วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 14)


จีนกับการจัดประชุมษัฏภาคีรอบที่ 5 (9 – 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005, 18 – 22 ธัวาคม ค.ศ. 2006, 8 – 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007) และการทดลองขีปนาวุธและระเบิดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

            แม้ว่าการประชุมษัฏภาคีรอบที่ 4 จะมีความคืบหน้ากว่าการประชุมรอบก่อนๆ และมีการตกลงกันว่าจะจัดการประชุมรอบต่อไปภายในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2005 แต่แล้วสถานการณ์กลับตึงเครียดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะในเดือนกันยายนของปีนั้นเอง ทางการสหรัฐอเมริกาได้ตรวจสอบและพบความเป็นไปได้ที่ว่าบัญชีเงินฝากของเกาหลีเหนือในธนาคารเดลตาเอเชีย (Banco Delta Asia) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตบริหารพิเศษมาเก๊าของจีนนั้นเป็นแหล่งฟอกเงินของเกาหลีเหนือ กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาจึงออกคำสั่งห้ามไม่ให้สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาทำธุรกรรมกับธนาคารดังกล่าว และคำสั่งนี้ก็ส่งผลให้ทางการมาเก๊าประกาศอายัดเงินจำนวน 24 ล้านเหรียญสหรัฐในบัญชีธนาคารดังกล่าวของเกาหลีเหนืออีกด้วย[1] ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับเกาหลีเหนือเป็นอย่างมาก และทำให้การประชุมษัฏภาคีรอบที่ 5 ซึ่งเริ่มขึ้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005 ณ เรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถในกรุงปักกิ่ง โดยหัวหน้าคณะผู้แทนของทุกฝ่ายยังคงเป็นบุคคลเดิมเหมือนการประชุมรอบที่ 4 นั้นไม่มีความคืบหน้าเนื่องจากเกาหลีเหนือประกาศว่าไม่ยอมเจรจาใดๆ อีก จนกว่าสหรัฐอเมริกาจะยุติการคว่ำบาตรทางการเงิน[2] ทำให้ต้องพักการประชุมไปอย่างไม่มีกำหนดในวันที่ 11 พฤศจิกายนของปีนั้น ความชะงักงันดังกล่าวทำให้จีนต้องแสดงความพยายามชักจูงเกาหลีเหนือให้กลับเข้าสู่การประชุมอีกครั้ง โดยในการเยือนจีนช่วงวันที่ 10 – 18 มกราคม ค.ศ. 2006 คิมจองอิลได้พูดกับหูจิ่นเทาถึง “ความยากลำบาก” ของการประชุมษัฏภาคี ซึ่งหูจิ่นเทาก็ยืนยันกับคิมจองอิลถึงจุดยืนของจีนว่าการประชุมดังกล่าวเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา[3] ต่อมาในช่วงวันที่ 27 – 28 เมษายนของปีเดียวกัน ถังเจียเสวียน มุขมนตรีของจีนเดินทางเยือนกรุงเปียงยางเพื่อชักจูงให้เกาหลีเหนือกลับสู่โต๊ะเจรจา แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากเกาหลีเหนือยังคงยืนยันจุดยืนเดิมว่าสหรัฐอเมริกาต้องยุติการคว่ำบาตรทางการเงินเสียก่อน[4]

สถานการณ์เลวร้ายลงในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2006 เมื่อคณะกรรมการบริหารองค์การพัฒนาพลังงานแห่งคาบสมุทรเกาหลี (KEDO) ซึ่งตั้งขึ้นตามกรอบความตกลงเมื่อ ค.ศ. 1994 มีมติให้ยุติการจัดสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำมวลเบาโดยให้เหตุผลว่าเกาหลีเหนือละเมิดกรอบความตกลงดังกล่าว ทำให้ในวันที่ 5 กรกฎาคมของปีนั้น เกาหลีเหนือได้ทดลองยิงขีปนาวุธจำนวน 7 ลูกตกลงในทะเลญี่ปุ่น ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับจีนเป็นอย่างมาก และในวันที่ 15 กรกฎาคมของปีเดียวกัน จีนจึงได้ร่วมมือกับสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการลงมติที่ 1695 ประณามการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ เรียกร้องให้เกาหลีเหนือยุติกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับขีปนาวุธทั้งหมดและกลับเข้าสู่การประชุมษัฏภาคีทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งห้ามไม่ให้สมาชิกองค์การสหประชาชาติซื้อและขายสินค้าที่อาจนำไปประกอบเป็นขีปนาวุธกับเกาหลีเหนือ[5] อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวไม่มีการกล่าวถึงหมวดที่ 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติที่ว่าด้วยการใช้กำลังทหาร เนื่องจากจีนและรัสเซียไม่เห็นด้วย[6]      









            การปะทะกันทางวาจาระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือเกิดขึ้นในการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ในช่วงวันที่ 24 – 28 กรกฎาคม ค.ศ. 2006 ดังบันทึกความทรงจำของหลี่จ้าวซิงที่ระบุว่า

 

ในการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งจัดขึ้น ณ ประเทศมาเลเซียในปีนั้น ข้าพเจ้าได้พบกับแปกนัมซุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือ เราได้สนทนากันในเรื่องขีปนาวุธ ทั้งสองฝ่ายมีทั้งประเด็นที่เห็นตรงกันและเห็นต่างกัน ข้าพเจ้าเลยต่อว่าไปว่าทำไมสหายเกาหลีเหนือถึงไม่แจ้งล่วงหน้าสักคำว่าจะทดลองยิงขีปนาวุธ แปกนัมซุนตอบเพียงแค่ประโยคเดียวอันมีใจความสำคัญว่า “ข้าพเจ้าอยู่มาจนอายุจะ 80 ปีแล้ว และรู้ดีว่าควรจะปฏิบัติต่อผู้อื่นเช่นไร ข้าพเจ้าเข้าร่วมการปฏิวัติมากี่ปีแล้ว และรู้ดีว่าจะต่อสู้คลื่นลมในชีวิตนี้อย่างไร”[7]

 

            ความเคลื่อนไหวที่น่าสังเกตของจีนเกิดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. 2006 เมื่อมีการแต่งตั้งหลิวเสี่ยวหมิง (Liu Xiaoming) เป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเปียงยางคนใหม่ เขาเกิดเมื่อ ค.ศ. 1956 และถือเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเปียงยางคนแรกที่เกิดหลังสงครามเกาหลี จึงแตกต่างจากเอกอัครราชทูตคนก่อนๆ ที่เคยสัมผัสบรรยากาศของพันธมิตรจีน - เกาหลีเหนือที่ทำสงครามต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกัน นอกจากนี้เขาไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับคาบสมุทรเกาหลี แต่เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากโรงเรียนกฎหมายและการทูตเฟลทเชอร์แห่งมหาวิทยาลัยทัฟท์ส์ (Fletcher School of Law and Diplomacy, Tufts University) ในสหรัฐอเมริกาและใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานที่กรมอเมริกาเหนือและโอเชียเนีย[8] การที่จีนแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสหรัฐอเมริกาไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงเปียงยางหลังการทดลองยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือจึงเหมือนเป็นการส่งสัญญาณแก่เกาหลีเหนือว่าจีนพร้อมที่จะใช้ไม้แข็งกับเกาหลีเหนือหากมีความจำเป็น

ในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 2006 เกาหลีเหนือประกาศว่าจะทำการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนานาประเทศ และในที่สุดก็ได้ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินเป็นครั้งแรกในวันที่ 9 ตุลาคมของปีนั้น บันทึกความทรงจำของจอร์จ ดับเบิลยู บุชได้ตั้งข้อสังเกตว่าหูจิ่นเทามีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้อย่างรุนแรงมากกว่าการทดลองยิงขีปนาวุธเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หูจิ่นเทาบอกกับบุชว่า “รัฐบาลจีนคัดค้านเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เราได้พยายามบอกให้เกาหลีเหนือยับยั้งชั่งใจ แต่ประเทศเพื่อนบ้านรายนี้กลับไม่ฟังคำแนะนำของเรา”[9] และในวันที่ 14 ตุลาคมของปีเดียวกัน จีนได้ร่วมมือกับสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการลงมติที่ 1718 ซึ่งถือเป็นมติที่ลงโทษเกาหลีเหนืออย่างรุนแรงที่สุดนับจากสิ้นสงครามเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้มีการตรวจค้นพาหนะบรรทุกสินค้าที่มุ่งหน้าไปยังเกาหลีเหนือว่ามีอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงหรือไม่ การห้ามซื้อขายสินค้าจำพวกรถถัง ยานเกราะ เรือรบ เครื่องบินรบ และขีปนาวุธกับเกาหลีเหนือ การอายัดบัญชีของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธของเกาหลีเหนือ และการห้ามส่งออกสินค้าฟุ่มเฟือยไปยังเกาหลีเหนือ[10] ซึ่งจีนก็ได้ปฏิบัติตามมตินี้ ดังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการตรวจค้นเรือสินค้าของเกาหลีเหนือ ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง[11] และจีนยังมีมาตรการที่นอกเหนือไปจากมติที่ 1718 อีกด้วย โดยธนาคารของรัฐบาลจีนจำนวน 4 แห่งหยุดให้บริการโอนเงินตราต่างประเทศไปยังเกาหลีเหนือ[12]

ขณะเดียวกัน จีนก็พยายามชักจูงให้เกาหลีเหนือกลับมาประชุมษัฏภาคีรอบที่ 5 อีกครั้ง ถังเจียเสวียน อู่ต้าเหว่ย และไต้ปิ่งกั๋วเดินทางไปพบคิมจองอิลในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 2006 โดยคิมจองอิลระบุว่าเกาหลีเหนือไม่มีแผนการจะทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 2[13] และเมื่อถังเจียเสวียนเดินทางกลับถึงกรุงปักกิ่งและพบกับคอนโดลีซซา ไรซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาซึ่งเดินทางเยือนจีนในวันที่ 20 ตุลาคมของปีนั้น เขาบอกกับไรซ์ว่า “โชคดีที่การเดินทางไปสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีของข้าพเจ้าในครั้งนี้ไม่สูญเปล่า”[14] แสดงให้เห็นว่าการที่จีนร่วมลงมติที่ 1718 เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้นทำให้เกาหลีเหนือมีท่าทีที่ประนีประนอมมากขึ้น และในวันที่ 31 ตุลาคมของปีเดียวกัน เกาหลีเหนือก็ประกาศว่ายินดีกลับเข้าประชุมษัฏภาคี

การประชุมษัฏภาคีรอบที่ 5 เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 2006 ณ เรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถในกรุงปักกิ่ง โดยเกาหลีใต้และรัสเซียส่งหัวหน้าคณะผู้แทนคนใหม่มาร่วมประชุม ได้แก่ ชุนยุงวู (Chun Yung Woo) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้า และเซอร์เกย์ ราซอฟ (Sergey Razov) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงปักกิ่ง ซึ่งในที่ประชุมสหรัฐอเมริกายืนยันว่าฝ่ายตนยังคงยึดมั่นในแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 2005 และเสนอแผนดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่เกาหลีเหนืออย่างเป็นขั้นตอนเพื่อแลกกับการที่เกาหลีเหนือทำลายอาวุธนิวเคลียร์และโครงการนิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั้งหมด แต่เกาหลีเหนือก็ไม่ยินยอมโดยยังคงยืนยันจุดยืนเดิมว่าสหรัฐอเมริกาต้องยุติการคว่ำบาตรทางการเงินเสียก่อน[15] จึงมีพักการประชุมชั่วคราวเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 2006 ก่อนจะกลับมาประชุมใหม่ในช่วงวันที่ 8 – 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 และจบลงด้วยแถลงการณ์ร่วมที่ระบุว่าเกาหลีเหนือจะปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของไอเออีเอเข้าไปตรวจสอบ โดยแลกกับการที่สหรัฐอเมริกาจะส่งน้ำมันเตาหนัก (heavy fuel oil) จำนวน 50,000 ตันให้แก่เกาหลีเหนือภายใน 60 วัน[16] และมีการตกลงกันด้วยว่าจะจัดประชุมษัฏภาคีรอบที่ 6 ในวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 2007

---------------------------------------------

[1] Ilso David Cho and Meredith Jung-En Woo, “North Korea in 2006: The Year of Living Dangerously,” Asian Survey 47 (January/February 2007): 71.
[2] Funabashi, The Peninsula Question, 412.
[3] “Kim Jong Il Pays Unofficial Visit to China,” People’s Korea 225 (28 January 2006), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/225th_issue/2006012809.htm, accessed 27 April 2014. 
[4] “China’s confirm Tang’s N. Korea visit, mum on content,” Kyodo News International, availble from http://www.thefreelibrary.com/China+confirms+Tang's+N.+Korea+visit,+mum+on+content.-a0146168814, accessed 27 April 2014. 
[5] Security Council Condemns Democratic People’s Republic of Korea’s Missile Launches, Unanimously Adopting Resolution 1695 (2006), Security Council SC 8778, 15 July 2006, available from http://www.un.org/News/Press/docs/2006/sc8778.doc.htm, accessed 27 April 2014.
[6] “UN votes for N Korean sanctions,” BBC News, 15 July 2006, available from http://news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/5184112.stm, accessed 27 April 2014.
[7] หลี่จ้าวซิง, ซัวปู้จิ่นเตอะว่ายเจียว, ตอนที่ 5.
[8] ดูประวัติการศึกษาและการทำงานของหลิวเสี่ยวหมิงได้ที่ “Liu Xiaoming,” China Vitae, available from http://www.chinavitae.com/biography/Liu_Xiaoming/career, accessed 27 April 2014.   
[9] Bush, Decision Points, 425.
[10] “Security Council imposes sanctions on DPR Korea after its claimed nuclear test,” UN News Centre, 16 October 2006, available from http://www.un.org/apps/news/story.asp?NewsID=20261&Cr=DPRK&Cr1=#.U1zFZVJZroY, accessed 27 April 2014. 
[11]Foreign Ministry Spokesman Liu Jianchao's Regular Press Conference on 24 October 2006,” Embassy of the People’s Republic of China in the Federal Republic of Germany, available from http://www.china-botschaft.de/det/fyrth/t278405.htm, accessed 27 April 2014.   
[12] Ibid.
[13] Ibid.
[14] “China calls for dialogue to solve Korean nuclear issue,” Xinhua News Agency, 20 October 2006, available from http://www.chinadaily.com.cn/china/2006-10/20/content_713315_2.htm, accessed 27 April 2014.
[15] Cho and Woo, “North Korea in 2006,” 72.
[16] “Six-Party Talks End with Joint Document,” Xinhua News Agency, 13 February 2007, available from http://www.china.org.cn/english/news/200018.htm, accessed 27 April 2014.

วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 13)


จีนกับการจัดประชุมษัฏภาคีรอบที่ 4 (26 กรกฎาคม – 7 สิงหาคม, 13 – 19 กันยายน ค.ศ. 2005)

            การประชุมษัฏภาคีรอบที่ 4 เริ่มขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 ณ เรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถในกรุงปักกิ่ง โดยมีแต่หัวหน้าคณะผู้แทนของเกาหลีเหนือและรัสเซียเท่านั้นที่ยังคงเป็นบุคคลเดิมเหมือนการประชุมรอบที่แล้ว ส่วนหัวหน้าคณะผู้แทนของประเทศอื่นๆ นั้นเป็นคนใหม่ซึ่งประกอบไปด้วย ซงมินซูน (Song Min Soon) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของเกาหลีใต้ คริสโตเฟอร์ ฮิลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ซาเซเอะ เคนิริโระ (Sasae Kenichiro) รองอธิบดีกรมเอเชียและโอเชียเนียของญี่ปุ่น และอู่ต้าเหว่ย (Wu Dawei) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนผู้มาทำหน้าที่แทนหวังอี้ที่ย้ายไปเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำญี่ปุ่น

ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกาในที่ประชุมมีสองเรื่องสำคัญ ได้แก่ (1) ขอบเขตของคำว่า “การปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์” ซึ่งสหรัฐอเมริกาต้องการให้คำนี้หมายรวมถึงโครงการยูเรเนียมเสริมสมรรถนะของเกาหลีเหนือ ขณะที่เกาหลีเหนือปฏิเสธการมีอยู่ของโครงการดังกล่าว และ (2) การใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ซึ่งเกาหลีเหนือถือว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมของรัฐเอกราช ขณะที่สหรัฐอเมริการะบุว่าจะยอมเจรจาเรื่องการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติก็ต่อเมื่อเกาหลีเหนือยอมทำลายอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด ยอมกลับเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ และยอมรับการตรวจสอบจากไอเออีเอเสียก่อน[1] ดังนั้นสหรัฐอเมริกา (รวมทั้งญี่ปุ่น) จึงต้องการให้ในวันปิดประชุมมีแถลงการณ์ร่วมที่ระบุว่าเกาหลีเหนือจะต้องไม่ยกเลิกแต่เฉพาะ “โครงการอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด (all the nuclear weapons programs)” เท่านั้น หากแต่จะต้องยกเลิก “โครงการนิวเคลียร์ทั้งหมด (all the nuclear programs)” อีกด้วย[2] ท่าทีเช่นนี้ของสหรัฐอเมริกาทำให้เกาหลีเหนือต้องต่อรองโดยหยิบยกเรื่องการจัดสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำมวลเบาที่สหรัฐอเมริกายังติดค้างเกาหลีเหนืออยู่ตามกรอบความตกลงเมื่อ ค.ศ. 1994 มาพูดอีกครั้งหนึ่งโดยระบุว่าถ้าสหรัฐอเมริกาจัดหาสิ่งดังกล่าวให้แก่เกาหลีเหนือได้ก็ถือเป็น “เครื่องพิสูจน์ทางกายภาพของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (physical proof of confidence-building)[3] ข้อเรียกร้องเช่นนี้เป็นสิ่งที่คริสโตเฟอร์ ฮิลล์ไม่สามารถให้คำตอบได้ในทันที ทำให้ต้องพักการประชุมชั่วคราวในวันที่ 7 สิงหาคมเพื่อให้ผู้แทนของสหรัฐอเมริกากลับไปปรึกษาหารือกับรัฐบาลของตนเสียก่อน โดยตกลงกันว่าทุกฝ่ายจะกลับมาประชุมกันอีกในสัปดาห์ที่เริ่มต้น ณ วันที่ 29 สิงหาคม  

            เป็นที่น่าสังเกตว่าในระหว่างการประชุมษัฏภาคีรอบนี้ จีนพยายามเอาใจใส่ความรู้สึกของเกาหลีเหนือเป็นพิเศษเพื่อให้การประชุมมีความคืบหน้า ดังที่เมื่อสหรัฐอเมริกายื่นร่างแถลงการณ์ร่วมที่ผ่านการปรึกษาหารือกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มาให้จีนพิจารณา จีนก็อาศัยสถานะเจ้าภาพในการลบคำบางคำที่อาจสร้างความระคายเคืองให้แก่เกาหลีเหนือออกไปจากร่างแถลงการณ์ดังกล่าว เช่นคำว่า “สิทธิมนุษยชน (human rights)” “ประเด็นด้านมนุษยธรรม (humanitarian issues)” “ระบบก่อการร้าย (terrorism)” เป็นต้น[4] และเมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศระหว่างพักการประชุมว่าจะจัดการซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้ช่วงวันที่ 22 สิงหาคม – 2 กันยายน ค.ศ. 2005 จนทำให้เกาหลีเหนือไม่พอใจและมีความเป็นไปได้อย่างมากกว่าจะไม่มีการประชุมตามที่ตกลงกันไว้  อู่ต้าเหว่ยก็เดินทางเยือนกรุงเปียงยางในวันที่ 27 สิงหาคมของปีนั้นเพื่อพบกับแปกนัมซุน (Paek Nam Sun) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือและรัฐมนตรีช่วยอีกสองคน คือ คิมคีกวานและคิมยองอิล[5] แม้ทางการจีนจะไม่เปิดเผยรายละเอียดของการสนทนา แต่เมื่ออู่ต้าเหว่ยเดินทางกลับกรุงปักกิ่งในวันที่ 29 สิงหาคม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือก็ประกาศในวันเดียวกันว่าฝ่ายตนยินดีกลับเข้าประชุมษัฏภาคีในสัปดาห์ที่เริ่มต้น ณ วันที่ 12 กันยายน [6] เรื่องนี้สะท้อนบทบาทของจีนในการทำให้เกาหลีเหนือกลับสู่โต๊ะเจรจาได้เป็นอย่างดี

            คณะผู้แทนของแต่ละประเทศกลับมาเริ่มประชุมษัฏภาคีรอบที่ 4 อีกครั้งในวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 2005 โดยฝ่ายจีนเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมที่แก้ไขใหม่ให้ที่ประชุมพิจารณา ประเด็นสำคัญในร่างดังกล่าวได้แก่ (1) การแก้ไขคำจากเดิมที่ระบุว่าเกาหลีเหนือจะต้องยกเลิก “อาวุธนิวเคลียร์และโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมด (all nuclear weapons and nuclear programs)” เปลี่ยนเป็น “อาวุธนิวเคลียร์และโครงการนิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั้งหมด (all nuclear weapons and existing nuclear programs)” ซึ่งการที่จีนใส่คำว่า “ที่มีอยู่” (existing) ลงไปนั้นเป็นคำร้องขอของเกาหลีเหนือที่ต้องการสื่อความว่าตนเองยินดียกเลิกโครงการนิวเคลียร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ขอรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ในอนาคตหากมีความจำเป็น และ (2) การเพิ่มเติมข้อความที่ระบุว่าเกาหลีเหนือมีสิทธิในการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ และประเทศอื่นๆ ที่ร่วมเจรจานั้นยินดีจะหารือเกี่ยวกับการจัดสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำมวลเบาให้แก่เกาหลีเหนือ “ในเวลาที่เหมาะสม” (at an appropriate time)[7]

ร่างแถลงการณ์ร่วมของจีนได้รับเสียงสนับสนุนจากรัสเซียและเกาหลีใต้ ขณะที่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นต้องการให้ตัดเรื่องการจัดสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำมวลเบาออกไป แต่เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมรวมทั้งการกดดันจากจีนทำให้สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นก็ยอมตกลงตามร่างแถลงการณ์นี้ในที่สุด อย่างไรก็ดี คริสโตเฟอร์ ฮิลล์ได้กล่าวถึงนิยามของคำว่า “เวลาที่เหมาะสม” ในมุมมองของฝ่ายอเมริกันว่าหมายถึงเมื่อเกาหลีเหนือทำลายอาวุธนิวเคลียร์และโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมดโดยปฏิบัติตามสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์และยอมรับการตรวจสอบจากไอเออีเอแล้วเท่านั้น[8]การประชุมจึงปิดฉากลงในวันที่ 19 กันยายนของปีนั้นโดยมีความคืบหน้ามากยิ่งขึ้น ดังแถลงการณ์ร่วมซึ่งมีใจความสำคัญว่า   

 

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีจะทำลายอาวุธนิวเคลียร์และโครงการนิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั้งหมด และจะกลับเข้าร่วมสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์และข้อตกลงพิทักษ์ความปลอดภัยของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศในเร็ววัน ... สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีถือว่าตนเองมีสิทธิในการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ซึ่งฝ่ายอื่นๆ ก็เคารพสิทธิดังกล่าวและยินดีจะหารือเกี่ยวกับการจัดสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำมวลเบาให้แก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีในเวลาที่เหมาะสม[9]

 
                      หูจิ่นเทาเยือนเกาหลีเหนือเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2005
 
 

            ทางการจีนยินดีกับความสำเร็จในการจัดประชุมษัฏภาคีรอบที่ 4 ค่อนข้างมาก ถังเจียเสวียน มุขมนตรีที่ดูแลด้านการต่างประเทศของจีนได้ออกมาชื่นชมแถลงการณ์ร่วมในครั้งนี้โดยระบุว่าเป็น “เอกสารที่สมดุล ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย และสร้างสรรค์ (a balanced, win-win and constructive document)[10] และหูจิ่นเทาก็ยินดีเดินทางเยือนกรุงเปียงยางอย่างเป็นทางการในช่วงวันที่ 28 – 30 ตุลาคม ค.ศ. 2005 ซึ่งถือเป็นการเดินทางเยือนเกาหลีเหนือในฐานะประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นครั้งแรกหลังจากที่คิมจองอิลเคยพยายามเชิญมาแล้วในระหว่างเดินทางเยือนจีนเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2004[11] โดยหูจิ่นเทาตกลงมอบความช่วยเหลือแก่เกาหลีเหนือคิดเป็นมูลค่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ[12] การเดินทางเยือนเกาหลีเหนือของผู้นำระดับสูงสุดของจีนในครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นการตอบแทนเกาหลีเหนือที่ให้ความร่วมมือกับจีนจนทำให้การประชุมษัฏภาคีรอบที่ 4 มีความคืบหน้า


---------------------------------------


[1] Funabashi, The Peninsula Question, 379.
[2] Ibid., 382.
[3] Ibid., 383.
[4] Ibid, 381.
[5] “Parties keep working on DPRK nuclear talks,” Xinhuanet, 29 August 2005, available from http://news.xinhuanet.com/english/2005-08/29/content_3416877.htm, accessed 22 April 2014.
[6] “DPRK to stay away from 2nd phase of nuke talks,” Xinhuanet, 29 August 2005, available from http://news.xinhuanet.com/english/2005-08/29/content_3420406.htm, accessed 22 April 2014.
[7] Funabashi, The Peninsula Question, 385.
[8] “North Korea -- U.S. Statement (September 19, 2005),” U.S. Department of State Archive, available from http://2001-2009.state.gov/r/pa/prs/ps/2005/53499.htm, accessed 23 April 2014.
[9] Joint Statement of the Fourth Round of Six-Party Talks, Beijing, 19 September 2005,” U.S. Department of State, available from http://www.state.gov/p/eap/regional/c15455.htm, accessed 23 April 2014.
[10] Ding Ying, “Making A Statement,” Beijing Review 48 (29 September 2005): 10.
[11] Ni Yanshuo, “Neighbor Relations,” Beijing Review 48 (10 November 2005): 10.
[12] Yongho Kim, North Korean Foreign Policy, 150.

วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 12)


ความชะงักงันหลังการประชุมษัฏภาคีรอบที่ 3 และบทบาทของจีน

แม้ว่าแถลงการณ์ของประธานในการปิดประชุมษัฏภาคีรอบที่ 3 จะกำหนดให้มีการประชุมรอบต่อไปภายในเดือนกันยายน ค.ศ. 2004 แต่การประชุมษัฏภาคีรอบที่ 4 ก็มิได้มีขึ้นตามกำหนด เพราะในครึ่งหลังของ ค.ศ. 2004 สหรัฐอเมริกาเข้าสู่บรรยากาศของการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยจอห์น แคร์รี (John Kerry) ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตได้เสนอให้มีการเจรจาแบบทวิภาคีกับเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ตรงกับความต้องการของเกาหลีเหนือมาแต่เดิม ทำให้เกาหลีเหนือประวิงเวลาเพื่อรอผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน[1] ขณะเดียวกันประธานาธิบดีบุชก็สร้างความไม่พอใจแก่เกาหลีเหนือด้วยการลงนามใน รัฐบัญญัติสิทธิมนุษยชนเกาหลีเหนือ (North Korean Human Rights Act) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมของปีนั้น โดยจะมีการจัดสรรเงินปีละ 24 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ[2] การลงนามดังกล่าวตรงกับวันที่คิมยองนัม ประธานสมัชชาประชาชนสูงสุดของเกาหลีเหนือเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ โดยได้พบกับอู๋ปังกั๋ว ประธานสภาประชาชนสูงสุดผู้ซึ่งบอกให้คิมยองนัมคำนึงว่าความสำเร็จของการประชุมษัฏภาคีรอบที่ผ่านมานั้นมิได้ได้มาโดยง่าย และจีนหวังว่าจะมีการประชุมรอบต่อไปโดยเร็วที่สุด[3]

ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกาตึงเครียดมากยิ่งขึ้นเมื่อบุชชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัยหนึ่ง โดยในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2005 เขาประกาศว่าสหรัฐอเมริกาจะต่อสู้กับ “ระบบทรราชย์ (tyranny)” ขณะที่คอนโดลีซซา ไรซ์ (Condoleezza Rice) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาก็ระบุว่าเกาหลีเหนือ คิวบา พม่า อิหร่าน เบลารุส และซิมบับเวเป็น “ด่านหน้าของลัทธิทรราชย์ (outposts of tyranny)”[4] ทำให้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ของปีนั้น เกาหลีเหนือประกาศว่ายอมรับอย่างชัดเจนว่าตนเองมีอาวุธนิวเคลียร์และขอถอนตัวจากการประชุมษัฏภาคีอย่างไม่มีกำหนด



      ปักปองจู นายกรัฐมนตรีเกาหลีเหนือ เดินทางเยือนจีนเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2005




จีนมีปฏิกิริยาต่อคำประกาศของเกาหลีเหนือในทันที โดยในช่วงวันที่ 12 – 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2005 หลี่จ้าวซิงได้โทรศัพท์สนทนากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เพื่อขอให้ทุกฝ่ายระงับอารมณ์และสงบนิ่งเพื่อให้การประชุมษัฏภาคีรอบต่อไปเกิดขึ้นโดยเร็ว[5] ต่อมาในช่วงวันที่ 19 – 22 ของเดือนนั้น หวังเจียรุ่ย (Wang Jiarui) รัฐมนตรีทบวงวิเทศสัมพันธ์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (International Liaison Department) ได้นำคณะเดินทางเยือนกรุงเปียงยางและได้พบกับคิมจองอิลผู้ซึ่งบอกกับหวังเจียรุ่ยว่า เกาหลีเหนือไม่ได้ต่อต้านการประชุมษัฏภาคี เพียงแต่ต้องการรอให้เงื่อนไขต่างๆ เอื้ออำนวยเท่านั้น ขณะที่หวังเจียรุ่ยตอบกลับไปว่าจีนต้องการให้การประชุมษัฏภาคีรอบต่อไปเกิดขึ้นโดยเร็วและจะไม่ละเลยต่อความกังวลด้านความมั่นคงที่มีเหตุผลของเกาหลีเหนือ[6] และเมื่อปักปองจู (Pak Pong Ju) นายกรัฐมนตรีของเกาหลีเหนือเดินทางเยือนจีนในช่วงวันที่ 22 – 27 มีนาคมของปีเดียวกัน เวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีนก็ได้เน้นย้ำว่าการประชุมษัฏภาคีคือ “ทางเลือกที่เป็นไปได้จริง (realistic choice)” ในการแก้ไขวิกฤตการณ์นิวเคลียร์[7] ขณะที่หลิวเจี้ยนเชา (Liu Jianchao) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนก็ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวในวันที่ 25 มีนาคมของปีนั้นโดยเรียกร้องให้ทั้งเกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกาลดการเผชิญหน้ากัน ดังความตอนหนึ่งว่า

 

ขณะนี้ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันของฝ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการกลับมาประชุมษัฏภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกา ความแตกต่างนี้เป็นอุปสรรคของการจัดประชุมรอบต่อไป ปัญหาสำคัญอยู่ที่การขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกันและการกระทำที่ส่งผลในทางลบของทั้งสองฝ่าย เราหวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะอดทนและระงับอารมณ์เพื่อให้เกิดความไว้วางใจกันมากขึ้นและกลับมาประชุมกันอีกครั้งโดยเร็ว[8]

 

ความตึงเครียดระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกาเริ่มคลี่คลายลงในกลาง ค.ศ. 2005 โดยในวันที่ 10 พฤษภาคมปีนั้น คอนโดลีซซา ไรซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) โดยระบุว่าเกาหลีเหนือเป็นรัฐเอกราช (sovereign state) และสหรัฐอเมริกาก็ไม่มีแผนการใช้กำลังบุกเกาหลีเหนือ[9] เกาหลีเหนือจึงยอมส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปเจรจากับสหรัฐอเมริกาที่นครนิวยอร์กในกลางเดือนนั้น ต่อมาในการประชุม ณ กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมของปีเดียวกัน คิมคีกวาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือได้ตกลงกับคริสโตเฟอร์ ฮิลล์ (Christopher Hill) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาว่าจะกลับเข้าประชุมษัฏภาคีอีกครั้ง ซึ่งตรงกับวันที่คอนโดลีซซา ไรซ์เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งพอดี ในการนี้ไรซ์ได้กล่าวชื่นชมความพยายามของจีนที่ชักจูงเกาหลีเหนือกลับคืนสู่โต๊ะเจรจา[10] และในช่วงวันที่ 12 – 14 กรกฎาคมนั้นเอง ถังเจียเสวียน มุขมนตรีของจีนได้เดินทางเยือนกรุงเปียงยางเพื่อส่งสาส์นจากหูจิ่นเทาถึงคิมอิลซุงอันมีใจความแสดงความหวังว่า ความร่วมมือระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือจะทำให้เกิด “ความคืบหน้าอย่างใหญ่หลวง (substantial progress)” ในการประชุมษัฏภาคีรอบต่อไป[11] ซึ่งเปรียบเสมือนการส่งสัญญาณว่าจีนต้องการผลักดันให้การประชุมษัฏภาคีรอบที่ 4 ที่จะมีขึ้นในปลายเดือนเดียวกันนี้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการประชุมรอบที่ผ่านๆ มา


--------------------------------------------------------


[1] Jonathan Pollack, “The United States and Asia in 2004: Unfinished Business,” Asian Survey 45 (January/February 2005): 2.
[2] Kyung-Ae Park, “North Korea in 2004: From Brisk Diplomacy to Impasse,” Asian Survey 45 (January/February 2005): 19.
[3] Foreign Ministry Spokesperson Zhang Qiyue's Press Conference on 19 October 2004,” Embassy of the People’s Republic of China in Papua New Guinea, available from http://pg.china-embassy.org/eng/fyrth/t166090.htm, accessed 20 April 2014. 
[4] Ding Zhitao, “All Eyes Turn To Pyongyang,” Beijing Review 48 (3 March 2005): 10.
[5] “Foreign Ministry Spokeman Kong Quan’s Press Conference on 17 February 2005,” Embassy of the People’s Republic of China in the Republic of Turkey, available from http://tr.china-embassy.org/eng/fyrth/t183887.htm, accessed 20 April 2014. 
[6] “DPRK Still Has Intention To Participate in 6-Party Talks,” The People’s Korea 214 (26 February 2005), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/214th_issue/2005022601.htm, accessed 20 April 2014. 
[7] “DPRK Premier Visits China,” The People’s Korea 215 (31 March 2005), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/215th_issue/2005033101.htm, accessed 20 April 2014.  
[8] “Foreign Ministry Spokesman Liu Jianchao's Press Conference on 24 March 2005,” Embassy of the People’s Republic of China in the Federal Republic of Germany, available from http://www.china-botschaft.de/det/fyrth/t189040.htm, accessed 21 April 2014. 
[9] “Rice Describe North Korea as a ‘Sovereign State’,” Bloomberg, available from http://www.bloomberg.com/apps/news?pid=newsarchive&sid=a4XRcUq6Sj9Y, accessed 20 April 2014.
[10] Yan Wei, “Nuke-Talks Stalemate Ends,” Beijing Review 48 (21 July 2005): 19.
[11] “DPRK: Nuke-free peninsula our goal,” China Daily, 14 July 2005, available from http://www.chinadaily.com.cn/english/doc/2005-07/14/content_460029.htm, accessed 20 April 2014.