วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ย้อนพินิจประธานาธิบดีวังจิงเว่ย



ย้อนพินิจประธานาธิบดีวังจิงเว่ย[1]

การรุกรานจีนของกองทัพพระจักรพรรดิญี่ปุ่นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๑ – ๑๙๔๕ ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์จีนว่าเป็นเหตุการณ์ที่ย่ำยีศักดิ์ศรีของชนชาติจีนอย่างรุนแรงที่สุด ในมุมมองของทั้งฝ่ายกั๋วหมินตั่งและฝ่ายคอมมิวนิสต์ถือว่าคนจีนที่ยอมเข้าสวามิภักดิ์ต่อญี่ปุ่น อาทิ ผู่อี้ (Puyi) อดีตจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีนที่ร่วมมือกับญี่ปุ่นสถาปนารัฐแมนจูกัวใน ค.ศ. ๑๙๓๒ หรือ วังจิงเว่ย (Wang Jingwei) ผู้นำคนสำคัญของพรรคกั๋วหมินตั่งที่ร่วมมือกับญี่ปุ่นตั้งรัฐบาลที่หนานจิงใน ค.ศ. ๑๙๔๐ ต่างถูกมองว่าเป็นผู้ทรยศต่อประเทศด้วยกันทั้งนั้น

อย่างไรก็ตามหากเราพิจารณาประวัติศาสตร์การทูตของจีนแล้วจะพบว่าการเข้าด้วยกับศัตรู (collaboration) นั้นเป็นหนึ่งในกลวิธีที่จีนใช้ในการรักษาความมั่นคงของตนมาแต่โบราณ หาใช่เป็นการทรยศต่อประเทศเสมอไปไม่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือกรณีการจลาจลของนักมวยในจีน ค.ศ. ๑๙๐๐ เมื่อพระนางฉือซี (Empress Dowager Cixi) อาศัยกำลังของพวกนักมวยประกาศสงครามกับกองทัพมหาอำนาจ ๘ ชาติ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ออสเตรีย-ฮังการี รัสเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ขุนนางผู้ใหญ่ของราชวงศ์ชิงบางคน เช่น หลี่หงจาง (Li Hongzhang) จางจื้อต้ง (Zhang Zhidong) ต่างพากันขัดรับสั่งและหันไปเจรจาสันติภาพกับศัตรู แม้การกระทำของพวกเขาเหล่านี้จะดูเป็นการทรยศต่อพระราชสำนัก หากแต่ในที่สุดแล้วมันได้ช่วยต่ออายุของราชวงศ์ชิงมาได้อีกทศวรรษหนึ่งก่อนที่จะล่มสลายลงหลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๑๑ ด้วยเหตุนี้การมองผู้ที่เข้าด้วยกับศัตรูว่าเป็นผู้ทรยศไปเสียทั้งหมดจึงเป็นการประเมินที่อาจจะไม่ยุติธรรมเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีรัฐบาล “หุ่นเชิด” ของญี่ปุ่นที่หนานจิงภายใต้การนำของประธานาธิบดีวังจิงเว่ยระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๐-๑๙๔๕ ซึ่งได้รับการประเมินใหม่โดยงานของนักวิชาการตะวันตกและตะวันออกนับตั้งแต่ทศวรรษที่ ๑๙๗๐ เป็นต้นมา อาทิ บทความของ Lin Han-sheng เรื่อง A New Look at Chinese Nationalist Appeasers ตีพิมพ์ในหนังสือ China and Japan: Search for Balance since World War I เมื่อ ค.ศ. ๑๙๗๘ รวมทั้งงานศึกษาของ Hwang Dongyoun ชื่อ Some Reflections on Wartime Collaboration in China: Wang Jingwei and his group in Hanoi เมื่อ ค.ศ. ๑๙๙๘ หรือแม้แต่หนังสือประวัติศาสตร์จีนแนวชาตินิยมที่นิยมใช้กันในสถาบันการศึกษาของโลกตะวันตกชื่อ The Rise of Modern China ของ Immanuel C.Y. Hsu นักประวัติศาสตร์เชื้อสายจีนแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาบาร่า สหรัฐอเมริกา ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. ๑๙๗๐ ก็ได้ประเมินวังจิงเว่ยอย่างรอบด้านมากขึ้นเช่นกัน

ก่อนการรุกรานจีนของญี่ปุ่นครั้งใหญ่ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ นั้น วังจิงเว่ยดำรงตำแหน่งประธานสภาบริหารแห่งชาติ (The Executive Yuan) ซึ่งมีสถานะเสมือนประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน ขณะที่เจียงไคเช็ค (Jiang Jieshi) ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดทางทหาร แม้ว่าคนทั้งสองจะแก่งแย่งการเป็นผู้นำพรรคกั๋วหมินตั่งหลังอสัญกรรมของ ดร. ซุนยัดเซ็น (Sun Yat-sen) ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ แต่ในด้านการต่างประเทศนั้นผู้นำทั้งสองตระหนักดีว่าจีนในขณะนั้นอ่อนแอเกินกว่าจะต้านทานแสนยานุภาพของญี่ปุ่นได้ และการทำสงครามกับญี่ปุ่นมีความสำคัญรองลงไปจากการรักษาความมั่นคงภายในด้วยการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์จีน ด้วยเหตุนี้ทั้งสองจึงได้ร่วมมือกันดำเนินนโยบายจำยอมต่อความต้องการของศัตรู (appeasement) ดังจะเห็นได้จากการที่จีนไม่ตอบโต้ญี่ปุ่นกรณีการสถาปนารัฐแมนจูกัวใน ค.ศ. ๑๙๓๒ และในช่วงไม่กี่ปีหลังจากนั้นจีนยังได้ทำข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์ต่อญี่ปุ่นหลายฉบับ เช่น ข้อตกลงสงบศึกตังกู่ (The Danggu Truce ค.ศ. ๑๙๓๓) ซึ่งจีนยอมสละแมนจูเรียและเย่อเหอ (Rehe) ให้ญี่ปุ่น ข้อตกลงเหอ-อูเมสึ (The He-Umezi Agreement ค.ศ. ๑๙๓๕) ซึ่งจีนยอมถอนทหารและเจ้าหน้าที่ออกจากมณฑลเหอเป่ย (Hebei) เป็นต้น

ความร่วมมือระหว่างเจียงไคเช็คกับวังจิงเว่ยมาสิ้นสุดลงเมื่อเกิดเหตุการณ์นครซีอาน (The Xi’an Incident) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ เมื่อนายพลจางเสวียเหลียง (Zhang Xueliang) จับเจียงไคเช็คเป็นตัวประกันแล้วบังคับให้เขาร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการต่อต้านญี่ปุ่น หลังจากนั้นเป็นต้นมาเจียงไคเช็คก็เชื่อว่าพลพรรคกั๋วหมินตั่งและประชาชนจีนส่วนใหญ่ต้องการให้เขาต่อต้านญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นบุกจีนที่สะพานมาร์โคโปโลชานนครปักกิ่ง (สมัยนั้นเรียกเป่ยผิง หมายถึง สันติภาพทางเหนือ) ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ เจียงไคเช็คจึงเดินหน้าทำสงครามกับญี่ปุ่น ขณะที่วังจิงเว่ยยังคงความคิดที่ว่าจีนอ่อนแอเกินไปที่จะต้านทานกองทัพญี่ปุ่น ประชาชนจีนจะได้รับความลำบาก อีกทั้งเขายังมองต่อไปว่าการทำสงครามกับญี่ปุ่นจะทำให้พรรคกั๋วหมินตั่งอ่อนแอลงจนเสียเปรียบพรรคคอมมิวนิสต์จีนในที่สุด ดังนั้นเมื่อนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิมาโร โคโนเอ (Fumimaro Konoe) เสนอขอเจรจาสันติภาพกับจีนเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ วังจิง เว่ยซึ่งขณะนั้นไปตั้งขบวนการสันติภาพอยู่ที่กรุงฮานอยของเวียดนามจึงพยายามเกลี้ยกล่อมให้เจียงไคเช็ครับข้อเสนอนี้แต่ไม่สำเร็จ อีกทั้งคนสนิทของเขาชื่อ เจิ้งจงหมิง (Zeng Zhongming) ถูกกลุ่มขวาจัดในพรรคกั๋วหมินตั่งลอบสังหารในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ วังจิงเว่ยจึงตัดสินใจเดินทางไปญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคมของปีนั้นเพื่อเจรจาตั้งรัฐบาลของตนเอง การกระทำของเขาในครั้งนี้ได้รับการประณามจากฝ่ายกั๋วหมินตั่งโดยได้ขับไล่เขาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค และฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ประณามว่าเขาคือนายพลอู๋ซานกุ้ย (Wu Sangui) ผู้เปิดประตูด่านซานไห่กวนให้กองทัพแมนจูบุกเข้ายึดประเทศจีนเมื่อ ค.ศ. ๑๖๔๔

รัฐบาลของวังจิงเว่ยที่มีญี่ปุ่นสนับสนุนได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ มีนครหนานจิงเป็นเมืองหลวง วังจิงเว่ยเป็นประธานาธิบดี และโจวโฝไห่ (Zhou Fohai) คนสนิทของเขาเป็นรองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตลอดระยะเวลาของรัฐบาลหนานจิงของวังจิงเว่ย แม้เขาต้องยอมต่อข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นหลายเรื่อง เช่น การยอมรับรองรัฐบาลแมนจูกัว การยอมให้ญี่ปุ่นใช้เกาะไห่หนานเป็นฐานทัพเรือ เป็นต้น แต่วังจิงเว่ยก็สามารถรักษาผลประโยชน์ของชาวจีนไว้ได้หลายเรื่อง อาทิ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ญี่ปุ่นยอมให้รัฐบาลหนานจิงมีธนาคารกลางเป็นของตนเองซึ่งช่วยทำให้ระบบการเงินมีเสถียรภาพมากขึ้น ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๓ รัฐบาลหนานจิงประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเพื่อแลกกับการที่ญี่ปุ่นส่งมอบอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นคืนให้พร้อมกับยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของญี่ปุ่นในจีนที่มีมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๙ และเมื่อญี่ปุ่นกำลังจะปราชัยใน ค.ศ. ๑๙๔๕ รัฐบาลหนานจิงยังได้แอบส่งสิ่งของและทองคำให้แก่กองทัพกั๋วหมินตั่งเพื่อใช้ในการรบกับญี่ปุ่นด้วย และเพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบของเขา วังจิงเว่ยจึงให้มีการจัดพิมพ์หนังสือชื่อ China and Japan, natural friends- unnatural enemies: a guide for China’s foreign policy by Sun Yat-sen เพื่อเป็นการย้ำว่าเขาได้ทำตามเจตนารมณ์ของ ดร.ซุนยัดเซ็นที่ต้องการเห็นจีนและญี่ปุ่นร่วมมือกันสร้างแนวร่วมแห่งเอเชีย (Pan-Asianism) เพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตก

ประธานาธิบดีวังจิงเว่ยถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๔ หลังจากนั้นไม่ถึงหนึ่งปี รัฐบาลหนานจิงของเขาก็ถึงกาลอวสานพร้อมกับความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น Susan H. Marsh ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความของเธอเรื่อง Zhou Fo-hai: The Making of a Collaborator ตีพิมพ์ในหนังสือ The Chinese and the Japanese: Essays in Political and Cultural Interaction เมื่อ ค.ศ. ๑๙๘๐ ว่ารัฐบาลหนานจิงของวังจิงเว่ยน่าจะได้รับความนิยมจากประชาชนพอสมควร เพราะเมื่อรัฐบาลนี้ล่มสลายลงแล้วกลับไม่มีการลุกฮือขึ้นของประชาชนเพื่อแสดงความโกรธแค้นต่อวังจิงเว่ยและพรรคพวกของเขาเลย อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาพรรคพวกของเขาต่างถูกจับยิงเป้าโทษฐานเป็นผู้ทรยศต่อประเทศ

วังจิงเว่ยจึงเป็นบุคคลที่ควรได้รับการประเมินอย่างรอบด้านมากขึ้นในประวัติศาสตร์จีน เขามองว่าการทำสงครามกับญี่ปุ่นจะนำมาซึ่งความหายนะของชาติและประชาชนจีน อีกทั้งยังทำให้พรรคกั๋วหมินตั่งอ่อนกำลังลงจนเสียเปรียบพรรคคอมมิวนิสต์ ความคิดของเขาถูกต้องหรือไม่เป็นสิ่งที่น่าพินิจพิจารณา แต่มีความจริงอยู่อย่างหนึ่งว่า ภายหลังจากสิ้นสุดสงครามได้เพียง ๔ ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมาเจ๋อตง (Mao Zedong) ก็ได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมืองและสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ ส่วนพรรคกั๋วหมินตั่งต้องถอยร่นไปยังเกาะไต้หวันตราบจนทุกวันนี้

[1]บทความนี้ตีพิมพ์ใน จดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา ฉบับที่ 33 (พฤษภาคม 2548), หน้า 1-2.

ไม่มีความคิดเห็น: