วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เมื่อจีนบุกแอฟริกา



เมื่อจีนบุกแอฟริกา

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2006 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา (胡锦涛) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกากว่า 40 ประเทศ ที่เดินทางมาประชุมสุดยอดจีน-แอฟริกาที่กรุงปักกิ่ง นับเป็นการประชุมที่มีผู้นำจากประเทศต่างๆมารวมตัวกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเป็นเจ้าภาพของจีน และยังสะท้อนความสำคัญของทวีปแอฟริกาในนโยบายต่างประเทศของจีนปัจจุบันอีกด้วย

จีนรู้จักทวีปแอฟริกา หรือเฟย์โจว (非洲) มาเป็นเวลาช้านาน ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์ซ่ง (宋朝) ได้มีทาสผิวดำมาใช้แรงงานอยู่แถบชายฝั่งเมืองกว่างโจว (广州) ทางตอนใต้ของจีนบ้างแล้ว ต่อมาในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 กองทัพเรือของราชวงศ์หมิง (明朝) นำโดยขันทีเจิ้งเหอ (郑和) ได้ออกสำรวจทะเลไปไกลถึงชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา ในครั้งนั้นผู้ปกครองแห่งมาลินดี (ประเทศเคนยาในปัจจุบัน) ได้มอบยีราฟให้แก่คณะของเจิ้งเหอเพื่อนำไปถวายแด่จักรพรรดิหย่งเล่อ (永乐) ณ กรุงปักกิ่ง สร้างความพอพระทัยให้แก่จักรพรรดิองค์ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทรงเข้าพระทัย (ผิด) ว่ายีราฟคือสัตว์ในนิทานปรัมปราของจีนที่เรียกว่า “กิเลน” (麒麟) อันเป็นสัตว์มงคลตามความเชื่อของจีน

ความสัมพันธ์จีน-แอฟริกายุคใหม่เริ่มขึ้นหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1949 เหมาเจ๋อตง (毛泽东) มองว่าจีนกับแอฟริกามีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกันคือ การถูกครอบงำโดยจักรวรรดินิยมตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ด้วยเหตุนี้จีนกับแอฟริกาควรจะผนึกกำลังกันดำเนินนโยบายต่อต้านจักรวรรดินิยมและเรียกร้องให้ประเทศมหาอำนาจมอบเอกราชแก่อาณานิคมโดยเร็ว ในยุคนี้จีนได้แสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ต่อหลายประเทศในแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นการที่จีนส่งข้าวจำนวนหลายพันตันไปให้แก่ประเทศกินีและประเทศเคนยาระหว่าง ค.ศ. 1959-1961 ทั้งๆที่ในเวลานั้นจีนเองประสบทุพภิกขภัยอย่างหนัก และที่มีการกล่าวขานกันมากก็คือ การสร้างทางรถไฟสายแทนซาเนีย-แซมเบีย อันเป็นโครงการใหญ่ระหว่าง ค.ศ. 1970-1975 สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้จีนสนใจทวีปแอฟริกาก็คือ ความพยายามในการขยายอิทธิพลในทวีปแห่งนี้ของทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ซึ่งทั้งสองเป็น “ศัตรูหมายเลขหนึ่ง” ของจีนในทศวรรษ 1960 และ 1970 ตามลำดับ ดังนั้นเมื่อสหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1960 ให้การสนับสนุนรัฐบาลของประเทศคองโก-เลโอโปลด์วิลล์ (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) จีนจึงดำเนินนโยบายโต้ตอบด้วยการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่ตั้งอยู่รายล้อมคองโก-เลโอโปลด์วิลล์ ไม่ว่าจะเป็นคองโก-บราสซาวิลล์ (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐคองโก) บุรุนดี และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง และเมื่อสหภาพโซเวียตพยายามจะขยายนาวิกานุภาพเหนือมหาสมุทรอินเดียในทศวรรษ 1970 จีนก็ได้กระชับสัมพันธ์กับประเทศในแอฟริกาที่มีชายฝั่งติดกับมหาสมุทรดังกล่าว เช่น มอริเชียส โมซัมบิก มาดากัสการ์ เป็นต้น

เมื่อถึงปลายทศวรรษ 1980 ความขัดแย้งระหว่างจีนกับโซเวียตสิ้นสุดลง และจีนก็หันมาดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจ ทำให้ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับแอฟริกาก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นความสัมพันธ์ที่เน้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องของพลังงาน หลายปีที่ผ่านมาความต้องการนำเข้าน้ำมันของจีนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ การขาดเสถียรภาพทางการเมิองในภูมิภาคที่อุดมไปด้วยน้ำมันอย่างตะวันออกกลางทำให้จีนต้องหันมาพึ่งพาน้ำมันจากภูมิภาคอื่นๆของโลก ไมว่าจะเป็นรัสเซีย เอเชียกลาง รวมทั้งประเทศในทวีปแอฟริกา นิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 2006 รายงานว่า ขณะนี้จีนได้วางแผนจะเข้าไปลงทุนด้านการกลั่นน้ำมัน การเกษตร และโรงผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไนจีเรียเป็นมูลค่ากว่า 4 พันล้ายเหรียญสหรัฐฯ โดยแลกกับสิทธิของจีนในการขุดเจาะน้ำมันในประเทศดังกล่าว ขณะเดียวกันจีนก็ได้ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ประเทศแองโกลาเพื่อสร้างถนนและสะพาน โดยที่แองโกลาจะชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่จีนในรูปของน้ำมัน ปริมาณการค้าระหว่างจีนกับแอฟริกาได้เพิ่มขึ้นจาก 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯใน ค.ศ. 1995 เป็น 3.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯใน ค.ศ. 2005

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์จีน-แอฟริกาก็ปรากฏด้านมืดอยู่ด้วยหลายประการ ดังนี้
1.สินค้าราคาถูกจากจีนเข้าไปตีตลาดแอฟริกาจนทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอของแอฟริกาใต้ มอริเชียส และไนจีเรีย
2. ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จีนได้รับทำให้จีนละเลยประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในทวีปดังกล่าวไป โดยเฉพาะกรณีของรัฐบาลซูดานซึ่งถูกประชาคมโลกประณามเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในแคว้นดาร์ฟูร์ (Darfur) ขณะที่บริษัทของสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้ถอนการลงทุนจากซูดาน จีนใน ค.ศ. 2004 กลับลงทุนด้านการขุดเจาะน้ำมัน การวางท่อส่งน้ำมัน และการสร้างถนนในซูดานรวมเป็นเงินจำนวนกว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
3. ในส่วนลึกแล้วชาวจีนจำนวนไม่น้อยยังคงมองว่าชาวแอฟริกันผิวดำเป็นคนชั้นต่ำ และไร้วัฒนธรรม ดังที่เมื่อปลาย ค.ศ. 1988 เคยเกิดการปะทะกันครั้งใหญ่ระหว่างชาวจีนกับชาวแอฟริกันในเมืองนานกิง (南京) หางโจว (杭州) ปักกิ่ง (北京) เซี่ยงไฮ้ (上海) อู่ฮั่น (武汉) และอู๋ซี (无锡) หากว่าชาวจีนยังคงมีทัศนคติในทางลบเช่นนี้ต่อไปก็อาจกระทบต่อความสัมพันธ์จีน-แอฟริกาอีกก็เป็นได้

ประการสุดท้าย บทบาทและอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในเวทีโลกทำให้หลายประเทศในทวีปแอฟริกาพากันระแวงว่า ในอนาคตจีนก็ (อาจจะ) ไม่ต่างอะไรจากมหาอำนาจอื่นๆ นั่นคือ .... การเอารัดเอาเปรียบและขูดรีดทางเศรษฐกิจกับบรรดาประเทศกำลังพัฒนาในทวีปแอฟริกานั่นเอง

1 ความคิดเห็น:

นิวคาสเซิล กล่าวว่า...

โดนใจมากมไอ้น้อง