วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 4)


จีนกับการสืบทอดอำนาจทางการเมืองในเกาหลีเหนือจากคิมอิลซุงสู่คิมจองอิล
 

            ในช่วงเวลาเดียวกันกับวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือครั้งที่ 1 ได้มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือเกิดขึ้น นั่นคือ การปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งสุดท้ายของเติ้งเสี่ยวผิงเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1994 (ก่อนถึงแก่อสัญกรรมในอีก 3 ปีต่อมา) และการถึงแก่อสัญกรรมของคิมอิลซุงเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมของปีเดียวกัน โดยมีคิมจองอิลผู้เป็นบุตรชายขึ้นสืบทอดอำนาจแทน เติ้งเสี่ยวผิงกับคิมอิลซุงมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมายาวนานหลายสิบปี ดังที่คิมอิลซุงเรียกเติ้งว่า “พี่ชาย” รวมทั้งสอนให้คิมจองอิลเรียกเติ้งว่า “ลุง”[1] และหลังจากที่นิโคไล เชาเชสกู (Nicholae Ceaucescu) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียหมดอำนาจและถูกสังหารไปเมื่อ ค.ศ. 1989 คิมอิลซุงก็กลายเป็น “สหายเก่า” ชาวต่างประเทศในโลกสังคมนิยมคนเดียวที่เหลืออยู่ของเติ้งเสี่ยวผิง การจากไปของผู้นำที่เป็นนักปฏิวัติทั้ง 2 คนในเวลาไล่เลี่ยกันส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือในระดับผู้นำนั้นมีความสนิทสนมกันน้อยลง      

            จีนรับทราบมาเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษแล้วว่าคิมจองอิลจะเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากบิดา เพราะคิมอิลซุงได้เคยแจ้งให้เหมาเจ๋อตงทราบระหว่างเยือนกรุงปักกิ่งเมื่อ ค.ศ. 1975 ซึ่งเหมาแสดงความไม่เห็นด้วยโดยระบุว่าไม่เคยมีการสืบทอดอำนาจทางสายโลหิตในโลกสังคมนิยม และการทำเช่นนี้ขัดกับหลักการของลัทธิคอมมิวนิสต์[2] แต่คิมอิลซุงก็ยังคงเดินหน้าตามแผนการของตนต่อไป โดยในการประชุมสมัชชาพรรคกรรมกรเกาหลีครั้งที่ 6 เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1980 คิมจองอิลในวัย 38 ปีได้รับเลือกให้เป็นกรรมการกรมการเมืองลำดับที่ 4 และเมื่อถึง ค.ศ. 1982 ก็ได้รับการยกย่องเป็น “วีรบุรุษแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี” อีกทั้งยังออกหนังสือ ว่าด้วยความคิดจูเช่ (On the Juche Idea) ซึ่งเท่ากับเป็นการประกาศว่าตนเป็นตัวแทนทางความคิดของบิดา[3] การสร้างลัทธิบูชาบุคคล (cult of personality) ให้กับคิมจองอิลนั้นตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับความคิดของเติ้งเสี่ยวผิงผู้ตระหนักถึงหายนะอันใหญ่หลวงที่เกิดจากลัทธิดังกล่าวในจีนยุคปฏิวัติวัฒนธรรม แต่เติ้งก็มิได้คัดค้านเรื่องนี้อย่างเปิดเผย ทั้งนี้เป็นเพราะเขาเคยวางหลักการไว้เมื่อ ค.ศ. 1980 ว่าประเทศสังคมนิยมทั้งหลายมีสิทธิที่จะปรับลัทธิมากซ์-เลนินให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศ และจีนจะไม่เป็นผู้ตัดสินความถูกผิดของลัทธิสังคมนิยมในประเทศอื่นๆ[4] อีกทั้งในขณะนั้นจีนยังคงมีความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียต ซึ่งหากจีนสร้างความไม่พอใจให้กับคิมอิลซุง เกาหลีเหนือก็อาจหันไปพึ่งพาสหภาพโซเวียตมากยิ่งขึ้น จีนจึงต้อนรับการมาเยือนของคิมจองอิลในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1983 อย่างยิ่งใหญ่ โดยมีผู้นำระดับสูงอย่างเติ้งเสี่ยวผิง หูเย่าปัง หลี่เซียนเนี่ยน และจ้าวจื่อหยางออกมาต้อนรับ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองสถานะทายาททางการเมืองของคิมจองอิลไปโดยปริยาย แต่การเยือนในครั้งนั้นมิได้ทำให้ผู้นำของจีนมีความสนิทสนมกับเขาเฉกเช่นที่มีกับคิมอิลซุง และเป็นที่น่าสังเกตว่าคิมจองอิลมิได้เดินทางเยือนจีนอีกเลยจนกระทั่ง ค.ศ. 2000 ต่างจากบิดาของเขาที่เดินทางเยือนจีนเกือบทุกปี
 
                   เจียงเจ๋อหมินพบปะกับคิมอิลซุงในการเยือนกรุงเปียงยาง ค.ศ. 1990
 
 

            ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่คิมอิลซุงถึงแก่อสัญกรรม คิมจองอิลได้ส่งผู้แทนเดินทางมายังกรุงปักกิ่งอย่างเร่งด่วนเพื่อดูท่าทีของจีน ผู้แทนของเขาได้พบกับเจียงเจ๋อหมิน หลี่เผิง และเฉียวสือ (Qiao Shi ประธานสภาผู้แทนประชาชน) ซึ่งทั้ง 3 คนได้ให้การรับรองคิมจองอิลเป็นผู้นำคนใหม่ของเกาหลีเหนือ ดังปรากฏในรายงานข่าวของทางการจีนเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1994 ความว่า

           

            สหายคิมอิลซุงเป็นผู้ที่รักษาและส่งเสริมมิตรภาพที่สืบทอดกันมาระหว่างประชาชนจีนกับประชาชนเกาหลีตลอดมา เขารักษาไว้ซึ่งมิตรภาพกับบรรดานักปฏิวัติรุ่นอาวุโสของจีนและพยายามอย่างไม่ลดละที่จะให้ 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและร่วมมือกัน แม้ว่าสหายคิมอิลซุงจะจากไปแล้ว แต่ภาพลักษณ์อันสง่างามของเขาจะยังคงอยู่ในจิตใจของประชาชนเกาหลีเสมอ ประชาชนจีนจะจดจำเขาไว้ด้วยเช่นกัน เรามีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าประชาชนเกาหลีจะเดินตามแนวทางที่เขาวางเอาไว้ รวมกันเป็นหนึ่งภายใต้พรรคกรรมกรเกาหลีที่นำโดยสหายคิมจองอิล และพยายามสร้างประเทศให้เจริญก้าวหน้าเพื่อสันติภาพอันยั่งยืนบนคาบสมุทรเกาหลี[5]

 

            มีรายงานข่าวว่าเติ้งเสี่ยวผิงรู้สึกไม่พอใจท่าทีของผู้นำทั้ง 3 คนให้การสนับสนุนคิมจองอิลอย่างเปิดเผย เพราะการทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการเลือกข้างทางการเมืองและแทรกแซงกิจการภายในของเกาหลีเหนือ ดังที่เติ้งบอกกับเจียงเจ๋อหมินว่า  

 

            เราได้แต่เพียงหวังว่าคิมจองอิลจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้นำระดับสูงคนอื่นๆ ภายในพรรคกรรมกรเกาหลี เพื่อที่สถานการณ์จะได้มั่นคงและคิมจองอิลจะได้รับภาระหน้าที่อย่างราบรื่น แต่มีประเด็นหนึ่งที่เราต้องบอกให้สหายเกาหลีทราบอย่างชัดเจน นั่นคือ คิมจองอิลจะได้รับการสนับสนุนจากผู้นำส่วนใหญ่ของพรรคกรรมกรเกาหลีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง เราจะไม่กดดันฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของคิมจองอิลที่อาจมีอยู่ในพรรคกรรมกรเกาหลี เราจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของเกาหลีเหนือ[6]

 

            แต่ในที่สุด การสืบทอดอำนาจทางการเมืองในเกาหลีเหนือก็เป็นไปอย่างราบรื่น ผู้นำรุ่นอาวุโสที่เป็นนักปฏิวัติอย่างโอจินยูได้เสียชีวิตลงในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1995 ตามด้วยโชกวาง (Ch’oe Kwang) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1997 และคณะกรรมการกลางพรรคกรรมกรเกาหลีได้เลือกให้คิมจองอิลดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคในวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1997 และเจียงเจ๋อหมินก็ได้ส่งสาส์นแสดงความยินดีไปยังคิมจองอิลในวันเดียวกัน[7]


--------------------------------------------


                        [1] Benjamin Yang, Deng: A Political Biography (Armonk, NY: M.E. Sharpe, 1998), 270.
                [2] You Ji, “China and North Korea: a fragile relationship of strategic convenience,” Journal of Contemporary China 10(28): 389.  
                [3] Buzo, ibid., 105.  
                        [4] Selected Works of Deng Xiaoping (1975-1982) (Beijing: Foreign Languages Press, 1984), 300-301.
                [5] China Daily, 11 July 1994, cited in Lee, ibid., 129-130.
                        [6] Lo Ping, “Jiang Zemin Met North Korean Secret Envoy,” Chien Shao, 8 August 1994, cited in Yi, ibid., 133.
                [7] “Congratulatory message to General Secretary Kim Jong Il from President Jiang Zemin,” People’s Korea, 11 October 1997, available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/gen_secy_kim/kji_chrono/97101102.htm, accessed 3 September 2013.

ไม่มีความคิดเห็น: