วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 15)


จีนกับการจัดประชุมษัฏภาคีรอบที่ 6 (19 – 22 มีนาคม, 27 – 30 กันยายน ค.ศ. 2007) และการถอนตัวของเกาหลีเหนือใน ค.ศ. 2009

การประชุมษัฏภาคีรอบที่ 6 เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 2007 ณ เรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถในกรุงปักกิ่ง โดยหัวหน้าคณะผู้แทนของจีน เกาหลีเหนือ และสหรัฐอเมริกายังคงเป็นบุคคลเดิมเหมือนการประชุมรอบที่แล้ว แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ จนต้องพักการประชุมไปในวันที่ 22 มีนาคมของปีนั้นเนื่องจากเกาหลีเหนือยังคงยืนยันจุดยืนเดิมว่าจะต้องมีการแก้ไขปัญหากรณีธนาคารเดลตาเอเชียเสียก่อน ทั้งนี้ในวันเปิดประชุมสหรัฐอเมริกายินดีให้คืนเงิน 24 ล้านเหรียญสหรัฐที่ถูกอายัดไว้โดยโอนเข้าบัญชีของเกาหลีเหนือที่เปิดไว้ ณ ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) แต่ธนาคารดังกล่าวลังเลที่จะโอนเงินเข้าบัญชีของเกาหลีเหนือด้วยเกรงว่าธนาคารของตนจะเสียอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) จนในที่สุดมีการโอนเงินให้แก่เกาหลีเหนือผ่านธนาคารดัลคอม (Dalcombank) ของรัสเซียในกลางเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน[1] การคลี่คลายปัญหาดังกล่าวทำให้เกาหลีเหนือประกาศในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 2007 ว่ายินดีทำตามแถลงการณ์ร่วมที่ให้ไว้ในวันปิดการประชุมษัฏภาคีรอบที่ 5 ต่อมาในวันที่ 14 กรกฎาคมของปีเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของไอเออีเอก็เดินทางไปยังเกาหลีเหนือและออกมายืนยันในอีก 3 วันต่อมาว่าเกาหลีเหนือปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมดแล้ว การให้ความร่วมมือของเกาหลีเหนือทำให้หัวหน้าคณะผู้แทนของทั้ง 6 ประเทศที่มาประชุม ณ กรุงปักกิ่งช่วงวันที่ 18 – 20 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 แถลงกับสื่อมวลชนว่ายินดีจัดหาน้ำมันเตาหนักให้แก่เกาหลีเหนือเพิ่มอีก 950,000 ตัน[2] และมีการจัดประชุมษัฏภาคีรอบที่ 6 อีกครั้งในช่วงวันที่ 27 – 30 กันยายนของปีนั้นซึ่งได้ข้อตกลงร่วมกันว่าเกาหลีเหนือจะทำลายเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดภายในสิ้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 2007 โดยแลกกับการที่อีก 5 ประเทศที่เหลือจะจัดหาน้ำมันเตาให้แก่เกาหลีเหนือครบตามสัญญาที่ให้ไว้ก่อนหน้านั้น[3]

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศของความตึงเครียดได้กลับมาอีกครั้งเมื่อเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกาที่ไปเยี่ยมชมโรงงานนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2007 ได้นำชิ้นส่วนอะลูมิเนียมกลับมาตรวจในห้องทดลองแล้วได้ผลที่บ่งชี้ว่าเกาหลีเหนือยังคงดำเนินโครงการยูเรเนียมเสริมสมรรถนะอยู่ ซึ่งทำให้ต่างฝ่ายต่างละเลยที่จะดำเนินการตามข้อตกลงที่ให้ไว้ต่อกัน สถานการณ์ตึงเครียดมากยิ่งขึ้นในปีถัดมา โดยในวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 2008 โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาออกมาแถลงว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่ถอนชื่อของเกาหลีเหนือออกจากการเป็นประเทศผู้ก่อการร้ายจนกว่าจะมี “ระบบและกลไกที่ตรวจสอบได้อย่างรัดกุม (strong verification regime)” ว่าเกาหลีเหนือจะทำลายอาวุธนิวเคลียร์และโครงการนิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั้งหมด[4] ส่งผลให้ในเดือนต่อมาเกาหลีเหนือประกาศเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกครั้งโดยไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของไอเออีเอเข้าไปตรวจสอบอีกต่อไป และในวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 2009 เกาหลีเหนือได้ทดลองระบบขีปนาวุธเพื่อปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งเท่ากับละเมิดมติที่ 1718 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อ ค.ศ. 2006 ที่ห้ามเกาหลีเหนือทดลองระบบขีปนาวุธหรืออาวุธนิวเคลียร์ใดๆ อีก

จีนมีปฏิกิริยาต่อการปล่อยดาวเทียมของเกาหลีเหนืออย่างระมัดระวัง โดยเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้จัดการประชุมด่วนในบ่ายวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 2009 ซูซาน ไรซ์ (Susan Rice) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำองค์การสหประชาชาติที่เรียกร้องให้คณะมนตรีฯ “ดำเนินการร่วมกันอย่างแข็งขัน (strong collective action)” ต่อเกาหลีเหนือ อีกทั้งยังได้ประสานงานกับสหราชอาณาจักรฯ และเกาหลีใต้ในการร่างมติลงโทษเกาหลีเหนือเอาไว้แล้ว[5] ตรงข้ามกับจางเย่สุ้ย (Zhang Yesui) เอกอัครราชทูตจีนประจำองค์การสหประชาชาติที่ขอให้คณะมนตรีฯ มีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้อย่างระมัดระวังและในระดับที่เหมาะสม (cautious and proportionate)[6] ทำให้ในที่สุดคณะมนตรีฯ จึงออกแต่เพียงแถลงการณ์ของประธาน (presidential statement) ในวันที่ 13 เมษายนโดยเรียกร้องให้เกาหลีเหนือเคารพมติที่ 1718 และสนับสนุนให้ใช้การประชุมษัฏภาคีในการเจรจาแก้ไขปัญหา[7] แต่เกาหลีเหนือกลับมีปฏิกิริยาอย่างรุนแรงในวันรุ่งขึ้น โดยประกาศถอนตัวจากการประชุมษัฏภาคีและประกาศด้วยว่าจะเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ต่อไป

การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 ทำให้จีนหันมาแสดงท่าทีกดดันเกาหลีเหนือมากยิ่งขึ้น โดยร่วมมือกับสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในมติที่ 1874 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนของปีนั้นเพื่อการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการงดซื้อขายอาวุธทุกชนิดกับเกาหลีเหนือ (ยกเว้นอาวุธเบา) การห้ามให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกาหลีเหนือ (ยกเว้นความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและการพัฒนาในทางพลเรือน) อย่างไรก็ตาม จีนยังคงจุดยืนเดิมที่ไม่สนับสนุนการใช้มาตรการทางทหารกับเกาหลีเหนือโดยระบุว่าอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน ข้อกังวลด้านความมั่นคงที่มีเหตุผล และสิทธิในการพัฒนาของเกาหลีเหนือในฐานะประเทศเอกราชและสมาชิกองค์การสหประชาชาตินั้นเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายควรให้ความเคารพ และควรใช้การเจรจาเพื่อแก้ปัญหาอย่างสันติ[8] และแม้ว่าเกาหลีเหนือจะทำการทดลองยิงขีปนาวุธจำนวน  7 ลูกลงในทะเลญี่ปุ่นอีกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมของปีเดียวกัน (ซึ่งตรงกับวันชาติสหรัฐอเมริกา) จีนก็ยังคงขอให้ทุกฝ่ายสงบนิ่งและมีความยับยั้งชั่งใจ[9] และในระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกาของสวีไฉโห้ว (Xu Caihou) รองประธานกรรมาธิการทหารแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนตุลาคมของปีนั้น โรเบิร์ต เกตส์ (Robert Gates) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาได้ถือโอกาสหารือเกี่ยวกับมาตรการที่จะใช้ในการรับมือกับเกาหลีเหนือ แต่สวีไฉโห้วตอบแต่เพียงสั้นๆ ว่า “ขอบคุณสำหรับความเห็นของคุณเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ”[10] ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าจีนไม่สนับสนุนการใช้มาตรการทางทหารในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว

       เวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีนเยือนกรุงเปียงยางในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2009




จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา จีนได้แสดงบทบาทสำคัญในการจัดประชุมไตรภาคีและษัฏภาคีเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือครั้งที่ 2 ความหวาดระแวงซึ่งกันและกันระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกาได้ทำให้การประชุมมีทั้งความคืบหน้าและการหยุดชะงักสลับกันไปหลายครั้งจนกระทั่งเกาหลีเหนือประกาศถอนตัวออกจากการประชุมในเดือนเมษายน ค.ศ. 2009 และแม้ว่าในการเยือนเกาหลีเหนือของเวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีนในช่วงวันที่ 4 – 6 ตุลาคม ค.ศ. 2009 คิมจองอิลยังคงยืนยันว่าเกาหลีเหนือพร้อมจะกลับเข้าสู่การประชุมษัฏภาคีเมื่อการเจรจาระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกามีความคืบหน้า[11] แต่จีนก็ไม่สามารถจัดการประชุมดังกล่าวได้อีกเลยตลอดยุคของคิมจองอิล

---------------------------------------

[1] N. Korean money may be transferred through bank outside China: chief envoy,” Yonhap News, 23 March 2007, available from http://www.hani.co.kr/arti/english_edition/e_international/198452.html, accessed 1 May 2014; “Frozen North Korean Funds Touch Down In Moscow,” Agence France-Presse, 18 June 2007, available from http://www.spacewar.com/reports/Frozen_North_Korean_Funds_Touch_Down_In_Moscow_999.html, accessed 1 May 2014. 
[2] Ding Ying, “A Big Step to Denuclearization,” Beijing Review 50 (2 August 2007): 24-25. 
[3] Ding Zhitao, “A Major Step Forward,” Beijing Review 50 (11 October 2007): 10.
[4] Oberdorfer and Carlin, The Two Koreas, 429.
[5] “UN Security Council meets on DPRK rocket launch,” Xinhua  News Agency, 6 April 2009, available from http://news.xinhuanet.com/english/2009-04/06/content_11136566.htm, accessed 1 May 2014.
[6] Ibid.
[7] “UN Security Council Statement on N. Korea,” Reuters, 14 April 2009, available from http://in.reuters.com/article/2009/04/13/korea-north-un-text-idINN1333144920090413, accessed 1 May 2014. 
[8] “Security Council, acting unanimously, condemns in strongest terms Democratic People’s Republic of Korea nuclear test, toughens sanctions,” UN News Centre, 12 June 2009, available from http://www.un.org/News/Press/docs//2009/sc9679.doc.htm, accessed 1 May 2014. 
[9] “China hope relevant sides of Korea nuke issue remain calm, restraint,” Xinhua News Agency, 5 July 2009, available from http://news.xinhuanet.com/english/2009-07/05/content_11655220.htm, accessed 1 May 2014.
[10] Robert. M. Gates, Duty: memoirs of a Secretary at war (New York, NY: Alfred A. Knof, 2014), 414.
[11] Yan Wei, “Reopening the Door to Talks,” Beijing Review 52 (15 October 2009): 8-9.

ไม่มีความคิดเห็น: