วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

นโยบายต่างประเทศจีนในยุคปฏิรูปเศรษฐกิจ



นโยบายต่างประเทศจีนในยุคปฏิรูปเศรษฐกิจ

สุรชัย ศิริไกร[1] ได้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายต่างประเทศของจีนตั้งแต่เติ้งเสี่ยวผิงเริ่มใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อ ค.ศ. 1978 ว่า จีนได้ยุติการสนับสนุนการปฏิวัติและต่อสู้ทางชนชั้นแก่พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ ทั้งนี้โดยถือว่าการปฏิวัติเป็นกิจการภายในของแต่ละประเทศ ท่าทีที่เปลี่ยนไปนี้ทำให้ประเทศต่างๆไว้วางใจและมองจีนอย่างเป็นมิตรมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประสบกับปัญหาภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ความต้องการเทคโนโลยีที่ทันสมัย การลงทุนและการกู้ยืมเงินจากสถาบันในโลกตะวันตกทำให้จีนดำเนินนโยบายสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น โดยเติ้งเสี่ยวผิงได้กำหนดผลประโยชน์ที่สำคัญของจีนเอาไว้ 3 ประการ คือ (1) การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย (2) ความพยายามรวมไต้หวันเข้ากับแผ่นดินใหญ่ และ (3) การต่อต้านลัทธิครองความเป็นเจ้าและการรักษาสันติภาพของโลก

Thomas W. Robinson[2] กล่าวว่า วิธีการของจีนในการได้มาซึ่งอำนาจแห่งชาติ (national power) ในยุคปฏิรูปเศรษฐกิจนั้นมีอยู่ 4 ประการ ได้แก่ (1) การทูต (diplomacy) ซึ่งมิได้หมายถึงเฉพาะแต่ความสามารถในการเจรจาต่อรองเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงความสามารถในการประคองรัฐนาวา (steermanship) ให้ผ่านพ้นอุปสรรคในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปได้ และยังรวมไปถึงความสามารถของผู้นำในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงอนาคตข้างหน้า (2) การพัฒนาเศรษฐกิจ (economic development) หมายถึงการปฏิรูปทางเศรษฐกิจภายในประเทศและเปิดตัวเองให้มีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับโลกภายนอก (3) นโยบายทางวัฒนธรรม (cultural policy) หมายถึงความพยายามในการฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมจีนที่สูญหายไปในช่วงของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (The Cultural Revolution ค.ศ. 1966 – 1976) ให้กลับคืนมาอีกครั้ง เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก และ (4) การทหาร (military) หมายถึงการปรับปรุงกองทัพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และในด้านหลักการทหาร (military doctrine)

งานศึกษาของ Thomas G. Moore and Dixia Yang[3] เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของจีนกับการพึ่งพากันและกันในทางเศรษฐกิจ (Economic Interdependence) ได้เสนอว่า การที่จีนในยุคปฏิรูปเศรษฐกิจเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกทำให้อิทธิพลจากโลกภายนอกสามารถเข้ามาสู่จีนได้ในช่องทางต่างๆรวม 7 ช่องทาง คือ (1) การติดต่อระหว่างบุคคลต่อบุคคล (person-to-person contacts) (2) สถาบันทางเศรษฐกิจระดับพหุภาคี (multilateral economic institutions) (3) การถ่ายโอนความคิดและปทัสถานทางเศรษฐกิจ (the transfer of economic ideas and norms) (4) แรงกดดันจากรัฐบาลประเทศต่างๆ (intergovernmental pressures) (5) บรรษัทข้ามชาติ (multinational corporations) (6) เครือข่ายการผลิตข้ามชาติ (transnational manufacturing networks) และ (7) ตลาดโลก (global markets) ถึงแม้ว่าจีนจะตกอยู่ภายใต้สภาวะดังกล่าว หากแต่ในที่สุดแล้วจีนก็ยังคงยึดมั่นในความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ (economic autonomy) และอธิปไตยทางการเมือง (political sovereignty) เป็นสำคัญ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จีนยังคงใช้มุมมองแบบสัจนิยม (realpolitik) ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศอยู่นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม Allen S. Whiting[4] ได้เตือนว่า เราไม่ควรรีบด่วนสรุปว่าจีนที่มีกำลังอำนาจของชาติที่เข้มแข็งจะกลายเป็นภัยคุกคามในอนาคต เหตุผลก็คือ (1) จีนมิได้กำหนดนโยบายต่างประเทศโดยอาศัยแต่ความตั้งใจ (intention) ของตนแต่ฝ่ายเดียว หากแต่ยังต้องพิจารณาและคาดการณ์ถึงปฏิกิริยาของตัวแสดงอื่นๆในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย เช่น สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ญี่ปุ่น อาเซียน เป็นต้น และ (2) ความสามารถทางทหารของจีนยังมีอย่างจำกัดและล้าหลังกว่าสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่มาก ข้อจำกัดด้านการเงิน ทรัพยากรมนุษย์ และวัตถุดิบจะทำให้จีนยังไม่อาจตามทันสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นในด้านเทคโนโลยีการทหารได้

เขียน ธีระวิทย์[5] ได้ให้ความเห็นว่าในยุคปฏิรูปเศรษฐกิจ นโยบายต่างประเทศของจีนมีทั้งส่วนที่เปลี่ยนแปลงและส่วนที่ไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นได้แก่ (1) ความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต/รัสเซีย จากที่เคยเป็นศัตรูกันตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ก็กลายมาเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันหลัง ค.ศ. 1985 เป็นต้นมา (2) ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา จากเดิมในทศวรรษ 1970 ที่เคยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการต่อต้านสหภาพโซเวียตเป็นหลัก กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความมั่นคงและผลประโยชน์ร่วมกันในหลายๆด้าน (3) การยกเลิกนโยบายปฏิวัติโลกให้เป็นคอมมิวนิสต์ และ (4) การยกเลิกระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง (self-sufficiency) และหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน (interdependence) กับโลกภายนอก สำหรับส่วนที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือ (1) จีนยังคงนิยมความเป็น “เจ้าพ่อ” ในความสัมพันธ์กับประเทศที่อ่อนแอกว่าจีน และ (2) การให้ความสำคัญสูงสุดในการรวมไต้หวัน นอกจากนี้เขียนยังได้สรุปไว้ในตอนท้ายด้วยว่า เมื่อถึงปลายทศวรรษ 1990 จีนมีความปลอดภัยจากภัยคุกคามภายนอก มีศักดิ์ศรีทางการเมืองระหว่างประเทศ และมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดตั้งแต่เกิดสงครามฝิ่นเมื่อ ค.ศ. 1840 เป็นต้นมา ความสำเร็จในด้านต่างๆเหล่านี้คงจะช่วยให้จีนมีเสถียรภาพดีขึ้น และจะเป็นรากฐานสำคัญในการที่จีนจะเข้าร่วมชะตากรรมกับชาวโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 21 อย่างรับผิดชอบมากขึ้น

[1] สุรชัย ศิริไกร, นโยบายต่างประเทศของจีนต่ออาเซียน (กรุงเทพฯ: โครงการจีนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2537).
[2] Thomas W. Robinson, “Chinese Foreign Policy from the 1940s to the 1990s,” in Chinese Foreign Policy: Theory and Practice, 555-602.
[3] Thomas G. Moore and Dixia Yang, “Empowered and Restrained: Chinese Foreign Policy in the Age of Economic Interdependence,” in The Making of Chinese Foreign and Security Policy in the Era of Reform, ed. David Lampton (Stanford, CA: Stanford University Press, 2001), 191-229.
[4] Allen S. Whiting, “Chinese Foreign Policy: Retrospect and Prospect.” in China and the World: Chinese Foreign Policy Faces the New Millennium, ed. Samuel S. Kim (Boulder, Colorado: Westview Press, 1998), 287-308.
[5] เขียน ธีระวิทย์, นโยบายต่างประเทศจีน (กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541).

ไม่มีความคิดเห็น: