วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 6)


ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับไต้หวัน

            แม้ว่าการที่จีนสนับสนุนให้เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติพร้อมกันใน ค.ศ. 1991 และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้ใน ค.ศ. 1992 จะเป็นไปเพื่อสนองผลประโยชน์ของจีนในยุคปฏิรูปและเปิดประเทศ หากแต่การตัดสินใจดังกล่าวซึ่งสะท้อนนโยบายสองเกาหลีของจีนนั้นทำให้จีนกังวลว่าจะนำไปสู่ข้ออ้างของไต้หวันในการมีสองจีน (Two Chinas) ดังนั้นเมื่อทางการจีนออก สมุดปกขาวว่าด้วยปัญหาไต้หวันและการรวมชาติของจีน ใน ค.ศ. 1993 จึงได้อธิบายว่ากรณีของไต้หวันนั้นแตกต่างไปจากเกาหลี กล่าวคือ

 

                ควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้ว่าปัญหาไต้หวันเป็นเรื่องภายในของจีนอย่างแท้จริง และไม่อาจเทียบได้กับกรณีของเยอรมนีและเกาหลีอันเป็นผลจากข้อตกลงระหว่างประเทศเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นจึงไม่ควรนำปัญหาไต้หวันไปวางไว้ในระนาบเดียวกับสถานการณ์ในเยอรมนีและเกาหลี รัฐบาลจีนคัดค้านตลอดมาที่จะนำสูตรของเยอรมนีหรือเกาหลีมาใช้กับไต้หวัน ปัญหาไต้หวันควรได้รับการแก้ไขโดยการเจรจาแบบทวิภาคีภายใต้กรอบจีนเดียว[1]

 

            นโยบายสองเกาหลีของจีนส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อทั้งเกาหลีเหนือและไต้หวัน กล่าวคือ เกาหลีเหนือได้สูญเสียพันธมิตรที่เคยให้การอุปถัมภ์แก่ตนมาเป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษ ขณะที่ไต้หวันต้องยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้ซึ่งเป็นฐานที่มั่นทางการทูตแห่งสุดท้ายของไต้หวันในทวีปเอเชีย จึงเป็นเหตุให้เกาหลีเหนือกับไต้หวันหันมาร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับจีน โดยหลังจากที่จีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้ได้เพียง 3 วัน ไต้หวันก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางผ่านฮ่องกงและกรุงปักกิ่งเพื่อไปติดต่อกับเกาหลีเหนือ และนำไปสู่การพบปะกันระหว่างผู้แทนของทั้ง 2 ฝ่าย ณ ประเทศสิงคโปร์จนมีการตั้งศูนย์ประสานงานระหว่างกัน ณ กรุงเปียงยางและกรุงไทเปในปีนั้น ต่อมาในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1993 เรือสินค้าของเกาหลีเหนือได้เข้ามาเทียบท่าบนเกาะไต้หวันเป็นครั้งแรก[2] และในต้น ค.ศ. 1995 ซึ่งเกาหลีใต้กับไต้หวันกำลังแข่งขันกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ ค.ศ. 2002 อยู่นั้น เกาหลีเหนือได้สนับสนุนเมืองเกาสุง (Kaohsiung) ของไต้หวัน ซึ่งเท่ากับท้าทายจีนที่สนับสนุนเมืองปูซาน (Busan) ของเกาหลีใต้[3]

            การก่อตัวของความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับไต้หวันเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวันกำลังเสื่อมลง อันเป็นผลมาจากกระบวนการเป็นประชาธิปไตยของไต้หวันและ “การทูตวันหยุด” (vacation diplomacy) ของประธานาธิบดีหลี่เติ้งฮุย (Lee Teng-hui) ที่ต้องการขยายพื้นที่ทางการทูตของไต้หวันในเวทีโลกจนทำให้จีนต้องซ้อมรบเพื่อข่มขู่ระหว่างที่เขาหาเสียงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อ ค.ศ. 1996 และแล้วประเด็นเกี่ยวกับไต้หวันที่ส่งผลกระทบทางลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือก็เกิดขึ้นในวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1997 เมื่อเกาหลีเหนือลงนามในข้อตกลงกับบริษัทไถเตี้ยน (Taipower) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของไต้หวันอันมีใจความว่า เกาหลีเหนืออนุญาตให้ไต้หวันนำกากนิวเคลียร์จำนวน 60,000 บาร์เรลมาทิ้งในเกาหลีเหนือได้โดยเสียเงินให้แก่เกาหลีเหนือบาร์เรลละ 1,135 เหรียญสหรัฐ[4] ทำให้เสิ่นกั๋วฟ่าง (Shen Guofang) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนออกมาแถลงว่าการกระทำของไต้หวันในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งแยกไต้หวันออกจากจีนและเป็นการจงใจทำลายความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ[5] ซึ่งเท่ากับจีนตำหนิเกาหลีเหนือในทางอ้อม  

 
 

               ฮวางจางย็อป (คนที่ 2 นับจากซ้าย) ถ่ายที่กรุงเปียงยางเมื่อ ค.ศ. 1980
 
 
 

การลี้ภัยของฮวางจางย็อป

            ฮวางจางย็อป (Hwang Jang Yop ค.ศ. 1923 - 2010) เป็นผู้นำระดับสูงของเกาหลีเหนือ เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาประชาชนสูงสุดช่วง ค.ศ. 1972-1983 และนับจาก ค.ศ. 1993 เป็นต้นมา เขามีตำแหน่งเป็นเลขานุการพรรคกรรมกรเกาหลีที่ดูแลด้านการต่างประเทศ และประธานคณะกรรมการต่างประเทศของสภาประชาชนสูงสุด เขามีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ปรัชญาจูเชของคิมอิลซุงในต่างประเทศ ดังที่ใน ค.ศ. 1988 เขาได้เป็นประธานสถาบันวิจัยอุดมการณ์จูเช (Juche Ideology Research Institute) และใน ค.ศ. 1995 เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิอุดมการณ์จูเชนานาชาติ (International Juche Ideology Foundation) แต่หลังจากคิมอิลซุงถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างฮวางจางย็อปกับผู้นำคนใหม่อย่างคิมจองอิลก็เป็นไปอย่างไม่ราบรื่น โดยฮวางจางย็อปมองว่าคิมจองอิลใช้ปรัชญาจูเชเพื่อสร้างอำนาจกดขี่ประชาชน ขณะเดียวกันคิมจองอิลก็สังเกตเห็นว่าฮวางจางย็อปมิได้สนับสนุนปรัชญาจูเชอย่างแข็งขันเหมือนในอดีต จนคิมจองอิลเคยถึงกับบังคับให้ฮวางจางย็อปยอมรับความผิดในข้อนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1996[6] ฮวางจางย็อปจึงเริ่มปรึกษากับคิมด็อกฮุง (Kim Dok Hong) คนสนิทของเขาเพื่อวางแผนหลบหนีจากเกาหลีเหนือ และโอกาสที่เหมาะสมก็มาถึงเมื่อทั้งคู่เดินทางไปร่วมงานสัมมนาว่าด้วยปรัชญาจูเช ณ กรุงโตเกียวตั้งแต่วันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1997[7] และต้องมาแวะพัก ณ กรุงปักกิ่งก่อนเดินทางกลับประเทศ พวกเขาจึงใช้โอกาสนี้เข้าไปขอลี้ภัย ณ สถานทูตเกาหลีใต้ในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ของปีนั้น  

            การลี้ภัยของฮวางจางย็อปผู้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ปรัชญาจูเชส่งผลกระทบต่อความชอบธรรมของพรรคกรรมกรเกาหลีเป็นอย่างยิ่ง เกาหลีเหนือจึงเรียกร้องให้จีนส่งตัวเขากลับประเทศโดยอ้างว่าเขาถูกเกาหลีใต้ลักพาตัว ดังรายงานของสำนักข่าวกลางเกาหลี (Korean Central News Agency – KCNA) ที่อ้างคำพูดของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือว่า

 

ถ้าฮวางจางย็อปอยู่ใน สถานทูตเกาหลีใต้ในกรุงปักกิ่งจริง แสดงว่าเขาถูกศัตรูลักพาตัวไป เรากำลังหาข้อมูลจากฝ่ายจีนผ่านช่องทางต่างๆ ถ้าเป็นที่กระจ่างชัดว่าเจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้ลักพาตัวเขาไปโดยอ้างว่าเป็นการขอ ลี้ภัยเราจะถือว่านี่เป็นเรื่องร้ายแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและจะต้องดำเนินมาตรการตอบโต้อย่างเหมาะสม เราหวังว่าฝ่ายจีนจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมในกรณีนี้[8]

 

            อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ และภาพลักษณ์ทางลบของเกาหลีเหนือในสายตาของนานาชาติทำให้จีนไม่อาจทำตามข้อเรียกร้องของเกาหลีเหนือได้ อีกทั้งยังนำกำลังตำรวจเข้าไปรักษาความปลอดภัยรอบสถานทูตเกาหลีใต้เพื่อป้องกันมิให้เกาหลีเหนือส่งคนบุกเข้ามานำตัวฮวางจางย็อปกลับประเทศอีกด้วย ถังเจียเสวียนบอกกับชูจางจุน (Chu Chang Joon) ทูตเกาหลีเหนือประจำกรุงปักกิ่งว่า เมื่อพิจารณาจากความรู้สึกของนานาชาติและความถูกต้องแล้ว จีนไม่อาจส่งตัวฮวางจางย็อปกลับไปให้เกาหลีเหนือได้[9] คำปฏิเสธของจีนทำให้ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1997 กระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือต้องออกแถลงการณ์ยินยอมให้ฮวางจางย็อปเดินทางไปยังเกาหลีใต้ได้ ทางการจีนจึงรักษาหน้าของเกาหลีเหนือด้วยการให้เขาเดินทางไปแวะพักที่ประเทศที่ 3 คือฟิลิปปินส์ ก่อนเดินทางไปยังกรุงโซลในที่สุด

---------------------------------------

                        [1] The Taiwan Question and Reunification of China (Beijing: Taiwan Affairs Office and Information Office of the State Council, 1993), available from http://www.china.org.cn/english/7953.htm, accessed 10 September 2013.
                        [2]ไถเฉาเหอเฟ่ยเลี่ยวเจิงตวนมี่มี่,” (ความลับเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องกากนิวเคลียร์ระหว่างไต้หวันกับเกาหลีเหนือ) เฟิ่งหวงโจวคาน (เฟิ่งหวงรายสัปดาห์) ฉบับที่ 10 (2013), สืบค้นจาก http://www.fhzk.cn/?article-383.html, เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2013.
                [3] Lee, China and North Korea, 198.
                [4] North Korea Agrees to Take Taiwan Atom Waste for Cash,” The New York Times, 7 February 1997, available from http://www.nytimes.com, accessed 3 September 2013.
                [5] Beijing Attacks Taiwan-N. Korea Deal on Nuclear Waste,” China News Digest, 3 February 1997, available from http://www.cnd.org/CND-Global/CND-Global.97.1st/CND-Global.97-02-02.html, accessed 9 September 2013; “Battle over Nuclear Waste,” Asiaweek, 14 February 1997, available from http://edition.cnn.com/ASIANOW/asiaweek/97/0214/nat4.html, accessed 9 September 2013.
                [6] “Hwang Jang-yop Holds Press Conference To Explain Why He Defected from North Korea,” FAS News, 21 July 1997, available from http://www.fas.org/news/dprk/1997/bg152.html, accessed 9 September 2013.
                [7] เกาหลีเหนือให้ความสำคัญกับการระดมเสียงสนับสนุนจากชาวเกาหลีที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก โปรดดูนโยบายของเกาหลีเหนือต่อชาวเกาหลีโพ้นทะเลได้ใน จูปังฮวาน, เกาหลีปริทัศน์, แปลโดย จูปิเตอร์ (กรุงเทพฯ: บางกอกบล๊อก, 2532), 95-98.
                [8] “Top N. Korean Official Reportedly Defects,” Los Angeles Times, 13 February 1997, available from http://articles.latimes.com/1997-02-13/news/mn-28299_1_north-korean, accessed 9 September 2013.
                [9] Chae-Jin Lee and Stephanie Hsieh, “China’s Two-Korea Policy at Trial: The Hwang Chang Yop Crisis,” Pacific Affairs, 74 (Fall 2001): 330.  

ไม่มีความคิดเห็น: