วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

แนวคิดประกอบการศึกษาประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่


แนวคิดประกอบการศึกษาประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่

สิทธิพล เครือรัฐติกาล
โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ระยะเวลา 107 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1842 ถึง ค.ศ. 1949 ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ เริ่มจากการที่จีนพ่ายแพ้สงครามฝิ่นและยอมลงนามในสนธิสัญญานานกิงเมื่อ ค.ศ. 1842 ตามมาด้วยสงครามและความวุ่นวายจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น สงครามแอร์โรว์ (ค.ศ. 1856-1860) กบฏไท่ผิง (ค.ศ. 1851-1864) สงครามจีน-ฝรั่งเศส (ค.ศ. 1884) สงครามจีน-ญี่ปุ่น (ค.ศ. 1894-1895) การลุกฮือขึ้นของพวกนักมวย (ค.ศ. 1900) เป็นต้น ความลัมเหลวในการปฏิรูปการปกครองของราชวงศ์ชิงได้นำไปสู่การปฏิวัติซินไฮ่ใน ค.ศ. 1911 อันเป็นการสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีนที่มีมายาวนานกว่า 2,000 ปี และมีการสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้น ตามมาด้วยความวุ่นวายในยุคขุนศึก (ค.ศ. 1916-1927) จนกระทั่งพรรคกั๋วหมินตังสามารถรวมประเทศได้สำเร็จใน ค.ศ 1928 อย่างไรก็ตามในทศวรรษ 1930 และ 1940 จีนยังคงต้องเผชิญกับปัญหานานาประการ ไม่ว่าจะเป็นสงครามกับญี่ปุ่นระหว่าง ค.ศ. 1937 ถึง ค.ศ. 1945 และสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนระหว่าง ค.ศ. 1946 ถึง ค.ศ.1949 ความล้มเหลวของพรรคกั๋วหมินตั่งในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ได้ทำให้ในที่สุดแล้วพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถยึดอำนาจรัฐและสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949

ความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ดูจะสร้างปัญหาให้กับผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์จีนอยู่ไม่น้อย และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์จีนหลังสงครามฝิ่นกลายเป็นหน้าที่ของนักวิชาการสายสังคมศาสตร์ ขณะที่นักประวัติศาสตร์จะศึกษาประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่แรกเริ่มอารยธรรมจนกระทั่งถึงยุคราชวงศ์ชิงในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เท่านั้น อย่างไรก็ตามในความสลับซับซ้อนของประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าว เราสามารถทำความเข้าใจได้โดยผ่านกรอบแนวคิดที่สำคัญดังต่อไปนี้

แนวคิดประการที่หนึ่ง : การปฏิวัติ (Revolution)
สารานุกรมสังคมศาสตร์สากล (The International Encyclopedia of Social Sciences) ได้ให้ความหมายของการปฏิวัติไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน (radical) ในระบอบการปกครอง โดยมักจะมีการใช้กำลังเพื่อทำลายระบอบเดิมที่มีมาก่อน” ในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่มีเหตุการณ์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นการปฏิวัติอยู่สองครั้ง ได้แก่ การปฏิวัติซินไฮ่เมื่อ ค.ศ. 1911 และการปฏิวัติคอมมิวนิสต์เมื่อ ค.ศ. 1949 เหตุการณ์แรกเป็นการทำลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีนที่มีมายาวนานกว่า 2,000 ปี ส่วนเหตุการณ์ที่สองเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เปลี่ยนโฉมหน้าของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของจีนไปอย่างสิ้นเชิง

นอกจากเหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีการใช้คำว่า “ปฏิวัติ” เพื่ออธิบายเหตุการณ์ต่างๆอย่างหลากหลาย ซึ่งบางครั้งก็มีเหตุผลทางการเมืองเข้าเกี่ยวข้อง เช่น ถ้าเรามองในเชิงปัญญาความคิด ขบวนการเคลื่อนไหวของปัญญาชนจีนเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919 อาจเรียกได้ว่าเป็น “การปฏิวัติทางปัญญาความคิด” (The Intellectual Revolution) หรือผู้ที่นิยมพรรคกั๋วหมินตั่งก็จะมีความเห็นว่า การทำสงครามรวมประเทศของพรรคกั๋วหมินตั่งในกลางทศวรรษ 1920 เป็น “การปฏิวัติชาตินิยม” (The Nationalist Revolution) ในขณะที่ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์จีนมิได้มองเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นการปฏิวัติแต่อย่างใด เพราะในความคิดของเหมาเจ๋อตง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้ว การปฏิวัติหมายถึง การที่ชนชั้นหนึ่งทำการลุกฮือขึ้นเพื่อใช้กำลังล้มล้างชนชั้นอื่นๆ ดังนั้นสงครามรวมประเทศของพรรคกั๋วหมินตั่งจึงเป็นเพียงการทำต่อสู้กันเองระหว่างพวกปฏิกิริยา (reactionary) อันประกอบไปด้วยนายทุน ขุนศึก และศักดินา เท่านั้น

แนวคิดประการที่สอง : ชาตินิยม (Nationalism) และจักรวรรดินิยม (Imperialism)
ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์จีนบางส่วนก็คือ ความคิดที่ว่าจีนมีสำนึกของความเป็นชาติมาเป็นเวลายาวนานแล้ว โดยผ่านระบบราชการที่รวมศูนย์อำนาจและการใช้อักษรแบบเดียวกันตั้งแต่ยุคราชวงศ์ฉิน และผ่านลัทธิขงจื้อซึ่งกลายเป็นอุดมการณ์แห่งรัฐสมัยราชวงศ์ฮั่น ในความเป็นจริงแล้วจีนมิได้มองว่าโลกนี้ประกอบไปด้วยรัฐต่างๆซึ่งมีจีนเป็นหนึ่งในบรรดารัฐเหล่านั้น หากแต่มองว่าโลกประกอบไปด้วยสองส่วนคือ จีนผู้มีอารยธรรม และคนเถื่อนผู้ด้อยอารยธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จีนมองว่าตนเองเป็นอารยธรรมมากกว่าจะเป็นประเทศ ด้วยเหตุนี้จีนจึงเรียกโลกนี้ว่า “เทียนเซี่ย” (天下) อันหมายความว่าทุกคนในโลกอยู่ภายใต้ฟ้าเดียวกันโดยมีจีนเป็นอู่อารยธรรม ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าวัฒนธรรมนิยม (Culturism หรือ Culturalism) มากกว่าจะเป็นชาตินิยม

การเข้ามาของจักรวรรดินิยมตะวันตกและญี่ปุ่นในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้ค่อยๆทำลายแนวคิดแบบวัฒนธรรมนิยมลงไป ปัญญาชนจีนรุ่นใหม่เริ่มมองว่าจีนมิใช่ศูนย์กลางแห่งอารยธรรมอีกต่อไป หากแต่เป็นรัฐๆหนึ่งที่จะต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดท่ามกลางประเทศมหาอำนาจที่คอยแสวงหาผลประโยชน์จากจีน จักรวรรดินิยมจึงมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นกระแสชาตินิยมในจีน แนวคิดของปัญญาชนและผู้นำทางการเมืองในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเหลียงฉี่เชา ซุนยัดเซ็น หลู่ซวิ่น เหมาเจ๋อตง แม้ว่าจะต่างกันในรายละเอียด หากแต่ก็แฝงแนวคิดชาตินิยมและการต่อต้านจักรวรรดินิยมไว้ด้วยกันทั้งสิ้น

แนวคิดประการที่สาม : การปรับตัวให้ทันสมัย (Modernization) และจารีตประเพณี (Tradition)
ภัยจากจักรวรรดินิยมตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ได้ทำให้ชนชั้นนำและปัญญาชนต่างตระหนักในความสำคัญของการปรับตัวให้ทันสมัยเพื่อความอยู่รอดของประเทศ อย่างไรก็ตามพวกเขาเหล่านี้ยังคงมีความภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์และอารยธรรมจีน แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าจารีตประเพณีของจีนจำนวนไม่น้อยก็เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวให้ทันสมัยเช่นกัน ดังนั้นแนวคิดทางการเมืองและสังคมในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่จึงมีส่วนผสมของทั้งความเป็นสมัยใหม่และจารีตประเพณีปะปนกัน ไม่ว่าจะเป็นคำขวัญของชนชั้นนำในปลายราชวงศ์ชิงที่ว่า “Chinese learning is for the essence, Western learning is for utility” (中学为体,西学为用) ซึ่งเน้นการนำความรู้แบบตะวันตกมาใช้โดยรักษาจิตวิญญาณของความเป็นจีนเอาไว้ หรือแม้กระทั่งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเหมาเจ๋อตงก็เช่นกัน แม้ว่าเหมาจะเห็นว่าจารีตประเพณีเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศจีน หากแต่แนวคิดของเขาแท้จริงแล้วก็แฝงไปด้วยสำนึกทางประวัติศาสตร์ของจีน ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่ว่าจีนมี “ลักษณะเฉพาะ” ที่ไม่อาจเดินตามลัทธิมากซ์-เลนินได้เต็มร้อย หรือการที่เขาพยายามจะชี้ให้เห็นในทศวรรษ 1960 ว่าจีนสามารถเป็น “ศูนย์กลาง” ของโลกคอมมิวนิสต์ได้ดีกว่าสหภาพโซเวียต

แนวคิดประการที่สี่ : ผลกระทบจากภายนอก (Foreign Impact) และพลวัตภายใน (Internal Dynamic)
การที่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ยึดเอาสนธิสัญญานานกิงเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าสังคมจีนก่อนยุคสมัยใหม่เป็นสังคมที่หยุดนิ่งกับที่ และการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายในจีนยุคใหม่ล้วนแต่เป็นพลังที่มาจากโลกภายนอก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เศรษฐกิจและสังคมจีนก่อน ค.ศ. 1842 มิได้หยุดนิ่งกับที่และปิดตัวจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง เศรษฐกิจจีนในช่วงต้นราชวงศ์ชิงเองก็มีพลวัตไม่น้อย จีนในยุคนั้นมีรายได้จากการค้าใบชาอย่างมหาศาล อุตสาหกรรมการทอฝ้ายก็เจริญมากจนกระทั่งมีการประมาณการกันว่าในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 บริเวณเมืองเซี่ยงไฮ้มีเครื่องทอผ้ากว่า 200,000 เครื่อง ส่วนนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอย่าง Angus Maddison ก็ได้ประมาณการไว้ว่าในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีน (GDP) คิดเป็นร้อยละ 20-30 ของ GDP ทั้งโลก การค้าที่รุ่งเรืองทำให้กิจการธนาคารของจีนพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย จนเกิดสภาวะที่เรียกว่า หน่ออ่อนของทุนนิยม (sprouts of capitalism) ดังนั้นเราจึงไม่ควรพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของจีนหลังสนธิสัญญานานกิงว่าเกิดจากพลังจากภายนอก โดยละเลยพลวัตภายในที่มีมาก่อนหน้านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: