วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 7)


 

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในทศวรรษ 1990

 

            เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือที่เน้นการพึ่งตนเองตามปรัชญาจูเชเริ่มประสบปัญหาเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1980 ทำให้ใน ค.ศ. 1987 คิมอิลซุงประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 7 ปีฉบับใหม่ที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและพึ่งพาการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น แต่แล้วเกาหลีเหนือก็ถูกซ้ำเติมจากการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเกาหลีเหนือในครึ่งหลังของทศวรรษ 1980 (ดูตารางที่ 3) โดยในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1990 สหภาพโซเวียตได้แจ้งให้เกาหลีเหนือทราบว่านับจากนี้การค้าระหว่าง 2 ประเทศจะดำเนินไปตามราคาตลาดและใช้เงินตราสกุลแข็ง (hard currency) เท่านั้น[1] จนทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross National Product – GNP) ของเกาหลีเหนืออยู่ในสภาวะติดลบ ขณะเดียวกันเกาหลีเหนือก็เริ่มประสบกับสภาวะขาดแคลนอาหารอันเป็นผลมาจากน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยในต้นทศวรรษ 1990 ทางการได้รณรงค์ให้ประชาชนรับประทานอาหารวันละ 2 มื้อ[2] และมีการประมาณการกันว่าในกลางทศวรรษนั้นเองมีชาวเกาหลีเหนือเสียชีวิตเนื่องจากขาดอาหารไม่ต่ำกว่า 2,000,000 คน[3]

            วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและความอดอยากในเกาหลีเหนือทำให้ตลอดทศวรรษ 1990 จีนให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่เกาหลีเหนืออย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการล่มสลายของระบอบการปกครองของตระกูลคิมและรักษาเสถียรภาพบนคาบสมุทรเกาหลีเอาไว้ ดังจะเห็นได้ว่าแม้จีนใน ค.ศ. 1991 จะแจ้งให้เกาหลีเหนือทราบแล้วว่านับจากนี้การค้าระหว่าง 2 ประเทศจะดำเนินไปตามราคาตลาด หากแต่ในทางปฏิบัติแล้วจีนยังคงใช้ “ราคามิตรภาพ” (friendship price) กับเกาหลีเหนืออยู่ต่อไป[4]  จนจีนกลายเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของเกาหลีเหนือแทนที่สหภาพโซเวียต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกน้ำมันไปยังเกาหลีเหนือ (ดูตารางที่ 4) แต่ในทางตรงกันข้าม การค้าระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือนั้นคิดเป็นมูลค่าน้อยมากจนเทียบไม่ได้เลยกับการค้าระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ (ดูตารางที่ 5) อันสะท้อนให้เห็นถึงการพึ่งพาซึ่งกันและกันแบบไม่สมดุล (asymmetrical interdependence) ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ นอกจากนี้จีนยังส่งอาหารไปบรรเทาความอดอยากในเกาหลีเหนืออีกด้วย โดยมีรายงานว่าใน ค.ศ. 1993 จีนส่งอาหารไปให้ 1,000,000 ตัน[5] ความอดอยากดังกล่าวยังนำมาซึ่งผู้ลี้ภัยที่ข้ามพรมแดนเข้ามาในจีนจนกลายเป็นปัญหาสำคัญเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2000





             ขณะเดียวกัน จีนยังคงพยายามชักจูงให้เกาหลีเหนือหันมาดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศเฉกเช่นจีน โดยในระหว่างการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรียอนเฮียงมุก (Yon Hyong Muk) เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1990 เจียงเจ๋อหมินได้พาเขาไปชมเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น (Shenzhen Special Economic Zone) พร้อมกับอธิบายว่าการปฏิรูปกับการเดินบนเส้นทางสังคมนิยมเป็นสิ่งที่ทำควบคู่กันไปได้[6] ต่อมาเมื่อเกาหลีเหนือทดลองเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1991 ด้วยการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจและการค้าเสรีนาจิน-ซอนบอง (Rajin-Sonbong Free Economic Trade Zone) ขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณแม่น้ำถูเหมินที่ติดกับรัสเซีย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจีนที่ร่วมมือกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Development Programme – UNDP) เพื่อพัฒนาลุ่มแม่น้ำถูเหมินเป็นสะพานให้มณฑลจี๋หลินมีทางออกสู่ทะเลญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า “โครงการพัฒนาเขตแม่น้ำถูเหมิน” (The Tumen River Area Development ProgrammeTRADP) จีนจึงได้เข้าไปลงทุนด้านการขนส่ง โรงแรม ภัตตาคาร โรงงานผลิตยา และโรงงานแปรรูปอาหารทะเล โดยในกลาง ค.ศ. 1998 มีบริษัทจีนจำนวน 63 บริษัทเข้าไปลงทุนในเขตดังกล่าว ของเกาหลีเหนือ หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของบริษัทต่างชาติทั้งหมดในเขตนั้น[7] แต่เมื่อถึงสิ้น ค.ศ. 1998 ทางการเกาหลีเหนือกลับชะลอการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ การพัฒนาในเขตเศรษฐกิจและการค้าเสรีนาจิน-ซอนบองจึงหยุดชะงักไปชั่วคราว

 

ตารางที่ 2

การเดินทางเยือนกันระหว่างผู้นำของจีนกับเกาหลีเหนือ

ระดับเลขาธิการพรรค ประธานาธิบดี ประธานรัฐสภา และนายกรัฐมนตรี ในทศวรรษ 1990

 

ค.ศ.
ฝ่ายจีน
ฝ่ายเกาหลีเหนือ
1990
เจียงเจ๋อหมิน เลขาธิการพรรค
คิมอิลซุง เลขาธิการพรรคและประธานาธิบดี
ยอนเฮียงมุก นายกรัฐมนตรี
1991
หลี่เผิง นายกรัฐมนตรี
คิมอิลซุง เลขาธิการพรรคและประธานาธิบดี
1992
หยางซ่างคุน ประธานาธิบดี
-
1993
-
-
1994
-
-
1995
-
-
1996
-
-
1997
-
-
1998
-
-
1999
-
คิมยองนัม ประธานสมัชชาประชาชนสูงสุด
ฮงซงนัม นายกรัฐมนตรี

ที่มาของข้อมูล: เว็บไซต์สถานทูตจีนประจำกรุงเปียงยาง http://kp.chineseembassy.org/chn/, สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2013  

 

ตารางที่ 3

มูลค่าการค้าระหว่างเกาหลีเหนือกับสหภาพโซเวียต/สหพันธรัฐรัสเซีย

จีน และญี่ปุ่น ช่วง ค.ศ. 1989-1998

(หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ)

 

ค.ศ.
สหภาพโซเวียต/สหพันธรัฐรัสเซีย
จีน
ญี่ปุ่น
1989
2,393
562
496
1990
2,564
483
476
1991
365
610
508
1992
292
697
480
1993
227
899
472
1994
140
624
493
1995
83
550
595
1996
65
566
518
1997
84
656
489
1998
65
413
395

ที่มาของข้อมูล: กระทรวงการรวมชาติของเกาหลีใต้ อ้างถึงใน Kongdan Oh and Ralph C. Hassig, North Korea through the Looking Glass (Washington D.C.: Brooking Institution Press, 2000), 44-45.


ตารางที่ 4

ปริมาณการส่งออกน้ำมันของจีนและสหภาพโซเวียต/สหพันธรัฐรัสเซียไปยังเกาหลีเหนือ

ช่วง ค.ศ. 1989 – 1992

(หน่วย: ล้านตัน)

 

ประเทศ
ค.ศ. 1989
ค.ศ. 1990
ค.ศ. 1991
ค.ศ. 1992
จีน
1.07
1.06
1.10
1.10
สหภาพโซเวียต/สหพันธรัฐรัสเซีย
 
0.50
 
0.41
 
0.04
 
0.03

ที่มาของข้อมูล: Yong-Sup Han, “China’s Leverages over North Korea,” Korea and World Affairs 18 (Summer 1994): 246. 

 

ตารางที่ 5

มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้

ช่วง ค.ศ. 1994 – 1998

(หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ)

 

ค.ศ.
มูลค่าการค้ากับเกาหลีเหนือ
มูลค่าการค้ากับเกาหลีใต้
1994
623.72
11,721.60
1995
549.80
16,982.53
1996
565.67
19,992.66
1997
656.29
24,045.47
1998
413.02
21,264.33

ที่มาของข้อมูล: เว็บไซต์สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน http://www.stats.gov.cn/english/statisticaldata/yearlydata/, สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2013  

 

------------------------------------------------------


                [1] Oh and Hassig, ibid., 155.
                [2] Ibid., 52.
                [3] Buzo, ibid., 206.
                [4] Lee, China and Korea, 140.
            [5] Yong-Sup Han, “China’s Leverages over North Korea,” Korea and World Affairs 18 (Summer 1994): 247. 
                        [6] Lee, China and Korea, 138.
                [7] Rajin-Sonbong Economic & Trade Zone: Investment & Business Guide (Beijing: The United Nations Industrial Development Organisation, 1998), 8, available from http://www.nkeconwatch.com/nk-uploads/undp_rajin-report-1998.pdf, accessed 20 September 2013.

วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 6)


ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับไต้หวัน

            แม้ว่าการที่จีนสนับสนุนให้เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติพร้อมกันใน ค.ศ. 1991 และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้ใน ค.ศ. 1992 จะเป็นไปเพื่อสนองผลประโยชน์ของจีนในยุคปฏิรูปและเปิดประเทศ หากแต่การตัดสินใจดังกล่าวซึ่งสะท้อนนโยบายสองเกาหลีของจีนนั้นทำให้จีนกังวลว่าจะนำไปสู่ข้ออ้างของไต้หวันในการมีสองจีน (Two Chinas) ดังนั้นเมื่อทางการจีนออก สมุดปกขาวว่าด้วยปัญหาไต้หวันและการรวมชาติของจีน ใน ค.ศ. 1993 จึงได้อธิบายว่ากรณีของไต้หวันนั้นแตกต่างไปจากเกาหลี กล่าวคือ

 

                ควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้ว่าปัญหาไต้หวันเป็นเรื่องภายในของจีนอย่างแท้จริง และไม่อาจเทียบได้กับกรณีของเยอรมนีและเกาหลีอันเป็นผลจากข้อตกลงระหว่างประเทศเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นจึงไม่ควรนำปัญหาไต้หวันไปวางไว้ในระนาบเดียวกับสถานการณ์ในเยอรมนีและเกาหลี รัฐบาลจีนคัดค้านตลอดมาที่จะนำสูตรของเยอรมนีหรือเกาหลีมาใช้กับไต้หวัน ปัญหาไต้หวันควรได้รับการแก้ไขโดยการเจรจาแบบทวิภาคีภายใต้กรอบจีนเดียว[1]

 

            นโยบายสองเกาหลีของจีนส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อทั้งเกาหลีเหนือและไต้หวัน กล่าวคือ เกาหลีเหนือได้สูญเสียพันธมิตรที่เคยให้การอุปถัมภ์แก่ตนมาเป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษ ขณะที่ไต้หวันต้องยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้ซึ่งเป็นฐานที่มั่นทางการทูตแห่งสุดท้ายของไต้หวันในทวีปเอเชีย จึงเป็นเหตุให้เกาหลีเหนือกับไต้หวันหันมาร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับจีน โดยหลังจากที่จีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้ได้เพียง 3 วัน ไต้หวันก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางผ่านฮ่องกงและกรุงปักกิ่งเพื่อไปติดต่อกับเกาหลีเหนือ และนำไปสู่การพบปะกันระหว่างผู้แทนของทั้ง 2 ฝ่าย ณ ประเทศสิงคโปร์จนมีการตั้งศูนย์ประสานงานระหว่างกัน ณ กรุงเปียงยางและกรุงไทเปในปีนั้น ต่อมาในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1993 เรือสินค้าของเกาหลีเหนือได้เข้ามาเทียบท่าบนเกาะไต้หวันเป็นครั้งแรก[2] และในต้น ค.ศ. 1995 ซึ่งเกาหลีใต้กับไต้หวันกำลังแข่งขันกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ ค.ศ. 2002 อยู่นั้น เกาหลีเหนือได้สนับสนุนเมืองเกาสุง (Kaohsiung) ของไต้หวัน ซึ่งเท่ากับท้าทายจีนที่สนับสนุนเมืองปูซาน (Busan) ของเกาหลีใต้[3]

            การก่อตัวของความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับไต้หวันเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวันกำลังเสื่อมลง อันเป็นผลมาจากกระบวนการเป็นประชาธิปไตยของไต้หวันและ “การทูตวันหยุด” (vacation diplomacy) ของประธานาธิบดีหลี่เติ้งฮุย (Lee Teng-hui) ที่ต้องการขยายพื้นที่ทางการทูตของไต้หวันในเวทีโลกจนทำให้จีนต้องซ้อมรบเพื่อข่มขู่ระหว่างที่เขาหาเสียงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อ ค.ศ. 1996 และแล้วประเด็นเกี่ยวกับไต้หวันที่ส่งผลกระทบทางลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือก็เกิดขึ้นในวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1997 เมื่อเกาหลีเหนือลงนามในข้อตกลงกับบริษัทไถเตี้ยน (Taipower) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของไต้หวันอันมีใจความว่า เกาหลีเหนืออนุญาตให้ไต้หวันนำกากนิวเคลียร์จำนวน 60,000 บาร์เรลมาทิ้งในเกาหลีเหนือได้โดยเสียเงินให้แก่เกาหลีเหนือบาร์เรลละ 1,135 เหรียญสหรัฐ[4] ทำให้เสิ่นกั๋วฟ่าง (Shen Guofang) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนออกมาแถลงว่าการกระทำของไต้หวันในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งแยกไต้หวันออกจากจีนและเป็นการจงใจทำลายความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ[5] ซึ่งเท่ากับจีนตำหนิเกาหลีเหนือในทางอ้อม  

 
 

               ฮวางจางย็อป (คนที่ 2 นับจากซ้าย) ถ่ายที่กรุงเปียงยางเมื่อ ค.ศ. 1980
 
 
 

การลี้ภัยของฮวางจางย็อป

            ฮวางจางย็อป (Hwang Jang Yop ค.ศ. 1923 - 2010) เป็นผู้นำระดับสูงของเกาหลีเหนือ เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาประชาชนสูงสุดช่วง ค.ศ. 1972-1983 และนับจาก ค.ศ. 1993 เป็นต้นมา เขามีตำแหน่งเป็นเลขานุการพรรคกรรมกรเกาหลีที่ดูแลด้านการต่างประเทศ และประธานคณะกรรมการต่างประเทศของสภาประชาชนสูงสุด เขามีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ปรัชญาจูเชของคิมอิลซุงในต่างประเทศ ดังที่ใน ค.ศ. 1988 เขาได้เป็นประธานสถาบันวิจัยอุดมการณ์จูเช (Juche Ideology Research Institute) และใน ค.ศ. 1995 เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิอุดมการณ์จูเชนานาชาติ (International Juche Ideology Foundation) แต่หลังจากคิมอิลซุงถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างฮวางจางย็อปกับผู้นำคนใหม่อย่างคิมจองอิลก็เป็นไปอย่างไม่ราบรื่น โดยฮวางจางย็อปมองว่าคิมจองอิลใช้ปรัชญาจูเชเพื่อสร้างอำนาจกดขี่ประชาชน ขณะเดียวกันคิมจองอิลก็สังเกตเห็นว่าฮวางจางย็อปมิได้สนับสนุนปรัชญาจูเชอย่างแข็งขันเหมือนในอดีต จนคิมจองอิลเคยถึงกับบังคับให้ฮวางจางย็อปยอมรับความผิดในข้อนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1996[6] ฮวางจางย็อปจึงเริ่มปรึกษากับคิมด็อกฮุง (Kim Dok Hong) คนสนิทของเขาเพื่อวางแผนหลบหนีจากเกาหลีเหนือ และโอกาสที่เหมาะสมก็มาถึงเมื่อทั้งคู่เดินทางไปร่วมงานสัมมนาว่าด้วยปรัชญาจูเช ณ กรุงโตเกียวตั้งแต่วันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1997[7] และต้องมาแวะพัก ณ กรุงปักกิ่งก่อนเดินทางกลับประเทศ พวกเขาจึงใช้โอกาสนี้เข้าไปขอลี้ภัย ณ สถานทูตเกาหลีใต้ในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ของปีนั้น  

            การลี้ภัยของฮวางจางย็อปผู้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ปรัชญาจูเชส่งผลกระทบต่อความชอบธรรมของพรรคกรรมกรเกาหลีเป็นอย่างยิ่ง เกาหลีเหนือจึงเรียกร้องให้จีนส่งตัวเขากลับประเทศโดยอ้างว่าเขาถูกเกาหลีใต้ลักพาตัว ดังรายงานของสำนักข่าวกลางเกาหลี (Korean Central News Agency – KCNA) ที่อ้างคำพูดของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือว่า

 

ถ้าฮวางจางย็อปอยู่ใน สถานทูตเกาหลีใต้ในกรุงปักกิ่งจริง แสดงว่าเขาถูกศัตรูลักพาตัวไป เรากำลังหาข้อมูลจากฝ่ายจีนผ่านช่องทางต่างๆ ถ้าเป็นที่กระจ่างชัดว่าเจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้ลักพาตัวเขาไปโดยอ้างว่าเป็นการขอ ลี้ภัยเราจะถือว่านี่เป็นเรื่องร้ายแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและจะต้องดำเนินมาตรการตอบโต้อย่างเหมาะสม เราหวังว่าฝ่ายจีนจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมในกรณีนี้[8]

 

            อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ และภาพลักษณ์ทางลบของเกาหลีเหนือในสายตาของนานาชาติทำให้จีนไม่อาจทำตามข้อเรียกร้องของเกาหลีเหนือได้ อีกทั้งยังนำกำลังตำรวจเข้าไปรักษาความปลอดภัยรอบสถานทูตเกาหลีใต้เพื่อป้องกันมิให้เกาหลีเหนือส่งคนบุกเข้ามานำตัวฮวางจางย็อปกลับประเทศอีกด้วย ถังเจียเสวียนบอกกับชูจางจุน (Chu Chang Joon) ทูตเกาหลีเหนือประจำกรุงปักกิ่งว่า เมื่อพิจารณาจากความรู้สึกของนานาชาติและความถูกต้องแล้ว จีนไม่อาจส่งตัวฮวางจางย็อปกลับไปให้เกาหลีเหนือได้[9] คำปฏิเสธของจีนทำให้ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1997 กระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือต้องออกแถลงการณ์ยินยอมให้ฮวางจางย็อปเดินทางไปยังเกาหลีใต้ได้ ทางการจีนจึงรักษาหน้าของเกาหลีเหนือด้วยการให้เขาเดินทางไปแวะพักที่ประเทศที่ 3 คือฟิลิปปินส์ ก่อนเดินทางไปยังกรุงโซลในที่สุด

---------------------------------------

                        [1] The Taiwan Question and Reunification of China (Beijing: Taiwan Affairs Office and Information Office of the State Council, 1993), available from http://www.china.org.cn/english/7953.htm, accessed 10 September 2013.
                        [2]ไถเฉาเหอเฟ่ยเลี่ยวเจิงตวนมี่มี่,” (ความลับเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องกากนิวเคลียร์ระหว่างไต้หวันกับเกาหลีเหนือ) เฟิ่งหวงโจวคาน (เฟิ่งหวงรายสัปดาห์) ฉบับที่ 10 (2013), สืบค้นจาก http://www.fhzk.cn/?article-383.html, เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2013.
                [3] Lee, China and North Korea, 198.
                [4] North Korea Agrees to Take Taiwan Atom Waste for Cash,” The New York Times, 7 February 1997, available from http://www.nytimes.com, accessed 3 September 2013.
                [5] Beijing Attacks Taiwan-N. Korea Deal on Nuclear Waste,” China News Digest, 3 February 1997, available from http://www.cnd.org/CND-Global/CND-Global.97.1st/CND-Global.97-02-02.html, accessed 9 September 2013; “Battle over Nuclear Waste,” Asiaweek, 14 February 1997, available from http://edition.cnn.com/ASIANOW/asiaweek/97/0214/nat4.html, accessed 9 September 2013.
                [6] “Hwang Jang-yop Holds Press Conference To Explain Why He Defected from North Korea,” FAS News, 21 July 1997, available from http://www.fas.org/news/dprk/1997/bg152.html, accessed 9 September 2013.
                [7] เกาหลีเหนือให้ความสำคัญกับการระดมเสียงสนับสนุนจากชาวเกาหลีที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก โปรดดูนโยบายของเกาหลีเหนือต่อชาวเกาหลีโพ้นทะเลได้ใน จูปังฮวาน, เกาหลีปริทัศน์, แปลโดย จูปิเตอร์ (กรุงเทพฯ: บางกอกบล๊อก, 2532), 95-98.
                [8] “Top N. Korean Official Reportedly Defects,” Los Angeles Times, 13 February 1997, available from http://articles.latimes.com/1997-02-13/news/mn-28299_1_north-korean, accessed 9 September 2013.
                [9] Chae-Jin Lee and Stephanie Hsieh, “China’s Two-Korea Policy at Trial: The Hwang Chang Yop Crisis,” Pacific Affairs, 74 (Fall 2001): 330.