วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

หลิวเส้าฉี: การต่อสู้สองแนวทางและการปฏิวัติวัฒนธรรม


 


***เป็นเพียงร่างบทความ อย่าเพิ่งนำไปอ้างอิง***
 




 

“แม้จะไม่เคยมีหลักฐานที่ชี้ชัดได้ว่าหลิววางแผนจะโค่นล้มเหมา

แต่ผู้นิยมเหมาในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมก็กล่าวหาว่าเขาสนับสนุนความเป็นผู้นำของเหมาอย่างไม่เต็มใจ”

(Chen, 1971, p. 112)

 

“เราเคยเรียกการต่อสู้บางครั้งในประวัติศาสตร์ของพรรคอย่างผิดๆ ว่าเป็นการต่อสู้สองแนวทาง

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่พวกเราไม่ควรใช้คำนี้ ... พวกเราควรตัดสินมันตามความผิดถูก

ควรทำความเข้าใจเนื้อหาสาระของมันให้แจ่มแจ้ง

และโดยหลักการแล้วไม่ควรเรียกว่ามันเป็น “การต่อสู้ระหว่างสองแนวทาง

(เติ้งเสี่ยวผิง, 22 มิถุนายน 1981)

 
 

บทนำ

            เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1980 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 5 ของสมัชชาพรรคครั้งที่ 11 ได้มีมติให้ฟื้นฟูเกียรติภูมิของหลิวเส้าฉี (刘少奇) อดีตประธานาธิบดีและรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้ซึ่งถูกตราหน้าในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมว่าเป็นหัวหน้าของ “กลุ่มผู้มีอำนาจที่เดินสายทุนนิยม” (走资本主义道路的当权派) และได้รับความบอบช้ำทั้งทางร่างกายและจิตใจจนกระทั่งเสียชีวิตอย่างอเนจอนาถเมื่อ ค.ศ. 1969 โดยมติดังกล่าวระบุว่าหลิวเส้าฉีเป็น “ผู้นิยมลัทธิมากซ์ที่ยิ่งใหญ่ นักปฏิวัติกรรมาชีพที่ต่อสู้เพื่อลัทธิคอมมิวนิสต์มาตลอดชีวิต” (Zhongguo gongchandang, 29 กุมภาพันธ์ 1980) และในเดือนพฤษภาคมของปีเดียวกัน ทางการจีนได้จัดพิธีรำลึกถึงเขา รวมทั้งจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเขา ณ พิพิธภัณฑ์การปฏิวัติของจีนในบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินอีกด้วย

            งานทางวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองสาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวนไม่น้อย อาทิ อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ และนฤมิตร สอดสุข (2524) Li (1975) Fairbank & Goldman (1999) เป็นต้น ได้อธิบายชะตากรรมของหลิวเส้าฉีในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมว่าเป็นผลมาจาก “การต่อสู้สองแนวทาง” (two-line struggle) กล่าวคือ หลังจากที่เศรษฐกิจจีนประสบกับวิกฤตภายหลังจากที่เหมาเจ๋อตง (毛泽东) ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศใช้นโยบายก้าวกระโดด (Great Leap Forward) เมื่อ ค.ศ. 1958 กลุ่มผู้นำที่ประกอบไปด้วยหลิวเส้าฉี เติ้งเสี่ยวผิง (邓小平) และเฉินหยุน (陈云) ได้เข้ามารับหน้าที่ฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจโดยอาศัยมาตรการกระตุ้นต่างๆ รวมทั้งกลไกตลาด ซึ่งแนวทางดังกล่าวขัดกับแนวทางของเหมาเจ๋อตงผู้เกรงว่าจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติสังคมนิยมจะเหือดหายไปจากประเทศจีน พร้อมๆ กับการกลับมาของลัทธิทุนนิยม ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายตึงเครียดมากยิ่งขึ้นเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1960 จนนำไปสู่การที่เหมาเปิดฉากการปฏิวัติวัฒนธรรมใน ค.ศ. 1966

            อย่างไรก็ตาม บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างแนวทางของหลิวเส้าฉีกับแนวทางของเหมาเจ๋อตงในครึ่งแรกของทศวรรษ 1960 นั้นไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น “การต่อสู้สองแนวทาง” เพราะตลอดระยะเวลาดังกล่าวหลิวเส้าฉีมิได้ต้องการต่อสู้เพื่อเอาชนะเหมาเจ๋อตง หากแต่แสวงหาความเห็นชอบด้านนโยบายจากเหมา รวมทั้งยินยอมปรับเปลี่ยนท่าทีเมื่อเหมาแสดงความไม่เห็นด้วย  ดังที่ Teiwes (1993, p. xxxvi) เรียกการเมืองในหมู่ชนชั้นนำของจีนยุคนั้นว่าเป็น “ความขัดแย้งที่ปราศจากการต่อต้าน” (conflict without opposition) เพราะทุกหลิวยังคงเคารพการตัดสินใจขั้นสูงสุดของเหมา ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม เหมาจึงลงโทษหลิวแต่เพียงปลดจากตำแหน่งรองประธานพรรคและลดสถานะจากกรรมการประจำกรมการเมืองลำดับที่ 2 ลงไปเป็นกรรมการประจำกรมการเมืองลำดับที่ 8 แต่แล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์ “กระแสทวนเดือนกุมภาพันธ์” (二月逆流 February Adverse Current) เมื่อ ค.ศ. 1967 เหมาจึงจำเป็นต้องสร้างความชอบธรรมให้กับการปฏิวัติวัฒนธรรมและยกระดับการต่อสู้กับหลิวจนนำไปสู่การประณามและขับไล่เขาออกจากพรรคเมื่อ ค.ศ. 1968  

 

เส้นทางการเมืองของหลิวเส้าฉี

            หลิวเส้าฉีเป็นชาวมณฑลหูหนาน เกิดเมื่อ ค.ศ. 1898 ในครอบครัวชาวนารวย[1] เขาเริ่มต้นชีวิตทางการเมืองเมื่อ ค.ศ. 1920 ด้วยการเข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตเยาวชนสังคมนิยม (Socialist Youth League) ที่ก่อตั้งโดยกริกอรี วอยทินสกี (Grigory Voitinsky) ผู้แทนของโคมินเมิร์น (Comintern) เขาศึกษาภาษารัสเซียที่สำนักงานใหญ่ของสันนิบาตดังกล่าวซึ่งอยู่ในเขตเช่าของฝรั่งเศส ณ นครเซี่ยงไฮ้อยู่ระยะหนึ่งก่อนที่สันนิบาตจะส่งตัวเขาไปยังกรุงมอสโกในฤดูใบไม้ผลิของ ค.ศ. 1921 เพื่อศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแห่งบูรพาทิศ (Eastern University) ซึ่งทำหน้าที่ฝึกอบรมบุคลากรที่มาจากชนชาติส่วนน้อยในไซบีเรียและจากประเทศต่างๆ ในเอเชีย และในปลายปีนั้นเองเขาได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อนจะเดินทางกลับสู่มาตุภูมิในฤดูใบไม้ผลิของปีถัดมา

            ตำแหน่งแรกที่หลิวเส้าฉีได้รับมอบหมายจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็คือ เลขานุการของสหภาพแรงงานแห่งประเทศจีน ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. 1922 พรรคส่งเขาไปเป็นรองผู้อำนวยการสหภาพแรงงานเหมืองถ่านหินอันหยวนในมณฑลหูหนาน อันทำให้าเริ่มรู้จักมักคุ้นกับเหมาเจ๋อตงที่ขณะนั้นเป็นเลขาธิการพรรคประจำเขตหูหนาน หลิวกับหลี่ลี่ซาน (李立三) ผู้อำนวยการสหภาพแรงงานเหมืองถ่านหินอันหยวนได้ร่วมกันสร้างผลงานในปีนั้นด้วยการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ที่มีคนงานเหมืองและคนงานรถไฟเข้าร่วมถึง 25,000 คน ตามมาด้วยการจัดรณรงค์นัดหยุดงานแบบเดียวกันอีกหลายครั้งทั้งในเซี่ยงไฮ้ กว่างตง อู่ฮั่น และฮั่นโข่ว ผลงานที่โดดเด่นทำให้เขาได้รับเลือกให้เป็นกรรมการกลางพรรคเมื่อ ค.ศ. 1927 เลขาธิการพรรคประจำเขตเหอเป่ยเมื่อ ค.ศ. 1928 เลขาธิการพรรคประจำเขตแมนจูเรียเมื่อ ค.ศ. 1929 (Dittmer, 1974, pp. 13-15)

            ช่วงต้นทศวรรษ 1930 หลิวเส้าฉีย้ายเข้ามาทำงานในเขตเจียงซีโซเวียต (Jiangxi Soviet) ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น และได้เป็นกรรมการกรมการเมืองเมื่อ ค.ศ. 1931 โดยได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านอุตสาหกรรม การค้า และแรงงาน จนกระทั่งได้รับเลือกให้เป็นคณะผู้บริหารสูงสุดของสหพันธ์แรงงานแห่งประเทศจีน (All-China Labour Federation) เมื่อ ค.ศ. 1934 (Li, 1975, p. 54) ต่อมาในเหตุการณ์เดินทัพทางไกล (The Long March) ที่สมาชิกพรรคต้องหนีการปราบปรามของรัฐบาลกั๋วหมินตั่งจนต้องสรุปบทเรียนในการประชุมที่เมืองจุนอี้ มณฑลกุ้ยโจว เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1935 หลิวเส้าฉีก็แสดงออกอย่างชัดเจนในที่ประชุมว่าตนเองคัดค้านยุทธศาสตร์การปฏิวัติในเขตเมืองและสนับสนุนยุทธศาสตร์สงครามกองโจรที่มีฐานในชนบทแบบเหมาเจ๋อตง (Dittmer, 1974, p. 21; Li, 1975, pp. 56-57) ซึ่งในที่สุดแล้วที่ประชุมก็ยอมรับให้แนวทางของเหมาเป็นแนวทางหลักของพรรค

            หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนหนีการปราบปรามของรัฐบาลกั๋วหมินตั่งจนมาตั้งมั่นที่เมืองเอี๋ยนอาน มณฑลส่านซีได้สำเร็จในปลาย ค.ศ. 1935 หลิวเส้าฉีก็ได้รับผิดชอบงานในตำแหน่งสำคัญของพรรคเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเลขาธิการประจำสำนักงานคณะกรรมการกลางพรรคเขตจีนเหนือเมื่อ ค.ศ. 1936 เขตจงหยวนเมื่อ ค.ศ. 1939 และเขตจีนกลางเมื่อ ค.ศ. 1941 รวมทั้งเป็นเลขาธิการประจำสำนักเลขาธิการพรรคและรองประธานกรรมาธิการทหารของพรรคเมื่อ ค.ศ. 1942 ผลงานชิ้นสำคัญของเขาก็คือสิ่งพิมพ์ที่ชื่อ ว่าด้วยการฝึกฝนสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ (论共产党员的修养) ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1939 และกลายเป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญที่เหมาเจ๋อตงใช้เพื่อรณรงค์ปรับปรุงทัศนคติของสมาชิกพรรคและกำจัดศัตรูทางการเมืองที่เรียกกันว่า “ขบวนการแก้ไขความคิดให้ถูกต้อง” (整风运动The Rectification Campaign) เมื่อ ค.ศ. 1942 (Hu, 1994, p. 293)

            สถานะและความสำคัญของหลิวเส้าฉีปรากฏชัดเจนเมื่อที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคเต็มคณะครั้งที่ 7 ของสมัชชาพรรคที่ 6 เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1945 ได้ให้ความเห็นชอบในเอกสารที่ชื่อว่า มติเกี่ยวกับปัญหาทางประวัติศาสตร์บางประการ (关于若干历史问题的决议) อันมีใจความตำหนิความผิดพลาดของแกนนำพรรคในอดีตและยกย่องความสามารถของเหมาเจ๋อตง ข้อที่น่าสังเกตก็คือ นอกจากเหมาแล้ว มติดังกล่าวได้ยกย่องความสามารถของผู้นำพรรคอีกเพียงคนเดียวคือหลิวเส้าฉี (Resolution on Certain Questions, 1945, April) เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นสถานะที่ไม่ธรรมดาของเขา และต่อมาในการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 7 ในเดือนเดียวกันนั้นเอง หลิวก็ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการกลางพรรคและกรรมการกรมการเมืองด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่าเหมาเจ๋อตงและจูเต๋อ (朱德) เพียงหนึ่งเสียงเท่านั้น (Chen, 1971, p. 9; Li, 1975, p. 95)

            แม้ว่าการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 7 เมื่อ ค.ศ. 1945 จะมิได้กำหนดว่าบุคคลผู้ใดจะสืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อจากเหมาเจ๋อตง หากแต่ในทางพฤตินัยเป็นที่เข้าใจกันว่าบุคคลผู้นั้นคงจะหนีไม่พ้นหลิวเส้าฉี ดังจะเห็นได้จากในปลายปีนั้นเองเมื่อเหมาเดินทางไปยังนครฉงชิ่งเพื่อเจรจายุติสงครามกลางเมืองกับรัฐบาลกั๋วหมินตั่ง หลิวก็ได้ทำหน้าที่รักษาการประธานพรรคเป็นเวลาหนึ่งเดือน (Chen, 1971, p. 9) และเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ถูกกองทัพกั๋วหมินตั่งโจมตีอย่างหนักจนต้องอพยพออกจากเมืองเอี๋ยนอานเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1947 แกนนำระดับสูงของพรรคได้แยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งนำโดยเหมาเจ๋อตงและโจวเอินไหล (周恩来) ที่ตั้งมั่นอยู่ในเขตชายแดนส่านซี-กานซู่-หนิงเซี่ย และกลุ่มที่สองนำโดยหลิวเส้าฉีและจูเต๋อที่ตั้งมั่นอยู่ในเขตชายแดนซานซี-ชาฮาร์-เหอเป่ย ในครั้งนั้นเหมาได้บอกกับคณะกรรมการกลางพรรคทุกคนว่า หากกลุ่มของเขามีอันเป็นไปก็ให้กลุ่มของหลิวขึ้นเป็นแกนนำพรรคสืบแทน (Dittmer, 1974, p. 26)

            เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมืองและสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1949 หลิวเส้าฉีได้ดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นจำนวนมาก ในระดับรัฐ (state) เขาเป็นรองประธานรัฐบาลกลาง (ต่อมาเรียกว่ารองประธานาธิบดี) และรับผิดชอบการร่างรัฐธรรมนูญจนประกาศใช้เมื่อ ค.ศ. 1954 เขายังได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนประชาชนในปีเดียวกัน และเมื่อถึง ค.ศ. 1959 เขาก็ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากเหมาเจ๋อตง ส่วนในระดับพรรค (party) ตำแหน่งเลขาธิการประจำสำนักเลขาธิการพรรคทำให้หลิวมีบทบาทในการดูแลการปฏิบัติงานรายวันของพรรค และในการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 8 เมื่อ ค.ศ. 1956 เขาได้รับเลือกเป็นรองประธานพรรคคนที่หนึ่ง ในด้านวิเทศสัมพันธ์ช่วงทศวรรษ 1950 ที่จีนเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตในสงครามเย็น หลิวก็ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมมิตรภาพจีน-โซเวียต (Chen, 1971, p. 9; Dittmer, 1974, pp. 26-27; Li, 1975, pp. 101-104) และในการสนทนากับจอมพลเบอร์นาร์ด ลอว์ มอนต์โกเมอรี (Bernard Law Montgomery) แห่งสหราชอาณาจักรฯ เมื่อ ค.ศ. 1961 เหมาระบุว่าหลิวเป็นทายาททางการเมืองของเขา (Dittmer, 1974, p. 27)

                อย่างไรก็ตาม หลิวเส้าฉีมีทัศนะเกี่ยวกับการเข้าสู่สังคมนิยมของจีนที่แตกต่างไปจากเหมาเจ๋อตง ดังจะเห็นได้จากเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนบุกยึดเมืองเทียนจินได้สำเร็จในเดือนมกราคม ค.ศ. 1949 เจ้าของธุรกิจเอกชนในเทียนจินกว่าร้อยละ 70 พากันปิดกิจการด้วยเกรงว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามายึดทรัพย์สิน จึงนำไปสู่ปัญหาการว่างงานและการขาดแคลนสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างรุนแรงจนมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดจลาจล หลิวจึงเดินทางไปลงพื้นที่ด้วยตนเองพร้อมกับแสดงทัศนะว่า ลัทธิสังคมนิยมจะเป็นจริงได้ต้องอาศัยระบบเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า พรรคคอมมิวนิสต์จึงควรรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนเอาไว้เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางสังคมและความกินดีอยู่ดีของประชาชน ซึ่งตรงข้ามกับเหมาที่ต้องการจำกัดบทบาทของนายทุนเอาไว้ให้มากที่สุด (Huang, 2000, pp. 161-166) และในคำปราศรัยเมื่อวันที่ 22 กันยายนของปีเดียวกัน หลิวระบุชัดเจนว่า

 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในอนาคตจีนจะเดินทางไปสู่ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์  เพราะการทำให้เป็นอุตสาหกรรมของจีนจะส่งผลให้จีนกลายเป็นสังคมนิยม หรือไม่ก็เป็นประเทศจักรวรรดินิยม ซึ่งชาวจีนและชาวโลกจะไม่ยอมให้เป็นในแบบหลัง แต่สิ่งเหล่านี้เป็นอนาคตอีกยาวไกล (เน้นโดยผู้เขียนบทความ) ... ขั้นตอนไปสู่สังคมนิยมของจีนต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความจำเป็นของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจจีน และบนความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
(Liu Shaoqi, 1949, September 22)  

 

            อย่างไรก็ตาม เมื่อถึง ค.ศ. 1953 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกรณีการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ของโป๋อีโป (薄一波)[2] เหมาเจ๋อตงก็ได้ตัดสินใจเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมนิยมให้เร็วขึ้น ดังปรากฏออกมาเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจห้าปีฉบับแรก (ค.ศ. 1953 – 1957) ที่มีการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตร รวมทั้งเปลี่ยนอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมของเอกชนให้เป็นของรัฐ ซึ่งหลิวเส้าฉีก็เคารพการตัดสินใจของเหมา

 

เหมาเจ๋อตงและหลิวเส้าฉีกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจในครึ่งแรกของทศวรรษ 1960: การต่อสู้สองแนวทาง?

            ใน ค.ศ. 1958 เหมาเจ๋อตงประกาศใช้นโยบายก้าวกระโดด (大跃进) โดยทุ่มเททรัพยากรเพื่อผลิตเหล็กกล้าและตั้งเป้าให้จีนกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าเทียบเท่าสหราชอาณาจักรฯ ภายใน 15 ปี ซึ่งในช่วงแรกทั้งหลิวเส้าฉีและเติ้งเสี่ยวผิงก็ให้การสนับสนุน[3] แต่แล้วการผลิตเหล็กกล้าก็มิได้คุณภาพตามเป้าหมาย โดยในการประชุมคณะกรรมการกรมการเมืองที่หลูซาน (庐山) มณฑลเจียงซี เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1959 จอมพลเผิงเต๋อหวย (彭德怀) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดของเหมาอย่างรุนแรงจนเหมาสั่งปลดออกจากตำแหน่งและให้จอมพลหลินเปียว (林彪) รับตำแหน่งแทน เหมายืนยันว่านโยบายก้าวกระโดดมีข้อเสียเพียงหนึ่งในสิบส่วน พร้อมตราหน้าว่าเผิงเป็นพวก “ฉวยโอกาสเอียงขวา” (Zong, 1989, pp. 95-99) นโยบายดังกล่าวจึงยังคงเดินหน้าต่อไปทั้งๆ ที่มีปัญหา ซ้ำร้ายยังเกิดทุพภิกขภัยและสหภาพโซเวียตประกาศตัดความช่วยเหลือแก่จีน ผลผลิตทางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมจึงลดลงตลอดช่วง ค.ศ. 1959 ถึง ค.ศ. 1961 จนเกิดความอดอยากและมีผู้เสียชีวิตราว 20 ล้านคน (Lieberthal, 1987, p. 319)  

            เมื่อถึงฤดูร้อนของ ค.ศ. 1960 ผู้นำระดับสูงของจีนเริ่มยอมรับในความร้ายแรงของปัญหา ที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม ถึง 10 สิงหาคมของปีนั้นจึงมีมติให้ปรับเปลี่ยนแนวทางด้านเศรษฐกิจเสียใหม่ โดยชูคำขวัญว่า “แก้ไข” (调整) “ตั้งให้มั่น” (巩固) “เสริมให้แกร่ง” (充实) และ “ยกระดับ” (提高) ซึ่งเท่ากับยุตินโยบายก้าวกระโดดของเหมาเจ๋อตง (Zong, 1989, p. 102) โดยหลิวเส้าฉี เติ้งเสี่ยวผิง และเฉินหยุนได้เข้ามารับหน้าที่ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหาย มีการริเริ่มระบบความรับผิดชอบในที่ดิน (责任田responsibility land system) ที่ยอมให้ชาวนานำผลผลิตที่เกินเป้าไปขายในตลาดได้ รวมทั้งเพิ่มมาตรการจูงใจอื่นๆ ทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม สภาวะทางเศรษฐกิจของจีนจึงค่อยๆ ดีขึ้น และเมื่อถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1964 นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลก็ประกาศต่อที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนว่าการปรับปรุงเศรษฐกิจได้เสร็จสมบูรณ์แล้วในขั้นพื้นฐาน และจีนจะบรรลุถึง “สี่ทันสมัย” (四个现代化Four Modernizations) อันประกอบไปด้วยเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การทหาร และเทคโนโลยีภายในสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 (Zong, 1989, p. 107)  

            เหมาเจ๋อตงดูเหมือนจะมีบทบาทในกิจการต่างๆ ลดลงหลัง ค.ศ. 1960 ดังที่ต่อมาในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมเขาระบุว่าหลัง ค.ศ. 1958 หลิวเส้าฉีกับเติ้งเสี่ยวผิงปฏิบัติต่อเขาประหนึ่ง “บุพการีที่กำลังนอนรอความตาย” (พาย, 2547, น. 545-546) คำกล่าวของเหมาไม่สอดคล้องกับความจริงที่ว่าตลอดช่วงดังกล่าวแม้จะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับกิจการรายวันของพรรคอีกต่อไปแล้ว แต่เขาก็ยังคงเป็นผู้ให้ความเห็นชอบสูงสุดในนโนบายต่างๆ ดูได้จากบทบาทของเหมาในการประชุมเจ็ดพันคน (七千人大会) เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1962 กล่าวคือ ช่วง ค.ศ. 1960 ถึง ค.ศ. 1961 มีผู้ปฏิบัติงานของพรรคจำนวนมากไม่กระตือรือร้นที่จะปฏิบัติตามแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของหลิวและเติ้งเท่าที่ควร ด้วยเกรงว่าตนเองอาจถูกกล่าวหาว่าเอียงขวา ดังนั้นเพื่อทำความเข้าใจกับบุคคลเหล่านี้ คณะกรรมการพรรคได้จัดการประชุมดังกล่าวขึ้น และเหมาได้ทำการวิจารณ์ตนเอง (self-criticism) ต่อหน้าที่ประชุมเพื่อยอมรับความผิดพลาดของนโยบายก้าวกระโดด ขณะที่หลิวเส้าฉี โจวเอินไหล และเติ้งเสี่ยวผิงต่างพากันยอมรับความผิดเช่นเดียวกัน (Zong, 1989, p. 105) คำวิจารณ์ตนเองของเหมาจึงเป็นการให้ความเห็นชอบต่อคำขวัญ “แก้ไข ตั้งให้มั่น เสริมให้แกร่ง ยกระดับ” ที่มาจากมติของคณะกรรมการกลางพรรคเมื่อ ค.ศ. 1960 ซึ่งทำให้หลังการประชุมเสร็จสิ้นลง ผู้ปฏิบัติงานของพรรคสามารถปฏิบัติตามมติดังกล่าวได้โดยไม่กังวล[4] และถึงแม้เหมาจะยังคงเน้นย้ำเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 10 ของคณะกรรมการกลางพรรคชุดที่ 8 เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1962 แต่เขาก็ระบุชัดเจนว่าต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานด้านเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก (Hu, 1994, p. 604)

            ส่วนหลิวเส้าฉีก็ยังคงให้ความสำคัญกับเหมาเจ๋อตง โดยเฉาะในยามที่เหมาแสดงทัศนะหรือข้อเสนอใดๆ ออกมา ทั้งนี้เป็นเพราะเขาตระหนักดีว่านโยบายต่างๆ ไม่อาจดำเนินลุล่วงไปได้หากปราศจากความเห็นชอบของเหมา ดังเช่นในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1963 ที่เหมาแสดงความกังวลว่าจิตสำนึกเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นกำลังเหือดหายไปจากชนบทและเสนอให้จัดการรณรงค์ที่เรียกว่า “ขบวนการศึกษาสังคมนิยม” (社会主义教育运动Socialist Education Movement) หลิวก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยในการประชุมครั้งหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1964 หลิวถึงกับระบุว่าประมาณหนึ่งในสามของหน่วยงานพรรคในชนบทนั้นตกอยู่ในมือของศัตรูไปแล้ว จนนำมาซึ่งการลงโทษผู้ปฏิบัติงานของพรรคในชนบทเป็นจำนวนมากด้วยข้อหา “เดินสายทุนนิยม” (Hu, 1994, pp. 606-607) และหลิวได้ไปสำรวจพื้นที่ชนบทในเขตมณฑลเหอหนานด้วยตนเองเป็นเวลา 18 วัน ขณะที่หวังกวงเหม่ย (王光美) ภรรยาของเขาไปสำรวจพื้นที่ชนบทใกล้เมืองเทียนจินเป็นเวลา 5 เดือน (Lieberthal, 1987, p. 389) ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าตลอดครึ่งแรกของทศวรรษ 1960 เหมาเจ๋อตงยังคงมีบทบาทเป็นผู้ตัดสินใจสูงสุดด้านนโยบายและเป็นผู้ให้ความเห็นชอบต่อแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของหลิวเส้าฉี การอธิบายว่าการเมืองจีนในสมัยนั้นเป็น “การต่อสู้สองแนวทาง” ระหว่างเหมากับหลิวจึงไม่น่าจะถูกต้อง เพราะหลิวมิได้คิดจะต่อสู้กับเหมาแต่ประการใด

            อย่างไรก็ตาม เมื่อขบวนการศึกษาสังคมนิยมดำเนินไปได้ระยะหนึ่งก็เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างเหมาเจ๋อตงกับหลิวเส้าฉีอันเป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญสองประการคือ (1) การที่หลิวดูแลกิจการรายวันของพรรคทำให้ผู้ปฏิบัติงานของพรรคฟังคำสั่งของเขาเป็นหลัก ดังนั้นช่วงแรกที่เหมาเสนอให้มีการรณรงค์การศึกษาสังคมนิยมในชนบทจึงมีผู้ปฏิบัติตามไม่มาก จนกระทั่งหลิวต้องออกคำสั่งจึงเกิดการรณรงค์อย่างคึกคักไปทั่วประเทศ เหมาจึงรู้สึกว่าหลิวมีฐานอำนาจภายในพรรคที่มีพลังจะท้าทายตนได้ (Teiwes, 1993, p. xiii) และ (2) แม้หลิวจะสนับสนุนขบวนการศึกษาสังคมนิยมที่เหมาเสนอมา แต่เขามองว่าการรณรงค์ดังกล่าวควรจำกัดอยู่เฉพาะในหมู่ผู้ปฏิบัติงานของพรรคเท่านั้น ดังปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในเอกสารของคณะกรรมการกลางพรรคที่ชื่อ ข้อกำหนดหลังสิบประการ (后十条) ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1963 โดยมีเติ้งเสี่ยวผิงและเผิงเจิน (彭真) เป็นผู้ร่าง ตรงข้ามกับเหมาที่เชื่อว่าการรื้อฟื้นความเข้มข้นของอุดมการณ์ควรมาจากการปลุกระดมมวลชน (Lieberthal, 1987, pp. 354-355) ความตึงเครียดมาถึงจุดแตกหักในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1964 เมื่อเหมาล้มป่วยลง เติ้งจึงได้เสนอให้เหมาพักผ่อนและไม่ต้องเข้าประชุมกรมการเมือง เราไม่ทราบแน่ชัดว่าเติ้งมีเจตนาอะไรจึงกล่าวเช่นนั้น แต่ผลปรากฏว่าเหมาไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งและได้เข้าประชุมพร้อมกับถือรัฐธรรมนูญและธรรมนูญพรรคเอาไว้ในมือแล้วประกาศว่ามีบุคคลผู้หนึ่งพยายามขัดขวางไม่ให้เขาเข้าประชุม และมีอีกผู้หนึ่งพยายามขัดขวางไม่ให้เขาแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันในที่ประชุมว่าเหมาหมายถึงเติ้งและหลิวตามลำดับ (Teiwes, 1993, p. xliii)

            ขณะเดียวกัน เหมาเจ๋อตงยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศตลอดช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 1960 อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต การที่นายกรัฐมนตรีนิกิตา ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) แห่งสหภาพโซเวียตดำเนินนโยบายลดการเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของทหารอเมริกันในเวียดนาม ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่ไม่เอื้ออำนวยต่อความมั่นคงของจีนและทำให้เหมาเห็นความจำเป็นที่จะต้องสะสางเรื่องภายในประเทศเพื่อรับกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป และในบทสัมภาษณ์เหมาของเอ็ดการ์ สโนว์ (Edgar Snow) เมื่อ ค.ศ. 1970 เหมาระบุว่าเมื่อถึง ค.ศ. 1965 เขาได้ตัดสินใจแล้วว่าจะปลดหลิวเส้าฉีและเปิดฉากการปฏิวัติวัฒนธรรม (MacFarquhar, 1997, pp. 377, 431)   

            กรณีของหลิวเส้าฉีเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นปัญหาการสืบทอดอำนาจทางการเมืองในสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือที่ Dittmer (2002, pp. 233-234) เรียกว่า “วิกฤตของการกำหนดทายาททางการเมืองไว้ล่วงหน้า” (premortem succession crisis) กล่าวคือ แม้ว่าการกำหนดตัวทายาททางการเมืองจะเป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแย่งชิงอำนาจกันเมื่อผู้นำสูงสุดเสียชีวิต แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อผู้นำสูงสุดถอยไปอยู่ “แนวที่สอง” (二线) โดยยกการบริหารงานรายวันให้ทายาททางการเมืองซึ่งอยู่ใน “แนวที่หนึ่ง” (一线) เป็นผู้รับผิดชอบ[5] ทำให้เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ผู้นำสูงสุดจะเริ่มเห็นข้อบกพร่องในการปฏิบัติงานของทายาททางการเมืองจนเกิดความไม่ไว้วางใจและเริ่มแสวงหาทายาททางการเมืองคนใหม่ อันนำมาซึ่งความไม่มั่นคงของระบบการสืบทอดอำนาจนั่นเอง[6]

 

หลิวเส้าฉีกับการปฏิวัติวัฒนธรรม

            ประเด็นที่เป็นชนวนไปสู่การปฏิวัติวัฒนธรรมคือบทละครเรื่อง ไห่รุ่ยถูกปลด (海瑞罢官) ซึ่งอู๋หาน (吴晗) รองนายกเทศมนตรีกรุงปักกิ่งเขียนขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1960 โดยเล่าถึงไห่รุ่ย ขุนนางในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่กล้าวิจารณ์จักรพรรดิราชวงศ์หมิงจนถูกปลดจากตำแหน่ง บทละครดังกล่าวกลายเป็นปัญหาเมื่อเหยาเหวินหยวน (姚文元) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเจียงชิง (江青) ภรรยาของเหมาเจ๋อตง ได้เขียนบทวิจารณ์ลงหนังสือพิมพ์ เหวินฮุ่ยเป้า (文汇报) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1965 โดยระบุว่าบทละครเรื่องนี้มีเนื้อหาเสียดสีเหมาที่สั่งปลดเผิงเต๋อหวยในข้อหา “ฉวยโอกาสเอียงขวา” เมื่อ ค.ศ. 1959 และแสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งทางชนชั้นยังดำรงอยู่ ต่อมาไม่นานบทวิจารณ์ของเหยาก็แพร่หลายออกไปจนทำให้ในต้น ค.ศ. 1966 เผิงเจินในฐานะประธานกลุ่มห้าคนที่สำนักเลขาธิการพรรคตั้งขึ้นเพื่อดูแลกิจการด้านวัฒนธรรมเมื่อ ค.ศ. 1964 ได้เรียกประชุมกลุ่มและได้ข้อสรุปว่าบทละครเรื่องนี้ไม่มีนัยทางการเมือง (Zong, 1989, pp. 129-130)

            ข้อสรุปของเผิงเจินที่ยืนยันความบริสุทธิ์ของอู๋หานทำให้เหมาเจ๋อตงไม่พอใจและเรียกประชุมกรรมการกรมการเมืองขยายวงในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1966 ซึ่งที่ประชุมได้วิจารณ์เผิงเจินอย่างรุนแรงโดยประณามว่าเขา “ต่อต้านประธานเหมาและแนวคิดเหมาเจ๋อตง” อีกทั้ง “วางแผนยึดอำนาจรัฐและฟื้นฟูลัทธิทุนนิยม” ต่อมาในวันที่ 16 พฤษภาคม เหมาได้ทำหนังสือเวียนถึงกรรมการกลางพรรคเพื่อเรียกร้องให้ต่อสู้กับพวกกระฎุมพีต่อต้านสังคมนิยมที่แทรกซึมอยู่ในหน่วยงานต่างๆ หนังสือเวียนดังกล่าวถือเป็นการเปิดฉากการปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการ (Zong, 1989, pp. 131-132) และเมื่อถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม เผิงเจินก็ถูกปลดจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีและเลขาธิการพรรคประจำกรุงปักกิ่ง อีกทั้งมีการยุบกลุ่มห้าคนที่เขาเป็นประธานอยู่และแทนที่ด้วยกลุ่มใหม่ที่ชื่อ “กลุ่มศูนย์กลางการปฏิวัติวัฒนธรรมย่อย” (文革小组) โดยมีประธานคือ เฉินโป๋ต๋า (陈伯达) อดีตเลขานุการส่วนตัวของเหมาที่เป็นผู้เขียนร่างต้นฉบับ (ghostwriter) ให้แก่เหมามาเป็นเวลายาวนาน

            ชะตากรรมของเผิงเจินส่งผลต่อหลิวเส้าฉีไม่น้อยเพราะทั้งสองคนมีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ต่อกันมานานตั้งแต่ครั้งที่หลิวเป็นเลขาธิการพรรคประจำเขตเหอเป่ยเมื่อ ค.ศ. 1928 โชคร้ายก็คือ ตลอดเดือนเมษายน ค.ศ. 1966 ที่เผิงเริ่มตกที่นั่งลำบากทางการเมือง หลิวในฐานะประธานาธิบดีติดภารกิจเดินทางเยือนอัฟกานิสถาน ปากีสถาน และพม่า ทำให้ไม่สามารถปกป้องเผิงและควบคุมสถานการณ์ใดๆ ได้ และการที่เผิงถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ต่อต้านประธานเหมาและวางแผนฟื้นฟูลัทธิทุนนิยมก็มีนัยส่งต่อไปยังหลิวอย่างหนีไม่พ้น ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การที่เผิงสูญเสียตำแหน่งนายกเทศมนตรีและเลขาธิการพรรคประจำกรุงปักกิ่งไปพร้อมกับตำแหน่งประธานกลุ่มห้าคนที่ดูแลกิจการด้านวัฒนธรรมนั้นเท่ากับว่า หลิวได้สูญเสียแขนขาสำคัญที่จะควบคุมความสงบเรียบร้อยในเขตเมืองหลวงและกิจการด้านวัฒนธรรมให้แก่ฝ่ายเหมาไปเรียบร้อยแล้ว

            ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1966 กลุ่มของเฉินโป๋ต๋าได้เข้ายึดหนังสือพิมพ์ ประชาชนรายวัน (人民日报) ที่เป็นกระบอกเสียงของพรรคและปลุกระดมให้นักเรียนและนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้ทางชนชั้น หรือต่อมากลายเป็นขบวนการที่เรียกว่า “ยามพิทักษ์แดง” (红卫兵Red Guards) หลิวเส้าฉีจึงได้ขอร้องให้เหมาเจ๋อตงซึ่งขณะนั้นไปตรวจงานต่างมณฑลเดินทางกลับมายังกรุงปักกิ่งเพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่เหมาปฏิเสธและบอกให้หลิวเส้าฉีกับเติ้งเสี่ยวผิงจัดการไปตามที่เห็นสมควร หลิวกับเติ้งจึงส่ง “คณะปฏิบัติการ” (工作组)[7] เข้าไปควบคุมสถานการณ์ในสถาบันการศึกษาทั่วกรุงปักกิ่งพร้อมกับออก “คำสั่งแปดประการ” (八条指示) ที่จำกัดขอบเขตความเคลื่อนไหวไม่ให้ออกนอกรั้วสถาบันการศึกษา (Yan & Gao, 1996, p. 44) ผลปรากฏว่าเหมาเดินทางกลับมายังกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมด้วยความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง โดยระบุว่าคำสั่งดังกล่าวขัดขวางความเคลื่อนไหวของมวลชนและมีลักษณะกระฎุมพีที่ต่อต้านการปฏิวัติ ต่อมาในวันที่ 5 สิงหาคม เหมาได้เขียนหนังสือพิมพ์กำแพง (大字报Big Character Poster) โดยมีข้อความสั้นๆ ว่า “ถล่มกองบัญชาการ” (炮打司令部) ซึ่งเท่ากับเปิดฉากการต่อสู้กับหลิวนั่นเอง (Zong, 1989, pp. 134-135)

            ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นความเป็นไปได้อย่างมากว่า เหมาเจ๋อตงจงใจปฏิเสธที่จะกลับมาควบคุมสถานการณ์ในกรุงปักกิ่งตามคำขอของหลิวเส้าฉี จนทำให้หลิวต้องรับมือกับสถานการณ์ด้วยตนเองและต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยในวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1966 มีการลงโทษหลิวด้วยการปลดจากตำแหน่งรองประธานพรรค และลดสถานะจากกรรมการกรมการเมืองลำดับที่สองลงไปเป็นลำดับที่แปด โดยเหมาให้หลินเปียวเข้ามาแทนที่ และถึงแม้ว่าหลิวจะยังเป็นประธานาธิบดีอยู่ต่อไป แต่การปรากฏตัวต่อสาธารณะก็ลดน้อยลง โดยในวันที่ 17 สิงหาคม บัคเชียร์ ซาเด็ก (Bachir Sadek) ทูตซีเรียประจำกรุงปักกิ่งคนใหม่เดินทางมายื่นสาส์นตราตั้งแก่ประธานาธิบดี แต่ผู้ที่ออกมารับสาส์นคือรองประธานาธิบดีต่งปี้อู่ (董必武) และในวันที่ 19 สิงหาคม หลิวก็ไม่ปรากฏตัวในงานเลี้ยงต้อนรับเรอเบน คามันกา (Reuben Kamanga) รองประธานาธิบดีแห่งแซมเบีย (Dittmer, 1974, p. 96)

            เมื่อถึงปลาย ค.ศ. 1966 สถานะของหลิวเส้าฉีดูเหมือนจะดีขึ้นเล็กน้อยเพราะเหมาเจ๋อตงรู้สึกพอใจที่สามารถเปลี่ยนตัวผู้นำพรรคลำดับที่สองได้สำเร็จ และเห็นว่าหลิวได้รับการลงโทษตามสมควรแล้วจึงไม่ได้คิดที่จะประณามหลิวอย่างต่อเนื่องอีกต่อไป อีกทั้งเหมายังคงให้เกียรติหลิวในฐานะประธานาธิบดีอีกด้วย ดูได้จากงานฉลองวันชาติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมของปีนั้นที่หลิวปรากฏตัวบนประตูเทียนอันเหมินพร้อมกับผู้นำคนอื่นๆ และเมื่อเหมาเดินทางกลับไปก่อนที่งานจะเสร็จสิ้น หลิวก็เข้าไปยืนในตำแหน่งของเหมาเพื่อชมขบวนพาเหรด (Dittmer, 1974, p. 97) ต่อมาในการประชุมกรรมการกรมการเมืองตั้งแต่วันที่ 5 ถึง 28 ตุลาคมของปีนั้น หลิวได้เขียนคำวิจารณ์ตนเอง (self-criticism) ซึ่งทำให้เหมาพอใจและให้โอกาสเขาในการปรับปรุงตนเอง รวมทั้งยังกล่าวด้วยว่าไม่ควรมีการเขียนหนังสือพิมพ์กำแพงเพื่อประณามหลิวอีกต่อไป (Dittmer, 1994, p. 100) และถึงแม้ยามพิทักษ์แดงจะพยายามลวงหลิวและภรรยาไปไต่สวนกลางที่สาธารณะเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1967 แต่โจวเอินไหลก็เข้ามาขัดขวางจนทั้งสองคนปลอดภัย เมื่อเหมาทราบเรื่องจึงได้ให้หลิวมาพบในคืนวันที่ 10 มกราคมเพื่อแสดงความเป็นห่วง หลิวบอกกับเหมาว่าเขาขอรับผิดด้วยการลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี กรรมการกรมการเมือง และหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือ สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตง (毛泽东选集) โดยจะขอไปเป็นชาวนาในชนบท แต่เหมาไม่ยอมรับการลาออกและบอกแต่เพียงว่าให้หลิวตั้งใจอ่านหนังสือและรักษาสุขภาพ (Yan & Gao, 1996, pp. 135-136)

                        ชะตากรรมของหลิวเส้าฉีกลับเลวร้ายลงหลังเหตุการณ์ “กระแสทวนเดือนกุมภาพันธ์” (February Adverse Current) ใน ค.ศ. 1967 กล่าวคือ ในการประชุมกรรมการกรมการเมืองที่มีโจวเอินไหลเป็นประธานเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ของปีนั้น ถานเจิ้นหลิน (谭震林) เฉินอี้ (陈毅) เย่เจี้ยนอิง (叶剑英) หลี่ฟู่ชุน (李富春) หลี่เซียนเนี่ยน (李先念) สวีเซี่ยงเฉียน (徐向前) และเนี่ยหรงเจิน (聂荣臻) ได้วิพากษ์วิจารณ์การปฏิวัติวัฒนธรรมจนทำให้เหมาเจ๋อตงไม่พอใจมาก ซึ่ง Dittmer (1974, pp. 153-155) วิเคราะห์ว่าเหตุการณ์นี้ส่งผลโดยตรงต่อหลิว เพราะกระแสท้าทายเช่นนี้ทำให้เหมาเห็นความจำเป็นยิ่งขึ้นที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมมีความชอบธรรมเพราะมีกลุ่มคนที่เรียกว่า “ผู้เดินสายทุนนิยม” อยู่จริงในพรรค และหัวหน้าของกลุ่มดังกล่าวก็คือหลิว ฉะนั้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ของปีนั้นเป็นต้นมา หลิวจึงกลายเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงมากขึ้น โดยในที่ประชุมกรรมการประจำกรมการเมืองเมื่อเดือนมีนาคมได้มีมติให้จัดการรณรงค์ต่อต้านหลิวไปทั่วประเทศ รวมทั้งลบเขาออกจากภาพที่ชื่อ พิธีสถาปนารัฐ (开国大典) ซึ่งวาดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1953 อีกด้วย[8] และในวันที่ 7 เมษายน ยามพิทักษ์แดงได้บุกเข้าไปไต่สวนหลิวถึงที่พักของเขาในจงหนานไห่ (中南海) ซึ่งเป็นเขตพำนักและสำนักงานของผู้นำระดับสูงของพรรคและรัฐ โดยที่โจวเอินไหลก็มิได้ห้ามปรามเหมือนแต่ก่อน แถมยังปล่อยให้มีการบุกเข้าไปไต่สวนและทำร้ายร่างกายหลิวอีกหลายครั้ง (Barnouin & Yu, 2006, p. 249) ท้ายที่สุดในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1968 หลิวก็ถูกขับออกจากพรรคและถูกประณามว่าเป็นผู้ทรยศต่อพรรคและรัฐ

 

มรณกรรมและการฟื้นฟูเกียรติภูมิ

            ใน ค.ศ. 1967 หวังกวงเหม่ย ภรรยาของหลิวเส้าฉีถูกจับขังคุกในข้อหาเป็นสายลับอเมริกันในช่วงสงครามกลางเมืองกับพรรคกั๋วหมินตั่ง และบุตรทั้งสี่คนที่เกิดจากหวังกวงเหม่ยก็ไม่ได้รับอนุญาตให้พำนักในจงหนานไห่อีกต่อไป ขณะที่หลิวหยุ่นเจิน (刘允) และหลิวเทา () บุตรชายและบุตรสาวที่เกิดจากหวังเฉียน () อดีตภรรยาได้เข้าร่วมกับยามพิทักษ์แดงและประกาศตัดความสัมพันธ์กับบิดา โรคเบาหวานที่หลิวเป็นมาแต่เดิมประกอบกับการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่องทำให้สุขภาพของเขาทรุดลงอย่างรวดเร็ว กล่าวกันว่าเขาใช้เวลาถึง 50 นาทีในการเดินไปยังห้องอาหารที่ห่างออกไปเพียง 30 เมตร (Yan & Gao, 1996, p. 158) และหลังจากที่ป่วยด้วยอาการปอดบวมในฤดูร้อนของ ค.ศ. 1968 เขาก็ไม่มีกำลังที่จะลุกจากที่นอนอีกต่อไป ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1969 เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตตึงเครียดมากจนจีนเกรงจะถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธนิวเคลียร์ จึงมีการนำตัวหลิวออกจากจงหนานไห่ไปยังเมืองไคเฟิงในมณฑลเหอหนาน จากนั้นไม่นานเขาก็มีอาการปอดบวมอีกครั้งจนมีไข้สูงถึง 40 องศาเซลเซียส (Yan & Gao, 1996, p. 163) เขาเสียชีวิตลงในวันที่ 12 พฤศจิกายนของปีนั้นขณะมีอายุได้ 71 ปี โดยที่ทางการจีนมิได้ประกาศข่าวการเสียชีวิตของประธานาธิบดีผู้นี้แต่อย่างใด จนกระทั่ง ค.ศ. 1972 เมื่อกระแสการปฏิวัติวัฒนธรรมเริ่มแผ่วลง ลูกๆ ของหลิวจึงเขียนจดหมายถึงเหมาเจ๋อตงเพื่อขออนุญาตพบบิดา เหมาจึงได้แจ้งข่าวร้ายว่าบิดาของพวกเขาเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ ค.ศ. 1969 (Dittmer, 1981, p, 460)

            เมื่อการปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลงพร้อมกับอสัญกรรมของเหมาเจ๋อตงใน ค.ศ. 1976 ผู้ที่สืบทอดอำนาจทางการเมืองในฐานะประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือ ฮว่ากั๋วเฟิง (华国锋) ยังคงยึดมั่นในหลักการ “อะไรก็ตามสองประการ” (两个凡是The Two Whatevers) นั่นคือ “นโยบายอะไรก็ตามที่ประธานเหมาตัดสินใจไปแล้ว เราจะต้องปกป้องอย่างที่สุด คำสั่งอะไรก็ตามที่ประธานเหมาสั่งออกมาแล้ว เราจะต้องทำตามอย่างเคร่งครัด” (Zong, 1989, p. 176) ด้วยเหตุนี้จึงยังไม่มีการรื้อฟื้นคดีของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมแต่อย่างใด จนกระทั่งหลังการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคชุดที่ 11 เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 ซึ่งเป็นชัยชนะทางการเมืองของเติ้งเสี่ยวผิง จึงมีการปล่อยหวังกวงเหม่ยออกจากคุกและประกาศว่าเธอเป็นผู้บริสุทธิ์เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1979 และในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1980 คณะกรรมการกลางพรรคได้มีมติฟื้นฟูเกียรติภูมิแก่หลิวเส้าฉีและจัดพิธีรำลึกถึงเขาในวันที่ 17 พฤษภาคมของปีนั้น ข้อที่น่าสังเกตก็คือ เย่เจี้ยนอิงกับหลี่เซียนเนี่ยนซึ่งเป็นกรรมการประจำกรมการเมืองไม่ยอมมาร่วมงานโดยเย่อ้างว่าไม่สบาย แต่ในเวลาเดียวกันเขากลับเดินทางไปเยือนมณฑลกว่างตง เจ้อเจียง และเจียงซู (Dittmer, 1981, p. 468) นัยว่าทั้งสองคนไม่เห็นด้วยกับการฟื้นฟูเกียรติภูมิในครั้งนี้ เพราะการล้างมลทินให้แก่หลิวเส้าฉีก็คือการกล่าวโทษเหมาเจ๋อตงไปโดยปริยาย

            Dittmer (1981, pp. 477-478) ตั้งข้อสังเกตว่าเติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูเกียรติภูมิให้แก่หลิวเส้าฉี ประโยชน์อย่างแรกคือการช่วยล้างมลทินให้กับเติ้งในทางอ้อม เพราะคงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมหากเติ้งจะให้คณะกรรมการกลางพรรคมีมติล้างมลทินให้กับตัวเอง ดังนั้นหากสิ่งที่หลิวทำไปในครึ่งแรกของทศวรรษ 1960 ไม่ถือเป็นความผิด เติ้งซึ่งทำงานคู่กับหลิวในยุคนั้นก็ไม่น่าจะมีความผิดเช่นกัน ประโยชน์อย่างที่สองคือการให้ความชอบธรรมแก่นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ (改革开放) ของเติ้ง เพราะนโยบายดังกล่าวเป็นการนำเอาแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของหลิวมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งหนึ่ง หากแนวทางของหลิวที่เคยใช้ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 1960 ไม่ขัดกับลัทธิสังคมนิยมแล้ว แนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจของเติ้งหลัง ค.ศ. 1978 ก็ไม่น่าจะขัดกับลัทธิสังคมนิยมเช่นกัน การฟื้นฟูเกียรติภูมิแก่หลิวเส้าฉีจึงเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่กลุ่มผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีนรุ่นที่สองในการนำพาประเทศเข้าสู่ยุคปฏิรูปนั่นเอง

 

สรุปและส่งท้าย

            ชีวิตทางการเมืองของผู้นำอันดับสองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างหลิวเส้าฉีในครึ่งแรกของทศวรรษ 1960 นับว่ายากลำบากอยู่ไม่น้อย ในทางหนึ่งเขาเป็นประธานาธิบดีและรองประธานพรรคที่รับผิดชอบการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยใช้แนวทางที่แตกต่างไปจากเหมาเจ๋อตง แต่ในอีกทางหนึ่งเขาก็ตระหนักดีว่านโยบายต่างๆ ของเขาไม่อาจดำเนินลุล่วงไปได้หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากเหมาผู้เป็นประธานพรรค หลิวจึงจำเป็นต้องแสวงหาการสนับสนุนจากเหมาและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยยินยอมปรับเปลี่ยนท่าทีในยามที่เหมาร้องขอมา ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทั้งสองจึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น “การต่อสู้สองแนวทาง” เพราะในที่สุดแล้วหลิวยังคงยอมรับอำนาจการตัดสินใจสูงสุดของเหมา และเมื่อเหมาตัดสินใจเปิดฉากการปฏิวัติวัฒนธรรมใน ค.ศ. 1966 โดยให้หลินเปียวเข้ามาเป็นผู้นำอันดับสองของพรรค  อนาคตทางการเมืองของหลิวเส้าฉีก็ดูเหมือนจะจบลงอย่างไม่เลวร้ายนัก ทว่าเหตุการณ์ “กระแสทวนเดือนกุมภาพันธ์” เมื่อ ค.ศ. 1967 กลับทำให้เหมาจำเป็นต้องสร้างความชอบธรรมให้กับการปฏิวัติวัฒนธรรมมากขึ้นด้วยการนำเอาหลิวมาเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย และนำพาเขาไปสู่จุดจบอย่างน่าเศร้าในที่สุด

            ประเด็นที่ชวนคิดส่งท้ายก็คือ หากไม่พบจุดจบทางการเมืองไปเสียก่อน สาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้การนำของหลิวเส้าฉีในฐานะประธานพรรคคอมมิวนิสต์คนใหม่สืบแทนเหมาเจ๋อตงจะเดินไปในเส้นทางใด คำถามนี้น่าสนใจไม่น้อย ถ้าเราพิจารณาจากทั้งแนวคิดของหลิวเส้าฉีที่ประนีประนอมกับชนชั้นนายทุนและแนวนโยบายที่หลิวนำมาใช้จริงในครึ่งแรกของทศวรรษ 1960 ก็พอจะเห็นความเป็นไปได้ที่ว่า ถ้าเหมาเจ๋อตงวางมือทางการเมืองอย่างถาวรหรือถึงแก่อสัญกรรมลงไปก่อนตั้งแต่ ค.ศ. 1966 และไม่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม หลิวเส้าฉีและเติ้งเสี่ยวผิงอาจนำประเทศจีนเข้าสู่ยุคปฏิรูปและเปิดประเทศเร็วกว่าที่เกิดขึ้นจริงอย่างน้อยหนึ่งทศวรรษก็เป็นได้

 

เอกสารอ้างอิง

 

ภาษาไทย

พาย, ลูเชี่ยน ดับเบิ้ลยู. (2547). จีนสามยุค (พิมพ์ครั้งที่สอง, คณิน บุญสุวรรณ, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ. 

อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ และนฤมิตร สอดสุข. (2524). จีน การต่อสู้สองแนวทาง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.

 

ภาษาจีน

Peng Houwen (彭厚文). (9 ตุลาคม 2010). (不成文的制度: 毛泽东53 年为何提 退居二线 ระบบที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร: เหตุใดเมื่อ ค.ศ. 1953 เหมาเจ๋อตงจึงพูดเรื่อง “ถอยไปอยู่แนวที่สอง”). สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2012, จาก http://cul.cn.yahoo.com/ypen/20101009/42273.html.

Zhongguo gongchandang dishiyijie zhongyangweiyuanhui diwuciquantihuiyi guanyuwei Liu Shaoqi Pingfandejueyi (中国共产党第十一届中央委员会第五次全体会议关于为刘少奇同志平反的决มติของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 5 ของสมัชชาพรรคครั้งที่ 11 เกี่ยวกับการฟื้นฟูเกียรติภูมิของหลิวเส้าฉี). (29 กุมภาพันธ์ 1980). สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2012, จาก http://news.xinhuanet.com/ziliao/2005-02/04/content_2548192.htm.  

 

ภาษาอังกฤษ

Barnouin, B. & Yu Changgen. (2006). Zhou Enlai: A Political Life. Hong Kong: The Chinese University Press.

Chen Yung Ping. (1971). Chinese Political Thought: Mao Tse-tung and Liu Shao-chi. The Hague: Martinus Nijhoff. 

Deng Xiaoping. (1981, June 22). Speech during the preparatory meeting for the Sixth Plenary Session of the Eleventh Central Committee. In Remarks on Successive Drafts of the “Resolution on Certain Questions in the History of Our Party since the Founding of the People’s Republic of China”. (1980, March – 1981, June). Retrieved December 6, 2012, from http://english.peopledaily.com.cn/dengxp/vol2/text/b1420.html.

Dittmer, L. (1974). Liu Shao-ch’i and the Chinese Cultural Revolution: The Politics of Mass Criticism. Berkeley, CA: University of California Press.

Dittmer, L. (1981, May). Death and Transfiguration: Liu Shaoqi’s Rehabilitation and Contemporary Chinese Politics. The Journal of Asian Studies 40(3): 455-479.

Dittmer, L. (2002). The Changing Form and Dynamics of Power Politics. In J. Unger (Ed.), The Nature of Chinese Politics: From Mao to Jiang (pp. 217-238). Armonk, NY: M.E. Sharpe, Inc.       

Fairbank, J. K. & M. Goldman. (1999). China: A New History (2nd edition). Cambridge, MA: The Belknap Press of Harvard University Press.

Hu Sheng. (1994). A Concise History of the Communist Party of China. Beijing: Foreign Languages Press.

Huang Jing. (2000). Factionalism in Chinese Communist Politics. New York, NY: Cambridge University Press.

Hung, Chang-Tai. (2007). Oil Paintings and Politics: Weaving a Heroic Tale of the Chinese Communist Revolution. Contemporary Studies in Society and History 49(4): 783-814.    

Li Tien-min. (1975). Liu Shao-ch’i: Mao’s First Heir-Apparent. Taipei: Institute of International Relations.

Lieberthal, K. (1987). The Great Leap Forward and the split in the Yenan leadership. In R. MacFarquhar & J. K. Fairbank (Eds.), The Cambridge History of China, Volume 14, The People’s Republic, Part I: The Emergence of Revolutionary China, 1949-1965 (pp. 293-359). New York, NY: Cambridge University Press.

Liu Shaoqi. (1949, September 22). Strengthen the Great Revolutionary Unity of the Chinese People. World News and Views 29(41). Retrieved December 14, 2012, from http://www.marxists.org.

MacFarquhar, R. (1997). The Origins of the Cultural Revolution 3: The Coming of the Cataclysm 1961-1966. New York, NY: Columbia University Press.

Resolution on Certain Questions in the History of Our Party. (1945, April). Retrieved December 7, 2012, from http://www.marx2mao.com/Mao/Index.html.

Schoenhals, M. & B. S. Stone. (1990). More Edited Records: Liu Shaoqi on Peng Dehuai at the 7000 Cadres Conference. Originally published in CCP Research Newsletter No. 5. Retrieved November 13, 2012, from http://lup.lub.lu.se.

Teiwes, F. C. (1990). Politics at Mao’s Court: Gao Gang and Party Factionalism in the Early 1950s. Armonk, NY: M.E. Sharpe, Inc.

Teiwes, F. C. (1993). Introduction to the Second Edition. In Politics and Purges in China (2nd edition, pp. xiii-ixvii). Armonk, NY: M.E. Sharpe, Inc.

Yan Jiaqi & Gao Gao. (1996). Turbulent Decade: A History of the Cultural Revolution (D. W. Y. Kwok, Ed. & Trans.). Honolulu, Hi: University of Hawai‘i Press.

 Zong Huaiwen. (1989). Years of Trial, Turmoil and Triumph – China from 1949 to 1988. Beijing: Foreign Languages Press.

 


------------------------------------------------------------------------------



                        [1] เหมาเจ๋อตงแบ่งประชาชนในภาคเกษตรกรรมเป็น 5 ประเภท ได้แก่ (1) เจ้าที่ดิน (地主landlords) ผู้เป็นเจ้าของที่ดินแต่มิได้ลงแรงทำเอง หากแต่อาศัยรายได้จากการให้เช่านาเป็นหลัก (2) ชาวนารวย (富农rich peasants) ผู้เป็นเจ้าของที่ดินโดยลงมือทำบางส่วนและให้ผู้อื่นเช่าบางส่วน (3) ชาวนากลาง (中农middle peasants) ผู้เป็นเจ้าของที่ดินโดยลงแรงทำเองทั้งหมด (4) ชาวนาจน (贫农poor peasants) ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่มีขนาดเล็กมากซึ่งไม่พอเลี้ยงชีพ จึงต้องออกไปรับจ้างทำนาให้กับเจ้าที่ดินหรือชาวนารวยรายอื่นด้วย และ (5) ชาวนารับจ้าง (农业工人agricultural labourers) ผู้ที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองและหาเลี้ยงชีพด้วยการขายแรงงานเท่านั้น ครอบครัวของหลิวเส้าฉีจัดได้ว่าเป็นชาวนารวย แต่เอกสารในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมมักกล่าวหาว่าเขามาจากครอบครัวเจ้าที่ดิน


                [2] โป๋อีโป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งเป็นคนสนิทของหลิวเส้าฉีได้เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ที่ปฏิบัติต่อวิสาหกิจของรัฐและเอกชนอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้วิสาหกิจของรัฐปรับปรุงการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น จนมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1952 เหมาเจ๋อตงซึ่งเพิ่งมาทราบเรื่องดังกล่าวในต้น ค.ศ. 1953 ได้แสดงความไม่พอใจโดยระบุว่าเป็นการ “ฉวยโอกาสเอียงขวา” พร้อมตำหนิหลิวเส้าฉีและโจวเอินไหลที่ไม่รายงานให้เขาทราบล่วงหน้า ส่วนโป๋อีโปก็ถูกวิจารณ์จนต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เหมายังคงแสดงความไม่พอใจต่อหลิวและโจวในการสนทนาหลายครั้งกับเกากั่ง (高岗) ประธานกรรมาธิการวางแผนแห่งรัฐเมื่อต้น ค.ศ. 1953 เกากั่งที่ไม่ลงรอยกับหลิวอยู่แล้วจึงตีความไปว่าเหมาต้องการปลดหลิวและโจวออกจากตำแหน่ง เขาจึงเริ่มแสวงหาพันธมิตรอย่างกว้างขวางเพื่อดำเนินการปลดบุคคลทั้งสอง ในที่สุดเขาถูกกล่าวหาว่าสร้างความแตกแยกในพรรคและได้ฆ่าตัวตายเมื่อ ค.ศ. 1954 ดูรายละเอียดใน Teiwes (1990)


                        [3] ดูทัศนะของผู้นำระดับสูงของจีนต่อนโยบายก้าวกระโดดในช่วงแรกได้ใน Lieberthal (1987, pp. 306-308) บุคคลหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวคือเฉินหยุน


                        [4] อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเจ็ดพันคนมิได้ล้างมลทินให้แก่เผิงเต๋อหวย หลิวเส้าฉีกล่าวในที่ประชุมว่าความผิดของเผิงมิได้อยู่ที่การวิจารณ์นโยบายก้าวกระโดด แต่อยู่ที่การนำความผิดพลาดของนโยบายดังกล่าวมาอ้างเพื่อหวังยึดอำนาจภายในพรรค ข้อกล่าวหาของหลิวมีมูลความจริงหรือไม่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่การที่หลิวกล่าวเช่นนี้ย่อมเป็นที่พอใจของเหมาและผู้สนับสนุนเหมา เพราะเท่ากับยืนยันว่าการที่เหมาปลดเผิงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และก็เป็นที่พอใจของผู้ที่สนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจตามแนวทางของหลิวเช่นกัน เพราะพวกเขามั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกจัดรวมว่าเป็นพวกเดียวกับเผิง ดูรายละเอียดได้ใน Schoenhals & Stone (1990) ส่วนการฟื้นฟูเกียรติภูมิของเผิงมีขึ้นใน ค.ศ. 1978 หลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว


                        [5] เหมาเจ๋อตงเสนอให้มีการแบ่งงานในหมู่ผู้นำพรรคออกเป็นสองแนวมาตั้งแต่ ค.ศ. 1953 แต่มิได้กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร ดูรายละเอียดได้ใน Peng Houwen (9 ตุลาคม 2010)


                [6] อวสานทางการเมืองของเลขาธิการพรรคทั้งสองคนในยุคเติ้งเสี่ยวผิง อันได้แก่ หูเย่าปัง (胡耀邦) เมื่อ ค.ศ. 1987 และจ้าวจื่อหยาง (赵紫阳) เมื่อ ค.ศ. 1989 ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับหลิวเส้าฉี


                        [7] คณะปฏิบัติการ เป็นกลไกที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้ในยามที่หน่วยงานของพรรคหน่วยใดก็ตามเกิดปัญหาหรือความขัดแย้งจนไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้ตามปกติ โดยพรรคจะส่งกลุ่มคนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาหรือความขัดแย้งดังกล่าวเข้าไปจัดการสะสางความยุ่งยากที่เกิดขึ้น


                        [8] ภาพดังกล่าวเป็นผลงานของต่งซีเหวิน (董希文) แสดงเหตุการณ์ที่เหมาเจ๋อตงประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนบนประตูเทียนอันเหมินเมื่อ ค.ศ. 1949 และมีการแก้ไขภาพดังกล่าวรวม 3 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1954 โดยลบภาพของเกากั่งออกไปด้วยข้อหาคิดก่อการยึดอำนาจในพรรค ครั้งที่สองเกิดขึ้นในกรณีของหลิวเส้าฉีเมื่อ ค.ศ. 1967 และครั้งที่สามเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1972 ที่มีการลบภาพหลินป๋อฉีว์ (林伯渠) ออกไปด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าเขาคัดค้านการแต่งงานระหว่างเหมาเจ๋อตงกับเจียงชิง แต่เมื่อสิ้นสุดยุคปฏิวัติวัฒนธรรมก็มีการใส่ภาพบุคคลทั้งสามกลับเข้าไปตามเดิม (Hung, 2007, pp. 783-784)