วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือในยุคสงครามเย็น (ตอนที่ 1)


           แม้ว่าการก่อตั้งประเทศเกาหลีเหนือภายใต้การนำของของคิมอิลซุงจะเป็นผลงานของสหภาพโซเวียตที่เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หากแต่คิมอิลซุงก็มีความผูกพันกับประเทศจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่ไม่น้อย เขาเกิดเมื่อ ค.ศ. 1912 และได้รับการศึกษาในวัยเด็กจากโรงเรียนจีนในแมนจูเรียจนพูดภาษาจีนได้คล่องแคล่วและสื่อสารกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ สมาชิกพรรคที่ชักนำให้เขารู้จักลัทธิมากซ์ในทศวรรษ 1930 ก็คือ เว่ยเจิ่งหมิน (Wei Zhengmin) ซึ่งใน ค.ศ. 1935 เป็นประธานคณะกรรมการการเมืองของกองทัพต่อต้านญี่ปุ่นแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (The Political Committee of the Northeast Anti-Japanese United Army)[1] คิมอิลซุงทำงานในกองทัพดังกล่าวช่วง ค.ศ. 1932 - 1941 แล้วจึงหนีการปราบปรามของญี่ปุ่นไปอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกไกลของสหภาพโซเวียตก่อนจะกลับมาเป็นผู้นำพรรคกรรมกรเกาหลี (The Korean Workers’ Party) เมื่อญี่ปุ่นปราชัยใน ค.ศ. 1945

            ในสงครามกลางเมืองของจีนช่วง ค.ศ. 1946 – 1949 คิมอิลซุงได้ให้การสนับสนุนทางการทหารแก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีแรกของสงครามที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนเป็นฝ่ายเสียเปรียบกองทัพกั๋วหมินตั่ง คาดกันว่าในต้น ค.ศ. 1947 มีทหารเกาหลีจำนวนราว 75,000 – 100,000 คนเข้าไปช่วยพรรคคอมมิวนิสต์จีนจนกลายเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของกองพลที่ 156, 164 และ 165 ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน และพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังใช้พื้นที่ตอนบนของคาบสมุทรเกาหลีเป็นที่พักของทหารและแหล่งธัญญาหารบำรุงกองทัพอีกด้วย[2] จนเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนกลายเป็นฝ่ายรุก ทหารเกาหลีส่วนใหญ่จึงทยอยเดินทางกลับประเทศ แต่ก็มีบางส่วนที่ยังช่วยรบจนกระทั่งสมรภูมิสุดท้ายทางทิศใต้คือการบุกยึดเกาะไห่หนาน (Hainan) หรือไหหลำในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1950[3]  และเมื่อมีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 เกาหลีเหนือก็เป็นประเทศลำดับที่ 5 ที่ประกาศรับรองรัฐบาลจีนใหม่ถัดจากสหภาพโซเวียต บัลแกเรีย โรมาเนีย และฮังการีในวันที่ 6 ตุลาคมของปีนั้นเอง และในอีก 1 ปีถัดมาจีนก็ต้องเข้าร่วมสงครามครั้งใหญ่ที่สุดในยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน นั่นคือสงครามเกาหลี

 


                                        คิมอิลซุงกับเหมาเจ๋อตงบนประตูเทียนอันเหมิน
 
 
จีนกับการเข้าร่วมสงครามเกาหลี

            หลังจากที่มีการแบ่งเกาหลีเป็น 2 ส่วนหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 คิมอิลซุง ผู้นำของเกาหลีเหนือมีความมุ่งมั่นตลอดมาที่จะรวมประเทศด้วยการใช้กำลัง ประเด็นที่ว่าจีนมีส่วนสนับสนุนให้เกาหลีเหนือบุกเกาหลีใต้ในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1950 หรือไม่นั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ งานศึกษาของ Chen Jian เสนอว่าในโลกทัศน์ของเหมาเจ๋อตง การเผชิญหน้ากับโลกทุนนิยมที่นำโดยสหรัฐอเมริกาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งยังจะเป็นประโยชน์ต่อการปลุกระดมมวลชนให้มีจิตสำนึกของการปฏิวัติตลอดกาลอีกด้วย จีนในต้นยุคสงครามเย็นจึงดำเนินนโยบาย “เอียงเข้าข้างหนึ่ง” (lean to one side) โดยลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1950 และในช่วงกลาง ค.ศ. 1949 ถึงต้น ค.ศ. 1950 จีนได้อนุญาตให้ทหารเกาหลีเหนือที่มาช่วยรบในสงครามกลางเมืองจีนจำนวนราว 50,000 คนเดินทางกลับประเทศได้ ซึ่งต่อมาทหารเหล่านี้ส่วนหนึ่งกลายเป็นกองพลที่ 5 แห่งกองทัพประชาชนเกาหลีที่ตั้งมั่นอยู่ใกล้เส้นขนานที่ 38 จึงเท่ากับว่าจีนมีส่วนสนับสนุนให้เกิดสงครามครั้งนี้[4] ตรงข้ามกับนักวิชาการหลายคนที่มองว่าการส่งทหารกลับไปในครั้งนั้นเป็นเพราะพวกเขาเสร็จสิ้นภารกิจในสงครามกลางเมืองแล้ว และควรกลับไปยังเกาหลีเหนือเพื่อป้องกันการรุกรานจากเกาหลีใต้ที่อาจเกิดขึ้นได้ อีกทั้งเป้าหมายหลักทางการทหารของเหมาเจ๋อตงช่วง ค.ศ. 1949 – 1950 ก็คือการบุกยึดเกาะไต้หวัน เหมาจึงไม่สนับสนุนการบุกเกาหลีใต้เพราะเกรงจะเป็นการเปิดศึก 2 ด้าน[5] จนกระทั่งในเดือนเมษายน ค.ศ. 1950 เมื่อคิมอิลซุงได้รับความเห็นชอบจากโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) นายกรัฐมนตรีแห่งสหภาพโซเวียตให้บุกเกาหลีใต้ได้ เหมาในฐานะผู้น้อยที่ไม่อาจขัดสตาลินได้จึงจำต้องเห็นชอบ[6]

            ไม่ว่าจีนจะมีส่วนสนับสนุนให้เกาหลีเหนือก่อสงครามหรือไม่ หากแต่ปฏิกิริยาของสหรัฐอเมริกาหลังจากที่เกาหลีใต้ถูกโจมตีนั้นสร้างความกังวลใจแก่เหมาเจ๋อตงเป็นอย่างยิ่ง ประธานาธิบดีแฮรี เอส ทรูแมน (Harry S. Truman) แห่งสหรัฐฯ ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1950 ให้กองเรือที่ 7 เคลื่อนไปยังช่องแคบไต้หวันเพื่อคุ้มครองรัฐบาลกั๋วหมินตั่ง จึงเท่ากับเป็นการขัดขวางแผนการบุกไต้หวันของเหมา ต่อมาในวันที่ 15 กันยายนของปีเดียวกัน กองทัพสหประชาชาตินำโดยพลเอกดักลาส แมกอาเธอร์ (Douglas McArthur) แห่งสหรัฐฯ ได้ยกพลขึ้นบกที่เมืองอินชอน (Inchon) และเมื่อถึงสิ้นเดือนนั้นก็สามารถขับไล่ทหารเกาหลีเหนือกลับขึ้นไปจนข้ามเส้นขนานที่ 38 ยึดกรุงเปียงยางของเกาหลีเหนือ และมุ่งหน้าทิศเหนือสู่แม่น้ำยาลู่ (Yalu) ที่ติดกับพรมแดนของจีน คิมอิลซุงได้เรียกทูตจีนประจำเกาหลีเหนือเข้าพบเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมของปีนั้นเพื่อขอให้จีนส่งทหารมาช่วย เขายังส่งปักอิลยู (Pak Il U) เดินทางมากรุงปักกิ่งเพื่อยื่นจดหมายที่เขาเขียนด้วยลายมือตนเองอีกด้วย เหมาเจ๋อตงเรียกประชุมกรรมการกรมการเมืองอย่างเร่งด่วนในวันที่ 4 ตุลาคมเพื่อขอมติส่งทหารไปช่วยเกาหลี แต่กรรมการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่า (1) สาธารณรัฐประชาชนจีนเพิ่งก่อตั้งและมีปัญหาภายในที่ต้องชำระสะสางอีกมาก (2) ทหารจีนไม่คุ้นเคยกับสภาพพื้นที่ของคาบสมุทรเกาหลี และ (3) อาวุธของจีนไม่ทันสมัยเท่าสหรัฐฯ ซึ่งเหมาได้โต้แย้งเหตุผลเหล่านี้โดยระบุว่า (1) การช่วยเกาหลีเหนือเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องการปฏิวัติโลก (2) หากสูญเสียเกาหลีเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนจะไม่มีเขตกันชนอีกต่อไป และ (3) แม้อาวุธของจีนจะไม่ทันสมัยเท่าสหรัฐฯ แต่จีนก็ได้เปรียบกว่าในแง่กำลังคน ขวัญกำลังใจ และแรงสนับสนุนจากคนในประเทศ[7] ในที่สุดจอมพลเผิงเต๋อหวย (Peng Dehuai) ซึ่งเป็นหนึ่งในเสียงข้างน้อยที่สนับสนุนการส่งทหารไปช่วยเกาหลีเหนือ[8] ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารและนำกองทัพข้ามแม่น้ำยาลู่ไปช่วยเกาหลีเหนือเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1950

            การเข้าร่วมสงครามเกาหลีของทหารจีนจำนวน 1,350,000 คนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เกาหลีเหนือยึดกรุงเปียงยางคืนมาได้และขับไล่กองทัพสหประชาชาติลงไปที่เส้นขนานที่ 38 ได้สำเร็จในเดือนมกราคม ค.ศ. 1951 อย่างไรก็ตาม จุดยืนที่แตกต่างกันระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือก็ปรากฏขึ้นในระหว่างสงครามเมื่อเหมาเจ๋อตงเห็นว่าเป็นการยากที่จะขับไล่กองทัพสหประชาชาติออกไปจากคาบสมุทรเกาหลีได้ทั้งหมด และการที่จีนสามารถขับไล่กองทัพสหประชาชาติลงไปที่เส้นขนานที่ 38 ได้สำเร็จก็นับว่าเป็นชัยชนะแล้ว หากแต่คิมอิลซุงผู้ก่อสงครามนั้นถือว่าชัยชนะสำหรับเขาจะต้องหมายถึงการรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น แต่เนื่องจากคิมมีกำลังทหารน้อยกว่าจึงต้องยอมตามที่เหมาต้องการ[9] โดยในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1953 มีการทำข้อตกลงสงบศึกระหว่างกองทัพจีนและกองทัพเกาหลีเหนือฝ่ายหนึ่งกับกองทัพสหประชาชาติอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเท่ากับว่าเกาหลียังคงแบ่งเป็นเหนือกับใต้ตามเดิม เพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนเล็กน้อยเท่านั้น

            ความล้มเหลวในการใช้กำลังรวมประเทศของคิมอิลซุงทำให้กลุ่มของโชชางอิก (Choe Chang Ik) ลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจของเขาในพรรค กลุ่มดังกล่าวมีชื่อเรียกว่ากลุ่มเอี๋ยนอัน (The Yan’an Group) เนื่องจากสมาชิกในกลุ่มจำนวนมากเคยทำงานร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ยังตั้งมั่นอยู่ที่เมืองเอี๋ยนอันในมณฑลส่านซี พวกเขาจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำของจีนมากกว่าที่คิมอิลซุงมี แต่แล้วความเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ใน ค.ศ. 1956 ก็ล้มเหลวและมีสมาชิกบางส่วนลี้ภัยไปยังจีน เหมาเจ๋อตงจึงส่งจอมพลเผิงเต๋อหวยและจอมพลเนี่ยหรงเจิน (Nie Rongzhen) เดินทางไปเกาหลีเหนือเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1957 เพื่อเจรจาขอให้คิมอิลซุงรับผู้ลี้ภัยเหล่านี้กลับเป็นสมาชิกพรรคตามเดิม ซึ่งก็สำเร็จเพียงชั่วเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะการแทรกแซงจากจีนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเอี๋ยนอันรวมถึงการที่จีนยังคงทหารเกือบ 500,000 คนเอาไว้ในเกาหลีเหนือหลังสงครามเกาหลีทำให้คิมอิลซุงเกรงว่าจีนอาจเป็นปัจจัยที่บั่นทอนอำนาจทางการเมืองของเขา ดังนั้นในปลายปีนั้นเองเขาได้ทำการกวาดล้างกลุ่มเอี๋ยนอันอีกครั้งและเรียกร้องให้จีนเคารพอำนาจอธิปไตยของเกาหลีเหนือด้วยการถอนทหารออกไป จีนจึงยอมถอนทหารทั้งหมดใน ค.ศ. 1958[10] เหตุการณ์นี้ทำให้สถานะความเป็นผู้นำของคิมอิลซุงนั้นโดดเด่นและดูเป็นอิสระจากจีนมากยิ่งขึ้น

            อย่างไรก็ตาม ทหารจีนที่คงอยู่ในเกาหลีเหนือจนถึง ค.ศ. 1958 มีบทบาทสำคัญในการเป็นแรงงานช่วยฟื้นฟูบูรณะเกาหลีเหนือหลังสงคราม และจีนยังให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกาหลีเหนืออีกด้วย เมื่อคิมอิลซุงเดินทางไปเยือนจีนในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1953 จีนได้ตกลงให้เงินกู้เป็นจำนวน 800,000,000 หยวน และเงินช่วยเหลือที่จีนให้แก่เกาหลีเหนือใน ค.ศ. 1954 คิดเป็นร้อยละ 3.4 ของงบประมาณของจีนในปีนั้น[11] ต่อมาใน ค.ศ. 1958 จีนยังให้เงินกู้แก่เกาหลีเหนืออีก 25,000,000 เหรียญสหรัฐ และช่วยสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำอึนบอง (Unbong) 400,000 กิโลวัตต์บนแม่น้ำยาลู่อีกด้วย[12] ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีความขัดแย้งกันในช่วงระหว่างสงครามและหลังสงคราม หากแต่โดยรวมแล้วจีนยังต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับเกาหลีเหนือเอาไว้ และการรักษาความสัมพันธ์ดังกล่าวจะจำเป็นยิ่งขึ้นเมื่อจีนกับสหภาพโซเวียตกลายเป็นศัตรูกันในทศวรรษ 1960  


-------------------------------------------
                [1] Dae-Sook Suh, Kim Il Sung: The North Korean Leader (New York, NY: Columbia University Press, 1988), 8.
                [2] Bruce Cumings, Korea’s Place in the Sun: A Modern History (New York, NY: W.W. Norton & Company, 1997), 238-243; Chen Jian, “Limits of the ‘Lips and Teeth’ Alliance: An Historical Review of Chinese-North Korean Relations,” Asia Program Special Report, no. 115 (September 2003): 4. 
                [3] Cumings, ibid., 242.
                [4] Chen Jian, “China’s Road to the Korean War: A Critical Study of the Origins of Sino-American Confrontation, 1949-1950,” (Ph.D. diss., Southern Ilinois University at Carbondale, 1990), passim; Chen Jian, Mao’s China and the Cold War (Chapel Hill, NC: University of North Carolina Press, 2001), 49-84; Chen, “Limits of the ‘Lips and Teeth’ Alliance,” 5.
                        [5] Sergei N. Goncharov, John W. Lewis, and Xue Litai, Uncertain Partners: Stalin, Mao, and the Korean War (Stanford, CA: Stanford University Press, 1993), 130-167; เสิ่นจื้อหัว, “จงซูถงเหมิง เฉาเสี่ยนจ้านเจิงอวี่เหลิ่งจ้านไจ้ย่าโจวเตอะซิงฉี่,” (พันธมิตรจีน-โซเวียต สงครามเกาหลีกับการเกิดขึ้นของสงครามเย็นในเอเชีย) ใน เหลิ่งจ้านสือชีเตอะจงกั๋วตุ้ยว่ายกวานซี่, (วิเทศสัมพันธ์ของจีนยุคสงครามเย็น) บก. หยางขุยซง (เป่ยจิง: เป่ยจิงต้าเสวียชูป่านเส้อ, 2006), 30-53.
                [6] Niu Jun, “The birth of the People’s Republic of China and the road to the Korean War,” in The Cambridge History of the Cold War, Volume I, Origins, ed. Melvyn P. Leffler and Odd Arne Westad (New York, NY: Cambridge University Press, 2011), 237-238.  
                        [7] เนี่ยหรงเจิน, เนี่ยหรงเจินหุยอี้ลู่ (บันทึกความทรงจำของเนี่ยหรงเจิน) (เป่ยจิง: เจี่ยฟ่างจวินชูป่านเส้อ, 1986), 737 อ้างถึงใน Chen, “China’s Road to the Korean War,” 198-199.
                [8] Peng Dehuai, Memoirs of a Chinese Marshal – The autobiographical notes of Peng Dehuai (1898-1974), trans. Zheng Longpu (Beijing: Foreign Languages Press, 1984), 472-474.
                [9] Chen, Mao’s China and the Cold War, 97-98.  
                [10] Chen, “Limits of the ‘Lips and Teeth’ Alliance,” 6.
                [11] Zhihua Shen and Yafeng Xia, “China and the Post-War Reconstruction of North Korea, 1953-1961,” North Korea International Working Papers Series, no. 4 (May 2012): 6-7, available from http://www.wilsoncenter.org/nkidp, accessed 30 June 2013. 
                [12] Choon Heum Choi, “The Two Superpowers in China’s Alliance Policy toward North Korea, 1969-1989,” (Ph.D. diss., University of Connecticut, 1990), 32.

ไม่มีความคิดเห็น: