วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปักกิ่งปะทะฮาวานา: ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาช่วง ค.ศ. 1964 – 1995 (ตอนที่ 13 การกระชับความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างจีนกับคิวบาเมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น)


            หลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคระหว่างจีนกับคิวบาผ่านไปไม่กี่เดือน การชุมนุมประท้วงเพื่อท้าทายอำนาจการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินก็เริ่มขึ้นจนรัฐบาลจีนใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1989 ส่งผลให้หลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปตะวันตกประณามว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย เหตุการณ์นี้สั่นคลอนความมั่นคงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรมใน ค.ศ. 1976 และยังเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับที่ระบอบสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียตกำลังล่มสลาย เติ้งเสี่ยวผิงจึงมองว่าทั้งหมดเป็นแผนการของสหรัฐฯ ในการบ่อนทำลายระบอบสังคมนิยมโดยไม่ทำสงครามโดยตรง หรือที่เรียกว่า “การแปรเปลี่ยนอย่างสันติ” (peaceful evolution)”[1] ดังที่เขากล่าวกับจูลิอุส คัมบาราจ นายเรเร (Julius Kambarage Nyerere) อดีตประธานาธิบดีของแทนซาเนียซึ่งเดินทางมาเยือนจีนเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 ความว่า

 

ประเทศโลกตะวันตกกำลังก่อสงครามโลกครั้งที่สามโดยไม่มีควันปืน หมายความว่าพวกเขาต้องการให้ประเทศสังคมนิยมแปรเปลี่ยนไปเป็นทุนนิยมอย่างสันติ เหตุการณ์ในยุโรปตะวันออกไม่ใช่เรื่องที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของเรา ... ประเทศโลกตะวันตกก็มีทัศนะต่อจีนเช่นเดียวกับที่มีต่อยุโรปตะวันออก พวกเขาไม่ชอบที่จีนยึดมั่นในลัทธิสังคมนิยม ความวุ่นวายของจีนในปีนี้จะต้องเกิดขึ้นแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว[2]  

 

            การล่มสลายของระบอบสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียตช่วง ค.ศ. 1989 – 1991 ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของคิวบาเช่นเดียวกัน จอร์จ บุช (George Bush) ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นเชื่อมั่นว่าระบอบสังคมนิยมในคิวบาก็กำลังจะพังทลายลงตามกัน และไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่สหรัฐฯ จะต้องเจรจาลดความตึงเครียดกับคิวบาเหมือนที่เคยพยายามทำมาแล้วในสมัยประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) ช่วงปลายทศวรรษ 1970 ทั้งนี้ระหว่างการให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ 1990 เจมส์ เบเกอร์ (James Baker) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่รุกรานคิวบา  และในกลางปีถัดมา เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ก็ออกมาแสดงความเห็นในที่สาธารณะว่า รัฐบาลอเมริกันควรเตรียมแผนสำหรับ “การแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรมหากเกิดความไม่สงบในคิวบา ต่อมาใน ค.ศ. 1992 สหรัฐฯ ได้ออก รัฐบัญญัติประชาธิปไตยของคิวบา (Cuban Democracy Act) ซึ่งห้ามบริษัทลูกของสหรัฐฯ ในต่างประเทศค้าขายกับคิวบา และเรือสินค้าที่เข้าจอดในคิวบาแล้วจะต้องเว้นระยะ 6 เดือนจึงเข้าจอดในสหรัฐฯ ได้ และให้ทำเช่นนี้ไปจนกว่าคิวบาจะมีพัฒนาการด้านประชาธิปไตยและมีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี[3]

                             เจียงเจ๋อหมินเดินทางเยือนคิวบาใน ค.ศ. 1993



            ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ จีนกับคิวบาในปลายทศวรรษ 1980 ต่อต้นทศวรรษ 1990 จึงกลายเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อปกป้องระบอบสังคมนิยมและการต่อต้านการแทรกแซงทางการเมืองจากต่างชาติ โดยในระหว่างการเยือนกรุงฮาวานาของเฉียนฉีเชินเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1989 หรือไม่กี่วันหลังจากที่ทางการจีนใช้กำลังจัดการความไม่สงบในกรณีเทียนอันเหมิน ฟิเดล คาสโตรบอกกับเฉียนฉีเชินว่าคิวบาสนับสนุนการกระทำของจีน และเอกภาพของจีนถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากจีนตกอยู่ในสภาวะอนาธิปไตยอย่างที่ประเทศโลกตะวันตกคาดหวังแล้วก็จะกลายเป็นโศกนาฏกรรมของโลก[4] ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1993 จีนตอบแทนการสนับสนุนของฟิเดล คาสโตรด้วยการเยือนคิวบาของเจียงเจ๋อหมิน ซึ่งนับเป็นประเทศแรกที่เขาเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการนับจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และเป็นประธานาธิบดีคนแรกของจีนที่เดินทางเยือนคิวบาอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นบุคคลระดับประมุขแห่งรัฐคนเดียวที่เดินทางเยือนคิวบาในปีนั้น ฟิเดล คาสโตรจึงให้ความสำคัญกับการมาเยือนของผู้นำจีนในครั้งนี้เป็นพิเศษด้วยการให้ประชาชนหลายหมื่นคนออกมายืนต้อนรับสองข้างทางจากสนามบินไปยังโรงแรมที่พัก ทั้งๆ คิวบาที่ได้เลิกการปฏิบัติเช่นนี้ไปแล้วเมื่อหมดยุคของสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ เขายังได้มอบอิสริยาภรณ์แห่งรัฐชั้นสูงสุดของคิวบาแก่เจียงเจ๋อหมิน และฝากความระลึกถึงไปยังเติ้งเสี่ยวผิงอีกด้วย[5]

ในระหว่างการสนทนากับฟิเดล คาสโตร เจียงเจ๋อหมินให้ความเชื่อมั่นกับผู้นำคิวบาถึงหนทางข้างหน้าที่สดใสของลัทธิสังคมนิยม โดยให้เหตุผลว่า (1) ยังคงมีหลายประเทศในโลกที่ยังยึดมั่นในลัทธิดังกล่าว โดยเฉพาะจีนซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรโลก (2) ในช่วงสงครามเย็น จีนไม่ได้แข่งขันด้านการทหารกับสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจีนจึงไม่ตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่แบบสหภาพโซเวียต (3) ประสบการณ์ของประชาชนจีนหลายรุ่นได้พิสูจน์แล้วว่ามีแต่ลัทธิสังคมนิยมเท่านั้นที่จะรักษาประเทศจีนไว้ได้ และ (4) ลัทธิสังคมนิยมมีอายุน้อยกว่าลัทธิทุนนิยมหลายร้อยปีและอยู่ในระหว่างการพัฒนาซึ่งมีการสะดุดบ้าง จึงไม่ควรด่วนสรุปได้ว่าลัทธิสังคมนิยมนั้นไม่มีอนาคต[6] ซึ่งเมื่อฟิเดล คาสโตรได้ฟังแล้วก็บอกว่า การคงอยู่ของลัทธิสังคมนิยมในจีนถือเป็นแรงบันดาลใจอย่างที่สุดแก่คิวบา[7] นอกจากนี้ เจียงเจ๋อหมินยังได้วิจารณ์ความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะแทรกแซงระบอบการปกครองของประเทศอื่นด้วยว่า

 

ประเทศโลกตะวันตกบางประเทศชอบนำเอาค่านิยมเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน รวมทั้งรูปแบบการปกครองของตนมาบังคับใช้กับประเทศอื่นๆ ข้าพเจ้าคิดว่าโลกนี้มีความหลากหลาย ลักษณะสังคมของแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน ประเทศไหนจะเดินเส้นทางไหนนั้นขึ้นอยู่กับการเลือกของแต่ละประเทศโดยพิจารณาอย่างรอบด้านทั้งจากประวัติศาสตร์ ประเพณี ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ และระดับการศึกษา พวกเราพิจารณาจากสภาพของประเทศจีนแล้วจึงได้เลือกเส้นทางของลัทธิสังคมนิยม ประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนไม่ใช่สิ่งสัมบูรณ์ แต่เป็นสิ่งสัมพัทธ์[8]

 

            การเยือนคิวบาของผู้นำจีนครั้งสำคัญต่อจากเจียงเจ๋อหมินก็คือ การเยือนของหลี่เผิง นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1995 ทั้งนี้แม้เขาเพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจการเยือนเม็กซิโกและแวะมาพบฟิเดล คาสโตร ณ สนามบินกรุงฮาวานาเป็นเวลาเพียงชั่วโมงเศษเท่านั้น แต่การมาเยือนของเขาก็มีความสำคัญเพราะเป็นผู้แทนของเจียงเจ๋อหมินในการเชิญฟิเดล คาสโตรให้ไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ[9] ในที่สุดฟิเดล คาสโตรก็เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในวันที่ 29 พฤศจิกายนของปีนั้น ถือการเยือนจีนของบุคคลระดับประธานาธิบดีของคิวบาครั้งแรกในรอบ 34 ปีนับจากออสวัลโด ดอร์ติคอส ทอร์เรโดเมื่อ ค.ศ. 1961 เจียงเจ๋อหมินขอบคุณคิวบาที่มีจุดยืนสนับสนุนจีนในปัญหาไต้หวัน ทิเบต และสิทธิมนุษยชน และจีนก็ขอสนับสนุนอย่างไม่เปลี่ยนแปลงในการต่อสู้ของรัฐบาลและประชาชนคิวบาเพื่อพิทักษ์อธิปไตยและต่อต้านการแทรกแซงจากต่างชาติ[10] ขณะที่ฟิเดล คาสโตรก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนโดยกล่าวย้อนไปถึงคุณูปการที่คนเชื้อสายจีนมีต่อการต่อสู้เพื่อเอกราชของคิวบา รวมทั้งชื่นชมการต่อสู้ของชาวจีนในการต่อต้านการแทรกแซงจากต่างชาติมานานนับศตวรรษ และแสดงความเชื่อมั่นว่าจีนจะประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นยักษ์ใหญ่ที่ผงาดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 21[11]

การเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการของฟิเดล คาสโตรใน ค.ศ. 1995 ถือเป็นสัญลักษณ์ของการปิดฉากความขัดแย้งระหว่างจีนกับคิวบาที่เริ่มต้นตั้งแต่ยุคของเหมาเจ๋อตงในกลางทศวรรษ 1960 มาจนถึงยุคของเติ้งเสี่ยวผิงในทศวรรษ 1980 สิ่งที่ฝ่ายจีนทำได้ตามคำร้องขอของฝ่ายคิวบาก็คือการวางกำหนดการให้ฟิเดล คาสโตรไปวางพวงมาลาที่หอรำลึกถึงเหมาเจ๋อตง ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งไม่ใช่กำหนดการปกติที่ผู้นำต่างชาติที่มาเยือนจีนทุกคนจะต้องปฏิบัติ[12] อันแสดงให้เห็นว่าฟิเดล คาสโตรต้องการแสดงความเคารพต่อเหมาเจ๋อตงและยุติความบาดหมางในอดีต  สำหรับเติ้งเสี่ยวผิงนั้นแม้จะยังมีชีวิตอยู่ แต่ฝ่ายจีนก็อธิบายให้ฝ่ายคิวบาเข้าใจว่าผู้นำอาวุโสคนนี้อยู่ในสภาพที่ไม่อาจต้อนรับแขกได้อีกแล้ว[13] อย่างไรก็ตาม เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1997 ฟิเดล คาสโตรก็ยกย่องว่าเขาคือผู้สร้างความเข้มแข็งให้กับลัทธิสังคมนิยมในจีน[14]

 

---------------------------------------------

[1] คำว่า “การแปรเปลี่ยนอย่างสันติ” เป็นคำที่จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส (John Foster Dulles) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1950 ใช้เพื่อเสนอแนวคิดว่าประเทศโลกตะวันตกควรหาช่องทางเข้าไปมีอิทธิพลต่อความคิดของเยาวชนในโลกสังคมนิยมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศเหล่านั้น ทั้งนี้ใน ค.ศ. 1989 พรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดการรณรงค์เพื่อต่อต้านการแปรเปลี่ยนอย่างสันติโดยมีจุดเน้น 3 ด้าน ได้แก่ (1) การให้พรรคมีบทบาทชี้นำในกิจการทุกด้าน (2) การประณามประเทศโลกตะวันตกที่ต้องการบ่อนทำลายระบอบสังคมนิยมของจีน และ (3) การวิจารณ์ว่าปัญหาทางการเมืองและสังคมของจีนเกิดจากการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบอาศัยกลไกตลาด ซึ่งเติ้งเสี่ยวผิงเห็นด้วยเฉพาะการรณรงค์ด้านที่ 1 และ 2 เท่านั้น และเมื่อถึง ค.ศ. 1990 เขาได้ใช้อิทธิพลของตนเองยุติการรณรงค์ด้านที่ 3 ลงไป ดูรายละเอียดใน Wei-Wei Zhang, Ideology and Economic Reform under Deng Xiaoping, 1978-1993 (London: Kegan Paul International, 1996), 175-183.
[2] Deng Xiaoping, Selected Works of Deng Xiaoping Volume III (1982-1992), available from https://dengxiaopingworks.wordpress.com/2013/03/18/we-must-adhere-to-socialism-and-prevent-peaceful-evolution-towards-capitalism/; accessed 31 March 2017.
[3] Gillian Gunn, Cuba in Transition: Options for U.S. Policy (New York: Twentieth Century Fund Press, 1993), 18-21.
[4] เฉียนฉีเชิน, เรื่องเดียวกัน,169.
[5] สวีอี้ชง, เรื่องเดียวกัน, 86-88, 95-96.
[6] เจียงเจ๋อหมิน, เจียงเจ๋อหมินเหวินเสวี่ยน ตี้อีเจวี้ยน (สรรนิพนธ์เจียงเจ๋อหมิน เล่ม 1) (เป่ยจิง: เหรินหมินชูป่านเส้อ, 2006), 336-337.
[7] สวีอี้ชง, เรื่องเดียวกัน, 90.
[8] เจียงเจ๋อหมิน, เรื่องเดียวกัน, 338.
[9] หลี่เผิง, เรื่องเดียวกัน.
[10] เฉินจิ่วฉาง, เรื่องเดียวกัน, 298.
[11] “Further Reportage on Castro’s Visit to China, December 6, 1995” in Castro Speech Database http://lanic.utexas.edu/project/castro/db/1995/19951206.html; accessed 1 April 2017.
[12] สวีอี้ชง, เรื่องเดียวกัน, 243-244.
[13] เพิ่งอ้าง, 244.
[14] William Ratliff and Roger Fontaine, A Strategic Flip-flop on the Caribbean: Lift the Embargo on Cuba (Stanford, CA: Hoover Institution on War, Revolution and Peace, 2000), 54.

ไม่มีความคิดเห็น: