วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

จีนกับยูโกสลาเวียสมัยติโต (ตอนที่ 13 นัยสำคัญของการสมานไมตรีระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียต่อการต่างประเทศของจีน และจีนกับยูโกสลาเวียหลังอสัญกรรมของติโต)


“ในด้านการต่างประเทศ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเราได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอเมริกา

ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพและมิตรภาพกับญี่ปุ่น และไปเยือน 2 ประเทศนี้อย่างเป็นทางการ

สหายฮว่ากั๋วเฟิงไปเยือนเกาหลีเหนือ โรมาเนีย ยูโกสลาเวีย และอีก 4 ประเทศในยุโรป

สหายหลี่เซียนเนี่ยนและข้าพเจ้าไปเยือนหลายประเทศในเอเชียและแอฟริกา

คณะผู้แทนของหน่วยงานหลายระดับอีกเป็นจำนวนมากก็ไปเยือนประเทศต่างๆ ทั่วโลก

รองนายกรัฐมนตรีและรองประธานคณะกรรมการประจำสภาประชาชนแห่งชาติเกือบทุกคนเดินทางเยือนต่างประเทศ ...
 
กิจกรรมเหล่านี้เป็นการริเริ่มรูปแบบใหม่ทางการทูตของประเทศเรา ช่วยสร้างสภาวะระหว่างประเทศที่เป็นคุณต่อนโยบาย 4 ทันสมัย
 
ของเรา และยังช่วยขยายแนวร่วมระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านลัทธิครองความเป็นใหญ่อีกด้วย”

เติ้งเสี่ยวผิง, ค.ศ. 1980[1]

 

          

            การสมานไมตรีระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียในทศวรรษ 1970 เป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการสมานไมตรีระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาในทศวรรษเดียวกัน กล่าวคือ การเยือนกรุงปักกิ่งของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) แห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1972 ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนได้ลดความสำคัญของนโยบายต่างประเทศแบบปฏิวัติลงและยินดีจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศอื่นๆ อีกครั้งและทำให้ประเทศในค่ายโลกเสรีจำนวนมากหันมากระชับหรือสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ขณะที่การเยือนจีนของติโตเมื่อ ค.ศ. 1977 และการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับพรรคต่อพรรคระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียในปีถัดมาก็เป็นการส่งสัญญาณเช่นกันว่า จีนยอมรับความแตกต่างและหลากหลายของลัทธิสังคมนิยมในประเทศต่างๆ และยุติการวางตนเป็นผู้ตัดสินความถูกผิดของโลกสังคมนิยม ดังที่เติ้งเสี่ยวผิงได้เน้นย้ำกับแกนนำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1980 ว่า  

 

ในยามที่พรรคคอมมิวนิสต์หนึ่งแสดงความเห็นต่อการกระทำของพรรคภราดาในต่างประเทศ พรรคดังกล่าวมักตัดสินพรรคอื่นด้วยรูปแบบที่เข้มงวดและตายตัว ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นแล้วว่าการทำเช่นนี้ไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องจิตสำนึกทางการเมืองของประชาชน ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น และการรวมพลังของชนชั้น แล้วเราจะเอารูปแบบที่ตายตัวไปใช้กับความแตกต่างเหล่านี้ได้อย่างไรกัน ... ความถูกต้องของหลักการและแนวทางภายในประเทศของพรรคนั้นๆ ก็ควรจะปล่อยให้พรรคและประชาชนของประเทศนั้นๆ เป็นผู้ตัดสิน เพราะสหายเหล่านั้นย่อมรู้จักสภาพของประเทศตนเองดีที่สุด[2]

 

            การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับพรรคต่อพรรคระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียได้เปิดทางให้จีนสามารถสมานไมตรีกับขบวนการยูโรคอมมิวนิสต์ (Eurocommunism) ได้สำเร็จ ขบวนการดังกล่าวก่อตัวขึ้นในอิตาลี ฝรั่งเศส และสเปนตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 โดยมุ่งสร้างลัทธิสังคมนิยมผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต่างจากลัทธิสังคมนิยมแบบสหภาพโซเวียตที่เน้นการใช้กำลังทำลายล้างลัทธิทุนนิยม และต่างจากประชาธิปไตยสังคมนิยม (social democracy) ที่มุ่งเอาข้อดีบางด้านของลัทธิสังคมนิยมมาปฏิรูปลัทธิทุนนิยม โดยในเดือนเมษายน ค.ศ. 1980 จีนต้อนรับการเยือนของเอนริโก เบอร์ลิงเกอร์ (Enrico Berlinguer) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลีซึ่งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันตก โดยมีสมาชิกพรรคในขณะนั้นมากถึง 1,814,740 คน คิดเป็นร้อยละ 3.18 ของประชากรทั้งประเทศ และมีที่นั่งในสภาถึง 201 ที่นั่งจากทั้งหมด 630 ที่นั่ง[3] ตามด้วยการเยือนจีนของซันติอาโก คาร์ริโย (Santiago Carrillo) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สเปนในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน ต่อมาที่ประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 12 เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1982 ก็ได้มีมติรับรองหลัก 4 ประการที่จีนใช้ในการดำเนินความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์อื่นๆ อันประกอบด้วย (1) การยอมรับความเป็นอิสระของกันและกัน (2) ความเท่าเทียมกัน (3) การเคารพซึ่งกันและกัน และ (4) การไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน[4] และจีนก็นำหลักการนี้ไปใช้ในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตซึ่งเริ่มต้นขึ้นในเดือนตุลาคมของปีนั้น จนทำให้เมื่อถึงปลายทศวรรษ 1980 จีนได้กลับมามีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับสหภาพโซเวียตและประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก หรือกล่าวได้ว่าการสมานไมตรีระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับโลกสังคมนิยมทั้งหมด ซึ่งเมื่อประกอบเข้ากับการสมานไมตรีระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาแล้วได้นำไปสู่สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่ผ่อนคลายความตึงเครียดและเอื้ออำนวยต่อการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนนั่นเอง  

 

            หลี่เซียนเนี่ยน ประธานาธิบดีของจีนเดินทางเยือนกรุงเบลเกรดเมื่อ ค.ศ. 1984



            ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียหลังอสัญกรรมของติโตเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1980 ยังคงดำเนินไปตามปกติ ผู้นำระดับสูงของจีนที่เดินทางเยือนยูโกสลาเวียในทศวรรษดังกล่าวประกอบไปด้วยหูเย่าปัง (Hu Yaobang) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อ ค.ศ. 1983 หลี่เซียนเนี่ยน ประธานาธิบดีเมื่อ ค.ศ. 1984 และจ้าวจื่อหยาง นายกรัฐมนตรีเมื่อ ค.ศ. 1986 ขณะที่ดราโกสลาฟ มาร์โควิช (Dragoslav Markovic) ประธานสภาเปรซีเดียมแห่งสันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียเดินทางเยือนจีนเมื่อ ค.ศ. 1984 ตามด้วยสเตฟาน โคโรเสช (Stefan Korosec) กรรมการสภาเปรซีเดียมเมื่อ ค.ศ. 1987 อย่างไรก็ตาม ยูโกสลาเวียในทศวรรษ 1980 มิได้มีความสำคัญในสายตาของจีนเฉกเช่นในทศวรรษก่อนหน้านั้นอีกแล้ว เพราะตั้งแต่ ค.ศ. 1982 เป็นต้นมา จีนได้เริ่มปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต การสร้างแนวร่วมระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียตจึงค่อยๆ ลดความสำคัญลงและหมดไปเมื่อจีนกับสหภาพโซเวียตกลับมามีความสัมพันธ์กันอย่างปกติใน ค.ศ. 1989 และในทศวรรษนั้นเองที่จีนเริ่มมองการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจของยูโกสลาเวียตามสภาพที่เป็นจริง สิ่งพิมพ์ของทางการจีนนำเสนอปัญหานานาประการในระบบเศรษฐกิจของยูโกสลาเวีย ไม่ว่าจะเป็นการขาดดุลการค้า การขาดแคลนวัตถุดิบ และปัญหาเงินเฟ้อ[5] ยูโกสลาเวียจึงไม่ใช่ตัวแบบของการปฏิรูปที่น่าชื่นชมในสายตาของจีนอีกต่อไป

            จีนมองความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์และการแตกสลายของรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียใน ค.ศ. 1992 ด้วยความกังวลใจ เนื่องจากจีนเองก็เป็นประเทศที่มีประชากรหลายชาติพันธุ์เช่นกัน และในช่วงเวลานั้นเติ้งเสี่ยวผิงก็มีสุขภาพทรุดโทรมลงจนถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1997 รายงานฉบับหนึ่งของนักวิชาการจีนที่แจกจ่ายเฉพาะในหมู่ผู้นำระดับสูงของพรรคและรัฐเมื่อ ค.ศ. 1993 ได้เตือนว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนทำให้รัฐบาลส่วนกลางมีอำนาจลดลง และหากผู้นำที่เข้มแข็งถึงแก่อสัญกรรม จีนอาจมีชะตากรรมเฉกเช่นยูโกสลาเวียหลังสิ้นติโต[6] อย่างไรก็ตาม การถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองจากเจียงเจ๋อหมิน (Jiang Zemin) ไปสู่หูจิ่นเทา (Hu Jintao) เมื่อ ค.ศ. 2002 และส่งต่อไปยังสีจิ้นผิง (Xi Jinping) เมื่อ ค.ศ. 2012 ที่เป็นไปอย่างค่อนข้างราบรื่นนั้นได้พิสูจน์ให้เห็นว่า รัฐสังคมนิยมจีนในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างระบบการเมืองที่เป็นสถาบันโดยไม่ผูกติดกับตัวบุคคล ตรงข้ามกับรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียซึ่งได้กลายเป็นอดีตไปเรียบร้อยแล้ว    

----------------------------------------------------

[1] Deng Xiaoping, Selected Works Volume II, 232.
[2] Ibid., 300.
[3] ประทุมพร, เรื่องเดียวกัน, 320.
[4] อู๋ซิงถัง, เรื่องเดียวกัน.
[5] Beijing Review, 18 May 1981, 13-14; Beijing Review, 15 February 1982, 15-16; Beijing Review, 10 January 1983, 12; Beijing Review, 18-14 January 1988, 12-13.   
[6] “Internal Report: China Risks Breakup Like Yugoslavia,” Agence France-Presse, 20 September 1993, in China Since Tiananmen: Political, Economic, and Social Conflicts, ed. Lawrence R. Sullivan (Armonk, NY: M.E. Sharpe, 1995), 100.    

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

จีนกับยูโกสลาเวียสมัยติโต (ตอนที่ 12 ยูโกสลาเวียกับการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน)


แม้ว่าการสมานไมตรีระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียจะมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1968 แต่สิ่งหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังอสัญกรรมของเหมาเจ๋อตงเมื่อ ค.ศ. 1976 ก็คือ ความสนใจของจีนต่อรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของยูโกสลาเวีย แม้ว่าในช่วงปลายทศวรรษ 1970 จะยังคงมีการช่วงชิงอำนาจระหว่างฮว่ากั๋วเฟิงกับเติ้งเสี่ยวผิง แต่ทั้งคู่ก็เห็นพ้องต้องกันบนหลักการที่ว่าระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองของเหมาจะต้องได้รับการปฏิรูป[1] รายงานของฮว่าในฐานะนายกรัฐมนตรีต่อสภาประชาชนแห่งชาติจีนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1978 ได้นำเอาแผน 10 ปี (ค.ศ. 1976-1985) ที่อดีตนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลวางเอาไว้เมื่อ ค.ศ. 1975 มาประกาศใช้โดยมีเนื้อหาส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศ และนำหลักการเรื่องการได้รับผลตอบแทนตามความสามารถในการปฏิบัติงาน (from each according to his ability, to each according to his work) มาใช้[2] ซึ่งต่างจากยุคเหมาที่ยึดหลักการให้ผลตอบแทนตามความจำเป็น (from each according to his ability, to each according to his need) ขณะที่เติ้งเสี่ยวผิงใน ค.ศ. 1978 ได้เน้นย้ำเรื่องการแสวงหาสัจจะจากข้อเท็จจริง (seeking truth from facts) โดยระบุว่า นอกจากการค้ากับโลกภายนอกแล้ว จีนยังควรเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศและศึกษาประสบการณ์ในการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจของต่างประเทศ[3] ซึ่งในที่สุดนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของเติ้งก็ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนธันวาคมของปีนั้น

            ประชาชนในกรุงเบลเกรดต้อนรับการมาเยือนของฮว่ากั๋วเฟิงเมื่อ ค.ศ. 1978



ภูมิภาคหนึ่งที่จีนให้ความสนใจศึกษาประสบการณ์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจก็คือยุโรปตะวันออก เนื่องจากเป็นที่ตั้งของประเทศสังคมนิยมเช่นเดียวกับจีนและมีประสบการณ์ในการปฏิรูปเศรษฐกิจให้พ้นไปจากระบบวางแผนจากส่วนกลางแบบสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของยูโกสลาเวียซึ่งมีระบบที่เรียกว่า “การจัดการตนเองแบบสังคมนิยม (socialist self-management)” โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1950 ระบบดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์ของวิสาหกิจต่างๆ จากของรัฐมาเป็นของผู้ที่ทำงานในวิสาหกิจนั้นๆ โดยจัดตั้งคณะมนตรีคนงาน (workers’ council) ขึ้นในแต่ละโรงงาน และถือว่าวิสาหกิจแต่ละแห่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ที่ทำงานในวิสาหกิจนั้นที่จะตัดสินใจในนโยบายต่างๆ อันจำเป็นต่อวิสาหกิจของตน ซึ่งต่อมามีการขยายระบบนี้ไปใช้กับการผลิตเกือบทุกประเภท[4] โดยใน ค.ศ. 1978 มีการส่งคณะจากจีนไปดูงานในยูโกสลาเวียหลายครั้ง ทั้งด้านการเกษตรและการพลังงาน[5] ซึ่งในการเดินทางเยือนยูโกสลาเวียของฮว่ากั๋วเฟิงเมื่อเดือนสิงหาคมของปีนั้น เขาได้เยี่ยมชมศูนย์เกษตรอุตสาหกรรมในกรุงเบลเกรดที่ชื่อว่า Poljoprevredni Kombinat Beograd (Belgrade Agricultural Combine) ซึ่งเขามีท่าทีสนใจมากและสั่งให้ทดลองตั้งศูนย์แบบดังกล่าวขึ้นในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์และมณฑลเฮยหลงเจียง ขณะที่จ้าวจื่อหยาง (Zhao Ziyang) เลขาธิการพรรคประจำมณฑลซื่อชวน (Sichuan) ที่เดินทางไปด้วยก็ได้ทดลองตั้งศูนย์แบบเดียวกันในมณฑลของตน[6] รวมทั้งมีเรื่องเล่าติดตลกว่ามีคณะดูงานจากจีนไปเยือนศูนย์ดังกล่าวในยูโกสลาเวียมากเสียจนวัวที่นั่นจำหน้าคนจีนและพูดคำว่า “สวัสดี” เป็นภาษาจีนได้[7]

จีนในปลายทศวรรษ 1970 พยายามฉายภาพความสำเร็จในการบริหารจัดการเศรษฐกิจของยูโกสลาเวียเพื่อจูงใจให้สาธารณชนในประเทศยอมรับแนวทางการปฏิรูปและเปิดประเทศภายใต้กรอบของลัทธิสังคมนิยม หูเฉียวมู่ (Hu Qiaomu) ประธานบัณฑิตยสภาสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (The Chinese Academy of Social Sciences) และเลขานุการประจำสำนักเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ยกย่องติโตวในฐานะบุคคลแรกที่พิสูจน์ให้เห็นว่าลัทธิสังคมนิยมไม่จำเป็นต้องมีตัวแบบเดียว[8] ส่วนซุนเหย่ฟาง (Sun Yefang) นักเศรษฐศาสตร์จีนที่เคยไปดูงานในยูโกสลาเวียเป็นเวลา 5 สัปดาห์ในปลาย ค.ศ. 1978 ก็ระบุว่า การบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจของยูโกสลาเวียยังคงอยู่ภายใต้กรอบของลัทธิสังคมนิยม และเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าแต่ละประเทศสามารถสร้างลัทธิสังคมนิยมตามสภาวการณ์เฉพาะของตนเองได้[9] ขณะที่บันทึกความทรงจำของถังเจียเสวียน (Tang Jiaxuan) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนถึงกับบอกว่า ยูโกสลาเวียคือตัวแบบ (role model) ในการช่วงปีแรกๆ ของการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน[10]

การเรียนรู้จากประสบการณ์ของยูโกสลาเวียเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นที่กล่าวถึงแล้วในประเทศจีนปัจจุบัน หนังสือของหลี่หลานชิง (Li Lanqing) อดีตรองนายกรัฐมนตรีซึ่งเผยแพร่ในทศวรรษ 2000 อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับกำเนิดของนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนนั้นระบุเพียงว่า การดูงานในต่างประเทศครั้งสำคัญที่นำไปสู่การประกาศใช้นโยบายดังกล่าวของเติ้งเสี่ยวผิงก็คือ การเดินทางเยือนญี่ปุ่นและสิงคโปร์ของเติ้งเมื่อเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1978 และการเดินทางเยือนฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก สวีเดน เดนมาร์ก และเบลเยียมของกู่มู่ (Gu Mu) รองนายกรัฐมนตรีในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมของปีเดียวกัน[11] โดยไม่ได้กล่าวถึงการเดินทางเยือนยูโกสลาเวียของฮว่ากั๋วเฟิงในปีนั้นเลย สาเหตุที่อาจเป็นไปได้นั้นมี 2 ประการ ประการแรก หนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาไปตามแนวทางของทางการจีนที่มุ่งฉายภาพให้เติ้งเป็นผู้ให้กำเนิดนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ ขณะที่ฉายภาพให้ฮว่าเป็นผู้นำที่ล้าหลังและยึดมั่นในแนวทางของเหมาเจ๋อตง ประการถัดมา การแตกสลายของรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียในต้นทศวรรษ 1990 สะท้อนว่าแท้จริงแล้วระบบเศรษฐกิจของยูโกสลาเวียมีปัญหาเรื้อรังมานาน การที่จีนเคยมองยูโกสลาเวียในทางเศรษฐกิจอย่างชื่นชมจึงเป็นการนำเสนอข้อมูลด้านเดียวเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปและเปิดประเทศของเติ้ง และถือเป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรนำมากล่าวถึงอีกต่อไป

อย่าไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่จีนได้เรียนรู้จากยูโกสลาเวียและยังคงมีผลต่อระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศมาจนถึงปัจจุบันก็คือ ประสบการณ์การเข้าเป็นสมาชิกขององค์การทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในระบบทุนนิยม เพราะในทศวรรษ 1970 ยูโกสลาเวียเป็น 1 ใน 2 ประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกที่เป็นสมาชิกธนาคารโลก (The World Bank อีกประเทศหนึ่งคือโรมาเนีย) และเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคดังกล่าวที่เป็นสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (The International Monetary Fund - IMF) และในปลายทศวรรษนั้นเองที่จีนเปลี่ยนทัศนะจากเดิมที่มองว่าองค์การเหล่านี้คือเครื่องมือของลัทธิจักรวรรดินิยม มาเป็นการให้ความสนใจที่จะใช้ประโยชน์จากองค์การดังกล่าวเพื่อสนองต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจของตนโดยศึกษาจากประสบการณ์ของยูโกสลาเวีย ดังที่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1979 จีนส่งคณะดูงานไปยังยูโกสลาเวียเพื่อศึกษาว่าประเทศที่ไม่ได้มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (nonmarket economies) สามารถทำงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเหล่านี้ได้อย่างไร และใช้เงินกู้จากธนาคารโลกมาทำโครงการด้านใดบ้าง โดยฝ่ายยูโกสลาเวียก็แสดงท่าทีสนับสนุนจีนในเรื่องนี้อย่างเต็มที่[12] จนในที่สุดจีนได้กลายเป็นสมาชิกของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศตั้งแต่ ค.ศ. 1980 เป็นต้นมาตราบจนปัจจุบัน        

------------------------------------------------

[1] Frederick C. Teiwes and Warren Sun, “China’s New Economic Policy under Hua Guofeng: Party Consensus and Party Myths,” The China Journal, no. 66 (July 2011): 1-23.
[2] Peking Review, 10 March 1978, 18-26.
[3] Deng Xiaoping, Selected Works of Deng Xiaoping Volume II (1975-1982) (Beijing: Foreign Languages Press, 1984), 142, 161.
[4] ประทุมพร, เรื่องเดียวกัน, 140.
[5] Peking Review, 3 March 1978, 25-27; Peking Review, 24 March 1978, 41-42.
[6] Nina P. Halpern, “Learning from Abroad: Chinese Views of the East European Economic Experience, January 1977-June 1981,” Modern China 11, no. 1 (January 1985): 77-109.  
[7] Tang Jiaxuan, Heavy Storm & Gentle Breeze: A Memoir of China’s Diplomacy (New York, NY: HarperCollins, 2011), 205.
[8] Peking Review, 19 May 1980, 4.
[9] Ibid., 5.
[10] Tang Jiaxuan, ibid., 205.
[11] Li Lanqing, Breaking Through: The Birth of China’s Opening-Up Policy (Hong Kong: Oxford University Press and Foreign Language Teaching and Research Press, 2009), 52-67.
[12] Jacobson and Oksenberg, ibid., 66, 71.

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

จีนกับยูโกสลาเวียสมัยติโต (ตอนที่ 11 ท่าทีของจีนกับยูโกสลาเวียต่อการยึดครองกัมพูชาของเวียดนาม)


การร่วมมือกันระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านสหภาพโซเวียตนั้นปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมในปัญหากัมพูชาช่วงปลายทศวรรษ 1970 กล่าวคือ หลังการทำสงครามรวมประเทศสำเร็จใน ค.ศ. 1975 เวียดนามได้ดำเนินนโยบายอิงเข้าหาสหภาพโซเวียตมากขึ้นเรื่อยๆ จนลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1978 และในวันที่ 25 ธันวาคมของปีเดียวกัน เวียดนามได้รุกรานกัมพูชาประชาธิปไตย (Democratic Kampuchea) ที่ปกครองโดยพอลพต (Pol Pot) ผู้นำของกลุ่มเขมรแดงที่มีจีนให้การอุปถัมภ์ และได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา (The People’s Republic of Kampuchea) ที่นิยมเวียดนามขึ้นในเดือนมกราคมของปีถัดมา โดยมีเฮง สัมริน (Heng Samrin) เป็นประมุข จีนมองว่าทั้งหมดเป็นแผนการของสหภาพโซเวียตที่จะขยายอำนาจเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเวียดนาม ดังที่เติ้งเสี่ยวผิงให้สัมภาษณ์กับนักข่าวจากสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1979 ความตอนหนึ่งว่า

 

การรุกรานกัมพูชาขนานใหญ่ของเวียดนามไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างโดดๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์โลกของลัทธิครองความเป็นใหญ่ของมหาอำนาจ ผลกระทบของเรื่องนี้จะไม่จำกัดอยู่แต่เวียดนามและกัมพูชาเท่านั้น เราสามารถพูดได้ว่าการรุกรานครั้งนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แต่ยังส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศโดยรวม นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้จีนเชื่อว่าผู้ที่แสวงหาสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพทั่วโลกควรกังวลกับเหตุการณ์นี้ให้มาก ความยุติธรรมอยู่ข้างกัมพูชา เราจึงควรสนับสนุนกัมพูชาในการต่อต้านการรุกรานของเวียดนาม[1]

 
พระชายาโมนิค สมเด็จพระนโรดม สีหนุ และเติ้งเสี่ยวผิงเมื่อ ค.ศ. 1975
 

สำหรับท่าทีของยูโกสลาเวียนั้น ติโตมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชามาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1950 ซึ่งเป็นยุคของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ (Norodom Sihanouk) ที่ดำเนินนโยบายรักษาความเป็นกลางของกัมพูชาด้วยการเข้าร่วมขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และติโตได้เดินทางเยือนกัมพูชาเมื่อ ค.ศ. 1968[2] ยูโกสลาเวียยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชาเมื่อนายพลลอน นอล (Lon Nol) ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาสนับสนุนได้ก่อรัฐประหารโค่นล้มสมเด็จพระนโรดม สีหนุเมื่อ ค.ศ. 1970 และกลับมามีความสัมพันธ์อีกครั้งเมื่อกลุ่มเขมรแดงยึดอำนาจการปกครองได้ใน ค.ศ. 1975 ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับนโยบายของจีนที่มีต่อกัมพูชามาโดยตลอด ทำให้เมื่อกัมพูชาตกอยู่ภายใต้การยึดครองของเวียดนามหลังเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 ติโตได้เป็นอีกเสียงสำคัญที่ช่วยจีนในการเรียกร้องให้เวียดนามถอนทหารออกไป อีกทั้งยังได้งดวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่จีนตอบโต้เวียดนามด้วยการนำทหารบุกภาคเหนือของเวียดนามในกลางเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1979 ก่อนที่จะถอนกำลังกลับในอีก 4 สัปดาห์ต่อมา หรือที่เรียกว่าสงครามจีนสั่งสอนเวียดนาม

ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดครั้งที่ 6 ณ กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1979 ที่มี 93 ประเทศเข้าร่วมประชุม ฟิเดล คาสโตรในฐานะเจ้าภาพได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมโดยประกาศตนเข้าข้างสหภาพโซเวียตอย่างชัดเจน เขากล่าวว่าเวียดนามมีความชอบธรรมที่จะโค่นล้มระบอบการปกครองของเขมรแดงที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้คนนับล้าน และบัดนี้สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาถือเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมเพียงหนึ่งเดียวของกัมพูชา โดยที่จีนไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะใช้กำลังสั่งสอนเวียดนามในเรื่องดังกล่าว[3] ติโตจึงได้กล่าวสุนทรพจน์ตอบโต้คาสโตรโดยระบุว่า การประกาศเข้าข้างสหภาพโซเวียตของคาสโตรเป็นการทำลายหลักการของการก่อตั้งขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในกัมพูชาโดยระบุว่า

 

เรามีความกังวลอย่างมากต่อวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีการใช้กำลังและอาวุธเพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่มีอยู่ สิ่งนี้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงและเอกราชของประชาชนในภูมิภาคนี้ และยังเป็นภัยที่อาจลุกลามเป็นความขัดแย้งที่กว้างออกไป

            เหนือสิ่งอื่นใด เราจะต้องไม่ยอมให้มีการใช้การแทรกแซงทางการทหารเพื่อให้ชาติหนึ่งไปบังคับประชาชนของอีกชาติหนึ่งได้ พฤติกรรมเช่นนี้ขัดกับหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติและนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างสิ้นเชิง จึงขอย้ำอีกครั้งว่า วิกฤตการณ์จะคลี่คลายได้ต่อเมื่อต่างชาติถอนทหารทั้งหมดออกจากดินแดนของประเทศอื่นและเคารพในเอกราช ความมั่นคง และการพัฒนาอย่างสันติของประเทศในภูมิภาคแห่งนั้น[4]  

 

การต่อต้านอิทธิพลของสหภาพโซเวียตยังคงเป็นประเด็นสำคัญในการหารือระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียก่อนที่ติโตจะถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1980 โดยการพบปะกันครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในการเยือนยูโกสลาเวียของหวงหวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1979 ซึ่งในครั้งนั้น โยซิฟ เวอร์โฮเวช (Josif Vrhovec) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของยูโกสลาเวียบอกกับหวงหวาว่า ลัทธิจักรวรรดินิยมของสหภาพโซเวียตยังคงสร้างความปั่นป่วนไม่หยุด ส่วนติโตวิเคราะห์ว่าในครึ่งแรกของทศวรรษ 1980 ที่จะมาถึงนี้ไม่น่าจะเกิดสงครามขนาดใหญ่ เพราะสหภาพโซเวียตกำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ขณะที่หวงหวาแสดงความขอบคุณต่อบทบาทของยูโกสลาเวียทั้งในขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและในกิจการระหว่างประเทศโดยรวม[5]

--------------------------------------------------------

[1] Peking Review, 12 January 1979, 17.
[2] สมเด็จนโรดม สีหนุ และเบอร์นาร์ด กริสเชอร์, ความทรงจำของสมเด็จนโรดมสีหนุ : ผู้นำของโลกที่ข้าพเจ้ารู้จัก, แปลโดย สว่าง วงศ์พัวพันธุ์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดวงกมล, 2534), 191-205.
[3] Executive Intelligence Review, 18-24 September 1979, 31-33.
[4] Ibid., 34-35.
[5] Huang Hua, Memoirs, 297-298; ประชาชนรายวัน, 9 พฤศจิกายน 1979, จาก http://www.ziliaoku.org/rmrb/1979-11-09-5, เข้าไปเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2015.  

วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

จีนกับยูโกสลาเวียสมัยติโต (ตอนที่ 10 การฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรค)


การเยือนจีนของติโตเมื่อ ค.ศ. 1977 เป็นเพียงการสมานไมตรีในระดับรัฐต่อรัฐเท่านั้น โดยยังไม่มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้เหมาเจ๋อตงได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่ายูโกสลาเวียภายใต้การนำของติโตเป็นลัทธิแก้ การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียขึ้นมาทันทีจึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากผู้นำสูงสุดของจีนในขณะนั้นอย่างฮว่ากั๋วเฟิง ผู้ซึ่งพยายามสร้างความชอบธรรมและสร้างฐานอำนาจทางการเมืองด้วยการอ้างว่าตนคือผู้สืบสานแนวคิดของเหมาเจ๋อตง ดังที่เขายึดมั่นในหลักการที่เรียกว่า “อะไรก็ตาม 2 ประการ (The Two Whatevers)” นั่นคือ การยึดมั่นในนโยบายอะไรก็ตามที่เหมาตัดสินใจแล้ว และการทำตามคำสั่งอะไรก็ตามที่เหมาเคยให้ไว้[1] ดังนั้น สุนทรพจน์ของฮว่าในงานเลี้ยงรับรองติโตจึงยังคงยืนยันว่าในด้านการต่างประเทศ จีนจะยึดมั่นในลัทธิสากลนิยมของชนชั้นกรรมาชีพ[2] สอดคล้องกับคำกล่าวของหวงหวาต่อผู้ปฏิบัติงานด้านการต่างประเทศเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1977 ซึ่งก็ยืนยันว่ายูสลาเวียเป็นลัทธิแก้ที่จีนจำเป็นต้องสมานไมตรีด้วยเพื่อหาแนวร่วมในการต่อต้านสหภาพโซเวียต ดังความตอนหนึ่งว่า

 

เราต้องยืนยันความเป็นจริงที่ว่ายูโกสลาเวียเป็นลัทธิแก้ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดยท่านประธานเหมาที่ยิ่งใหญ่และบรรดานักปฏิวัติกรรมาชีพรุ่นอาวุโสอย่างนายกรัฐมนตรีโจว สหายคังเซิง และสหายเติ้งเสี่ยวผิงได้ตอบจดหมายฉบับวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1963 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต โดยในส่วนที่ 3 ของจดหมายที่มีทั้งหมด 9 ฉบับนั้นใช้ชื่อหัวข้อว่า “ยูโกสลาเวียเป็นประเทศสังคมนิยมหรือไม่?” ซึ่งได้แสดงและวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงลักษณะพื้นฐานของลัทธิแก้ของยูโกสลาเวีย บนพื้นฐานของลักษณะของรัฐยูโกสลาเวีย การเป็นเจ้าของวิถีการผลิต นโยบายภายในและนโยบายต่างประเทศ ทัศนะของต่อติโตต่อสันติทั้ง 3 (หมายถึง การเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ การแข่งขันอย่างสันติ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ – ผู้วิจัย) ทัศนะของเขาต่อความเป็นปึกแผ่นของค่ายสังคมนิยมและต่อขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติ ทัศนะของเขาต่อหลักการพื้นฐานของลัทธิมากซ์-เลนิน รวมทั้งนโยบายและระบบที่ใช้ในหมู่บ้านชนบทและภายในประเทศทั้งหมด

            วันนี้ เรายังไม่เปลี่ยนมุมมองดังกล่าว ขณะที่พื้นฐานทางอุดมการณ์และข้อเท็จจริงที่สนับสนุนทัศนะดังกล่าวก็ยังไม่เปลี่ยน ติโตเคยเป็นลัทธิแก้ และปัจจุบันก็ยังคงเป็นอยู่ ถ้าคุณบอกว่าติโตคือหัวหน้าของลัทธิแก้ที่เก่าแก่ที่สุด นั่นก็ถูกต้อง ...

            ภารกิจหลักในปัจจุบันของเราคือการผนึกกำลังกับประชาชนและประเทศที่ถูกกดขี่ทั่วโลก รวมทั้งผนึกกำลังกับประเทศและประชาชนที่รักสันติภาพและก้าวหน้าทั่วโลกเพื่อสร้างแนวร่วมระหว่างประเทศที่กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อต่อสู้แบบปฏิวัติกับอภิมหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับลัทธิสังคมจักรวรรดินิยมที่เป็นลัทธิแก้ของสหภาพโซเวียตที่กำลังขึ้นสู่กระแสสูง ประเทศใดก็ตามที่ต่อต้านอภิมหาอำนาจ สนับสนุนเอกราชของชาติ การปลดปล่อยแห่งชาติ และการปฏิวัติของประชาชน ประเทศนั้นก็สามารถยืนเคียงข้างเราในแนวร่วมนี้ได้โดยไม่ต้องสนใจว่าเขามีระบบสังคมและการเมืองเช่นไร และไม่ต้องสนใจด้วยว่าในอดีตเขาเป็นมิตรกับเราหรือไม่ แม้ตอนนี้สันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียจะเป็นปฏิปักษ์กับพรรคของเราโดยพื้นฐาน แต่ก็ยังเป็นไปได้ที่เราจะมีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับรัฐและประชาชนชาวยูโกสลาเวีย[3]   

 

                                    ฮว่ากั๋วเฟิงกับติโตเมื่อ ค.ศ. 1978


ในวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1977 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนกำลังเตรียมต้อนรับการมาเยือนของติโตอยู่นั้น เกิ่งเปียว (Geng Biao) รัฐมนตรีประจำทบวงวิเทศสัมพันธ์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และหลี่อีหมาง (Li Yimang) ผู้เป็นรัฐมนตรีช่วยได้จัดทำรายงานฉบับหนึ่งซึ่งเสนอให้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียในระดับพรรคต่อพรรคเป็นการภายในเสียก่อน จากนั้นให้เว้นระยะสำหรับ “หักเลี้ยว” แล้วจึงประกาศอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่ออดีตผู้นำอย่างเหมาเจ๋อตงมากเกินไป[4] ข้อเสนอนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจำกรมการเมืองในเดือนถัดมา และในงานเลี้ยงอาหารกลางวันแด่ติโตเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมของปีนั้น ฝ่ายจีนได้เรียกติโตว่า “สหาย”[5] ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1978 หลี่อีหมาง อวี๋กวงหย่วน (Yu Guangyaun) และเฉียวสือ (Qiao Shi) ได้นำคณะเดินทางไปดูงานที่ยูโกสลาเวียเป็นเวลา 3 สัปดาห์ จากนั้นก็เขียนรายงานส่งไปยังคณะกรรมการกลางพรรคโดยระบุว่า ประเทศสังคมนิยมสามารถมีรูปแบบทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย การที่สตาลินพยายามนำระบบเศรษฐกิจแบบสหภาพโซเวียตมาบังคับใช้กับยูโกสลาเวียนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และจีนควรยอมรับว่ายูโกสลาเวียคือประเทศสังคมนิยม[6] ทำให้ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1978 จีนกับยูโกสลาเวียได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคขึ้นมาใหม่อย่างเป็นทางการ สาส์นอำนวยพรจากคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ส่งไปยังกรุงเบลเกรดเนื่องในการประชุมสมัชชาสันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 19 ของเดือนนั้นยอมรับอย่างชัดเจนว่ายูโกสลาเวียเป็นประเทศสังคมนิยม ดังความตอนหนึ่งว่า

 

สันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียที่นำโดยสหายติโต ผู้นำที่โดดเด่นแห่งประชาชนทุกชนชาติในยูโกสลาเวียได้นำเอาความจริงสากลของลัทธิมากซ์-เลนินมาปรับใช้กับสภาพที่เป็นจริงในทางปฏิบัติของยูโกสลาเวีย สันนิบาตดังกล่าวได้นำพาประชาชนทั้งประเทศในการต่อสู้แบบปฏิวัติอย่างไม่ลดละเพื่อเป้าหมายแห่งชัยชนะอย่างต่อเนื่องของลัทธิสังคมนิยม[7]   

 

เมื่อฮว่ากั๋วเฟิงเดินทางเยือนยูโกสลาเวียในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1978 เขาได้กล่าวในงานเลี้ยงรับรองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียตั้งอยู่บนลัทธิมากซ์-เลนิน[8] และเมื่อติโตถึงแก่อสัญกรรมในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1980 ฮว่าได้ส่งสาส์นแสดงความเสียใจไปยังกรุงเบลเกรดโดยยกย่องว่าติโตเป็น “มากซิสต์ที่ยิ่งใหญ่และนักปฏิวัติกรรมาชีพที่โดดเด่น”[9]

-----------------------------------------------------

[1] Zong Huaiwen, Years of Trial, Turmoil and Triumph – China from 1949 to 1988 (Beijing: Foreign Languages Press, 1989), 176.
[2] Peking Review, 2 September 1977, 9.
[3] Huang Hua, “Problems with Indonesia,  Albania, and Yugoslavia,” 280-281.
[4] อู๋ซิงถัง, “จงก้งต่างจี้กวานซี่ซื่อเซี่ยงหยวนเจ๋อเตอะโหยวไหล (เซี่ย),” (ที่มาของหลักการ 4 ข้อในความสัมพันธ์ระหว่างพรรคของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตอนที่ 2) 21 สิงหาคม 2012, จาก  http://roll.sohu.com/20120821/n351163915.shtml, เข้าไปเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2015.  
[5] เพิ่งอ้าง.
[6] Yu Guangyuan, Deng Xiaoping Shakes the World: An Eyewitness  Account of China’s Party Work Confernece and the Third Plenum (November-December 1978), eds. Ezra F. Vogel and Steven I. Levine (Norwalk, CT: EastBridge, 2004), 55-56.   
[7] Peking Review, 23 June 1978, 3.
[8] Peking Review, 1 September 1978, 14.
[9] Peking Review, 12 May 1980, 10.