วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552

หนังสือ "Prisoner of the State" หรือ "บันทึกลับจ้าวจื่อหยาง"


ชื่อหนังสือภาษาอังกฤษ : Prisoner of the State: The Secret Journal of Premier Zhao Ziyang


ชื่อหนังสือภาษาไทย : บันทึกลับจ้าวจื่อหยาง เบื้องหลังเหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมิน

บรรณาธิการภาษาไทย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล
คณะผู้แปล: สิทธิพล เครือรัฐติกาล ดวงใจ เด่นเกศินีล้ำ สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ และวิศรา ไกรวัฒนพงศ์

หาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป วันนี้ ! (พิมพ์ครั้งที่สองแล้ว)
คุณเข้าถึงเบื้องหลังของรัฐบาลที่เป็นความลับที่สุดในโลกได้บ่อยแค่ไหน? บันทึกลับจ้าวจื่อหยาง เป็นหนังสือเล่มแรกที่นำเสนอภาพที่ชัดเจนแก่ผู้อ่านเพื่อให้เห็นถึงการทำงานภายในของรัฐบาลจีนที่ยากแก่การเข้าถึง เรื่องราวของนายกรัฐมนตรีจ้าวจื่อหยาง ผู้นำความเปลี่ยนแปลงตามแนวคิดเสรีนิยมมาสู่ประเทศ และในช่วงความตึงเครียดสูงสุดของการประท้วง เขาเป็นผู้พยายามหยุดยั้งการสังหารหมู่ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินใน ค.ศ. 1989 ซึ่งความพยายามดังกล่าวนั้นเองเป็นเหตุที่ทำให้เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา

ในขณะที่กองทัพจีนเคลื่อนเข้ามาสังหารนักศึกษาและผู้เดินขบวนนับร้อยคน จ้าวถูกจับไปกักบริเวณไว้ในบ้านของเขาเอง ในซอยที่เงียบสงบแห่งหนึ่งของกรุงปักกิ่ง ผู้เป็นความหวังในการนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่จีนถูกปลดจากตำแหน่งไปพร้อมๆกับนโยบายของเขา นายกรัฐมนตรีผู้นี้ใช้เวลา 16 ปีสุดท้ายจนกระทั่งเสียชีวิตใน ค.ศ. 2005 ด้วยสภาพที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก รายละเอียดในบางช่วงของชีวิต เช่น การไปออกไปตีกอล์ฟ รูปถ่ายใบหน้าในวัยชราของเขา รวมถึงจดหมายที่เขาเขียนถึงผู้นำจีนบางคนถูกเผยแพร่ออกมาบ้าง นักวิชาการด้านจีนศึกษามักรู้สึกเสียดายที่จ้าวไม่เคยมีโอกาสได้กล่าวคำพูดสุดท้ายของเขาเลย

แต่สิ่งที่ปรากฏขึ้นในเวลาต่อมาก็คือ จ้าวได้ทำบันทึกความทรงจำอย่างลับที่สุด เขาได้บันทึกเทปอย่างเป็นระบบเพื่อรวบรวมความคิด และเรื่องราวจากความทรงจำของเขาต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหลังเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงเวลาที่สำคัญสุดในยุคสมัยใหม่ของจีน เทปที่เขาทำขึ้นถูกลักลอบนำออกนอกประเทศและได้ก่อร่างเป็นหนังสือเล่มนี้ ในบันทึกดังกล่าว จ้าวให้รายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับการปราบปรามที่เทียนอันเหมิน เขาเล่าถึงแผนการและการทรยศหักหลังที่ผู้นำระดับสูงบางคนของจีนใช้เพื่อชิงความได้เปรียบเหนือผู้อื่น และจ้าวยังกล่าวถึงความจำเป็นของจีนที่ต้องรับเอาระบอบประชาธิปไตยเข้ามาเพื่อความสำเร็จในการสร้างเสถียรภาพระยะยาว

ประเทศจีนที่จ้าวพูดถึงไม่ใช่ประเทศจีนในยุคราชวงศ์ที่ล่มสลายไปนานแล้ว แต่เป็นประเทศจีนในปัจจุบัน ที่ซึ่งผู้นำยอมรับเศรษฐกิจแบบเสรี แต่ยังคงต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

หากไม่มีเหล่าผู้นำหัวแข็งในช่วงเหตุการณ์เทียนอันเหมิน และหากจ้าวยังมีชีวิตอยู่ เขาอาจเป็นผู้ชี้นำระบบการเมืองของจีนให้ไปสู่ระบบที่เปิดกว้างและรับฟังต่อความเห็นที่แตกต่างได้มากขึ้น

จ้าวซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีอำนาจเหนือจัตุรัสเทียนอันเหมิน ได้เรียกร้องอย่างชัดเจนให้พรรคผ่อนปรนการควบคุมและให้เสรีภาพแก่ประชาชนบ้าง แม้ว่าในขณะนี้เขาไม่ได้มีชีวิตอยู่แล้ว แต่เสียงที่ผ่านบันทึกความทรงจำของเขานี้ก็ยังสามารถกระตุ้นความรู้สึกและมีความน่าสนใจ น้ำเสียงของจ้าวยังคงมีพลังทางศีลธรรมที่จะปลุกจีนให้ลุกขึ้นมารับฟัง

ไม่มีความคิดเห็น: