วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือในยุคสงครามเย็น (ตอนที่ 2)


ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต สนธิสัญญาพันธมิตรและการแก้ไขปัญหาพรมแดนระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ


ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหภาพโซเวียตกับจีนที่เริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1950 ได้ตกต่ำลงในปลายทศวรรษเดียวกันและกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงหลัง ค.ศ. 1960 สาเหตุสำคัญมาจากการที่เหมาเจ๋อตงพยายามยกสถานะของตนเองขึ้นเป็นผู้นำโลกคอมมิวนิสต์แทนที่โจเซฟ สตาลิน นายกรัฐมนตรีแห่งสหภาพโซเวียตซึ่งถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อ ค.ศ. 1953 อีกทั้งเหมายังได้ดำเนินนโยบายบางประการที่ทำให้สหภาพโซเวียตเกรงว่าอาจทำให้โลกสังคมนิยมต้องเผชิญหน้าทางทหารกับสหรัฐอเมริกา เช่น การยิงถล่มเกาะจินเหมิน (Jinmen) และหมาจู่ (Mazu) ของไต้หวันเมื่อ ค.ศ. 1958 เพื่อปลุกกระแสมวลชนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด (The Great Leap Forward) เป็นต้น[1] ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่สหภาพโซเวียตเคยให้กับจีนก็ลดลงและหมดไปอย่างสิ้นเชิงใน ค.ศ. 1960 จีนประณามนิกิตา ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) นายกรัฐมนตรีแห่งสหภาพโซเวียตว่าเป็นพวกลัทธิแก้ (revisionism) ที่ต้องการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization) และมุ่งเน้นนโยบายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (peaceful coexistence) กับโลกทุนนิยมโดยมิได้ยึดมั่นในลัทธิมากซ์-เลนินอย่างแท้จริง[2]  นอกจากนี้ ปัญหาพรมแดนยิ่งทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้น แม้ว่าจะมีการเจรจาเรื่องพรมแดนที่กรุงปักกิ่งใน ค.ศ. 1964 แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

ความขัดแย้งที่กล่าวมาข้างต้นทำให้จีนพยายามแสวงหาเสียงสนับสนุนในหมู่ประเทศสังคมนิยมซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเกาหลีเหนือ แม้ว่าในช่วงแรกคิมอิลซุงจะมิได้ประกาศตัวว่าเข้าข้างจีนอย่างชัดเจนแบบเอนเวอร์ โฮซา (Enver Hoxha) ผู้นำของแอลเบเนีย หากแต่การที่เขาพยายามสร้างลัทธิบูชาบุคคล (cult of personality) ในเกาหลีเหนือ รวมทั้งการที่เกาหลีใต้ยังคงเป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐอเมริกาทำให้เขาไม่เห็นด้วยกับการล้มล้างอิทธิพลสตาลินและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของครุสชอฟ[3] และเมื่อคิมเดินทางเยือนจีนในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1958 เหมาเจ๋อตงก็ได้จัดการให้เขาได้พบกับโจวเป่าจง (Zhou Baozhong) และหลี่เหยียนลู่ (Li Yanlu) นายทหารแห่งกองทัพต่อต้านญี่ปุ่นแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่คิมเคยเป็นสมาชิกมาก่อน ซึ่งเท่ากับเป็นการเตือนให้คิมระลึกถึงความสัมพันธ์ที่มีกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมายาวนาน[4]

ขณะเดียวกัน นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาและการเมืองของเกาหลีใต้ในต้นทศวรรษ 1960 ได้สร้างความกังวลใจแก่เกาหลีเหนือจนต้องแสวงหาหลักประกันด้านความมั่นคงเพิ่มเติม กล่าวคือ สหรัฐฯ ได้กระชับความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นด้วยการทำสนธิสัญญาความมั่นคงฉบับใหม่เพื่อต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1960 และต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. 1961 สหรัฐฯ ยังพยายามบุกอ่าวหมู (Bay of Pigs) เพื่อล้มล้างการปกครองของฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) แห่งคิวบาแต่ไม่สำเร็จ และในเดือนพฤษภาคมของปีเดียวกันก็เกิดรัฐประหารของนายพลปักจุงฮี (Park Chung Hee) ที่นำเกาหลีใต้เข้าสู่ระบอบเผด็จการทหารและการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1961 คิมอิลซุงจึงเดินทางเยือนกรุงมอสโกและกรุงปักกิ่ง โดยลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตในวันที่ 6 กรกฎาคม และกับจีนในวันที่ 11 กรกฎาคม แม้ว่าสนธิสัญญาทั้ง 2 ฉบับจะตั้งอยู่บนหลักความมั่นคงร่วมกัน (collective security) ซึ่งหมายถึงฝ่ายหนึ่งจะเข้าช่วยอีกฝ่ายหนึ่งหากถูกโจมตีจากฝ่ายที่ 3 แต่เมื่อพิจารณาจากเนื้อความในสนธิสัญญาแล้วจะพบว่าจีนให้หลักประกันด้านความมั่นคงแก่เกาหลีเหนือเป็นพิเศษกว่าสหภาพโซเวียต เพราะสนธิสัญญากับสหภาพโซเวียตจะต้องต่ออายุทุก 5 ปี และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิ์บอกเลิกได้โดยแจ้งล่วงหน้า 1 ปี แต่สนธิสัญญากับจีนไม่มีวันหมดอายุ และการแก้ไขหรือบอกเลิกจะต้องได้รับความยินยอมจากทั้ง 2 ฝ่าย[5] สนธิสัญญานี้จึงเป็นการสกัดกั้นอิทธิพลของทั้งสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต อีกทั้งยังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

            นอกจากนี้ จีนยังได้ประนีประนอมกับเกาหลีเหนือในเรื่องข้อพิพาทพรมแดนอีกด้วย โดยเฉพาะบริเวณภูเขาแปกตูซาน (Paektusan) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาฉางไป๋ซาน (Changbaishan) ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรเกาหลีติดกับมณฑลจี๋หลินของจีน ภูเขาดังกล่าวสูง 2,744 เมตร และเป็นที่ตั้งของทะเลสาบเทียนฉือ (Tianchi) หรือชงจี (Chongji) ซึ่งเป็นทะเลสาบปากปล่องภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดและสูงที่สุดในโลก[6] ภูเขาดังกล่าวเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญ 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำยาลู่หรือแม่น้ำอัมนอก (Amnok) ซึ่งไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้สู่ทะเลเหลือง และแม่น้ำถูเหมิน (Tumen) ซึ่งไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือสู่ทะเลญี่ปุ่น ซึ่งทั้งจีนและเกาหลีต่างยอมรับว่าแม่น้ำทั้ง 2 สายเป็นแนวพรมแดนระหว่าง 2 ฝ่ายมาตั้งแต่ ค.ศ. 1712[7] แต่เมื่อเกาหลีกลายเป็นรัฐอารักขา (protectorate) ของญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1905 ก็ได้มีการทำข้อตกลงเรื่องพรมแดนกับจีนอย่างเป็นกิจจะลักษณะอีกครั้ง โดยสนธิสัญญาเจียนเต่า (The Jiandao Treaty) หรือสนธิสัญญากันโด (The Gando Treaty) ที่จีนกับญี่ปุ่นลงนามกันในเดือนกันยายน ค.ศ. 1909 ระบุว่าภูเขาแปกตูซานและทะเลสาบเทียนฉืออยู่ในเขตแดนของจีนทั้งหมด[8] ซึ่งนักชาตินิยมเกาหลีจำนวนมากไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าสนธิสัญญาฉบับนี้ไม่ได้ทำขึ้นโดยความสมัครใจของชาวเกาหลี อีกทั้งภูเขาแปกตูซานยังเป็นสถานที่เกิดของแทนกุน (Tangun) ซึ่งตามตำนานถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดอาณาจักรโชซอนโบราณเมื่อ 2,333 ปีก่อน ค.ศ. จึงถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชนชาติเกาหลี[9] และต่อมาทางการเกาหลีเหนือก็เพิ่มความหมายให้กับภูเขาดังกล่าวในฐานะ “ภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ของการปฏิวัติเกาหลี” เพราะเป็นฐานที่มั่นของคิมอิลซุงในการทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่นและเป็นสถานที่เกิด “อย่างเป็นทางการ” ของคิมจองอิล ผู้นำรุ่นที่ 2[10]     

                ภาพวาดคิมอิลซุงและคิมจองอิลยืนบนภูเขาแปกตูซาน ชายแดนจีน-เกาหลีเหนือ
                                                    ด้านหลังเป็นทะเลสาบเทียนฉือ
 
 
            การเจรจาระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือเพื่อแก้ไขปัญหาพรมแดนเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1962 และในที่สุดโจวเอินไหลกับคิมอิลซุงได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยพรมแดนเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมของปีเดียวกัน จีนยอมแบ่งพื้นที่ร้อยละ 60 ของทะเลสาบเทียนฉือให้แก่เกาหลีเหนือ ส่วนแม่น้ำยาลู่และแม่น้ำถูเหมินซึ่งเป็นแนวพรมแดนนั้นทั้งสองฝ่ายตกลงใช้หลักการ 3 ร่วม นั่นคือ การเป็นเจ้าของร่วม การบริหารจัดการร่วม และการใช้ร่วม แต่เกาะต่างๆ ที่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำนั้นจีนยกให้เกาหลีเหนือกว่าร้อยละ 80[11] รวมพื้นที่ที่จีนยกให้เกาหลีเหนือทั้งสิ้นราว 500 ตารางกิโลเมตร[12] คำถามที่น่าสนใจก็คือ เหตุใดเหมาเจ๋อตงจึงยินยอมทำข้อตกลงที่กระทบต่อบูรณภาพทางดินแดนและอำนาจอธิปไตยกับเกาหลีเหนือในระยะเวลาอันรวดเร็ว แน่นอนว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนต้องการแรงสนับสนุนจากเกาหลีเหนือและยินยอมต่อข้อเรียกร้องเรื่องดินแดนของเกาหลีเหนือ แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตของนักวิชาการจีนบางคนก็คือ ความคิดของเหมาเจ๋อตงที่ว่าถ้าประเทศสังคมนิยมใดๆ ก็ตามยอมรับความเป็นผู้นำของจีนแล้ว จีนก็จะแสดงความใจกว้างด้วยการยกดินแดน ประชากร และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้โดยไม่เห็นว่าเป็นเรื่องเสียหาย[13]

            ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อเข้าสู่ ค.ศ. 1963 เมื่อผู้แทนจากเกาหลีเหนือที่เดินทางไปประชุมสมัชชาพรรคของเยอรมนีตะวันออกในเดือนมกราคมของปีนั้นถูกสหภาพโซเวียตขัดขวางไม่ให้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์และแจกเอกสารที่มีเนื้อหาเข้าข้างจีน โดยเกาหลีเหนือบอกว่าประชากรจีนคิดเป็น 2 ใน 3 ของประชากรโลกสังคมนิยมทั้งหมด การที่ประเทศสังคมนิยมรวมกำลังกันต่อต้านจีนจึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง[14] และในเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน โชยองกอน (Choe Yong Gon) ผู้นำหมายเลข 2 ของพรรคกรรมกรเกาหลีเดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง และในเดือนต่อมาหลิวเส้าฉี (Liu Shaoqi) ประธานาธิบดีของจีนเดินทางเยือนกรุงเปียงยาง นับเป็นผู้นำระดับประมุขแห่งรัฐคนแรกของจีนที่ไปเยือนเกาหลีเหนือ ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1964 เมื่อเกาหลีเหนือเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาว่าด้วยเศรษฐกิจเอเชีย จีนและเกาหลีเหนือต่างใช้เวทีดังกล่าววิจารณ์การให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศของสหภาพโซเวียตว่าเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยและขูดรีดประเทศที่รับความช่วยเหลือ[15] และในเดือนถัดมาจีนกับเกาหลีเหนือได้จัดงานฉลองครบรอบ 3 ปีของการลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตร หากแต่ไม่มีการจัดงานดังกล่าวระหว่างสหภาพโซเวียตกับเกาหลีเหนือ


--------------------------------------------------------
[1] Chen, Mao’s China and the Cold War, 77.
[2] Allen S.Whiting, “The Sino-Soviet Split,” in The Cambridge History of China, Volume 14, The People’s Republic, Part  1: The Emergence of Revolutionary China 1949-1965, ed. Roderick MacFarquhar and John K. Fairbank (New York, NY: Cambridge University Press, 1987), 516.
                        [3] Suh, ibid., 176-177.
                [4] Ibid., 178.
                [5] “Treaty of Friendship, Co-operation, and Mutual Assistance Between the People’s Republic of China and the Democratic People’s Republic of Korea,” Peking Review, 4 (28): 5, available from    http://www.marxists.org/subject/china/documents/china_dprk.htm, accessed 2 July 2013.
                [6] Daniel Gomà, “The Chinese-Korean Border Issue: An Analysis of a Contested Frontier,” Asian Survey 46 (November/December 2006): 871.
                [7] Ibid., 869.
                [8] Zhihua Shen and Yafeng Xia, “Contested Border: A Historical Investigation into the Sino-Korean Border Issue, 1950-1964,” Asian Perspectives 37 (January-March 2013): 4.
                [9] ประโยคแรกในเพลงชาติของเกาหลีใต้ก็กล่าวถึงภูเขาลูกนี้เช่นกัน
                [10] Gomà, ibid., 871-872. แต่ที่จริงคิมจองอิลเกิดในค่ายทหารใกล้เมืองคาบารอฟสก์ (Khabarovsk) ทางภาคตะวันออกไกลของสหภาพโซเวียตเมื่อ ค.ศ. 1942
                        [11] Chae–Jin Lee, China and Korea: Dynamic Relations (Stanford, CA: Hoover Institution Press, 1996), 100.
                [12] Shen and Xia, “Contested Border,” 21.
                [13] Ibid., 26-27. อย่างไรก็ตาม ทางการจีนคงตระหนักดีว่าการยกดินแดนให้เกาหลีเหนือเป็นเรื่องที่อาจกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและนำมาซึ่งการตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน การเจรจาในครั้งนั้นจึงเป็นไปอย่างลับๆ และไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณชน ส่วนเกาหลีเหนือก็ไม่เปิดเผยเรื่องนี้เช่นกัน เพราะการที่เกาหลีเหนือไม่สามารถทวงคืนทะเลสาบเทียนฉือซึ่งตั้งอยู่บน “ภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ของการปฏิวัติเกาหลี” กลับมาได้ทั้งหมดอาจกลายเป็นประเด็นที่บั่นทอนความชอบธรรมของคิมอิลซุง นอกจากนี้ข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ได้กล่าวถึงพื้นที่ทับซ้อนในทะเลเหลืองซึ่งยังคงเป็นข้อพิพาทระหว่างสองประเทศมาจนถึงปัจจุบัน
                [14] Suh, ibid., 181.
                [15] Ibid., 185-186.

ไม่มีความคิดเห็น: