วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552

หนังสือ "Prisoner of the State" หรือ "บันทึกลับจ้าวจื่อหยาง"


ชื่อหนังสือภาษาอังกฤษ : Prisoner of the State: The Secret Journal of Premier Zhao Ziyang


ชื่อหนังสือภาษาไทย : บันทึกลับจ้าวจื่อหยาง เบื้องหลังเหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมิน

บรรณาธิการภาษาไทย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล
คณะผู้แปล: สิทธิพล เครือรัฐติกาล ดวงใจ เด่นเกศินีล้ำ สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ และวิศรา ไกรวัฒนพงศ์

หาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป วันนี้ ! (พิมพ์ครั้งที่สองแล้ว)
คุณเข้าถึงเบื้องหลังของรัฐบาลที่เป็นความลับที่สุดในโลกได้บ่อยแค่ไหน? บันทึกลับจ้าวจื่อหยาง เป็นหนังสือเล่มแรกที่นำเสนอภาพที่ชัดเจนแก่ผู้อ่านเพื่อให้เห็นถึงการทำงานภายในของรัฐบาลจีนที่ยากแก่การเข้าถึง เรื่องราวของนายกรัฐมนตรีจ้าวจื่อหยาง ผู้นำความเปลี่ยนแปลงตามแนวคิดเสรีนิยมมาสู่ประเทศ และในช่วงความตึงเครียดสูงสุดของการประท้วง เขาเป็นผู้พยายามหยุดยั้งการสังหารหมู่ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินใน ค.ศ. 1989 ซึ่งความพยายามดังกล่าวนั้นเองเป็นเหตุที่ทำให้เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา

ในขณะที่กองทัพจีนเคลื่อนเข้ามาสังหารนักศึกษาและผู้เดินขบวนนับร้อยคน จ้าวถูกจับไปกักบริเวณไว้ในบ้านของเขาเอง ในซอยที่เงียบสงบแห่งหนึ่งของกรุงปักกิ่ง ผู้เป็นความหวังในการนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่จีนถูกปลดจากตำแหน่งไปพร้อมๆกับนโยบายของเขา นายกรัฐมนตรีผู้นี้ใช้เวลา 16 ปีสุดท้ายจนกระทั่งเสียชีวิตใน ค.ศ. 2005 ด้วยสภาพที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก รายละเอียดในบางช่วงของชีวิต เช่น การไปออกไปตีกอล์ฟ รูปถ่ายใบหน้าในวัยชราของเขา รวมถึงจดหมายที่เขาเขียนถึงผู้นำจีนบางคนถูกเผยแพร่ออกมาบ้าง นักวิชาการด้านจีนศึกษามักรู้สึกเสียดายที่จ้าวไม่เคยมีโอกาสได้กล่าวคำพูดสุดท้ายของเขาเลย

แต่สิ่งที่ปรากฏขึ้นในเวลาต่อมาก็คือ จ้าวได้ทำบันทึกความทรงจำอย่างลับที่สุด เขาได้บันทึกเทปอย่างเป็นระบบเพื่อรวบรวมความคิด และเรื่องราวจากความทรงจำของเขาต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหลังเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงเวลาที่สำคัญสุดในยุคสมัยใหม่ของจีน เทปที่เขาทำขึ้นถูกลักลอบนำออกนอกประเทศและได้ก่อร่างเป็นหนังสือเล่มนี้ ในบันทึกดังกล่าว จ้าวให้รายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับการปราบปรามที่เทียนอันเหมิน เขาเล่าถึงแผนการและการทรยศหักหลังที่ผู้นำระดับสูงบางคนของจีนใช้เพื่อชิงความได้เปรียบเหนือผู้อื่น และจ้าวยังกล่าวถึงความจำเป็นของจีนที่ต้องรับเอาระบอบประชาธิปไตยเข้ามาเพื่อความสำเร็จในการสร้างเสถียรภาพระยะยาว

ประเทศจีนที่จ้าวพูดถึงไม่ใช่ประเทศจีนในยุคราชวงศ์ที่ล่มสลายไปนานแล้ว แต่เป็นประเทศจีนในปัจจุบัน ที่ซึ่งผู้นำยอมรับเศรษฐกิจแบบเสรี แต่ยังคงต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

หากไม่มีเหล่าผู้นำหัวแข็งในช่วงเหตุการณ์เทียนอันเหมิน และหากจ้าวยังมีชีวิตอยู่ เขาอาจเป็นผู้ชี้นำระบบการเมืองของจีนให้ไปสู่ระบบที่เปิดกว้างและรับฟังต่อความเห็นที่แตกต่างได้มากขึ้น

จ้าวซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีอำนาจเหนือจัตุรัสเทียนอันเหมิน ได้เรียกร้องอย่างชัดเจนให้พรรคผ่อนปรนการควบคุมและให้เสรีภาพแก่ประชาชนบ้าง แม้ว่าในขณะนี้เขาไม่ได้มีชีวิตอยู่แล้ว แต่เสียงที่ผ่านบันทึกความทรงจำของเขานี้ก็ยังสามารถกระตุ้นความรู้สึกและมีความน่าสนใจ น้ำเสียงของจ้าวยังคงมีพลังทางศีลธรรมที่จะปลุกจีนให้ลุกขึ้นมารับฟัง

วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เจิ้งเหอกับ Boeing 777-200LR Worldliner


เจิ้งเหอกับ Boeing 777-200LR Worldliner

จีนเริ่มมีเครื่องบินออกให้บริการรับส่งผู้โดยสารเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1930 ในเส้นทางระหว่างเซี่ยงไฮ้กับฮั่นโข่ว และนับตั้งแต่การปฏิรูปเศรษฐกิจในทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ธุรกิจสายการบินของจีนได้เติบโตขึ้นอย่างมาก ดูจากเมื่อ ค.ศ. 1987 ที่มีผู้โดยสารเดินทางภายในประเทศจีนด้วยเครื่องบินเพียง 13 ล้านคน แต่เมื่อถึง ค.ศ. 2006 ได้เพิ่มเป็น 160 ล้านคน (Wright, 1991; ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์, 2007) ขณะเดียวกัน สายการบินของจีนก็ได้ทยอยเลิกใช้เครื่องบินแบบรัสเซีย และหันมาซื้อเครื่องบินของบริษัทโบอิ้ง (Boeing) มากขึ้น จากเดิมใน ค.ศ. 1987 ที่สายการบินของจีนมีเครื่องบินโบอิ้งอยู่เพียง 45 ลำ กลายเป็น 537 ลำใน ค.ศ. 2005 หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 2 ใน 3 ของเครื่องบินโดยสารที่ใช้อยู่ในประเทศจีน (Wright, 1991; เขียน ธีระวิทย์, 2549, น. 232) และบริษัทโบอิ้งได้คาดการณ์ว่าในอีกสองทศวรรษนับจาก ค.ศ. 2005 จีนจะต้องการเครื่องบินโดยสารเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 2,300 ลำ (Cao Desheng, 2005, July 30)

ใน ค.ศ. 2005 บริษัทโบอิ้งได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นเครื่องบินรุ่น 777-200LR Worldliner ซึ่งถือเป็นเครื่องบินพาณิชย์ที่มีพิสัยการบินไกลที่สุด โดยสามารถบินได้ไกลถึง 21,601 กิโลเมตร ในเวลา 22 ชั่วโมง 42 นาที โดยไม่ต้องหยุดพัก และในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคมของปีนั้น บริษัทโบอิ้งได้นำเครื่องบินรุ่นนี้ออกบินเพื่อให้เป็นที่รู้จักตามเมืองต่างๆทั่วโลกกว่า 20 เมือง และได้บินมายังกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2005 หรือไม่กี่วันก่อนงานฉลอง 600 ปี การเดินเรือของเจิ้งเหอ และที่สนามบินนานาชาติกรุงปักกิ่งนั่นเอง ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า เครื่องบินโบอิ้งรุ่นนี้จะใช้ชื่อว่า “เจิ้งเหอ” โดย นิโคล เพียสกี้ (Nicole Piasecki) รองประธานคณะผู้บริหารซึ่งดูแลด้านการตลาดและยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของ Boeing Commercial Airplanes ได้กล่าวว่า ชื่อของเจิ้งเหอมีความหมายสอดคล้องกับการสำรวจ การรู้จักประดิษฐ์คิดค้นของมนุษย์ รวมทั้งจิตวิญญาณแห่งมิตรภาพและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (Boeing 777-200LR Worldliner debuts in Beijing, 2005, June 29 เน้นโดยผู้วิจัย) ขณะที่หลินจู๋อี่ (林祖乙) อนุกรรมการจัดงานฉลอง 600 ปี การเดินเรือของเจิ้งเหอ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวว่า

"พวกเราเชื่อว่า ชื่อเสียงของเจิ้งเหอจะได้รับการเน้นย้ำมากขึ้นผ่านการตั้งชื่อให้กับเครื่องบินและการเดินทางไปทั่วโลกของเครื่องบิน การเดินทางของเครื่องบินดังกล่าวนี้จะนำความปรารถนาในมิตรภาพ สันติภาพ และการพัฒนาของพวกเราไปสู่โลกภายนอก ให้โลกได้รู้จักเจิ้งเหอ ประเทศจีน และโบอิ้งมากยิ่งขึ้น"
(Boeing 777-200LR Worldliner debuts in Beijing, 2005, June 29)

แม้จะไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเบื้องหลังการตัดสินใจของบริษัทโบอิ้งที่ตั้งชื่อเครื่องบินรุ่นนี้ว่า “เจิ้งเหอ” หากแต่เมื่อพิจารณาถึงสถานะของจีนที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทนี้ ก็ทำให้มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าเรื่องดังกล่าวมีลักษณะของการต่างตอบแทน นั่นคือ บริษัทโบอิ้งยอมตั้งชื่อเครื่องบินรุ่นนี้ว่า “เจิ้งเหอ” ขณะที่จีนก็ตกลงที่จะสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้งเพิ่มอีกชุดใหญ่ โดยในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005 หรือหลังจากที่งานเปิดตัวเครื่องบินโบอิ้ง 777-200LR Worldliner และงานฉลอง 600 ปี การเดินเรือของเจิ้งเหอผ่านพ้นไปได้เพียงไม่กี่เดือน จีนได้ลงนามในสัญญาซื้อเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737-700/800 จำนวน 70 ลำ รวมมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นการสั่งซื้อเครื่องบินครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การบินของจีน (China signs biggest aircraft purchase agreement with Boeing, 2005, November 20) การทำข้อตกลงทางธุรกิจจึงเป็นหนึ่งในวิธีการที่จีนใช้เพื่อให้ “ทูตสันติภาพ” อย่างเจิ้งเหอเป็นที่รู้จักแก่โลกภายนอกมากยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

เขียน ธีระวิทย์. (2549). จีนใหม่ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: มติชน.

ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์. จับตาธุรกิจสายการบินในประเทศจีน. เอกสารของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552, จาก http://www.boi.go.th/thai/ download/publication_boi_today/127/boitoday_may_7_07.pdf.

Boeing 777-200LR Worldliner debuts in Beijing. (2005, June 29). People’s Daily Online. Retrieved August 28, 2009, from http://english.peopledaily.com.cn/200506/ 29/print20050629_192972.html.

Cao Desheng. (2005, July 30). US$6b deal for 50 Boeing jets in sight. China Daily Online. Retrieved November 11, 2008, from http://www.chinadaily.com.cn/ english/doc/2005-07/30/content_464789_2.htm.

China signs biggest aircraft purchase agreement with Boeing. (2005, November 20). People’s Daily. Retrieved August 28, 2009, from http://english.peopledaily. com.cn/200511/20/eng20051120_222762.html.

Wright, Timothy. (1991). Civil aviation. In The Cambridge Encyclopedia of China (pp. 50-51). Cambridge: Cambridge University Press.

เจิ้งเหอในความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน




เจิ้งเหอในความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน

สาธารณรัฐประชาชนจีนมีจุดยืนที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และการรวมไต้หวันถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะต้องทำให้สำเร็จ ตลอดระยะเวลากว่าหกทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ที่มีต่อไต้หวันอยู่หลายครั้ง จากเดิมในทศวรรษ 1950 ถึง 1970 ที่ใช้ “ไม้แข็ง” โดยเน้นการใช้กำลังเพื่อ “ปลดปล่อย” ไต้หวันออกจากจักรวรรดินิยมอเมริกัน มาเป็นการใช้ “ไม้อ่อน” ในทศวรรษ 1980 ด้วยการยื่นข้อเสนอเรื่อง “การรวมกันอย่างสันติ” (和平统一) และ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” (一国两制) และมาถึงทศวรรษ 1990 ที่จีนหันมาใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งสลับกันไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์ (ดู Wachman, 2008, pp. 1-15)


หลังจากที่หูจิ่นเทาขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อ ค.ศ. 2002 จีนก็ได้ดำเนินยุทธศาสตร์ใหม่ต่อไต้หวัน ที่เรียกว่า “ทำสิ่งที่แข็งให้แข็งมากขึ้น ทำสิ่งที่อ่อนให้อ่อนมากขึ้น” (硬的更硬,软得更软) เห็นได้จากใน ค.ศ. 2005 จีนได้ออกกฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกดินแดน (Anti-Secession Law) เพื่อให้อำนาจแก่รัฐบาลจีนในการใช้กำลังถ้าไต้หวันประกาศเอกราช ขณะเดียวกันก็เสนอจะมอบแพนด้าสันถวไมตรีให้แก่ไต้หวัน[1] และในปีเดียวกันก็ตรงกับการจัดงานฉลองครบรอบ 600 ปี การเดินเรือของเจิ้งเหอ จีนจึงได้นำเอาเจิ้งเหอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวันด้วย ดังคำแถลงของสำนักงานสารนิเทศแห่งคณะมุขมนตรีว่า หนึ่งในวัตถุประสงค์ของการจัดงานดังกล่าวก็เพื่อ “ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางวิชาการและวัฒนธรรมข้ามช่องแคบ กระชับความสัมพันธ์ในหมู่ชนชาติจีน และส่งเสริมภารกิจในการรวมมาตุภูมิอันยิ่งใหญ่” (เจิ้งเหอเซี่ยซีหยางลิ่วไป่โจวเหนียนซี่เลี่ยจี้เนี่ยนหัวต้งฉิงคว่าง, 7 กรกฎาคม 2004)


เหตุการณ์สำคัญครั้งประวัติศาสตร์ในความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบใน ค.ศ. 2005 ก็คือ การเดินทางมาเยือนแผ่นดินใหญ่ของผู้นำพรรคฝ่ายค้านของไต้หวัน ได้แก่ เหลียนจ้าน (连战) ผู้นำพรรคกั๋วหมินตั่ง และซ่งฉู่อวี๋ (宋楚瑜) ผู้นำพรรคชินหมินตั่ง (亲民党) เมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคมตามลำดับ เนื่องจากเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี ที่ผู้นำระดับสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคกั๋วหมินตั่งซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกันได้มาพบปะกัน[2] โดยในโอกาสนี้ หูจิ่นเทาในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้มอบ “รัตนนาวาเจิ้งเหอ” (郑和七宝宝船) ซึ่งประกอบไปด้วยอัญมณี 7 ชนิด ให้เป็นของขวัญแก่ผู้นำพรรคทั้งสองของไต้หวัน เรือจำลองลำดังกล่าวออกแบบและสร้างขึ้นภายใต้การควบคุมดูแลของบุคคลระดับสูงและนักวิชาการของจีน โดยมีเฉียวสือ (乔石) อดีตกรรมการประจำของกรมการเมือง และอดีตประธานสภาผู้แทนประชาชน เป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศาสตราจารย์ฉางเหวินกวง (常文光) ซึ่งเป็นผู้วางแผนทั่วไปในการจัดสร้างเรือได้ระบุว่า การมาเยือนแผ่นดินใหญ่ของเหลียนจ้านในครั้งนี้มีเนื้อหาสาระเฉกเช่นการเดินเรือของเจิ้งเหอเมื่อ 600 ปีที่แล้ว นั่นคือ เป็นการเดินเรือเพื่อแสวงหาสันติภาพ (Hu Jintao presented Lian Zhan with Zheng He Seven-Gem Ship, 2005, April 30) สอดคล้องกับหนังสือพิมพ์ เศรษฐกิจรายวัน (经济日报) ในสังกัดคณะมุขมนตรีซึ่งรายงานว่า รัตนนาวาลำดังกล่าวไม่ใช่ของขวัญธรรมดา หากแต่ยังมีความหมายต่อการสร้างสันติภาพอีกด้วย เพราะชื่อของเจิ้งเหอนั้นพ้องเสียงกับคำว่า “เจิ้งเหอ” (正和) ซึ่งหมายถึง การแก้ไขปัญหาข้อพิพาท หรือการลดความตึงเครียด ชื่อของเจิ้งเหอจึงเป็นเสมือนสัญญาณบ่งบอกว่า ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น (Zheng He Seven-Gem Ship is not just a gift, 2005, May 30)

[1] อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยน (陈水扁) จากพรรคหมินจิ้นตั่ง (民进党) ของไต้หวัน ได้ปฏิเสธที่จะรับข้อเสนอดังกล่าว จนกระทั่งเมื่อหม่าอิงจิ่ว (马英九) จากพรรคกั๋วหมินตั่งได้เป็นประธานาธิบดีใน ค.ศ. 2008 ไต้หวันจึงยอมรับข้อเสนอจากจีน โดยจีนได้ส่งมอบแพนด้า 2 ตัว นามว่า “ถวนถวน” (团团) และ “หยวนหยวน” (圆圆) ให้แก่ไต้หวันในเดือนธันวาคมของปีนั้น
[2] การพบปะครั้งสุดท้ายระหว่างผู้นำระดับสูงสุดของทั้งสองพรรคก็คือ การประชุมร่วมกันระหว่างเหมาเจ๋อตงกับเจียงไคเช็ค (蒋介石) ณ เมืองฉงชิ่ง เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1945 เพื่อหาทางยุติสงครามกลางเมือง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ



เอกสารอ้างอิง

Hu Jintao presented Lian Zhan with Zheng He Seven-Gem Ship symbolizing a long and peaceful voyage rich in significance. (2005, April 30). Ta Kung Pao. Retrieved March 31, 2009, from http://www.qkwh.com/english/zhbc/zhbc07.htm.

Wachman, Alan M. (2008). Why Taiwan? Geostrategic Rationales for China’s Territorial Integrity. Singapore: NUS Press.

Zheng He Seven-Gem Ship is not just a gift. (2005, May 30). Economic Daily. Retrieved March 31, 2009, from http://www.qkwh.com/english/zhbc/zhbc07.htm.