วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555

ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศของไต้หวันกับปัญหาสิทธิมนุษยชน: ศึกษากรณีของไลบีเรียและ “เพชรสีเลือด” ในเซียร์ราลีโอน

หมายเหตุ: เป็นเพียงฉบับร่าง ขอความกรุณาอย่าเพิ่งนำไปอ้างอิง



ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เราประสบความสำเร็จในการสถาปนาความสัมพันธ์กับ 6 ประเทศ ปักกิ่งไม่พอใจมากและได้ป่าวประกาศไปทั่วโลกผ่านสำนักข่าวซินหัวว่าเราจ่ายเงินซื้อมิตรประเทศ หรือที่เรียกกันว่า “การทูตเงินดอลลาร์” คำกล่าวของพวกเขานำไปสู่ปฏิกิริยาที่รุนแรงในบ้านของเรา สมาชิกสภานิติบัญญัติหลายคนตั้งคำถามกับรัฐบาลว่าเหตุใดจึงต้องให้เงินช่วยเหลือแก่ประเทศอื่นๆ ข้าพเจ้าจึงขอย้ำ ณ ที่นี้ว่า
ประเทศที่เศรษฐกิจเข้มแข็งควรเรียนรู้ที่จะตอบแทนผู้อื่นด้วยการให้ความช่วยเหลือ”

สุนทรพจน์ของเฟรดริก เฉียน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน

ณ สโมสรโรตารีสากล กรุงไทเป วันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1990

(Chien, 1995, p.25)



                        เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 2009 ศาลพิเศษเซียร์ราลีโอน (The Special Court for Sierra Leone) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ไต่สวนชาร์ลส์ เทย์เลอร์ (Charles Taylor) ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของไลบีเรียตั้งแต่ ค.ศ. 1997 ถึง ค.ศ. 2003 ซึ่งถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เนื่องจากเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมืองในเซียร์ราลีโอนตั้งแต่ ค.ศ. 1991 ถึง ค.ศ. 2002 เทย์เลอร์ให้การตอนหนึ่งว่า เมื่อ ค.ศ. 1997 รัฐบาลไต้หวันได้โอนเงินจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐเข้าบัญชีส่วนตัวของเขาที่เปิดไว้ ณ ธนาคารเพื่อการพัฒนาและการลงทุนแห่งไลบีเรีย (The Liberian Bank for Development and Investment) เพื่อสนับสนุนให้เขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนั้นและรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไต้หวันกับไลบีเรียให้คงอยู่ต่อไป และในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2000 สถานทูตไต้หวันประจำกรุงมันโรเวียยังได้โอนเงินให้กับเขาอีกก้อนหนึ่งเป็นจำนวน 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (Sesay, 2009, Dec 7)

                        คำให้การของเทย์เลอร์ทำให้สื่อมวลชนพากันเสาะหาข้อมูลเกี่ยวกับความร่ำรวยของบุคคลผู้นี้ โดยในวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 2010 หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ (New York Times) ได้รายงานว่า อดีตประธานาธิบดีผู้นี้ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 24,000 เหรียญสหรัฐต่อเดือน หากแต่ช่วง ค.ศ. 2000 ถึง ค.ศ. 2003 มีเงินโอนเข้ามายังบัญชีส่วนตัวของเขารวมกันสูงถึง 24 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในจำนวนนี้เป็นเงินที่โอนมาจากรัฐบาลไต้หวัน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหลี่ว์ชิ่งหลง (吕庆龙) อดีตโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันได้ยอมรับว่ารายงานข่าวดังกล่าวเป็นความจริง และไต้หวันมีความจำเป็นที่ต้องทำเช่นนี้เพื่อมิให้ไลบีเรียตัดความสัมพันธ์ทางการทูต (Cole, 2010, Jun 2)

                        การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวสร้างความด่างพร้อยให้กับรัฐบาลไต้หวันซึ่งยืนยันตลอดมาว่า การให้เงินช่วยเหลือแก่ต่างประเทศนั้นเป็นไปเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและความกินดีอยู่ดีร่วมกัน หาใช่เป็น “การทูตเงินดอลลาร์” (金钱外交dollar diplomacy) หรือ “การทูตสมุดเช็ค” (支票外交chequebook diplomacy) เพื่อซื้อความสัมพันธ์ทางการทูตตามที่จีนมักกล่าวหาไม่ ในบทความนี้ผู้วิจัยต้องการชี้ให้เห็นว่าการที่ไต้หวันมีสถานะเป็น “รัฐที่ถูกท้าทายความเป็นรัฐ” (contested state) และถูกโดดเดี่ยวในเวทีโลก ได้ทำให้นโยบายการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศเน้นไปที่การแสวงหาความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นอันดับแรก เพราะสิ่งดังกล่าวเป็นเครื่องหมายรับรองสถานะความเป็นรัฐของไต้หวัน ด้วยเหตุนี้ไต้หวันในฐานะประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ (donor country) จึงละเลยประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศผู้รับความช่วยเหลือ (recipient country) ดังกรณีความช่วยเหลือที่ให้แก่ชาร์ลส์ เทย์เลอร์ ผู้นำของไลบีเรียซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับ “เพชรสีเลือด” (blood diamond) ในสงครามกลางเมืองในเซียร์ราลีโอน โดยผู้วิจัยจะเริ่มต้นจากการทบทวนแนวคิดเรื่องการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ และไต้หวันในสถานะ “รัฐที่ถูกท้าทายความเป็นรัฐ” ตามด้วยการใช้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศเป็นเครื่องมือทางการทูตของไต้หวัน ก่อนที่จะศึกษาถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในกรณีที่กล่าวมาข้างต้น และปิดท้ายด้วยแนวโน้มของการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศของไต้หวันหลังการ ”พักรบทางการทูต” กับจีนตั้งแต่ ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา



แนวคิดเรื่องการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ

                        ก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองใน ค.ศ. 1945 สิ่งที่เรียกว่า “ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ” (foreign aid) ยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจน จะมีก็แต่เพียงการที่รัฐหนึ่งช่วยเหลือรัฐอื่นยามฉุกเฉินเพื่อมนุษยธรรมเป็นการชั่วคราวเท่านั้น การให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศที่เป็นรูปธรรมชัดเจนและต่อเนื่องอุบัติขึ้นพร้อมๆ กับสงครามเย็นที่ก่อตัวในครึ่งหลังของทศวรรษ 1940 โดยขณะนั้นสหรัฐอเมริกามีความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองในกรีซและตุรกี จนเกรงว่าสหภาพโซเวียตอาจอาศัยจังหวะดังกล่าวขยายอิทธิพลเข้าแทนที่สหราชอาณาจักรฯ ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1947 ประธานาธิบดีแฮรี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) จึงได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาอเมริกัน หรือที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า “หลักการทรูแมน” (The Truman Doctrine) เพื่อขอร้องให้รัฐสภาอนุมัติเงินช่วยเหลือแก่สองประเทศนี้เป็นจำนวน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ จนนำมาสู่โครงการความช่วยเหลือที่เรียกว่า “โครงการมาร์แชล” (The Marshall Plan) ตามชื่อของจอร์ช ซี. มาร์แชล (George C. Marshall) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในขณะนั้น ผู้ซึ่งกล่าวย้ำเมื่อเดือนมิถุนายนของปีเดียวกันว่าความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา “จะต้องไม่ดำเนินไปในลักษณะทีละเล็กทีละน้อยแล้วแต่วิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น” และ “ควรจะเป็นการรักษาที่แท้จริง มิใช่เป็นเพียงยาบรรเทาแบบชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น” (โครงการมาร์แชล ค.ศ. 1947, 2539, น. 215)

                        โครงการมาร์แชลจึงเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาหลังจากเกิดสงครามเกาหลีเมื่อ ค.ศ. 1950 สหรัฐฯ ก็ได้ขยายความช่วยเหลือเข้าไปยังหลายประเทศในเอเชีย และเมื่อถึงทศวรรษ 1960 ก็มีประเทศจำนวนมากทั้งในค่ายโลกเสรีและในค่ายสังคมนิยมที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ภายใต้บริบทของสงครามเย็น ด้วยเหตุนี้แนวคิดเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศในระยะแรกจึงเกิดขึ้นภายใต้กรอบของแนวคิดสัจนิยมทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (realism) หรือก็คือการมองว่าความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นหนึ่งในเครื่องมือด้านนโยบายต่างประเทศเพื่อสนองผลประโยชน์แห่งชาติของประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ ดังเช่นงานเขียนของ Hans Morgenthau (1962) ที่ระบุว่า



แท้จริงแล้วมันไม่ใช่ประเด็นที่จะมาตั้งคำถามว่าสหรัฐฯ ควรมีนโยบายความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศหรือไม่ พอๆ กับการถามว่าสหรัฐฯ ควรมีนโยบายต่างประเทศด้านการเมืองหรือการทหารหรือไม่ สหรัฐฯ มีผลประโยชน์ในต่างประเทศที่ไม่อาจรักษาไว้ได้ด้วยวิธีการทางทหาร ส่วนวิธีการทางการทูตแบบดั้งเดิมก็เหมาะสมเพียงบางส่วนเท่านั้น ถ้าปราศจากซึ่งการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ เราก็ไม่อาจรักษาผลประโยชน์เอาไว้ได้
(p. 301)



                        การปรากฏขึ้นของทฤษฎีภาวะพึ่งพิง (dependency theory) ในทศวรรษ 1960 และ 1970 มีอิทธิพลต่อแนวคิดเรื่องการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศเช่นเดียวกัน ทฤษฎีดังกล่าวมองว่า “การพัฒนา” (development) ในประเทศกำลังพัฒนาแท้จริงแล้วสะท้อนให้เห็น “การด้อยพัฒนา” (underdevelopment) เนื่องจากประเทศชายขอบ (periphery) ในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา ต้องพึ่งพาประเทศศูนย์กลาง (core) ในยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกาทั้งในด้านทุนและเทคโนโลยี (Kukreja, 2001, pp. 329-331) ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศในมุมมองของทฤษฎีนี้จึงเป็นเพียงหนึ่งในวิธีการที่ประเทศศูนย์กลางของทุนนิยมใช้ในการควบคุมและขูดรีดทรัพยากรของประเทศชายขอบทั้งหลายนั่นเอง (Hayter, 1981, pp. 82-96)

                        จะเห็นได้ว่าแนวคิดเรื่องการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศตามแบบสัจนิยมและทฤษฎีพึ่งพิงต่างมีจุดยืนร่วมกัน นั่นคือการมองว่าความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นไปเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของประเทศผู้ให้มากกว่าประเทศผู้รับ อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวของแนวคิดประกอบสร้างนิยม (constructivism) ในสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 ได้กระตุ้นให้มีการมองการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศในแง่มุมใหม่ แนวคิดประกอบสร้างนิยมตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานสองประการ ได้แก่ (1) สิ่งที่เป็นปัจจัยขั้นปฐมในการกำหนดโครงสร้างของสังคมมนุษย์นั้นไม่ใช่พลังทางวัตถุ (material forces) หากแต่เป็นการมีแนวคิดที่ยึดถือร่วมกัน (shared ideas) และ (2) แนวคิดที่ยึดถือร่วมกันนั้นเป็นตัวกำหนดอัตลักษณ์และผลประโยชน์ของตัวแสดงต่างๆ ในสังคม หาใช่ธรรมชาติเป็นตัวกำหนดไม่ (Wendt, 1999, p. 1) แนวคิดดังกล่าวสะท้อนออกมาในหนังสือของ Lumsdaine (1993) ซึ่งชวนให้ผู้อ่านพิจารณาการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศเสียใหม่

                        Lumsdaine (1993) ระบุว่า การให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศนั้นมิได้เป็นไปเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศผู้ให้แต่เพียงเท่านั้น  หากแต่ยังมีรากฐานมาจากหลักการด้านมนุษยธรรมและความเสมอภาคของประเทศผู้ให้ซึ่งมีความเชื่อว่า ระเบียบระหว่างประเทศที่เป็นธรรมเท่านั้นที่จะทำให้โลกมีสันติภาพและความรุ่งเรือง โดยเขาเสนอว่าการที่รัฐต่างๆ ยึดถือในหลักการด้านมนุษยธรรมและความเสมอภาคนั้นเป็นผลมาจากปัจจัยแวดล้อมที่มีอิทธิพล ได้แก่ (1) ค่านิยมทางการเมืองในสังคมของแต่ละประเทศที่เน้นเรื่องความกินดีอยู่ดี (2) แรงกดดันจากสังคมระหว่างประเทศ และ (3) พัฒนาการของการปฏิบัติระหว่างประเทศ (international practices) ที่เน้นเรื่องความกินดีอยู่ดีของผู้คนในประเทศต่างๆ เช่น บทบาทของธนาคารโลก (The World Bank) คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (The UN Economic and Social Council) เป็นต้น (Lumsdaine, 1993, pp. 30-69) อย่างไรก็ตาม เขาศึกษาเฉพาะความช่วยเหลือจากประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว (developed democracies) ที่เป็นสมาชิกของคณะกรรมการความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (The Development Assistance Committee – DAC)[1] แห่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Cooperation and Development – OECD) ขณะที่มีหลายประเทศนอกกลุ่มดังกล่าวที่ให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือไต้หวันซึ่งเริ่มโครงการความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศมาตั้งแต่ ค.ศ. 1959

                        เอกสารของทางการไต้หวันมักจะระบุว่า นโยบายการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศของตนนั้นเกิดจากความต้องการที่จะตอบแทนชุมชนระหว่างประเทศและทำให้ผู้คนในประเทศต่างๆ มีความกินดีอยู่ดี ดังปรากฏในหนังสือรายปีของรัฐบาลไต้หวันเมื่อ ค.ศ. 2003 ความตอนหนึ่งว่า



เงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาจากประเทศต่างๆ มีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวันเป็นอย่างมาก จนทำให้เกิด “ปาฏิหาริย์ไต้หวัน” (The Taiwan miracle) นอกจากนี้ การเป็นประชาธิปไตยทางการเมืองของไต้หวันก็ได้รับการยกระดับโดยการสนับสนุนจากต่างประเทศเช่นเดียวกัน  ไต้หวันจึงต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการตอบแทนความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เหล่านี้ไปยังชุมชนระหว่างประเทศด้วยการช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ด้านการพัฒนา
(Taiwan Yearbook 2003, 2003, p. 129)



                        ขณะที่รายงานของหวงจื้อฟาง (黄志芳) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันที่เสนอต่อสภานิติบัญญัติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 2006 ก็ระบุในทำนองเดียวกันว่า

                       

ครั้งหนึ่งประเทศของเราเคยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศ ไต้หวันผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากจนประสบความสำเร็จในที่สุด เราจึงควรตอบแทนชุมชนระหว่างประเทศด้วยการเป็นผู้ให้ “ผู้ที่รักผู้อื่นย่อมเป็นที่รัก ผู้ที่ช่วยเหลือผู้อื่นย่อมได้รับความช่วยเหลือ” (爱人者人恒爱之, 助人者人恒助之) ... เราจะต้องมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและสร้างคุณูปการในประเด็นที่เป็นความกังวลของนานาชาติ
(Foreign Policy Report, 2006, Oct 2)

                       

                        ข้อความที่ยกมานี้สะท้อนให้เห็นการที่ทางการไต้หวันพยายามอธิบายว่า ประสบการณ์ที่เคยรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศทำให้ไต้หวันตระหนักถึงความกินดีอยู่ดีและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของชุมชนระหว่างประเทศ จนนำไปสู่การที่ตนเองให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ คำอธิบายดังกล่าวดูสอดคล้องกับแนวคิดประกอบสร้างนิยมและงานศึกษาของ Lumsdaine (1993) ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยจะชี้ให้เห็นในลำดับถัดไปว่าการที่ไต้หวันเป็น “รัฐที่ถูกท้าทายความเป็นรัฐ” ได้ทำให้นโยบายการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศของไต้หวันยังคงมีจุดเน้นอยู่ที่การแสวงหาความสัมพันธ์ทางการทูต หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศของไต้หวันยังคงดำเนินไปภายใต้กรอบแนวคิดสัจนิยมเป็นหลัก และนำมาสู่ประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน



ไต้หวันกับสถานะ “รัฐที่ถูกท้าทายความเป็นรัฐ”

                                มาตรา 1 ของ อนุสัญญามอนเตวิเดโอว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐ (The Montevideo Convention on Rights and Duties of States) เมื่อ ค.ศ. 1933 ระบุว่ารัฐในฐานะที่เป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศควรมีองค์ประกอบคือ มีประชากรถาวร มีดินแดนที่กำหนดได้ มีการปกครอง และมีความสามารถเข้าทำความสัมพันธ์กับรัฐอื่น เกณฑ์ดังกล่าวถือว่ามีคุณค่าเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศ (international custom) ที่ยึดถือมาจนถึงปัจจุบัน (ดำรง ธรรมารักษ์, 2539, น. 51) อย่างไรก็ตาม ยังคงมีรัฐบางรัฐที่แม้จะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามอนุสัญญาข้างต้น หากแต่สถานะของรัฐดังกล่าวกลับถูกท้าทายและตั้งคำถามจากรัฐอื่น หรือที่ Geldenhuys (2009) เรียกรัฐประเภทนี้ว่า “รัฐที่ถูกท้าทายความเป็นรัฐ” (contested state) อันหมายถึงรัฐที่ถูกรัฐเดิม (original state) หรือรัฐศูนย์กลาง (central state) ปฏิเสธสถานะความเป็นรัฐ และไม่ได้รับการรับรองทางการทูตในวงกว้าง รัฐประเภทนี้จึงต้องดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยใช้ช่องทางหรือวิธีการที่ไม่ปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาและความขัดแย้ง (pp. 3-4) ซึ่งกรณีของไต้หวันก็เข้าข่ายนี้

                        ไต้หวันมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สาธารณรัฐจีน” (中华民国 The Republic of China) สาธารณรัฐดังกล่าวก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1912 ภายหลังการลุกฮือขึ้นโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีนที่เรียกว่า “การปฏิวัติซินไฮ่” (辛亥革命 The Xinhai Revolution) และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าเป็นรัฐซึ่งเข้าแทนที่ทางอธิปไตยใหม่ (successor state) ต่อจากรัฐซึ่งเคยมีอธิปไตยอยู่เดิม (predecessor state) คืออาณาจักรต้าชิง (大清国) ของชนชาติแมนจูที่ปกครองประเทศจีนช่วง ค.ศ. 1644 ถึง ค.ศ. 1911 สาธารณรัฐจีนได้เป็นสมาชิกองค์การสันนิบาตชาติ (The League of Nations) ซึ่งก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1920 และยังได้เป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (The UN Security Council) เมื่อมีการตั้งองค์การดังกล่าวใน ค.ศ. 1945 อีกด้วย

                        ปัญหาเกี่ยวกับสถานะความเป็นรัฐของสาธารณรัฐจีนเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1949 เมื่อพรรคกั๋วหมินตั่ง (中国国民党) ซึ่งเป็นรัฐบาลได้ปราชัยแก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (中国共产党) ในสงครามกลางเมืองจนต้องถอยร่นไปตั้งรัฐบาลบนเกาะไต้หวันซึ่งเป็นมณฑลหนึ่งของสาธารณรัฐจีน[2] โดยยังคงใช้ชื่อประเทศว่า “สาธารณรัฐจีน” ตามเดิม ขณะที่บนแผ่นดินใหญ่ พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ประกาศสถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน” (中华人民共和国 The People’s Republic of China) โดยมีจุดยืนว่าสาธารณรัฐจีนได้ล่มสลายไปแล้ว และรัฐบาลของตนเป็นรัฐบาลจีนที่ชอบธรรมเพียงรัฐบาลเดียว และไต้หวันเป็นเพียงมณฑลหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีนเท่านั้น นี่คือจุดยืนที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนยึดถือมาโดยตลอด ดังปรากฏในสมุดปกขาวของทางการที่ชื่อว่า หลักการจีนเดียวและประเด็นไต้หวัน ที่นำมาออกเผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 2000 ความตอนหนึ่งว่า



            เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 มีการสถาปนารัฐบาลกลางของประชาชนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีสถานะเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมตามกฎหมายเพียงรัฐบาลเดียวของจีน และเป็นตัวแทนที่ชอบธรรมของจีนเพียงหนึ่งเดียวในเวทีระหว่างประเทศ ถือได้ว่าสถานะทางประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐจีนได้สิ้นสุดลงแล้ว นี่คือการที่ระบอบใหม่เข้าแทนที่ระบอบเก่าโดยที่รัฐในฐานะตัวทำการตามกฎหมายระหว่างประเทศยังคงเป็นรัฐเดิม ส่วนอำนาจอธิปไตยและดินแดนที่รับช่วงต่อมาก็มิได้เปลี่ยนแปลงแต่ประการใด ดังนั้นรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงมีอำนาจอธิปไตยเหนือประเทศจีนอย่างสมบูรณ์ ซึ่งรวมถึงอำนาจอธิปไตยเหนือไต้หวันด้วย

                        นับตั้งแต่กลุ่มผู้ปกครองแห่งพรรคกั๋วหมินตั่งถอยร่นไปไต้หวัน แม้ว่าระบอบดังกล่าวจะยังคงใช้ชื่อว่า “สาธารณรัฐจีน” และ “รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐจีน” แต่ที่จริงพวกเขาได้สูญเสียสิทธิที่จะใช้อำนาจอธิปไตยเหนือประเทศจีนไปแล้ว และเป็นเพียงอำนาจท้องถิ่นบนแผ่นดินของจีนเท่านั้น
(Taiwan Affairs Office and Information Office of the State Council, 2000, Feb)



                        ในทศวรรษ 1950 และ 1960 สถานะความเป็นรัฐของไต้หวันยังไม่สั่นคลอนมากนัก เพราะสภาวะสงครามเย็นทำให้สหรัฐอเมริกาสนับสนุนรัฐบาลของประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค (蒋介石) ในการต่อต้านภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยมีการทำข้อตกลงด้านความมั่นคงในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1954 และไต้หวันยังสามารถรักษาที่นั่งของตนในองค์การสหประชาชาติเอาไว้ได้ สถานะความเป็นรัฐของไต้หวันเริ่มสั่นคลอนอย่างหนักในทศวรรษ 1970 เมื่อสหรัฐฯ ต้องการถอนตัวออกจากสงครามเวียดนามและสานสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน และในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1971 สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาติ (The UN General Assembly) ได้มีมติที่ 2758 เกี่ยวกับปัญหาผู้แทนจีนในสหประชาชาติ ความตอนหนึ่งว่า



            [สมัชชาใหญ่] ตัดสินใจฟื้นฟูสิทธิทั้งหลายของสาธารณรัฐประชาชนจีน และรับรองว่าผู้แทนของรัฐบาลดังกล่าวเป็นผู้แทนที่ชอบธรรมของจีนเพียงหนึ่งเดียวในองค์การสหประชาชาติ และให้ขับไล่ผู้แทนของเจียงไคเช็คออกจากที่นั่งที่พวกเขาครอบครองอยู่อย่างผิดกฎหมายในองค์การสหประชาชาติ และในองค์การอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
(UNGA Resolution 2758, 1971, Oct 25)



                        มติดังกล่าวกระทบต่อสถานะความเป็นรัฐของไต้หวันอย่างชัดเจน การเรียกผู้แทนของสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวันแต่เพียงว่า “ผู้แทนของเจียงไคเช็ค” (the representatives of Chiang Kai-shek) แทนที่จะเรียกว่า “ผู้แทนของสาธารณรัฐจีน” สะท้อนว่าสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติไม่รับรองสถานะความเป็นรัฐของไต้หวันอีกต่อไป และในระยะเวลาสั้นๆ เพียงสามปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1971 ถึง ค.ศ. 1973 มีประเทศที่ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันรวมกันถึง 27 ประเทศ (ดูตารางที่ 1) ทำให้ใน ค.ศ. 1973 นายกรัฐมนตรีเจี่ยงจิงกั๋ว (蒋经国) ผู้เป็นบุตรชายของเจียงไคเช็คได้ประกาศนโยบาย “การทูตทั้งมวล” (总体外交 total diplomacy) ซึ่งเน้นการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วัฒนธรรม การกีฬา โดยอาศัยช่องทางที่หลากหลาย ทั้งแบบทวิภาคและพหุภาคี ทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อรักษามิตรประเทศเอาไว้ให้ได้มากที่สุด (Kim, 1994, p. 150)

                        อย่างไรก็ตาม ตลอดทศวรรษ 1970 ยังคงมีประเทศต่างๆ ทยอยตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธมิตรทางทหารอย่างสหรัฐอเมริกาซึ่งในที่สุดได้หันไปเจรจาเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สำเร็จเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1979 โดยระบุชัดว่า “รัฐบาลของสหรัฐอเมริกายอมรับรู้ท่าทีของจีนว่ามีประเทศจีนเพียงประเทศเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน” (แถลงการณ์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1979, 2539) และเมื่อถึงสิ้น ค.ศ. 2011 ก็เหลือประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันเพียง 23 ประเทศเท่านั้น (ดูตารางที่ 2)

                        จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศในทศวรรษ 1970 มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสถานะความเป็นรัฐและความอยู่รอดของไต้หวันในเวทีโลก จนทำให้ไต้หวันต้องปรับตัวขนานใหญ่ โดยด้านการเมืองภายใน ก่อนที่ประธานาธิบดีเจี่ยงจิงกั๋วจะถึงแก่อสัญกรรมในเดือนมกราคม ค.ศ. 1988 เขาได้ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกและยินยอมให้มีระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย เพื่อสร้างความชอบธรรมทั้งในสายตาของประชาชนไต้หวันและในสายตาของชาวโลก (Kim, 1994, pp. 170-171) ส่วนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็มีการปรับตัวเช่นเดียวกัน โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1988 ประธานาธิบดีหลี่เติงฮุย (李登辉) ได้ประกาศนโยบาย “การทูตที่เน้นผลในทางปฏิบัติ” (务实外交 pragmatic diplomacy) หรือ “การทูตแบบยืดหยุ่น” (弹性外交 flexible diplomacy) ซึ่งมีเป้าประสงค์รวมสามประการคือ (1) การรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตเอาไว้โดยเน้นการใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจ (2) การพัฒนาความสัมพันธ์ด้านต่างๆ กับประเทศที่รับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน และ (3) การนำไต้หวันกลับไปสู่องค์การระหว่างประเทศ (Tubilewicz, 2007, p. 9) นอกจากนี้ยังยกเลิกจุดยืนด้านการต่างประเทศตามหลักการฮอลสไตน์ (Hallstein Doctrine) เพื่อหวังดึงดูดให้ประเทศต่างๆ หันมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันมากขึ้น[3] อันจะเป็นการรักษาไว้ซึ่งการมีตัวตน (existence) และความอยู่รอด (survival) ของไต้หวันนั่นเอง ดังที่หลี่เติงฮุยเขียนไว้ในหนังสือของเขา ความตอนหนึ่งว่า



ถ้าไต้หวันไม่ดำเนินนโยบายต่างประเทศให้ดี ไม่เพียงแต่การทำให้เป็นประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะล้มเหลว หากแต่ความอยู่รอดของเราก็จะตกอยู่ในอันตรายอีกด้วย เป็นเวลานานแล้วที่ข้าพเจ้าพยายามรักษาสมุดลทางการทูตของสาธารณรัฐจีน และมักจะมีคนถามข้าพเจ้าเกี่ยวกับ “ความลับ” ของเรื่องนี้ ที่จริงเรื่องนี้มันธรรมดาและง่ายมาก ขอเพียงแต่เรายึดหลักการอย่างมั่นคงที่ว่าไต้หวันมีตัวตน ...                 

                        เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าไต้หวันมีตัวตน? อย่างแรกคือเราต้องมีความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่เมื่อมันเป็นไปไม่ได้ ความสัมพันธ์ที่เน้นผลในทางปฏิบัติที่รวมศูนย์อยู่ที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจก็ถือว่ามีประสิทธิภาพเช่นกัน หรือต่อให้ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจมีอุปสรรค เราก็ควรดำเนินความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม การสานสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ สามารถทำได้หลายวิธีโดยไม่จำเป็นต้องมีสถานทูต เราไม่ควรยุติการสานสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ด้วยเหตุผลแต่เพียงว่าเราไม่มีช่องทางที่เป็นทางการ การสานสัมพันธ์แบบส่วนตัวกับผู้คนในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกับบุคคลสำคัญนั้นจะส่งอิทธิพลในทางบวกต่อรัฐบาลและมติมหาชนของประเทศเหล่านั้น ... ข้าพเจ้าเรียกสิ่งนี้ว่า “การทูตที่เน้นผลในทางปฏิบัติ” และเชื่อว่าถ้ายึดตามแนวดังกล่าว ไต้หวันจะยังคงมีตัวตนอยู่ต่อไป
(Lee, 1999, pp. 95-96)



                        ในลำดับถัดไป ผู้วิจัยจะชี้ให้เห็นว่าสถานะ “รัฐที่ถูกท้าทายความเป็นรัฐ” ตามที่อธิบายไปแล้วนั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อการกำหนดนโยบายการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศของไต้หวัน ซึ่งความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ไต้หวันใช้เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตเอาไว้ และนำไปสู่การละเลยประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศผู้รับความช่วยเหลือ จนนำมาซึ่งความด่างพร้อยในนโยบายต่างประเทศของไต้หวัน





ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศในฐานะเครื่องมือทางการทูตของไต้หวัน

                        เมื่อสาธารณรัฐจีนย้ายมาตั้งมั่นบนเกาะไต้หวันเมื่อ ค.ศ. 1949 นั้น รัฐบาลของพรรคกั๋วหมินตั่งอยู่ในสภาพที่บอบช้ำจากทั้งสงครามจีน-ญี่ปุ่น (ค.ศ. 1937 – ค.ศ. 1945) สงครามกลางเมือง (ค.ศ. 1946 – ค.ศ. 1949) และยังเกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรง การวางรากฐานทางเศรษฐกิจของพรรคกั๋วหมินตั่งบนเกาะไต้หวันจึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากพันธมิตรอย่างสหรัฐอเมริกา โดยตั้งแต่ ค.ศ. 1951 จนถึง ค.ศ. 1965 สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ไต้หวันคิดเป็นมูลค่ารวม 1,482 ล้านเหรียญสหรัฐ (Partnership for Progress, 2009, pp. 19-20) ความช่วยเหลือดังกล่าวมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของแผนพัฒนาเศรษฐกิจสี่ปีฉบับแรกของไต้หวัน (ค.ศ. 1953 – ค.ศ. 1956) จนทำให้ไต้หวันเริ่มมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนบทบาทของตนเองจากประเทศผู้รับความช่วยเหลือไปเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ โดยใน ค.ศ. 1959 สหรัฐฯ ได้ขอความร่วมมือให้ไต้หวันส่งเจ้าหน้าที่เทคนิคไปให้ความช่วยเหลือแก่พันธมิตรในสงครามเย็นอย่างเวียดนามใต้ ทั้งในด้านการจัดตั้งสหกรณ์ การเพาะปลูก ปศุสัตว์ และชลประทาน (Tucker, 1994, p. 61) ถือเป็นความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศครั้งแรกของไต้หวัน

                        การใช้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศเป็นเครื่องมือทางการทูตของไต้หวันปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในทศวรรษ 1960 อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกาได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมและเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ โดยที่ไต้หวันหวังว่าเสียงของประเทศเหล่านี้ในสมัชชาใหญ่จะช่วยกีดกันสาธารณรัฐประชาชนจีนและทำให้ไต้หวันยังรักษาที่นั่งของตนเอาไว้ได้ ดังนั้นใน ค.ศ. 1961 ไต้หวันซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาจึงได้จัดตั้งโครงการที่ชื่อว่า “แผนกองหน้า” (先锋案 Operation Vanguard) เพื่อช่วยเหลือประเทศในทวีปแอฟริกาด้านการเกษตรและการประมง (Yu, 1963; Tucker, 1994, pp. 61-62) การที่ฝรั่งเศสหันไปสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเมื่อ ค.ศ. 1964 ยิ่งทำให้ไต้หวันเกรงว่าอดีตประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศสในทวีปแอฟริกาจะปรับเปลี่ยนนโยบายตามอดีตประเทศเมืองแม่ ไต้หวันจึงได้ขยายความช่วยเหลือในทวีปแอฟริกาอย่างต่อเนื่อง (Wang, n.d.) และยังขยายไปยังทวีปอื่นๆ อีกด้วย โดยเมื่อถึง ค.ศ. 1970 ก็มีเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคของไต้หวัน 702 คน ประจำอยู่ใน 23 ประเทศในทวีปแอฟริกา และอีก 111 คน ประจำอยู่ใน 11 ประเทศในทวีปเอเชียและละตินอเมริกา รวมทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ต่างชาติหลายพันคนเดินทางไปรับการฝึกอบรมในไต้หวันอีกด้วย (Clough, 1991, pp. 840-841)

                        การสูญเสียที่นั่งในองค์การสหประชาชาติเมื่อ ค.ศ. 1971 และการสูญเสียพันธมิตรทางการทูตอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษ 1970 ได้ทำให้ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ไต้หวันให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ในด้านการจัดองค์กร รัฐบาลไต้หวันได้จัดตั้ง “กองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งโพ้นทะเล” (海外经济合作发展基金 The Overseas Economic Cooperation and Development Fund - OECDF) ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1988 เพื่อรับผิดชอบการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศเป็นการเฉพาะ และใน ค.ศ. 1991 หน่วยงานดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศ” (国际经济合作发展基金 The International Economic Cooperation and Development Fund - IECDF) ซึ่งการเปลี่ยนคำว่า “โพ้นทะเล” (海外 overseas) เป็น “ระหว่างประเทศ” (国际 international) นั้นสะท้อนความพยายามของทางการไต้หวันที่จะสื่อความหมายว่าการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างรัฐต่อรัฐ (Chan, 1997, p. 53) และเมื่อถึง ค.ศ. 1996 หน่วยงานดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “กองทุนความร่วมมือและการพัฒนาระหว่างประเทศ” (国际合作发展基金The International Cooperation and Development Fund - ICDF) โดยอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนรูปแบบของการให้ความช่วยเหลือของไต้หวันนั้นก็เปลี่ยนไปจากเดิมก่อนทศวรรษ 1980 ที่เน้นการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค (technical assistance) มาเป็นการเน้นการให้เงินกู้ (loans) และเงินให้เปล่า (grants) เพื่อจูงใจให้ประเทศต่างๆ สถาปนาหรือรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน (ดูตารางที่ 3) จนนำมาสู่ข้อกล่าวหาจากทางการจีนที่ว่าไต้หวันดำเนิน “การทูตเงินดอลลาร์”

                        นโยบายการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศเพื่อแสวงหาหรือรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตของรัฐบาลพรรคกั๋วหมินตั่งถูกวิจารณ์จากพรรคพรรคหมินจิ้นตั่ง (民进党 Democratic Progressive Party – DPP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านว่าเป็นการสิ้นเปลืองเงินโดยเปล่าประโยชน์ โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1999 พรรคดังกล่าวได้ออก สมุดปกขาวว่าด้วยนโยบายต่างประเทศในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งระบุข้อผิดพลาดด้านนโยบายต่างประเทศของพรรคกั๋วหมินตั่งรวมห้าประการ หนึ่งในนั้นก็คือ



ทิศทางของนโยบายต่างประเทศถูกกำหนดโดยปฏิสัมพันธ์ข้ามช่องแคบมาโดยตลอด ดังนั้นการทูตของเราจึงมีลักษณะปฏิกิริยา คือเป็นเพียงการโต้ตอบต่อการกระทำของจีนเท่านั้น นี่คือเกมที่มีผู้ได้เพียงฝ่ายเดียว หรือก็คือการแข่งขันที่ไร้สาระเพื่อที่จะเพิ่มจำนวนหุ้นส่วนทางการทูตแต่เพียงเท่านั้น
(White Paper on Foreign Policy, 1999, Nov 28)



                        อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคหมินจิ้นตั่งซึ่งมีนโยบายผลักดันการเป็นเอกราชของไต้หวันชนะการเลือกตั้งโดยมีเฉินสุยเปี่ยน (陈水扁) เป็นประธานาธิบดีใน ค.ศ. 2000 ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบจึงเข้าสู่ภาวะตึงเครียดมากยิ่งขึ้น ตามด้วยการที่พันธมิตรทางการทูตของไต้หวันอย่างมาซีโดเนียหันไปสถาปนาความสัมพันธ์กับจีนในปีถัดมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของนโยบายต่างประเทศของไต้หวันที่นับแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาได้พยายามแสวงหาพันธมิตรทางการทูตจากประเทศที่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตและสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย[4] เฉินสุยเปี่ยนจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะดำเนินนโยบายเฉกเช่นรัฐบาลพรรคกั๋วหมินตั่ง (Tubilewicz & Guilloux, 2011, p. 327) ทั้งนี้เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ดังรายงานของหวงจื้อฟาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันต่อสภานิติบัญญัติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 2006 ที่ว่า



ความสัมพันธ์ทางการทูตคือสัญลักษณ์อันเป็นรูปธรรมที่สุดที่แสดงให้เห็นว่าประเทศของเรามีอธิปไตย เราจะไม่เข้าร่วมในเกมการทูตที่มีผู้ได้เพียงฝ่ายเดียวของจีนซึ่งคุกคามอธิปไตยของเราอย่างไม่หยุดยั้ง และเราก็จะไม่จมปลักอยู่กับมายาคติว่าด้วยการนับจำนวนพันธมิตรทางการทูตของทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม เราขอย้ำว่าความสัมพันธ์ทางการทูตยังคงมีความสำคัญสูงสุด เราจะพยายามอย่างสุดกำลังที่จะรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตเอาไว้ แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีการที่เรียกว่า “การทูตเงินดอลลาร์” อย่างที่มีคนกล่าวหา
(Foreign Policy Report, 2006, Oct 2)



                        แม้รายงานข้างต้นจะปฏิเสธการใช้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการรักษาความสัมพันธ์ทางการทูต แต่ข้อมูลช่วง ค.ศ. 2006 ถึง ค.ศ. 2008 ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลพรรคหมินจิ้นตั่งยังคงตั้งงบประมาณเกี่ยวกับความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศเอาไว้คิดเป็นสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 50 ของงบประมาณทั้งหมดของกระทรวงการต่างประเทศ (ดูตารางที่ 4) และยังนำเอาการคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ทางการทูตมาเป็นเงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลืออีกด้วย ดังเช่นเมื่อพันธมิตรทางการทูตของไต้หวันอย่างชาด คอสตาริกา และมาลาวีหันไปสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2006 เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2007 และเดือนมกราคม ค.ศ. 2008 ตามลำดับ รัฐบาลเฉินสุยเปี่ยนก็ได้สั่งยุติความช่วยเหลือที่ให้แก่ประเทศเหล่านี้ลงทั้งหมดในทันที (MOFA statement, 2006, Aug 5, 2007, June 7; Hsu, 2008, Jan 18)

                        พัฒนาการของความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศของไต้หวันที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นได้ว่า เรื่องดังกล่าวยังคงแยกไม่ออกจากการแสวงหาและรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตของไต้หวันเพื่อต่อสู้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนและยืนยันว่าตนเองเป็นรัฐที่มีอำนาจอธิปไตย ปัญหาสำคัญที่ตามมาจึงมีอยู่ด้วยกันสองประการ ประการแรกเป็นปัญหาเชิงวิชาการสำหรับผู้ที่ศึกษานโยบายต่างประเทศและนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไต้หวัน นั่นคือ ทางการไต้หวันไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดหรือจำนวนตัวเลขของความช่วยเหลือที่ให้แก่ประเทศผู้รับ ด้วยเกรงว่าข้อมูลจะแพร่งพรายออกไปจนทางการจีนทราบและยื่นข้อเสนอให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศผู้รับเหล่านั้นเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าข้อเสนอของไต้หวัน ด้วยเหตุนี้นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้จึงอาศัยได้แต่เพียงตัวเลขที่ปรากฏในรายงานข่าวของสื่อมวลชน หรือคาดเดาบนฐานของตัวเลขงบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศ (เช่นในตารางที่ 4 เป็นต้น)

                        ปัญหาประการที่สองซึ่งสำคัญยิ่งกว่าและเป็นประเด็นที่บทความชิ้นนี้ต้องการเน้นย้ำก็คือ การแข่งขันทางการทูตกับจีนทำให้ไต้หวันไม่ตั้งเงื่อนไขด้านสิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาล (good governance) กับประเทศผู้รับความช่วยเหลือที่เป็นพันธมิตรทางการทูต ด้วยเกรงว่าเงื่อนไขต่างๆ จะทำให้ประเทศเหล่านี้หันไปรับความช่วยเหลือจากจีนจนไต้หวันต้องสูญเสียพันธมิตรทางการทูตไปในที่สุด สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของเทาเหวินหลง (陶文隆) เลขาธิการกองทุนความร่วมมือและการพัฒนาระหว่างประเทศ (ICDF) ของไต้หวันที่ว่าประเทศต่างๆ มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และไต้หวันจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและธรรมาภิบาลของแต่ละประเทศ (Crawford, 2010) การละเลยเรื่องดังกล่าวได้นำมาซึ่งความด่างพร้อยแก่นโยบายต่างประเทศของไต้หวันในกรณีไลบีเรียและ “เพชรสีเลือด” ในเซียร์ราลีโอน ดังจะได้กล่าวในลำดับต่อไป



ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับไลบีเรีย และ “เพชรสีเลือด” ในเซียร์ราลีโอน

                   วิลเลียม วี. เอส. ทับแมน (William V. S. Tubman) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งไลบีเรียระหว่าง ค.ศ. 1943 ถึง ค.ศ. 1971 ถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกับประธานาธิบดีเจียงไคเช็คของไต้หวัน สหรัฐฯ ในยุคสงครามเย็นใช้ไลบีเรียเป็นสถานีถ่ายทอดสัญญาณวิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America) ไปทั่วทวีปแอฟริกา สถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงมันโรเวียถือเป็นหน่วยงานด้านข่าวกรองที่สำคัญในทวีปนี้ และสหรัฐฯ ยังได้สิทธิในการลงจอดเครื่องบินและเติมน้ำมัน ณ ฐานทัพอากาศโรเบิร์ตสฟิลด์ (Robertsfield) ในไลบีเรียอีกด้วย (Meredith, 2011, p. 550) ไลบีเรียและไต้หวันต่างมีนโยบายต่อต้านโลกคอมมิวนิสต์และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1957 และไลบีเรียถือเป็นประเทศแรกในทวีปแอฟริกาที่ได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคจากไต้หวัน โดยเมื่อ ค.ศ. 1961 ไต้หวันส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความช่วยเหลือแก่ไลบีเรียด้านการประมงและการเกษตร ผลปรากฏว่าผลผลิตข้าวของไลบีเรียเพิ่มขึ้นจาก 500 กิโลกรัมต่อพื้นที่หนึ่งเฮกตาร์ เป็น 4,000 กิโลกรัมต่อพื้นที่หนึ่งเฮกตาร์ จนทำให้ประเทศอื่นๆ ในทวีปดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นลิเบีย ดาโฮมี (ปัจจุบันคือเบนิน) และโกดิวัวร์ร้องขอความช่วยเหลือแบบเดียวกันในปีต่อๆ มา (Yu, 1963, p. 451) อย่างไรก็ตาม การเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติของจีน และการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในทศวรรษ 1970 ได้ทำให้ในที่สุดไลบีเรียตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1977

                        ภายใต้นโยบาย “การทูตทั้งมวล” ที่เริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1973 ไต้หวันได้พยายามรักษาความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ กับไลบีเรียที่ไม่ใช่ด้านการทูตเอาไว้ให้ได้ นำมาสู่การเปิดสำนักงานผู้แทนการค้าของไต้หวัน ณ กรุงมันโรเวียใน ค.ศ. 1981 และเมื่อเข้าสู่ยุคของประธานาธิบดีหลี่เติงฮุยซึ่งมีนโยบาย “การทูตที่เน้นผลในทางปฏิบัติ” หรือ “การทูตแบบยืดหยุ่น” ที่เน้นการใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจในการแสวงหาความสัมพันธ์ทางการทูตมากยิ่งขึ้น ไลบีเรียจึงได้หันมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอีกครั้งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1989 โดยแลกกับความช่วยเหลือเป็นจำนวนเงินตามรายงานข่าวประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ[5] และถือว่าเป็นประเทศแรกที่ไต้หวันสามารถรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นมาใหม่ได้สำเร็จภายหลังจากหมดสถานะการเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (Diplomatic Relations Established, 1989, Oct 5; China Says Taiwan Is ‘Buying Hearts’ Abroad, 1989, Oct 15) นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ไต้หวันเข้ามาเกี่ยวพันกับรัฐบาลของไลบีเรียซึ่งมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

                        นับจากก่อตั้งสาธารณรัฐเมื่อ ค.ศ. 1847 ไลบีเรียอยู่ภายใต้ระบอบอภิชนาธิปไตย (aristocracy) ที่อำนาจทางการเมืองผลัดเปลี่ยนไปมาระหว่างสายตระกูลใหญ่ไม่กี่สายในนามของพรรคทรูวิก (The True Whig Party) จนกระทั่ง ค.ศ. 1980 นายทหารนามว่า แซมมวล โด (Samuel Doe) ได้ก่อการยึดอำนาจจากประธานาธิบดีวิลเลียม โทลเบิร์ต (William Tolbert) และสถาปนาระบอบเผด็จการทหารขึ้น มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกและระงับใช้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งห้ามมิให้มีกิจกรรมทางการเมือง แม้ว่าต่อมาใน ค.ศ. 1985 ประธานาธิบดีโดจะยอมให้มีการเลือกตั้ง แต่เขาก็ใช้กำลังทหารคุกคามนักการเมืองฝ่ายค้านและปัญญาชน รวมทั้งยังทุจริตผลการเลือกตั้งอีกด้วย ขณะที่เศรษฐกิจของไลบีเรียก็ประสบปัญหาอย่างหนักด้วยหนี้ต่างประเทศที่สูงถึง 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (Meredith, 2011, p. 555) การครองอำนาจของประธานาธิบดีโดแห่งไลบีเรียสร้างความไม่พอใจให้กับผู้นำของประเทศในทวีปแอฟริกาสองคน คนแรกคือประธานาธิบดีเฟลิกซ์ อูฟูเอ-บัวญี (Félix Houphouët-Boigny) แห่งโกดิวัวร์ ซึ่งบุตรสาวบุญธรรมของเขาสมรสกับบุตรชายของอดีตประธานาธิบดีโทลเบิร์ตซึ่งถูกประธานาธิบดีโดโค่นล้มอำนาจ คนที่สองคือ แบลส กงปาโอเร (Blaise Compaoré) ผู้นำทหารแห่งบูร์กินาฟาโซ ซึ่งเป็นญาติเกี่ยวดองกับประธานาธิบดีอูฟูเอ-บัวญี (Meredith, 2011, p. 557) บุคคลทั้งสองจึงให้การสนับสนุนทางการทหารแก่ชาวไลบีเรียผู้หนึ่งซึ่งลี้ภัยทางการเมืองจากประเทศของตนเองไปเมื่อ ค.ศ. 1985 นามว่า ชาร์ลส์ เทย์เลอร์ (Charles Taylor)

                        ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1989 เทย์เลอร์ได้นำกองกำลังที่ใช้ชื่อว่า “แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติไลบีเรีย” (The National Patriotic Front of Liberia – NPFL) เดินทางจากโกดิวัวร์เข้ามายังตอนเหนือของไลบีเรียเพื่อทำสงครามยึดอำนาจ และเมื่อถึงกลาง ค.ศ. 1990 เขาสามารถยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเอาไว้ได้ ยกเว้นแต่บริเวณกรุงมันโรเวียและปริมณฑลใกล้เคียงที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังนานาชาติที่เรียกว่า “กลุ่มติดตามแห่งประชาคมเศรษฐกิจรัฐแอฟริกาตะวันตก” (Economic Community of West African States Monitoring Group – ECOMOG) ซึ่งนำโดยไนจีเรีย จนกระทั่งใน ค.ศ. 1995 จึงได้มีการเจรจาระหว่าง NPFL กับ ECOMOG และนำไปสู่การเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1997 ผลปรากฏว่าพรรครักมาตุภูมิแห่งชาติ (The National Patriotic Party) ของเทย์เลอร์ได้เสียงข้างมากจนทำให้เขาขึ้นเป็นประธานาธิบดีของไลบีเรีย                   

                        ช่วงเวลาที่เทย์เลอร์อยู่ในอำนาจทั้งในฐานะผู้นำของ NPFL และประธานาธิบดี เขาได้เข้าไปเกี่ยวพันกับสงครามกลางเมืองในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเซียร์ราลีโอนที่กินเวลาตั้งแต่ ค.ศ. 1991 ถึง ค.ศ. 2002 และมีคนล้มตายราว 75,000 คน (Tamm, 2002, p. 11) เซียร์ราลีโอนอุดมไปด้วยเพชรจนนำมาซึ่งความมั่งคั่งของผู้นำประเทศ ดังกรณีของเซียกา สตีเวนส์ (Siaka Stevens) ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ ค.ศ. 1971 ถึง ค.ศ. 1985 ซึ่งเมื่อเขาลงจากอำนาจก็มีทรัพย์สินรวมกันถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (Meredith, 2011, p. 562) และหนึ่งในเขตที่มีเพชรอุดมสมบูรณ์ของเซียร์ราลีโอนก็คือจังหวัดโคโน (Kono) ทางภาคตะวันออกที่อยู่ใกล้ชายแดนไลบีเรีย เทย์เลอร์จึงสนใจเพชรในจังหวัดดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง ความไร้เสถียรภาพของเซียร์ราลีโอนอันเป็นผลมาจากการคอร์รัปชั่นและความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็ยิ่งเป็นช่องทางที่ทำให้เทย์เลอร์เข้าไปแทรกแซงประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ได้สะดวกยิ่งขึ้น ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1991 เขาจึงได้ให้การสนับสนุนทางการเงินและอาวุธแก่กลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาลเซียร์ราลีโอนที่ชื่อว่า “แนวร่วมปฏิวัติ” (The Revolutionary United Front – RUF) นำโดยโฟเดย์ ซันโกห์ (Foday Sankoh) จนกบฏสามารถยึดครองพื้นที่เหมืองเพชรทางภาคตะวันออกของประเทศเอาไว้ได้ จากนั้นก็มีการเกณฑ์แรงงานไปทำงานในเหมืองเพชร มีการนำเด็กวัยรุ่นอายุ 14-18 ปีมาฝึกเป็นทหาร มีการข่มขืนสตรีและเด็ก และที่กล่าวขานกันมากที่สุดก็คือการตัดอวัยวะของประชาชนที่ไม่ยอมเข้าร่วมกับฝ่ายกบฏ (สมาภรณ์ แก้วเกลี้ยง, 2551, น. 36)  จนเป็นที่มาของการเรียกเพชรที่ได้จากเซียร์ราลีโอนในยุคนี้ว่า “เพชรสีเลือด” (blood diamond)

                        แม้ว่ากบฏ RUF จะก่อการขึ้นโดยอ้างการแสวงหาความเป็นธรรมทางสังคม หากแต่ในทางปฏิบัติกลุ่มกบฏที่มีเทย์เลอร์ให้การสนับสนุนนั้นมุ่งแสวงหาความมั่งคั่งจากเพชรเป็นหลัก จนมีนักวิชาการบางส่วนเสนอให้ทำความเข้าใจสงครามกลางเมืองในประเทศโลกที่สามเสียใหม่ จากเดิมในยุคสงครามเย็นที่มองกันว่าสงครามดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อยึดอำนาจรัฐและเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและการเมือง แต่สงครามกลางเมืองในเซียร์ราลีโอนช่วงทศวรรษ 1990 กลับมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก หรือที่เรียกว่ากลุ่มกบฏเป็น “ผู้ประกอบการความรุนแรง” (violence entrepreneur) ดังที่ประจักษ์ ก้องกีรติ (อ้างใน สมาภรณ์ แก้วเกลี้ยง, 2551) กล่าวไว้ในงานสัมมนาเรื่อง “Blood Diamond เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความรุนแรง”  ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 2008 ความตอนหนึ่งว่า



ผู้ประกอบการความรุนแรงคือคนที่หากินกับความรุนแรง หากินกับอุตสาหกรรมสงคราม ภาวะที่ประเทศไม่สงบ ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง รัฐอ่อนแอ ควบคุมประเทศทั้งหมดไม่ได้ ยิ่งเปิดโอกาสให้กลุ่มกบฏเหล่านี้เข้ายึดครองพื้นที่บางพื้นที่ได้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีทรัพยากรทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล เช่น กลุ่มกบฏ RUF ที่เข้ายึดครองบางพื้นที่ที่รู้ว่ามีเพชรมหาศาล ... ถ้าทำแผนที่ออกมา จะเห็นเลยว่าพื้นที่ที่กลุ่มกบฏเข้าไปยึดครองกับพื้นที่ที่มีทรัพยากรอยู่คือพื้นที่เดียวกัน แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายสำคัญของเขาก็คือการหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก
(น. 34)



                        การที่ชาร์ลส์ เทย์เลอร์ให้การสนับสนุนกบฏ RUF ที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงได้ทำให้ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1992 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติที่ 788 ห้ามส่งอาวุธให้แก่ไลบีเรีย (UN arms embargo on Liberia, 2010, Dec 19) ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2000 คณะผู้เชี่ยวชาญที่ตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีฯ ได้รายงานว่า เทย์เลอร์รับเอาเพชรสีเลือดมาจากกบฏ RUF แล้วส่งไปขายยังเบลเยียมโดยอ้างว่าเพชรดังกล่าวเป็นสินค้าส่งออกจากไลบีเรีย หรือเท่ากับเป็นการสำแดงถิ่นกำเนิดของสินค้าไม่ตรงกับความเป็นจริง (Tamm, 2002, p. 11) ทำให้ในเดือนมีนาคมของปีถัดมา คณะมนตรีฯ ได้มีมติให้คว่ำบาตรการส่งออกเพชรของไลบีเรียและห้ามมิให้ประธานาธิบดีเทย์เลอร์เดินทางออกนอกประเทศจนกว่าเขาจะยุติการให้ความช่วยเหลือทั้งหมดที่ให้แก่กลุ่มกบฏ (Hsu, 2001)

                        สำหรับท่าทีของไต้หวัน แม้ว่าสหประชาชาติจะประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเทย์เลอร์ แต่รัฐบาลไต้หวันก็ยังคงให้การสนับสนุนแก่เขาอย่างต่อเนื่อง โดยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของไลบีเรียเมื่อ ค.ศ. 1997 ไต้หวันให้เงินสนับสนุนแก่เทย์เลอร์เป็นจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ (Sesay, 2009, Dec 7) และเมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว ประธานาธิบดีหลี่เติงฮุยได้เชิญเทย์เลอร์มาเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการ (state visit) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1997 โดยในแถลงการณ์ร่วมระหว่างสองฝ่าย เทย์เลอร์ได้ขอบคุณไต้หวันที่ให้ความช่วยเหลือแก่ไลบีเรียในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เขาสนับสนุนความพยายามของไต้หวันที่จะขอกลับเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ และประธานาธิบดีทั้งสองยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกเคารพสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย (President Lee and Liberian President Taylor Sign Joint Communique, 1997, Nov 11)             



                        เมื่อเฉินสุยเปี่ยนชนะการเลือกตั้งและขึ้นเป็นประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2000 ไต้หวันก็ยังคงให้การสนับสนุนแก่เทย์เลอร์อยู่ต่อไป รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ เดอะนิวส์ (The News) ของไลบีเรียเมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 2000 (อ้างใน Taylor, 2002) ระบุว่า ไต้หวันให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ แก่ไลบีเรีย ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงท่าเรือเป็นจำนวนเงิน 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ การปรับปรุงสนามบินนานาชาติเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 5 เครื่องเป็นจำนวนเงิน 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินสำหรับการจัดพิมพ์ธนบัตรแบบใหม่อีก 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (p.130) มีการเชิญเทย์เลอร์ให้มาเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการอีกครั้งเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2001 และในช่วง ค.ศ. 2000 ถึง ค.ศ. 2003 ทางการไต้หวันได้โอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของเทย์เลอร์รวมกัน 8 งวด คิดเป็นจำนวนรวม 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของทางการไต้หวันยอมรับในภายหลังว่าทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อให้ไลบีเรียรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันเอาไว้ (Cole, 2010, Jun 2)                             การที่รัฐบาลไต้หวันให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือแก่รัฐบาลของเทย์เลอร์นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไต้หวัน กู้อวี้เจิน (顾玉珍) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนออกมาวิจารณ์ว่าประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยนล้มเหลวที่จะวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศที่เป็นพันธมิตรทางการทูต แต่จางหยุนผิง (张云屏) รองอธิบดีกรมสารนิเทศและกิจการวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันได้ออกมาชี้แจงว่าการรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไลบีเรียเป็นสิ่งสำคัญ และ “เราจะต้องทำให้โลกตระหนักว่าไต้หวันยังคงมีตัวตน ไม่ว่าประเทศเหล่านี้จะใหญ่หรือเล็ก แต่พวกเขาก็มีหนึ่งเสียงในองค์การสหประชาชาติ” (Hsu, 2001, Mar 13)

                        เมื่อเข้าสู่ ค.ศ. 2003 ประธานาธิบดีเทย์เลอร์อยู่ในสภาวะที่ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ในประเทศของตนเองได้อีกต่อไป กลุ่มต่อต้านเทย์เลอร์สองกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “สหไลบีเรียนเพื่อการปรองดองและประชาธิปไตย (Liberians United for Reconciliation and Democracy) และ “ความเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและการเลือกตั้งในไลบีเรีย” (The Movement for Democracy and Elections in Liberia) สามารถควบคุมพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ กับพื้นที่ทางใต้และตะวันออกได้ตามลำดับ ในที่สุดเทย์เลอร์จึงยอมลงจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 2003 รัฐบาลใหม่ของไลบีเรียตระหนักว่าประเทศของตนจำเป็นต้องพึ่งพากองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องอาศัยความร่วมมือจากจีนซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นในวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 2003 ไลบีเรียจึงได้ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน

                        ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไต้หวันกับไลบีเรียตั้งแต่ ค.ศ. 1989 ถึง ค.ศ. 2003 ตามที่กล่าวไปข้างต้นสอดคล้องกับสิ่งที่นักวิชาการอย่าง Ian Taylor (2002) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้านี้ว่า ความช่วยเหลือที่ไต้หวันให้แก่ประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกานำมาซึ่งปัญหาสำคัญสองประการ ประการแรก การใช้เงินซื้อพันธมิตรทางการทูตไม่อาจทำให้ไต้หวันได้พันธมิตรที่แท้จริงและยั่งยืน เพราะผู้นำของประเทศเหล่านั้นจะรอแต่เพียงว่าเงินก้อนต่อไปจากไต้หวันจะมาถึงเมื่อใดเท่านั้น ประการที่สอง การให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรมหรือพฤติกรรมของรัฐบาลในประเทศเหล่านั้นทำให้ไต้หวันไม่อาจนำจุดยืนทางศีลธรรมมาใช้เพื่อแสวงหาการยอมรับจากนานาประเทศได้ (p. 135) บทบรรณาธิการของ ไทเปไทมส์ (Taipei Times) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 2003 ระบุว่าไต้หวันควรมองการสูญเสียพันธมิตรทางการทูตอย่างไลบีเรียในแง่ดี ดังความตอนหนึ่งว่า  



            สถานะทางการทูตของไต้หวันทำให้ประเทศนี้ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะเป็นมิตรกับผู้ใด มิตรที่มีชื่อเสียงในทางลบอย่างรัฐบาลเทย์เลอร์ถือเป็นความน่าอับอายของประเทศที่อ้างว่าให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ไต้หวันรู้ว่ารัฐบาลของเทย์เลอร์ละเลยความกินดีอยู่ดีของประชาชนและเหยียบย่ำสิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวก็ไร้เสถียรภาพ และมีการคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ระบาดไปทั่ว แต่ด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตทำให้ไต้หวันไม่อาจประณามไลบีเรียได้ แถมยังต้องสนับสนุนรัฐบาลดังกล่าวอีกด้วย ขณะที่นานาชาติออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสองมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลดังกล่าว ไต้หวันก็ทำได้แต่เพียงอยู่นิ่งๆ ถือได้ว่าการตีจากของไลบีเรียทำให้ไต้หวันหลุดพ้นจากภาระอันหนักอึ้ง
(Shed no tears over lost ally, 2003, Oct 14)



การพักรบทางการทูตหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ ค.ศ. 2008 และนัยต่อการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศของไต้หวัน

            นับจาก ค.ศ. 2006 เป็นต้นมา ข่าวการใช้อำนาจในทางมิชอบของประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยนและครอบครัวได้ทำให้ความนิยมในตัวเขาลดลงไปมาก ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อ ค.ศ. 2008 ปรากฏว่าหม่าอิงจิ่ว (马英九) ผู้สมัครจากพรรคกั๋วหมินตั่งได้รับชัยชนะ โดยในคำปราศรัยเพื่อรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมของปีนั้น เขาประกาศว่าความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบกับจีนแผ่นดินใหญ่ควรดำเนินไปบนหลักการจีนเดียว (One-China Principle) ที่สมาคมเพื่อความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวัน (海峡两岸关系协会 Association for Relations Across the Taiwan Straits - ARATS) และมูลนิธิแลกเปลี่ยนข้ามช่องแคบ (海峡交流基金会Straits Exchange Foundation - SEF) ได้เคยตกลงกันไว้ในการประชุมครั้งแรกที่ฮ่องกงเมื่อ ค.ศ. 1992[6] หรือที่เรียกว่า “ฉันทามติ 1992” (九二共识1992 consensus)[7] บรรยากาศความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบจึงผ่อนคลายความตึงเครียดลงไปมาก การประชุมระหว่าง ARATS กับ SEF ที่หยุดชะงักตลอดสมัยของประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยนก็เริ่มต้นอีกครั้ง ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 2008



ในด้านการต่างประเทศ รัฐบาลหม่าอิงจิ่วประกาศนโยบาย “การทูตแบบตลอดรอดฝั่ง” (活路外交)[8] ซึ่งหนึ่งในองค์ประกอบของการทูตดังกล่าวก็คือ การพักรบทางการทูต (外交休兵diplomatic truce) ซึ่งหมายถึงการหยุดใช้ “การทูตเงินดอลลาร์” เพื่อแข่งขันกับจีนในการแสวงหาและรักษาความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งนโยบายดังกล่าวก็ได้รับความร่วมมือจากจีนเป็นอย่างดี เพราะนับจากหม่าอิงจิ่วเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นต้นมาตราบจนถึงปัจจุบัน (เดือนมกราคม ค.ศ. 2012) จำนวนประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันก็มิได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง  โดยยังคงอยู่ที่ 23 ประเทศเท่าเดิม หยวนเจี้ยนเซิง (袁健生) หรือเจสัน หยวน (Jason Yuan) ผู้แทนประจำสำนักงานผู้แทนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ณ กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. สหรัฐอเมริกา[9] กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า



ตอนนี้เราใช้นโยบาย “การทูตแบบตลอดรอดฝั่ง” เราได้แจ้งเรื่องนี้ให้อีกฝั่งของช่องแคบทราบอย่างชัดเจน เราบอกพวกเขาว่า “คุณมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับ 171 ประเทศ ส่วนเรามี 23 ประเทศ มันมีความจำเป็นอะไรที่เราทั้งสองจะต้องเอาเงินภาษีของประชาชนมาใช้เพื่อแย่งชิงจำนวนประเทศกันไปมาแบบนี้? มันไม่เข้าท่าเลย การได้ชื่อประเทศอีกหนึ่งประเทศมาใส่ในบัญชีรายชื่อของคุณนั้นไม่มีความหมายอะไรมากนัก แล้วเราจะต่อสู้ไปเพื่ออะไร?”
(Luxner, 2009, Jun 5)



นโยบายการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศของรัฐบาลหม่าอิงจิ่วก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน โดยในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2009 กระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันได้ออกสมุดปกขาวว่าด้วยนโยบายการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า



เมื่อดูจากสถานการณ์ทางการทูตของไต้หวัน ความเป็นจริงทางการเมืองได้เป็นอุปสรรคขัดขวางความพยายามในการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ความช่วยเหลือดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามที่คาดหวัง ทั้งนี้เป็นผลมาจากการขาดการประเมินที่ไม่ลำเอียงและเป็นมืออาชีพ หลังจากขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 2008 ประธานาธิบดีหม่าได้เสนอนโยบายการทูตแบบตลอดรอดฝั่ง และระบุว่าการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศจะต้องยึดหลัก “แรงจูงใจที่ถูกต้อง ความขยันที่พอเหมาะ และการปฏิบัติที่มีประสิทธิผล”
(Partnership for Progress, 2009, p. 7)



                        จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่า รัฐบาลหม่าอิงจิ่วมีท่าทีต้องการให้เรื่องของความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศนั้นหลุดพ้นไปจากการแสวงหาพันธมิตรทางการทูต และหันมาเน้นเรื่องประสิทธิผลของการให้ความช่วยเหลือเป็นหลัก ดังที่สมุดปกขาวฉบับนี้ระบุว่าไต้หวันจะนำเอา แถลงการณ์กรุงปารีสว่าด้วยประสิทธิผลของการให้ความช่วยเหลือ (The Paris Declaration on Aid Effectiveness) ที่มาจากการผลักดันขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มาเป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งหนึ่งในหลักการสำคัญของแถลงการณ์ดังกล่าวก็คือ การตรวจสอบได้ (accountability) ทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับ (Partnership for Progress, 2009, pp. 15-17) ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2011 ทางการไต้หวันเปิดเผยตัวเลขการให้ความช่วยเหลือเป็นครั้งแรกโดยระบุว่าใน ค.ศ. 2010 ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศเป็นจำนวนรวม 380 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.1 ของรายได้มวลรวมประชาชาติ (gross national income) โดยจะส่งรายละเอียดทั้งหมดเป็นรายงานไปยัง OECD เพื่อแสดงความโปร่งใสตามมาตรฐานสากล (Taiwan donates US$380 million, 2011, Nov 10)[10]  

                        ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศของไต้หวันภายใต้รัฐบาลหม่าอิงจิ่วดำเนินไปอย่างมีประสิทธิผลตามที่กล่าวไว้หรือไม่นั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยสำคัญสองประการที่อาจทำให้การให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศของไต้หวันไม่สามารถก้าวข้ามพ้นไปจาก “การทูตเงินดอลลาร์” เพื่อแสวงหาพันธมิตรทางการทูตได้ง่ายๆ ปัจจัยแรกมาจากฝ่ายจีน กล่าวคือ แม้ว่าความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบจะผ่อนคลายความตึงเครียดลงไปเพียงใด แต่หลักการที่จีนยังยึดมั่นไม่เปลี่ยนแปลงก็คือเรื่องที่ว่าไต้หวันมิใช่ “สาธารณรัฐจีน” หากแต่เป็นเพียงมณฑลหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีนเท่านั้น เรื่องนี้สร้างความไม่สบายใจให้กับผู้กำหนดนโยบายของไต้หวันตลอดมา ดังรายงานของหยางจิ้นเทียน (杨进) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันที่เสนอต่อสภานิติบัญญัติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2010 ความตอนหนึ่งว่า



            จีนแผ่นดินใหญ่ยังคงไม่ยอมรับว่าสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ยังมีตัวตนอยู่ในสังคมระหว่างประเทศ ดังนั้นเราจึงไม่ควรคาดหวังว่าจีนแผ่นดินใหญ่จะยอมเจรจาและร่วมมือกับไต้หวันด้านการทูตได้ง่ายๆ รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่สองฝ่ายจะบรรลุความปรองดองกันได้ในระยะเวลาอันสั้น ทั้งนี้เป็นเพราะเราต่างแข่งขันในสงครามการทูตกันมานานหลายทศวรรษแล้ว
(Foreign Policy Report, 2010, March 11)



                        การที่ฝ่ายจีนไม่ยอมรับการมีตัวตนอยู่ของไต้หวันในฐานะรัฐที่มีอธิปไตยเป็นของตนเองส่งผลให้ไต้หวันไม่อาจละเลยการรักษาไว้ซึ่งพันธมิตรทางการทูตได้ แม้ว่าความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบจะดีขึ้นเพียงใดก็ตาม ดังรายงานฉบับเดียวกันที่ระบุว่า



ตลอดปีที่ผ่านมา ไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ได้ยุติการแข่งขันเพื่อแสวงหาการรับรองจากพันธมิตรของแต่ละฝ่าย อย่างไรก็ตามกระทรวงการต่างประเทศก็มิได้นิ่งนอนใจและยังคงเฝ้าระวังอยู่ ในอนาคตเราจะต้องใช้ความพยายามมากยิ่งขึ้นในการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่เป็นพันธมิตรทางการทูต ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง การแลกเปลี่ยนเยาวชนและวัฒนธรรม รวมถึงการส่งเสริมโครงการความร่วมมือที่หลากหลายกับประเทศพันธมิตรของไต้หวัน
(Foreign Policy Report, 2010, March 11)



                        ปัจจัยที่สองที่อาจทำให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศของไต้หวันยังแยกไม่ออกจากการแสวงหาพันธมิตรทางการทูตนั้นเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมของไต้หวันในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา กล่าวคือ การอสัญกรรมของประธานาธิบดีเจียงจิงกั๋วเมื่อ ค.ศ. 1988 ทำให้ไต้หวันเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยที่อำนาจเปลี่ยนมือจากนักการเมืองที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่เมื่อ ค.ศ. 1949 มาสู่นักการเมืองที่เกิดและเติบโตในไต้หวัน บุคคลเหล่านี้รวมทั้งประชาชนไต้หวันรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะมีความผูกพันกับจีนแผ่นดินใหญ่และมีสำนึกเกี่ยวกับอัตลักษณ์ความเป็นจีน (Chinese identity) น้อยลง ขณะที่อัตลักษณ์ความเป็นไต้หวัน (Taiwanese identity) เพิ่มมากขึ้น จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยการเมืองแห่งชาติไต้หวัน (国立政治大学  National Chengchi University) เมื่อ ค.ศ. 2008 มีคนที่มองว่าตัวเองเป็นไต้หวันสูงถึงราวร้อยละ 50 ขณะที่มีคนที่มองว่าตัวเองเป็นจีนเพียงแค่ราวร้อยละ 5 เท่านั้น  (ดูตารางที่ 5) จึงมีแนวโน้มที่เป็นไปได้อย่างยิ่งว่ารัฐบาลไต้หวันที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะพยายามยืนยันสถานะรัฐอธิปไตยของตนเองในเวทีโลกอย่างแข็งขันและต่อเนื่องต่อไป ดังเช่นเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2011 ก่วนปี้หลิง (管碧玲) สมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคหมินจิ้นตั่งได้นำเอกสารภายในขององค์การอนามัยโลกมาเผยแพร่ เอกสารดังกล่าวเรียกไต้หวันว่า “มณฑลไต้หวันของจีน” (The Taiwan Province of China)[11] ทำให้ประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่วต้องส่งสาส์นประท้วงไปยังจีนและองค์การอนามัยโลก (Mo, 2011, May 11)

                        ปัจจัยทั้งสองประการที่กล่าวมานี้จะยังคงมีอิทธิพลต่อนโยบายการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศของไต้หวันอยู่ต่อไป ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2010 ประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่วได้ประกาศใช้ กฎหมายความร่วมมือระหว่างประเทศและการพัฒนา (国际合作发展法) ซึ่งในมาตรา 5 ระบุว่า เป้าหมายอันดับแรกของการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศก็คือการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการทูต (International Cooperation and Development Act, 2010, May 18) ดังนั้น การใช้ “การทูตเงินดอลลาร์” เพื่อแสวงหาพันธมิตรทางการทูตโดยละเลยประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาลของประเทศผู้รับความช่วยเหลือจึงอาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต จนนำมาซึ่งความด่างพร้อยในนโยบายต่างประเทศเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในความสัมพันธ์ทางการทูตกับไลบีเรียช่วง ค.ศ. 1989 ถึง ค.ศ. 2003



สรุป

                        การที่ไต้หวันมีสถานะเป็น “รัฐที่ถูกท้าทายความเป็นรัฐ” (contested state) และถูกโดดเดี่ยวในเวทีโลก ได้ทำให้นโยบายการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศเน้นไปที่การแสวงหาความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นอันดับแรก เพราะสิ่งดังกล่าวเป็นเครื่องหมายรับรองสถานะความเป็นรัฐของไต้หวันในเวทีโลก ด้วยเหตุนี้ไต้หวันในฐานะประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือจึงละเลยประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศผู้รับความช่วยเหลือ ดังกรณีความช่วยเหลือที่ให้แก่ชาร์ลส์ เทย์เลอร์ ผู้นำของไลบีเรียซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับ “เพชรสีเลือด” ในสงครามกลางเมืองในเซียร์ราลีโอน และถึงแม้ว่าไต้หวันจะพักรบทางการทูตกับจีนตั้งแต่ ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา หากแต่การที่จีนยังคงปฏิเสธการมีอยู่ของ “สาธารณรัฐจีน” บนเกาะไต้หวัน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมของไต้หวันเองในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้การแข่งขันทางการทูตระหว่างสองฝ่ายอาจจะไม่จบลงง่ายๆ และอาจทำให้ไต้หวันต้องเข้าไปพัวพันกับประเทศที่มีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอีกในอนาคต




------------------------------------------------------------------------






                        [1] สมาชิก DAC ในหนังสือของ Lumsdaine (1993) ประกอบไปด้วยแคนาดา สหรัฐอเมริกา ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก สหราชอาณาจักรฯ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น


                        [2] จีนผนวกไต้หวันเข้าเป็นจังหวัด () ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1684 และยกสถานะเป็นมณฑล () เมื่อ ค.ศ. 1885 ก่อนตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1895 และเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สองใน ค.ศ. 1945 ไต้หวันจึงกลับมาเป็นมณฑลหนึ่งของสาธารณรัฐจีนตามข้อตกลงของประเทศสัมพันธมิตร


[3]หลักการดังกล่าวมาจากคำประกาศของวอลเตอร์ ฮอลสไตน์ (Walter Hallstein) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีตะวันตกเมื่อ ค.ศ. 1955 ที่ว่าเยอรมนีตะวันตกจะตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศที่สถาปนาความสัมพันธ์ดังกล่าวกับเยอรมนีตะวันออก ยกเว้นสหภาพโซเวียตที่เยอรมนีตะวันตกยอมให้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเยอรมนีตะวันออกได้ เดิมไต้หวันก็ใช้หลักการในทำนองนี้โดยตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศที่หันไปสถาปนาความสัมพันธ์ดังกล่าวกับจีน แต่เมื่อถึง ค.ศ. 1988 ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนท่าทีโดยไต้หวันยินดีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับทุกประเทศโดยที่ประเทศเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้ทำให้นานาประเทศหันมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันเพิ่มขึ้นมากนัก ทั้งนี้เพราะจีนยังคงยึดหลักการแบบฮอลสไตน์อยู่ นั่นคือการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศใดๆ ก็ตามที่หันไปสถาปนาความสัมพันธ์ดังกล่าวกับไต้หวัน


                [4] ดูความพยายามดังกล่าวของไต้หวันได้ใน Tubilewicz (2007)


                        [5] นอกจากความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแล้ว บทความของ Cheng & Shi (2009) ได้แสดงทัศนะว่า การที่โลกตะวันตกประณามการใช้กำลังของทางการจีนในการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1989 มีส่วนทำให้ไลบีเรียตัดสินใจหันมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน (p. 91) อย่างไรก็ตาม ทัศนะดังกล่าวไม่น่าจะถูกต้อง เนื่องจากมีหลักฐานว่าเหลียนจ้าน (连战) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันกับรูดอล์ฟ จอห์นสัน (Rudolph Johnson) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไลบีเรียได้ทำบันทึกความตกลงที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเอาไว้เบื้องต้นตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 1989 ก่อนเกิดเหตุการณ์เทียนอันเหมิน


                        [6] เนื่องจากในทางรัฐธรรมนูญ จีนและไต้หวันต่างถือว่าตนเองคือประเทศจีน จึงไม่อาจเจรจาระหว่างกันผ่านช่องทางที่เป็นทางการได้ จนต้องก่อตั้งสมาคมและมูลนิธิดังกล่าวขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1991 เพื่อเป็นตัวแทนกึ่งทางการ


[7] แต่ในทางปฏิบัติ หลักการจีนเดียวในทัศนะของแต่ละฝ่ายนั้นมีความแตกต่างกัน สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลักการจีนเดียวหมายความว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่สำหรับพรรคกั๋วหมินตั่ง หลักการจีนเดียวหมายความว่าทั้งจีนและไต้หวันต่างเป็นส่วนหนึ่งของ “รัฐจีน” (The State of China) ความแตกต่างดังกล่าวอยู่ในวิสัยที่จีนแผ่นดินใหญ่พอจะยอมรับได้ เพราะอย่างน้อยทั้งสามพรรคก็มีจุดยืนร่วมกันคือ การคัดค้านไม่ให้ไต้หวันแยกตัวเป็นเอกราช


                        [8]  เอกสารของไต้หวันเรียกนโยบายดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษว่า flexible diplomacy หรือ viable diplomacy  ซึ่งเป็นการใช้คำไม่ตรงกับความหมายในภาษาจีน


                        [9]  ในทางพฤตินัยก็คือเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐจีนประจำสหรัฐอเมริกา


                        [10] อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน (เดือนมกราคม ค.ศ. 2012) ยังไม่ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศของไต้หวันในเว็บไซต์ขององค์การดังกล่าวแต่อย่างใด


                        [11] จีนยินยอมให้ไต้หวันเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ในองค์การอนามัยโลกตั้งแต่ ค.ศ. 2009 โดยใช้ชื่อว่า “จีนไทเป” (中华台北Chinese Taipei) ดูรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ใน สิทธิพล เครือรัฐติกาล และวรศักดิ์ มหัทธโนบล (2554)
 




เอกสารอ้างอิง



ภาษาไทย

โครงการมาร์แชล ค.ศ. 1947. (2539). ใน วริยา ศ. ชินวรรโณ (แปล). ดับเบิลยู. แอล. แบรดลี และจุลชีพ ชินวรรโณ (บก.). เส้นทางมหาอำนาจ: เอกสารด้านนโยบายต่างประเทศอเมริกาต่อเอเชีย (เอกสาร 7.2, น. 213-216). กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

ดำรง ธรรมารักษ์. (2539). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ (พิมพ์ครั้งที่สอง). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

แถลงการณ์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1979. (2539). ใน วริยา ศ. ชินวรรโณ (แปล). ดับเบิลยู. แอล. แบรดลี และจุลชีพ ชินวรรโณ (บก.). เส้นทางมหาอำนาจ: เอกสารด้านนโยบายต่างประเทศอเมริกาต่อเอเชีย (เอกสาร 10.2, น. 343-344). กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

สมาภรณ์ แก้วเกลี้ยง. (2551, ตุลาคม –ธันวาคม). Blood Diamond: สงครามกลางเมืองในแอฟริกากับคำสาปว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติ. ฟ้าเดียวกัน 6(4): 28-36.

สิทธิพล เครือรัฐติกาล และวรศักดิ์ มหัทธโนบล. (2554). ความมั่นคงของมนุษย์ในการกำหนดนโยบายของจีน: กรณีศึกษาการยินยอมให้ไต้หวันเป็นผู้สังเกตการณ์ในองค์การอนามัยโลกเมื่อ ค.ศ. 2009. ในเอกสารประกอบการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง “จีนกับความมั่นคงของมนุษย์” วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยโครงการความร่วมมือนานาชาติกับความมั่นคงของมนุษย์ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (HS1069A) ร่วมกับศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.



ภาษาจีน

กระทรวงการต่างประเทศ. (2006). งบประมาณกระทรวงการต่างประเทศ ปีหมินกั๋วที่ 95 (95年度外交部主管预算). สืบค้นจากเว็บไชต์กระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน http://www.mofa.gov.tw. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2011.

กระทรวงการต่างประเทศ. (2007). งบประมาณกระทรวงการต่างประเทศ ปีหมินกั๋วที่ 96 (96年度外交部主管预算). สืบค้นจากเว็บไชต์กระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน http://www.mofa.gov.tw. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2011.

กระทรวงการต่างประเทศ. (2008). งบประมาณกระทรวงการต่างประเทศ ปีหมินกั๋วที่ 97 (97年度外交部主管预算). สืบค้นจากเว็บไชต์กระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน http://www.mofa.gov.tw. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2011.

กระทรวงการต่างประเทศ. (2009). งบประมาณกระทรวงการต่างประเทศ ปีหมินกั๋วที่ 98 (98年度外交部主管预算). สืบค้นจากเว็บไชต์กระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน http://www.mofa.gov.tw. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2011.

กระทรวงการต่างประเทศ. (2010). งบประมาณกระทรวงการต่างประเทศ ปีหมินกั๋วที่ 99 (99年度外交部主管预算). สืบค้นจากเว็บไชต์กระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน http://www.mofa.gov.tw. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2011.

กระทรวงการต่างประเทศ. (2011). งบประมาณกระทรวงการต่างประเทศ ปีหมินกั๋วที่ 100 (100年度外交部主管预算). สืบค้นจากเว็บไชต์กระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน http://www.mofa.gov.tw. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2011.



ภาษาอังกฤษ

Chan, G. (1997, Spring). Taiwan as an Emerging Foreign Aid Donor: Developments, Problems, and Prospects. Pacific Affairs 70(1): 37-56. 

Cheng, J. Y. S. and H. G. Shi. (2009, Feb). China’s African Policy in the Post-Cold War Era. Journal of Contemporary Asia 39(1): 87-115.

Chien, F. F. (1995). Opportunity and Challenge: a collection of statements, interviews and personal profiles of Dr. Fredrick F. Chien. D. A. Mica and J. T. Emerson (Eds.). Tempe, AZ: Arizona State University.

China Says Taiwan Is ‘Buying Hearts’ Abroad. (1989, Oct 15). New York Times. Available from http://www.nytimes.com. Accessed December 12, 2011.

Clough, R. (1991). Taiwan under Nationalist rule, 1949-1982. In R. MacFarquhar and J. K. Fairbank (Eds.). The Cambridge History of China, Volume 15 the People’s Republic, Part 2: Revolutions within the Chinese Revolutuon 1966-1982 (pp. 815-874). New York, NY: Cambridge University Press.   

Cole, J. M. (2010, June 2). Taiwanese funds financed Liberian dictator, ‘NYT’ says. Taipei Times. Available from http://www.taipeitimes.com. Accessed November 29, 2011. 

Crawford, V. (2010). Foreign aid chief Tao: A man of the world. TMU Outwards. Available from http://www.tmu.edu.tw. Accessed October 29, 2011. 

Diplomatic Relations Established; Liberia, ROC Together Again. (1989, Oct 5). Taiwan Journal. Available from http://www.taiwantoday.tw. Accessed December 6, 2011.

DPP White Paper on Foreign Policy for the 21st Century. (1999, Nov 28). Available from http://www.taiwandocuments.org/dpp02.htm. Accessed Novenber 19, 2011. 

Foreign Policy Report, 6th Congress of the Legislative Yuan, 4th Session. (2006, Oct 2). Available from http://www.mofa.gov.tw. Accessed October 19, 2011.

Foreign Policy Report, 7th Congress of the Legislative Yuan, 5th Session. (2010, Mar 11). Available from http://www.mofa.gov.tw. Accessed October 19, 2011.

Geldenhuys, D. (2009). Contested States in World Politics. Hampshire: Palgrave Macmillan.

Hayter, T. (1981). The Creation of World Poverty. London: Pluto Press.

Hsu, C. (2001, Mar 31). Activists criticize Taiwan’s welcome of Charles Taylor. Taipei Times. Available from http://www.taipeitimes.com. Accessed November 25, 2011.

Hsu, A. (2008, Jan 18). ROC cuts diplomatic relations with the Republic of Malawi. Taiwan Today. Available from http://taiwantoday.tw. Accessed September 30, 2011.

International Cooperation and Development Act. (2010, May 18). Available from www.mofa.gov.tw. Accessed December 25, 2011.

Kim, S. S. (1994). Taiwan and the International System: The Challenge of Legitimation. In R. G. Sutter and W. R. Johnson (Eds.). Taiwan in World Affairs (pp. 145-189). Boulder, CO: Westview Press.

Kukreja, S. (2001). The Two Faces of Development. In D. N. Balaam and M. Veseth (Eds.). Introduction to International Political Economy (2nd edition, pp. 319-345). Upper Saddle River, NJ: Prentice-Hall.

Lee, T. H. (1999). The Road to Democracy: Taiwan’s Pursuit of Identity. Tokyo: PHP Institute.

Lumsdaine, D. H. (1993). Moral Vision in International Politics. Princeton, NJ: Princeton University Press.

Luxner, L. (2009, Jun 5). Warming cross-strait relations signals end of ‘dollar diplomacy’. Taiwan Today. Available from http://taiwantoday.tw. Accessed September 30, 2011. 

Meredith, M. (2011). The State of Africa. London: Simon & Schuster.

Mo, Y. C. (2011, May 11). Ma slams WHO, China on name. Taipei Times. Available from http://www.taipeitimes.com. Accessed May 11, 2011.

MOFA statement. (2006, Aug 5). The government of the Republic of China (Taiwan) expresses its strongest regret that the government of the Republic of Chad has decided to establish formal ties with the PRC. Available from http://ww.mofa.gov.tw. Accessed December 17, 2011. 

MOFA statement. (2007, Jun 7). For the sake to uphold the national interests and dignity of the country, the government of the Republic of China (Taiwan) has decided to terminate formal relations with the Republic of Costa Rica and cease all cooperation projects between the two countries. Available from http://ww.mofa.gov.tw. Accessed December 17, 2011. 

Morgenthau, H. (1962, Jun). A Political Theory of Foreign Aid. The American Political Science Review 56(2): 301-309.

Partnership for Progress and Sustainable Development: White Paper on Foreign Aid Policy. (2009. May). Taipei: Ministry of Foreign Affairs, Republic of China (Taiwan). 

President Lee and Liberian President Taylor Sign Joint Communique. (1997, Nov 11). Available from http://english.president.gov.tw. Accessed November 26, 2011.

Sesay, A. (2009, Dec 7). Personal Bank Account In Charles Taylor’s Name Was A “Covert” Account Operated On Behalf Of The Government Of Liberia, He Says. Available from http://www.charlestaylortrial.org. Accessed November 29, 2011. 

Shed no tears over lost ally. (2003, Oct 14). Available from http://www.taipeitimes.com. Accessed November 29, 2011.

Taiwan Affairs Office and Information Office of the State Council. (2000, Feb). The One-China Principle and the Taiwan Issue. Available from http://english.gov.cn/official/2005-07/27/content_17613.htm. Accessed December 13, 2011.

Taiwan donates US$380 million in foreign development aid. (2011, Nov 10). Available from http://focustaiwan.tw. Accessed November 11, 2011.

Taiwan Yearbook 2003. (2003). Taipei: the Government Information Office.

Tamm, I. J. (2002). Diamonds in Peace and War: Severing the Conflict-Diamond Connecttion (WPF Report 30). Cambridge, MA: World Peace Foundation.

Taylor, I. (2002). Taiwan’s Foreign Policy and Africa: The limitations of dollar diplomacy. Journal of Contemporary China 11(30): 125-140.

Tubilewicz, C. (2007). Taiwan and Post-Communist Europe: Shopping for allies. New York, NY: Routledge.

Tubilewicz, C. and A. Guilloux. (2011, June). Does size matter? Foreign aid in Taiwan’s diplomatic strategy, 2000-8. Australian Journal of International Affairs 65(3): 322-339.

Tucker, N. B. (1994). Taiwan, Hong Kong, and the United States, 1945-1992: Uncertain Friendships. New York, NY: Twayne Publishers.

UN arms embargo on Liberia. (2010, Dec 19). Available from http://www.sipri.org. Accessed November 29, 2011.

UNGA Resolution 2758, Restoration of the lawful rights of the People’s Republic of China in the United Nations. (1971, Oct 25).  Available from http://www.un.org/documents/ga/res/26/ares26.htm. Accessed December 13 , 2011.

Wang, T. Y., W. C. Lee, and C. H. Yu. (2011). Taiwan’s Expansion of International Space: opportunities and challenges. Journal of Contemporary China 20(69): 249-267.

Wang, W. L. (n.d.). The Strategy of Taiwan’s International Cooperation in Africa, 1960-1974. Available from http://www4.nccu.edu.tw. Accessed December 5, 2011.

Wendt, A. (1999). Social Theory of International Politics. Cambridge: Cambridge University Press.

Yu, G. T. (1963, Sep). Peking versus Taipei in the World Arena: Chinese Competition in Africa. Asian Survey 3(9): 439-453.

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สวัสดีค่ะ

อยากรบกวนถามว่า จากเหตุการณ์ต่างๆภายในประเทศจีน และ ทั่วโลกในปัจจุบันนี้ อาจารย์คิดว่าประเทศจีนจะเลือก parameters ตัวไหนในการประชุมของ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศตนเองและน่าจะเป็นที่ยอมรับของประเทศสมาชิกบ้างคะ ต้องทำรายงานตัวนี้ แต่ไม่ทราบเลยว่านอกจากเวบไซต์ของ UN แล้ว พอจะหาข้อมูลได้จากไหนบ้างค่ะ

ขอบคุณค่ะ