วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 16)


จีนกับปัญหาผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ

 

นอกจากวิกฤตการณ์นิวเคลียร์แล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่จีนต้องเผชิญก็คือปัญหาผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือที่ข้ามพรมแดนหนีความอดอยากเข้ามาในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความอดอยากในช่วง ค.ศ. 1996 – 1999 โดยจังหวัดของเกาหลีเหนือที่เผชิญความอดอยากมากที่สุดคือจังหวัดชากัง (Chagang) ยังกัง (Yanggang) และฮัมเกียงเหนือ (North Hamgyong) ซึ่งล้วนแต่เป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับจีน และมีการประมาณการกันว่าใน ค.ศ. 1999 มีผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนืออาศัยอยู่ในจีนราว 143,000 – 195,000 คน และแม้ว่าปัญหาความอดอยากจะบรรเทาลงไปบ้างเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2000 แต่ตัวเลขประมาณการผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือที่อาศัยอยู่ในจีนช่วง ค.ศ. 2001 - 2003 ก็ยังอยู่ที่ราว 100,000 คน[1]    

ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือที่เข้ามาในจีนอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่เข้ามาหางานทำอย่างผิดกฎหมายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดปกครองตนเองชนชาติเกาหลีเหยียนเปียน (Yanbian Korean Autonomous Prefecture) ในมณฑลจี๋หลินที่มีชาวเกาหลีสัญชาติจีนอาศัยอยู่ราว 2 ล้านคน คนกลุ่มนี้ทำงานเป็นแม่บ้าน พนักงานร้านอาหาร ช่างก่อสร้าง ชาวนารับจ้าง หรืออาจมาแต่งงานกับพ่อม่ายในจีน[2] และ (2) กลุ่มที่ต้องการเดินทางไปเกาหลีใต้ โดยพยายามหาช่องทางเข้าไปยังสถานทูตและสถานกงสุลของเกาหลีใต้และของประเทศอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในจีน หรือไม่ก็ใช้จีนเป็นทางผ่านไปสู่มองโกเลีย เวียดนาม ลาว และไทย จากนั้นจึงเดินทางไปสู่ที่หมายสุดท้ายคือเกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อเดินทางไปถึงแล้วพวกเขาจะได้สถานะพลเมืองของเกาหลีใต้โดยอัตโนมัติ[3]  

ในการตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 2004 หลี่จ้าวซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ปฏิเสธการมีอยู่ของ “ผู้ลี้ภัย” (refugees) ชาวเกาหลีเหนือ โดยระบุว่าพวกเขาเป็น “ผู้ข้ามแดนผิดกฎหมาย” (Illegal border crossers) ดังความว่า

 

สิ่งที่เรียกว่า “ผู้ลี้ภัย” นั้นไม่มีอยู่จริง กลุ่มคนที่คุณพูดถึงไม่ใช่ผู้ลี้ภัยแต่เป็นผู้ข้ามแดนผิดกฎหมาย เราจะต้องแยกแยะให้ชัดเจน จีนกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีคือประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรกัน เรามีภูเขาและแม่น้ำร่วมกัน และมีพรมแดนติดต่อกันยาว 1,300 กิโลเมตร มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการข้ามพรมแดนผิดกฎหมายอยู่บ้างและเราก็สามารถจัดการกับเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี  รัฐบาลจีนจัดการเรื่องนี้ตามกฎหมายของจีน กฎหมายระหว่างประเทศ และหลักการด้านมนุษยธรรม น่าสังเกตว่ามีคนกลุ่มเล็กๆ พยายามทำเรื่องนี้ให้เป็นประเด็นทางการเมืองและสร้างความสับสนระหว่างผู้ข้ามแดนผิดกฎหมายกับผู้ลี้ภัย[4]

 
 
                         อุบัติการณ์เสิ่นหยาง ค.ศ. 2002
 
 
 
 

สาเหตุที่ทำให้จีนมีท่าทีไม่ต้อนรับผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือนั้นมีอยู่ 2 ประการ ได้แก่ (1) หากจีนยอมรับว่าพวกเขาเป็นผู้ลี้ภัย ทางการจีนจะต้องมีภาระในการจัดหาอาหารและที่พักอาศัยให้ ดังนั้นการปล่อยให้พวกเขาเหล่านี้หางานทำเพื่อเลี้ยงชีพตนเองโดยที่รัฐบาลจีนไม่เข้าไปแบกรับภาระนั้นจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และ (2) จีนเกรงว่าการให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่พวกเขาจะกลายเป็นการส่งเสริมให้มีการลี้ภัยมากขึ้นจนนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพของระบอบการปกครองในเกาหลีเหนือ[5] ดังนั้นจีนจึงดำเนินมาตรการตรวจค้นและจับกุมคนเหล่านี้เพื่อส่งกลับประเทศ ซึ่งบางครั้งการดำเนินมาตรการดังกล่าวก็นำมาซึ่งการกระทบกระทั่งกับประเทศอื่น ดังเช่นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 2002 ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือจำนวน 5 คนได้วิ่งเข้าไปขอลี้ภัยในสถานกงสุลญี่ปุ่นประจำเมืองเสิ่นหยางโดยมีตำรวจของจีนวิ่งตามเข้าไปจับกุมตัวไว้ได้ หรือที่เรียกว่าอุบัติการณ์เสิ่นหยาง (The Shenyang Incident) ซึ่งทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่พอใจและกล่าวหาว่าจีนละเมิดอำนาจอธิปไตยของญี่ปุ่น[6] หรือในกรณีที่ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือสามารถเข้าไปยังสถานทูตเกาหลีใต้ในกรุงปักกิ่งได้สำเร็จ จีนก็ใช้วิธีการถ่วงเวลาในการดำเนินการอนุญาตให้บุคคลนี้เดินทางไปยังเกาหลีใต้ ทั้งนี้เพื่อให้สถานทูตเกาหลีใต้ซึ่งมีข้อจำกัดด้านอาคารและสถานที่ไม่สามารถรับผู้ลี้ภัยเพิ่มได้อีก[7]ท่าทีของจีนต่อปัญหาผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees – UNHCR) ว่าเป็นการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 (The 1951 Convention relating to the Status of Refugees) ที่จีนได้ลงนามไปแล้วเมื่อ ค.ศ. 1982 ซึ่งมีข้อกำหนดเรื่องการห้ามผลักดันกลับ (non-refoulement) เพราะจะทำให้ผู้ลี้ภัยถูกลงโทษจากรัฐที่พวกเขาหนีออกมา[8]


----------------------------------------


[1] Andrei Lankov, “North Korean Refugees in Northeast China,” Asian Survey 44 (November/December 2004): 859.
[2] Ibid., 860-862.
[3] ในทางกฎหมาย รัฐบาลเกาหลีใต้ถือว่าตนเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมเพียงรัฐบาลเดียวบนคาบสมุทรเกาหลี ดังนั้นพลเมืองเกาหลีเหนือจึงเป็นพลเมืองตามกฎหมายของเกาหลีใต้โดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ส่งเสริมการลี้ภัยของชาวเกาหลีเหนือเท่าใดนัก เนื่องจากผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะกลายเป็นภาระให้รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องแบกรับโดยเฉพาะด้านการจัดหางานและสวัสดิการ อีกทั้งยังเกรงว่าจะเป็นแรงจูงใจให้ชาวเกาหลีเหนือหนีมายังเกาหลีใต้มากขึ้นจนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเกาหลีเหนือและความไร้เสถียรภาพบนคาบสมุทรเกาหลี ดูใน ibid., 866.  
[4] “Press Conference by Minister of Foreign Affairs Li Zhaoxing during the Second Session of the 10th NPC (06/03/2004),” Permanent Mission of the People’s Republic of China to the United Nations Office at Geneva and other International Organizations in Switzerland, available from http://www.china-un.ch/eng/ljzg/zgwjzc/t85900.htm, accessed 21 May 2014.  
[5] Lankov, “North Korean Refugees in Northeast China,” 868.
[6] ไชยวัฒน์ ค้ำชู, จีน-ญี่ปุ่น: ประวัติศาสตร์เบื้องหลังความขัดแย้งของสองมหาอำนาจและนัยต่อภูมิภาคเอเชียในศตวรรษที่ 21 (กรุงเทพฯ: openbooks, 2548), 43-44.
[7] Snyder, China’s Rise and the Two Koreas, 101.
[8] UNHCR protests Chinese Deportation of North Koreans,” UNHCR Press Release, 13 January 2000, available from http://www.unhcr.org/3ae6b81460.html, accessed 22 May 2014. อย่างไรก็ตาม ชาวเกาหลีเหนือที่ถูกส่งตัวกลับประเทศส่วนใหญ่ได้รับโทษสถานเบาด้วยการส่งเข้าค่ายอบรม เนื่องจากทางการเกาหลีเหนือเห็นว่าพวกเขาหนีออกนอกประเทศด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ดูใน Lankov, “North Korean Refugees in Northeast China,” 870-871.  

ไม่มีความคิดเห็น: