กาวิน. (2550). 1421 ปีที่จีนค้นพบโลก (เรืองชัย รักศรีอักษร, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.

โยธิน เอื้อคณารักษ์. (2549). จีนพิชิตโลก: บทสรุปพลิกหน้าประวัติศาสตร์ยุคเดินเรือ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ผู้จัดการ.

วุฒิชัย มูลศิลป์. (2548). เมื่อประวัติศาสตร์โลกเกือบเปลี่ยนโฉมหน้า การสำรวจทางทะเลของจีนสมัยต้นราชวงศ์หมิง. เอกสารหมายเลข 2 ประกอบการสัมมนาวิชาการ “เรื่อง 30 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน 600 ปี ซำปอกง/เจิ้งเหอ กับอยุธยาและอุษาคเนย์” วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2548.

เวด, เจฟ. (2548). เจิ้งเหอกับการทูตแบบสันถวไมตรี หรือเพื่อกดขี่บีฑา (ทรงยศ แววหงษ์, ผู้แปล). เอกสารหมายเลข 5 ประกอบการสัมมนาวิชาการเรื่อง “30 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน 600 ปี ซำปอกง/เจิ้งเหอ กับอยุธยาและอุษาคเนย์” วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2548.

สืบแสง พรหมบุญ. (2525). ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับไทย ค.ศ. 1282-1833 (กาญจนี ละอองศรี, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช.

สืบแสง พรหมบุญ. (2548). เจิ้งเหอ ซำปอกงและอุษาคเนย์. เอกสารหมายเลข 3 ประกอบการสัมมนาวิชาการเรื่อง “30 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน 600 ปี ซำปอกง/เจิ้งเหอ กับอยุธยาและอุษาคเนย์” วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2548.

Charnvit Kasetsiri. (2548). Zheng He – Sam Po Kong: History and Myth in Thailand. เอกสารหมายเลข 6 ประกอบการสัมมนาวิชาการเรื่อง “30 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน 600 ปี ซำปอกง/เจิ้งเหอ กับอยุธยาและอุษาคเนย์” วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2548.

Dreyer, Edward L. (2007). Zheng He: China and the Oceans in the Early Ming Dynasty, 1405-1433. New York: Pearson Education, Inc.

Finlay, Robert. (2004). How Not to (Re)Write World History: Gavin Menzies and the Chinese Discovery of America. Journal of World History 15(2), 229-242.

Finlay, Robert. (2008). The Voyages of Zheng He: Ideology, State Power, and Maritime Trade in Ming China. The Journal of The Historical Society 8(3), 327-347.

Levathes, Louise. (1994). When China Ruled the Seas: the Treasure Fleet of the Dragon Throne 1405-1433. New York: Simon&Schuster.

Menzies, Gavin. (2008). 1434: The Year a Magnificent Chinese Fleet Sailed to Italy and Ignited the Renaissance. London, HarperCollinsPublishers.

Needham, Joseph, Wang Ling, and Liu Gwei-Djen. (1971). Science and Civilisation in China, Volume 4 Physics and Physical Technology, Part III: Civil Engineering and Nautics. London: Cambridge University Press.

Suryadinata, Leo. (2005). Zheng He, Semarang and the Islamization of Java: Between History and Legend. In Leo Suryadinata (Ed.), Admiral Zheng He and Southeast Asia (pp. 72-93). Singapore: Insitute of Southeast Asian Studies.

Swanson, Bruce. (1982). Eighth Voyage of the Dragon: A History of China’s Quest for Seapower. Annapolis, MD: Naval Institute Press.

Tan Ta Sen. (2005). Did Zheng He Set Out to Colonize Southeast Asia?. In Leo Suryadinata (Ed.), Admiral Zheng He and Southeast Asia (pp. 42-57). Singapore: Insitute of Southeast Asian Studies.

Wade, Geoff. (2004). The Zheng He Voyages: A Reassessment. Working Paper Series No. 31, Asia Research Institute, National University of Singapore..

Widodo, Johannes. (2005). A Celebration of Diversity: Zheng He and the Origin of the Pre-Colonial Coastal Urban Pattern in Southeast Asia. In Leo Suryadinata (Ed.), Admiral Zheng He and Southeast Asia (pp. 94-123). Singapore: Insitute of Southeast Asian Studies.

วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2552

Soft Power และการทูตสาธารณะ (public diplomacy) ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีน



Soft Power และการทูตสาธารณะ (public diplomacy) ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีน

แม้ว่าแนวคิดเรื่อง soft power ของ Joseph Nye เพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1990 หากแต่จีนนั้นรู้จักใช้การทูตสาธารณะให้เกิดประโยชน์มาเป็นเวลานานแล้ว ดังที่ d’Hooghe (2005) ได้ชี้ให้เห็นว่า ในกลางทศวรรษ 1930 ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังทำสงครามต่อสู้กับพรรคกั๋วหมินตั่ง (Guomindang) อยู่นั้น ผู้นำของพรรคได้เชิญนักหนังสือพิมพ์อเมริกันอย่างเอ็ดการ์ สโนว์ (Edgar Snow) ให้เดินทางเข้ามาทำรายงานข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมของพรรค จนออกมาในรูปของหนังสือที่ชื่อ The Red Star Over China[1] ซึ่งฉายภาพลักษณ์ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนเปรียบเสมือนวีรชนผู้กล้าหาญ และเมื่อมีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1949 แล้ว จีนได้ใช้สื่อสิ่งพิมพ์อย่าง Beijing Review, China Reconstructs และ China Pictorial เพื่อฉายภาพให้เห็นว่าจีนเป็นประเทศที่รักสันติภาพและต่อต้านลัทธิครองความเป็นเจ้า นอกจากนี้ยังมีการใช้การทูตปิงปอง (ping-pong diplomacy) ในการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศนอกค่ายสังคมนิยมอีกด้วย

ขณะเดียวกัน งานศึกษาของ Passin (1962) เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนระหว่างจีนกับประเทศนอกค่ายสังคมนิยมได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในทศวรรษ 1950 จีนมักจะเชิญชาวต่างชาติให้เดินทางมาเยือนจีนในช่วงงานฉลองสำคัญคือ งานฉลองวันแรงงานในเดือนพฤษภาคม และงานฉลองวันชาติในเดือนตุลาคม เนื่องจากงานฉลองดังกล่าวเป็นโอกาสอันดีที่จีนจะแสดงภาพลักษณ์ของการเป็น “นครเมกกะสำหรับชาวโลกผู้ก้าวหน้าและรักสันติภาพ” (a Mecca for the progressive, peace-loving people of the world) ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวต่างประเทศ และการเดินทางมาเยือนจีนของชาวต่างชาติบางครั้งก็ส่งผลให้รัฐบาลต่างชาติต้องปรับเปลี่ยนท่าทีที่ตนมีต่อจีนไปด้วย เช่น การเดินทางมาเยือนจีนหลายครั้งของคณะนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นในทศวรรษ 1950 ได้ทำให้ในที่สุดแล้วรัฐบาลญี่ปุ่นต้องยอมผ่อนคลายความเข้มงวดในการทำการค้ากับจีน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1990 จีนได้ตระหนักว่าการทูตสาธารณะของตนนั้นไม่เหมาะสมเพียงพอสำหรับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปหลังสิ้นสุดสงครามเย็น งานศึกษาของ Li Mingjiang (2008) ได้ชี้ให้เห็นว่าในระยะสิบปีที่ผ่านมานี้ แวดวงวิชาการของจีนได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับแนวคิด soft power ของ Joseph Nye เป็นอย่างมาก พวกเขาได้เน้นย้ำว่าจีนยังมิได้ใช้ประโยชน์จาก soft power เท่าที่ควร โดยเฉพาะ soft power ที่มาจากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันยาวนานของจีน ซึ่งทำให้จีนเสียเปรียบประเทศอื่นๆโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาในการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ” (comprehensive power) ข้อเสนอจากแวดวงวิชาการของจีนปรากฏผลเป็นรูปธรรมเชิงนโยบายในการประชุมใหญ่ของสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 16 และ 17 เมื่อ ค.ศ. 2002 และ ค.ศ. 2007 ตามลำดับ ซึ่งในรายงานการประชุมดังกล่าวมีการเน้นย้ำเรื่องบทบาทของวัฒนธรรมและ soft power ในการเสริมสร้างอำนาจของชาติ

ลักษณะของการทูตสาธารณะของจีนในยุคหลังสงครามเย็นนั้นเปลี่ยนไปจากเดิมไม่น้อย โดย d’Hooghe (2005) ได้ชี้ให้เห็นว่าการทูตสาธารณะของจีนในปัจจุบันเป็นไปเพื่อให้ชาวโลกเข้าใจจีนใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ (1) จีนเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จีนจึงจำเป็นต้องรักษาไว้ซึ่งระบบการเมืองที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้นำเพื่อเป็นหลักประกันด้านเสถียรภาพ มิฉะนั้นการปฏิรูปเศรษฐกิจก็ไม่อาจดำเนินลุล่วงไปได้ (2) จีนเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบ เชื่อใจได้ และมีเสถียรภาพ การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมิใช่สิ่งที่ประเทศอื่นๆต้องเกรงกลัว หากแต่เป็นโอกาสแห่งความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (co-prosperity) (3) จีนเป็นประเทศที่ปรารถนาจะเห็นสันติภาพของโลก และ (4) จีนเป็นประเทศที่สมควรได้รับการยอมรับว่ามีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เก่าแก่และยาวนาน ซึ่งใกล้เคียงกับ Wuthnow (2008) ที่ระบุว่าการใช้ soft power ของจีนนั้นเป็นไปเพื่อจุดประสงค์หลัก 3 ประการ คือ (1) การเผยแพร่วัฒนธรรมจีนให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก (2) การเป็นผู้นำและแบบอย่างด้านการพัฒนาให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย และ (3) การสร้างภาพลักษณ์ว่าจีนมิใช่ภัยคุกคาม หากแต่เป็นประเทศที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมโลก

d’Hooghe (2005) ได้กล่าวถึงช่องทางหรือเครื่องมือ (instruments) ที่จีนใช้ในการดำเนินการทูตสาธารณะว่าประกอบไปด้วย (1) สื่อสารมวลชนของจีนที่อยู่ในการควบคุมของรัฐ (2) สื่อมวลชนต่างชาติ เช่น การที่ผู้นำหรือนักการทูตของจีนให้สัมภาษณ์แก่สื่อต่างประเทศ หรือการจัดการแถลงข่าว (press conference) เนื่องในโอกาสสำคัญ เป็นต้น (3) อินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะการจัดทำเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้ผู้ชมทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลของทางการจีนได้ (4) การจัดพิมพ์เอกสารสำคัญที่แสดงจุดยืนของรัฐบาลจีนในประเด็นต่างๆ เช่น การจัดทำสมุดปกขาว (white papers) เป็นต้น (5) การเป็นเจ้าภาพจัดงานสำคัญ เช่น การประชุมเอเปก (APEC) เมื่อ ค.ศ. 2001 และกีฬ่าโอลิมปิกเมื่อ ค.ศ. 2008 เป็นต้น (6) การที่รัฐบาลจีนให้เงินสนับสนุนเพื่อปลูกสร้างถาวรวัตถุในต่างประเทศ ดังกรณีของ theme parks ที่จีนสร้างขึ้นในบางเมืองของสหรัฐอเมริกา โดยมีการนำเอาศิลปะแบบทิเบตและอุยกูร์ (Uyghur) เข้าไปผสมด้วย สะท้อนความพยายามของจีนที่จะแสดงตนว่าให้ความสำคัญต่อชนชาติส่วนน้อย และ (7) การแลกเปลี่ยนในระดับต่างๆ เช่น นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ หอการค้า เป็นต้น โดย d’Hooghe ได้ชี้ว่าคนกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทมากในการช่วยเหลือจีนในการทูตสาธารณะก็คือ ชุมชนคนเชื้อสายจีนในประเทศต่างๆทั่วโลก (overseas Chinese communities) ซึ่งคนเหล่านี้มีบทบาทในการเผยแพร่วัฒนธรรมจีน และยังรวมไปถึงการวิ่งเต้น (lobby) ต่อสถาบันทางการเมืองในประเทศที่ตนอาศัยอยู่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจีนด้วย

งานศึกษาของ Zhang Xiaoling (2008) ได้ศึกษาถึง soft power ของจีนผ่านสถานีโทรทัศน์กลางแห่งชาติ (中国中央电视台China Central Television – CCTV) โดยเฉพาะช่องสากล หรือ CCTV International ซึ่งออกอากาศเป็นภาษาอังกฤษตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีคำขวัญประจำช่องว่า “CCTV International, your window on China and the world” รายการโทรทัศน์ช่องดังกล่าวจะเน้นไปที่การนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจีนมากเป็นพิเศษ เช่น รายการ Around China ซึ่งเน้นวิถีชีวิตของผู้คนในภูมิภาคต่างๆของจีนและชนชาติส่วนน้อย รายการ Centre Stage ซึ่งเน้นการแสดงด้านศิลปะ รายการ Chinese Civilization ซึ่งเน้นด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และรายการ Learning Chinese ซึ่งเน้นการสอนภาษาจีน เป็นต้น โดยที่ไม่เน้นการรายงานข่าวและเหตุการณ์ปัจจุบันเหมือนกับ CCTV ช่องอื่นๆ กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า CCTV International ทำหน้าที่เป็นช่องทางสำหรับจีนในการนำเสนอ soft power ด้านวัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้คนที่เข้าใจภาษาอังกฤษทั่วโลก

ส่วนงานของ Guo Xiaolin (2008) ได้ศึกษาไปถึงการที่จีนตั้งสถาบันขงจื๊อ (孔子学院The Confucius Institute) เพื่อส่งเสริมการสอนภาษาจีนในประเทศต่างๆทั่วโลกนับแต่ ค.ศ. 2004 เป็นต้นมา โดยได้ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลจีนมีบทบาทโดยตรงในการวางยุทธศาสตร์การเปิดสถาบันขงจื๊อ โดยมีเป้าหมายว่าภายใน ค.ศ. 2010 จะต้องมีสถาบันขงจื๊อจำนวน 500 แห่งทั่วโลก และต้องมีชาวต่างชาติศึกษาภาษาจีนถึง 100 ล้านคน โดยจีนหวังว่าความนิยมในการเรียนการสอนภาษาจีนที่มากขึ้นจะช่วยสะท้อนให้เห็นความสำคัญและสถานะของจีนในเวทีโลก รวมทั้งยังหวังว่าการเรียนภาษาจีนจะเป็นประตูไปสู่การรู้จักและเข้าใจในวัฒนธรรมจีนอีกด้วย

ขณะที่ Cull (2008) ได้ศึกษาเกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกของจีนใน ค.ศ. 2008 โดยชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ทางการจีนต้องการสื่อสารไปยังโลกภายนอกผ่านการจัดงานครั้งนี้ก็คือ วัฒนธรรมที่เก่าแก่และยาวนานของจีน รวมทั้งสภาพสังคมจีนที่มีความแตกต่างกันทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม หากแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและปรองดอง หรือที่ผู้นำของจีนเรียกว่า “สังคมแห่งความกลมกลืน” (和谐社会harmonious society) และคำขวัญในการจัดงานครั้งนี้ก็คือ “One World, One Dream” (同一个世界,同一个梦想) ซึ่งสอดคล้องกับปณิธานของ Pierre de Coubertin ผู้ให้กำเนิดกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ที่ต้องการให้กีฬาเป็นเครื่องมือในการสร้างความกลมเกลียวกันของมนุษยชาติ กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าจีนและประเทศอื่นๆต่างมีความปรารถนาร่วมกัน นั่นคือ สันติภาพของโลก

ขณะเดียวกันก็มีงานศึกษาอีกส่วนหนึ่งซึ่งเน้นไปที่ soft power ของจีนในภูมิภาคต่างๆของโลก เช่นงานของ Kurlantzick (2006) ซึ่งเน้นบทบาทของจีนต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเขามองว่าในรอบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ดำเนินยุทธศาสตร์การสร้าง soft power ในภูมิภาคดังกล่าวรวม 3 ประการ ได้แก่ (1) การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและเน้นย้ำว่าความสัมพันธ์จีน-อาเซียน เป็นความสัมพันธ์ที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (win-win relations) ดังจะเห็นได้จาการที่จีนยอมลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือกับอาเซียน (ASEAN’s Treaty of Amity and Cooperation) และแนวทางในการปฏิบัติ (code of conduct) ในกรณีพิพาทหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ (2) การกระชับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างจีนกับประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกับสหรัฐอเมริกา เช่น พม่า กัมพูชา เป็นต้น และ (3) การเป็นตัวอย่างด้านการพัฒนาแบบที่รัฐเป็นผู้ควบคุมจากข้างบน โดยเครื่องมือที่จีนใช้ในการสร้าง soft power ต่ออาเซียนนั้นประกอบไปด้วย (1) การให้เงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (2) การเผยแพร่แนวคิดของจีนเรื่องการพัฒนาอย่างสันติ (和平发展peaceful development) ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การจัดงานฉลอง 600 ปี การเดินเรือของเจิ้งเหอ การตั้งสถาบันขงจื๊อ เป็นต้น (3) การสร้างความสัมพันธ์กับสมาคมคนเชื้อสายจีนในประเทศต่างๆ และ (4) การเปิดเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน และการที่จีนเข้าไปลงทุนในอาเซียน โดย Kurlantzick มองว่าทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของจีนที่จะลดอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และไต้หวันที่มีอยู่ในภูมิภาคดังกล่าว

งานศึกษาของ Sheng Ding (2008) ได้วิเคราะห์การสร้าง soft power ของจีนใน 3 ภูมิภาค คือ เอเชีย ละตินอเมริกา และแอฟริกา โดยในส่วนของเอเชียนั้น จีนได้แสดงบทบาทการเป็นประเทศที่ให้ความร่วมมือและแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ดูได้จากการเข้าร่วมประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) การประชุม ASEAN+3 และการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 6 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ขณะที่ในละตินอเมริกาเอง การที่นักการเมืองฝ่ายซ้ายในหลายประเทศ เช่น เอกวาดอร์ และเวเนซูเอลา สามารถขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองได้สำเร็จนั้นถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับจีนที่จะนำเสนอแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจทางเลือกที่ไม่จำเป็นต้องเดินตามโลกตะวันตกให้แก่ประเทศในภูมิภาคดังกล่าว หรือก็คือรูปแบบที่เรียกกันว่า “ฉันทามติปักกิ่ง” (Beijing Consensus) นั่นเอง[2] นอกจากนี้จีนยังได้แสดงตนเป็นประเทศที่มีความรับผิดชอบต่อสันติภาพของโลกด้วยการส่งทหารไปปฏิบัติการรักษาสันติภาพในนามของสหประชาชาติที่ประเทศเฮติเมื่อ ค.ศ. 2004 อีกด้วย และสำหรับทวีปแอฟริกา การประเทศในภูมิภาคนี้มีประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมเช่นเดียวกับจีนได้กลายเป็นพื้นฐานอันดีที่จีนจะเข้าไปสร้าง soft power ในภูมิภาคดังกล่าว ทั้งในรูปของความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ การให้ทุนการศึกษา และความช่วยเหลือด้านการสาธารณสุข โดยใน ค.ศ. 2006 ก็ได้มีการจัดตั้งสถานีวิทยุสากลของจีน (China Radio International) ขึ้น ณ ประเทศเคนยา และมีการกระจายเสียงเป็นภาษาสวาฮีลี (Swahili) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันแพร่หลายในแอฟริกาตะวันออก เพื่อให้ผู้คนในแถบดังกล่าวรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับจีนมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับจีน และสร้างบรรยากาศของ “โลกแห่งความกลมกลืน” (harmonious world) เพื่อเอื้ออำนวยให้จีนสามารถดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจของตนต่อไปได้อย่างไม่มีอุปสรรค[3]

อย่างไรก็ตาม soft power และการทูตสาธารณะของจีนก็มีปัญหาและข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย d’Hooghe (2005) ได้ชี้ให้เห็นว่ารากฐานของปัญหาที่สำคัญก็คือ การทูตสาธารณะของจีนยังคงผูกติดอยู่กับอำนาจรัฐที่เป็นเผด็จการรวมศูนย์ อันทำให้ภาพลักษณ์ของการทูตสาธารณะนั้นแยกไม่ออกจากการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) สอดคล้องกับ Li Mingjiang (2008) ที่มองว่า การที่ soft power ของจีนผูกติดอยู่กับอุดมการณ์ของรัฐอย่างแนบแน่นได้ทำให้ soft power บางอย่างของจีนไม่เป็นที่ดึงดูดใจของโลกภายนอกมากนัก ตัวอย่างเช่น ท่าทีของจีนที่ยืนยันมาตลอดว่าประชาธิปไตยมิใช่สิ่งสากล หากแต่ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ ท่าทีดังกล่าวของจีนมีลักษณะปกป้องตนเอง (defensive) เพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจการนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเป็นการยากที่นานาประเทศจะยอมรับจุดยืนดังกล่าวของจีนอย่างเต็มใจ ภายใต้บริบทของโลกปัจจุบันที่ประชาธิปไตยกลายเป็นค่านิยมสากล (universal values) ไปเรียบร้อยแล้ว

งานที่ศึกษาถึง soft power ของจีนในภูมิภาคต่างๆ ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงผลในทางลบเช่นกัน Kurlantzick (2006) มองว่าจีนให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศในอาเซียนโดยไม่นำเอาประเด็นเรื่องการเป็นประชาธิปไตย (democratization) และธรรมาภิบาล (good governance) เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเท่ากับเป็นการต่ออายุให้กับระบอบเผด็จการหรือระบอบประชาธิปไตยที่มีผู้นำแบบผูกขาดอำนาจ ดังเช่นกรณีของพม่าและกัมพูชา เช่นเดียวกับในทวีปแอฟริกาที่ Sheng Ding (2008) มองว่าผลประโยชน์ของจีนในทวีปดังกล่าว โดยเฉพาะในด้านการพลังงาน ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้จีนละเลยประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีแคว้นดาร์ฟัวร์ (Darfur) ในประเทศซูดาน เป็นต้น การละเลยในเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยนั้นขัดแย้งกับจุดยืนของจีนที่เน้นว่าตนเองเป็นประเทศที่แสวงหาสันติภาพและมีความรับผิดชอบต่อสังคมระหว่างประเทศ

ขณะเดียวกัน Aoyama (2004) ก็ได้ชี้ให้เห็นว่าการทูตสาธารณะของจีนที่ผูกติดกับอำนาจรัฐนั้นกำลังถูกท้าทายจากสิ่งที่เรียกว่า “การทูตของพลเมือง” (civil diplomacy) ซึ่งหมายถึง การติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนด้วยกันผ่านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างอินเตอร์เน็ต ซึ่งบางครั้งนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ชาตินิยมทางอินเตอร์เน็ต” (internet nationalism) ซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายของรัฐได้ ตัวอย่างเช่น ใน ค.ศ. 2003 มีข่าวว่าชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งได้เดินทางเข้าไปยังหมู่เกาะเซนกากุ (The Senkaku Islands) หรือหมู่เกาะเตี้ยวหยู (钓鱼岛 Diaoyudao) ซึ่งเป็นดินแดนที่จีนและญี่ปุ่นยังมีข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์กันอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงมีชาวจีนจำนวนหนึ่งต้องการตอบโต้การกระทำของญี่ปุ่นด้วยการเดินทางไปยังหมู่เกาะแห่งนั้นบ้าง พวกเขาจึงได้ออกประกาศรับอาสาสมัครชาวจีนและระดมทุนทางอินเตอร์เน็ตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังหมู่เกาะดังกล่าว โดยในเวลา 2 เดือน พวกเขาสามารถระดมทุนได้ 92,000 หยวน และมีคนเสนอตัวเป็นอาสาสมัครรวม 80 คน จนทำให้รัฐบาลจีนต้องออกมาประกาศเพื่อทำความเข้าใจกับทางญี่ปุ่นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความคิดของกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมิได้เป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนแต่ประการใด กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นอิทธิพลของการทูตของพลเมืองที่รัฐก็ไม่อาจควบคุมได้อย่างเต็มที่อีกต่อไป

[1] หนังสือเล่มดังกล่าวมีการแปลเป็นภาษาไทยโดยใช้ชื่อว่า ดาวแดงเหนือแผ่นดินจีน แปลโดย บุญศักดิ์ แสงระวี พิมพ์ครั้งแรกโดยบริษัทสี่เกลอ เมื่อ พ.ศ. 2526
[2] Beijing Consensus เป็นคำที่ Joshua Cooper Ramo อดีตนักหนังสือพิมพ์ประจำนิตยสาร Time ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2004 เพื่ออธิบายรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนที่ยังคงระมัดระวังและตั้งคำถาม (skeptical) ต่อผลดีของการค้าเสรี (free trade) และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นองค์การเอกชน (privatization) ซึ่งตรงข้ามกับ “ฉันทามติวอชิงตัน” (Washington Consensus) ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่เชื่อมั่นในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ประสิทธิภาพของกลไกตลาด และการลดกฎเกณฑ์ (deregulation)
[3] มีข้อสังเกตว่างานของ Kurlantzick (2006) และ Sheng Ding (2008) รวมทั้งงานเขียนบางชิ้นที่เกี่ยวข้องกับ soft power ของจีนนั้นได้ให้คำอธิบายเรื่อง soft power แตกต่างไปจาก Joseph Nye (2004) โดยงานเหล่านี้จะรวมเอาการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจของจีน เช่น การลงทุน การให้เงินช่วยเหลือ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งใน soft power ของจีนด้วย ซึ่งแตกต่างไปจาก Joseph Nye ที่มองว่าการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจจัดเป็น hard power แบบหนึ่ง

เอกสารอ้างอิง

Aoyama Rumi. (2004). Chinese Diplomacy in the Multimedia Age: Public Diplomacy and Civil Diplomacy. Contempory Asian Studies’ Working Paper No. 16, Waseda University.

Cull, Nicholas J. (2008). The Public Diplomacy of the Modern Olympic Games and China’s Soft Power Strategy. In Monroe E. Price and Daniel Dayan (Eds.), Owning the Olympics: Narratives of the New China (pp.117-144). Ann Arbor: University of Michigan Press.

d’Hooghe, Ingrid. (2005). Public Diplomacy in the People’s Republic of China. In Jan Melissen (Ed.), The New Public Diplomacy: Soft Power in International Relations (pp. 88-105).
Hampshire: Palgrave Macmillan.

Guo Xiaolin. (2008). Repackaging Confucius: PRC Public Diplomacy and the Rise of Soft Power. Asia Paper Series, Institute for Security and Development Policy.

Kurlantzick, Joshua. (2006). China’s Charm: Implications of Chinese Soft Power (pp. 1-7). Policy Brief No. 47, Carnegie Endowment for International Peace.

Li Mingjiang. (2008). Soft Power in Chinese Discourse: Popularity and Prospect (pp. 1-23). Working Paper No.165, S. Rajaratnam School of International Studies, Nanyang Technological University.

Passin, Herbert. (1962). China’s Cultural Diplomacy. New York: Frederick A. Praeger.

Sheng Ding. (2008). To Build A “Harmonious World”: China’s Soft Power Wielding in the Global South. Journal of Chinese Political Science 13(2), 193-213.

Wuthnow, Joel. (2008). The Concept of Soft Power in China’s Strategic Discourse. Issues & Studies 44(2), 1-28.

Zhang Xiaoling. (2008). China as an Emerging Soft Power: Winning Hearts and Minds Through Communications with Foreign Publics. Discussion Paper No. 35, China Policy Institute, the University of Nottingham.