แนวคิดเรื่องบรรษัทข้ามชาติ (Multinational Corporations – MNCs) และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI)
นับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา บรรษัทข้ามชาติได้เป็นตัวแสดงที่มีความสำคัญทั้งในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศและเวทีการเมืองระหว่างประเทศ Leon Grunberg[1] ได้ให้ความหมายของบรรษัทข้ามชาติว่าเป็น “องค์กรทางเศรษฐกิจที่ดำเนินกิจกรรมการผลิตในสองประเทศขึ้นไป” โดยจะมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศแม่ (home country) และมีบริษัทลูกตั้งอยู่ในประเทศผู้รับการลงทุน (host country) โดยการขยายสาขาของบรรษัทข้ามชาติไปในประเทศต่างๆนั้นเรียกว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI)
John H. Dunning[2] ได้เสนอทฤษฎีสังเคราะห์จากองค์ประกอบต่างๆ (Eclectic Theory) โดยอธิบายว่ามีปัจจัย 3 ประการที่เป็นตัวกำหนดการลงทุนระหว่างประเทศของบรรษัทต่างๆ ปัจจัยเหล่านั้นได้แก่
(1) ความได้เปรียบในด้านการเป็นเจ้าของ (ownership-specific advantages) หมายถึง บรรษัทจะต้องมีความได้เปรียบในด้านปัจจัยนำเข้า (inputs) ที่จะป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต เพื่อให้ได้ปัจจัยนำออก (outputs) ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ปัจจัยนำเข้าดังกล่าวมีทั้งส่วนที่เป็นคุณสมบัติเฉพาะของบรรษัทนั้นๆ เช่น การมีเงินทุน ความสามารถทางเทคโนโลยี ทักษะในการบริหารองค์กร เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยนำเข้าที่มาจากสภาวะแวดล้อมภายนอกของบรรษัท ไม่ว่าจะเป็นตลาดแรงงาน ตลาดผู้บริโภค กฎหมายและนโยบายของรัฐบาลทั้งในประเทศแม่และประเทศผู้รับการลงทุน
(2) ความได้เปรียบด้านแหล่งที่ตั้ง (location-specific advantages) หมายถึง บรรษัทจะลงทุนในที่ตั้งที่ได้เปรียบ เช่น โรงงานอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบ ซึ่งทำให้บรรษัทสามารถนำเอาวัตถุดิบมาป้อนสู่กระบวนการผลิตได้โดยเสียค่าขนส่งน้อยที่สุด เป็นต้น
(3) ความได้เปรียบด้านการทำให้เป็นภายในของบรรษัท (internalization-specific advantage) หมายถึง การที่บรรษัทตระหนักว่าถ้าตนเองไม่ไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ใช้วิธีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศนั้นแทนอาจนำมาซึ่งปัญหาได้ เช่น สินค้าที่ส่งออกไปอาจขายได้ในระยะแรก แต่ในระยะยาวแล้วอาจขายได้น้อยลงเนื่องจากมีผู้ประกอบการในประเทศนั้นๆทำสินค้าเลียนแบบขึ้นมาขายโดยตั้งราคาไว้ต่ำกว่าราคาของสินค้าจริง นอกจากนี้ปัญหาอาจมาจากการที่ทางการของประเทศนั้นๆออกกฎระเบียบหรือมาตรการต่างๆที่จำกัดหรือกีดกันสินค้านำเข้า ทำให้บรรษัทไม่อาจส่งออกสินค้าไปขายยังประเทศนั้นๆได้อย่างเต็มที่ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้บรรษัทจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปลงทุนในประเทศนั้นๆเสียเอง
ความได้เปรียบทั้งสามด้านที่กล่าวมาข้างต้นล้วนแต่มีส่วนเกื้อหนุนซึ่งกันและกันและไม่อาจแยกออกจากกันได้ ความได้เปรียบด้านแหล่งที่ตั้ง (location) จะช่วยส่งเสริมให้บรรษัทมีความได้เปรียบในด้านการเป็นเจ้าของ (ownership) มากขึ้น ยิ่งบรรษัทมีความได้เปรียบในด้านการเป็นเจ้าของมากเพียงใด แรงจูงใจที่จะทำให้เป็นภายในของบรรษัท (internalization) ก็จะมากขึ้นไปด้วย
ในส่วนของผลกระทบที่เกิดจากการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ Grunberg[3] เห็นว่า บรรษัทข้ามชาติส่งผลทั้งในทางบวกและในทางลบต่อทั้งประเทศแม่และประเทศผู้รับการลงทุน โดยผลกระทบทางบวกที่มีต่อประเทศแม่ได้แก่ (1) บรรษัทข้ามชาติมีการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล (rational decision) การตัดสินใจเข้าไปลงทุนในต่างประเทศถือเป็นมาตรการรับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้น การไม่เข้าไปลงทุนอาจทำให้บรรษัทไม่อาจแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ จนทำให้บรรษัทต้องปิดตัวลงและนำมาซึ่งการว่างงานในประเทศแม่ (2) บรรษัทข้ามชาติช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศแม่ดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าจากประเทศแม่ไปยังประเทศอื่นๆที่บริษัทลูกตั้งอยู่ และ (3) บรรษัทข้ามชาติช่วยบูรณาการเศรษฐกิจของประเทศต่างๆเข้าด้วยกัน ลดกระแสชาตินิยม (nationalism) ลดความตึงเครียดระหว่างประเทศ และส่งเสริมค่านิยมแบบเสรีประชาธิปไตย ส่วนผลในทางลบที่เกิดกับประเทศแม่นั้นได้แก่ (1) การเข้าไปลงทุนในต่างประเทศของบรรษัทข้ามชาติทำให้เกิดปัญหาการว่างงานและการลดความสำคัญของภาคอุตสาหกรรม (deindustrialization) ในประเทศแม่ และ (2) บรรษัทข้ามชาติพยายามเลี่ยงการจ่ายภาษีด้วยการไปตั้งสาขาในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำหรือไม่มีการเก็บภาษี และใช้ที่นั่นเป็นที่ออกใบกำกับสินค้า
ในส่วนของประเทศผู้รับการลงทุน (host country) บทบาทของบรรษัทข้ามชาติส่งผลดีคือ (1) บรรษัทข้ามชาติช่วยถ่ายโอนเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ ทุนการเงิน และเทคนิคการบริหารจัดการไปยังประเทศที่กำลังพัฒนา (2) การเข้ามาของบรรษัทข้ามชาติช่วยให้เกิดการเติบโตของธุรกิจรายอื่นๆในประเทศผู้รับการลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจที่ป้อนวัตถุดิบแก่บรรษัทข้ามชาติ (3) การเข้ามาของบรรษัทข้ามชาติช่วยกระตุ้นให้นักธุรกิจในประเทศผู้รับการลงทุนตื่นตัวและพยายามแข่งขันกับบรรษัทข้ามชาติ และ (4) บรรษัทข้ามชาติช่วยให้สภาวะดุลการชำระเงินดีขึ้น กล่าวคือ การเข้ามาลงทุนของบรรษัทข้ามชาติทำให้ประเทศผู้รับการลงทุนนำเข้าสินค้าน้อยลงและส่งออกสินค้าได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามบรรษัทข้ามชาติได้ส่งผลในทางลบต่อประเทศผู้รับการลงทุน กล่าวคือ (1) บรรษัทข้ามชาติมักจะกู้เงินจากสถาบันการเงินของประเทศผู้รับการลงทุน ทำให้สถาบันการเงินเหล่านั้นไม่สนใจที่จะปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก ทำให้ธุรกิจพื้นเมือง (indigenous business) ไม่อาจเติบโตขึ้นได้ (2) บรรษัทข้ามชาติมักจะหวงความรู้ด้านเทคโนโลยีและไม่ถ่ายทอดสิ่งนั้นให้กับประเทศผู้รับการลงทุนอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิตจนทำให้ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานมากนัก อัตราการจ้างงานในประเทศผู้รับการลงทุนจึงไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร (3) บางครั้งบรรษัทข้ามชาติเน้นการผลิตเพื่อการส่งออกแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้สร้างสัมพันธ์กับบริษัทในท้องถิ่น ทำให้การลงทุนของบรรษัทข้ามชาติไม่เกิดผลกระทบภายนอก (spillover effect) ต่อเศรษฐกิจของประเทศผู้รับการลงทุน (4) บรรษัทข้ามชาติมักจ้างแรงงานด้วยค่าแรงราคาถูก และให้สวัสดิการแก่แรงงานอย่างไม่เพียงพอ รวมทั้งยังสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย และ (5) บรรษัทข้ามชาติต้องการเห็นเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศที่รับการลงทุนเป็นหลัก ดังนั้นจึงไม่สนใจว่าประเทศเหล่านั้นมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ มีการเคารพสิทธิมนุษยชนมากน้อยเพียงใด ในบางครั้งการเข้าไปลงทุนของบรรษัทข้ามชาติจึงเปรียบเสมือนการต่ออายุให้กับระบอบเผด็จการในประเทศเหล่านั้น
สมพงศ์ ชูมาก[4] ได้ชี้ให้เห็นว่า บางครั้งบรรษัทข้ามชาติก็มีอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าแทรกแซงอย่างเต็มที่เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาวะทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่อำนวยประโยชน์ให้แก่กิจการของตน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีของประเทศชิลีในต้นทศวรรษ 1970 ที่บริษัทไอทีที (International Telephone and Telegraph Company – ITT) ได้ร่วมมือกับสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา (Central Intelligence Agency – CIA) สนับสนุนการล้มล้างรัฐบาลชิลีของนายซัลวาดอร์ อัลเยนเด (Salvador Allende) ผู้สนับสนุนแนวคิดการโอนกิจการต่างๆมาเป็นของรัฐ (nationalization) และทำให้บริษัทไอทีทีกลัวว่าเงินลงทุนของตนในชิลีจะสูญเปล่า
[1] Leon Grunberg, “The IPE of Multinational Corporations,” in Introduction to International Political Economy, eds. David N. Balaam and Michael Veseth (Upper Saddle River, NJ: Prentice Hall, Inc., 2001), 346-368.
[2] John H. Dunning, “Toward an Eclectic Theory of International Production: Some Empirical Tests,” Journal of International Business Studies 11:1 (1st Quarter, 1980): 9-31.
[3] Grunberg, ibid.
[4] สมพงศ์ ชูมาก, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคปัจจุบัน (ทศวรรษ 1990 และแนวโน้ม) (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542), 175-178.
นับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา บรรษัทข้ามชาติได้เป็นตัวแสดงที่มีความสำคัญทั้งในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศและเวทีการเมืองระหว่างประเทศ Leon Grunberg[1] ได้ให้ความหมายของบรรษัทข้ามชาติว่าเป็น “องค์กรทางเศรษฐกิจที่ดำเนินกิจกรรมการผลิตในสองประเทศขึ้นไป” โดยจะมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศแม่ (home country) และมีบริษัทลูกตั้งอยู่ในประเทศผู้รับการลงทุน (host country) โดยการขยายสาขาของบรรษัทข้ามชาติไปในประเทศต่างๆนั้นเรียกว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI)
John H. Dunning[2] ได้เสนอทฤษฎีสังเคราะห์จากองค์ประกอบต่างๆ (Eclectic Theory) โดยอธิบายว่ามีปัจจัย 3 ประการที่เป็นตัวกำหนดการลงทุนระหว่างประเทศของบรรษัทต่างๆ ปัจจัยเหล่านั้นได้แก่
(1) ความได้เปรียบในด้านการเป็นเจ้าของ (ownership-specific advantages) หมายถึง บรรษัทจะต้องมีความได้เปรียบในด้านปัจจัยนำเข้า (inputs) ที่จะป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต เพื่อให้ได้ปัจจัยนำออก (outputs) ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ปัจจัยนำเข้าดังกล่าวมีทั้งส่วนที่เป็นคุณสมบัติเฉพาะของบรรษัทนั้นๆ เช่น การมีเงินทุน ความสามารถทางเทคโนโลยี ทักษะในการบริหารองค์กร เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยนำเข้าที่มาจากสภาวะแวดล้อมภายนอกของบรรษัท ไม่ว่าจะเป็นตลาดแรงงาน ตลาดผู้บริโภค กฎหมายและนโยบายของรัฐบาลทั้งในประเทศแม่และประเทศผู้รับการลงทุน
(2) ความได้เปรียบด้านแหล่งที่ตั้ง (location-specific advantages) หมายถึง บรรษัทจะลงทุนในที่ตั้งที่ได้เปรียบ เช่น โรงงานอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบ ซึ่งทำให้บรรษัทสามารถนำเอาวัตถุดิบมาป้อนสู่กระบวนการผลิตได้โดยเสียค่าขนส่งน้อยที่สุด เป็นต้น
(3) ความได้เปรียบด้านการทำให้เป็นภายในของบรรษัท (internalization-specific advantage) หมายถึง การที่บรรษัทตระหนักว่าถ้าตนเองไม่ไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ใช้วิธีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศนั้นแทนอาจนำมาซึ่งปัญหาได้ เช่น สินค้าที่ส่งออกไปอาจขายได้ในระยะแรก แต่ในระยะยาวแล้วอาจขายได้น้อยลงเนื่องจากมีผู้ประกอบการในประเทศนั้นๆทำสินค้าเลียนแบบขึ้นมาขายโดยตั้งราคาไว้ต่ำกว่าราคาของสินค้าจริง นอกจากนี้ปัญหาอาจมาจากการที่ทางการของประเทศนั้นๆออกกฎระเบียบหรือมาตรการต่างๆที่จำกัดหรือกีดกันสินค้านำเข้า ทำให้บรรษัทไม่อาจส่งออกสินค้าไปขายยังประเทศนั้นๆได้อย่างเต็มที่ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้บรรษัทจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปลงทุนในประเทศนั้นๆเสียเอง
ความได้เปรียบทั้งสามด้านที่กล่าวมาข้างต้นล้วนแต่มีส่วนเกื้อหนุนซึ่งกันและกันและไม่อาจแยกออกจากกันได้ ความได้เปรียบด้านแหล่งที่ตั้ง (location) จะช่วยส่งเสริมให้บรรษัทมีความได้เปรียบในด้านการเป็นเจ้าของ (ownership) มากขึ้น ยิ่งบรรษัทมีความได้เปรียบในด้านการเป็นเจ้าของมากเพียงใด แรงจูงใจที่จะทำให้เป็นภายในของบรรษัท (internalization) ก็จะมากขึ้นไปด้วย
ในส่วนของผลกระทบที่เกิดจากการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ Grunberg[3] เห็นว่า บรรษัทข้ามชาติส่งผลทั้งในทางบวกและในทางลบต่อทั้งประเทศแม่และประเทศผู้รับการลงทุน โดยผลกระทบทางบวกที่มีต่อประเทศแม่ได้แก่ (1) บรรษัทข้ามชาติมีการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล (rational decision) การตัดสินใจเข้าไปลงทุนในต่างประเทศถือเป็นมาตรการรับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้น การไม่เข้าไปลงทุนอาจทำให้บรรษัทไม่อาจแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ จนทำให้บรรษัทต้องปิดตัวลงและนำมาซึ่งการว่างงานในประเทศแม่ (2) บรรษัทข้ามชาติช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศแม่ดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าจากประเทศแม่ไปยังประเทศอื่นๆที่บริษัทลูกตั้งอยู่ และ (3) บรรษัทข้ามชาติช่วยบูรณาการเศรษฐกิจของประเทศต่างๆเข้าด้วยกัน ลดกระแสชาตินิยม (nationalism) ลดความตึงเครียดระหว่างประเทศ และส่งเสริมค่านิยมแบบเสรีประชาธิปไตย ส่วนผลในทางลบที่เกิดกับประเทศแม่นั้นได้แก่ (1) การเข้าไปลงทุนในต่างประเทศของบรรษัทข้ามชาติทำให้เกิดปัญหาการว่างงานและการลดความสำคัญของภาคอุตสาหกรรม (deindustrialization) ในประเทศแม่ และ (2) บรรษัทข้ามชาติพยายามเลี่ยงการจ่ายภาษีด้วยการไปตั้งสาขาในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำหรือไม่มีการเก็บภาษี และใช้ที่นั่นเป็นที่ออกใบกำกับสินค้า
ในส่วนของประเทศผู้รับการลงทุน (host country) บทบาทของบรรษัทข้ามชาติส่งผลดีคือ (1) บรรษัทข้ามชาติช่วยถ่ายโอนเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ ทุนการเงิน และเทคนิคการบริหารจัดการไปยังประเทศที่กำลังพัฒนา (2) การเข้ามาของบรรษัทข้ามชาติช่วยให้เกิดการเติบโตของธุรกิจรายอื่นๆในประเทศผู้รับการลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจที่ป้อนวัตถุดิบแก่บรรษัทข้ามชาติ (3) การเข้ามาของบรรษัทข้ามชาติช่วยกระตุ้นให้นักธุรกิจในประเทศผู้รับการลงทุนตื่นตัวและพยายามแข่งขันกับบรรษัทข้ามชาติ และ (4) บรรษัทข้ามชาติช่วยให้สภาวะดุลการชำระเงินดีขึ้น กล่าวคือ การเข้ามาลงทุนของบรรษัทข้ามชาติทำให้ประเทศผู้รับการลงทุนนำเข้าสินค้าน้อยลงและส่งออกสินค้าได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามบรรษัทข้ามชาติได้ส่งผลในทางลบต่อประเทศผู้รับการลงทุน กล่าวคือ (1) บรรษัทข้ามชาติมักจะกู้เงินจากสถาบันการเงินของประเทศผู้รับการลงทุน ทำให้สถาบันการเงินเหล่านั้นไม่สนใจที่จะปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก ทำให้ธุรกิจพื้นเมือง (indigenous business) ไม่อาจเติบโตขึ้นได้ (2) บรรษัทข้ามชาติมักจะหวงความรู้ด้านเทคโนโลยีและไม่ถ่ายทอดสิ่งนั้นให้กับประเทศผู้รับการลงทุนอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิตจนทำให้ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานมากนัก อัตราการจ้างงานในประเทศผู้รับการลงทุนจึงไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร (3) บางครั้งบรรษัทข้ามชาติเน้นการผลิตเพื่อการส่งออกแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้สร้างสัมพันธ์กับบริษัทในท้องถิ่น ทำให้การลงทุนของบรรษัทข้ามชาติไม่เกิดผลกระทบภายนอก (spillover effect) ต่อเศรษฐกิจของประเทศผู้รับการลงทุน (4) บรรษัทข้ามชาติมักจ้างแรงงานด้วยค่าแรงราคาถูก และให้สวัสดิการแก่แรงงานอย่างไม่เพียงพอ รวมทั้งยังสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย และ (5) บรรษัทข้ามชาติต้องการเห็นเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศที่รับการลงทุนเป็นหลัก ดังนั้นจึงไม่สนใจว่าประเทศเหล่านั้นมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ มีการเคารพสิทธิมนุษยชนมากน้อยเพียงใด ในบางครั้งการเข้าไปลงทุนของบรรษัทข้ามชาติจึงเปรียบเสมือนการต่ออายุให้กับระบอบเผด็จการในประเทศเหล่านั้น
สมพงศ์ ชูมาก[4] ได้ชี้ให้เห็นว่า บางครั้งบรรษัทข้ามชาติก็มีอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าแทรกแซงอย่างเต็มที่เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาวะทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่อำนวยประโยชน์ให้แก่กิจการของตน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีของประเทศชิลีในต้นทศวรรษ 1970 ที่บริษัทไอทีที (International Telephone and Telegraph Company – ITT) ได้ร่วมมือกับสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา (Central Intelligence Agency – CIA) สนับสนุนการล้มล้างรัฐบาลชิลีของนายซัลวาดอร์ อัลเยนเด (Salvador Allende) ผู้สนับสนุนแนวคิดการโอนกิจการต่างๆมาเป็นของรัฐ (nationalization) และทำให้บริษัทไอทีทีกลัวว่าเงินลงทุนของตนในชิลีจะสูญเปล่า
[1] Leon Grunberg, “The IPE of Multinational Corporations,” in Introduction to International Political Economy, eds. David N. Balaam and Michael Veseth (Upper Saddle River, NJ: Prentice Hall, Inc., 2001), 346-368.
[2] John H. Dunning, “Toward an Eclectic Theory of International Production: Some Empirical Tests,” Journal of International Business Studies 11:1 (1st Quarter, 1980): 9-31.
[3] Grunberg, ibid.
[4] สมพงศ์ ชูมาก, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคปัจจุบัน (ทศวรรษ 1990 และแนวโน้ม) (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542), 175-178.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น