วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2558

จีนกับยูโกสลาเวียสมัยติโต (ตอนที่ 4 ความขัดแย้งระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียในบริบทของความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต)


        ข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียที่มาถึงจุดแตกหักในการประชุมสมัชชาสันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียเมื่อ ค.ศ. 1958 ก็คือ แม้ยูโกสลาเวียจะแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ยอมรับการเป็นผู้นำของสหภาพโซเวียตในขบวนการสังคมนิยมโลก แต่จีนกลับเป็นฝ่ายมีท่าที “ต่อต้านลัทธิแก้” (anti-revisionist) ของติโตมากกว่าสหภาพโซเวียตเสียอีก[1] กล่าวคือ แม้สหภาพโซเวียตจะประณามติโตว่าเป็นพวกนอกคอก แต่ก็ยังรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตเอาไว้ในระดับปกติ ต่างจากจีนที่ลดความสัมพันธ์ลงเหลือแค่ระดับอุปทูต ท่าทีที่ดุดันของจีนเป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ มุมมองของจีนที่มีต่อบทบาทของตนเองในค่ายสังคมนิยม และความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตที่เปลี่ยนไปในทางลบ


                             ครุสชอฟกับเหมาเจ๋อตง ณ กรุงปักกิ่ง ค.ศ. 1959




            การปฏิวัติในจีนเมื่อ ค.ศ. 1949 เกิดจากความสามารถของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเหมาเจ๋อตงที่ทำสงครามต่อสู้กับญี่ปุ่นและพรรคกั๋วหมินตั่งเป็นเวลารวมกันเกือบ 2 ทศวรรษ โดยพึ่งพาสหภาพโซเวียตไม่มากนักถ้าเทียบกับรัฐสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกที่สถาปนาขึ้นโดยอำนาจทางการทหารของสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตาม เหมาในต้นทศวรรษ 1950 ยังคงต้องดำเนินนโยบายอิงเข้าหาสหภาพโซเวียตด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรกคือ สหภาพโซเวียตเป็นเกราะกำบังทางการเมืองและความมั่นคงของจีนในบริบทของสงครามเย็นที่ต้องเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกา และประการถัดมาคือ สถานะอันสูงส่งของสตาลินในฐานะศูนย์กลางแห่งความชอบธรรมของการปฏิวัติโลก[2] แต่หลังจากที่สตาลินถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1953 และครุสชอฟซึ่งสืบทอดอำนาจต่อมามิได้มีประสบการณ์การปฏิวัติที่โชกโชนดังเช่นสตาลิน เหมาซึ่งมั่นใจในประสบการณ์การปฏิวัติอันยาวนานของตนก็เริ่มแสดงท่าทีเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น รวมทั้งยังมองว่าตนเองมีความชอบธรรมในการตัดสินความถูกผิดของขบวนการสังคมนิยมทั่วโลก จึงไม่แปลกที่ใน ค.ศ. 1958 จีนตราหน้าว่ายูโกสลาเวียเป็นลัทธิแก้ด้วยความดุดันมากกว่าสหภาพโซเวียต ดังที่มีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า

 

อสัญกรรมของสตาลินทำให้เหมาสามารถรักษาความเป็นอิสระของจีนจากเครมลิน และถึงขั้นเป็นอิสระจากการครอบงำทางอุดมการณ์ในค่ายสังคมนิยมของมอสโกในขบวนการปฏิวัติคอมมิวนิสต์โลก มอสโกไม่ใช่พลังแห่งการปฏิวัติอีกต่อไปแล้ว เหมาต่างหากที่เป็นผู้สืบทอดประเพณีการปฏิวัติ ส่วนครุสชอฟนั้นเล่าเป็นใคร? ก็แค่ข้ารัฐการของพรรคและหนึ่งในบรรดาผู้นำที่ไม่เคยมีส่วนร่วมในการปฏิวัติหรือในการสถาปนารัฐใหม่ เหมามองว่าตนเองยืนอยู่สูงกว่าผู้นำโซเวียตในลำดับชั้นของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์สากล ครุสชอฟเมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเคยระบายความรู้สึกโมโหลงในเทปบันทึกเสียงว่า “เหมามองตัวเองเป็นพระเจ้า คาร์ล มากซ์กับเลนินตายไปหมดแล้ว เหมามองว่าในโลกนี้มีใครอีกแล้วที่เทียบเท่ากับตน”[3]

 

            นอกจากนี้ เหมาเจ๋อตงยังมองการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหภาพโซเวียตสมัยครุสชอฟด้วยความกังวลใจ โดยเฉพาะข้อเสนอของครุสชอฟต่อสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1955 ที่จะทำข้อตกลงห้ามการทดลองนิวเคลียร์ (nuclear test ban) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับโลกทุนนิยม (peaceful coexistence) ที่ประกาศอย่างเป็นทางการในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1956 ดังนั้น มติของสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1958 ซึ่งประณามยูโกสลาเวียและเรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกร่วมมือกันต่อสู้กับลัทธิแก้จึงเปรียบเสมือนการส่งสัญญาณทางอ้อมให้ครุสชอฟยุตินโยบายดังกล่าว[4] แต่คำเตือนของเหมาก็ไม่เป็นผล และนโยบายดังกล่าวของครุสชอฟก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตเสื่อมลงจนกลายเป็นศัตรูกันอย่างเปิดเผยเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1960 โดยจีนได้ตราหน้าครุสชอฟว่าเป็นพวกลัทธิแก้เฉกเช่นติโต

            ในต้นทศวรรษ 1960 ยูโกสลาเวียกับสหภาพโซเวียตได้กลับมาสมานไมตรีกันอีกครั้ง เลโอนิด เบรชเนฟ (Leonid Brezhnev) ประธานาธิบดีแห่งสหภาพโซเวียตเดินทางเยือนกรุงเบลเกรดในเดือนกันยายน ค.ศ. 1962 และติโตก็เดินทางเยือนกรุงมอสโกในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน ซึ่งทำให้จีนไม่พอใจและประณามยูโกสลาเวียมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อยูโกสลาเวียประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1963 หนังสือพิมพ์ ประชาชนรายวัน (เหรินหมินรื่อเป้า) และนิตยสาร ปักกิ่งปริทัศน์รายสัปดาห์ (เป่ยจิงโจวเป้า) ได้ตีพิมพ์บทความที่ชี้ให้เห็นว่า ยูโกสลาเวียกำลังพัฒนาเศรษฐกิจไปในเส้นทางสายทุนนิยมและรับใช้ผลประโยชน์ของลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกัน[5] ต่อมาในวันที่ 26 กันยายนของปีเดียวกัน ฝ่ายบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ประชาชนรายวัน (เหรินหมินรื่อเป้า) และนิตยสาร ธงแดง (หงฉี) ได้เผยแพร่บทความชื่อว่า “ยูโกสลาเวียคือประเทศสังคมนิยมหรือไม่?” โดยระบุว่ากลุ่มผู้นำของยูโกสลาเวียได้นำพาประเทศไปสู่การเป็นลัทธิแก้ โดยที่สหภาพโซเวียตเองก็เดินตามเส้นทางของยูโกสลาเวียไปด้วย[6]

            จะเห็นได้ว่า ความพยายามของจีนในการตัดสินความถูกผิดในโลกสังคมนิยมนั้นนำไปสู่ปัญหาในความสัมพันธ์กับทั้งยูโกสลาเวียและสหภาพโซเวียต อีกทั้งยังทำให้ประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกต้องเลือกข้างว่าจะอยู่ข้างจีนหรือสหภาพโซเวียต เพราะในต้นทศวรรษ 1960 จีนประกาศชัดเจนว่าพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ จะต้องเลือกเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งระหว่างลัทธิมากซ์-เลนิน หรือลัทธิแก้ของยูโกสลาเวียซึ่งในขณะนั้นรวมเอาสหภาพโซเวียตเข้าไปด้วย[7] ในที่สุดประเทศในยุโรปตะวันออกส่วนใหญ่เลือกเข้าข้างสหภาพโซเวียต ยกเว้นแอลเบเนียที่หันมามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีน ทั้งนี้เป็นเพราะแอลเบเนียมีข้อพิพาทกับยูโกสลาเวียในเรื่องดินแดนโคโซโว (Kosovo) และไม่พอใจที่สหภาพโซเวียตสมานไมตรีกับยูโกสลาเวีย[8] วันปลดปล่อยแอลเบเนียซึ่งตรงกับวันที่ 29 พฤศจิกายนของทุกปีจึงกลายเป็นโอกาสที่ผู้นำจีนจะแสดงทัศนะของตนด้วยการส่งสาส์นไปอวยพร โดยมีเนื้อหาชื่นชมลัทธิสังคมนิยมของแอลเบเนียและประณามลัทธิแก้ของยูโกสลาเวียและสหภาพโซเวียต[9]


-----------------------------------------------------
[1] A. Ross Johnson, ibid., 189.
[2] Vladislav Zubok and Constantine Pleshakov, Inside the Kremlin’s Cold War: From Stalin to Khrushchev (Cambridge, MA: Harvard University Press, 1996), 213-214.
[3] Ibid., 215.
[4] Roderick MacFarquhar, The Origins of the Cultural Revolution 2: The Great Leap Forward 1958-1960 (New York: Columbia University Press, 1983), 71-72;  Allan S. Whiting, “The Sino-Soviet Split,” in The Cambridge History of China Volume 14 The People’s Republic, Part I: The Emergence of Revolutionary China 1949-1965, eds. Roderick MacFarquhar and John K. Fairbank (New York: Cambridge University Press, 1987), 487-488.   
[5] Peking Review, 17 May 1963, 11-13.
[6] “Is Yugoslavia a Socialist Country?,” Comment on the Open Letter of the Central Committee of the CPSU (III) by the Editorial Departments of Renmin Ribao (People’s Daily) and Hongqi (Red Flag), 26 September 1963, available from https://www.marxists.org/history/international/comintern/sino-soviet-split/cpc/yugoslavia.htm, accessed 4 October 2015. 
[7] Roderick MacFarquhar, The Origins of the Cultural Revolution 3: The Coming of the Cataclysm 1961-1963 (New York: Columbia University Press, 1997), 349.
[8] ประทุมพร วัชรเสถียร, พฤติกรรมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของยุโรปตะวันออก: ปัญหาและการวิเคราะห์ (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2527), 69-73, 181-184.
[9] Peking Review, 2 December 1966, 9-11, 27; Peking Review, 1 December, 1967, 6-7.

ไม่มีความคิดเห็น: