วันเสาร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 11)


จีนกับการจัดประชุมษัฏภาคีรอบที่ 2 (25-28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2004)

            การที่ผู้แทนของเกาหลีเหนือไม่ปรากฏตัวในการประชุมเพื่อร่างแถลงการณ์ร่วมจนทำให้การประชุมษัฏภาคีรอบที่ 1 จบลงโดยไม่มีแถลงการณ์ร่วมใดๆ นั้นสร้างความลำบากใจให้กับจีนในการชักจูงให้เกาหลีเหนือเห็นประโยชน์จากการเจรจาษัฏภาคีในรอบต่อไป ด้วยเหตุนี้จีนจึงต้องอาศัยบุคคลระดับที่สูงกว่ารัฐมนตรีและใช้แรงจูงใจทางวัตถุมาชักจูงให้เกาหลีเหนือกลับสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง อู๋ปังกั๋ว (Wu Bangguo) ประธานสภาประชาชนและผู้นำหมายเลขสองของจีนจึงเดินทางเยือนเกาหลีเหนือในวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 2003 โดยเขาได้เยี่ยมชมศูนย์เครื่องจักรหนักแทอัน (Taean Heavy Machine Complex) ชานกรุงเปียงยางในวันถัดมาพร้อมกับเสนอให้ความช่วยเหลือแก่เกาหลีเหนือในการสร้างโรงงานผลิตแก้ว (glass plant) บนพื้นที่ 293,000 ตารางเมตร มูลค่าการก่อสร้าง 24 ล้านเหรียญสหรัฐ และสามารถผลิตแก้วได้วันละ 300 ตัน[1] ทำให้ในวันรุ่งขึ้นเมื่ออู๋ปังกั๋วพบกับคิมจองอิล ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงร่วมกันได้ว่าจะเดินหน้าประชุมษัฏภาคีกันต่อไป[2] และต่อมาในวันที่ 9 ธันวาคมของปีนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือได้แสดงท่าทีประนีประนอมกับสหรัฐอเมริกามากขึ้นด้วยการยื่นข้อเสนอว่า เกาหลีเหนือยินดี “แช่แข็ง (freeze)” หรือระงับโครงการนิวเคลียร์โดยแลกกับการที่สหรัฐอเมริกาต้องถอนเกาหลีเหนือออกจากบัญชีรายชื่อประเทศผู้สนับสนุนการก่อการร้าย[3]

            จีนเองก็ได้แสดงบทบาทในการเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาหันมาประนีประนอมกับเกาหลีเหนือเช่นกัน โดยในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 2003 ฟู่อิ๋ง อธิบดีกรมเอเชียเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจมส์ เคลลี และริชาร์ด อาร์มิเทจ (Richard Armitage) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ฟู่อิ๋งเสนอว่าแม้เป้าหมายสุดท้ายของการประชุมษัฏภาคีคือการทำให้เกาหลีเหนือยอมยุติโครงการนิวเคลียร์ แต่ก็ควรมีการตั้งเป้าหมายเฉาะหน้าไว้ด้วย นั่นคือการให้เกาหลีเหนือแช่แข็งโครงการนิวเคลียร์ไว้ก่อนเพื่อแลกกับการได้รับความช่วยเหลือด้านต่างๆ จาก 5 ประเทศที่เหลือ[4] ซึ่งน่าจะเป็นเงื่อนไขที่เกาหลีเหนือพอจะยอมรับได้ และเมื่อเวินเจียเป่า (Wen Jiabao) นายกรัฐมนตรีของจีนเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาในช่วงวันที่  7 – 10 ธันวาคมของปีเดียวกัน เขาก็ได้ขอให้ประธานาธิบดีบุชคำนึงถึง “ความกังวลด้านความมั่นคงที่มีเหตุผล (reasonable concern on security)” ของฝ่ายเกาหลีเหนือด้วยเช่นกัน[5] อย่างไรก็ตาม ในการตอบคำถามนักข่าวร่วมกับเวินเจียเป่าเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมของปีนั้น บุชระบุว่าเป้าหมายของสหรัฐอเมริกาคือต้องการให้เกาหลีเหนือ “รื้อ (dismantle)” โครงการดังกล่าวทิ้งมากกว่าที่จะเป็นเพียงการแช่แข็ง[6]

            การประชุมษัฏภาคีรอบที่ 2 จัดขึ้น ณ เรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถในกรุงปักกิ่งช่วงวันที่ 25 – 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2004 โดยหัวหน้าคณะผู้แทนของแต่ละฝ่ายยังคงเหมือนการประชุมรอบที่ 1 ยกเว้นเกาหลีเหนือที่ส่งหัวหน้าคณะผู้แทนมาใหม่คือ คิมกีกวาน (Kim Gye Gwan) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ซึ่งกล่าวในวันเปิดประชุมว่าเกาหลีเหนือยินดีแช่แข็งโครงการนิวเคลียร์ถ้าสหรัฐอเมริกาให้หลักประกันด้านความมั่นคงและความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่เกาหลีเหนือ แต่เจมส์ เคลลีตอบไปว่าสหรัฐอเมริกายินดีทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าวก็ต่อเมื่อเกาหลีเหนือยุติโครงการนิวเคลียร์ในลักษณะที่ “สมบูรณ์ ตรวจสอบได้ และฟื้นคืนไม่ได้ (complete, verifiable, and irreversible dismantlement - CVID)”[7] และแม้ว่าในวันต่อมาเกาหลีเหนือจะต่อรองว่ายินดียกเลิกโครงการนิวเคลียร์โดยเหลือไว้แต่เพียงโครงการนิวเคลียร์เพื่อสันติ (เช่น การผลิตกระแสไฟฟ้า) เท่านั้น แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังคงยืนกรานให้เกาหลีเหนือยุติโครงการนี้ทั้งหมด[8] การประชุมรอบนี้จึงจบลงโดยไม่มีแถลงการณ์ร่วม แต่เป็นแถลงการณ์ของประธาน (chairman’s statement) ที่ระบุความคืบหน้าเพียงว่าแต่ละฝ่ายยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ก็มีความเข้าใจในจุดยืนของกันและกันมากขึ้น และจะมีการประชุมรอบต่อไปภายในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2004[9]    

                    หลี่จ้าวซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนช่วง ค.ศ. 2003 -  2007 
 
 
 

จีนกับการจัดประชุมษัฏภาคีรอบที่ 3 (23-26 มิถุนายน ค.ศ. 2004)

            จีนตระหนักดีว่าการทำให้เกาหลีเหนือคลายความกังวลด้านความมั่นคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การประชุมษัฏภาคีรอบต่อไปสำเร็จลุล่วงไปได้ หลี่จ้าวซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนจึงเดินทางเยือนเกาหลีเหนือในช่วงวันที่ 23 – 25 มีนาคม ค.ศ. 2004 และฝ่ายเกาหลีเหนือก็ดูจะให้ความสำคัญกับการมาเยือนดังกล่าวไม่น้อย ดังที่คิมจองอิลซึ่งอยู่ระหว่างตรวจงานด้านการทหารในต่างจังหวัดยอมเดินทางกลับมากรุงเปียงยางเพื่อพบกับหลี่จ้าวซิงก่อนที่จะเดินทางออกไปตรวจงานต่ออีกครั้ง[10] อย่างไรก็ตาม คู่สนทนาที่สำคัญของหลี่จ้าวซิงในการเยือนเกาหลีเหนือครั้งนี้ก็คือ คังซกจู รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือผู้เคยเป็นเพื่อนห้องนอน (roommate) ของหลี่จ้าวซิงเมื่อครั้งศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่งใน ค.ศ. 1963 หลี่จ้าวซิงพยายามทำให้เกาหลีเหนือมั่นใจว่าการยุติโครงการนิวเคลียร์จะไม่นำไปสู่การคุกคามของสหรัฐอเมริกา เพราะถึงอย่างไรเสียจีนก็ยังคงเป็นพลังที่ต่อต้านลัทธิครองความเป็นจ้าว (hegemonism) ของสหรัฐอเมริกาอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ดังที่เขาบอกกับคังซกจูว่า  

 

เกาหลีเหนือเข้าร่วมในสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ แต่ตอนนี้ก็ถอนตัวออกมา พวกเราหวังว่าเกาหลีเหนือจะพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งเพื่อกลับไปยังจุดยืนเดิม พวกเราหวังว่าสหายเกาหลีเหนือจะใช้เวทีประชุมษัฏภาคีเพื่อแก้ปัญหาด้วยการเจรจา หรือจะใช้เวทีดังกล่าวในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาก็ได้ ขอให้สหายเกาหลีเหนือมั่นใจว่าจีนยังคงยืนหยัดต่อต้านลัทธิครองความเป็นจ้าว รัฐบาลและประชาชนจีนยืนอยู่บนหลักการและความถูกต้องเสมอมา จีนยินดีร่วมมือกับเกาหลีเหนืออย่างจริงใจในการแก้ไขปัญหานิวเคลียร์เหมือนที่เคยเป็นมา[11]  

 

            ต่อมาในระหว่างการเยือนจีนของคิมจองอิลช่วงวันที่ 19 – 21 เมษายน ค.ศ. 2004 หูจิ่นเทาก็ได้เน้นย้ำอีกว่าความกังวลด้านความมั่นคงที่มีเหตุผลของเกาหลีเหนือเป็นสิ่งที่ควรได้รับการเอาใจใส่ ขณะที่คิมจองอิลก็ระบุว่าเกาหลีเหนือยินดีเข้าร่วมการประชุมษัฏภาคีรอบต่อไปด้วยความอดทนและยืดหยุ่นเพื่อเป้าหมายสุดท้ายคือการปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ (denuclearization)[12]

การประชุมษัฏภาคีรอบที่ 3 จัดขึ้น ณ เรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถในกรุงปักกิ่งช่วงวันที่ 23 – 26 มิถุนายน ค.ศ. 2004 โดยหัวหน้าคณะผู้แทนของแต่ละฝ่ายยังคงเหมือนการประชุมรอบที่ 2 ยกเว้นรัสเซียที่ส่งหัวหน้าคณะผู้แทนมาใหม่คือ อเล็กซานเดอร์ อเล็กเซเยอฟ (Alexander Alexeyev) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การประชุมในรอบนี้ได้ผลคืบหน้ามากกว่าการประชุมรอบที่ผ่านๆ มาเล็กน้อย กล่าวคือ เกาหลีเหนือยินดีแช่แข็งโครงการนิวเคลียร์โดยระบุว่าจะเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การยกเลิกโครงการดังกล่าวในที่สุด โดยในระหว่างที่แช่แข็งอยู่นี้สหรัฐอเมริกายินดีให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและพลังงานแก่เกาหลีเหนือ[13] อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นการตกลงในเชิงหลักการเท่านั้น ส่วนรายละเอียดในทางปฏิบัติยังคงตกลงร่วมกันไม่ได้ การประชุมรอบนี้จึงจบลงด้วยแถลงการณ์ของประธานเหมือนรอบที่ผ่านมาโดยระบุว่าจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อกำหนดรายละเอียดของเรื่องดังกล่าว และจะมีการประชุมษัฏภาคีรอบต่อไปภายในเดือนกันยายน ค.ศ. 2004[14]

------------------------------------------------


[1] China Offers Gratis Glass Plant to DPRK: Ground-breaking Ceremony Held in a Suburb of Pyongyang,” The People’s Korea 207 (31 July 2004), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/207th_issue/2004073104.htm, accessed 21 April 2013. การก่อสร้างโรงงานที่ชื่อว่า โรงงานผลิตแก้วมิตรภาพแทอัน (Taean Friendship Glass Factory) แล้วเสร็จในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2005 ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ โดยจีนส่งอู๋อี๋ (Wu Yi) รองนายกรัฐมนตรีไปทำพิธีเปิดร่วมกับคิมจองอิลเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมของปีนั้น   
[2] “DPRK, China Agree to Continue 6-Way Talks,” The People’s Korea 198 (15 November 2003), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/198th_issue/2003111501.htm, accessed 21 April 2013. 
[3] “Spokesman of DPRK Foreign Ministry on Issue of Resumption of Six-Way Talks,” The People’s Korea 199 (13 December 2003), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/199th_issue/2003121305.htm, accessed 21 April 2013. 
[4] Funabashi, The Peninsula Question, 347.
[5] “Premier Wen Jiabao Holds Talks with the US President Bush (10 December 2003),” Permanent Mission of the People’s Republic of China to the UN, available from http://www.fmprc.gov.cn/ce/ceun/eng/zt/wfm/t56088.htm, accessed 18 April 2014.
[6] President Bush and Premier Wen Jiabao Remarks to the Press (December 9, 2003),” U.S. Department of State, available from http://2001-2009.state.gov/p/eap/rls/rm/2003/27184.htm, accessed 18 April 2014. 
[7] Funabashi, The Peninsula Question, 349.
[8] Ibid., 351.
[9] “Chairman’s Statement for The Second Round of Six-Party Talks (February 27th, 2004),” Ministry of Foreign Affairs of Japan, available from http://www.mofa.go.jp/region/asia-paci/n_korea/state0402.html, accessed 19 April 2014. 
[10] หลี่จ้าวซิง, ซัวปู้จิ่นเตอะว่ายเจียว, ตอนที่ 5.
[11] เรื่องเดียวกัน, ตอนที่ 5.
[12] “Kim Jong Il Pays Unofficial Visit to China,” The People’s Korea 203 (24 April 2004), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/203rd_issue/2004042407.htm, accessed 19 April 2014.  
[13] “US, DPRK Show Flexibility,” Xinhua News Agency, 26 June 2004, available from http://www.china.org.cn/english/3rd/99411.htm, accessed 19 April 2014.
[14] “Chairman’s Statement of Third Round of Six-Party Talks,” Xinhua News Agency, 26 June 2004, available from http://www.china.org.cn/english/3rd/99447.htm, accessed 19 April 2014.

ไม่มีความคิดเห็น: