วันพุธที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปักกิ่งปะทะฮาวานา: ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาช่วง ค.ศ. 1964 – 1995 (ตอนที่ 12 การฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคระหว่างจีนกับคิวบาใน ค.ศ. 1988)


บรรยากาศของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาในช่วง ค.ศ. 1982 - 1983 มีเค้าลางว่าดีขึ้นเนื่องจากทั้งคู่มีจุดยืนตรงกันใน 3 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของลาตินอเมริกา ประเด็นแรกคือปัญหาหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ในมหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งสหราชอาณาจักรฯ ยึดครองมาตั้งแต่ ค.ศ. 1840 จนกระทั่งในเดือนเมษายน ค.ศ. 1982 อาร์เจนตินาก็ส่งทหารเข้ายึดครองหมู่เกาะแห่งนี้ ฟิเดล คาสโตรซึ่งมองว่าเรื่องนี้เป็นมรดกจากลัทธิอาณานิคมได้ยื่นข้อเสนอให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่อาร์เจนตินา และยังใช้สถานะประธานขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในขณะนั้นระดมเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอีกด้วย[1]  ขณะที่จีนก็ไม่ประณามอาร์เจนตินา โดยเมื่อสหราชอาณาจักรฯ เสนอร่างมติต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1982 อันมีเนื้อหาเรียกร้องให้อาร์เจนตินาถอนทหารออกจากหมู่เกาะดังกล่าวในทันที จีนก็ใช้สิทธิ์งดออกเสียง โดยระบุว่าไม่อาจสนันสนุนร่างมติดังกล่าวได้เนื่องจากคำนึงถึงจุดยืนของขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด[2]

ประเด็นที่สองซึ่งจีนและคิวบามีจุดยืนสอดคล้องกันคือ ปัญหานิการากัว ซึ่งตั้งแต่ ค.ศ. 1979 ตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลซานดินิสตา (Sandinista) ซึ่งเป็นฝ่ายซ้าย ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่พอใจและใน ค.ศ. 1982 ได้เริ่มให้การสนับสนุนกองกำลังต่อต้านซานดินิสตาที่ชื่อว่า คอนทรา (Contra) ทำให้ฟิเดล คาสโตรซึ่งสนับสนุนรัฐบาลซานดินิสตาได้ออกมาประณามสหรัฐฯ[3] เช่นเดียวกับผู้แทนของจีนที่กล่าวในการประชุมด่วนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่าด้วยปัญหานิการากัวในช่วงวันที่ 23-29 มีนาคม ค.ศ. 1983 ว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากการแทรกแซงของอภิมหาอำนาจชาติหนึ่ง และขอเรียกร้องให้อภิมหาอำนาจดังกล่าวยุติการแทรกแซงและเคารพอำนาจอธิปไตยของนิการากัว[4]

อีกประเด็นหนึ่งที่ทั้งจีนและคิวบาต่างเห็นพ้องต้องกันคือ ปัญหาเกรนาดา ซึ่งเกิดรัฐประหารซ้อนกัน 2 ครั้งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1983 ทำให้สหรัฐอเมริกาตัดสินใจส่งทหารเข้าแทรกแซงเมื่อวันที่ 23 ตุลาคมของปีนั้นโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสวัสดิภาพของประชาชนอเมริกันราว 600 คนที่อาศัยในเกรนาดา ทั้งนี้ฟิเดล คาสโตรออกมาประณามสหรัฐฯ และตัดสินใจไม่อพยพเจ้าหน้าที่ของคิวบาในเกรนาดากลับประเทศ โดยให้เหตุผลว่าการอพยพหนีจะทำให้เกียรติภูมิของคิวบาเสื่อมเสีย[5] ขณะที่จีนก็ประณามและเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากเกรนาดาในทันทีโดยระบุว่าควรให้ชาวเกรนาดาเป็นผู้ตัดสินใจแก้ปัญหาภายในประเทศของตนเอง[6]

                เฉียนฉีเชินสนทนากับฟิเดล คาสโตรใน ค.ศ. 1989


นอกจากปัญหาในลาตินอเมริกาที่กล่าวมาข้างต้นจะทำให้จีนกับคิวบามีจุดยืนร่วมกันแล้ว ทั้งจีนและคิวบาต่างมีความจำเป็นของตนเองที่จะต้องปรับปรุงความสัมพันธ์กับอีกฝ่าย เพราะใน ค.ศ. 1982 จีนประกาศใช้ “นโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ (independent foreign policy)” ซึ่งหนึ่งในจุดเน้นของนโยบายดังกล่าวคือการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ[7] หูเย่าปังระบุในรายงานต่อสมัชชาพรรคในปีนั้นว่า จีนสนับสนุนความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South cooperation) หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา อันจะนำไปสู่การเกิดระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ (new international economic order) ที่ยุติธรรมยิ่งขึ้น[8] ซึ่ง He Li ตั้งข้อสังเกตว่า หากจีนต้องการขยายความร่วมมือในลักษณะดังกล่าว การปรับปรุงความสัมพันธ์กับผู้นำที่มีอิทธิพลในขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างฟิเดล คาสโตรก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง[9] ขณะที่คิวบาในต้นทศวรรษ 1980 ก็เริ่มประสบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอันเนื่องจากประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหภาพโซเวียตขายน้ำมันแก่คิวบาในราคาที่สูงขึ้น แต่ซื้อน้ำตาลจากคิวบาในราคาที่ถูกลง ตัวเลขการขาดดุลการค้าระหว่างคิวบากับสหภาพโซเวียตและประเทศกลุ่มโคเมคอนเพิ่มสูงขึ้นจาก 196 ล้านเปโซใน ค.ศ. 1979 เป็น 833 ล้านเปโซใน ค.ศ. 1980 และเพิ่มเป็น 1,023 ล้านเปโซใน ค.ศ. 1981[10] ทั้งนี้สหภาพโซเวียตแก้ปัญหาด้วยการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่คิวบาเพื่อชดเชยการขาดดุลการค้า แต่ก็มีผลทำให้คิวบามีภาระหนี้มากยิ่งขึ้น[11] คิวบาจึงจำเป็นต้องขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงการค้ากับประเทศที่เป็นตลาดใหญ่อย่างจีนที่ใน ค.ศ. 1980 ยังคงคิดเป็นเพียงร้อยละ 2.6 ของการค้าที่คิวบาทำกับต่างประเทศทั้งหมด[12]

            ด้วยเหตุที่คิวบามีความจำเป็นเร่งด่วนในการแสวงหาลู่ทางขยายการค้ากับประเทศนอกกลุ่มโคเมคอนนี้เอง การปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาจึงเกิดขึ้นโดยที่คิวบาเป็นฝ่ายเริ่มก่อน โดยในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1983 ริคาร์โด คาบริซาส (Ricardo Cabrisas) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศของคิวบาเดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง ซึ่งถือเป็นการเยือนระดับรัฐมนตรีครั้งแรกในรอบ 18 ปี นับจากการเยือนของเช เกวาราเมื่อต้น ค.ศ. 1965 และยังเป็นการเยือนในช่วงเวลาเดียวกันกับที่เลโอนิด อิลยิเชฟ (Leonid Illychev) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพโซเวียตเดินทางมาเจรจาปรับปรุงความสัมพันธ์กับจีน ต่อมาในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1984 จูฉี่เจิน (Zhu Qizhen) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้เดินทางเยือนคิวบา โดยโฆษกกระทรวงดังกล่าวระบุว่าเป็นการเดินทางไปเยี่ยมสถานทูตจีนในกรุงฮาวานาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ของคิวบา[13] และในเดือนพฤษภาคมของปีถัดมา เปเลกริน ทอร์ราส (Pelegrin Torras) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของคิวบาก็เดินทางเยือนหลายเมืองของจีน ทั้งกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หนานจิง กว่างโจว และเซินเจิ้น

            แม้ว่าในกลางทศวรรษ 1980 จะมีการทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับคิวบา แต่จีนก็ไม่อาจทำตามคำร้องขอของคิวบาในประเด็นทางเศรษฐกิจได้ทั้งหมด ดังเช่นในระหว่างที่เจิงเทา กรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนเดินทางเยือนคิวบาเมื่อวันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 1986 เขาได้ปฏิเสธคำร้องขอของคาร์ลอส ราฟาเอล โรดริเกซ รองนายกรัฐมนตรีของคิวบาที่เสนอให้จีนซื้อน้ำตาลจากคิวบาในราคาอุดหนุน (subsidized price) เฉกเช่นที่ประเทศกลุ่มโคเมคอนปฏิบัติกับคิวบา[14] อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงผู้นำของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1985 มาเป็นมิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ซึ่งมีนโยบายลดการสนับสนุนทางการทหารและเศรษฐกิจแก่บรรดาประเทศพันธมิตรทั้งหลายก็ทำให้คิวบาไม่มีทางเลือกอื่นนอกเสียจากต้องเดินหน้าปรับปรุงความสัมพันธ์กับจีนต่อไป และแม้ว่าสุนทรพจน์ของฟิเดล คาสโตรในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาครั้งที่ 3 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1986 จะยังคงตำหนิเรื่องที่จีนใช้กำลังกับเวียดนาม[15] แต่พอถึงวันที่ 25 กันยายนของปีเดียวกัน โรดริเกซก็บอกกับหวังจิ้น (Wang Jin) เอกอัครรัฐทูตจีนประจำกรุงฮาวานาว่า ปัญหาเวียดนามไม่ใช่อุปสรรคในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคิวบากับจีนอีกต่อไปแล้ว[16] และต่อมาในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสครั้งที่ 26 เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1987 ผู้แทนของคิวบาได้พบกับเหยียนหมิงฟู่ (Yan Mingfu) เลขานุการประจำสำนักเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเสนอขอฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคกับจีน[17]

อย่างไรก็ตาม จีนมิได้ตอบรับและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับพรรคกับคิวบาทันทีในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1987 บันทึกของหลี่เป๋ยไห่ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวงวิเทศสัมพันธ์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนระบุว่าต้องรอจนถึงวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1988 ทบวงจึงส่งเขาเดินทางไปคิวบาเพื่อเจรจาฟื้นฟูความสัมพันธ์[18] แม้ว่าบันทึกดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงสาเหตุที่จีนทิ้งช่วงระยะเวลานานถึง 7 เดือน แต่ก็มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าจีนต้องการให้มีความคืบหน้าอย่างสำคัญในการเจรจาปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตเสียก่อนที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับพรรคกับคิวบา ทั้งนี้เงื่อนไขที่จีนยื่นต่อสหภาพโซเวียตมาตั้งแต่ ค.ศ. 1982 ก็คือ สหภาพโซเวียตจะต้องขจัด “อุปสรรคสำคัญสามประการ (Three Obstacles)” อันได้แก่ การถอนทหารออกจากชายแดนจีน-โซเวียตและมองโกเลีย การถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน และการบีบให้เวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชา ซึ่งเมื่อถึงสิ้น ค.ศ. 1987 อุปสรรคสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้ก็คือกัมพูชา โดยในวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1988 โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงว่าเติ้งเสี่ยวผิงจะยอมพบปะกับกอร์บาชอฟต่อเมื่อเวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชาแล้วเท่านั้น[19]

โอกาสที่ทำให้จีนยินยอมฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับพรรคกับคิวบานั้นมาถึงในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1988 เมื่อเวียดนามประกาศว่าจะถอนทหารออกจากกัมพูชาทั้งหมดภายในต้น ค.ศ. 1990 ทำให้ในเดือนถัดมา หลี่เป๋ยไห่จึงเดินทางไปยังกรุงฮาวานาเพื่อเจรจาฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับพรรคกับคิวบา และในที่สุดเมื่อกลางเดือนกันยายน ค.ศ. 1988 หรือเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่การเจรจาระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตรอบสุดท้ายประสบความสำเร็จ ผู้แทนของทบวงวิเทศสัมพันธ์ของพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาก็เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในฐานะแขกของทบวงวิเทศสัมพันธ์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงเท่ากับฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับพรรคต่อพรรคอย่างเป็นทางการ ตามด้วยการเยือนจีนของอิสิโดโร มัลเมียร์กา (Isidoro Malmierca) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของคิวบาในเดือนมกราคม ค.ศ. 1989 จากนั้นเฉียนฉีเชิน (Qian Qichen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนก็เดินทางเยือนคิวบาเป็นการตอบแทนในเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน ต่อมาใน ค.ศ. 1992 บทความของหยางไป่ปิง รองอธิบดีกรมลาตินอเมริกาแห่งทบวงวิเทศสัมพันธ์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เขียนขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งทบวงดังกล่าวก็ระบุว่า การที่จีนเคยตราหน้าฟิเดล คาสโตรว่าเป็นลัทธิแก้และเป็นลูกสมุนของสหภาพโซเวียตนั้นเป็นเรื่องที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง[20]

 

----------------------------------------------------

[1] Domínguez, ibid., 237.
[2] Beijing Review, 12 April 1982, 12.
[3] “Castro FAR Day Speech Criticizes U.S. Policy, December 11, 1982” in Castro Speech Database http://lanic.utexas.edu/project/castro/db/1982/19821211.html; accessed 26 March 2017.
[4] Beijing Review, 25 April 1983, 13-14.
[5] “Press Conference on Grenada, October 26, 1983” in Castro Speech Database http://lanic.utexas.edu/project/castro/db/1983/19831026.html; accessed 27 March 2017.
[6] Beijing Review, 7 November 1983, 9-10.
[7] Sanqiang Jian, Foreign Policy Restructuring as Adaptive Behavior: China’s Independent Foreign Policy 1982-1989 (New York: University Press of America, Inc, 1996), 219.
[8] Beijing Review, 13 September 1982, 32.
[9] He Li, ibid., 1991, 64. 
[10] Domínguez, ibid., 94-95.
[11] Ibid., 88-89.
[12] Carmelo Mesa-Lago, “The Economic Effects on Cuba of the Down fall of Socialism in the USSR and Eastern Europe,” in Cuba After the Cold War, ed. Carmelo Mesa-Lago (Pittsburgh, PA: University of Pittsburgh Press, 1993), 139.
[13] “Peking Tries an End Run and Woos Soviet Allies,” The New York Times, 5 August 1984, available from www.nytimes.com, accessed 6 December 2016.  
[14] ผังปิ่งอัน, เรื่องเดียวกัน, 57.
[15] Fernandez, ibid., 21.
[16] ผังปิ่งอัน, เรื่องเดียวกัน, 57.
[17] หวังเจียรุ่ย, เรื่องเดียวกัน, 137.
[18] หลี่เป๋ยไห่, เรื่องเดียวกัน.
[19] Home News Library of the Xinhua News Agency, China’s Foreign Relations: A Chronology of Events (1949-1988) (Beijing: Foreign Languages Press, 1989), 479.
[20] หยางไป่ปิง, เรื่องเดียวกัน, 183-184.

ไม่มีความคิดเห็น: