วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558

จีนกับยูโกสลาเวียสมัยติโต (ตอนที่ 6 ความขัดแย้งระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศในเอเชียและแอฟริกา)


            ความขัดแย้งระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียยังมีความเกี่ยวข้องกับการที่ทั้ง 2 ฝ่ายพยายามแสวงหาอิทธิพลในเอเชียและแอฟริกาอีกด้วย กล่าวคือ หลังอสัญกรรมของสตาลินใน ค.ศ. 1953 จีนได้เริ่มดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระมากขึ้น จากเดิมที่เน้นการอิงเข้าหาสหภาพโซเวียตมาเป็นการแสวงหามิตรไมตรีกับประเทศนอกค่ายสังคมนิยม ดังที่เหมาเจ๋อตงบอกกับผู้แทนของพรรคแรงงานอังกฤษที่มาเยือนจีนเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1954 ว่า โลกนี้นอกจากจะมี 2 ขั้วที่นำโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตแล้ว ยังมี “พื้นที่ตรงกลาง (intermediate zone)” ที่ประกอบไปด้วยประเทศต่างๆ ที่มีความหลากหลายทางอุดมการณ์ ซึ่งจีนต้องการอยู่ร่วมกับประเทศเหล่านี้อย่างสันติ[1] นำไปสู่การที่จีนประกาศใช้หลักปัญจศีล (The Five Principles of Peaceful Coexistence) กับอินเดียและพม่าในปีเดียวกัน และใน ค.ศ. 1955 จีนได้เข้าร่วมประชุมกลุ่มประเทศเอเชียและแอฟริกา ณ เมืองบันดุง (Bandung) ประเทศอินโดนีเซียอีกด้วย


                      โจวเอินไหลกับเนห์รู ในการประชุมบันดุง ค.ศ. 1955
ภาพจาก http://content.time.com/time/magazine/article/0,9171,2123279,00.html



            ขณะเดียวกัน ยูโกสลาเวียก็สนใจประเทศในเอเชียและแอฟริกาเช่นเดียวกับจีน กล่าวคือ เดิมยูโกสลาเวียมองว่าประเทศที่ได้เอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนใหญ่ยังคงดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของอดีตเจ้าอาณานิคม แต่สงครามเกาหลีในต้นทศวรรษ 1950 ทำให้ยูโกสลาเวียเปลี่ยนมุมมองใหม่ โดยเฉพาะท่าทีของอินเดีย พม่า และอียิปต์ในเวทีองค์การสหประชาชาติต่อสงครามครั้งนั้นที่เป็นตัวของตัวเองและมิได้คล้อยตามประเทศโลกตะวันตกไปทั้งหมด[2] ติโตจึงเดินทางเยือนอินเดียและพม่าใน ค.ศ. 1954 ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้มีบทบาทสำคัญในการช่วยประสานงานกับจีนจนทำให้จีนกับยูโกสลาเวียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตได้อย่างรวดเร็วในต้นปีถัดมา[3] และใน ค.ศ. 1956 ติโตก็เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ 3 ฝ่าย อันประกอบไปด้วย ชวาหระลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) นายกรัฐมนตรีของอินเดีย  กาเมล อับเดล นัสเซอร์ (Gamal Abdel Nasser) ประธานาธิบดีของอียิปต์ และตัวเขา ณ เกาะไบรโอนี (Brioni) จนนำไปสู่การเกิดขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (The Non-Aligned Movement) ในเวลาต่อมา

            ความสนใจที่ตรงกันในการแสวงหามิตรไมตรีกับประเทศในเอเชียและแอฟริกาทำให้เมื่อจีนกับยูโกสลาเวียเกิดความขัดแย้งกันในปลายทศวรรษ 1950 จีนได้พยายามสกัดกั้นความเคลื่อนไหวทางการทูตของยูโกสลาเวีย[4] โดยเมื่อติโตเดินทางเยือนอินโดนีเซีย พม่า อินเดีย ซีลอน (ศรีลังกา) เอธิโอเปีย ซูดาน สหสาธารณรัฐอาหรับ (อียิปต์) และกรีซ รวม 8 ประเทศเป็นเวลาติดต่อกันตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1958 ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1959 จีนได้ออกมากล่าวโจมตีว่า ติโตเป็นเครื่องมือของลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกันและมิได้สนับสนุนผลประโยชน์ของชาวเอเชียและแอฟริกาอย่างแท้จริง ดังความตอนหนึ่งในบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชาชนรายวัน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1959 ที่ระบุว่า

 

กลุ่มของติโตไม่ได้สนับสนุนประชาชนอินโดนีเซียในการต่อสู้ที่เป็นธรรมเพื่อปลดปล่อยอีเรียนตะวันตกเลย และแทนที่จะสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชแห่งชาติของชาวอาหรับ กลุ่มของเขากลับขอให้บรรดารัฐอาหรับคำนึงถึงผลประโยชน์ของโลกตะวันตกและดำเนินมาตรการที่ยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนเรื่องการต่อสู้อย่างทรหดและเด็ดเดี่ยวของประชาชนแอลจีเรียเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาตินั้น กลุ่มของติโตถึงขั้นบอกว่าไม่ควรยื่นข้อเสนอใดๆ ที่จะทำให้ปัญหายุ่งยากมากขึ้น ภายหลังชัยชนะของการปฏิวัติแห่งชาติของอิรัก กลุ่มของติโตร้องขออย่างเปิดเผยให้อิรัก ปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ชอบธรรมของโลกตะวันตกและหลีกเลี่ยง ความตึงเครียดในความสัมพันธ์กับโลกตะวันตก เมื่อประชาชนชาวอิรักที่กล้าหาญได้ยึดมั่นอย่างเด็ดเดี่ยวในเอกราชและอธิปไตยของชาติ สิ่งพิมพ์ของยูโกสลาเวียกลับโจมตีอิรักอย่างร้ายกาจอยู่หลายครั้ง กลุ่มของติโตชื่นชมข้อตกลงไตรภาคีระหว่างอังกฤษ ตุรกี และกรีซ โดยคัดค้านความปรารถนาของประชาชนชาวไซปรัสที่ต้องการเอกราช กลุ่มของเขาระบุว่าข้อตกลงนี้เป็น ข้อเท็จจริงเชิงบวก[5]

 

            ฝ่ายติโตเองก็ได้ออกมาตอบโต้ความพยายามของจีนในการสกัดกั้นบทบาทของยูโกสลาเวีย โดยหลังเสร็จสิ้นภารกิจเยือน 8 ประเทศในครั้งนั้น เขาได้กล่าวสุนทรพจน์ในวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1959 โดยระบุว่า ในระหว่างที่เขาเดินทางเยือนอินโดนีเซียตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1958 ถึงวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1959 โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีนได้ออกมาปลุกปั่นไม่ให้ประชาชนชาวอินโดนีเซียเชื่อในคำพูดของเขา เนื่องจากเป็นคำพูดของผู้รับใช้ลัทธิจักรวรรดินิยม[6] เรื่องดังกล่าวทำให้ในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1959 รองอธิบดีกรมโซเวียตและยุโรปตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศของจีนได้เรียกอุปทูตยูโกสลาเวียประจำกรุงปักกิ่งมาพบเพื่อประท้วง โดยระบุว่าโจวเอินไหลไม่เคยแสดงความเห็นใดๆ ต่อเรื่องดังกล่าว และการกุเรื่องเช่นนี้แสดงว่าติโตมีจุดประสงค์บางอย่างแอบแฝงอยู่[7]

            เมื่อยูโกสลาเวียเป็นเจ้าภาพจัดประชุมขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดครั้งแรกที่กรุงเบลเกรดเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1961 แม้จีนจะแสดงความชื่นชมต่อการประชุมครั้งนี้ที่ประเทศส่วนใหญ่ยังคงต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมและขอบคุณที่สนับสนุนข้อเรียกร้องของจีนที่ต้องการมีที่นั่งในองค์การสหประชาชาติแทนที่ไต้หวัน แต่จีนก็ยังคงโจมตีติโต โดยบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ประชาชนรายวัน เมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1961 ได้ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า

 

ผลการประชุมครั้งนี้ถือเป็นความพ่ายแพ้ของพวกที่แก้ต่างให้กับลัทธิจักรวรรดินิยมและสวมเสื้อคลุมอำพรางว่าตนเองไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด พวกเขาซึ่งไม่อาจหันเหกระแสหลักของการประชุมที่เน้นการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมได้เผยธาตุแท้ออกมา และติโตก็แสดงบทบาทเช่นนี้ชัดเจนในการประชุม[8]


---------------------------------------------


[1] Mao Zedong, On Diplomacy, 123.
[2] Alvin Z. Rubinstein, Yugoslavia and the Nonaligned World (Princeton, NJ: Princeton University Press, 1970), 33.
[3] โจวว่าน, “อวี่จงซูเจิงตั๋วตี้ซานซื้อเจี้ย: อีจิ่วอู่ปาเต้าอีจิ่วอู๋จิ่วเหนียนเถี่ยทัวเตอะย่าเฟยจือสิง (ร่วมแข่งขันกับจีนและโซเวียตในโลกที่สาม: การเดินทางเยือนเอเชียและแอฟริกาของติโตช่วง ค.ศ. 1958 – 1959),” ใน เหลิ่งจ้านกั๋วจี้สื่อเหยียนจิว  จิ่ว (วิจัยประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคสงครามเย็น เล่มเก้า), บรรณาธิการโดย หลี่ตานฮุ่ย (เป่ยจิง: ซื้อเจี้ยจือซื่อชูป่านเส้อ, 2010), 73, เชิงอรรถ 2. ทั้งนี้ พม่าเป็นประเทศนอกค่ายสังคมนิยมประเทศแรกที่ประกาศรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1949 ส่วนอินเดียเป็นประเทศนอกค่ายสังคมนิยมประเทศแรกที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1950
[4] เพิ่งอ้าง, 71-106
[5] Peking Review, 24 March 1959, 11.
[6] Ibid., 12.
[7] Ibid., 12.
[8] Peking Review, 15 September 1961, 6.

ไม่มีความคิดเห็น: