วิพากษ์ “การปรับตัวให้กลายเป็นจีน” ของราชวงศ์ชิง
"แมนจูซึ่งปกครองจีนได้นานถึง ๓๐๐ ปีด้วยชั้นเชิงเล่ห์เหลี่ยมที่ดีมากแล้ว ยังพยายามปรับปรุงตนเองให้เข้ากับจีนได้ด้วย แต่ก็โดยการปรับปรุงตนให้เข้ากับจีนได้จริงๆเกินไป ผลที่สุดตนเองก็เลยกลายเป็นจีนไปจริงๆ พูดภาษาจีน ใช้หนังสือจีนและขนบธรรมเนียมจีน เมื่อแมนจูยกราชบัลลังก์ให้แก่สาธารณรัฐจีนนั่น แมนจูคงเหลือแต่เสื้อกางเกงชุดเดียวที่เป็นของแมนจู นอกนั้นก็คือคนจีนดีๆนี่เอง"
(ล.เสถียรสุต)
คำถามสำคัญประการหนึ่งของผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิงก็คือ เหตุใด “อนารยชน” อย่างชาวแมนจูผู้ซึ่งในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ยังไม่มีแม้กระทั่งตัวอักษรเป็นของตนเอง สามารถสถาปนาราชวงศ์ชิงและปกครองประเทศจีนได้เป็นระยะเวลายาวนานกว่า ๒๖๗ ปี (ค.ศ. ๑๖๔๔-๑๙๑๑) คำอธิบายทั่วไปเกี่ยวกับความสำเร็จของราชวงศ์ชิงก็คือ ชนชั้นปกครองชาวแมนจูมิได้ปกครองชาวฮั่นด้วยแสนยานุภาพทางทหารแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ได้พยายามปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมชาวฮั่นจนกลายเป็นจีน (Sinicization) ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการที่ยังคงยึดแบบอย่างจากราชวงศ์หมิง การเปิดโอกาสให้ชาวฮั่นเข้ารับราชการและเลื่อนขั้นสู่ตำแหน่งระดับสูงได้ การที่ภาษาจีนยังคงเป็นภาษาที่ใช้ในงานราชการควบคู่ไปกับภาษาแมนจู การที่จักรพรรดิแมนจูยังคงปฏิบัติหน้าที่โอรสแห่งสวรรค์ด้วยการประกอบพิธีบูชาฟ้าที่หอเทียนถานตามแบบจักรพรรดิชาวฮั่น เป็นต้น ถ้าไม่นับการที่ราชวงศ์ชิงบังคับให้ชายชาวฮั่นทุกคนต้องโกนผมด้านหน้าออกและไว้เปียด้านหลังแล้ว ถือได้ว่าการเข้ามาของแมนจูนั้นส่งผลกระทบต่อระเบียบทางการเมืองและสังคมของจีนน้อยมาก ทำให้ราชวงศ์ชิงมีความยั่งยืนกว่าราชวงศ์หยวนของชาวมองโกลซึ่งปกครองจีน “บนหลังม้า” ได้เพียง ๙๒ ปีเท่านั้น (ค.ศ. ๑๒๗๖-๑๓๖๘) คำอธิบายเช่นนี้พบได้ทั่วไปในหมู่ผู้ศึกษาเรื่องจีนทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตก
อย่างไรก็ตามถ้าเราพิจารณาถึงสภาพการณ์ของราชวงศ์ชิงอย่างละเอียดแล้วจะพบว่า แนวคิดเรื่องการปรับตัวให้กลายเป็นจีน (Sinicization) ไม่อาจอธิบายความสำเร็จของราชวงศ์ชิงได้อย่างสมบูรณ์ ราชวงศ์ชิงนั้นแตกต่างไปจากราชวงศ์อื่นๆของจีนในแง่ที่ว่า ถ้าไม่นับราชวงศ์หยวนของชาวมองโกลแล้ว อาณาเขตการปกครองของราชวงศ์ชิงนับว่ากว้างใหญ่ไพศาลกว่าราชวงศ์ใดๆในประวัติศาสตร์จีน ใน ค.ศ. ๑๖๔๔ ที่กองทัพแมนจูบุกยึดกรุงปักกิ่งนั้น อำนาจการปกครองของราชวงศ์ชิงยังจำกัดอยู่เพียงตอนบนของแม่น้ำฉางเจียงเท่านั้น ตราบจนเมื่อจักรพรรดิคังซีทรงดำเนินการปราบกบฏสามเจ้าศักดินาและทำสงครามรวมเกาะไต้หวันได้สำเร็จในต้นทศวรรษ ๑๖๘๐ อำนาจการปกครองของพระองค์จึงขยายไปตลอดชายฝั่งทะเลตอนใต้และมณฑลหยุนหนาน ต่อมาเมื่อถึงทศวรรษ ๑๖๙๐ ราชวงศ์ชิงสามารถปราบพวกมองโกลเผ่าจุงการ์ (Zunghar) ได้สำเร็จ และได้เริ่มสถาปนาอำนาจการปกครองเหนือทิเบต ชิงไห่ และซินเจียงในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จีนสามารถสถาปนาอำนาจการปกครองเหนือดินแดนเหล่านี้ ราชวงศ์ชิงจึงมีลักษณะที่พิเศษไปจากราชวงศ์ก่อนๆของจีน นั่นคือการเป็นจักรวรรดิหลายชาติพันธุ์ (multiethnic empire) อันประกอบไปด้วยกลุ่มชนใหญ่ๆคือ ฮั่น แมนจู มองโกล ทิเบต และมุสลิม
การที่ราชวงศ์ชิงในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลและครอบคลุมชนหลายชาติพันธุ์นั้นนำมาซึ่งความท้าทายต่อสถาบันจักรพรรดิของจีน กล่าวคือ หลักความเชื่อของชาวจีนที่ว่าจักรพรรดิเป็นโอรสแห่งสวรรค์ (เทียนจื่อ) ผู้ได้รับอาณัติจากสวรรค์ (เทียนมิ่ง) ให้มาปกครองโลกมนุษย์นั้นไม่อาจนำไปปรับใช้ได้กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆที่มีวัฒนธรรมและคติความเชื่อเกี่ยวกับผู้นำที่แตกต่างออกไป ดังนั้นจักรพรรดิราชวงศ์ชิงจึงต้องพยายามสร้างอัตลักษณ์ (identity) ของพระองค์เองให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและคติความเชื่อของชนชาติพันธุ์นั้นๆ ตัวอย่างงานที่ศึกษาในเรื่องนี้คือหนังสือของ Evelyn S. Rawski เรื่อง The Last Emperors: A Social History of Qing Imperial Institution ด้วยเหตุนี้แนวคิดว่าด้วยการปรับตัวให้กลายเป็นจีน (Sinicization) จึงสามารถอธิบายความสำเร็จของจักรพรรดิแมนจูได้เพียงส่วนเดียวนั่นคือ ความสำเร็จในการปกครองชาวจีนฮั่น หากแต่ไม่อาจอธิบายความสำเร็จในการปกครองชนชาติพันธุ์อื่นๆที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิงได้
จักรพรรดิเฉียนหลงผู้ปกครองจีนระหว่าง ค.ศ. ๑๗๓๕-๑๗๙๕ อันเป็นช่วงที่ราชวงศ์ชิงขึ้นสู่จุดสูงสุดของอำนาจเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในการสร้างอัตลักษณ์ของพระองค์ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและคติความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ ในด้านความสัมพันธ์กับชาวมองโกล เฉียนหลงทรงพยายามแสดงพระองค์เป็นนักรบบนหลังม้า ในการเสด็จแปรพระราชฐานไปล่าสัตว์ที่เมืองเฉิงเต๋อ (Chengde) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง พระองค์มักจะเชิญผู้นำเผ่ามองโกลมาร่วมงานด้วย พระราชวังหลบร้อนเมืองเฉิงเต๋อจึงกลายเป็นสถานที่ที่จักรพรรดิและชนชั้นนำชาวแมนจูได้แสดงความสามารถทางการรบให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้นำชาวมองโกล และทำให้ชาวมองโกลซึ่งมีวัฒนธรรมยกย่องผู้มีความสามารถทางการรบนั้นยอมรับความชอบธรรมในการเป็นผู้นำของจักรพรรดิราชวงศ์ชิง ดังนั้นในสายตาของผู้นำชาวมองโกล จักรพรรดิเฉียนหลงจึงเปรียบเสมือน “ข่านผู้อยู่เหนือข่านทั้งปวง”
ส่วนความสัมพันธ์กับทิเบตนั้นราชวงศ์ชิงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยศาสนาพุทธแบบทิเบตนั้นเผยแผ่ไปถึงชาวมองโกล ดังนั้นถ้าราชวงศ์ชิงมีความสัมพันธ์อันดีกับลามะของทิเบต บรรดาลามะก็จะคอยใช้หลักการของพระพุทธศาสนาเกลี้ยกล่อมมิให้พวกมองโกลกระทำการที่ก้าวร้าวต่อราชวงศ์ชิง จักรพรรดิเฉียนหลงทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกในหลายด้าน เช่น การสร้างพระราชวังโปตาลา (Potala) องค์จำลองขึ้น ณ เมืองเฉิงเต๋อโดยเลียนแบบมาจากพระราชวังโปตาลาของทะไลลามะที่นครลาซา ทรงยกพระตำหนักยงเหอกง (Yonghegong) ในกรุงปักกิ่งอันเป็นที่ประทับเดิมของพระราชบิดาให้เป็นวัดลามะอีกด้วย ฝ่ายลามะจึงได้ตอบแทนการอุปถัมภ์ของจักรพรรดิเฉียนหลงด้วยการขนานนามพระองค์ว่า “พระโพธิสัตว์มัญชูศรี” (Manjusri) ดังปรากฏออกมาเป็นภาพวาดของพระองค์ในเครื่องแต่งกายแบบพระโพธิสัตว์องค์ดังกล่าว ดังนั้นในสายตาชาวทิเบต จักรพรรดิเฉียนหลงทรงเป็นผู้นำทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักร กล่าวคือ ทรงเป็นทั้ง “ธรรมราชา” และ “พระโพธิสัตว์”
ในสายตาของจักรพรรดิราชวงศ์ชิง การทูตมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างความจงรักภักดีที่กลุ่มชนต่างๆจะมีต่อพระองค์ หนังสือของ Rawski ได้อ้างงานของนักวิชาการจีนอย่าง Yuan Hongqi ซึ่งให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าจักรพรรดิเฉียนหลงทรงพยายามศึกษาภาษาอื่นๆเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากภาษาจีนและภาษาแมนจู โดยทรงเริ่มศึกษาภาษามองโกล ภาษาอุยกูร์ และภาษาทิเบตใน ค.ศ. ๑๗๔๓ ค.ศ. ๑๗๖๐ และ ค.ศ. ๑๗๗๖ ตามลำดับ ทำให้ทรงสามารถต้อนรับคณะทูตจากเอเชียตอนใน (Inner Asia) ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ล่ามในการแปล จักรพรรดิราชวงศ์ชิงมักใช้พระราชวังเมืองเฉิงเต๋อในการต้อนรับคณะฑูตจากดินแดนเหล่านี้แทนกรุงปักกิ่งซึ่งมีข้อจำกัดตรงที่มีการวางผังเมืองตามแบบชาวจีนฮั่นที่ค่อนข้างตายตัวมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงแล้ว ต่างจากเฉิงเต๋อ ซึ่งมีทั้งสถานที่ล่าสัตว์และวัดแบบทิเบตอันเหมาะกับการที่จักรพรรดิจะทรงแสดงความเป็นนักรบและพุทธศาสนูปถัมภกให้ชาวมองโกลและชาวทิเบตได้ประจักษ์ ทั้งหมดนี้คือวิธีการของจักรพรรดิที่จะให้กลุ่มชนต่างๆยอมรับความเป็นใหญ่ของราชวงศ์ชิง
จะเห็นได้ว่าแนวคิดเรื่องการปรับตัวให้กลายเป็นจีน (Sinicization) สามารถอธิบายได้เพียงความสำเร็จของราชวงศ์ชิงในการปกครองชาวจีนฮั่นเท่านั้น ส่วนความสำเร็จในการปกครองชนชาติพันธุ์อื่นๆมาจากการที่จักรพรรดิแมนจูสามารถหาวิธีการและสร้างอัตลักษณ์ของพระองค์ให้สอดคล้องกับพื้นฐานวัฒนธรรมของชนกลุ่มนั้นๆ การทำความเข้าใจต่อการเป็นจักรวรรดิหลายชาติพันธุ์ของราชวงศ์ชิงจึงมีความสำคัญและอาจเป็นเครื่องมือในการมองนโยบายชนชาติส่วนน้อยของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบันได้อีกด้วย เพราะทั้งสาธารณรัฐจีน (ค.ศ. ๑๙๑๒-๑๙๔๙) และสาธารณรัฐประชาชนจีน (ค.ศ. ๑๙๔๙-ปัจจุบัน) ต่างเป็นผู้รับมรดกของการเป็น “จักรวรรดิหลายชาติพันธุ์” ต่อจากจักรพรรดิราชวงศ์ชิง
"แมนจูซึ่งปกครองจีนได้นานถึง ๓๐๐ ปีด้วยชั้นเชิงเล่ห์เหลี่ยมที่ดีมากแล้ว ยังพยายามปรับปรุงตนเองให้เข้ากับจีนได้ด้วย แต่ก็โดยการปรับปรุงตนให้เข้ากับจีนได้จริงๆเกินไป ผลที่สุดตนเองก็เลยกลายเป็นจีนไปจริงๆ พูดภาษาจีน ใช้หนังสือจีนและขนบธรรมเนียมจีน เมื่อแมนจูยกราชบัลลังก์ให้แก่สาธารณรัฐจีนนั่น แมนจูคงเหลือแต่เสื้อกางเกงชุดเดียวที่เป็นของแมนจู นอกนั้นก็คือคนจีนดีๆนี่เอง"
(ล.เสถียรสุต)
คำถามสำคัญประการหนึ่งของผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิงก็คือ เหตุใด “อนารยชน” อย่างชาวแมนจูผู้ซึ่งในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ยังไม่มีแม้กระทั่งตัวอักษรเป็นของตนเอง สามารถสถาปนาราชวงศ์ชิงและปกครองประเทศจีนได้เป็นระยะเวลายาวนานกว่า ๒๖๗ ปี (ค.ศ. ๑๖๔๔-๑๙๑๑) คำอธิบายทั่วไปเกี่ยวกับความสำเร็จของราชวงศ์ชิงก็คือ ชนชั้นปกครองชาวแมนจูมิได้ปกครองชาวฮั่นด้วยแสนยานุภาพทางทหารแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ได้พยายามปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมชาวฮั่นจนกลายเป็นจีน (Sinicization) ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการที่ยังคงยึดแบบอย่างจากราชวงศ์หมิง การเปิดโอกาสให้ชาวฮั่นเข้ารับราชการและเลื่อนขั้นสู่ตำแหน่งระดับสูงได้ การที่ภาษาจีนยังคงเป็นภาษาที่ใช้ในงานราชการควบคู่ไปกับภาษาแมนจู การที่จักรพรรดิแมนจูยังคงปฏิบัติหน้าที่โอรสแห่งสวรรค์ด้วยการประกอบพิธีบูชาฟ้าที่หอเทียนถานตามแบบจักรพรรดิชาวฮั่น เป็นต้น ถ้าไม่นับการที่ราชวงศ์ชิงบังคับให้ชายชาวฮั่นทุกคนต้องโกนผมด้านหน้าออกและไว้เปียด้านหลังแล้ว ถือได้ว่าการเข้ามาของแมนจูนั้นส่งผลกระทบต่อระเบียบทางการเมืองและสังคมของจีนน้อยมาก ทำให้ราชวงศ์ชิงมีความยั่งยืนกว่าราชวงศ์หยวนของชาวมองโกลซึ่งปกครองจีน “บนหลังม้า” ได้เพียง ๙๒ ปีเท่านั้น (ค.ศ. ๑๒๗๖-๑๓๖๘) คำอธิบายเช่นนี้พบได้ทั่วไปในหมู่ผู้ศึกษาเรื่องจีนทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตก
อย่างไรก็ตามถ้าเราพิจารณาถึงสภาพการณ์ของราชวงศ์ชิงอย่างละเอียดแล้วจะพบว่า แนวคิดเรื่องการปรับตัวให้กลายเป็นจีน (Sinicization) ไม่อาจอธิบายความสำเร็จของราชวงศ์ชิงได้อย่างสมบูรณ์ ราชวงศ์ชิงนั้นแตกต่างไปจากราชวงศ์อื่นๆของจีนในแง่ที่ว่า ถ้าไม่นับราชวงศ์หยวนของชาวมองโกลแล้ว อาณาเขตการปกครองของราชวงศ์ชิงนับว่ากว้างใหญ่ไพศาลกว่าราชวงศ์ใดๆในประวัติศาสตร์จีน ใน ค.ศ. ๑๖๔๔ ที่กองทัพแมนจูบุกยึดกรุงปักกิ่งนั้น อำนาจการปกครองของราชวงศ์ชิงยังจำกัดอยู่เพียงตอนบนของแม่น้ำฉางเจียงเท่านั้น ตราบจนเมื่อจักรพรรดิคังซีทรงดำเนินการปราบกบฏสามเจ้าศักดินาและทำสงครามรวมเกาะไต้หวันได้สำเร็จในต้นทศวรรษ ๑๖๘๐ อำนาจการปกครองของพระองค์จึงขยายไปตลอดชายฝั่งทะเลตอนใต้และมณฑลหยุนหนาน ต่อมาเมื่อถึงทศวรรษ ๑๖๙๐ ราชวงศ์ชิงสามารถปราบพวกมองโกลเผ่าจุงการ์ (Zunghar) ได้สำเร็จ และได้เริ่มสถาปนาอำนาจการปกครองเหนือทิเบต ชิงไห่ และซินเจียงในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จีนสามารถสถาปนาอำนาจการปกครองเหนือดินแดนเหล่านี้ ราชวงศ์ชิงจึงมีลักษณะที่พิเศษไปจากราชวงศ์ก่อนๆของจีน นั่นคือการเป็นจักรวรรดิหลายชาติพันธุ์ (multiethnic empire) อันประกอบไปด้วยกลุ่มชนใหญ่ๆคือ ฮั่น แมนจู มองโกล ทิเบต และมุสลิม
การที่ราชวงศ์ชิงในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลและครอบคลุมชนหลายชาติพันธุ์นั้นนำมาซึ่งความท้าทายต่อสถาบันจักรพรรดิของจีน กล่าวคือ หลักความเชื่อของชาวจีนที่ว่าจักรพรรดิเป็นโอรสแห่งสวรรค์ (เทียนจื่อ) ผู้ได้รับอาณัติจากสวรรค์ (เทียนมิ่ง) ให้มาปกครองโลกมนุษย์นั้นไม่อาจนำไปปรับใช้ได้กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆที่มีวัฒนธรรมและคติความเชื่อเกี่ยวกับผู้นำที่แตกต่างออกไป ดังนั้นจักรพรรดิราชวงศ์ชิงจึงต้องพยายามสร้างอัตลักษณ์ (identity) ของพระองค์เองให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและคติความเชื่อของชนชาติพันธุ์นั้นๆ ตัวอย่างงานที่ศึกษาในเรื่องนี้คือหนังสือของ Evelyn S. Rawski เรื่อง The Last Emperors: A Social History of Qing Imperial Institution ด้วยเหตุนี้แนวคิดว่าด้วยการปรับตัวให้กลายเป็นจีน (Sinicization) จึงสามารถอธิบายความสำเร็จของจักรพรรดิแมนจูได้เพียงส่วนเดียวนั่นคือ ความสำเร็จในการปกครองชาวจีนฮั่น หากแต่ไม่อาจอธิบายความสำเร็จในการปกครองชนชาติพันธุ์อื่นๆที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิงได้
จักรพรรดิเฉียนหลงผู้ปกครองจีนระหว่าง ค.ศ. ๑๗๓๕-๑๗๙๕ อันเป็นช่วงที่ราชวงศ์ชิงขึ้นสู่จุดสูงสุดของอำนาจเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในการสร้างอัตลักษณ์ของพระองค์ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและคติความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ ในด้านความสัมพันธ์กับชาวมองโกล เฉียนหลงทรงพยายามแสดงพระองค์เป็นนักรบบนหลังม้า ในการเสด็จแปรพระราชฐานไปล่าสัตว์ที่เมืองเฉิงเต๋อ (Chengde) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง พระองค์มักจะเชิญผู้นำเผ่ามองโกลมาร่วมงานด้วย พระราชวังหลบร้อนเมืองเฉิงเต๋อจึงกลายเป็นสถานที่ที่จักรพรรดิและชนชั้นนำชาวแมนจูได้แสดงความสามารถทางการรบให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้นำชาวมองโกล และทำให้ชาวมองโกลซึ่งมีวัฒนธรรมยกย่องผู้มีความสามารถทางการรบนั้นยอมรับความชอบธรรมในการเป็นผู้นำของจักรพรรดิราชวงศ์ชิง ดังนั้นในสายตาของผู้นำชาวมองโกล จักรพรรดิเฉียนหลงจึงเปรียบเสมือน “ข่านผู้อยู่เหนือข่านทั้งปวง”
ส่วนความสัมพันธ์กับทิเบตนั้นราชวงศ์ชิงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยศาสนาพุทธแบบทิเบตนั้นเผยแผ่ไปถึงชาวมองโกล ดังนั้นถ้าราชวงศ์ชิงมีความสัมพันธ์อันดีกับลามะของทิเบต บรรดาลามะก็จะคอยใช้หลักการของพระพุทธศาสนาเกลี้ยกล่อมมิให้พวกมองโกลกระทำการที่ก้าวร้าวต่อราชวงศ์ชิง จักรพรรดิเฉียนหลงทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกในหลายด้าน เช่น การสร้างพระราชวังโปตาลา (Potala) องค์จำลองขึ้น ณ เมืองเฉิงเต๋อโดยเลียนแบบมาจากพระราชวังโปตาลาของทะไลลามะที่นครลาซา ทรงยกพระตำหนักยงเหอกง (Yonghegong) ในกรุงปักกิ่งอันเป็นที่ประทับเดิมของพระราชบิดาให้เป็นวัดลามะอีกด้วย ฝ่ายลามะจึงได้ตอบแทนการอุปถัมภ์ของจักรพรรดิเฉียนหลงด้วยการขนานนามพระองค์ว่า “พระโพธิสัตว์มัญชูศรี” (Manjusri) ดังปรากฏออกมาเป็นภาพวาดของพระองค์ในเครื่องแต่งกายแบบพระโพธิสัตว์องค์ดังกล่าว ดังนั้นในสายตาชาวทิเบต จักรพรรดิเฉียนหลงทรงเป็นผู้นำทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักร กล่าวคือ ทรงเป็นทั้ง “ธรรมราชา” และ “พระโพธิสัตว์”
ในสายตาของจักรพรรดิราชวงศ์ชิง การทูตมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างความจงรักภักดีที่กลุ่มชนต่างๆจะมีต่อพระองค์ หนังสือของ Rawski ได้อ้างงานของนักวิชาการจีนอย่าง Yuan Hongqi ซึ่งให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าจักรพรรดิเฉียนหลงทรงพยายามศึกษาภาษาอื่นๆเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากภาษาจีนและภาษาแมนจู โดยทรงเริ่มศึกษาภาษามองโกล ภาษาอุยกูร์ และภาษาทิเบตใน ค.ศ. ๑๗๔๓ ค.ศ. ๑๗๖๐ และ ค.ศ. ๑๗๗๖ ตามลำดับ ทำให้ทรงสามารถต้อนรับคณะทูตจากเอเชียตอนใน (Inner Asia) ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ล่ามในการแปล จักรพรรดิราชวงศ์ชิงมักใช้พระราชวังเมืองเฉิงเต๋อในการต้อนรับคณะฑูตจากดินแดนเหล่านี้แทนกรุงปักกิ่งซึ่งมีข้อจำกัดตรงที่มีการวางผังเมืองตามแบบชาวจีนฮั่นที่ค่อนข้างตายตัวมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงแล้ว ต่างจากเฉิงเต๋อ ซึ่งมีทั้งสถานที่ล่าสัตว์และวัดแบบทิเบตอันเหมาะกับการที่จักรพรรดิจะทรงแสดงความเป็นนักรบและพุทธศาสนูปถัมภกให้ชาวมองโกลและชาวทิเบตได้ประจักษ์ ทั้งหมดนี้คือวิธีการของจักรพรรดิที่จะให้กลุ่มชนต่างๆยอมรับความเป็นใหญ่ของราชวงศ์ชิง
จะเห็นได้ว่าแนวคิดเรื่องการปรับตัวให้กลายเป็นจีน (Sinicization) สามารถอธิบายได้เพียงความสำเร็จของราชวงศ์ชิงในการปกครองชาวจีนฮั่นเท่านั้น ส่วนความสำเร็จในการปกครองชนชาติพันธุ์อื่นๆมาจากการที่จักรพรรดิแมนจูสามารถหาวิธีการและสร้างอัตลักษณ์ของพระองค์ให้สอดคล้องกับพื้นฐานวัฒนธรรมของชนกลุ่มนั้นๆ การทำความเข้าใจต่อการเป็นจักรวรรดิหลายชาติพันธุ์ของราชวงศ์ชิงจึงมีความสำคัญและอาจเป็นเครื่องมือในการมองนโยบายชนชาติส่วนน้อยของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบันได้อีกด้วย เพราะทั้งสาธารณรัฐจีน (ค.ศ. ๑๙๑๒-๑๙๔๙) และสาธารณรัฐประชาชนจีน (ค.ศ. ๑๙๔๙-ปัจจุบัน) ต่างเป็นผู้รับมรดกของการเป็น “จักรวรรดิหลายชาติพันธุ์” ต่อจากจักรพรรดิราชวงศ์ชิง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น