วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 1)


 
“เกาหลีเหนือไม่ใช่ทั้งพันธมิตรและศัตรูของจีน

หากแต่เป็นเพียงประเทศเพื่อนบ้านประเทศหนึ่งเท่านั้น”

 

หลี่เผิง

นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน

ค.ศ. 1997[1]

 

            ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือได้มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงเมื่อสิ้นทศวรรษ 1980 อันเป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต เหตุการณ์เทียนอันเหมินที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการสิ้นสุดของสงครามเย็นและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียต รวมทั้งการที่จีนยังคงเดินหน้านโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศต่อไป ซึ่งทำให้ในที่สุดจีนตัดสินใจสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้ใน ค.ศ. 1992 อันเป็นการปิดฉากนโยบายเกาหลีเดียวที่ยึดมั่นมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศเมื่อ ค.ศ. 1949 ลงไปอย่างถาวร และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือเป็นไปอย่างค่อนข้างห่างเหินเกือบตลอดช่วงทศวรรษ 1990

 
ความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ระหว่างประเทศและในประเทศของจีนเมื่อสิ้นทศวรรษ 1980 และผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ

            หลังจากที่ประธานาธิบดีเลโอนิด เบรชเนฟ (Leonid Brezhnev) แห่งสหภาพโซเวียตแสดงสุนทรพจน์ที่เมืองทาชเคนต์ (Tashkent) ของสาธารณรัฐอุซเบกิสถานเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1982 ซึ่งมีเนื้อหาแสดงความปรารถนาจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับจีน ทางการจีนได้ตอบรับด้วยการเสนอว่าสหภาพโซเวียตจะต้องขจัด “อุปสรรค 3 ประการ” ออกไปให้ได้เสียก่อน นั่นคือ (1) การถอนทหารออกจากชายแดนจีน-โซเวียตและจีน-มองโกเลีย (2) การถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน และ (3) การหว่านล้อมให้เวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชา ซึ่งในที่สุดเมื่อมิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตใน ค.ศ. 1985 เขาก็ได้รับปากทำตามข้อเสนอของจีน จนนำไปสู่การเดินทางเยือนกรุงมอสโกของเฉียนฉีเชิน (Qian Qichen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1988 ซึ่งเขาเรียกการเยือนในครั้งนั้นว่า “การเยือนที่ละลายน้ำแข็ง”[2] และนำไปสู่การเดินทางเยือนจีนของกอร์บาชอฟเพื่อพบกับเติ้งเสี่ยวผิงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1989 การสิ้นสุดของความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตที่ยาวนาน 3 ทศวรรษทำให้จีนไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องของเกาหลีเหนือเพื่อแข่งขันกับสหภาพโซเวียตอีกต่อไป ดังที่จ้าวจื่อหยางบอกกับคิมอิลซุงระหว่างเดินทางเยือนเกาหลีเหนือเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1989 ว่าจีนต้องการสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีสันติภาพและจะไม่แข่งขันกับสหภาพโซเวียตในการสร้างอิทธิพลเหนือคาบสมุทรเกาหลี[3]

            แม้กระนั้น ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ต่อต้นทศวรรษ 1990 จีนก็ยังคงให้ความสำคัญกับเกาหลีเหนืออยู่พอสมควร ทั้งนี้เป็นผลมาจากเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1989 ที่ทางการจีนใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงจนถูกประณามจากโลกตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งมุมมองของทางการจีนนั้นถือว่าความวุ่นวายดังกล่าวทั้งในจีนและในยุโรปตะวันออกเวลาเดียวกันล้วนแต่เป็นผลมาจากการวางแผนของโลกตะวันตกที่จะบ่อนทำลายโลกสังคมนิยมโดยไม่ทำสงคราม หรือที่เรียกว่า “การแปรเปลี่ยนอย่างสันติ (peaceful evolution)”[4] ดังที่เติ้งเสี่ยวผิงกล่าวกับแกนนำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนของปีนั้นว่า

 

            พวกจักรวรรดินิยมตะวันตกกำลังพยายามทำให้ประเทศสังคมนิยมทั้งหลายละทิ้งเส้นทางสังคมนิยม นำพาพวกเขาไปสู่กฎเกณฑ์ของทุนผูกขาดระหว่างประเทศ และนำไปสู่เส้นทางของลัทธิทุนนิยม เราจะต้องมุ่งมั่นต่อต้านกระแสทวนที่ว่านี้ เพราะหากเราไม่ยึดมั่นในลัทธิสังคมนิยม ในที่สุดเราจะกลายเป็นผู้ที่ต้องพึ่งพิงประเทศอื่นๆ และยากที่จะพัฒนาต่อไปได้[5]

 

            เหตุการณ์เทียนอันเหมินทำให้จีนพยายามกระชับความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือในฐานะประเทศสังคมนิยมที่ยังเหลืออยู่ท่ามกลางกระแสของ “การแปรเปลี่ยนอย่างสันติ” จากโลกตะวันตก เมื่อคิมอิลซุงเดินทางเยือนจีนอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1989 เติ้งเสี่ยวผิงก็ได้เดินขึ้นไปต้อนรับเขาถึงบนขบวนรถไฟพร้อมกับแนะนำให้รู้จักเจียงเจ๋อหมิน (Jiang Zemin) เลขาธิการพรรคคนใหม่[6] และทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำว่าจะเดินบนเส้นทางสังคมนิยมต่อไป รวมทั้งวิจารณ์นโยบายเปิดสังคม (Glasnost) และปรับระบบเศรษฐกิจ (Perestroika) ของกอร์บาชอฟว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกสังคมนิยมต้องปั่นป่วน[7] และใน ค.ศ. 1990 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 40 ปีแห่งการเข้าร่วมสงครามเกาหลีของจีน กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้จัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เจียงเจ๋อหมินและฉินจีเหว่ย (Qin Jiwei) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีนผู้เคยร่วมรบในสงครามเกาหลีได้เดินทางไปเยือนกรุงเปียงยางในเดือนมีนาคมและสิงหาคมของปีนั้นตามลำดับ ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1991 หลี่เผิง (Li Peng) นายกรัฐมนตรีของจีนได้เดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือ ขณะที่คิมอิลซุงก็เดินทางเยือนจีนอีกครั้ง (และเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตของเขา) ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน


 
                     คิมอิลซุงเดินทางเยือนจีนครั้งสุดท้ายเมื่อ ค.ศ. 1991
            (จากซ้ายไปขวา) หยางซ่างคุน คิมอิลซุง เจียงเจ๋อหมิน หลี่เผิง




            อย่างไรก็ตาม การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือในช่วงดังกล่าวมิได้หมายความว่าจีนจะยึดมั่นในนโยบายเกาหลีเดียวโดยไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ในเวลาเดียวกับที่จีนกำลังเกรงกลัว “การแปรเปลี่ยนอย่างสันติ” อยู่นั้น เติ้งเสี่ยวผิงก็เน้นย้ำว่าหนทางที่จะทำให้ลัทธิสังคมนิยมของจีนอยู่รอดได้ก็คือการเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ ดังที่เขากล่าวกับแกนนำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1989 ว่า

 

            สิ่งสำคัญที่สุดก็คือจะต้องไม่เกิดความวุ่นวายในประเทศจีน และเราควรจะเดินหน้านโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศต่อไป ถ้าไม่ทำเช่นนี้ประเทศจีนก็จะหมดอนาคต เราประสบความสำเร็จในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพราะอาศัยการปฏิรูปและเปิดประเทศ ตราบเท่าที่เรายังดำเนินนโยบายเหล่านี้และชูธงสังคมนิยมอย่างเข้มแข็ง จีนก็จะมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวง[8]

 

            หลังเหตุการณ์เทียนอันเหมิน จีนจึงยังคงเดินหน้าขยายความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้อยู่ต่อไป แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับที่ 8 ของจีน (ค.ศ. 1991-1995) ได้วางเป้าหมายที่จะสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeast Economic Development Zone) ซึ่งจะเป็นจริงได้โดยอาศัยทุนจากเกาหลีใต้[9] ขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ ในค่ายสังคมนิยมก็เริ่มหันมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้ เริ่มจากฮังการีในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1989 และที่สำคัญที่สุดก็คือสหภาพโซเวียตในเดือนกันยายน ค.ศ. 1990 ทั้งหมดนี้จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ทางการจีนเดินหน้าไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้ควบคู่ไปกับความพยายามสื่อสารให้ทางการเกาหลีเหนือทราบเพื่อรักษามิตรภาพระหว่างกันเอาไว้  


--------------------------------------


                        [1] Pak Tu-sik, Choson Ilbo, 17 April 1997, 2 อ้างถึงใน Kongdan Oh and Raph C. Hassig, North Korea through the Looking Glass (Washington, D.C.: Brooking Institution Press, 2000), 158. 
                        [2] เฉียนฉีเชิน, บันทึกการทูตจีน 10 เรื่อง, 80.
                [3] Gilbert Rozman, Chinese Strrategic Thought toward Asia (New York, NY: Palgrave Macmillan, 2010), 180.
                [4] Selected Works of Deng Xiaoping, Volume III, 333
                        [5] Ibid., 302.
                [6] “KCTV(General Kim Il Sung in China [1989]-[1990]),” Korea Central Television, available from http://www.youtube.com/watch?v=WfMifjirULE, accessed 11 August 2013. 
                [7] Lee, ibid., 119.
                        [8] Selected Works of Deng Xiaoping, Volume III, 310
                [9] Xiaoxiong Yi, “China’s Korea Policy: From “One-Korea” to “Two Koreas,” Asian Affairs: An American Review, no. 2 (1995): 125.

ไม่มีความคิดเห็น: