วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ดินแดนขอบนอกของจีนกับการสร้างชาติในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ตอนที่ 1)


ดินแดนขอบนอกของจีนกับการสร้างชาติในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ตอนที่ 1)

"ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ชาวจีนทั้งหลายรวมทั้งเพื่อนร่วมชาติในไต้หวันต่างมีหน้าที่ร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในการบรรลุภารกิจอันยิ่งใหญ่เพื่อรวมแผ่นดินสู่มาตุภูมิ"
(ส่วนหนึ่งของข้อความในบทนำของรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ. 1982)




โดยพื้นฐานในทางรัฐศาสตร์ ชาติ (nation) หมายถึงประชากรกลุ่มหนึ่งที่มีสำนึกในอัตลักษณ์ของตน มีการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก้อน รวมทั้งมีทัศนคติและอุดมคติไปทางทิศทางเดียวกัน และปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งในการเสริมสร้างความเป็นชาติก็คือ การมีระบอบการปกครองที่สามารถรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ (centralized bureaucracy) เพื่อให้กิจกรรมและนโยบายต่างๆของรัฐสามารถเข้าไปถึงผู้คนทั่วอาณาเขตของรัฐได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการศึกษาสมัยใหม่ ที่นำเอาคนในชุมชนต่างๆที่เดิมอยู่ห่างไกลกันเข้ามาไว้ในห้องเรียนเดียวกัน ใช้ตำราเรียนเดียวกัน และใช้ภาษากลางหรือภาษาประจำชาติ (national language) ที่รัฐกำหนดขึ้นมาเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร ซึ่งช่วยทำให้ผู้คนที่มาจากหลักแหล่งที่หลากหลายเกิดจิตสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ

หลังจากที่โลกทัศน์แบบวัฒนธรรมนิยม (Culturalism) ดั้งเดิมของจีนเลือนหายไปพร้อมกับการคุกคามโดยจักรวรรดินิยมในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 กระบวนการสร้างความเป็นชาติของจีนจึงได้เริ่มขึ้น ดูได้จากการออกระเบียบเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาสมัยใหม่ของราชวงศ์ชิงเมื่อ ค.ศ. 1903 และ ค.ศ. 1906 การส่งเสริมให้นักเรียนร้องเพลงปลุกใจเพื่อตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิจีน การใช้ตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่สะท้อนภาพว่าชาวจีนทั้งหลายตกเป็นเหยื่อการรุกรานของมหาอำนาจต่างชาติ ภายหลังการสถาปนาสาธารณรัฐจีนเมื่อ ค.ศ. 1911 ความพยายามในการสร้างชาติยิ่งเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งในรูปของการใช้ธงแถบห้าสีเป็นธงชาติ โดยให้แต่ละสีเป็นตัวแทนของชนชาติใหญ่ทั้งห้าของจีน กล่าวคือ สีแดงคือชาวฮั่น สีเหลืองคือชาวแมนจู สีฟ้าคือชาวมองโกล สีขาวคือชาวมุสลิม และสีดำคือชาวทิเบต รวมทั้งยังมีการกำหนดเอาวันที่ 10 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะทหารในมณฑลหูเป่ยเริ่มก่อการปฏิวัติล้มราชวงศ์ชิงให้เป็นวันชาติของสาธารณรัฐจีน และเมื่อถึง ค.ศ. 1913 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดการประชุมว่าด้วยการออกเสียงภาษาจีนซึ่งนำไปสู่การกำหนดให้ภาษาจีนสำเนียงภาคเหนือเป็นภาษาประจำชาติ (国语) และสั่งให้โรงเรียนทั่วประเทศใช้ภาษาดังกล่าวในการเรียนการสอน

กระบวนการสร้างชาติของจีนยังต่อเนื่องมาถึงสมัยรัฐบาลกั๋วหมินตั่ง โดยในทศวรรษ 1920 มีการรณรงค์ให้ประชาชนโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐใส่ชุดจงซาน (中山装 ) ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าเป็นชุดที่แสดงออกถึงความเป็นจีนและความทันสมัยของประเทศ เมื่อ ดร.ซุนยัดเซ็นเสียชีวิตใน ค.ศ. 1925 รัฐบาลกั๋วหมินตั่งได้พยายามเชิดชูว่าเขาเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นเอกภาพของจีน ไม่ว่าจะเป็นการขนานนามเขาว่า “บิดาแห่งชาติ” (国父) การเคลื่อนศพ ดร.ซุนยัดเซ็นมาฝังที่สุสานในกรุงนานกิงเมื่อ ค.ศ. 1929 ถือเป็นรัฐพิธีที่รัฐบาลต้องการใช้แสดงออกถึงความเป็นชาติ มีการเชิญผู้แทนของชนทุกหมู่เหล่าเข้าร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนมณฑล กรรมกร ชาวนา พ่อค้า นักเรียน-นักศึกษา ชาวจีนโพ้นทะเล ชาวมองโกล และชาวทิเบต และในโอกาสเดียวกันนั้น รัฐบาลยังสั่งให้ท้องถิ่นต่างๆจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงบิดาแห่งชาติด้วย

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่จีนกำลังอยู่ในกระบวนการสร้างชาตินั้น ดินแดนที่อยู่บริเวณชายขอบรอบนอกของจีนกลับมีพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงที่เป็นอิสระไปจากจีน โดยมีทั้งที่เป็นอิสระจากจีนในทางพฤตินัย ได้แก่ มองโกเลีย ซินเจียง และทิเบต และที่เป็นอิสระจากจีนทั้งในทางพฤตินัยและในทางนิตินัย ซึ่งก็คือไต้หวัน และถึงแม้ว่าในท้ายที่สุดแล้วดินแดนเหล่านี้ส่วนใหญ่ (แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด) จะกลับคืนสู่การปกครองของจีนหลัง ค.ศ. 1945 หากแต่การที่ดินแดนเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างชาติของจีนในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 นั้นได้ทิ้งปมปัญหาให้กับสาธารณรัฐจีนและสาธารณรัฐประชาชนจีนในการสร้างความเป็นเอกภาพแห่งชาติเรื่อยมาตราบจนปัจจุบัน

มองโกเลีย (蒙古 )
ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 การขยายอำนาจของจักรวรรดิรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกไกลได้ทำให้ราชวงศ์ชิงเห็นความจำเป็นในการควบคุมมองโกเลียให้มั่นคงมากขึ้น โดยใน ค.ศ. 1902 ราชวงศ์ชิงได้เริ่มนโยบายส่งเสริมให้ชาวจีนอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในมองโกเลีย ขณะเดียวกันก็เริ่มส่งขุนนางจากปักกิ่งไปควบคุมการเก็บภาษีในดินแดนดังกล่าว และใน ค.ศ. 1909 ราชวงศ์ชิงยังได้สร้างทางรถไฟจากกรุงปักกิ่งไปยังเขตสุยหย่วน (绥远 ) ของมองโกเลียใน (内蒙古 ) ได้สำเร็จ ทั้งหมดนี้ทำให้มองโกเลียในถูกผนวกเข้าไปอยู่ภายใต้การบริหารแบบมณฑลของจีนในที่สุด หากแต่ในส่วนของมองโกเลียนอก (外蒙古 ) กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม ผู้นำมองโกเลียอย่างบ็อกโดข่าน (Bogdo Khan) หรือที่ชาวมองโกลเรียกกันว่า “พระพุทธเจ้าผู้ยังไม่ปรินิพพาน” (The Living Buddha) ได้หันไปผูกมิตรกับรัสเซียเพื่อคานอำนาจกับราชวงศ์ชิง ดังที่มีการส่งทูตชาวมองโกลเดินทางไปเยือนรัสเซียในกลาง ค.ศ. 1911 และเมื่อราชวงศ์ชิงล่มสลายหลังเกิดการปฏิวัติซินไฮ่ในเดือนตุลาคมของปีนั้น บ็อกโดข่านจึงได้ถือโอกาสดังกล่าวขับไล่ข้าราชการของราชวงศ์ชิงออกไปและประกาศเอกราชของมองโกเลียนอก และถึงแม้ว่าสนธิสัญญาที่จีนทำกับรัสเซียเมื่อ ค.ศ. 1913 จะยังยืนยันว่าจีนเป็นเจ้าเหนือหัว (suzerain) ของมองโกเลียนอกอยู่ หากแต่ความวุ่นวายภายในของจีนสมัยหยวนซื่อข่ายและขุนศึกทำให้จีนไม่อาจควบคุมความเป็นไปของมองโกเลียนอกได้อีกต่อไป ในที่สุดพรรคปฏิวัติของประชาชนมองโกเลีย (The Mongolian People’s Revolutionary Party – MPRP) ที่มีสหภาพโซเวียตสนับสนุนก็ได้ยึดอำนาจในมองโกเลียนอกเมื่อ ค.ศ. 1921 และสถาปนามองโกเลียนอกเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมใน ค.ศ. 1924 และต่อมาสนธิสัญญาระหว่างสาธารณรัฐจีนกับสหภาพโซเวียตเมื่อ ค.ศ. 1945 และสนธิสัญญาระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสหภาพโซเวียตเมื่อ ค.ศ. 1950 ต่างรับรองความเป็นเอกราชของมองโกเลียนอก ส่วนมองโกเลียในนั้นได้รับการสถาปนาเป็นเขตปกครองตนเอง (自治区 ) เมื่อ ค.ศ. 1947 และยังคงสถานะดังกล่าวภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีนตราบจนปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ เมื่อสาธารณรัฐจีนได้ย้ายไปตั้งรัฐบาลที่เกาะไต้หวันหลัง ค.ศ. 1949 แล้ว แผนที่ของรัฐบาลกรุงไถเป่ยที่ปรากฏในหนังสือรายปี (Republic of China Yearbook) ยังคงยืนยันว่ามองโกเลียนอกเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐจีน ขณะที่แผนที่ของรัฐบาลกรุงปักกิ่งนั้นยืนยันตลอดมาว่ามองโกเลียนอกเป็นประเทศเอกราช อย่างไรก็ตามผู้เขียนสังเกตว่า หลังจาก ค.ศ. 1999 เป็นต้นมา หนังสือรายปีของสาธารณรัฐจีนได้ยุติการตีพิมพ์แผนที่ฉบับดังกล่าว เหตุผลคงจะมาจากอัตลักษณ์ความเป็นไต้หวันที่เริ่มก่อตัวเด่นชัดขึ้นในทศวรรษ 1990 รวมทั้งการขึ้นมามีอำนาจของประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยน (陈水扁 ) แห่งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ( 民进党) เมื่อ ค.ศ. 2000 ซึ่งเขามีแนวคิดสนับสนุนเอกราชของไต้หวัน และไม่ต้องการให้ไต้หวันแบกภาระทางประวัติศาสตร์ด้วยการใช้ชื่อว่า “สาธารณรัฐจีน” (中华民国) อีกต่อไป

ซินเจียง (新疆 )
ซินเจียงเป็นอีกดินแดนหนึ่งที่รัสเซียพยายามขยายอิทธิพลเข้าไป เดิมตั้งแต่กองทัพของจักรพรรดิเฉียนหลงสามารถยึดครองซินเจียงได้ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 นั้น ราชวงศ์ชิงควบคุม ซินเจียงเฉพาะในด้านการทหาร ส่วนในด้านการบริหารแล้วราชวงศ์ชิงปกครองซินเจียงในทางอ้อม (indirect rule) ผ่านผู้นำท้องถิ่น หากแต่เมื่อจักรวรรดิรัสเซียขยายอำนาจเข้ามาในตะวันออกไกลในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ราชวงศ์ชิงจึงต้องเสริมสร้างอำนาจการปกครองของส่วนกลางเหนือ ซินเจียงให้มั่นคงขึ้น โดยใน ค.ศ. 1884 หลังจากที่ราชวงศ์ชิงสามารถปราบปรามความไม่สงบใน ซินเจียงและทำข้อตกลงเรื่องพรมแดนกับรัสเซียเรียบร้อยแล้ว ซินเจียงก็ได้รับการสถาปนาให้กลายเป็นมณฑลหนึ่งของราชวงศ์ชิง อย่างไรก็ตามความวุ่นวายภายในของจีนหลังการปฏิวัติ ค.ศ. 1911 ได้ทำให้ซินเจียงเป็นมณฑลหนึ่งของจีนในทางนิตินัยเท่านั้น ขณะที่สหภาพโซเวียตกลายเป็นประเทศที่มีอิทธิพลอย่างสูงในซินเจียงทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ การเปิดสถานกงสุลโซเวียตในซินเจียง การสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างซินเจียงกับไซบีเรีย การทำสัญญาการค้า และการลดภาษีอากรทำให้สินค้าจากซินเจียงหลั่งไหลไปยังสหภาพโซเวียดได้สะดวกขึ้น ปริมาณการค้าระหว่างซินเจียงกับโซเวียตเพิ่มขึ้นจาก 3.4 ล้านรูเบิ้ล (rouble) ใน ค.ศ. 1924 เป็น 22 ล้านรูเบิ้ลใน ค.ศ. 1927 และเมื่อรัฐบาลกั๋วหมินตั่งกำลังทำสงครามกับญี่ปุ่น บรรดาผู้นำท้องถิ่นของซินเจียงซึ่งมีสหภาพโซเวียตสนับสนุนก็ได้ประกาศสถาปนาซินเจียงเป็น “สาธารณรัฐเตอรกีสถานตะวันออก” (The Eastern Turkistan Republic) เมื่อ ค.ศ. 1944 หากแต่สาธารณรัฐดังกล่าวก็ดำรงอยู่ได้ไม่นาน รัฐบาลสาธารณรัฐจีนได้ส่งทหารเข้ามาควบคุมซินเจียงได้สำเร็จใน ค.ศ. 1946 และเมื่อถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1949 ซินเจียงก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน และใน ค.ศ. 1955 ก็ได้มีสถานะเป็นเขตปกครองตนเอง (自治区 ) ของสาธารณรัฐประชาชนจีนจนถึงปัจจุบัน

โปรดติดตามตอนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: