วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

จีนกับ China Threat Theory และเจิ้งเหอในศตวรรษที่ 21



จีนกับ China Threat Theory และเจิ้งเหอในศตวรรษที่ 21

การประชุมเต็มคณะสมัยที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 11 เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) มีการยกเลิกระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองและวางแผนจากส่วนกลาง โดยหันมายอมรับบทบาทของกลไกตลาดมากขึ้น รวมทั้งยังเปิดให้จีนมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับโลกภายนอกอีกด้วย อย่างไรก็ตามการปฏิรูปในทศวรรษแรกนั้นยังคงเป็นไปในลักษณะของการทดลองและได้ชะงักงันลงไปชั่วคราวหลังเกิดเหตุการณ์จลาจล ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน (Tiananmen Incident) เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1989 จนกระทั่งถึงการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 14 เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1992 จึงได้มีการลงมติให้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยม (Socialist Market Economy) ของเติ้งเสี่ยวผิงเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนอย่างเป็นทางการ โดยมีการระบุว่าจีนจะพัฒนาความสัมพันธ์กับต่างประเทศอย่างแข็งขัน เพื่อให้เกิดสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่เอื้อต่อสันติภาพและการพัฒนา (คำรายงานและคำปราศรัยของเจียงเจ๋อหมิน, 2543, น. 180) ด้วยเหตุนี้ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา จีนจึงได้มีบทบาทเพิ่มขึ้นในเวทีการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ในทางการเมืองและความมั่นคง จีนได้เปลี่ยนจุดเน้นด้านการต่างประเทศจากเดิมในทศวรรษ 1970 และ 1980 ที่มุ่งบริหารจัดการความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต มาเป็นการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างทั่วถึง และเป็นที่น่าสังเกตว่าจีนได้หันมายอมรับกลไกพหุภาคีนิยม (multilateralism) ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น เช่น การเข้าร่วมประชุมอาเซียนว่าด้วยความมั่นคง (ASEAN Regional Forum – ARF) การประชุมอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three – APT) การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหกฝ่ายเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ (The Six-Party Talks) การก่อตั้งองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation – SCO) เป็นต้น นอกจากนี้จีนยังได้ปรับท่าทีของตนจากเดิมที่ยึดมั่นในหลักการเรื่องการไม่ละเมิดอำนาจอธิปไตย (sovereignty) และการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น (non-intervention) อย่างเคร่งครัด มาเป็นประเทศเริ่มยอมรับเรื่องการแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรม (humanitarian intervention) ดังจะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา จีนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในปฏิบัติการรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ (The UN Peacekeeping Operation) ในหลายประเทศ (Carlson, 2004) บทบาทที่เพิ่มขึ้นของจีนในด้านการเมืองและความมั่นคงนี้ยังไม่นับรวมไปถึง “การทูตเงียบ” (quiet diplomacy) ที่กระทำผ่านสำนักวิเทศสัมพันธ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (The International Department of the Chinese Communist Party) ซึ่งมีขนาดและความสำคัญไม่แพ้กระทรวงการต่างประเทศ โดยนับแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา สำนักวิเทศสัมพันธ์ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่จากเดิมที่เน้นการกระชับความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ มาเป็นการกระชับความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองและองค์การนอกภาครัฐ (Non-Governmental Organisation – NGO) ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย ยุโรป และละตินอเมริกา (Shambaugh, 2007)

ในทางเศรษฐกิจ จีนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกรอบความร่วมมือระดับพหุภาคีจำนวนมาก เช่น องค์การการค้าโลก (World Trade Organisation – WTO) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation – APEC) เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Area – ACFTA) เป็นต้น และถ้าใช้ภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ (purchasing power parity – PPP) เป็นเกณฑ์แล้ว ข้อมูลเมื่อ ค.ศ. 2007 ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา และในปีดังกล่าวมีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้าสู่จีนกว่า 75,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (China, 2008) ขณะที่จีนเองก็ได้แสดงบทบาทเป็นผู้ออกไปลงทุนยังต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะในภาคพลังงานซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของจีน (ดู Houser, 2008) แม้ว่าความพยายามของ China National Offshore Oil Corporation (CNOOC) ในการซื้อกิจการบริษัทน้ำมัน UNOCAL เมื่อกลาง ค.ศ. 2005 จะไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากการขัดขวางโดยสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา หากแต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้ตอกย้ำความรู้สึกของผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ว่า จีนมีจุดมุ่งหมายที่จะยึดแหล่งน้ำมันต่างๆทั่วโลกเพื่อสนองผลประโยชน์ของตนเองโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ (Xin Ma and Andrews-Speed, 2007)

การขยายบทบาทของจีนในระดับระหว่างประเทศ ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ ทำให้ทั่วโลกต่างพากันจับตามองแนวโน้มการพัฒนาของจีนว่าจะไปในทิศทางที่ส่งเสริมหรือสั่นคลอนสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยนับแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ได้มีการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ “ภัยคุกคามจากจีน” (China Threat) อย่างแพร่หลายในโลกตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา หน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญก็คือ U.S.-China Economic and Security Review Commission (USCC) ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการสังกัดสภาคองเกรส มีหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และทำรายงานต่อสภาเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของจีนที่จะมีนัยสำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา คณะกรรมาธิการดังกล่าวมีจุดเน้นอยู่ 8 ด้าน ได้แก่ การแพร่กระจายอาวุธของจีน การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การพลังงาน บทบาทของจีนต่อตลาดทุนในสหรัฐอเมริกา ผลกระทบจากจีนต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงในระดับภูมิภาค ความสัมพันธ์ทวิภาคีจีน-สหรัฐอเมริกา การปฏิบัติของจีนตามเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) และเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสารในจีน (U.S.-China Economic and Security Review Commission Fact Sheet, 2008) และทุกๆปี คณะกรรมาธิการดังกล่าวจะทำรายงานประจำปีเพื่อชี้ให้เห็นการรุกคืบของจีนในด้านต่างๆ และเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกาดำเนินมาตรการต่างๆที่จำเป็น เช่น รายงานประจำปี ค.ศ.2008 ของคณะกรรมาธิการดังกล่าวได้เน้นย้ำว่า จีนกำลังทำสงครามจารกรรมข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น (China ‘boosting cyber warfare’, 2008)

นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว รัฐบาลของประเทศอื่นๆที่มีปัญหาความสัมพันธ์กับจีนก็ได้มีส่วนร่วมในการเน้นย้ำเรื่องภัยคุกคามจากจีนด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ อินเดีย ซึ่งมีปัญหาความสัมพันธ์กับจีนมานานหลายทศวรรษ ทั้งในเรื่องเส้นเขตแดน การสนับสนุนที่จีนให้แก่ปากีสถานซึ่งมีกรณีพิพาทกับอินเดียในเรื่องแคว้นแคชเมียร์ (Kashmir) ปัญหาทะไลลามะซึ่งตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ในอินเดีย ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ ฯลฯ โดยในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1998 นายจอร์จ เฟอร์นานเดส (George Fernandes) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอินเดียได้ออกมาระบุว่า จีนเป็นภัยคุกคามที่มีศักยภาพเป็นอันดับหนึ่ง (potential threat No.1) ที่กำลังดำเนินนโยบายปิดล้อมอินเดียผ่านทางทิเบต พม่า และปากีสถาน (Burns, 1998)

ขณะเดียวกัน หน่วยงานวิจัยและนักวิชาการในประเทศต่างๆก็ได้มีส่วนในการนำเสนอเรื่องภัยคุกคามจากจีนเช่นกัน โดยเฉพาะนักวิชาการที่เชื่อมั่นในทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสำนักสัจนิยม (Realism) ซึ่งมองว่าโลกนั้นเป็นอนาธิปไตย (anarchy) ที่ไม่มีอำนาจใดๆจะมาจัดการควบคุมพฤติกรรมของรัฐต่างๆได้ แต่ละรัฐจึงต้องรับผิดชอบความมั่นคงของตนเอง ด้วยเหตุนี้จีนจึงต้องเสริมสร้างความมั่นคงด้วยการสถาปนาตนเป็นเจ้า (hegemon) ของเอเชีย และจะสั่นคลอนระเบียบโลกเดิมที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ (ดูตัวอย่างใน Swire, 2008) และเรื่องภัยคุกคามจากจีนนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในวิวาทะสำคัญที่แพร่หลายในวงวิชาการ ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น (Ash et al., 2007)[1]

จีนรับรู้ถึงการปรากฏตัวและการดำรงอยู่ของภาพลักษณ์เชิงภัยคุกคามที่แพร่หลายออกไปกว้างขวางเป็นอย่างดี และได้โต้แย้งเรื่องนี้มาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น นายหลิว ฮว๋าชิว (刘华秋Liu Huaqiu) ผู้อำนวยการแผนกวิเทศสัมพันธ์แห่งสำนักนายกรัฐมนตรีของจีน ได้เขียนบทความเรื่อง “Strive for a Peaceful International Environment” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ปลดแอกรายวัน (解放日报Liberation Daily) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1997 ซึ่งระบุชัดว่า มีคนบางกลุ่มกำลังแพร่กระจายแนวคิดว่าจีนเป็นภัยคุกคาม ทั้งๆที่เรื่องดังกล่าวมิได้มีมูลความจริงแต่อย่างใด (Liu Huaqiu, 1999, p.469) หรือเมื่อ U.S.-China Economic and Security Review Commission (USCC) ได้ออกรายงานเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2002 โดยมีเนื้อหาระบุว่าจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หนังสือพิมพ์ประชาชนรายวัน (人民日报People’s Daily) ก็ได้ตีพิมพ์บทความชื่อ “US Right Wing Forces Tend to Fan Up ‘China Threat Theory’ Again” เพื่อปฏิเสธรายงานฉบับดังกล่าว (Ren Yujun, 2002) สะท้อนว่าจีนติดตามและมีความกังวลใจต่อเรื่องดังกล่าวมากเพียงใด

เพื่อเป็นการตอบโต้แนวคิดที่ว่าจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคง จีนได้ดำเนินการหลายประการเพื่อแก้ไขภาพลักษณ์และสร้างความมั่นใจให้กับประเทศต่างๆว่าการเติบโตของจีนนั้นจะเป็นไปโดยสันติ ไม่ว่าจะเป็นการเน้นย้ำหลักปัญจศีล (The Five Principles of Peaceful Coexistence) ที่จีนประกาศไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1954 การนำเสนอแนวคิดเรื่องความมั่นคงแบบใหม่ (New Security Concept) เมื่อ ค.ศ. 1997 โดยเน้นว่าความมั่นคงมิได้มีพื้นฐานมาจากการเป็นพันธมิตรทางการทหาร หากแต่มาจากพื้นฐานที่ว่าแต่ละประเทศมีความไว้เนื้อเชื่อใจและมีผลประโยชน์ร่วมกัน (mutual trust and common interests ดูใน Opening Statement By H.E. Mr. Qian Qichen, 1997) มีการออกสมุดปกขาวว่าด้วยการป้องกันประเทศ (Defense White Paper) ทุกๆ 2 ปีนับแต่ ค.ศ. 1998 เป็นต้นมาเพื่อแสดงความโปร่งใสในการพัฒนาด้านการทหาร และในการประชุมป๋ออ๋าว (Bo’ao Forum) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2003 จีนได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง “การทะยานขึ้นอย่างสันติของจีน” (China’s Peaceful Rise) หรือ เหอผิงเจวี๋ยฉี่ (和平崛起heping jueqi) เพื่อเน้นย้ำว่าจีนเป็นประเทศที่รักสันติและไม่แสวงหาความเป็นเจ้า (hegemony) ส่วนนักวิชาการและนักทฤษฎีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้พยายามนำแนวคิดดังกล่าวไปเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง รวมทั้งนำบทความเกี่ยวกับการทะยานขึ้นอย่างสันติของจีนลงตีพิมพ์ในวารสารของประเทศตะวันตกที่มีอิทธิพลในระดับนานาชาติ เช่น Foreign Affairs เป็นต้น (ดู Zheng Bijian, 2005 และ Wang Jisi, 2005) [2]

ในส่วนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งตามประวัติศาสตร์เคยมีสถานะเป็นรัฐบรรณาการของจีน (tributary states) และในปัจจุบันยังคงมีกรณีพิพาทเรื่องหมู่เกาะสแปรตลีย์ (The Spratly Islands) กับจีนอยู่นั้น จีนได้ปรับเปลี่ยนท่าทีของตนเพื่อคลายความหวาดระแวงของประเทศต่างๆ โดยในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2002 จีนและประเทศคู่กรณีพิพาทอันประกอบไปด้วยเวียดนาม บรูไน ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ได้ร่วมกันลงนามในแถลงการณ์ที่เรียกว่า The Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ได้ทำให้กรณีพิพาทสิ้นสุดลง หากแต่ก็เป็นการวางแนวทางปฏิบัติ (code of conduct) เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกันในอนาคต และในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2003 จีนยังได้ลงนามในสนธิสัญญามิตรไมตรีและความร่วมมือกับอาเซียน (ASEAN’s Treaty of Amity and Cooperation - TAC) ซึ่งเป็นการยืนยันว่าจีนจะดำเนินความสัมพันธ์กับอาเซียนโดยวางอยู่บนหลักการของการเคารพในเอกราช อธิปไตย ความเท่าเทียม และบูรณภาพทางอาณาเขตของกันและกัน การไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน การระงับข้อพิพาทโดยสันติ และการไม่ใช้กำลังต่อกัน (Glosny, 2007, p. 162)

นอกจากจะดำเนินการทางการทูตแล้ว จีนยังได้นำเอาศักยภาพทางเศรษฐกิจของตนมาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกด้วย จีนนำเอาความเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคนมาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ โดยพยายามแสดงให้เห็นว่าจีนเป็น “โอกาส” (opportunity) ทางเศรษฐกิจ มากกว่าที่จะเป็นภัยคุกคามต่อโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2000 นายกรัฐมนตรีจูหรงจี (Zhu Rongji) ของจีนได้เสนอให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ซึ่งแม้การจัดตั้งเขตการค้าเสรีดังกล่าวจะสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ หากแต่ปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังก็คือ ความพยายามของจีนที่จะขจัดความกลัวเรื่องภัยคุกคามจากจีนให้หมดไปจากประเทศอาเซียนนั่นเอง (Wong, 2006) นอกจากนี้จีนยังได้แสดงบทบาทเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน คือ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า รวมไปถึงประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา (Muni, 2002; Sautman and Yan, 2008)

ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ยาวนานกว่า 5,000 ปี ถือเป็นข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งของจีน ผู้นำจีนอย่างเหมาเจ๋อตง (Mao Zedong) โจวเอินไหล (Zhou Enlai) ต่างก็เคยนำเอาวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าของจีนอย่าง ซานกั๋วเหยี่ยนอี้ (三国演义The Romance of the Three Kingdoms) และ ซุนจื่อปิงฝ่า (孙子兵法Sun Tzu’s Art of War) มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสงครามและการทูตกันมาแล้ว (Wang Jisi, 1994, pp. 502-503) และเมื่อสมัยแห่งการปฏิวัติปฏิวัติวัฒนธรรม (The Cultural Revolution) สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1976 จีนก็ได้หันมารื้อฟื้น ส่งเสริม และเผยแพร่วัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของตนอีกครั้ง ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เกิดกระแสความนิยมในการเรียนภาษาจีนขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และเป็นโอกาสให้จีนได้นำเอาการเรียนการสอนภาษาจีนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อภาพลักษณ์ของตนเอง โดยในปัจจุบัน China National Office for Teaching Chinese as a Foreign Language (NOFCL) ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการของจีนได้ดำเนินการจัดตั้ง “สถาบันขงจื๊อ” (孔子学院The Confucius Institute) ขึ้นในภูมิภาคต่างๆของโลก โดยภารกิจของสถาบันดังกล่าวก็คือ การสร้างความเข้าใจอันดีในภาษาและวัฒนธรรมจีนให้แก่ผู้คนทั่วโลก พัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างจีนกับนานาประเทศ เสริมสร้างความเป็นพหุวัฒนธรรม (Multiculturalism) ในระดับระหว่างประเทศ และนำไปสู่สันติภาพและความกลมกลืนในระดับโลก (Confucius Institute Online, 2008) ทั้งหมดนี้สะท้อนความพยายามของจีนที่จะลบภาพลักษณ์ของการเป็นภัยคุกคาม และแทนที่ด้วยภาพลักษณ์ของประเทศผู้รักสันติภาพ

ค.ศ. 2005 ถือเป็นปีหนึ่งที่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจีน นั่นคือ เป็นวาระครบรอบ 600 ปี การสำรวจทะเลของเจิ้งเหอ (郑和Zheng He ค.ศ. 1371 – ค.ศ. 1433) ขันทีสมัยราชวงศ์หมิง (Ming Dynasty ค.ศ. 1368 – ค.ศ. 1644) รัฐบาลจีนได้จัดงานฉลองเนื่องในโอกาสดังกล่าวอย่างยิ่งใหญ่ มีการบูรณะบ้านเกิดของเจิ้งเหอในมณฑลหยุนหนาน (Yunnan) การประชุมทางวิชาการ การจัดนิทรรศการ การจัดทำตราไปรษณียากรและสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับเจิ้งเหอ และยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย เป็นที่น่าสังเกตว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวมิได้จำกัดอยู่เฉพาะภายในประเทศจีนเท่านั้น รัฐบาลจีนยังได้ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาคมคนเชื้อสายจีนจัดงานฉลอง 600 ปี การสำรวจทะเลของเจิ้งเหอขึ้นในหลายประเทศ และเรื่องราวของเจิ้งเหอยังได้รับการบรรจุเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2008 อีกด้วย ความพยายามของจีนที่จะเผยแพร่เรื่องราวของเจิ้งเหอให้เป็นที่ประจักษ์ในสายตาชาวโลก ประกอบกับประสบการณ์ที่ผ่านมาของจีนในการใช้ทั้งการทูต เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมให้เกิดประโยชน์ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงทำให้น่าพิจารณาว่าการจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 600 ปี การสำรวจทะเลของเจิ้งเหอนั้นมีนัยสำคัญในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนในปัจจุบันอย่างไรบ้าง และจีนต้องการจะนำเสนอภาพลักษณ์แบบใดให้กับเจิ้งเหอผ่านการจัดงานฉลองในครั้งนี้

[1] ตัวอย่างงานที่เสนอว่าจีนเป็นภัยคุกคาม เช่น Timperlake and Triplett II (1999) และ Terrill (2003) ขณะเดียวกันก็มีงานอีกส่วนหนึ่งที่ได้เตือนเราไม่ให้มองจีนอย่างคับแคบและสุดโต่งจนเกินไป เช่น Roy (1996) Nathan and Ross (1997) Bergsten et al. (2006) และ Sutter (2006) นอกจากนี้ยังมีงานอีกส่วนหนึ่งที่เสนอว่าแท้จริงแล้ว แนวคิดเรื่องภัยคุกคามจากจีนนั้นเป็น “วาทกรรม” (discourse) ที่โลกตะวันตกสร้างขึ้นมา เช่นงานของ Sautman and Yan (2008) เป็นต้น ส่วนมุมมองที่แต่ละประเทศมีต่อเรื่องภัยคุกคามจากจีนนั้น โปรดดูใน Yee and Storey (2004)
[2] อย่างไรก็ตาม เมื่อถึง ค.ศ. 2005 ทางการจีนได้เริ่มหันไปใช้คำว่า “การพัฒนาอย่างสันติ” (Peaceful Development) หรือ เหอผิงฟาจ่าน (和平发展heping fazhan) แทนคำว่า “การทะยานขึ้นอย่างสันติ” เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดบางประการ ดูรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ใน Glasner and Medeiros (2007)

รายการอ้างอิงภาษาไทย

หนังสือและบทความในหนังสือ
คำรายงานและคำปราศรัยของเจียงเจ๋อหมิน. (2543). ใน สรรนิพนธ์เติ้งเสี่ยวผิง จีนจะไปทางไหน? (ดาวประกาย รุ่งอรุณ, ผู้แปล; บุญศักดิ์ แสงระวี, บรรณาธิการ).กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.


รายการอ้างอิงภาษาอังกฤษ

หนังสือและบทความในหนังสือ
Ash, Robert, David Shambaugh and Seiichiro Takagi (Eds.). (2007). China Watching: Perspectives from Europe, Japan and the United States. London: Routledge.

Bergsten, C. Fred, Bates Gill, Nicholas Lardy and Derek Mitchell. (2006). China: The Balance Sheet. New York: Public Affairs.

China’s Peaceful Rise: Speeches of Zheng Bijian, 1997-2005. (2005). Washington, D.C.: Brookings Institution Press.

Glosny, Michael A. (2007). Stabilizing the Backyard: Recent Developments in China’s Policy towards Southeast Asia. In Joshua Eisenman, Eric Heginbotham and Derek Mitchell (Eds.),

China and the Developing World: Beijing’s Strategy for the Twenty-First Century (pp.150-188). Armonk, N.Y.: M.E. Sharp, Inc.

Liu Huaqiu. (1999). Strive for a Peaceful International Environment. In Orville Schell and David

Shambaugh (Eds.), The China Reader: The Reform Era (pp.459-470). New York: Vintage Books.

Muni, D.S. (2002). China’s Strategic Engagement with the New ASEAN. Singapore: Institute of Defence and Strategic Studies, Nanyang Technological University.

Nathan, Andrew J. and Robert S. Ross. (1997). The Great Wall and The Empty Fortress: China’s Search for Security. New York, N.Y.: W.W. Norton & Company.

Sutter, Robert G. (2006). China’s Rise: Implications for U.S. Leadership in Asia. Washington, D.C.: East-West Center.

Terrill, Ross. (2003). The New Chinese Empire. New York: Basic Books.

Timperlake, Edward and William C. Triplett II. (1999). Red Dragon Rising: Communist China’s Military Threat to America. Washington, D.C.: Regnery.

Wang Jisi. (1994). The International Relations Theory and the Study of Chinese Foreign Policy: A Chinese Perspective. In Thomas W. Robinson and David Shambaugh (Eds.), Chinese Foreign
Policy: Theory and Practice (pp. 481-505). Oxford: Clarendon Press.

Wong, John. (2006). China-ASEAN Relations: An Economic Perspective. In John Wong et al. (Eds.), China-ASEAN Relations: Economic and Legal Dimensions (pp.17-32). Singapore: World Scientific Publishing.

Yee, Herbert and Ian Storey (Eds.). (2004). The China Threat: Perceptions, Myths and Reality. London: RoutledgeCurzon.

บทความในวารสาร นิตยสาร หนังสือพิมพ์ และสารานุกรม
Burns, John F. (1998, May 5). India’s New Defense Chief Sees Chinese Military Threat. The New York Times. Retrieved November 18, 2008, from http://www.nytimes.com/.

Carlson, Allen. (2004). Helping to Keep the Peace (Albeit Reluctantly): China’s Recent Stance on Sovereignty and Multilateral Intervention. Pacific Affairs 77(1), 9-27.

China ‘boosting cyber warfare’. (2008, November 22). Bangkok Post, p. 5.

Glaser, Bonnie S. and Evan S. Medeiros. (2007). The Changing Ecology of Foreign Policy-Making in China: The Ascension and Demise of the Theory of Peaceful Rise. The China Quarterly, 190(June), 291-310.

Houser, Trever. (2008). The Roots of Chinese Oil Investment Abroad. Asia Policy 5(January), 141-166.

Ren Yujun. (2002, July 15). US Right Wing Forces Tend to Fan Up ‘China Threat Theory’ Again. People’s Daily. Retrieved November 18, 2008, from http://english.peopledaily.com.cn/200207/17/print20020717_99884.html.

Roy, Denny. (1996). The China Threat Issue. Asian Survey 36(8), 758-771.

Sautman, Barry and Yan Hairong. (2008). The Forest for the Trees: Trade, Investment and the China-in-Africa Discourse. Pacific Affairs 81(1), 9-29.

Shambaugh, David. (2007). China’s Quiet Diplomacy”; The International Department of the Chinese Communist Party. China: An International Journal 5(1), 26-54.

Swire, Nathan. (2008, November 14). Mearsheimer explores threat of China. The Dartmouth News. Retrieved November 18, 2008, from http://thedartmouth. com/2008/11/14/news/mearsheimer/print/.

Wang Jisi. (2005). China’s Search for Stability with America. Foreign Affairs (September/October), 39-48.

Zheng Bijian. (2005). China’s “Peaceful Rise” to Great-Power Status. Foreign Affairs (September/October), 18-24.

เอกสารอื่นๆ
China. (2008) In CIA – The World Factbook. Retrieved November 11, 2008, from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/ch.html.

Confucius Institute Online. (2008). Retrieved November 5, 2008, from http://www.confuciusinstitute.net/about_us.

Opening Statement By H.E. Mr. Qian Qichen, Vice Premier and Minister of Foreign Affairs, People’s Republic of China at ASEAN Regional Forum (ARF), Subang Jaya, July 27. (1997). Retrieved May 26, 2008, from http://www.shaps.hawaii.edu/security/china/qian-arf-9707.html.

Xin Ma and Philip Andrews-Speed. (2007). The Overseas Activities of China’s National Oil Companies: Rationale and Outlook. Retrieved May 26, 2008, from http://www.ciis.org.cn.
U.S.-China Economic and Security Review Commission Fact Sheet. (2008) Retrieved November 18, 2008, from http://www.uscc.gov/about/facts.php .

ไม่มีความคิดเห็น: