วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 5)


ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ

ในกลางทศวรรษ 1990

 

            แม้จีนจะให้ความเห็นชอบต่อคิมจองอิลในฐานะผู้นำคนใหม่ของเกาหลีเหนือ แต่ก็กล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือในกลางทศวรรษ 1990 นั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ เติ้งเสี่ยวผิงไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนอีกเลยหลังเทศกาลตรุษจีน ค.ศ. 1994 จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในอีก 3 ปีถัดมา การจากไปของทั้งคิมอิลซุงและเติ้งเสี่ยวผิงที่เป็นนักปฏิวัติในเวลาห่างกันไม่กี่ปีส่งผลให้การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือตกอยู่ในมือของผู้นำรุ่นใหม่ที่ไม่สนิทสนมกันเหมือนแต่ก่อน และยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลในทางลบต่อความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทัศนะของคิมจองอิลที่มีต่อจีน การถอนตัวของเกาหลีเหนือออกจากคณะกรรมาธิการสงบศึกทางทหาร ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับไต้หวัน และการลี้ภัยของฮวางชางย็อป

 

ทัศนะของคิมจองอิลที่มีต่อจีน

            คิมจองอิลเคยใช้ชีวิตอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนแต่เพียงช่วงสั้นๆ ระหว่างสงครามเกาหลีในต้นทศวรรษ 1950 ต่างจากบิดาของเขาที่ได้รับการศึกษาและอาศัยอยู่ในจีนเป็นระยะเวลานานจนพูดภาษาจีนได้ และถึงแม้ว่าเขาจะได้รับการรับรองสถานะทายาททางการเมืองจากจีนมาตั้งแต่ ค.ศ. 1983 แต่การเยือนกรุงปักกิ่งในปีนั้นก็มิได้ทำให้เขากับผู้นำของจีนมีความสนิทสนมกันเหมือนอย่างคิมอิลซุง รวมทั้งเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าคิมจองอิลมิได้เดินทางเยือนจีนอีกเลยจนกระทั่ง ค.ศ. 2000 นอกจากนี้ เขายังมองนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของเติ้งเสี่ยวผิงในทางลบ และเกาหลีเหนือในยุคของเขาก็ยังยึดมั่นในปรัชญาจูเชอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ดังที่เขาเขียนบทความเรื่อง “ลัทธิสังคมนิยมเป็นวิทยาศาสตร์ (Socialism is a Science)” ลงในหนังสือพิมพ์ ข่าวกรรมกร (Radong Sinmun) ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพรรคกรรมกรเกาหลี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1994 ความตอนหนึ่งว่า  

 

            ในสังคมแบบสังคมนิยมนั้น การเปลี่ยนแปลงมนุษย์หรือการปลุกปั้นทางอุดมการณ์เป็นเรื่องที่ต้องมาก่อนและสำคัญยิ่งกว่าการสร้างเงื่อนไขทางวัตถุและทางเศรษฐกิจให้แก่ลัทธิสังคมนิยม เราจะขับเคลื่อนพลังแห่งการปฏิวัติและสร้างลัทธิสังคมนิยมให้สำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเราให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงมนุษย์เสียก่อน ถ้าหากการปลุกปั้นทางอุดมการณ์ในหมู่มวลชนกลายเป็นเรื่องลำดับรองและไม่มีการทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับพลังขับเคลื่อนการปฏิวัติ แต่กลับไปให้ความสำคัญกับเงื่อนไขทางวัตถุและทางเศรษฐกิจที่เป็นวัตถุวิสัยโดยมุ่งไปที่การสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว การสร้างลัทธิสังคมนิยมในภาพรวมก็จะเป็นไปอย่างไม่ถูกต้องและการสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจจะประสบกับความชะงักงัน การทำเช่นนี้ปรากฏให้เห็นในบางประเทศที่เคยสร้างลัทธิสังคมนิยมมาก่อน ผู้ที่เป็นกบฏต่อลัทธิสังคมนิยมเหล่านี้ได้ดำเนินการ “ปฏิรูป” และกระทำการแบบปฏิปักษ์ปฏิวัติ ซึ่งเท่ากับทำลายระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมไปในตัว[1]

 
 
 
การถอนตัวของเกาหลีเหนือออกจากคณะกรรมาธิการสงบศึกทางทหาร

            ข้อตกลงสงบศึกในสงครามเกาหลีเมื่อ ค.ศ. 1953 กำหนดตั้งคณะกรรมาธิการขึ้น 2 ชุด ได้แก่ (1) คณะกรรมาธิการสงบศึกทางทหาร (Military Armistice Commission – MAC) อันประกอบไปด้วยผู้แทนจากจีน เกาหลีเหนือ และสหประชาชาติ และ (2) คณะกรรมาธิการอำนวยการของชาติที่เป็นกลาง (Neutral Nations Supervisory Commission – NNSC) อันประกอบไปด้วยผู้แทนจากประเทศโลกสังคมนิยมอย่างเชโกสโลวะเกียและโปแลนด์ กับผู้แทนประเทศจากประเทศโลกเสรีที่เป็นกลางอย่างสวิตเซอร์แลนด์และสวีเดน ซึ่งคณะกรรมาธิการเหล่านี้ทำหน้าที่ดูแลให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามข้อตกลงสงบศึก แต่เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1990 การสิ้นสุดของสงครามเย็นและการล่มสลายของโลกสังคมนิยมทำให้เกาหลีเหนือซึ่งไม่มั่นใจว่าข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นหลักประกันความมั่นคงของตนได้อีกต่อไปนั้นเรียกร้องที่จะทำข้อตกลงสันติภาพกับสหรัฐอเมริกา โดยใน ค.ศ. 1993 เกาหลีเหนือได้ขับไล่ผู้แทนจากสาธารณรัฐเช็กออกจากคณะกรรมาธิการอำนวยการของชาติที่เป็นกลางโดยอ้างว่าไม่มีประเทศเชโกสโลวะเกียอีกต่อไปแล้ว[2] ต่อมาในวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1994 เกาหลีเหนือได้ถอนผู้แทนของตนออกจากคณะกรรมาธิการสงบศึกทางทหารเช่นกัน รวมทั้งร้องขอให้จีนถอนตัวด้วย ทำให้ในวันที่ 2 กันยายนของปีนั้น ถังเจียเสวียน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนประกาศว่าการถอนตัวของเกาหลีเหนือทำให้คณะกรรมาธิการสงบศึกทางทหารไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้อีกต่อไป จีนจึงตัดสินใจถอนตัวออกจากคณะกรรมาธิการดังกล่าวและเห็นด้วยกับเกาหลีเหนือที่จะให้มีการเจรจาเพื่อทำข้อตกลงสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี[3]

            อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือมีจุดยืนที่แตกต่างไปจากจีนในการทำข้อตกลงสันติภาพ กล่าวคือ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1995 เกาหลีเหนือเสนอขอเจรจาสันติภาพแบบทวิภาคีกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งจีนได้คัดค้านโดยระบุว่าข้อเสนอของเกาหลีเหนือนั้น “เป็นไปไม่ได้ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และไม่มีเหตุผล” เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของเกาหลีใต้[4] (อีกทั้งยังเป็นการกีดกันจีนออกจากการตัดสินใจที่จะมีผลต่อคาบสมุทรเกาหลีซึ่งเป็นผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีน – ผู้วิจัย) ซึ่งจุดยืนของจีนสอดคล้องกับจุดยืนของสหรัฐอเมริกา ดังนั้นเมื่อประธานาธิบดีบิล คลินตัน และประธานาธิบดีคิมยังซัม (Kim Young Sam) ของเกาหลีใต้ได้ประชุมสุดยอดกันในเดือนเมษายน ค.ศ. 1996 และเสนอให้มีการประชุม 4 ฝ่าย (four-party talks) ระหว่างสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ และจีนเพื่อทำข้อตกลงสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี จีนก็แสดงความเห็นชอบจนนำไปสู่การจัดประชุมครั้งแรก ณ นครเจนีวาเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1997 แต่ก็ไม่มีความคืบหน้ามากนักเนื่องจากเกาหลีเหนือยังคงเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาถอนทหารออกไปจากเกาหลีใต้ก่อนการทำข้อตกลงสันติภาพ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สหรัฐอเมริกาไม่อาจยอมได้ ต่อมาในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1998 เกาหลีเหนือได้ท้าทายสหรัฐอเมริกาด้วยการทดลองยิงขีปนาวุธแทโปดอง (Taepodong I) ข้ามหมู่เกาะญี่ปุ่นไปตกในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเกาหลีเหนือมิได้แจ้งให้จีนทราบล่วงหน้า และเมื่อทางการจีนขอให้เกาหลีเหนือชี้แจงเรื่องนี้ เกาหลีเหนือก็ตอบกลับไปว่าแต่ละประเทศมีสิทธิในการพัฒนาโครงการของตนเองโดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก[5] 


---------------------------------------------------------------


                        [1] Kim Jong Il, “Socialism is a Science,” Rodong Sinmun, 1 November 1994, 1, available from http://www.uk-songun.com, accessed 2 September 2013. 
                        [2] เชโกสโลวะเกียแยกเป็น 2 ประเทศคือ สาธารณรัฐเช็ก และสาธารณรัฐสโลวัก เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1992 และต่อมาในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 1995 เกาหลีเหนือก็ได้ขับไล่ผู้แทนจากโปแลนด์ออกไปเช่นกัน นัยว่าไม่พอใจที่รัฐบาลโปแลนด์หลังยุคสังคมนิยมต้องการเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization – NATO)
                [3] James Sterngold, “China, Backing North Korea, Quits Armistice Commission,” New York Times, 3 September 1994, available from http://www.nytimes.com, accessed 18 August 2013.
                [4] Korea Herald, 26 September 1995, cited in Chae-Jin Lee, “China and North Korea: An Uncertain Partnership,” in North Korea after Kim Il Sung, ed. Dae-Sook Suh and Chae-Jin Lee (Boulder, CO: Lynne Rienner Publishers, 1998), 204.
                        [5] เอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์, “เกาหลีเหนือ,” ใน เอเชียรายปี 1999/2542, บก. วัชรินทร์ ยงศิริ, พรพิมล ตรีโชติ และชปา จิตต์ประทุม (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542), 216.

ไม่มีความคิดเห็น: