วันศุกร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 8)




การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือเมื่อสิ้นทศวรรษ 1990
และแนวคิดเรื่องความมั่นคงแบบใหม่

           

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือที่ซบเซาลงไปเกือบตลอดทศวรรษ 1990 กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งตั้งแต่ ค.ศ. 1999 เป็นต้นมา การกลับมากระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายนั้นเกี่ยวข้องอย่างมากกับการเปลี่ยนแปลงมุมมองของจีนต่อบทบาทด้านการทหารของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและในเวทีโลก กล่าวคือ เดิมในต้นทศวรรษ 1990 เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลงและสหภาพโซเวียตล่มสลาย ทางการจีนประเมินว่าโลกกำลังเข้าสู่การมีหลายขั้วอำนาจ (multpolarization) ที่สหรัฐอเมริกาจะมีอำนาจลดลงซึ่งเป็นผลดีกับจีน ดังสุนทรพจน์ของเจียงเจ๋อหมินในการประชุมนักการทูตจีนเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1993 ความตอนหนึ่งว่า

 

สถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันเป็นคุณต่อประเทศของเรา มีแนวโน้มว่าโลกกำลังมุ่งไปสู่การมีหลายขั้วอำนาจและโครงสร้างใหม่ที่พลังต่างๆ แข่งขันกันและอยู่ร่วมกันนั้นจะปรากฏเป็นรูปเป็นร่างในที่สุด การปรากฏตัวของพลังที่หลากหลายหมายความว่าจะมีทั้งการแข่งขันและความขัดแย้งควบคู่ไปกับการประสานงานและความร่วมมือ และจะไม่มีประเทศใดสามารถทำลายหรือครอบงำประเทศอื่นๆ ได้ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ปัจจัยที่เป็นคุณต่อประเทศของเรานั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัญหาว่าด้วยสงครามและสันติภาพนั้น คงไม่เกิดสงครามโลกครั้งใหม่อีกเป็นระยะเวลานานพอสมควร และเราคงไม่ถูกดึงให้เข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งระดับท้องถิ่นที่ห่างไกลจากเรา[1]  

 

อย่างไรก็ตาม ในปลายทศวรรษ 1990 จีนเริ่มกลับมากังวลเกี่ยวกับบทบาทด้านการทหารของสหรัฐอเมริกาในสมัยที่ 2 ของประธานาธิบดีบิล คลินตัน (ค.ศ. 1997 – 2001) โดยสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นได้จัดทำแนวปฏิบัติด้านการป้องกันประเทศ (defense guidelines) ฉบับใหม่ใน ค.ศ. 1997 ที่เปิดช่องให้สหรัฐอเมริกาสามารถจัดการกับ “สถานการณ์ในพื้นที่ที่อยู่รายล้อมประเทศญี่ปุ่น” (situations in areas surrounding Japan) ซึ่งจุดประสงค์ที่แท้จริงของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นคือการป้องกันภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ แต่จีนมองว่าสหรัฐอเมริกาต้องการสร้างความชอบธรรมในการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับช่องแคบไต้หวันซึ่งเพิ่งเกิดวิกฤตการณ์ไปเมื่อ ค.ศ. 1995 และ ค.ศ. 1996[2] ขณะเดียวกันการทดลองยิงขีปนาวุธแทโปดอง 1 ของเกาหลีเหนือเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1998 ก็ทำให้สหรัฐอเมริกาหันมาพิจารณาเรื่องโครงการระบบป้องกันขีปนาวุธแห่งชาติ (National Missile Defence – NMD) และโครงการระบบป้องกันขีปนาวุธยุทธบริเวณนอกประเทศ (Theatre Missile Defence – TMD) อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกมาคัดค้านโครงการดังกล่าว[3]

เหตุการณ์ที่ทำให้จีนกังวลเกี่ยวกับบทบาทด้านการทหารของสหรัฐอเมริกามากยิ่งขึ้นก็คือ สงครามโคโซโว (The Kosovo War) โดยสหรัฐอเมริกานำเรื่องที่ประธานาธิบดีสโลโบดาน มิโลเซวิช (Slobodan Milosevic) แห่งยูโกสลาเวียฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมเชื้อสายอัลเบเนียนในแคว้นโคโซโวมาเป็นเหตุผลในการแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรม (humanitarian intervention) โดยสหรัฐอเมริกาในนามขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization – NATO) เริ่มทิ้งระเบิดทางอากาศในยูโกสลาเวียเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1999 และในวันที่ 7 พฤษภาคมของปีนั้นเองมีระเบิดตกลงไปยังสถานทูตจีนในกรุงเบลเกรด ส่งผลให้ชาวจีนเสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บกว่า 20 คน โดยสหรัฐอเมริกาอ้างว่านักบินที่ทิ้งระเบิดเข้าใจผิดว่าอาคารสถานทูตจีนเป็นสถานที่สำคัญทางทหารของยูโกสลาเวีย เฉียนฉีเชิน รองนายกรัฐมนตรีของจีนกล่าวไว้ในการบรรยาย ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่งเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2000 ว่าปฏิบัติการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่จะสร้างโลกขั้วเดียวที่รวมศูนย์อยู่ที่สหรัฐอเมริกา[4] และใน สมุดปกขาวว่าด้วยการป้องกันประเทศจีน ค.ศ. 2000 (The White Paper of China’s National Defense in 2000) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐอเมริกาอย่างชัดเจน ดังความตอนหนึ่งว่า

 

ลัทธิครองความเป็นจ้าวและการเมืองแบบใช้อำนาจบังคับยังคงมีให้เห็นและก่อตัวเพิ่มขึ้นในพื้นที่ของการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงระหว่างประเทศ ประเทศใหญ่บางประเทศกำลังใช้ “ลัทธิการแทรกแซงแบบใหม่” “นโยบายเรือปืนแบบใหม่” และ “ลัทธิล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจแบบใหม่” ซึ่งทำลายอธิปไตย เอกราช และผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของหลายประเทศอย่างร้ายแรง และยังคุกคามสันติภาพและความมั่นคงของโลกอีกด้วย อำนาจและบทบาทขององค์การสหประชาชาติในการจัดการกับกิจการด้านความมั่นคงระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก บางประเทศชอบใช้กำลังหรือขู่ว่าจะใช้กำลังอันเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติและหลักสากลอื่นๆ ที่เป็นที่ยอมรับในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยอ้างเรื่อง “ลัทธิมนุษยธรรม” และ “สิทธิมนุษยชน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือที่ใช้กำลังโจมตีสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียโดยไม่ผ่านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ อันก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  พัฒนาการในทางลบยังเกิดขึ้นในด้านการควบคุมอาวุธและการลดกำลังรบอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางประเทศยังคงมุ่งหน้าพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธแห่งชาติและระบบป้องกันขีปนาวุธยุทธบริเวณนอกประเทศ ซึ่งทำลายควมพยายามของประชาคมระหว่างประเทศที่จะจำกัดการแพร่กระจายของอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงและส่งเสริมการลดกำลังรบ[5]

 

การขยายบทบาทด้านการทหารของสหรัฐอเมริกาในปลายทศวรรษ 1990 ทำให้จีนมีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกซึ่งมีพื้นที่ความขัดแย้งสำคัญที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกาอยู่ 2 จุด ได้แก่ ช่องแคบไต้หวันและคาบสมุทรเกาหลี จีนจึงสนใจที่จะกลับมากระชับความสัมพันธ์กับอดีตพันธมิตรอย่างเกาหลีเหนืออีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นเองเกาหลีเหนือก็มีความกังวลใจเกี่ยวกับบทบาทด้านการทหารของสหรัฐอเมริกาเช่นกัน เพราะนอกจากแนวปฏิบัติด้านการป้องกันประเทศที่สหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นตกลงกันใน ค.ศ. 1997 และโครงการระบบป้องกันขีปนาวุธยุทธบริเวณนอกประเทศจะพุ่งเป้ามาที่เกาหลีเหนือโดยตรงแล้ว สงครามโคโซโวก็ทำให้เกาหลีเหนือเกรงว่าสหรัฐอเมริกาอาจนำเรื่องการแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรมมาเป็นเหตุผลในการใช้กำลังรุกรานเกาหลีเหนือในอนาคตได้ โดยเมื่อสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดสถานทูตจีนในกรุงเบลเกรดในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1999 โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือได้ออกแถลงการณ์ประณามสหรัฐอเมริกาว่าใช้กำลังย่ำยีทั้งประเทศใหญ่และประเทศเล็กโดยไม่แยแสต่อกฎหมายระหว่างประเทศและสามัญสำนึก[6] หรือกล่าวได้ว่าเมื่อสิ้นทศวรรษ 1990 จีนและเกาหลีเหนือต่างมีจุดยืนร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบทบาทด้านการทหารของสหรัฐอเมริกา จุดร่วมดังกล่าวจึงกลายเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้ทั้งสองฝ่ายหันมากระชับความสัมพันธ์กันอีกครั้ง



       เจียงเจ๋อหมินกับคิมจองอิลระหว่างเดินทางเยือนจีนในเดือนมกราคม ค.ศ. 2001

การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือเริ่มต้นใน ค.ศ. 1999 โดยในกลางเดือนพฤษภาคมของปีนั้น คิมจองอิลได้เชิญว่านหย่งเสียง (Wan Yongxiang) ทูตจีนประจำกรุงเปียงยางไปพบ และถือเป็นครั้งแรกที่เขาพบปะกับทูตจีนเป็นการเฉพาะหลังสืบทอดอำนาจต่อจากบิดามาเป็นเวลาเกือบ 5 ปี คิมจองอิลแสดงความชื่นชมต่อนโยบายเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนและเสนอให้มีการเยี่ยมเยือนระหว่างกันในหมู่ผู้นำระดับสูงอีกครั้ง[7] จนนำไปสู่การเยือนกรุงปักกิ่งของคิมยองนัม ประธานสภาประชาชนสูงสุด และฮงซงนัม (Hong Song Nam) นายกรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน โดยในครั้งนั้นจีนได้มอบเมล็ดธัญพืชจำนวน 150,000 ตันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ และถ่านหินอีก 40,000 ตันแก่เกาหลีเหนือเพื่อการผลิต[8] และในเดือนตุลาคมของปีนั้น ถังเจียเสวียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้เดินทางเยือนกรุงเปียงยางเพื่อร่วมงานฉลองในวาระครบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ   

ความเคลื่อนไหวที่สำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 2000 เมื่อคิมจองอิลเดินทางไปยังสถานทูตจีนในกรุงเปียงยางเพื่อพบกับว่านหย่งเสียง ทูตจีนที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งและได้สนทนากันเป็นเวลานานถึง 5 ชั่วโมง ซึ่งโดยปกติแล้วเขาจะไม่เดินทางไปเยือนสถานทูตต่างชาติในกรุงเปียงยางเลย คิมจองอิลใช้โอกาสนี้สื่อสารไปยังผู้นำของจีนว่าเขาพร้อมที่จะเดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่ง[9] จนนำไปสู่การเยือนจีนเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีของเขาระหว่างวันที่ 29 – 31 พฤษภาคมของปีนั้น และถึงแม้ว่าการเยือนจีนในครั้งนี้จะไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วมกันระหว่างเจียงเจ๋อหมินกับคิมจองอิล แต่เฉิงหย่งฮว๋า (Cheng Yonghua) นักการทูตจีนประจำประเทศญี่ปุ่นก็ได้เปิดเผยว่า จีนกับเกาหลีเหนือต่างมีจุดยืนร่วมกันในการคัดค้านระบบป้องกันขีปนาวุธแห่งชาติและระบบป้องกันขีปนาวุธยุทธบริเวณนอกประเทศของสหรัฐอเมริกา[10] การเยือนกรุงปักกิ่งของคิมจองอิลในครั้งนั้นเป็นโอกาสที่ผู้นำของจีนได้ทำความรู้จักผู้นำของเกาหลีเหนือมากยิ่งขึ้น ดังที่จูหรงจี (Zhu Rongji) นายกรัฐมนตรีของจีนได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวต่างประเทศเมื่อวันที่ 21 กันยายนของปีนั้น ความตอนหนึ่งว่า

 

การพบปะกันครั้งล่าสุดระหว่างคณะผู้นำของจีนกับคิมจองอิลได้ผลน่าพอใจมาก ... ข้าพเจ้าได้สนทนากับคิมจองอิลเป็นเวลาค่อนข้างนานซึ่งช่วยให้ข้าพเจ้าเข้าใจเขามากขึ้น ข้าพเจ้าพบว่าเขาเป็นคนเปิดเผยและจริงใจ มีสติปัญญาเฉียบแหลมและเปี่ยมไปด้วยความรู้ ... ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเขาเป็นคนที่เปิดใจกว้าง มองการณ์ไกล ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะรับฟังความเห็นของผู้อื่น[11]

 

ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2000 จีนได้ส่งพลเอกฉือฮ่าวเถียน (Chi Haotian) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเดินทางไปยังกรุงเปียงยางเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการเข้าร่วมสงครามเกาหลี ขณะที่คิมจองอิลก็เดินทางเยือนจีนอีกครั้งหนึ่งเป็นเวลา 6 วันในเดือนมกราคม ค.ศ. 2001 ซึ่งเขาได้ไปดูงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่มหานครเซี่ยงไฮ้โดยมีจูหรงจีเป็นผู้พาชมด้วยตนเอง[12] และในเดือนกรกฎาคมของปีนั้นซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 40 ปีของการลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ จีนได้ส่งเจียงชุนหยุน (Jiang Chunyun) รองประธานสภาผู้แทนประชาชนเดินทางเยือนกรุงเปียงยางและได้พบปะกับคิมจองอิล ขณะที่เกาหลีเหนือส่งคิมยุนฮย็อก (Kim Yun Hyok) เลขาธิการสภาประชาชนสูงสุดเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเนื่องในโอกาสเดียวกัน และยังเป็นผู้นำสาส์นของคิมจองอิลเพื่อแสดงความยินดีกับเจียงเจ๋อหมินเนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปีแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกด้วย[13]
 
             การเยือนเกาหลีเหนือของผู้นำระดับสูงสุดของจีนครั้งแรกในรอบ 11 ปีเกิดขึ้นเมื่อเจียงเจ๋อหมิน ประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเดินทางเยือนกรุงเปียงยางในช่วงวันที่ 3 5 กันยายน ค.ศ. 2001 ซึ่งในครั้งนี้เจียงเจ๋อหมินกล่าวกับคิมจองอิลว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการ “สืบทอดประเพณี มุ่งสู่อนาคต เป็นเพื่อนบ้านที่ดี กระชับความร่วมมือ (จี้เฉิงฉวนถ่ง, เมี่ยนเซี่ยงเว่ยไหล, มู่หลินโหยวห่าว เจียเฉียงเหอจั้ว)”[14] พร้อมกับมอบความช่วยเหลือแก่เกาหลีเหนือด้านอาหารรวม 200,000 ตัน และน้ำมันดีเซลอีก 30,000 ตัน[15] มีข้อที่น่าสังเกตว่าในการกระชับความสัมพันธ์ครั้งนี้ทางการจีนมิได้เร่งเร้าให้เกาหลีเหนือทำการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบจีนอย่างที่เคยเป็นมา ดังที่เจียงเจ๋อหมินกล่าวชื่นชมแนวทางการพัฒนาประเทศของคิมจองอิลว่าเหมาะสมแล้วกับ “สภาวการณ์ของประเทศ” (กั๋วฉิง) ขณะที่คิมจองอิลก็ยกย่องแนวคิดสามตัวแทน (Three Represents) ของเจียงเจ๋อหมินว่าเหมาะสมกับสภาวการณ์ของประเทศจีนเช่นกัน[16] ต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. 2002 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบวันเกิด 90 ปีของประธานาธิบดีคิมอิลซุงผู้ล่วงลับ จีนก็ได้มอบเงินให้เปล่าเพื่อช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่เกาหลีเหนืออีกเป็นจำนวน 6,000,000 เหรียญสหรัฐ[17] และยังคงมีการเดินทางเยือนซึ่งกันและกันในหมู่ผู้นำระดับสูงของทั้งสองประเทศเป็นประจำแทบทุกปีตราบจนคิมจองอิลถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 2011


อย่างไรก็ตาม การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือเมื่อสิ้นทศวรรษ 1990 มิได้นำไปสู่การกลับไปเป็นพันธมิตรทางทหารเพื่อต่อต้านประเทศที่สามเฉกเช่นในทศวรรษ 1960 อีกต่อไป เพราะเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง ประกอบกับการเดินหน้าเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน ทำให้จีนต้องการสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีสันติภาพและเสถียรภาพ จนนำไปสู่การที่จีนเสนอแนวคิดเรื่อง “ความมั่นคงแบบใหม่ (New Security Concept)” บุคคลแรกที่นำเสนอแนวคิดนี้อย่างเป็นทางการคือ เฉียนฉีเชิน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนซึ่งกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum - ARF) ณ เมืองสุบังจายา (Subang Jaya) ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 ความตอนหนึ่งว่า

 

ขณะที่มนุษยชาติกำลังเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 การสร้างสันติภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืนในภูมิภาคถือเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากให้ความสนใจ สถานการณ์ระหว่างประเทศแบบใหม่ทำให้ต้องมีแนวคิดเรื่องความมั่นคงแบบใหม่ ความมั่นคงในปัจจุบันไม่ควรตั้งอยู่บนการเสริมสร้างกำลังทหารหรือพันธมิตรทางทหารอีกต่อไป หากแต่ควรตั้งอยู่บนความไว้เนื้อเชื่อใจและผลประโยชน์ร่วมกัน[18]

 

ต่อมาในการประชุมว่าด้วยการลดกำลังรบ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1999 เจียงเจ๋อหมินได้กล่าวสุนทรพจน์ซึ่งอธิบายเนื้อหาของแนวคิดดังกล่าว ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

 

เราเชื่อว่าแก่นของแนวคิดเรื่องความมั่นคงแบบใหม่นั้นควรประกอบไปด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน การได้รับผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ความเท่าเทียมกัน และความร่วมมือ ... แนวทางที่ถูกต้องในการระงับข้อพิพาทและรักษาสันติภาพนั้นต้องทำผ่านการสนทนา การปรึกษาหารือ และการเจรจาต่อรองบนฐานของความเท่าเทียมกัน[19]

 

เจียงเจ๋อหมินยังกล่าวในโอกาสเดียวกันอีกด้วยว่า ภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ยังคงคุกคามความอยู่รอดของมนุษยชาติ ประชาคมระหว่างประเทศจึงต้องแสดงความพยายามอย่างไม่ลดละในการป้องกันการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์และส่งเสริมการลดอาวุธนิวเคลียร์ หาไม่แล้วจะนำไปสู่การแข่งขันกันสะสมอาวุธดังกล่าวจนบั่นทอนความมั่นคงและเสถียรภาพระหว่างประเทศ[20] ซึ่งจีนจะได้นำแนวคิดเรื่องความมั่นคงแบบใหม่นี้ไปใช้ในทางปฏิบัติเมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือครั้งที่ 2 ในทศวรรษ 2000




 

--------------------------------


[1] Jiang Zemin, Selected Works of Jiang Zemin, Volume I, 302.
[2] Michael Yahuda, Sino-Japanese Relations after the Cold War: Two tigers sharing a mountain (Oxon: Routledge, 2014), 111-112.
[3] FM Spokesman on Sino-U.S. Strategic and Security Consultations,” People’s Daily, 24 February 2000, available from https://www.fas.org/news/china/2000/000224-prc-t5.htm, accessed 12 April 2014.
[4] เฉียนฉีเชิน, สถานการณ์โลกกับการทูตจีน, แปลโดย อาทร ฟุ้งธรรมสาร (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2554), 131-132.
[5] The White Paper of China’s National Defense in 2000 (Beijing: Information Office of the State Council of the People’s Republic of China, 2000), available from http://www.china.org.cn/e-white/2000/index.htm, accessed 12 April 2014.
[6] “DPRK on NATO’s Bombardment of Chinese Embassy,” The People’s Korea 94 (12 May 1999), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/094th_issue/99051205.htm, accessed 21 April 2013. 
                [7] Oberdorfer and Carlin, The Two Koreas, 332.
[8] “Pyongyang and Beijing Vow to Further Strengthen Traditional Friendship,” The People’s Korea 98 (9 June 1999), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/098th_issue/99060907.htm, accessed 21 April 2013.
                [9] Oberdorfer and Carlin, The Two Koreas, 333.
[10] “China Will Keep Helping Korean People: Interview with Cheng Yonghua, Minister-Counsellor at Chinese Embassy in Japan,” The People’s Korea 146 (23 August 2000), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/146th_issue/2000082304.htm, accessed 21 April 2013.
[11] Zhu Rongji, Zhu Rongji Meets the Press (Hong Kong: Oxford University Press, 2011), 119.
[12] “Kim Jong Il Pays Unofficial Visit to China,” The People’s Korea 154 (25 January 2001), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/154th_issue/2001012501.htm, accessed 10 April 2014.
[13] “DPRK, China Vow to Strengthen Relations Marking 40th Anniv. of Treaty of Friendship,” The People’s Korea 165 (25 July 2001), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/165th_issue/2001072504.htm, accessed 21 April 2013.
[14] “เจียงเจ๋อหมินจ่งซูจี้อวี่จินเจิ้งรื่อจ่งซูจี้จวี่สิงหุ้ยถาน,” (เลขาธิการเจียงเจ๋อหมินกับเลขาธิการคิมจองอิลจัดการประชุมหารือกัน) เหรินหมินรื่อเป้า (ประชาชนรายวัน), 3 กันยายน 2001, สืบค้นจาก http://www.people.com.cn/GB/shizheng/252/6241/6242/20010903/550887.html, เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2013.  
[15] “President Jiang Zemin Revisits DPRK in 11 Years: Traditional Ties Revived to Match New century,” The People’s Korea 168 (15 September 2001), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/168th_issue/2001091501.htm, accessed 21 April 2013.
[16] “เจียงเจ๋อหมินจ่งซูจี้อวี่จินเจิ้งรื่อจ่งซูจี้จวี่สิงหุ้ยถาน,” เหรินหมินรื่อเป้า, 3 กันยายน 2001. ในโอกาสครบรอบ 80 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2001 เจียงเจ๋อหมินในฐานะเลขาธิการพรรคได้เสนอแนวคิดสามตัวแทน โดยระบุว่าพรรคจะเป็นตัวแทนของพลังการผลิตที่ก้าวหน้า ตัวแทนของวัฒนธรรมที่ก้าวหน้า และตัวแทนของผลประโยชน์ของประชาชนจีน
[17] “China to Offer $6 Mil. Grant Aid to DPRK,” The People’s Korea 179 (27 April 2002), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/179th_issue/2002042707.htm, accessed 21 April 2013.
[18] “Opening Statement By H.E. Mr. Qian Qichen, Vice Premier and Minister of Foreign Affairs, People’s Republic of China at ASEAN Regional Forum (ARF), Subang Jaya (27 July 1997),” available from  http://www.shaps.hawaii.edu/security/china/qian-arf-9707.html, accessed 26 May 2008.
[19] Jiang Zemin, Selected Works of Jiang Zemin, Volume II (Beijing: Foreign Languages Press, 2012), 306.
[20] Ibid., 307-309. .
 
 

ไม่มีความคิดเห็น: