แนวคิดเรื่องการเมืองเกี่ยวพัน (Linkage Politics) และโลกที่แบ่งเป็นสองส่วน (Bifurcated World)
แนวคิดเรื่องการเมืองเกี่ยวพัน (Linkage Politics) เป็นความพยายามในการแสวงหาแนวทางใหม่ในการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ โดยแนวทางดังกล่าวเริ่มมีอิทธิพลในวงวิชาการในทศวรรษ 1960 โดยมีนักวิชาการผู้บุกเบิกคนสำคัญคือ James N. Rosenau[1] ผู้เสนอว่า พัฒนาการทางเทคโนโลยีและการสื่อสารทำให้การติดต่อระหว่างรัฐต่างๆเป็นไปอย่างรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น ดังนั้นสภาพการณ์ภายในประเทศกับสภาพการณ์ระหว่างประเทศจึงมีความเกี่ยวพันกันมากขึ้นไปด้วย การดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐๆหนึ่งจึงไม่ได้มีที่มาจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งแต่อย่างเดียว หากแต่มาจากความเหลื่อมกันระหว่างหน่วยการเมืองภายในประเทศ (Polity) กับระบบภายนอก (External Environment) ดังนั้นข้อสรุปจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรภายในและภายนอกเช่นนี้จะช่วยให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น
Rosenau กล่าวว่า กระบวนการเกี่ยวพัน (Linkage Processes) ระหว่างปัจจัยนำเข้า (inputs) และปัจจัยส่งออก (outputs) ของทั้งหน่วยการเมืองภายในและระบบภายนอก สามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะคือ (1) กระบวนการแทรกแซง (Penetrative Process) หมายถึงการที่หน่วยการเมืองหนึ่งเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองของอีกหน่วยการเมืองหนึ่ง (2) กระบวนการตอบโต้ (Reactive Process) หมายถึงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยหน่วยการเมืองหลังเพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของหน่วยการเมืองแรก และ (3) กระบวนการเลียนแบบ (Emulative Process) หมายถึงการที่หน่วยการเมืองหนึ่งรับรู้กิจกรรมของอีกหน่วยการเมืองหนึ่งแล้วพยายามลอกเลียนแบบกิจกรรมดังกล่าว
ปัจจัยภายใน (Internal Factors) ของหน่วยการเมืองประกอบไปด้วย (1) ผู้แสดง (Actors) ได้แก่ กลุ่มผู้นำ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ข้าราชการ ทหาร ฯลฯ (2) ทัศนคติ (Attitude) ได้แก่ อุดมการณ์ วัฒนธรรมทางการเมือง มติมหาชน ฯลฯ (3) สถาบัน (Institutions) ได้แก่ สถาบันทางการเมือง สถาบันข้าราชการ สถาบันทหาร ระบบพรรคการเมือง ระบบการสื่อสาร ฯลฯ และ (4) กระบวนการ (Process) นอกจากนี้ปัจจัยภายในยังสามารถแบ่งได้ตามประเภทดังนี้ (1) ปัจจัยทางการเมือง (2) ปัจจัยทางเศรษฐกิจ (3) ปัจจัยทางสังคม (4) ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และ (5) ปัจจัยทางประวัติศาสตร์
ปัจจัยภายนอก (External Factors) นั้นสามารถแบ่งได้เป็น 6 ประเภทคือ (1) สภาวะแวดล้อมประชิด (Contiguous Environment) หมายถึงกลุ่มของหน่วยการเมืองที่ตั้งอยู่รายรอบหน่วยการเมืองหนึ่ง (2) สภาวะแวดล้อมภูมิภาค (Regional Environment) หมายถึงกลุ่มของหน่วยการเมืองที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเดียวกับหน่วยการเมืองหนึ่งๆ (3) สภาวะแวดล้อมสงครามเย็น (Cold War Environment) หมายถึงรูปแบบลักษณะที่เป็นผลมาจากการแข่งขันของมหาอำนาจ (4) สภาวะแวดล้อมด้านเชื้อชาติ (Racial Environment) หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติต่างๆ (5) สภาวะแวดล้อมด้านทรัพยากร หมายถึงสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ และ (6) สภาวะแวดล้อมด้านองค์การ (Organizational Environment) หมายถึงองค์การระหว่างประเทศและสถาบันระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นโดยประเทศต่างๆ
แนวทางการวิเคราะห์ของ Rosenau มีอิทธิพลเรื่อยมาในวงวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากแต่ Quansheng Zhao[2] ได้วิจารณ์แนวทางของ Rosenau ว่าเน้นเฉพาะการวิเคราะห์ปัจจัยมหภาค (macro level) อันได้แก่ระบบภายในประเทศ และระบบระหว่างประเทศมากเกินไป โดยที่ละเลยปัจจัยระดับจุลภาค (micro level) ซึ่งหมายถึงผู้ตัดสินใจนโยบาย (decision maker) จนอาจนำไปสู่ความเชื่อใน คติตัวกำหนดเชิงโครงสร้าง (structural determinism) ซึ่งเชื่อว่านโยบายต่างประเทศถูกกำหนดโดยโครงสร้างภายในประเทศและโครงสร้างระหว่างประเทศเท่านั้น ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว นโยบายต่างประเทศไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ผ่านการเลือกและตัดสินใจโดยผู้กำหนดนโยบาย ดังนั้นการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศจึงต้องอาศัยปัจจัยระดับมหภาคและระดับจุลภาคควบคู่กันไป โดย Quansheng Zhao เรียกแนวทางดังกล่าวว่า “แนวทางเกี่ยวพันจุลภาค-มหภาค” (Micro-Macro Linkage Approach)
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงทศวรรษ 1990 Rosenau ได้ปรับปรุงแนวทางการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศโดยนำเสนอแนวทางใหม่ที่เรียกว่า “โลกที่แบ่งเป็นสองส่วน” (Bifurcated World)[3] โดยอธิบายว่าโลกในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญรวม 5 ประการ ได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงจากสังคมอุตสาหกรรม (industrial) มาเป็นสังคมหลังอุตสาหกรรม (postindustrial) ซึ่งเทคโนโลยีด้านการติดต่อสื่อสารได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างมากจนทำให้ระยะห่างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมนั้นลดลง ข้อมูลข่าวสารและความคิดต่างๆสามารถแพร่กระจายไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้คนและเหตุการณ์ต่างๆในโลกต้องมีการพึ่งพาอาศัยกันและกัน (interdependence) มากขึ้น (2) การปรากฎขึ้นของประเด็นปัญหาต่างๆที่เป็นผลมาจากเทคโนโลยีใหม่ๆ และการพึ่งพาอาศัยกันและกัน เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการก่อการร้าย ปัญหายาเสพย์ติด ปัญหาโรคเอดส์ ปัญหาค่าเงิน เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีลักษณะข้ามชาติ (transnational) และไม่อาจแก้ไขได้ในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น (3) ความสามารถที่ลดน้อยลงของรัฐและรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาต่างๆ เนื่องด้วยปัญหาเหล่านั้นมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในเขตอำนาจบงการทางกฎหมาย (jurisdiction) ของรัฐอีกต่อไป (4) การที่รัฐและรัฐบาลมีความสามารถในการแก้ปัญหาน้อยลงทำให้เกิดแนวโน้มที่จะกระจายอำนาจ (decentralization) และนำไปสู่การเกิดสภาวะกลุ่มย่อย (subgroupism) ในองค์กรต่างๆมากขึ้น และ (5) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในข้อ 1-4 ทำให้ผู้คนตระหนักรับรู้ถึงความเป็นไปของโลก มีความคิดเป็นตัวของตัวเองและกระตือรือร้นที่จะแสดงบทบาทของตนเองในสังคมมากขึ้น
จากการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาข้างต้น Rosenau จึงเห็นว่าโลกในยุคปัจจุบันได้เข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “หลังการเมืองระหว่างประเทศ” (postinternational politics) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากรัฐ (state) ซึ่งเป็นตัวแสดงที่ผูกติดกับอำนาจอธิปไตย (sovereignty-bound actors) ต้องแบ่งสรรพื้นที่ในการแสดงบทบาทในเวทีโลกให้กับตัวแสดงอื่นๆที่ปราศจากอำนาจอธิปไตย (sovereignty-free actors) กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าโลกในปัจจุบันประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ (1) โลกที่มีรัฐเป็นศูนย์กลาง (state-centric world) อันประกอบไปด้วยประเทศต่างๆในโลก รวมทั้งองค์กรและกลุ่มที่ปฏิบัติการในนามของประเทศเหล่านั้น และ (2) โลกที่มีหลายศูนย์กลาง (multi-centric world) อันหมายถึงตัวแสดงข้ามชาติที่มิได้ปฏิบัติการโดยสังกัดรัฐใดรัฐหนึ่งอย่างแน่นอน หากแต่มีเครือข่ายและการติดต่อสื่อสารที่โยงใยไปได้ทั่วโลก เช่น เครือข่ายข้ามชาติขององค์การภาคเอกชน (Non-Governmental Organizations – NGOs) เครือข่ายการก่อการร้ายข้ามชาติ เป็นต้น โดยที่โลกทั้งสองส่วนต่างมีปฏิสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อกันและกันอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ในการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐใดรัฐหนึ่ง เราจึงไม่อาจจะพิจารณาเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับรัฐได้อีกต่อไป หากแต่ต้องนำเอาปัจจัยที่มาจากตัวแสดงที่ปราศจากอำนาจอธิปไตยเหล่านี้เข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย
[1] James N. Rosenau, “Toward the Study of National-International Linkages,” in Linkage Politics: Essays on the Convergence of National and International System, ed. James N. Rosenau (New York: The Free Press, 1969), 44-66.
[2] Quansheng Zhao, Interpreting Chinese Foreign Policy: The Micro-Macro Linkage Approach (New York: Oxford University Press, 1996).
[3]James N. Rosenau, Turbulence in World Politics: A Theory of Change and Continuity (Princeton, NJ: Princton University Press, 1990); James N. Rosenau, “China in a Bifurcated World: Competing Theoretical Perspectives,” in Chinese Foreign Policy: Theory and Practice, eds. Thomas W. Robinson and David Shambaugh (Oxford: Clarendon Press, 1995), 524-554.
แนวคิดเรื่องการเมืองเกี่ยวพัน (Linkage Politics) เป็นความพยายามในการแสวงหาแนวทางใหม่ในการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ โดยแนวทางดังกล่าวเริ่มมีอิทธิพลในวงวิชาการในทศวรรษ 1960 โดยมีนักวิชาการผู้บุกเบิกคนสำคัญคือ James N. Rosenau[1] ผู้เสนอว่า พัฒนาการทางเทคโนโลยีและการสื่อสารทำให้การติดต่อระหว่างรัฐต่างๆเป็นไปอย่างรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น ดังนั้นสภาพการณ์ภายในประเทศกับสภาพการณ์ระหว่างประเทศจึงมีความเกี่ยวพันกันมากขึ้นไปด้วย การดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐๆหนึ่งจึงไม่ได้มีที่มาจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งแต่อย่างเดียว หากแต่มาจากความเหลื่อมกันระหว่างหน่วยการเมืองภายในประเทศ (Polity) กับระบบภายนอก (External Environment) ดังนั้นข้อสรุปจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรภายในและภายนอกเช่นนี้จะช่วยให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น
Rosenau กล่าวว่า กระบวนการเกี่ยวพัน (Linkage Processes) ระหว่างปัจจัยนำเข้า (inputs) และปัจจัยส่งออก (outputs) ของทั้งหน่วยการเมืองภายในและระบบภายนอก สามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะคือ (1) กระบวนการแทรกแซง (Penetrative Process) หมายถึงการที่หน่วยการเมืองหนึ่งเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองของอีกหน่วยการเมืองหนึ่ง (2) กระบวนการตอบโต้ (Reactive Process) หมายถึงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยหน่วยการเมืองหลังเพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของหน่วยการเมืองแรก และ (3) กระบวนการเลียนแบบ (Emulative Process) หมายถึงการที่หน่วยการเมืองหนึ่งรับรู้กิจกรรมของอีกหน่วยการเมืองหนึ่งแล้วพยายามลอกเลียนแบบกิจกรรมดังกล่าว
ปัจจัยภายใน (Internal Factors) ของหน่วยการเมืองประกอบไปด้วย (1) ผู้แสดง (Actors) ได้แก่ กลุ่มผู้นำ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ข้าราชการ ทหาร ฯลฯ (2) ทัศนคติ (Attitude) ได้แก่ อุดมการณ์ วัฒนธรรมทางการเมือง มติมหาชน ฯลฯ (3) สถาบัน (Institutions) ได้แก่ สถาบันทางการเมือง สถาบันข้าราชการ สถาบันทหาร ระบบพรรคการเมือง ระบบการสื่อสาร ฯลฯ และ (4) กระบวนการ (Process) นอกจากนี้ปัจจัยภายในยังสามารถแบ่งได้ตามประเภทดังนี้ (1) ปัจจัยทางการเมือง (2) ปัจจัยทางเศรษฐกิจ (3) ปัจจัยทางสังคม (4) ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และ (5) ปัจจัยทางประวัติศาสตร์
ปัจจัยภายนอก (External Factors) นั้นสามารถแบ่งได้เป็น 6 ประเภทคือ (1) สภาวะแวดล้อมประชิด (Contiguous Environment) หมายถึงกลุ่มของหน่วยการเมืองที่ตั้งอยู่รายรอบหน่วยการเมืองหนึ่ง (2) สภาวะแวดล้อมภูมิภาค (Regional Environment) หมายถึงกลุ่มของหน่วยการเมืองที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเดียวกับหน่วยการเมืองหนึ่งๆ (3) สภาวะแวดล้อมสงครามเย็น (Cold War Environment) หมายถึงรูปแบบลักษณะที่เป็นผลมาจากการแข่งขันของมหาอำนาจ (4) สภาวะแวดล้อมด้านเชื้อชาติ (Racial Environment) หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติต่างๆ (5) สภาวะแวดล้อมด้านทรัพยากร หมายถึงสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ และ (6) สภาวะแวดล้อมด้านองค์การ (Organizational Environment) หมายถึงองค์การระหว่างประเทศและสถาบันระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นโดยประเทศต่างๆ
แนวทางการวิเคราะห์ของ Rosenau มีอิทธิพลเรื่อยมาในวงวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากแต่ Quansheng Zhao[2] ได้วิจารณ์แนวทางของ Rosenau ว่าเน้นเฉพาะการวิเคราะห์ปัจจัยมหภาค (macro level) อันได้แก่ระบบภายในประเทศ และระบบระหว่างประเทศมากเกินไป โดยที่ละเลยปัจจัยระดับจุลภาค (micro level) ซึ่งหมายถึงผู้ตัดสินใจนโยบาย (decision maker) จนอาจนำไปสู่ความเชื่อใน คติตัวกำหนดเชิงโครงสร้าง (structural determinism) ซึ่งเชื่อว่านโยบายต่างประเทศถูกกำหนดโดยโครงสร้างภายในประเทศและโครงสร้างระหว่างประเทศเท่านั้น ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว นโยบายต่างประเทศไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ผ่านการเลือกและตัดสินใจโดยผู้กำหนดนโยบาย ดังนั้นการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศจึงต้องอาศัยปัจจัยระดับมหภาคและระดับจุลภาคควบคู่กันไป โดย Quansheng Zhao เรียกแนวทางดังกล่าวว่า “แนวทางเกี่ยวพันจุลภาค-มหภาค” (Micro-Macro Linkage Approach)
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงทศวรรษ 1990 Rosenau ได้ปรับปรุงแนวทางการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศโดยนำเสนอแนวทางใหม่ที่เรียกว่า “โลกที่แบ่งเป็นสองส่วน” (Bifurcated World)[3] โดยอธิบายว่าโลกในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญรวม 5 ประการ ได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงจากสังคมอุตสาหกรรม (industrial) มาเป็นสังคมหลังอุตสาหกรรม (postindustrial) ซึ่งเทคโนโลยีด้านการติดต่อสื่อสารได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างมากจนทำให้ระยะห่างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมนั้นลดลง ข้อมูลข่าวสารและความคิดต่างๆสามารถแพร่กระจายไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้คนและเหตุการณ์ต่างๆในโลกต้องมีการพึ่งพาอาศัยกันและกัน (interdependence) มากขึ้น (2) การปรากฎขึ้นของประเด็นปัญหาต่างๆที่เป็นผลมาจากเทคโนโลยีใหม่ๆ และการพึ่งพาอาศัยกันและกัน เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการก่อการร้าย ปัญหายาเสพย์ติด ปัญหาโรคเอดส์ ปัญหาค่าเงิน เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีลักษณะข้ามชาติ (transnational) และไม่อาจแก้ไขได้ในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น (3) ความสามารถที่ลดน้อยลงของรัฐและรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาต่างๆ เนื่องด้วยปัญหาเหล่านั้นมิได้จำกัดอยู่เฉพาะในเขตอำนาจบงการทางกฎหมาย (jurisdiction) ของรัฐอีกต่อไป (4) การที่รัฐและรัฐบาลมีความสามารถในการแก้ปัญหาน้อยลงทำให้เกิดแนวโน้มที่จะกระจายอำนาจ (decentralization) และนำไปสู่การเกิดสภาวะกลุ่มย่อย (subgroupism) ในองค์กรต่างๆมากขึ้น และ (5) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในข้อ 1-4 ทำให้ผู้คนตระหนักรับรู้ถึงความเป็นไปของโลก มีความคิดเป็นตัวของตัวเองและกระตือรือร้นที่จะแสดงบทบาทของตนเองในสังคมมากขึ้น
จากการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาข้างต้น Rosenau จึงเห็นว่าโลกในยุคปัจจุบันได้เข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “หลังการเมืองระหว่างประเทศ” (postinternational politics) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากรัฐ (state) ซึ่งเป็นตัวแสดงที่ผูกติดกับอำนาจอธิปไตย (sovereignty-bound actors) ต้องแบ่งสรรพื้นที่ในการแสดงบทบาทในเวทีโลกให้กับตัวแสดงอื่นๆที่ปราศจากอำนาจอธิปไตย (sovereignty-free actors) กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าโลกในปัจจุบันประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ (1) โลกที่มีรัฐเป็นศูนย์กลาง (state-centric world) อันประกอบไปด้วยประเทศต่างๆในโลก รวมทั้งองค์กรและกลุ่มที่ปฏิบัติการในนามของประเทศเหล่านั้น และ (2) โลกที่มีหลายศูนย์กลาง (multi-centric world) อันหมายถึงตัวแสดงข้ามชาติที่มิได้ปฏิบัติการโดยสังกัดรัฐใดรัฐหนึ่งอย่างแน่นอน หากแต่มีเครือข่ายและการติดต่อสื่อสารที่โยงใยไปได้ทั่วโลก เช่น เครือข่ายข้ามชาติขององค์การภาคเอกชน (Non-Governmental Organizations – NGOs) เครือข่ายการก่อการร้ายข้ามชาติ เป็นต้น โดยที่โลกทั้งสองส่วนต่างมีปฏิสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อกันและกันอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ในการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐใดรัฐหนึ่ง เราจึงไม่อาจจะพิจารณาเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับรัฐได้อีกต่อไป หากแต่ต้องนำเอาปัจจัยที่มาจากตัวแสดงที่ปราศจากอำนาจอธิปไตยเหล่านี้เข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย
[1] James N. Rosenau, “Toward the Study of National-International Linkages,” in Linkage Politics: Essays on the Convergence of National and International System, ed. James N. Rosenau (New York: The Free Press, 1969), 44-66.
[2] Quansheng Zhao, Interpreting Chinese Foreign Policy: The Micro-Macro Linkage Approach (New York: Oxford University Press, 1996).
[3]James N. Rosenau, Turbulence in World Politics: A Theory of Change and Continuity (Princeton, NJ: Princton University Press, 1990); James N. Rosenau, “China in a Bifurcated World: Competing Theoretical Perspectives,” in Chinese Foreign Policy: Theory and Practice, eds. Thomas W. Robinson and David Shambaugh (Oxford: Clarendon Press, 1995), 524-554.
2 ความคิดเห็น:
ข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อหนูมากเลยค่ะ พอดีหนูกะลังศึกษาต่อปริญญาโท จบตรีจากสหวิทยาการค่ะ ^____^
พอดีว่าดิฉันกำลังทำภาคนิพนธ์เรื่อง "บทบาทของสามสาวตระกูลซ่งกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา-ไต้หวัน-สาธารณรัฐประชาชนจีน" ดิฉันอยากจะขอปรึกษาว่า ควรจะนำแนวคิดเรื่องการเมืองเกี่ยวพันไปจับในประเด็นที่ดิฉันทำอย่างไรค่ะ ถ้าดิฉันแบ่งผลการศึกษาเป็นสองช่วง เช่น บทบาทของสามสาวตระกูลซ่งในช่วงค.ศ.1910-ค.ศ.1949 และ ในช่วงหลังค.ศ.1949-ค.ศ.1981 จะมีวิธีอะไรบ้างที่ทำให้ประเด็นมันน่าสนใจค่ะ ขอบคุณค่ะ
แสดงความคิดเห็น