วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความสำคัญของคาบสมุทรเกาหลีในประวัติศาสตร์จีน



             เกาหลีตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออก โดยมีลักษณะเป็นคาบสมุทรยื่นลงทะเลไปทางทิศใต้ ตอนเหนือของคาบสมุทรติดต่อกับรัสเซีย คาบสมุทรเหลียวตง (Liaodong) และดินแดนที่เรียกกันในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ว่าแมนจูเรีย (Manchuria) ส่วนชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรอยู่ตรงข้ามกับคาบสมุทรซานตง (Shandong) ของจีนโดยมีทะเลเหลืองกั้นกลาง ขณะที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของคาบสมุทรก็อยู่ไม่ห่างจากเกาะคิวชู (Kyoshu) และเกาะฮอนชู (Honshu) ของญี่ปุ่นมากนัก ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ทำให้เกาหลีเป็นแหล่งปะทะของอำนาจทางวัฒนธรรม การเมือง และการทหารของรัฐต่างๆ จนกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออก[1] ซึ่งจีนก็เป็นหนึ่งในตัวแสดงหลักของภูมิภาคดังกล่าว

            จีนมีความสัมพันธ์กับคาบสมุทรเกาหลีมาเป็นระยะเวลาย้อนกลับไปได้หลายสหัสวรรษ บันทึก สือจี้ (Shiji) ที่ซือหม่าเชียน (Sima Qian) นักประวัติศาสตร์จีนเขียนเอาไว้เมื่อราวหนึ่งศตวรรษก่อน ค.ศ. ได้กล่าวถึงบุคคลที่มีนามว่า จีจื่อ (Jizi) ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์ซางของจีน (Shang 1,600 1,046 ปีก่อน ค.ศ.) ที่ได้พาผู้คนจำนวน 5,000 คนไปตั้งอาณาจักรใหม่ทางตอนใต้ของแมนจูเรียเมื่อราว 1,100 ปีก่อน ค.ศ.[2] หรือที่ต่อมาเรียกว่าอาณาจักรโชซอนโบราณ (Old Choson) แม้นักประวัติศาสตร์จะยังคงถกเถียงกันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงหรือเป็นเพียงตำนาน แต่ก็มีหลักฐานชัดเจนว่าในยุคราชวงศ์โจวตะวันออกของจีน (Eastern Zhou 770-256 ปีก่อน ค.ศ.) แคว้นฉี (Qi) ในคาบสมุทรซานตงได้ทำการค้ากับอาณาจักรโชซอนโบราณ[3] และเมื่อถึง 209 ปีก่อน ค.ศ. ซึ่งจีนกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากราชวงศ์ฉิน (Qin 221-209 ปีก่อน ค.ศ.) สู่ราชวงศ์ฮั่น (Han 206 ปีก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 220) บุคคลผู้มีนามว่า เว่ยหม่าน (Wei Man) ก็ได้อพยพผู้คนจากทางเหนือของจีนไปสวามิภักดิ์กับอาณาจักรโชซอนโบราณและต่อมาเมื่อ 190 ปีก่อน ค.ศ. เขาได้ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ของอาณาจักรดังกล่าวและมีบทบาทสำคัญที่ทำให้โชซอนโบราณมีความเข้มแข็งจนกลายเป็นข้อกังวลด้านความมั่นคงของจีน

            ภัยคุกคามหลักที่จีนสมัยต้นราชวงศ์ฮั่นต้องเผชิญก็คือการรุกรานของชาวฉุงหนู (Xiongnu) ที่มาจากมองโกเลีย จักรพรรดิฮั่นพระองค์แรกๆ ทรงดำเนินนโยบายประนีประนอมกับกษัตริย์ฉุงหนูด้วยการยกเจ้าหญิงจีนให้ไปอภิเษกสมรสด้วย หรือที่เรียกว่านโยบายเหอชิน (heqin) แต่เมื่อถึงรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (Han Wudi 141-87 ปีก่อน ค.ศ.) พระองค์ได้ตัดสินพระทัยใช้กำลังจัดการกับชาวฉุงหนูด้วยการโอบล้อมทั้งทางทิศตะวันตกและตะวันออก ซึ่งในทางทิศตะวันออกนั้นหมายถึงการปราบปรามอาณาจักรโชซอนโบราณเพื่อมิให้เป็นพันธมิตรกับพวกฉุงหนูและคุกคามความมั่นคงของจีนได้อีกต่อไป กองทัพของราชวงศ์ฮั่นเมื่อ 109 ปีก่อน ค.ศ. จึงได้รุกรานโชซอนโบราณทั้งทางบกและทางทะเลจนอาณาจักรดังกล่าวล่มสลายลงในปีถัดมา ฮั่นอู่ตี้ทรงเปลี่ยนโชซอนโบราณให้กลายเป็นอาณานิคมของจีนโดยแบ่งเป็น 4 มณฑล ครอบคลุมตอนเหนือและตอนกลางของคาบสมุทรเกาหลี[4]

            อำนาจการปกครองของจีนเหนือคาบสมุทรเกาหลีเริ่มเสื่อมถอยลงภายหลังการล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นในคริสต์ศตวรรษที่ 3 และเกาหลีก็เข้าสู่ยุคสามอาณาจักรอันประกอบไปด้วยโกกุเรียว (Koguryo) แปกเจ (Paekche) และซิลลา (Silla) แม้ว่าอาณาจักรทั้งสามจะเป็นอิสระจากจีน หากแต่ยังคงส่งคณะทูตบรรณาการไปยังจีนรวมทั้งรับอิทธิพลและแบบแผนทางวัฒนธรรมจากจีนอย่างต่อเนื่อง โกกุเรียวร่างประมวลกฎหมายตามแบบจีน จัดตั้งสถาบันสอนปรัชญาขงจื่อและประวัติศาสตร์จีน แปกเจรับศาสนาพุทธจากพระสงฆ์ที่มาจากจีนและเป็นตัวกลางนำศาสนาพุทธและวัฒนธรรมจีนส่งต่อไปยังญี่ปุ่น ส่วนซิลลาก็ได้รับเอาระบบกฎหมาย ระบบราชการ และการนับศักราชแบบจีนไปใช้[5]





             เมื่อจีนกลับมาเป็นเอกภาพภายใต้ราชวงศ์สุย (Sui ค.ศ. 581 - 618) และราชวงศ์ถัง (Tang ค.ศ. 618 - 907) จีนก็หันมาดำเนินนโยบายต่อคาบสมุทรเกาหลีแบบเดียวกับจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้อีกครั้งหนึ่ง ราชวงศ์สุยส่งทหารไปทำสงครามกับอาณาจักรโกกุเรียวครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 598 และครั้งที่ 2 เมื่อ ค.ศ. 612 – 614 ซึ่งในครั้งหลังนี้ใช้ทหารมากถึง 1,000,000 คน แต่ก็ล้มเหลวทั้ง 2 ครั้ง และกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ราชวงศ์สุยต้องล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว[6] ขณะที่ความพยายามที่จะใช้กำลังในต้นราชวงศ์ถังก็ล้มเหลวอีกเช่นกัน จักรพรรดิถังเกาจง (Tang Gaozong ครองราชย์ ค.ศ. 649 – 683) จึงทรงเปลี่ยนยุทธวิธีเสียใหม่ด้วยการใช้ความแตกแยกเป็น 3 อาณาจักรบนคาบสมุทรเกาหลีให้เป็นประโยชน์ โดยจีนได้ร่วมมือกับอาณาจักรซิลลาบุกทำลายอาณาจักรแปกเจและอาณาจักรโกกุเรียวได้สำเร็จเมื่อ ค.ศ. 660 และ 668 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ความพยายามของจีนที่จะยึดครองเกาหลีเป็นอาณานิคมอีกครั้งนั้นก่อให้เกิดแรงต้านอย่างมากจากทั้งอาณาจักรซิลลาและจากประชาชนที่เคยอยู่ภายใต้อาณาจักรแปกเจและโกกุเรียว ประกอบกับในทศวรรษ 670 จีนกำลังติดพันสงครามกับทิเบต จึงได้ล้มเลิกความพยายามที่จะปกครองเกาหลีแบบอาณานิคม[7] แม้ว่าอาณาจักรซิลลาจะยังส่งบรรณาการให้กับจีน แต่ในทางปฏิบัติถือได้ว่าเป็นอิสระจากการควบคุมของจีนอย่างแท้จริงจนถูกแทนที่ด้วยอาณาจักรโคเรียว (Koryo) ในคริสต์ศตวรรษที่ 10

            จีนในยุคห้าราชวงศ์ (Five Dynasties ค.ศ. 907 – 960) และราชวงศ์ซ่ง (Song ค.ศ. 960 – 1279) ถือได้ว่าไม่มีอิทธิพลทางการทหารใดๆ เหนือคาบสมุทรเกาหลีเลย ทั้งนี้เป็นผลมาจากการขยายอำนาจของพวกชี่ตัน (Khitan) ในมองโกเลียซึ่งได้สถาปนาอาณาจักรเหลียว (Liao ค.ศ. 907 – 1125) และปกครองภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยใน ค.ศ. 993 อาณาจักรโคเรียวถูกบังคับให้ยอมเป็นรัฐบรรณาการของอาณาจักรเหลียวและยุติการส่งบรรณาการแก่ราชวงศ์ซ่ง ขณะที่ใน ค.ศ. 1005 ราชวงศ์ซ่งก็ต้องยอมทำข้อตกลงส่งเงินรายปีให้แก่อาณาจักรเหลียวเช่นเดียวกัน[8] แต่กระนั้นอาณาจักรโคเรียวยังคงรับเอาแบบแผนการปกครองจากจีนไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นพระราชวังที่เมืองแกซอง (Gaeseong) ซึ่งเลียนแบบมาจากนครฉางอัน (Chang’an) ของราชวงศ์ถัง การถวายพระนามแด่ปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรโคเรียวว่า “แทโจ” (Taejo) หรือก็คือ “ไท่จู่” (Taizu) ตามแบบจักรพรรดิจีน และการเริ่มใช้ระบบสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการแบบจีนเมื่อ ค.ศ. 958[9] และจีนยังคงค้าขายทางทะเลกับโคเรียวอยู่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายตกอยู่ภายใต้การยึดครองของชาวมองโกลในคริสต์ศตวรรษที่ 13

            ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 ชาวจีนได้ลุกฮือขึ้นขับไล่ชาวมองโกลและสถาปนาราชวงศ์หมิง (Ming) ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1368 และเมื่อถึง ค.ศ. 1387 หงอู่ (Hongwu ครองราชย์ ค.ศ. 1368 – 1398) ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์หมิงก็ทรงปราบปรามชาวมองโกลภายใต้การนำของนากาชู (Naghachu) บริเวณแมนจูเรียตอนใต้ได้สำเร็จ จากนั้นก็มีพระราชประสงค์ที่จะผนวกเอาเขตไคหยวน (Kaiyuan) หรือปัจจุบันคือมณฑลจี๋หลิน (Jilin) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีน ตรงข้ามกับกษัตริย์ยู (U ครองราชย์ ค.ศ. 1374 – 1388) แห่งอาณาจักรโคเรียวทรงต้องการจำกัดอำนาจทางการทหารของราชวงศ์หมิงในแมนจูเรียเนื่องจากบริเวณดังกล่าวเคยเป็นดินแดนของบรรพชนเกาหลีมาก่อน[10] ดังนั้นใน ค.ศ. 1388 กษัตริย์ยูจึงให้แม่ทัพยีซองเกีย (Yi Seong-gye) นำทหารไปขับไล่ราชวงศ์หมิงออกไปจากเขตไคหยวน แต่แล้วแม่ทัพคนดังกล่าวกลับขัดพระราชโองการและหันมายึดอำนาจจากพระองค์จนนำไปสู่การสิ้นสุดยุคอาณาจักรโคเรียว ยีซองเกียสถาปนาตนเองเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรโชซอน (Choson ค.ศ. 1392 – 1910) รวมทั้งสร้างสันติภาพกับจีนด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการ หลังจากนั้นการไปมาหาสู่ระหว่างคณะทูตของทั้งสองฝ่ายก็เป็นไปอย่างมีระเบียบแบบแผนและสม่ำเสมอจนเกาหลีกลายเป็นรัฐบรรณาการตัวอย่างในสายตาของจีน[11] 

            จีนมีเหตุที่ต้องเข้าไปพัวพันทางการทหารบนคาบสมุทรเกาหลีอีกครั้งเมื่อโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi) สามารถรวมญี่ปุ่นเป็นปึกแผ่นได้สำเร็จใน ค.ศ. 1590 และวางแผนจะยึดครองแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชียโดยบุกโจมตีเกาหลีใน ค.ศ. 1592 และ 1597 จนทำให้ราชวงศ์หมิงต้องส่งทหารออกไปต่อสู้ แม้ว่าในที่สุดจีนจะสามารถขับไล่ญี่ปุ่นออกไปจากคาบสมุทรเกาหลีได้สำเร็จ หากแต่ราชวงศ์หมิงก็ต้องทุ่มกำลังทหารไปถึง 200,000 คนและเงินอีก 10,000,000 ตำลึง ซึ่งกลายเป็นปัญหาหนึ่งที่นำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์หมิงในที่สุด[12] ต่อมาเมื่อชาวแมนจูได้สถาปนาราชวงศ์ชิง (Qing ค.ศ. 1644 – 1911) และเข้าปกครองจีนแทนที่ราชวงศ์หมิง เกาหลีก็ยังคงความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการกับจีนอยู่ต่อมา แม้ว่าในส่วนลึกแล้วเกาหลีจะดูถูกชาวแมนจูว่าเป็นอนารยชน หากแต่ก็ยอมรับราชวงศ์ชิงในฐานะผู้สืบทอดวัฒนธรรมจีนอันยิ่งใหญ่ต่อจากราชวงศ์หมิง อีกทั้งการได้รับการรับรองจากราชวงศ์ชิงยังส่งผลดีต่อความมั่นคงในอำนาจของกษัตริย์เกาหลีที่ต้องเผชิญกับการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในระบบราชการอีกด้วย[13]

            ประเด็นที่ควรพิจารณาก็คือ เหตุใดจีนในยุคราชวงศ์ชิงที่มีเอกภาพและขยายการปกครองเข้าไปยังดินแดนต่างๆ ทั้งไต้หวัน มองโกเลีย ทิเบต และซินเจียง (Xinjiang) จึงไม่ดำเนินรอยตามราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์สุย และราชวงศ์ถังในการขยายอำนาจเข้าไปปกครองคาบสมุทรเกาหลี คำตอบที่อาจเป็นไปได้ก็คือ เมื่อถึงยุคอาณาจักรโชซอน เกาหลีก็ได้รับแบบแผนทางการเมืองและวัฒนธรรมจากจีนเข้าไปอย่างเต็มที่แล้วจนมีสถานะทางอารยธรรมต่ำกว่าจีนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หรือเท่ากับว่าจีนไม่มีภารกิจที่จะต้องเปลี่ยนแปลงเกาหลีให้เป็นผู้มีอารยธรรมอีกต่อไป การใช้กำลังเข้ารุกรานหรือจัดการปกครองโดยตรงในเกาหลีจึงไม่มีความจำเป็น[14] อีกทั้งราชวงศ์ชิงในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็สามารถควบคุมอนารยชนกลุ่มอื่นๆ ทางเหนือไว้ได้ทั้งหมด จึงไม่มีความกังวลใจว่าจะมีรัฐใดใช้เกาหลีเป็นพันธมิตรหรือเป็นฐานที่มั่นที่จะบ่อนทำลายความมั่นคงของจีนจนต้องเข้าไปควบคุมโดยตรง เกาหลีจึงเป็นอิสระจากการควบคุมของจีนมาเกือบตลอดยุคราชวงศ์ชิง

            เกาหลีกลายเป็นปัญหาด้านความมั่นคงของจีนอีกครั้งในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เนื่องจากญี่ปุ่นได้เข้ามาบีบบังคับให้อาณาจักรโชซอนลงนามในสนธิสัญญาเปิดประเทศ ที่เรียกว่าสนธิสัญญากังหวา (The Treaty of Kanghwa) เมื่อ ค.ศ. 1876 ราชวงศ์ชิงจึงตระหนักว่าความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการที่เป็นอยู่ไม่เพียงพอที่จะรักษาผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีนได้อีกต่อไป ราชวงศ์ชิงจึงหันมาดำเนินนโยบายแบบลัทธิจักรวรรดินิยม (imperialism) ต่ออาณาจักรโชซอนด้วยการทำสนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียม (unequal treaty) รวมทั้งอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเรือปืนและโทรเลขในการรักษาผลประโยชน์ของตนเหนืออาณาจักรโชซอนเอาไว้ ทั้งหมดนี้ไม่ต่างไปจากพฤติกรรมของประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ที่ทำกับจีนและเกาหลีในช่วงเวลาเดียวกัน[15] อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวของราชวงศ์ชิงได้นำไปสู่การเผชิญหน้ากับญี่ปุ่นจนกลายเป็นสงครามใน ค.ศ. 1894 ซึ่งจีนเป็นฝ่ายแพ้และสูญเสียอิทธิพลเหนือคาบสมุทรเกาหลีไปในที่สุด

            เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 ชัยชนะของญี่ปุ่นในสงครามกับรัสเซียเมื่อ ค.ศ. 1905 ได้ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือคาบสมุทรเกาหลีแต่เพียงผู้เดียว การผนวกอาณาจักรโชซอนเข้าเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นอย่างสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1910 ทำให้เกาหลีกลายเป็นฐานที่มั่นของญี่ปุ่นที่จะใช้รุกรานจีนในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นการรุกรานแมนจูเรียเมื่อ ค.ศ. 1931 และสงครามจีน-ญี่ปุ่นช่วง ค.ศ. 1937 – 1945 ซึ่งเจียงไคเช็ค (Chiang Kai-shek) หรือเจี่ยงเจี้ยสือ (Jiang Jieshi) ผู้นำของสาธารณรัฐจีนก็ตระหนักถึงประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างดี ดังที่เขาได้กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาพรรคกั๋วหมินตั่ง (Guomindang) เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1938 ความว่า

 

            เนื่องจากเดิมเกาหลีเป็นรัฐบรรณาการของประเทศเรา ส่วนไต้หวันก็เป็นดินแดนของประเทศจีนเรา เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์แล้วต้องถือว่าทั้งสองคือเส้นชีวิตและความเป็นความตายของประเทศจีนเรา ประเทศจีนจะต้องมีการป้องกันประเทศอย่างจริงจัง ต้องรักษาสันติภาพของเอเชียตะวันออกให้ยั่งยืน จะปล่อยให้เกาหลีกับไต้หวันอยู่ในมือจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นต่อไปอีกไม่ได้[16]

 

            หลังจากที่สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1941 จีนก็เริ่มให้ความสนใจกับอนาคตของเกาหลีหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม ค.ศ. 1942 รัฐบาลกั๋วหมินตั่งได้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อกำหนดนโยบายต่อเกาหลี ข้อสรุปที่ได้ก็คือ จีนควรสร้างทัศนคตินิยมจีนให้เกิดขึ้นในหมู่นักชาตินิยมเกาหลีที่เรียกร้องเอกราชจากญี่ปุ่นเพื่อป้องกันมิให้เกาหลีหลังสิ้นสงครามตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ซึ่งความกังวลของรัฐบาลกั๋วหมินตั่งในขณะนั้นพุ่งเป้าไปที่สหภาพโซเวียต[17] อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกั๋วหมินตั่งก็มิได้มีอิทธิพลพอที่จะกำหนดความเป็นไปบนคาบสมุทรเกาหลี แถลงการณ์ไคโร (The Cairo Declaration) ระหว่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรฯ และสาธารณรัฐจีนเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1943 ระบุแต่เพียงว่าเกาหลีจะเป็นเอกราชหลังความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น หากแต่มิได้มีการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนเวลา ขั้นตอน และจำนวนประเทศที่จะเข้ามาร่วมจัดการเพื่อนำไปสู่เอกราช และไม่นานหลังจากที่ญี่ปุ่นปราชัยใน ค.ศ. 1945 รัฐบาลกั๋วหมินตั่งก็ตกอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน จนกระทั่งเมื่อเจียงไคเช็คพ่ายแพ้และย้ายไปตั้งรัฐบาลบนเกาะไต้หวันในอีก 4 ปีต่อมา เกาหลีก็ได้ถูกแบ่งเป็น 2 ประเทศตามแนวเส้นขนานที่ 38 ไปเรียบร้อยแล้ว นั่นคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ซึ่งมีสหภาพโซเวียตให้การสนับสนุน และสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุน การกำหนดนโยบายของจีนต่อเกาหลีที่แบ่งเป็น 2 ส่วนจึงตกเป็นหน้าที่ของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949

            จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีนั้นมีทั้งช่วงที่จีนเข้าไปปกครองเกาหลีโดยตรง และช่วงที่เกาหลีเป็นอิสระจากจีนโดยยังคงรักษาความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการกับจีนเอาไว้ แต่ไม่ว่าจะเป็นช่วงใดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่จีนให้ความสำคัญมาตลอดนั้นก็คือการระวังไม่ให้เกาหลีกลายเป็นพันธมิตรหรือฐานที่มั่นของรัฐอื่นที่จะคุกคามความมั่นคงของจีนได้ ดังกรณีของราชวงศ์ฮั่นที่ใช้กำลังบุกยึดอาณาจักรโชซอนโบราณเพื่อป้องกันมิให้อาณาจักรดังกล่าวกลายเป็นพันธมิตรชองชาวฉุงหนูที่เป็นศัตรูของจีน หรือในกรณีของราชวงศ์หมิงที่นำกำลังทหารเข้าไปขับไล่ญี่ปุ่นออกจากคาบสมุทรเกาหลีเพื่อทำลายแผนการของฮิเดโยชิที่จะครอบครองแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชีย เป็นต้น ในลำดับต่อไปผู้เขียนจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือในยุคสงครามเย็น โดยจะชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความพยายามของจีนที่จะสกัดกั้นอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาบนคาบสมุทรเกาหลี และยังเป็นการป้องกันมิให้เกาหลีเหนือกลายเป็นเขตอิทธิพลของสหภาพโซเวียตไปด้วย

---------------------------------------------------------


                        [1] เอ็ดวิน โอ. ไรสเชอร์ และยอห์น เค. แฟรแบงค์, อู่อารยธรรมตะวันออก เล่ม 3, แปลโดย จำนงค์ ทองประเสริฐ นิทัศน์ ชูทรัพย์ วินิตา ไกรฤกษ์ และเขียน ธีระวิทย์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2510), 810.
                [2] เพิ่งอ้าง, 818-819.
                        [3] Kim Seong-hwan, ed., Atlas of Korean History (Singapore: Stallion Press, 2004), 22.  
                [4] ไรสเชอร์ และแฟรแบงค์, อ้างแล้ว, 819.
                [5] เพิ่งอ้าง, 826-831.
                [6] เพิ่งอ้าง, 832.  
                [7] Denis Twitchett and Howard J. Wechsler, “Kao-tsung and the empress Wu: the inheritor and the usurper,” in The Cambridge History of China, Volume 3, Sui and T’ang China, 589-906, Part I, ed. Denis Twitchett (New York, NY: Cambridge University Press, 1979), 284.
                [8] ดูรายละเอียดได้ใน สิทธิพล เครือรัฐติกาล, “ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาณาจักรเหลียว ซีเซี่ย และจิน: ภาพสะท้อนความยืดหยุ่นทางการทูตสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1278),” วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง 9 (มกราคม – เมษายน 2556): 1-20. 
                [9] ไรสเชอร์ และแฟรแบงค์, อ้างแล้ว, 846-847.
                        [10] Donald N. Clark, “Sino-Korean tributary relations under the Ming,” in The Cambridge History of China, Volume 9, The Ming Dynasty, 1368-1644, Part 2, ed. Denis Twitchett and Frederick W. Mote (New York, NY: Cambridge University Press, 1998), 275, 284.
                [11] Ibid., 273.
                [12] Ibid., 298.
                        [13] Hae-jong Chun, “Sino-Korean Tributary Relations in the Ch’ing Period,” in The Chinese World Order: Traditional China’s Foreign Relations, ed. John K. Fairbank (Cambridge, MA: Harvard University Press, 1974), 111; ไรสเชอร์ และแฟรแบงค์, อ้างแล้ว, 898.
                [14] Kirk W. Larsen, Tradition, Treaties, and Trade: Qing Imperialism and Choson Korea, 1850-1910 (Cambridge, MA: Harvard University Asia Center, 2008), 41.
                [15] Ibid., passim.

                        [16]
ฉินเสี้ยวอี๋ และจางรุ่ยเฉิง, บก., จงกั๋วกั๋วหมินตั่งจงยางตั่งสื่อหุ้ย จงกั๋วเซี่ยนไต้สื่อสื่อเลี่ยวฉงเปียน ตี้ซานจี๋ คั่งรื่อสือชีฮุยฟู่ไถวันจือจ้งเย่าเหยียนลุ่น (ประมวลเอกสารประวัติศาสตร์จีนร่วมสมัย ฉบับสำนักงานประวัติศาสตร์กลางพรรคกั๋วหมินตั่งแห่งประเทศจีน เล่ม 3 ความเห็นที่สำคัญเกี่ยวกับการทวงคืนไต้หวันในยุคสงครามต่อต้านญี่ปุ่น) (ไถเป่ย: จิ้นไต้จงกั๋วชู่ป่านเส้อ, 1990), 2. อ้างถึงใน จั่วซวงเหวิน, “กวนอวี๋กั๋วหมินเจิ้งฝู่อวี๋ไถวันกวงฟู่เวิ่นถีเตอะอี้เตี่ยนปู่ชง,” (ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรัฐบาลกั๋วหมินตั่งกับปัญหาการทวงคืนไต้หวัน) คั่งรื่อจ้านเจิงเหยียนจิว (วารสารวิจัยสงครามต่อต้านญี่ปุ่น) ฉบับที่ 2 (2005): เชิงอรรถ 7, สืบค้นจาก http://jds.cass.cn/Item/7657.aspx, เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2013.   
 
 
 
                [17] Xiaoyuan Liu, Recast All Under Heaven: Revolution, War, Diplomacy, and Frontier China in the 20th Century (New York, NY: Continuum, 2010), 42.

1 ความคิดเห็น:

สามก๊กวิทยา กล่าวว่า...

ตามความรู้สึกของผม ดูแล้วเหมือนกับว่าจีนเองก็พอใจกับสถานภาพของเกาหลีที่แบ่งแยกเป็นเหนือ-ใต้ การมีอยู่ของเกาหลีเหนือเป็นประโยชน์ต่อการต่อต้านอเมริกาในเกาหลีใต้มาก
สงสารก็แต่คนเกาหลี ที่ต้องแบ่งขั้วทะเลาะกันเพราะชาติมหาอำนาจ