วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ขอเชิญฟังการสอบวิทยานิพนธ์


ด้วยโครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะดำเนินการจัดสอบวิทยานิพนธ์ให้แก่นักศึกษาปริญญาเอก ซึ่งในการนี้โครงการฯ ได้เปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้าร่วมรับฟังได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ชื่อ - สกุลของนักศึกษา: นายสิทธิพล เครือรัฐติกาล

หัวข้อวิทยานิพนธ์: ภาพลักษณ์ของเจิ้งเหอในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีน

วัน/เดือน/ปี เวลา/สถานที่สอบ:
9 ธันวาคม 2553
เวลา 14.00-17.00 น.
วิทยาลัยสหวิทยาการ
อาคารเอนกประสงค์ 1 ชั้น 5
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

รายชื่อคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์:
1. รศ.ดร.โคริน เฟื่องเกษม ประธานกรรมการ
2. รศ.อาทร ฟุ้งธรรมสาร กรรมการ
3. รศ.วุฒิชัย มูลศิลป์ กรรมการ
4. ผศ.ดร.จุฬาพร เอื้อรักสกุล
กรรมการและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก
5. รศ.ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์
กรรมการและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม

ผลการสอบ: ผ่าน (โดยกรรมการสอบขอให้เขียนปรับปรุงบทสรุปของวิทยานิพนธ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น) และวิทยานิพนธ์ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554

บทความเรื่อง "วิวาทะเกี่ยวกับสาเหตุการเดินเรือของเจิ้งเหอในต้นราชวงศ์หมิง"


บทความของข้าพเจ้าเรื่อง
"วิวาทะเกี่ยวกับสาเหตุการเดินเรือของเจิ้งเหอ
ในต้นราชวงศ์หมิง"
ในหนังสือ เหตุเกิดในราชวงศ์หมิง

หนังสือรวบรวมผลงานของนักวิชาการจีนศึกษารุ่นใหม่
ในโครงการประชุมทางวิชาการ จัดโดยโครงการจีนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารี และโครงการปริญญาโทวัฒนธรรมจีนศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำนักพิมพ์ชวนอ่าน พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2553
ISBN 978-616-90119-3-4

วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บทความเรื่อง "เจิ้งเหอในฐานะทูตสันติภาพของจีน: เรื่องจริงหรืออิงนิยาย?"



บทความของข้าพเจ้าเรื่อง
"เจิ้งเหอในฐานะทูตสันติภาพของจีน: เรื่องจริงหรืออิงนิยาย?"
(Zheng He as China's "Peace Envoy": Reality or Myth?)
ใน วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง
ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม - สิงหาคม 2553
http://mekongjournal.net/

http://mekongjournal.net/images/mekong/th62_01.pdf

บทคัดย่อ
ใน ค.ศ. 2005 ทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนได้จัดงานเฉลิมฉลอง 600 ปี การเดินเรือของเจิ้งเหอ โดยนำเสนอว่าบุคคลผู้นี้เป็น “ทูตสันติภาพ” และเป็นสัญลักษณ์แห่งจิตวิญญาณของการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของจีน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้วจะพบว่า เจิ้งเหอได้ใช้กำลังเข้าจัดการกับผู้ปกครองที่ไม่ยอมรับอำนาจความเป็นใหญ่ของจีน พฤติกรรมของเขาสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายจักรวรรดินิยมของจีนในต้นราชวงศ์หมิง ด้วยเหตุนี้เจิ้งเหอจึงไม่อาจทำหน้าที่ในการสร้างอำนาจในการดึงดูดความนิยม (soft power) ให้กับจีนในเรื่องสันติภาพได้อย่างแท้จริง

Abstract

The People’s Republic of China celebrated the 600th anniversary of Admiral Zheng He’s maritime expeditions in 2005 by presenting him as “peace envoy” who symbolized the Chinese spirit of good neighbourliness. However, historical da...ta reveal Zheng He’s use of forces against foreign rulers who refused to acknowledge China’s supremacy, reflecting the early Ming dynasty’s imperialist policy. As a result, Zheng He could not be used as a source of “soft power” to convince the world of China’s pacifist tradition.

วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมจีนของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: กรณีศึกษางานฉลอง 600 ปี การเดินเรือของเจิ้งเหอในอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย




การใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมจีนของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้:
กรณีศึกษางานฉลอง 600 ปี การเดินเรือของเจิ้งเหอในอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซียเมื่อ ค.ศ. 2005
อ่านบทความฉบับเต็มได้ในวารสาร กระแสอาคเนย์ ฉบับที่ 76 (เมษายน 2553) หน้า 10-26
หรือที่
http://tdc.thailis.or.th/tdc//browse.php?option=show&browse_type=title&titleid=38591&query=%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%A5&s_mode=any&d_field&d_start=0000-00-00&d_end=2553-10-18&limit_lang&limited_lang_code&order&order_by&order_type&result_id=12&maxid=16

การจัดงานฉลอง 600 ปีการเดินเรือของเจิ้งเหอในอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซียไม่ได้มาจากแรงผลักดันของทางการจีนหรือชุมชนคนเชื้อสายจีนในประเทศเหล่านี้แต่เพียงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นความต้องการของรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ที่จะใช้วัฒนธรรมจีนเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของตนในด้านต่างๆ โดยสิ่งที่เหมือนกันในสามประเทศก็คือ รัฐบาลต้องการส่งเสริมกิจกรรมของคนเชื้อสายจีนเพื่อให้คนเหล่านี้เป็นสะพานในการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจโลกมากขึ้นนับจากการเปิดประเทศเมื่อ ค.ศ. 1978 เป็นต้นมา แต่กระนั้นก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่แตกต่างกันไปที่ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว สำหรับอินโดนีเซียแล้ว เจิ้งเหอคือสัญลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา ซึ่งสอดคล้องกับความปรารถนาของทางการอินโดนีเซียนับแต่ได้รับเอกราชที่จะสร้างบูรณาการแห่งชาติ (national integration) ให้บังเกิดขึ้น ในส่วนของสิงคโปร์ เจิ้งเหอคือสัญลักษณ์ของเครือข่ายทางการค้าและความเป็นพหุสังคมซึ่งสอดคล้องกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ในฐานะที่เป็น “ชาติ” ที่เติบโตขึ้นมาโดยอาศัยปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับโลกภายนอกเป็นสำคัญ และสำหรับมาเลเซีย รัฐบาลพรรคอัมโนสนับสนุนกิจกรรมของคนเชื้อสายจีนเพื่อแย่งชิงคะแนนเสียงจากพรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งยังใช้กิจกรรมทางวัฒนธรรมดังกล่าวมาส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นความพยายามของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะใช้วัฒนธรรมจีนและชุมชนคนเชื้อสายจีนให้เกิดประโยชน์อย่างรอบด้าน

วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553

บทบาทของมติมหาชนในนโยบายต่างประเทศของจีน




ความคิดเห็นหรือท่าทีของประชาชนกลุ่มใหญ่ที่มีต่อประเด็นสำคัญๆ ของสังคม หรือที่เรียกว่า มติมหาชน (public opinion) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เป็นรัฐอ่อน (soft state) ซึ่งหมายถึง รัฐที่ถูกครอบงำโดยสังคมและมักกำหนดนโยบายตามข้อเรียกร้องของสังคม ดังเช่นประเทศประชาธิปไตยในโลกตะวันตก ตรงข้ามกับรัฐแข็ง (strong state) ที่รัฐสามารถควบคุมสังคมหรือกลุ่มสังคมภายในรัฐไว้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำตามข้อเรียกร้องของสังคมเสมอไป ดูเหมือนว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีพรรคคอมมิวนิสต์ผูกขาดอำนาจมาตั้งแต่ ค.ศ. 1949 จะจัดอยู่ในรัฐประเภทนี้ อย่างไรก็ตาม หลังการประกาศใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศใน ค.ศ. 1978 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมก็เปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลกระทบต่อความเป็นรัฐแข็งของจีน

ลักษณะสำคัญของรัฐจีนหลังยุคเหมา (post – Mao state) ก็คือ การที่รัฐยุติการเข้าไปแทรกแซงชีวิตประจำวันของประชาชน และเปิดให้ประชาชนมี “อาณาบริเวณสาธารณะ” (public sphere) ตราบเท่าที่พวกเขาไม่ท้าทายอำนาจสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ (Shambaugh, 2000, p. 184) ถึงแม้ว่าทางการจีนจะยังคงมีกลไกควบคุมสื่อมวลชนอยู่ หากแต่รัฐซึ่งต้องการลดภาระทางการเงินก็ได้ปล่อยให้สื่อต่างๆ ประกอบการในเชิงพาณิขย์เพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ ทำให้สื่อเหล่านี้นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายตามความสนใจของผู้บริโภค การเข้ามาของสื่ออินเตอร์เน็ตในทศวรรษ 1990 ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งทำให้ประชาชนมีช่องทางในการรับข้อมูลที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้นไปอีก สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่อาจผูกขาดข้อมูลข่าวสารได้อีกต่อไปก็คือ การลดลงของยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ ประชาชนรายวัน (人民日报) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของพรรค (党报) หลิวต้าเป่า (刘大保) นักวิจัยอาวุโสประจำศูนย์วิจัยของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้ให้สัมภาษณ์กับวิภา อุตมฉันท์ เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2003 ว่า ประชาชนรายวัน มียอดจำหน่ายไม่ถึง 2 ล้านฉบับต่อวัน จากเดิมในยุคก่อนเปิดประเทศที่ยอดจำหน่ายสูงถึงวันละ 7-8 ล้านฉบับ (วิภา อุตมฉันท์ และ นิรันดร์ อุตมฉันท์, 2549, น. 94-95) สาธารณชนจึงรับรู้ประเด็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากสื่อเพื่อการค้าเหล่านี้ซึ่งมีเนื้อหาแบบสัจนิยม (realist) มากกว่าจะรับรู้จากสื่อของทางการที่มีเนื้อหาแบบอุดมคตินิยม (idealist) เหมือนอย่างแต่ก่อน (Qing Cao, 2007) ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ทางการจีนเรียกว่านโยบายต่างประเทศแบบ “สันตินิยม” (pacifism) อาจกลายเป็นนโยบายต่างประเทศที่อ่อนแอในสายตาของประชาชนจีนก็ได้

กรณีสำคัญที่สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับมติมหาชนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เบี่ยงเบนไปจากแนวทางของรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็คือ ใน ค.ศ. 1996 หนังสือที่ชื่อ จีนสามารถพูดว่าไม่ (中国可以说不หรือ China Can Say No) ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความที่มีจางเสี่ยวปอ (张小波) เป็นบรรณาธิการกลายเป็นหนังสือขายดี ในด้านหนึ่ง หนังสือเล่มนี้โจมตีสหรัฐอเมริกาว่าต้องการสกัดกั้นการเจริญเติบโตของจีน เช่น การขัดขวางไม่ให้จีนเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเมื่อ ค.ศ. 2000 การถ่วงเวลาในการเจรจากับจีนซึ่งต้องการเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก การสนับสนุนความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชของทิเบต ปฏิบัติการลับของซีไอเอ (CIA) ในจีน เป็นต้น แต่ขณะเดียวกัน หนังสือเล่มนี้ก็ได้วิจารณ์ว่ารัฐบาลจีนอ่อนข้อให้กับสหรัฐอเมริกามากเกินไป โดยขาดความกล้าที่จะแสดงความเป็นมหาอำนาจด้วยการท้าทายหรือ “พูดว่าไม่” (say no) กับสหรัฐฯ (Fewsmith and Rosen, 2001, p. 163) ยอดจำหน่ายหนังสือเล่มนี้ที่สูงถึง 2 ล้านเล่มสะท้อนให้เห็นว่า เนื้อหาในหนังสือน่าจะสอดคล้องกับความรู้สึกนึกคิดที่มีอยู่แต่เดิมของผู้อ่านพอสมควร และความรู้สึกเช่นนี้จะแสดงออกมาอย่างชัดเจนเมื่อเกิดปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังกรณีของการประท้วงต่อต้านสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1999 และ ค.ศ. 2005 ตามลำดับ

การประท้วงต่อต้านสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1999

การประท้วงต่อต้านสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1999 มีสาเหตุมาจากวิกฤตการณ์ในโคโซโว (Kosovo) กล่าวคือ สหรัฐอเมริกาได้นำเรื่องที่ประธานาธิบดีสโลโบดาน มิโลเซวิช (Slobodan Milosevic) แห่งเซอร์เบียทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมเชื้อสายอัลเบเนียนในแคว้นโคโซโวมาเป็นเหตุผลในการทำสงคราม โดยสหรัฐอเมริกาเริ่มทิ้งระเบิดในเซอร์เบียเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1999 และแล้วในวันที่ 7 พฤษภาคมของปีนั้น ได้มีระเบิดตกลงไปยังสถานทูตจีนในกรุงเบลเกรด ส่งผลให้มีชาวจีนเสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บกว่า 20 คน โดยสหรัฐฯ อ้างว่านักบินที่ทิ้งระเบิดเข้าใจผิดว่าอาคารสถานทูตจีนเป็นสถานที่สำคัญทางทหารของเซอร์เบีย เรื่องนี้ทำให้ชาวจีนโกรธแค้นและพากันออกมาประท้วงตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศจำนวนรวมกันหลายแสนคน โดยเฉพาะที่สถานทูตอเมริกันในกรุงปักกิ่งซึ่งฝูงชนได้ปาก้อนหินและไข่จนอาคารสถานทูตได้รับความเสียหาย รวมทั้งมีการตะโกนว่า “ฆ่าชาวอเมริกัน” และเผาธงชาติสหรัฐฯ (Hughes, 2006, p. 85)

ทางการจีนมีความกังวลว่าอารมณ์โกรธแค้นของประชาชนจะนำไปสู่เหตุการณ์ที่บานปลายจนกระทบต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะความพยายามของจีนที่จะเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ให้สำเร็จภายใน ค.ศ. 1999[1] แต่ในอีกทางหนึ่ง ถ้าทางการจีนห้ามปรามไม่ให้มีการประท้วง ประชาชนก็จะหันมาระบายอารมณ์โกรธเคืองกับทางการและวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้นำของตนไม่กล้า “พูดว่าไม่” (say no) กับสหรัฐฯ จนอาจกลายเป็นวิกฤตการณ์ด้านความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทางการจีนอยู่ในสภาวะที่ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” (dilemma) นั่นเอง

ในวันที่ 9 พฤษภาคม หรือไม่ถึง 2 วันหลังการทิ้งระเบิด รองประธานาธิบดีหูจิ่นเทาได้กล่าวสุนทรพจน์ทางโทรทัศน์ซึ่งสะท้อนความพยายามของทางการจีนในการจัดการกับสภาวะดังกล่าว ในทางหนึ่ง หูได้ตอบสนองอารมณ์ของผู้ชุมนุมประท้วงด้วยการประณามการกระทำของสหรัฐอเมริกาและเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจัดการประชุมฉุกเฉิน เขาระบุด้วยว่าการชุมนุมประท้วงสหรัฐอเมริกาถือเป็นสิทธิที่ชาวจีนผู้รักชาติทั้งหลายสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปในกรอบของกฎหมายและระวังไม่ให้ผู้ไม่ประสงค์ดีบ่อนทำลายเสถียรภาพทางสังคม แต่ในอีกทางหนึ่ง หูระบุว่านโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ รวมทั้งนโยบายต่างประเทศของจีนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในขั้นมูลฐาน (Hughes, 2006, pp. 85-86) ซึ่งเท่ากับเป็นการเน้นว่าการประท้วงครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาในด้านอื่นๆ แต่กระนั้น ภาพแห่งความรุนแรงและก้าวร้าวของประชาชนจีนก็ได้แพร่ออกไปตามสื่อต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งถือเป็นภาพลักษณ์ในทางลบ

การประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 2005

ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ตกเป็นเป้าของอารมณ์โกรธแค้นของประชาชนจีน ทั้งนี้เป็นผลมาจากความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสงครามจีน – ญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1894 ที่จีนต้องเสียไต้หวัน กรณีแมนจูเรียเมื่อ ค.ศ. 1931 สงครามต่อต้านญี่ปุ่นระหว่าง ค.ศ. 1937 ถึง ค.ศ. 1945 ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง เพลง มาร์ชทหารอาสาสมัคร (义勇军进行曲) ซึ่งเป็นเพลงชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนก็มีกำเนิดจากเพลงปลุกใจที่ใช้ในการต่อต้านญี่ปุ่น ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นมีความตึงเครียดมากขึ้นเมื่อจุนอิชิโร โคอิซูมิ (Junichiro Koizumi) ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ ค.ศ. 2001 ซึ่งหลังจากนั้นทุกๆ ปี เขาจะเดินทางไปทำพิธี ณ สุสานยาสุกูนิ (The Yasukuni Shine) ซึ่งเป็นที่ฝังศพของนายทหารที่มีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ชาวจีนจำนวนมากมองด้วยความไม่พอใจว่า การกระทำของเขาถือเป็นการให้ความชอบธรรมต่อลัทธิแสนยนิยม (militarism) ของญี่ปุ่น แต่กระนั้น จีนกับญี่ปุ่นก็มีผลประโยชน์ร่วมกันในด้านอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยใน ค.ศ. 2004 การค้าระหว่างสองประเทศมีมูลค่ารวม 1.67 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และในปีนั้นญี่ปุ่นได้กลายเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีนแทนที่สหรัฐอเมริกา รวมทั้งมีชาวจีนศึกษาอยู่ในญี่ปุ่นถึง 70,000 คน (เขียน ธีระวิทย์, 2549, น. 113)

ปัญหาที่เป็นชนวนไปสู่การประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 9 – 10 เมษายน ค.ศ. 2005 ได้แก่ (1) การที่กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นอนุมัติให้ใช้ตำราเรียนประวัติศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาจำนวน 8 เล่ม ซึ่งชาวจีนมองว่ามีเนื้อหาบิดเบือนประวัติศาสตร์โดยละเลยที่จะยอมรับความโหดร้ายของทหารญี่ปุ่นที่กระทำต่อชาวจีน และ (2) ความพยายามของญี่ปุ่นที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทำให้มีชาวจีนร่วมกันลงนามคัดค้านในอินเตอร์เน็ตถึง 20 ล้านคน (ไชยวัฒน์ ค้ำชู, 2548, น. 49) ในกรุงปักกิ่ง ชาวจีนนับหมื่นคนเดินขบวนไปยังสถานทูตและบ้านพักเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น และได้ขว้างปาสิ่งของ รวมทั้งทุบทำลายหน้าต่างของอาคารและสถานที่ดังกล่าวเพื่อระบายความโกรธแค้น ขณะที่ในเซี่ยงไฮ้ ประชาชนนับหมื่นคนได้เดินขบวนไปยังสถานกงสุลญี่ปุ่น โดยระหว่างทางได้ทำลายบริษัทห้างร้านของชาวญี่ปุ่น คว่ำรถยนต์ญี่ปุ่น และตะโกนถ้อยคำเช่น “ญี่ปุ่นจงพินาศ” และ “จงไปให้พ้น” เป็นต้น (ไชยวัฒน์ ค้ำชู, 2548, น. 49-50)

เมื่อประเด็นทางประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่อ่อนไหวในความรู้สึกของประชาชน ถ้าทางการจีนละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวในระดับที่ประชาชนคาดหวังก็อาจนำมาซึ่งความไม่พอใจของประชาชนได้ ดังกรณีของกระแสต่อต้าน “แนวคิดใหม่” (New Thinking) ในการดำเนินความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 2003[2] ทางการจีนจึงอยู่ในสภาวะเดียวกับการประท้วงต่อต้านสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1999 กล่าวคือ ในทางหนึ่งจะต้องตอบสนองต่ออารมณ์และความคาดหวังของประชาชนที่ออกมาประท้วง แต่ในอีกทางหนึ่งก็ต้องควบคุมเหตุการณ์ไม่ให้บานปลายจนกระทบต่อความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ กับญี่ปุ่น ในวันที่ 12 เมษายน ถังเจียเสวียน (唐家璇) มุขมนตรีได้พบปะกับโตโยฮิโกะ ยามาโนอูชิ (Toyohiko Yamanouchi) ประธานสำนักข่าวเกียวโด (Kyodo News Agency) ของญี่ปุ่น ถังระบุว่าประชาชนจีนไม่อาจเข้าใจได้ว่า ประเทศญี่ปุ่นที่ยังไม่ยอมรับประวัติศาสตร์อันก้าวร้าวของตนเอง และไม่เข้าใจความรู้สึกของคนต่างชาติที่ตกเป็นเหยื่อของการรุกรานจะสามารถทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้อย่างไร แต่ถังก็เน้นย้ำว่า ทางการจีนไม่สนับสนุนให้ผู้ประท้วงทำการประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวญี่ปุ่น อีกทั้งยังหวังด้วยว่าประชาชนของทั้งสองประเทศจะมองไปข้างหน้าและเป็นมิตรต่อกันตลอดไป (Handling China – Japan Ties Carefully, 2005, April 28, p. 16) และในวันที่ 15 เมษายน สำนักงานความปลอดภัยสาธารณะ (Public Security Bureau) ของเทศบาลกรุงปักกิ่งได้ออกประกาศว่า การเดินขบวนหรือชุมนุมประท้วงที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการถือว่าผิดกฎหมาย และขอให้ประชาชนมั่นใจว่าพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนจะสามารถจัดการความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นได้อย่างเหมาะสม (เขียน ธีระวิทย์, 2549, น. 114)

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการประท้วงต่อต้านสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่า มติมหาชนกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในชุมชนนโยบายต่างประเทศ (foreign policy community) ของจีน การเติบโตของธุรกิจสิ่งพิมพ์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ประชาชนจีนมีช่องทางในการรับรู้เรื่องราวของโลกภายนอกโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสื่อของทางการอย่างแต่ก่อน ทางการจีนปัจจุบันจึงมีความสามารถที่ลดลงกว่าเดิมในการควบคุมหรือจัดการกับมติมหาชน (แม้จะยังมีกลไกควบคุมสื่อมวลชนและระบบการศึกษาอยู่ก็ตาม) รวมทั้งยังต้องตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของมหาชนมากยิ่งขึ้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งความชอบธรรมทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือที่ Christopher R. Hughes (2006) ซึ่งศึกษาเรื่องลัทธิชาตินิยมของจีนในยุคโลกาภิวัตน์เรียกสภาวะดังกล่าวว่า “ความไร้อำนาจของผู้มีอำนาจ” (the powerlessness of the powerful) เนื่องจากวาทกรรมที่ผลิตโดยชนชั้นนำ (elite discourse) ต้องเผชิญความท้าทายจากลัทธิชาตินิยมแบบมวลชน (popular nationalism) ซึ่งมีลักษณะตรงกับที่ William A. Callahan (2010) เรียกว่า “ลัทธิชาตินิยมแบบมองโลกในแง่ดีผสมร้าย” (pessoptimist nationalism) กล่าวคือ เป็นลัทธิชาตินิยมที่ภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของตน และมีความเชื่อมั่นว่าประเทศของตนกำลังจะเดินไปสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นลัทธิชาตินิยมที่มีบาดแผลจาก ”ความอัปยศแห่งชาติ” (国耻) ในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ (ค.ศ. 1840 – ค.ศ. 1949) ที่จีนตกเป็นเหยื่อการรุกรานของประเทศมหาอำนาจ[3] ซึ่งบาดแผลดังกล่าวพร้อมเสมอที่จะกลายสภาพเป็นอารมณ์อันโกรธแค้นและรุนแรงเมื่อมีเหตุการณ์มากระตุ้น ลัทธิชาตินิยมแบบมวลชนในลักษณะนี้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายแนวคิดเกี่ยวกับสันติภาพที่ทางการจีนพยายามเน้นย้ำอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องสันติภาพตามแบบขงจื่อ การทะยานขึ้นอย่างสันติ (Peaceful Rise) รวมทั้งจิตวิญญาณของ “ทูตสันติภาพ” อย่างเจิ้งเหอในนโยบายต่างประเทศของจีน

บรรณานุกรม

เขียน ธีระวิทย์. (2549). จีนใหม่ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: มติชน.

ไชยวัฒน์ ค้ำชู. (2548). จีน - ญี่ปุ่น: ประวัติศาสตร์เบื้องหลังความขัดแย้งของสองมหาอำนาจและนัยต่อภูมิภาคเอเชียในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: openbooks.

วิภา อุตมฉันท์ และ นิรันดร์ อุตมฉันท์. (2549). เจาะลึกสื่อจีน. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Callahan, William A. (2010). China: The Pessoptimist Nation. New York: Oxford University Press.

Fewsmith, Joseph and Stanley Rosen. (2001). The Domestic Context of Chinese Foreign Policy: Does “Public Opinion” Matter?. In David M. Lampton (Ed.), The Making of Chinese Foreign and Security Policy in the Era of Reform (pp. 151-187). Stanford, CA: Stanford University press.

Handling China - Japan Ties Carefully. (2005, April 28). Beijing Review, 48(17), 16-17.

Hughes, Christopher R. (2006). Chinese Nationalism in the Global Era. London: Routledge.

Pearson, Margaret M. (2001). The Case of China’s Accession to GATT/WTO. In David M.
Lampton (Ed.), The Making of Chinese Foreign and Security Policy in the Era of Reform (pp. 337-370). Stanford, CA: Stanford University Press.

Peng Guangqian. (2004). China’s National Defense (Chen Ru, trans.). Beijing: China Intercontinental Press.

Qing Cao. (2007). Confucian Vision of a New World Order?: Cultural Discourse, Foreign Policy and the Press in Contemporary China. International Communication Gazette, 69(5), 431-450.

Shambaugh, David. (2000). The Chinese State in the Post- Mao Era. In David Shambaugh (Ed.), The Modern Chinese State (pp. 161-187). New York: Cambridge University Press.

Xiao Zhou. (2004, April 15). New Thoughts, Old Grudges. Beijing Review, 47(15), 20-21.

Zhou Yihuang. (2004). China’s Diplomacy. Beijing: China Intercontinental Press.

[1] จีนต้องการเจรจาเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก WTO ให้สำเร็จใน ค.ศ. 1999 เพื่อให้ตรงกับโอกาสฉลอง 50 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีน อันจะช่วยยกสถานะทางการเมืองของเจียงเจ๋อหมินให้สูงยิ่งขึ้น ขณะที่ Pearson (2001, pp. 344) มองว่าจีนไม่ต้องการรอให้ถึง ค.ศ. 2000 อันเป็นปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งอาจมีการนำเอาประเด็นเรื่องจีนมาใช้หาเสียงจนเป็นอุปสรรคต่อการเข้าเป็นสมาชิก WTO อีกทั้ง WTO กำลังจะจัดประชุมที่เมืองซีแอตเติล ซึ่งอาจมีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในการรับสมาชิกใหม่
[2] “แนวคิดใหม่” (New Thinking) เป็นข้อเสนอของปัญญาชนจีนกลุ่มหนึ่งเมื่อ ค.ศ. 2003 ที่ให้จีนเลิกหยิบยกเอาประเด็นทางประวัติศาสตร์มาเป็นเงื่อนไขในการดำเนินความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น บุคคลที่มีส่วนสำคัญในการนำเสนอแนวคิดนี้ได้แก่ หม่าลี่เฉิง (马立诚) ผู้เขียนบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชาชนรายวัน ศาสตราจารย์สือยินหง (时殷弘) แห่งมหาวิทยาลัยประชาชนจีน และเฟิ่งเจาขุย (冯昭奎) นักวิจัยอาวุโสแห่งบัณฑิตยสภาสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวต้องเผชิญกับการโจมตีอย่างหนักจากทั้งนักวิชาการและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะหม่าลี่เฉิงซึ่งถูกตราหน้าว่าเป็น “คนทรยศ” (汉奸) จนต้องลาออกจากตำแหน่งและย้ายไปทำงานกับ Phoenix TV ในฮ่องกง ดูรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ใน Xiao Zhou (2004, April 15, pp. 20-21) และ Hughes (2006, pp. 146-151)
[3] สถิติของทางการจีนระบุว่า ระหว่าง ค.ศ. 1840 ถึง ค.ศ. 1949 จีนต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับต่างชาติถึง 1,175 ฉบับ (Zhou Yihuang, 2004, p. 4)

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553

สัมมนาหัวข้อ “สงครามเย็นในประเทศไทย” วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 เวลา 9.00 – 16.30 น. ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย








คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สัมมนาหัวข้อ “สงครามเย็นในประเทศไทย”
วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 เวลา 9.00 – 16.30 น.
ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

8.30 – 9.00 ลงทะเบียน

9.00 – 9.10 กล่าวเปิดการสัมมนา โดย ผศ.ดร. วีระ สมบูรณ์
หัวหน้าภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

9.10 – 9.30 ปาฐกถานำ โดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์

9.30 – 10.00 การนำเสนอบทความ
ประธานดำเนินรายการ: ผศ.ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์
“จากสงครามจิตวิทยาแบบอเมริกัน สู่การสร้าง "สัญลักษณ์" แห่งชาติภายใต้เงาอินทรี”
โดย ณัฐพล ใจจริง นิสิตปริญญาเอก ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“A Brief Period of Thai Democratization in the Cold War (1969 – 71)”
โดย รศ.ดร. กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

10.30 – 10.45 พักรับประทานอาหารว่าง

10.45 – 11.15 การนำเสนอบทความ


“นัยสำคัญของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช”
โดย สิทธิพล เครือรัฐติกาล นักศึกษาปริญญาเอก โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


11.15 – 12.15 อภิปราย และวิจารณ์บทความ
ผู้นำอภิปรายและผู้สรุปประเด็น: Professor Benedict Anderson

12.15 – 13.15 พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.15 – 13.45 การนำเสนอบทความ
ประธานดำเนินรายการ: ผศ. สรวิศ ชัยนาม
“The Birth of the Cold Warriors: The Border Patrol Police and the Internationalisation of Cold War Politics in Thailand, 1951 – 1965”
โดย Sinae Hyun นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาประวัติศาสตร์ University of Wisconsin (Madison)
“Emergence of Right-Wing Politics in Thailand between October 1973 – October 1976”
โดย จิติยา พฤกษาเมธานันท์ นิสิตปริญญาเอก ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“Cold War Tourism to Thailand and Applying Value to the Thai Way of Life”
โดย Matthew Phillips นักศึกษาปริญญาเอก School of Oriental and African Studies (SOAS), University of London
14.45 – 15.00 พักรับประทานอาหารว่าง

15.00 – 16.00 อภิปราย และวิจารณ์บทความ
ผู้นำอภิปรายและผู้สรุปประเด็น: Professor Benedict Anderson

16.00 – 16.20 ปาฐกถาปิด โดย Professor Benedict Anderson

16.20 – 16.30 กล่าวปิดงานสัมมนา โดย ผศ. สุรัตน์ โหราชัยกุล
รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


**ดำเนินรายการเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ**

วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2553

ขอเชิญเข้าฟังการประชุมทางวิชาการ “เหตุเกิดในราชวงศ์หมิง” วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 8.00-16.00 น. ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

รูปบน: จักรพรรดิหย่งเล่อ รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์หมิง ครองราชย์ ค.ศ. 1402 - 1424

http://www.asia.tu.ac.th/china/News050253.htm

ขอเชิญเข้าฟังการประชุมทางวิชาการ
เหตุเกิดในราชวงศ์หมิง

วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 8.00-16.00 น.
ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ 1
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
จัดโดย โครงการจีนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา
ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ร่วมกับ โครงการปริญญาโทวัฒนธรรมจีนศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กำหนดการ

08.30 - 09.00 น. ลงทะเบียน

09.00 - 09.15 น. พิธีเปิด
กล่าวรายงาน
อ.รสสุคนธ์ ขันธ์นะภา
ประธานโครงการจีนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กล่าวเปิดงาน
ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

09.15 - 10.15 น. ปาฐกถาเกียรติยศ
ผศ.ดร.สืบแสง พรหมบุญ
รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

10.15 – 10.30 น. พักรับประทานอาหารว่าง

10.30 – 11.15 น. “นิยายกับธุรกิจการพิมพ์ในสมัยราชวงศ์หมิง”
ผศ.ดร. กนกพร นุ่มทอง
สาขาวิชาภาษาจีน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผู้วิจารณ์
ผศ.ถาวร สิกขโกศล
ที่ปรึกษาโครงการจีนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

11.15 – 12.00 น. “เหตุเกิดในปลายสมัยหมิง: ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 16 ถึงต้นศตวรรษที่ 17”
ดร. ปิยดา ชลวร
นักวิชาการอิสระ

12.00 – 13.30 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน

13.30 – 14.15 น. “มุมมองของหมิง: การศึกษาภาพสะท้อนสังคมสยามในเอกสารประวัติศาสตร์จีนสมัยราชวงศ์หมิง”
อ.ดร. ปิยะมาศ สรรพวีรวงศ์
ภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้วิจารณ์
รศ. วุฒิชัย มูลศิลป์
นายกสมาคมประวัติศาสตร์ฯ ภาคีราชบัณฑิต

14.15 – 15.00 น. “การศึกษาเบื้องต้นว่าด้วยการขัดเกลาจริยธรรมในปรัชญาของหวังหยังหมิง”
อ.ดร. ศริญญา อรุณขจรศักดิ์
ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้วิจารณ์
รศ.ดร. สุวรรณา สถาอานันท์
ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

15.00 – 15.15 น. พักรับประทานอาหารว่าง

15.15 – 16.00 น.
วิวาทะเกี่ยวกับสาเหตุการเดินเรือของเจิ้งเหอในต้นราชวงศ์หมิง
อ. สิทธิพล เครือรัฐติกาล
โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ผู้วิจารณ์
อ.ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี
ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายจีนศึกษา มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

พิธีกร อ.ดร.สุรสิทธิ์ อมรวณิชศักดิ์
ภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์