วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เจิ้งเหอในความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน




เจิ้งเหอในความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน

สาธารณรัฐประชาชนจีนมีจุดยืนที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และการรวมไต้หวันถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะต้องทำให้สำเร็จ ตลอดระยะเวลากว่าหกทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ที่มีต่อไต้หวันอยู่หลายครั้ง จากเดิมในทศวรรษ 1950 ถึง 1970 ที่ใช้ “ไม้แข็ง” โดยเน้นการใช้กำลังเพื่อ “ปลดปล่อย” ไต้หวันออกจากจักรวรรดินิยมอเมริกัน มาเป็นการใช้ “ไม้อ่อน” ในทศวรรษ 1980 ด้วยการยื่นข้อเสนอเรื่อง “การรวมกันอย่างสันติ” (和平统一) และ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” (一国两制) และมาถึงทศวรรษ 1990 ที่จีนหันมาใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งสลับกันไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์ (ดู Wachman, 2008, pp. 1-15)


หลังจากที่หูจิ่นเทาขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อ ค.ศ. 2002 จีนก็ได้ดำเนินยุทธศาสตร์ใหม่ต่อไต้หวัน ที่เรียกว่า “ทำสิ่งที่แข็งให้แข็งมากขึ้น ทำสิ่งที่อ่อนให้อ่อนมากขึ้น” (硬的更硬,软得更软) เห็นได้จากใน ค.ศ. 2005 จีนได้ออกกฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกดินแดน (Anti-Secession Law) เพื่อให้อำนาจแก่รัฐบาลจีนในการใช้กำลังถ้าไต้หวันประกาศเอกราช ขณะเดียวกันก็เสนอจะมอบแพนด้าสันถวไมตรีให้แก่ไต้หวัน[1] และในปีเดียวกันก็ตรงกับการจัดงานฉลองครบรอบ 600 ปี การเดินเรือของเจิ้งเหอ จีนจึงได้นำเอาเจิ้งเหอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวันด้วย ดังคำแถลงของสำนักงานสารนิเทศแห่งคณะมุขมนตรีว่า หนึ่งในวัตถุประสงค์ของการจัดงานดังกล่าวก็เพื่อ “ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางวิชาการและวัฒนธรรมข้ามช่องแคบ กระชับความสัมพันธ์ในหมู่ชนชาติจีน และส่งเสริมภารกิจในการรวมมาตุภูมิอันยิ่งใหญ่” (เจิ้งเหอเซี่ยซีหยางลิ่วไป่โจวเหนียนซี่เลี่ยจี้เนี่ยนหัวต้งฉิงคว่าง, 7 กรกฎาคม 2004)


เหตุการณ์สำคัญครั้งประวัติศาสตร์ในความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบใน ค.ศ. 2005 ก็คือ การเดินทางมาเยือนแผ่นดินใหญ่ของผู้นำพรรคฝ่ายค้านของไต้หวัน ได้แก่ เหลียนจ้าน (连战) ผู้นำพรรคกั๋วหมินตั่ง และซ่งฉู่อวี๋ (宋楚瑜) ผู้นำพรรคชินหมินตั่ง (亲民党) เมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคมตามลำดับ เนื่องจากเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี ที่ผู้นำระดับสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคกั๋วหมินตั่งซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกันได้มาพบปะกัน[2] โดยในโอกาสนี้ หูจิ่นเทาในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้มอบ “รัตนนาวาเจิ้งเหอ” (郑和七宝宝船) ซึ่งประกอบไปด้วยอัญมณี 7 ชนิด ให้เป็นของขวัญแก่ผู้นำพรรคทั้งสองของไต้หวัน เรือจำลองลำดังกล่าวออกแบบและสร้างขึ้นภายใต้การควบคุมดูแลของบุคคลระดับสูงและนักวิชาการของจีน โดยมีเฉียวสือ (乔石) อดีตกรรมการประจำของกรมการเมือง และอดีตประธานสภาผู้แทนประชาชน เป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศาสตราจารย์ฉางเหวินกวง (常文光) ซึ่งเป็นผู้วางแผนทั่วไปในการจัดสร้างเรือได้ระบุว่า การมาเยือนแผ่นดินใหญ่ของเหลียนจ้านในครั้งนี้มีเนื้อหาสาระเฉกเช่นการเดินเรือของเจิ้งเหอเมื่อ 600 ปีที่แล้ว นั่นคือ เป็นการเดินเรือเพื่อแสวงหาสันติภาพ (Hu Jintao presented Lian Zhan with Zheng He Seven-Gem Ship, 2005, April 30) สอดคล้องกับหนังสือพิมพ์ เศรษฐกิจรายวัน (经济日报) ในสังกัดคณะมุขมนตรีซึ่งรายงานว่า รัตนนาวาลำดังกล่าวไม่ใช่ของขวัญธรรมดา หากแต่ยังมีความหมายต่อการสร้างสันติภาพอีกด้วย เพราะชื่อของเจิ้งเหอนั้นพ้องเสียงกับคำว่า “เจิ้งเหอ” (正和) ซึ่งหมายถึง การแก้ไขปัญหาข้อพิพาท หรือการลดความตึงเครียด ชื่อของเจิ้งเหอจึงเป็นเสมือนสัญญาณบ่งบอกว่า ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น (Zheng He Seven-Gem Ship is not just a gift, 2005, May 30)

[1] อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยน (陈水扁) จากพรรคหมินจิ้นตั่ง (民进党) ของไต้หวัน ได้ปฏิเสธที่จะรับข้อเสนอดังกล่าว จนกระทั่งเมื่อหม่าอิงจิ่ว (马英九) จากพรรคกั๋วหมินตั่งได้เป็นประธานาธิบดีใน ค.ศ. 2008 ไต้หวันจึงยอมรับข้อเสนอจากจีน โดยจีนได้ส่งมอบแพนด้า 2 ตัว นามว่า “ถวนถวน” (团团) และ “หยวนหยวน” (圆圆) ให้แก่ไต้หวันในเดือนธันวาคมของปีนั้น
[2] การพบปะครั้งสุดท้ายระหว่างผู้นำระดับสูงสุดของทั้งสองพรรคก็คือ การประชุมร่วมกันระหว่างเหมาเจ๋อตงกับเจียงไคเช็ค (蒋介石) ณ เมืองฉงชิ่ง เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1945 เพื่อหาทางยุติสงครามกลางเมือง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ



เอกสารอ้างอิง

Hu Jintao presented Lian Zhan with Zheng He Seven-Gem Ship symbolizing a long and peaceful voyage rich in significance. (2005, April 30). Ta Kung Pao. Retrieved March 31, 2009, from http://www.qkwh.com/english/zhbc/zhbc07.htm.

Wachman, Alan M. (2008). Why Taiwan? Geostrategic Rationales for China’s Territorial Integrity. Singapore: NUS Press.

Zheng He Seven-Gem Ship is not just a gift. (2005, May 30). Economic Daily. Retrieved March 31, 2009, from http://www.qkwh.com/english/zhbc/zhbc07.htm.

ไม่มีความคิดเห็น: