การก่อตัวของความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการระหว่างจีนกับเกาหลีใต้
เกาหลีใต้ในช่วง ค.ศ. 1961
– 1979 ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการของประธานาธิบดีปักจุงฮีถือได้ว่าประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง
โดยใน ค.ศ. 1965 ประชากรเกาหลีใต้กว่าร้อยละ 40 ยังอยู่ใต้เส้นความยากจน (poverty line) แต่เมื่อถึง
ค.ศ. 1980 กลับลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 10 ขณะที่รายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มจาก 100 เหรียญสหรัฐในต้นทศวรรษ
1960 ไปเป็น 1,000 เหรียญสหรัฐเมื่อสิ้นทศวรรษถัดมา[1]
ความสำเร็จดังกล่าวเป็นที่สนใจของผู้นำจีนอยู่ไม่น้อย
โดยในการประชุมเพื่อปฏิรูประบบการค้ากับต่างประเทศเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1978
หลี่เซียนเนี่ยนซึ่งขณะนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีได้ตั้งคำถามว่า
“เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวันเป็นเพียงประเทศและเขตเล็กๆ แต่มูลค่าการนำเข้าและส่งออกของพวกเขาสูงกว่าเรามาก
ทำไมพวกเราจึงแซงหน้าพวกเขาไม่ได้”[2]
และในการประชุมปฏิบัติงานเพื่อเตรียมการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่
10 พฤศจิกายนถึงวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ.
1978 ก็ได้มีการหารือเกี่ยวกับตัวแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ
และหนึ่งในประเทศที่ถูกนำมาพิจารณาก็คือเกาหลีใต้[3]
นอกจากนี้ จีนยังเริ่มสนใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเกาหลีใต้อีกด้วย
ซึ่งสอดรับกับนโยบายของประธานาธิบดีปักจุงฮีที่ต้องการสานสัมพันธ์กับประเทศสังคมนิยมภายหลังการเยือนจีนของประธานาธิบดีนิกสันเมื่อ
ค.ศ. 1972 หรือเท่ากับเป็นการยกเลิกหลักการฮอลสไตน์ (The
Hallstein Doctrine) ในความสัมพันธ์กับต่างประเทศของเกาหลีใต้[4]
การค้าทางอ้อมระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ผ่านฮ่องกงและญี่ปุ่นเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1979
และเปลี่ยนเป็นการค้าทางตรงในอีก 2 ปีต่อมา
และเมื่อถึง ค.ศ. 1985 มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ก็แซงหน้ามูลค่าการค้าระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือไปอย่างถาวร
(ดูตารางที่ 1) โดยจีนส่งออกข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถ่านหิน สิ่งทอ
และไหมไปยังเกาหลีใต้ ส่วนเกาหลีใต้ส่งออกสินค้าจำพวกเหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า
อุปกรณ์สำหรับเครื่องจักร และปุ๋ยเคมีไปยังจีน[5]
และตลอดทศวรรษ 1980 จีนได้ผ่อนคลายกฎระเบียบที่เคยเข้มงวดหลายเรื่อง
ตัวอย่างเช่นแต่เดิมจีนไม่เคยเรียกชื่ออย่างเป็นทางการของเกาหลีใต้ แต่เรียกว่า “ก๊กหุ่นเชิดปักจุงฮี”
(The Park Chung Hee puppet clique) ด้วยถือว่ามีแต่รัฐบาลเปียงยางเท่านั้นที่เป็นรัฐบาลเกาหลีที่ชอบธรรม
แต่ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1983 เมื่อพลเรือนจีน 6 คนจี้เครื่องบินจากเมืองเสิ่นหยาง (Shenyang) ไปยังกรุงโซล
จีนก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปยังเกาหลีใต้เพื่อคลี่คลายปัญหา หรือที่เรียกกันว่า “การทูตจี้เครื่องบิน”
(hijack diplomacy)และเอกสารของจีนในครั้งนั้นได้เรียกเกาหลีใต้อย่างเป็นทางการว่า
“สาธารณรัฐเกาหลี”[6] และในปีถัดมาเมื่อนักกีฬาจากเกาหลีใต้มาร่วมแข่งขันเทนนิสที่เมืองคุนหมิง
(Kunming) จีนก็อนุญาตให้มีการประดับธงชาติเกาหลีใต้[7] นอกจากนี้จีนยังได้กำหนดกติกาใหม่ด้วยว่า
หากองค์การระหว่างประเทศใดที่จีนเป็นสมาชิกอยู่แล้วได้มอบหมายให้เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมแบบพหุภาคี
จีนก็สามารถส่งคนไปร่วมได้ และถ้าจีนเป็นเจ้าภาพในกรณีเดียวกัน เกาหลีใต้ก็สามารถส่งคนเดินทางมายังจีนได้เช่นกัน[8]
---------------------------------------------------
[4] Ahn
Byung-joon, “South Korea and the Communist Countries,” Asian Survey 20
(November 1980): 1102. หลักการดังกล่าวมาจากชื่อของวอลเตอร์
ฮอลสไตน์ (Walter Hallstein) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีตะวันตกที่ประกาศไว้เมื่อ
ค.ศ. 1955 ว่าประเทศของเขาจะตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับทุกประเทศที่รับรองเยอรมนีตะวันออก
(ยกเว้นสหภาพโซเวียต) ซึ่งเมื่อนำมาใช้ในกรณีนี้หมายถึงการที่เกาหลีใต้จะไม่มีความสัมพันธ์กับประเทศใดก็ตามที่รับรองเกาหลีเหนือ
[11] Ibid.,
113.
ตารางที่
1
มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้
ช่วง
ค.ศ. 1983 – 1989
ค.ศ.
|
มูลค่าการค้ากับเกาหลีเหนือ
(ล้านเหรียญสหรัฐ)
|
มูลค่าการค้ากับเกาหลีใต้
(ล้านเหรียญสหรัฐ)
|
1983
|
527.7
|
120
|
1984
|
498.2
|
434
|
1985
|
488.3
|
1,161
|
1986
|
509.3
|
1.289
|
1987
|
513.3
|
1,679
|
1988
|
579.0
|
3,087
|
1989
|
562.7
|
3,143
|
ที่มาของข้อมูล: Chae-Jin Lee, China and Korea: Dynamic Relations (Stanford,
CA: Hoover Institution Press, 1996), 140, 146.